วันอังคารที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2555

สัมภาษณ์อาจารย์แสงเดือน โพธิ์ไทร ผู้นำชุมชนโบสถ์คอนเซ็ปชัน สามเสน

โดย 
พิทยะ ศรีวัฒนสาร


ผู้เขียนมีโอกาสสัมภาษณ์ข้อมูลเชิงสังคมวัฒนธรรมจากอาจารย์แสงเดือน โพธิ์ไทร ผู้นำชุมชนโบสถ์คอนเซ็ปชัน สามเสน อาจารย์แสงเดือนเป็นคนไทยเชื้อสายโปรตุเกส ซึ่งบรรพบุรุษของท่านน่าจะอพยพจากเมืองพระนครศรีอยุธยา เข้าไปอยู่ในเขตพระราชอาณาจักรกัมพูชาระยะหนึ่งเมื่อปีพ.ศ.2310 เนื่องจากสงครามระหว่างสยามกับพม่า 

ครั้นสิ้นรัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี  อันเป็นช่วงเวลาของความวุ่นวายทางการเมืองในกัมพูชา บรรพบุรุษของท่านได้เดินทางเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระมหากษัตริย์สยามดังเดิม พร้อมๆ กับเจ้านายฝ่ายเขมร  และได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ย่านโบสถ์คอนเซ็ปชันสามเสน อันเป็นย่านที่ตั้งบ้านเรือนของชาวโปรตุเกสมาตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์เมื่อครั้งพระราชทานที่ดินให้สังฆราช หลุยส์ ลาโน (Louis Lanaux) ใน ค.ศ.1674(พ.ศ.2217)

เมืองในกัมพูชาที่ชาวโปรตุเกสเดินทางเข้าไปตั้งถิ่นฐานน่าจะเป็นเมืองคันเคา (Cancão หรือ Kamkam) ดังหลักฐานจารึก Asemto 1768   ซึ่งเรียกในภาษาจีนว่า เมืองกั้งโข่ว หรือ เมืองพุทไธมาศ (บันทายมาศ) ในเอกสารฝ่ายไทย (ปัจจุบันเมืองนี้อยู่ในเวียดนาม)

คนไทยเชื้อสายโปรตุเกสเป็นคนเกิดก่อนกาล คือ มีนามสกุลใช้มาตั้งแต่ก่อนจะมีพระราชบัญญัตินามสกุลพ.ศ.2456 (สมัยรัชกาลที่6) ตามธรรมเนียมของชาวยุโรป ประเด็นของการสัมภาษณ์ คือ เมื่อพูดถึงศักดินาของขุนนางสมัยโบราณสยามตามหลักฐานทำเนียบศักดินาไทย ซึ่งก็ไม่มีท่านใดสามารถอธิบายได้ว่า หน่วยของศักดินาไทยมีค่าเป็นเท่าใด (เป็นไร่จริงหรือไม่) ผู้สัมภาษณ์ได้ฟังเรื่องเล่าของอาจารย์แสงเดือนเมื่อครั้งวัยเด็กถึงตอนไปตรวจที่นากว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตาของคุณยายซึ่งเป็นลูกหลานผู้มีบรรดาศักดิ์  จึงถามอาจารย์แสงเดือนว่า ศักดินาของขุนนางในอดีตที่กำหนดไว้ เช่น ขุนฤทธิ์สำแดง เจ้ากรมซ้าย กรมทหารฝรั่งแม่นปืน จะมีที่นาถึง 400 (ไร่) จริงหรือไม่ อาจารย์แสงเดือน หรือที่ท่านชอบแทนตัวเองว่า "พี่แสง" ตอบว่า "มีจริงจากประสบการณ์ในการเดินทางไปดูที่นาของคุณยายพี่แสงในต่างจังหวัด  ... ต้องพายเรือตรวจที่นาทั้งวันจนเหนื่อยอ่อน..."


โถน่าสงสารจังครับ... แต่แม้จะเหนื่อยอ่อนแค่ไหน...ไม่ต้องทำอะไรก็มีกินมีใช้ ...อิอิ!

(สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ.2554  ระหว่างงานฉลองความสัมพันธ์ทางการทูต 500 ปี ประเทศไทยและโปรตุเกส ณ กระทรวงต่างประเทศ)