สยาม-โปรตุเกสศึกษา. มิติทางประวัติศาสตร์ สังคมและวัฒนธรรมบนพื้นฐานการวิเคราะห์ ตีความและวิพากษ์อย่างเข้มข้น โดย พิทยะ ศรีวัฒนสาร องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร Siam-Portuguese Studies. Articles and knowledge management concerning to historical, archaeological and cultural relationship between Siam and Portugal by Bidya Sriwattanasarn, non- profit organization.
วันจันทร์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2553
สัมพันธไมตรีระหว่างสยามกับโปรตุเกสในสมัยอยุธยา
ภาพแผนผังเมืองมะละกาแสดงที่ตั้งป้อม โบสถ์ กำแพงป้อมโดยรอบ เอื้อเฟื้อจากWikipedia สารานุกรมเสรี ขอขอบคุณอย่างยิ่ง
ภาพการโจมตีมะละกาของกองเรือโปรตุเกส พ.ศ.2054(อาจารย์ ปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์เอื้อเฟื้อภาพถ่าย ขอขอบคุณอย่างยิ่ง)
โปรตุเกสเป็นชาวตะวันตกชาติแรกที่เดินทางเข้ามาติดต่อกับกรุงศรีอยุธยาขณะปิดล้อมเมืองท่ามะละกาในพ.ศ.2054(ค.ศ.1511) เนื่องจากอัลฟองซู ดึ อัลบูแกร์กึทราบว่า มะละกาเคยเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยาและมีสถานะเป็นคู่สงครามกัน เขาทราบว่าการค้าขายชายฝั่งระหว่างกรุงศรีอยุธยากับพ่อค้าจีนและอินเดียให้ผลตอบแทนสูงมาก จึงตัดสินใจส่งทูตเดินทางเข้ามายังอาณาจักรสยาม
ภาพโบสถ์โปรตุเกสที่มะละกา(อาจารย์ ปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์เอื้อเฟื้อภาพถ่าย ขอขอบคุณอย่างยิ่ง)
ทูตโปรตุเกสคนแรก คือ ดูอาร์ตึ แฟร์นันเดช (Duarte Fernandes) ซึ่งมีเป้าหมาย คือ การเจริญทางพระราชไมตรีกับราชสำนักสยามในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่2 (พ.ศ.2034-2072 /ค.ศ.1491-1529) และการเสนอสิทธิพิเศษแก่กรุงศรีอยุธยาหากสามารถยึดครองมะละกาได้ หลังจากนั้นประมาณ 1 เดือน โปรตุเกสก็ยึดมะละกาสำเร็จ
แผนที่เกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา "Judia, De Hoofd Stad de Siam-ยูทยา/ ยูเดีย เมืองหลักของสยาม" โดย ฟรังซัวร์ วาเลนทีน(ขอขอบคุณ http:xchange.teenee.com อย่างยิ่ง)
ในพ.ศ.2055(ค.ศ.1512) อัลฟองซู ดึ อัลบูแกร์กึส่งอันตอนิอู ดึ มิรันดา ดึ อาซึเวดู (Antonio de Miranda de Azevedo) เป็นทูตโปรตุเกสคนที่สอง โดยมีมานูเอล ฟรากูซู (Manuel Fragoso)ร่วมเดินทางมาด้วย ฟรากูซูพำนักอยู่ในกรุงศรีอยุธยาประมาณ 2 ปี เขาบันทึกพิกัดที่ตั้งของกรุงศรีอยุธยาและเมืองท่าต่างๆ รวมทั้งสินค้า การแต่งกาย ขนบธรรมประเพณีของชาวสยามด้วย
วัตถุประสงค์ของคณะทูตโปรตุเกสชุดที่สอง คือ การเจรจาให้กรุงศรีอยุธยาส่งเรือไปค้าขายที่มะละกา โดยโปรตุเกสจะให้ความช่วยเหลือด้านการทหารและกองเรือแก่กรุงศรีอยุธยาหากตกอยู่ในสถานการณ์จำเป็น
ในพ.ศ.2059(ค.ศ.1516) อาไลซู ดึ เมเนซึช (Aleixo de Meneses)กัปตันแห่งมะละกา ได้แต่งตั้งดูอารตึ คูเอลญู(Duarte Coelho)เป็นทูตคนที่สามเดินทางมายังกรุงศรีอยุธยา ทำให้มีการทำสัญญาทางพระราชไมตรีระหว่างโปรตุเกสและกรุงศรีอยุธยา สัญญาดังกล่าวระบุถึงการอนุญาตให้มีการตั้งถิ่นฐานของพ่อค้าโปรตุเกสในเมืองพระนครศรีอยุธยาด้วย
ปีที่คูเอลยูเดินทางเข้ามาค่อนข้างมีปัญหา ปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์และพิรักษ์ ชวนะเกรียงไกร ระบุว่าคูเอลยูเดินทางเข้ามาพ.ศ.2059(ค.ศ.1516) บทความของพันตรี จาชินตู โจเซ ดู นัซซิเมนตู มูอาร์ระบุว่าคูแอลญูเข้ามาพ.ศ.2060 ขณะที่บทความของนายแพทย์เจากิง ดึ กัมปุส กงศุลโปรตุเกสก่อนยุคสงครามโลกครั้งที่2 ระบุว่า โคเอลญูเดินทางเข้ามาพ.ศ.2061(ค.ศ.1518)
ประเด็นข้างต้น บทความของรอง ศยามานนท์และคณะกล่าวว่า ในปีพ.ศ.2062(ค.ศ.1519) คูเอลญูสามารถทำสัญญาทางพระราชไมตรีและการค้ากับกรุงศรีอยุธยาได้สำเร็จอย่างงดงาม โดยโปรตุเกสจะจัดหาปืนและกระสุนดินดำให้แก่สยาม และยินยอมให้ชาวสยามไปตั้งหลักแหล่งที่มะละกาได้ ส่วนสยามก็จะอำนวยประโยชน์ด้านการค้าและสิทธิพิเศษต่างๆแก่ชาวโปรตุเกสในเมืองพระนครศรีอยุธยา อีกทั้งยังอนุญาตให้ชาวโปรตุเกสเข้ามาตั้งถิ่นฐานและปฏิบัติศาสนกิจในกรุงศรีอยุธยาด้วย
ในที่นี้ผู้เขียนจะกำหนดปีการตั้งถิ่นฐานของชาวโปรตุเกสอย่างเป็นทางการครั้งแรกในเมืองพระนครศรีอยุธยาตามผลการค้นคว้าของสมจัย อนุมานราชธนซึ่งระบุว่า การเข้ามาเจริญพระราชไมตรีของโคเอลญูในปีพ.ศ.2059(ค.ศ.1516) ส่งผลให้มีการตั้งถิ่นฐานของชุมชนพ่อค้าชาวโปรตุเกสขึ้นตามสัญญาทางการค้าและทางพระราชไมตรีระหว่างกรุงศรีอยุธยากับโปรตุเกสข้างต้นเช่นเดียวกับที่มีการตั้งสถานีการค้าที่เมืองปัตตานีของมานูเอล ฟัลเกา (Manuel Falcão)
หลังจากนั้นเกือบ20ปีพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาอ้างบันทึกการเดินทางของแฟร์เนา เมนดึช ปินตู แล้วระบุชัดเจนมากขึ้นถึงการพระราชทานที่ดินและสิทธิการปฏิบัติศาสนกิจแก่ทหารรักษาพระองค์ชาวโปรตุเกส จากบทบาทการเข้าร่วมรบศึกเชียงกรานในรัชสมัยสมเด็จพระไชยราชา
ผมเข้าใจครับว่าพวกเราจะคุ้นเคยกับการสะกดเสียงและอ่านคำภาษาโปรตุเกสด้วยสำเนียงการสะกดแบบภาษาอังกฤษ เมื่อเจอบทความที่ออกเสียงแบบโปรตุเกสเลยรู้สึกจั๊กจี้ไปบ้าง จริงๆแล้วประโยชน์ของการเรียนรู้ภาษาและสำเนียงโปรตุเกส จะช่วยให้เราสามารถอธิบายรากศัพท์ภาษาไทยที่ฝรั่งนำไปเขียนทับศัพท์ได้อย่างลึกซึ้ง เช่น คำว่า "ยุทธิยา, ยุทยา" เรากลับอ่านตามสำเนียงอังกฤษว่า "โยเดียหรือยูเดีย" และตำแหน่ง "ชาวพนักงาน" ในบันทึกของวันวลิต เรากลับแปลย้อนมาว่า เป็นตำแหน่ง "อยู่เป็นนิ่งอัน" เป็นต้น
ตอบลบ