สยาม-โปรตุเกสศึกษา. มิติทางประวัติศาสตร์ สังคมและวัฒนธรรมบนพื้นฐานการวิเคราะห์ ตีความและวิพากษ์อย่างเข้มข้น โดย พิทยะ ศรีวัฒนสาร องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร Siam-Portuguese Studies. Articles and knowledge management concerning to historical, archaeological and cultural relationship between Siam and Portugal by Bidya Sriwattanasarn, non- profit organization.
วันอาทิตย์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2553
หมู่บ้านฮอลันดา: คลื่นอิทธิพลดัทช์ซัดเข้าราชสำนักสยามแทนชาติโปรตุเกสผู้มาก่อน
ฮอลันดาเป็นชาติมหาอำนาจซึ่งเข้ามามีบทบาทราชสำนักอยุธยาเป็นอันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองต่อเนื่องมาถึงต้นรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช การเข้ามาของชาวฮอลันดา(ชาวดัทช์)ส่งผลให้สถานะทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองของชุมชนโปรตุเกสในเมืองพระนครศรีอยุธยาสั่นคลอน หมู่บ้านฮอลันดาตั้งอยู่เยื้องกับหมู่บ้านโปรตุเกสไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณ ๑ กิโลเมตร คนละฟากแม่น้ำกับหมู่บ้านโปรตุเกส และอยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้จากวัดพนัญเชิงประมาณ300 เมตร ต้องขับรถเข้าไปในทางแคบๆผ่านอู่ต่อเรือเอกชน สิ่งที่ตั้งเด่นในเขตโบราณสถานแห่งนี้ คือ อนุสรณ์สถานก่ออิฐถือปูนมีจารึก(ใหม่)เป็นภาษาดัทช์
กรมศิลปากรเคยอนุมัติโครงการขุดแต่งโบราณสถานหมู่บ้านฮอลันดาสมัยอยุธยา 2 ครั้ง พบหลักฐานชิ้นส่วนเครื่องเคลือบดินเผาแบบยุโรปจำนวนมาก เหรียญฮอลันดา กล้องยาสูบดินเกาลินเคลือบสีขาว กล้องสูบฝิ่น ฯลฯ
รากฐานอาคารโรงสินค้าฮอลันดา ซึ่งในบันทึกของชาวต่างประเทศระบุตรงกันว่า เป็นชุมชนชาวต่างชาติเพียงแห่งเดียวที่มีกำแพงและคูน้ำล้อมรอบอย่างมั่นคงแข็งแรง มีการสร้างทางระบายน้ำก่ออิฐถือปูนอย่างแข็งแรงมั่นคง
จารึกข้างต้นอ่านได้ความรวมๆว่า "สถานที่แห่งนี้ระหว่างค.ศ.1634-1767 เคยเป็นที่ตั้งของบริษัท อินเดียตะวันออก (VOC - Vereenigde คือ united / Oostindische คือ East India /Compagnie คือ Company)" ชาวสยามเคยเรียกชาวฮอลันดาว่า ชาววิลันดา ซึ่งเป็นคำที่ชาวโปรตุเกสใช้เรียกชาวฮอลันดามาแต่เดิมว่า "uitelander" (อ้างจากวิทยานิพนธ์เรื่องชุมชนชาวโปรตุเกสสมัยกรุงศรีอยุธยา, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2541 โดย พิทยะ ศรีวัฒนสาร)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น