วันพฤหัสบดีที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

เมืองKamkamในจารึกAsemto อยู่ไหน?

โดย พิทยะ ศรีวัฒนสาร

บันทึกการเดินทางของทูตโปรตุเกสซึ่งเข้ามาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ คือ เปรู วาซ ดึ ซิไกร่า (Pero vaz de Siqeira) กล่าวถึงชื่อและบทบาทของพนักงานจัดเลี้ยงแบบตะวันตกในราชสำนักสยามว่า เป็นข้าราชการสังกัดค่ายโปรตุเกส ชื่อ โยเซฟ คาร์ดูซู (Jozeph Cardozo) เขามีผู้ช่วยชื่อ อันต๊อนิอู ลูบาตู ( Antonio Lobato)

หลังกรุงศรีอยุธยาแตกปรากฏชื่อดังกล่าวในจารึกAsemto ค.ศ.1768ซึ่งกล่าวถึงการพระราชทานที่ดิน ณ โบสถ์ซางตาครูซ แก่ชาวโปรตุเกสที่ร่วมขับไล่พม่าออกจากเมืองบางกอกเมื่อค.ศ.1768 กล่าวถึงลูกหลานผู้ร่วมสายสกุลเดียวกับโยเซฟ คาร์ดูซู ชื่อ ฟรานซิสกู คาร์ดูซู (Fr.co / Francisco Cardoso) ได้หนีภัยสงครามไปพำนักที่เมือง “Kamkam” ระยะหนึ่ง ก่อนจะกลับมาอยู่ที่ชุมชนโบสถ์ซางตาครูซ ในเมืองบางกอกอีกครั้ง เมื่อ ค.ศ.1768

เมือง “Kamkam” อยู่ที่ใดมิอาจทราบได้แน่ชัด ในบทความเรื่อง “สยามกับวัฒนธรรมตะวันตก” เผยแพร่เมื่อเมื่อ 5 มีนาคม 2012 เวลา 16:55 น. ระบุในวงเล็บเชิงสันนิษฐานแบบไม่แน่ใจว่า “ (เขื่อนขัณฑ์? ขอนแก่น? )” หลังจากนั้นผู้เขียนก็พยายามตามหาเมืองดังกล่าวต่อไปอย่างไม่ลดละ

กระทู้เรื่อง “พระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองพุทไธมาศ ???” ใน www.reurnthai.com ระบุว่า “เมืองพุทไธมาศ หรือ บันทายมาศ คือ เมืองเดียวกับเมืองห่าเตียนของเวียดนาม เมืองห่าเตียน (Hà Tiên) นี้ หนังสือเก่าของไทยเรียกว่า ฮาเตียนบ้าง ฮ่าเตียนบ้าง ในภาษาจีนกลางเรียกว่า เหอเซียน) แปลว่าแม่น้ำเซียน...และยังมีชื่อจีนอีกชื่อหนึ่งคือ กั๋งโข่ว แปลว่า ปากท่า (อ่าว) ในขณะที่ชื่อ เปียม ที่ปรากฏในพงศาวดารเขมรแปลว่า ปากน้ำ...” นอกจากนี้ยังระบุว่า “ฝรั่งบางชาติเรียกเมืองนี้ว่า Cancao แต่เพิ่งเคยเห็นที่เขียนว่า Kankhao ” (ขอขอบคุณข้อมูลจากwww.reurnthai.com)

คำว่า “ฝรั่งบางชาติ” ดังข้อความข้างต้น เห็นจะเป็นชาวโปรตุเกส เนื่องจากคำว่า “คันเคา – Cancao หรือ Kankhao” นั้น เป็นการเขียนคำสะกดแบบโปรตุเกส ซึ่งถ้าจะให้ถูกต้องนั้นก็จะต้องมีเครื่องหมายเน้นเสียง(accent) เช่นนี้ “Cancão หรือ Kankhão”

ชื่อเมือง“Kamkam”ในจารึกพระราชทานที่ดินแก่ชาวโปรตุเกสค.ศ.1768 สามารถอ่านออกเสียงได้ว่า “คังเคา ” ซึ่งนับว่าใกล้เคียงกับคำ “คันเคา” เป็นอย่างยิ่ง

ดังปรากฏตัวอย่างของชื่อหนังสือจดหมายเหตุการเดินทางของแฟร์เนา เมนเดส ปินตู(Fernão Mendez Pinto) ซึ่งในการตีพิมพ์ครั้งแรกๆ เขียนว่า “Pérégrinação อ่านว่า เปเรกรินาเซา ” ต่อมากลับสะกดเป็น “Pérégrinaçam อ่านว่า เปเรกรินาเซา” เช่นกัน


แผนที่เมืองKankhaoทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองKampot (ขอขอบคุณwww.reurnthai.com)

วันอังคารที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

วัฒนธรรมการทำขนมไทยที่ได้รับอิทธิพลจากโปรตุเกส

โดย 
พิทยะ ศรีวัฒนสาร

ผ่านไปแล้วเกือบปี เก็บตกจากงานเสวนาวิชาการ หัวข้อ “การเดินเรือ เครื่องเทศ และศรัทธา”เมื่อวันอังคารที่ 21 มิถุนายน 2554 เวลา 13.00 น. – 16.30 น. ณ ห้องประชุม อาคารมหาจุฬาลงกรณ์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

ผู้เขียนบันทึกภาพวิดีโอการสัมภาษณ์เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมระหว่างสยามกับโปรตุเกสไว้ได้เล็กน้อยจากผลงานของ Nation Documentary / NBC จึงขออนุญาต นำมาเผยแพร่ หากมีผู้สนใจฉบับเต็มอิ่มหรือต้องการนำไปเผยแพร่ กรุณาติดต่อ NBC โดยตรงครับ