วันจันทร์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2553

กำเนิดชุมชนโปรตุเกสและวิถีชีวิตท่ามกลางชุมชนนานาชาติ

โดย พิทยะ ศรีวัฒนสาร ปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์ ระบุถึงเดินทางเข้ามากรุงศรีอยุธยาของดูอาร์ตึ คูเอลญูในพ.ศ.2059(ค.ศ.1516) สอดคล้องกับนักวิชาการอื่นซึ่งอ้างตามพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่า ชุมชนโปรตุเกสก่อตัวขึ้นในปีพ.ศ.2083(ค.ศ.1540) กล่าวคือ “ในแผ่นดินสมเด็จพระไชยราชาธิราช มีฝรั่งโปรตุเกสเข้ามาหากินที่กรุงศรีอยุธยาประมาณ 130 คน เมื่อสมเด็จพระไชยราชาธิราชจะเสด็จยกกองทัพหลวงไปปรบพม่าที่เมืองเชียงกราน ทรงเกณฑ์ชาวโปรตุเกสเป็นทหารรักษาพระองค์ 120 คน พวกโปรตุเกสได้รบพุ่งพวกข้าศึกแข็งแรง ครั้นชนะศึกมีความชอบ สมเด็จพระไชยราชาธิราชจึงพระราชทานอนุญาตให้พวกโปรตุเกสเข้ามาตั้งภูมิลำเนาอยู่ในพระราชอาณาจักร และทำวัดวาตามลัทธิศาสนาของตนได้ดังปรารถนา” ขณะที่พิทยะ ศรีวัฒนสาร ในวิทยานิพนธ์เรื่อง “ชุมชนโปรตุเกสในสมัยกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.2059-2310(ค.ศ.1516-1767)” เสนอว่า ชุมชนโปรตุเกสเริ่มก่อตัวขึ้นอย่างน้อยในปีพ.ศ.2059(ค.ศ.1516) โดยยึดหลักฐานในสัญญาทางพระราชไมตรีระหว่างกรุงศรีอยุธยากับโปรตุเกสพ.ศ.2059(ค.ศ.1516) ซึ่งระบุถึงการอนุญาตให้ชาวโปรตุเกสสามารถเดินทางเข้ามาค้าขาย ตั้งบ้านเรือนและปฏิบัติศาสนกิจในกรุงศรีอยุธยา แลกเปลี่ยนกับการที่ทางการโปรตุเกสดำเนินการจัดหาปืนและกระสุนดินดำแก่กรุงศรีอยุธยา และอนุญาตให้ชาวสยามเดินทางไปค้าขายที่มะละกา ในที่นี้จึงถือว่า พ.ศ.2059(ค.ศ.1516)เป็นจุดเริ่มต้นอย่างเป็นทางการครั้งแรกของชุมชนโปรตุเกสในเมืองพระนครศรีอยุธยา

“แผนที่แสดงชุมชนหลากหลายเชื้อชาติที่กรุงศรีอยุธยาค.ศ.1688(พ.ศ.2231)”ของลาลูแบร์เอื้อเฟื้อจากhttp://www.southeastasianarchaeology.com ขอขอบคุณอย่างยิ่ง จากหลักฐานแผนที่ซึ่งเขียนโดยชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาหลายฉบับ อาทิ แผนที่อยุธยาของบาทหลวงคูร์โตแลง(Père Courtaulin)ชาวฝรั่งเศสที่เข้ามากรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ แสดงให้เห็นว่าค่ายโปรตุเกสในอดีตมีพื้นที่คล้ายรูปสามเหลี่ยม แต่การสำรวจเพื่อทำแผนผังประกอบการขุดแต่งโบราณสถานโบสถ์ซานเปโตรในปีพ.ศ.2527(ค.ศ.1983) แสดงลักษณะทางกายภาพของหมู่บ้านโปรตุเกสคล้ายรูปฝักมะขามตามสภาพการตั้งชุมชนปัจจุบันที่ขนานไปตามริมน้ำ และคิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 500 ไร่ โดยมีขนาดกว้างประมาณ 170 เมตร ยาวประมาณ 2000 เมตร และมีขอบเขตพื้นที่ดังนี้ ทิศเหนือ จรดวัดใหม่บางกระจะ ทิศตะวันออก จรดแม่น้ำเจ้าพระยา มีอนุสรณ์สถานหมู่บ้านญี่ปุ่นตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามเยื้องไปทางตะวันออกเฉียงใต้ ทิศใต้ จรดบ้านสะพานขาวอันเป็นที่ตั้งของชุมชนชาวไทยมุสลิม ทิศตะวันตก เคยมีสภาพเป็นท้องนามีคูน้ำคั่น ปัจจุบันมีสุเหร่า สนามฟุตบอลและชุม ชนมุสลิมขยายตัวหนาแน่นมากขึ้นเรื่อยๆริมถนนสายวัดไก่เตี้ย-สะพานขาว “แผนที่แสดงชุมชนหลากหลายเชื้อชาติที่กรุงศรีอยุธยา ค.ศ.1688(พ.ศ.2231)” ซึ่งตีพิมพ์ในจดหมายเหตุของมองซิเออร์ เดอ ลา ลูแบร์ทำให้แลเห็นชัดเจนว่า ในสมัยอยุธยาชุมชนโปรตุเกสตั้งอยู่ท่ามกลางชุมชนนานาชาติ ได้แก่ ชุมชนจีน(ซึ่งมีทั้งในเกาะเมืองและนอกเกาะเมือง) ชุมชนโคชินจีน(เวียดนาม) ชุมชนมาเลย์ ชุมชนมากัสซาร์และชุมชนพะโค ส่วนทางฟากตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาประกอบด้วยชุมชนอังกฤษ ชุมชนฮอลันดา ชุมชนญี่ปุ่นและชุมชนจีนไล่ลงมาตามลำดับ ซึ่งรวมถึงชุมชนชาวสยามซึ่งเป็นพลเมืองส่วนใหญ่ในเมืองพระนครศรีอยุธยา

จดหมายเหตุของมองซิเออร์ เดอ ลา ลูแบร์ (M. de La Loubère) เรียกชุมชนโปรตุเกสว่า “ค่ายโปรตุเกส-Camp of Portuguese” ซึ่งตรงกับภาษามาเลย์ว่า “Campong” และธีรวัติ ณ ป้อมเพชรใช้ว่า“Campo” แปลว่า “บ้าน” หรือ “หมู่บ้าน” ในภาษาสยาม ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่าคำดังกล่าวอาจสัมพันธ์กับคำว่า “Camp- ค่าย” และในคำประกาศเกียรติคุณของชาวโปรตุเกสที่ร่วมศึกพระยาตากข้บไล่ทหารพม่าออกจากสยามเมื่อพ.ศ.2310(ค.ศ.1767) เรียกที่ตั้งของชุมชนโปรตุเกสที่กรุงธนบุรีว่า “ Bandel หรือ Bamdel dos Portuguezes” แปลว่า “บ้านของชาวโปรตุเกส” อันอาจสะท้อนให้เห็นถึงปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมก่อนหน้านั้นได้เช่นกัน

ผู้ปกครองชาวโปรตุเกสในเมืองพระนครศรีอยุธยามีตำแหน่งเป็นกะปิเตา-มูร์(Capitao-mor) ซึ่งในเอกสารฝ่ายสยามเรียกว่า นายอำเภอโปรตุเกส อันเป็นฐานะเช่นเดียวกับนายอำเภอจีนหรือนายอำเภอญี่ปุ่นหรือนายอำเภออังกฤษ สังฆราชปัลเลอร์กัวอธิบายว่า "เป็นตำแหน่งฝ่ายนครบาล ควบคุมราษฎรชั่วเขตหมู่บ้านหนึ่ง"(ปชพ.ล.๑๓น.๑๗๗) และเป็นตำแหน่งหัวหน้าคนต่างชาติในสยามด้วย โดยนายอำเภอจะทำหน้าที่คล้ายกงศุลดูแลผลประโยชน์ของชนชาติตน(ปชพ.ล.๑๓น.๑๘๑) ศิลปะนันบัน(Nan Ban Art) หรือ ศิลปะที่ได้รับอิทธิพลจากคนเถื่อนแห่งแดนใต้, 1549-1614)ของญี่ปุ่นแสดงการเดินทางอย่างโอ่อ่าของกะปิเตา-มูร์โปรตุเกสผ่านย่านเศรษฐกิจในเมือง

แผนที่ของกูร์โตแลง(JEAN DE COURTAULIN DE MAGUELLON,1686) อ้างจาก www.ayutthaya history research.com ขอขอบคุณเป็นอย่างยิ่ง

แผนที่ของกูร์โตแลงระบุข้อความว่า "quartier des Portugais" แปลว่า "อำเภอโปรตุเกส" อย่างชัดเจน เป็นการยืนยันผ่านเอกสารแผนที่ฉบับนี้ว่า ทางการสยามยอมรับว่า ค่ายโปรตุเกสมีฐานะเป็นอำเภอ(ภาพจากสบายดอทคอม ขอขอบคุณเป็นอย่างยิ่ง)

หมู่บ้านโปรตุเกสหรือค่ายโปรตุเกส อันเป็นที่ตั้งของชุมชนชาวโปรตุเกสและคนเชื้อสายโปรตุเกสในสมัยอยุธยา มีชื่อเรียกในพระราชพงศาวดารว่า “บ้านดิน”[1] ตั้งอยู่ที่ประมาณพิกัด 47 P.P.R. 844698 หรือประมาณละติจูดที่ 14 องศา 19 ลิบดา 38 พิลิบดาเหนือ ลองติจูดที่ 100 องศา 34 ลิบดา 30 พิลิบดาตะวันออก[2] ที่ตั้งปัจจุบันมีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มทางตอนใต้นอกเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา ทิศตะวันออกฝั่งด้านตรงข้ามของแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นที่ตั้งของค่ายญี่ปุ่นหรืออนุสรณ์สถานหมู่บ้านญี่ปุ่น ทิศเหนือจรดกับวัดใหม่บางกระจะมีคูน้ำตัดจากแม่น้ำเจ้าพระยาไปเชื่อมกับคูน้ำทางทิศตะวันตก ทิศใต้เป็นที่ตั้งของชุมชนมุสลิมบ้านสะพานขาว มีคูน้ำคั่นแบ่งเขตชุมชน

หลักฐานของลาลูแบร์ และแกมเฟอร์ ระบุตรงกันว่า ชาวโปรตุเกสหรือชาวต่างชาติอื่นๆ เรียกหมู่บ้านของตนว่า “ค่าย” หรือ “Camp”[3] ในภาษาอังกฤษ และฝรั่งเศส ตรงกับภาษาโปรตุเกสว่า “Campo”[4] บาทหลวงมานูเอล ไตไซรา เรียกชุมชนโปรตุเกสว่า "Campo Português(ค่ายโปรตุเกส)" หรือซึ่งตรงกับความหมายในภาษามะลายูว่า "Bandel Português" คำว่า "bandel" มาจาก "bandar" ในภาษามะลายู แปลว่า "porto - ท่าเรือ , อ่าว" หรือ ซึ่งตรงกับคำว่า"cais - ท่าเทียบเรือ , สะพานหินเทียบเรือ" ในภาษาโปรตุเกส บาทหลวงไตไซราระบุว่า ในมะละกายังมีสถานที่ชื่อ บันดา ฮิลีร์ (Banda Hilir) ปรากฏอยู่ เป็นหลักฐานยืนยันที่มาของคำว่า "Banda" ในภาษามะลายู

"ค่าย โปรตุเกส - bandel / bandar português" มีหัวหน้าเรียกว่า "กะปิเตา มูร์ - capitã mor"[5] "กะปิเตา มูร์" หมายถึงกัปตันหมู่(บ้าน) หรือหัวหน้าหมู่ (บ้าน) ซึ่งก็ตรงกับคำอธิบายของบาทหลวงไตไซรา ที่ชี้ว่ากะปิเตาของบันดาถูกเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ชาบันดา (Xabanda) คำ "ชา(Xa) แปลว่า Capitao " บันดา(banda) แปลว่า porto"[6] ตรงกับความหมายในภาษาไทยว่า "นายท่า(เรือ)" บาทหลวงไตไซราระบุว่าชาวสยามเรียกชุมชนค่ายโปรตุเกสว่า "บ้านฝรั่ง" คำว่าฝรั่งนี้เดิมเป็นคำเรียกที่ชาวเอเชียทั่วไปชาวโปรตุเกสมาก่อน เมื่อชาวคริสต์ชนชาติอื่นเดินทางเข้ามาในภูมิภาคตะวันออก จึงถูกเรียกรวมๆกันว่า Franchi , Paranghi , Feranghi , Firingi , Fereng หรือ Ferang ในจีนก็มีคำเรียกชาวคริสต์ว่า Fulanki หรือ Fulanchi[7] เช่นกัน [1]หอสมุดวชิรญาณ, ประชุมพงศาวดารภาคที่ 27 (พระนคร:โสภณพิพรรฒนากร, 2465), หน้า7. [2] กรมแผนที่ทหาร, จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แผนที่จากภาพถ่ายทางอากาศ ระวาง 5137 – IV, ลำดับชุด L 7017 พิมพ์ครั้งที่1 RTSD. [3] ชิมอง เดอ ลาลูแบร์, จดหมายเหตุลาลูแบร์ ฉบับสมบูรณ์ เล่ม 1 , หน้า 499 และ Kaempfer, The History of Japan together with a Description of the Kingdom of Siam 1690-92 , Vol. I-III ( New York : AMS Press Inc, 1971), P.36 [4] Mike Harland, The Collins Portuguese Pocket Dictionary , p.134 [5] P. Manuel Teixeira, Portugal na Tailandia ( Macau : Imprensa nacional de Macau, 1983), p.63. [6] Ibid., p.63. [7] Ibid., p.63.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น