วันอังคารที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2553

วันชาติโปรตุเกส 10 มิถุนายน 2010

วันชาติโปรตุเกส 10 มิถุนายน 2010
รายงานโดย พิทยะ ศรีวัฒนสาร




วันชาติโปรตุเกสปีนี้ (2010) จัดขึ้นที่โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน(The Royal Orchid Sheraton Hotel) สี่พระยา เวลา 18.00 น. รัฐบาลโปรตุเกสถือเอาวันถึงแก่อนิจกรรมของ ลูอิช ดึ กามอยช์ (Luís de Camões)กวีเอกชาวโปรตุเกส เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ค.ศ. 1580 เป็นวันชาติโปรตุเกส วันที่ 10 มิถุนายน ของทุกปีจึงเป็นทั้งวันของกามอยช์(Dia de Camões) วันชาติโปรตุเกส(Dia de Portugal) และวันแห่งประชาคมโปรตุเกส(das Comunidades Portuguesas) ด้วย


ผลงานสำคัญของ ลูอิช ดึ กามอยช์ คือ วรรณกรรมเรื่อง "Os Lusiadas"ซึ่งถือเป็นบทกวีประจำชาติโปรตุเกส อันมีเนื้อหาสดุดีประวัติศาสตร์และการประสบความสำเร็จในการสำรวจดินแดนสู่โลกตะวันออกเป็นชาติแรกของยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่16

ในภาพฯพณฯ เอกอัครราชทูตโปรตุเกส ณ กรุงเทพฯ (H. E. Mr. António de Faria e Maya)กำลังกล่าวสดุดีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโปรตุเกสกับประเทศไทยขณะเปิดงาน ก่อนจะมีการร่วมดื่มถวายพระพรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ


ผู้มีเกียรติและบรรดาทูตานุทูตจากมิตรประเทศ

แขกผู้มีเกียรติมาร่วมงานประมาณ 300 คนเศษ

ขนมฝรั่งกุฎีจีนถูกลดขนาดพอดีพอคำ

หน้าตาคล้ายขนมหม้อแกง

หลังจากการเต้นรำแบบโปรตุเกสซึ่งได้รับการฝึกสอนจากมาดามของท่านทูต หนูน้อยจากโรงเรียนในชุมชนกุฎีจีนก็นั่งเติมพลังกัน

คุณศานติ สุวรรณศรี มัคคุเทศก์ท้องถิ่นแห่งโบสถ์ซางตาครูซ ผู้สืบทอดเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษชาวโปรตุเกสแห่งย่านกุฎีจีน

แขกรับเชิญท่านหนึ่งถูกนำใบหน้ามาเปรียบเทียบกับคุณศานติ สุวรรณศรี

ภาพเปรียบเทียบใบหน้าของชาวโปรตุเกสที่มาร่วมงานวันชาติโปรตุเกสกับเค้าโครงใบหน้าของคุณศานติ สุวรรณศรี

วันพฤหัสบดีที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2553

อาชีพของชาวโปรตุเกสในสยาม(ค.ศ.1511-1767): มุมมองใหม่กับความหลากหลายที่แฝงเร้น

Special Seminar on “Five Centuries Relations Between Thailand and Portugal” organized by
Centre for European Studies, Chulalonkorn University and the Embassy of Portugal
Friday, June 14th 2002, Room 105, Building 1,
Facculty of Arts, Chulaongkorn University
โดย
พิทยะ ศรีวัฒนสาร
คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
Bidya Sriwattanasarn, Dhurakijpundit University

การบรรยายพิเศษเรื่อง อาชีพชาวโปรตุเกสในสยาม 1511-1767: มุมมองใหม่กับความหลากหลายที่แฝงเร้นนี้ จัดโดยศูนย์ยุโรปศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่หอประชุมใหญ่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ 14 มิถุนายน ค.ศ. 2546 ต่อมาถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในเอกสารประกอบการสัมมนาชื่อ "ความสัมพันธ์ ไทย ยุโรป จากอดีตสู่ปัจจุบัน เยอรมนี โปรตุเกส รัสเซีย", พรสรรค์ วัฒนางกูร (บรรณาธิการ) กรุงเทพฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

-อารัมภบท
Bon dia signors e signoras. Como esta? Good morning ladies and gentlemen. กราบเรียนฯพณฯ เอกอัครราชทูตโปรตุเกส ณ กรุงเทพฯ ผู้อำนวยการศูนย์ยุโรปศึกษา และท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย ผู้เขียนรู้สึกยินดีที่ได้มีโอกาสร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสัมมนาพิเศษ ฉลองห้าศตวรรษความสัมพันธ์ระหว่างไทย-โปรตุเกสในครั้งนี้

บทความเรื่อง อาชีพของชาวโปรตุเกสในสยาม(ค.ศ.1511-1767): มุมมองใหม่กับความหลากหลายที่แฝงเร้น เป็นความพยายามที่จะอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างกรุงศรีอยุธยากับโปรตุเกสในลักษณะของประวัติศาสตร์สังคม โดยการวิเคราะห์และเชื่อมโยงการตีความเอกสารด้วยทัศนะที่มองลึกลงไปยิ่งกว่าการชี้นำของหลักฐานที่มากด้วยอคติทางเชื้อชาติ

กล่าวคือ นับตั้งแต่อัฟฟองซู ดัลบูแกร์กึ ผู้สำเร็จราชการโปรตุเกสแห่งมะละกา ส่งดูอารตึ แฟร์นันดึช เดินทางเข้ามาติดต่อกับกรุงศรีอยุธยาเป็นครั้งแรกในปีค.ศ.1511 ทำให้มีการตั้งถิ่นฐานของชาวโปรตุเกสขึ้นในกรุงศรีอยุธยาในเวลาอีกหกปีต่อมา เมื่อดูอาร์ตึ กูเอลยูเข้ามาทำสัญญาทางพระราชไมตรีกับสมเด็จพระรามาธิบดีที่2ในปีค.ศ.1516 หลังจากนั้น ชาวโปรตุเกสก็มีบทบาททางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรมในเมืองพระนครศรีอยุธยาอย่างน่าศึกษา จนถึงปีค.ศ. 1767 อันเป็นปีสิ้นกรุงศรีอยุธยา
ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์หลักฐานของนิโคลาส แชแวสเสนอภาพลักษณ์และมุมมองที่น่าเคลือบแคลงใจไม่น้อย เมื่อระบุว่าชาวโปรตุเกสที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองพระนครศรีอยุธยาจำนวน 700-800 ครอบครัว ส่วนมากมีฐานะยากจนและยอมตายเสียดีกว่าจะประกอบอาชีพหรือทำมาหากินเลี้ยงตัวเอง[1]
มิหนำซ้ำพ่อค้าฝรั่งเศสบางคนยังรายงานว่า ชาวโปรตุเกสล้วนมีนิสัยเกียจคร้าน เย่อหยิ่ง และชอบอ้างว่าทุนรอนไม่มีจึงเอาแต่นอนขึงอยู่บนเสื่อเท่านั้น[2]

หากมองอย่างผิวเผินโดยไม่ไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนก็จะเชื่อไปตามนั้นทันที และเกิดความรู้สึกไม่ดีต่อภาพพจน์ของคนในชุมชนโปรตุเกส แต่จากการประเมินและกลั่นกรองหลักฐานอย่างรอบด้าน ผู้เขียนได้พบความจริงแตกต่างออกไปจากการเสกสรรค์ของร่วมสมัย เพราะแท้ที่จริงแล้วคนในชุมชนค่ายโปรตุเกสมิได้มีสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจตกต่ำเช่นนั้นไปเสียทั้งหมด สิ่งที่ปรากฏในหลักฐานของฝรั่งเศสและฮอลันดา อาจเป็นเพียงองค์ประกอบแห่งความเคลื่อนไหวในชุมชนโปรตุเกสที่ถูกบันทึกเอาไว้เพียงด้านเดียวโดยชาติคู่แข่ง ซึ่งแทบจะไม่กล่าวถึงคุณงามความดีของอีกฝ่ายเอาไว้เลยแม้แต่น้อย

จากการศึกษาเอกสารจำนวนหนึ่ง ผู้เขียนได้พบร่องรอยของนานาอาชีพที่ชาวค่ายโปรตุเกสในเมืองพระนครศรีอยุธยาใช้เป็นหลักในการดำเนินชีวิต กล่าวคือ นอกจากการเป็นทหารรับจ้าง และทหารปืนใหญ่แล้ว* ยังประกอบด้วยงานที่มีเกียรติ อันทำให้พวกเขาสร้างฐานะและสร้างสัมพันธภาพกับชาวสยามและคนชาติอื่นในเมืองพระนครศรีอยุธยาได้อย่างน่าชื่นชมและค่อนข้างหลากหลาย ซึ่งในที่นี้กล่าวถึงเพียงอาชีพช่างอัญมณี นักร้อง นักดนตรี พ่อค้าสำเภา เสมียน เท่านั้น เพื่อความเหมาะในด้านเวลาของการนำเสนอ ส่วนเนื้อหาเกี่ยวกับอาชีพอื่นนั้นผู้มีเกียรติสามารถพิจารณาได้จากบทความฉบับสมบูรณ์ที่แจกในการลงทะเบียน

-ช่างอัญมณีมืออาชีพแห่งชุมชนค่ายโปรตุเกส
ชาวยุโรปให้ความสนใจต่อการค้าขายทองคำและอัญมณีในกรุงศรีอยุธยามาช้านาน เอกสารประวัติศาสตร์จำนวนมากกล่าวถึงการนำเข้า-ส่งออกทองคำและเครื่องประดับในรูปของสินค้าและเครื่องราชบรรณาการของสยามในการเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศเป็นระยะๆ

หลักฐานจดหมายของหัวหน้าพ่อค้าอังกฤษเขียนถึงผู้ว่าการแห่งป้อมเซนต์ยอร์ชและสมาชิกสภาที่ปรึกษา เมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ.2229/1684 บันทึกถึงการตีราคาและการต่อรองเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบ ในการค้าและผลิตเครื่องประดับอัญมณีในสยามอย่างเข้มข้น ระหว่างหัวหน้าพ่อค้าอังกฤษในสยามกับคอนสแตนติน ฟอลคอนหรือเจ้าพระยาวิไชเยนทร์ เสนาบดีสยามชาวกรีกผ่านตัวแทนการค้าของตน โดยฝ่ายฟอลคอนไม่ปฏิบัติตามสัญญาการแลกเปลี่ยนดาบญี่ปุ่นประดับอัญมณีกับของป่าและแร่ธาตุ(ไม้จันทร์ ทองแดง ดีบุก)กับพ่อค้าอังกฤษ[3] ทั้งๆที่มีช่างทองและช่างทำเพชรพลอยโบราณชาวสยามเป็นผู้ตีราคาสินค้าเอง และยังเป็นฝ่ายครอบครองเครื่องเพชรที่ได้สั่งทำเอาไว้แล้วด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น ฟอลคอนได้สั่งให้ช่างทองชาวฝรั่งเศส ตีราคาเครื่องประดับเพชรของอังกฤษใหม่อีกครั้ง แต่การตีราคามีความผิดพลาดถึงร้อยละเจ็ดสิบห้าของราคาสินค้าจริง ส่งผลให้พ่อค้าอังกฤษขาดทุนเป็นเงินจำนวนมาก

เมื่อฟอลคอนให้ช่างอัญมณีชาวโปรตุเกสกับช่างทำเครื่องเพชรพลอยชาวสยาม(ช่างหลวง?)ผู้มีความสามารถที่สุดในเมืองพระนครศรีอยุธยา ตีราคาเครื่องเพชรใหม่อีกครั้งหนึ่ง ปรากฏว่าช่างเหล่านี้ได้ตีราคาเครื่องเพชรดังกล่าวสูงขึ้นไปกว่าเดิมนับสิบเท่า[4]

ช่างเพชรพลอยชาวโปรตุเกสซึ่งถูกกล่าวถึงในที่นี้ หลักฐานระบุชื่อว่าซินญอร์ รูดริเกวซ (Senhor Rodrigues) และ ซินญอร์ ปอร์ตู (Senhor Porto) [5] การที่บุคคลทั้งสองรับทำและรับตีราคาเครื่องประดับเพชรพลอยที่บ้านของช่างทองชาวฝรั่งเศส และมีการติดต่อกับฟอลคอนและช่างทองหลวง(?) แสดงให้เห็นว่า พวกเขาเป็นสมาชิกของชุมชนค่ายโปรตุเกส ที่มีสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมแบบไม่ธรรมดาอย่างแน่นอน นอกจากนี้ยังเห็นได้ชัดว่า พวกเขาต่างก็มีฝีมือในการทำเครื่องเพชรระดับแนวหน้า จึงได้รับการยอมรับจากขุนนางสยามและพ่อค้าชาวต่างประเทศอย่างกว้างขวาง

การตีราคาเครื่องเพชรเหลือเพียงประมาณ3,000เหรียญเศษอย่างรอบจัดเช่นนี้(คือ ผิดพลาดประมาณร้อยละ70 จากที่ตั้งราคาไว้10,500 เหรียญ) อาจเป็นข้อบ่งชี้สำคัญที่แสดงให้เห็นว่า ช่างอัญมณีกลุ่มดังกล่าวเป็นผู้ทรงภูมิปัญญาอย่างแท้จริงในการตีราคาอัญมณีและเครื่องประดับเพชรพลอย เพราะสามารถประเมินราคาสินค้าประเภทนี้ได้ใกล้เคียงกับต้นทุนและค่ากำเหน็จของชิ้นงาน จนทำให้พ่อค้าอังกฤษไม่สามารถโก่งราคาได้เกินความเป็นจริง สร้างความกระอักกระอ่วนใจให้แก่พ่อค้าอังกฤษเป็นอันมาก
การที่รูดิเกวซ[6]และปอร์ตู ช่างอัญมณีชาวโปรตุเกสไปทำงานที่บ้านของช่างทองชาวฝรั่งเศสแสดงให้เห็นว่า อย่างน้อยขณะนั้นการค้า ผลิตอัญมณีและเครื่องประดับส่วนหนึ่งในเมืองพระนครศรีอยุธยาอาจอยู่ภายใต้การจัดการร่วมกันระหว่างพ่อค้าชาวฝรั่งเศสและโปรตุเกสก็ได้

ตระกูลรูดิเกวชไม่เพียงแต่จะประกอบอาชีพเป็นช่างอัญมณีเท่านั้น ในสงครามกู้อิสรภาพของสมเด็จพระเจ้าตากสินเมื่อปี พ.ศ.2311/1768 ลูกหลานของพวกเขาก็มีส่วนร่วมในวีรกรรมครั้งนั้นด้วย[7] ดังปรากฏในจารึกประกาศพระราชทานที่ดินในการสร้างโบสถ์ซางตาครูซแก่ชาวโปรตุเกส เมื่อปีค.ศ.1768 ซึ่งบาทหลวงไตไซราได้รวบรวมไว้แล้วในงานนิพนธ์ของท่านประมาณสิบปีเศษที่ผ่านมา

-คนนำร่องและนักเดินเรือชาวโปรตุเกส
รายงานของศาลกระทรวงทหารเรือของอังกฤษ พ.ศ.2230/1687 ตัดสินคดีเกี่ยวกับเรือดูเรีย ดอลลัท (Doorea Dallat) ของพระเจ้ากรุงสยาม ซึ่งถูกยึดโดยกัปตันจอห์น คอนเซทท์ แห่งเรือเบิร์คลีย์ คาสเซิล (Berkley Castle) เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ.2230/ 1687 ขณะทอดสมออยู่ในเส้นทางไปเมืองอาเจะห์ ระบุว่าอันตอนิอู นิคูเลา (Antonio Nicolão) ชาวโปรตุเกสเป็นคนนำร่องของพระคลังหลวงสยามและนายแซมมูแอลไวท์แห่งมะริด ศาลจึงตัดสินให้นำสินค้าทั้งหมดออกไปขายแล้วยึดเรือไว้เป็นของทางการอังกฤษ
ตามหลักฐานแล้วแม้ว่านิคูเลาจะทำงานให้กรมการเมืองมะริด แต่การปรากฏตัวของเขาในตำแหน่งคนนำร่อง สะท้อนให้เห็นว่าภายในชุมชนโปรตุเกสที่เมืองพระนครศรีอยุธยาเอง ก็อาจมีคนนำร่องชาวโปรตุเกสประจำอยู่ในเรือสินค้าหลวงอื่นๆด้วยก็ได้ เนื่องจากชุมชนโปรตุเกสมีพ่อค้าที่เดินเรือค้าขาย ตามเมืองท่าชายฝั่งทะเลในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่23 (คริสต์ศตวรรษที่18)ด้วย [8]

นอกจากนี้บาทหลวงตาชารต์ก็ระบุว่า สมเด็จพระนารายณ์ทรงจ้างชาวโปรตุเกสผู้หนึ่ง เป็นผู้บังคับการเรือหลวงไปยังเมืองกัวเมื่อปี พ.ศ.2226/1683 เพื่อนำพระราชสาส์นไปเจริญสัมพันธไมตรีกับกษัตริย์โปรตุเกส[9] และ ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ก็ชี้ว่า ก่อนหน้านี้ประมาณปี พ.ศ.2060/1617 มีชาวโปรตุเกสประจำอยู่ในเรือของสยามแล้วเช่นกัน[10]

-นักร้อง นักดนตรี คนบันเทิงแห่งค่ายโปรตุเกส: วงจรของแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกับชาวสยาม
อาชีพนักร้องและนักดนตรี อาจเป็นอาชีพหนึ่งที่มีพัฒนาการมาจากการเล่นดนตรีในโบสถ์ของชาวโปรตุเกส มีหลักฐานต่างประเทศระบุว่า ชาวสยามชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ พ่อเพลงแม่เพลงจะแต่งเนื้อร้องโต้ตอบกันอย่างทันควัน แสดงให้เห็นถึงสติปัญญาของผู้ร้อง ชาวสยามร้องเพลงทั้งเวลาเดินไปวัด เวลาเที่ยวทางเรือ หรือในงานฉลองวันนักขัตฤกษ์

ตุรแปงระบุว่าชาวยุโรปนิยมการร้องเพลงของชาวสยามมาก ชาวยุโรปที่ตุรแปงกล่าวถึง น่าจะหมายถึงชาวโปรตุเกส เนื่องจากเขาชี้ว่า มิชชันนารีกลุ่มแรกที่เดินทางไปเผยแพร่ศาสนาในกรุงศรีอยุธยาจำเป็นต้องแต่งคำสอนทางศาสนาเป็นเพลงภาษาละติน จึงทำให้การเผยแพร่คำสอนได้ผลดียิ่งขึ้น[11] ตรงกับรายงานของชาวต่างประเทศระบุว่า ชาวสยามโปรดปรานเครื่องดนตรีแบบตะวันตก อาทิ ออร์แกน ปี่ กลอง แตร และฟรุต จึงมีชาวสยามพากันไปฟังการบรรเลงออร์แกนที่โบสถ์ของชาวคาธอลิกเสมอ

ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ มีชาวโปรตุเกสซึ่งอยู่ในบังคับของพระมหาอุปราช (กรมพระราชวังบวรฯ ขณะนั้นคือ เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์) ถูกเกณฑ์ไปเล่นดนตรีและร้องเพลงในงานฉลองวันนักขัตฤกษ์ของวังหน้าเมื่อปีพ.ศ.2292/1749[12] ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้แก่บาทหลวงชาวฝรั่งเศส ผู้ปกครองสังฆมณฑลเป็นอย่างยิ่ง

จดหมายของ ม. เดอ โลลีแยร์ ถึงผู้อำนวยการคณะการต่างประเทศ สะท้อนให้เห็นถึง ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมระหว่างชาวค่ายโปรตุเกสกับชาวสยาม และถูกนำมาเป็นข้อถกเถียงสำคัญก่อนที่พวกเข้ารีตจะถูกกดขี่จากทางการสยาม โดยมีสาเหตุมาจากเมื่อมีการค้นพบบ่อทองคำที่เมืองกุยบุรีแล้ว สมเด็จพระเจ้าบรมโกศโปรดให้นำทองคำที่พบ ไปหล่อเป็นดอกบัวทองคำขนาดใหญ่ประดับพระพุทธบาทที่เมืองสระบุรี
ต่อมาออกญาพระคลังได้ให้เกณฑ์คนเข้ารีต ไปถือดอกบัวร่วมแห่กับชาวสยาม แต่บาทหลวงเดอ โลลิแยร์ เห็นว่า การแห่ในขบวนของพุทธศาสนา ขัดกับหลักความเชื่อในศาสนาคริสต์ จึงมิได้ปฏิบัติตามคำขอร้อง ทำให้บาทหลวงคณะเยซูอิตถูกเรียกไปรับฟังคำตำหนิติเตียนที่บ้านของออกญาพระคลังว่า

" …ในเวลามีงานนักขัตฤกษ์ไหว้พระของไทย พวกเข้ารีตก็มาดูงานเป็นอันมาก และเวลามาดูงานของไทยนั้น พวกเข้ารีตก็ได้มาช่วยร้องรำทำเพลง ดีดสีตีเป่าเหมือนกัน.."[13]
บาทหลวงโลลีแยร์แก้ข้อตำหนินั้นว่า พวกเข้ารีตที่ไปช่วยเล่นดนตรีในงานนักขัตฤกษ์ของไทย เป็น "นักเลงในค่ายปอร์ตุเกสพวกหนึ่ง"[14] (ผู้เขียนอยากเรียกว่าเป็นกลุ่มคนเจ้าสำราญมากว่า)ซึ่งติดหนี้สินของคนไทยไปช่วยเล่นดนตรีให้ในงานดังกล่าว เพื่อจะได้พ้นหนี้ และไม่ต้องถูกฟ้องร้อง โดยยอมขายตัวเป็นทาสอยู่กับเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์กรมพระราชวังบวรสถานมงคล* และออกญาพระคลังยังลำเลิกอีกว่า
" …เมื่อมีงานไหว้พระของไทย พระมหาอุปราชก็เรียกนักเลงพวก
นี้ไปร้องรำทำเพลง และเล่นเครื่องมโหรี"[15]

พวกเข้ารีตโดยเฉพาะกลุ่มชาวโปรตุเกสคงจะมีส่วนร่วมสนุกสนานเฮฮาในงานวันนักขัตฤกษ์ของไทยมานานแล้ว บันทึกให้การซึ่งเจ้าพระยาพระคลังถามบาทหลวง เดอ โลลีแยร์จึงมีใจความว่า
" คำถาม - ก็เวลามีงานนักขัตฤกษ์ของพระพุทธศาสนา พวกเข้ารีตก็มาช่วยในงานเหล่านี้ ออกแน่นไป มาร้องรำทำเพลงปนกับพวกไทย เอาเครื่องดีดสีตีเป่ามาเล่น และมาเขียนรูปพระพุทธรูปตามโบสถ์วิหารด้วยมิใช่หรือ

บาทหลวงเดอ โลลิแยร์ตอบว่า “ ถ้าคนเข้ารีตคนใดได้กระทำการดังกล่าวมาแล้วนี้ คนผู้นั้นก็ได้กระทำบาปในศาสนาของเรา”[16]

หลักฐานข้างต้นแสดงให้เห็นว่า การแลกเปลี่ยนและเผยแพร่วัฒนธรรมทางสังคีตศิลป์ระหว่างชุมชนโปรตุเกสและชาวเมืองพระนครศรีอยุธยาดังกล่าว อาจเป็นที่มาของเพลงไทยสำเนียงฝรั่ง อาทิ เพลงต้นบรเทศ หรือ ต้นวรเชษฐในเวลาต่อมา เนื่องด้วยผู้เขียนเคยเสนอว่า คำว่า บรเทศนั้น มีรากเหง้ามาจากคำว่า ปูรตุเกช(Português หรือ portuguêsa ในภาษาโปรตุเกสดู พิทยะ ศรีวัฒนสาร, 2541, วิทยานิพนธ์เรื่อง ชุมชนโปรตุเกสในสมัยกรุงศรีอยุธยาพ.ศ2059-2310 . จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย)
นอกจากนี้ชาวค่ายจากชุมชนโปรตุเกสบางคนอาจมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์จิตรกรรมฝาผนังในวัดไทยด้วย ดังปรากฏในหลักฐานจดหมายเหตุของแกมเฟอร์ที่ระบุว่าที่ประตูหลังในวิหารหลังหนึ่งของวัดเจ้าพระยาพระคลังนอกเกาะเมืองฝั่งตะวันออก มีรูปเขียนขนาดใหญ่เท่าตัวคนของชาวโปรตุเกสสองรูป เมื่อถึงเทศกาล ในวิหารนี้จะมีงานพิธีทุกปี[17]

-แพทย์ชาวโปรตุเกสกับบทบาทที่ท้าทายในชุมชนนานาชาติ
ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม แพทย์โปรตุเกสมีบทบาทในการชันสูตรสาเหตุการเสียชีวิตของพ่อค้าอังกฤษในเมืองพระนครศรีอยุธยา ดังปรากฏหลักฐานจดหมายของพ่อค้าอังกฤษชื่อ จอห์น บราวน์ จากปัตตานี ถึง จอห์น จูร์แดงที่เมืองบันตัม เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ.2159/1616 ระบุถึงการตายของพ่อค้าชาวอังกฤษผู้หนึ่งชื่อ เบนจามิน แฟรี ว่าเขาตายเพราะถูกวางยาพิษตามข้อสัณนิษฐานของชาวโปรตุเกส18
ข่าวการตายของชายผู้นี้ถูกส่งมาจากพ่อค้าฮอลันดาในกรุงศรีอยุธยา และ “พวกโปรตุเกส” ในที่นี้อาจหมายถึงแพทย์ชาวโปรตุเกส ซึ่งทำหน้าที่ตรวจรักษาคนไข้ทั่วไป และชัณสูตรศพของผู้ตาย เพื่อรายงานสาเหตุการตายให้แก่ผู้เกี่ยวข้องทราบว่า เป็นการตายโดยปัจจุบันหรือการฆาตกรรม การปฏิบัติงานของแพทย์ชาวโปรตุเกสแสดงให้เห็นถึงการไปมาหาสู่กันในหมู่พ่อค้าต่างชาติระหว่างชาวฮอลันดา อังกฤษ และโปรตุเกสในกรุงศรีอยุธยา

การตายของพ่อค้าอังกฤษ มีหัวหน้าพ่อค้าฮอลันดามาทำพิธีจัดการศพ และร่วมในขบวนแห่ศพจนถึงสุสาน เมื่อพิธีศพเสร็จสิ้นพวกฮอลันดา ก็ได้ขอจัดการมรดกของผู้ตายด้วย[18] หลังจากการตายของเบนจามิน แฟรี ผู้ดำเนินกิจการแทนผู้ตาย คือ จอห์น จอห์นสันซึ่งได้หันไปต้อนรับชาวโปรตุเกสอย่างออกหน้าออกตา แต่หลักฐานของอังกฤษระบุว่า การคบหากับชาวโปรตุเกสทำประโยชน์ทางการค้ามิได้แม้แต่น้อย หลักฐานจากปากคำของชาวฮอลันดา กล่าวว่าพวกโปรตุเกสเหล่านี้

“…เป็นพวกอาศัยอยู่ในกรุงสยาม ที่เลวทรามต่ำช้ากว่าใครเพื่อนทั้งนี้เป็นการเสื่อมเสียเกียรติยศ แก่พวกเราและประเทศชาติเป็นอันมาก ทุกๆวันจะมีพวกโปรตุเกสมาที่บ้าน อย่างมาก 30 คน อย่างน้อย 20 คน ดื่มสุรา สนุกสนาน ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในบ้านกลายเป็นสิ่งธรรมดาสามัญสำหรับพวกโปรตุเกสไปเสียแล้ว…”[19]

แต่จดหมายของจอห์น จอห์นสัน และ ริชาร์ด พิทท์ เขียนที่ปากสันดอนกรุงสยาม ถึงจอห์น บราวน์ที่ปัตตานี เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ.2160/1617 อธิบายถึงกรณีที่พ่อค้าฮอลันดาเข้ามาเกี่ยวข้องกับชาวอังกฤษ เรื่องการตายของ เบนจามิน แฟรี และการคบค้าสมาคมกับชุมชนโปรตุเกสในกรุงศรีอยุธยาว่า

“…ที่เขากล่าวว่าพวกเราต้อนรับขับสู้พวกโปรตุเกสและคนอื่นๆนั้น ขอเรียนว่าเราเป็นเพียงพ่อค้า มีสินค้าที่จะขาย ขอแต่เพียงให้เราขายสินค้าได้มากๆ เพราะเรามาขายสินค้าไม่ใช่มาคอยเอาใจใส่กับเรื่องของคนโน้นคนนี้ ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราไม่ได้ซื้อสินค้าจากพวกโปรตุเกสและคนอื่นๆ เราก็อาจจะต้องทำเหมือนกับพวกชาวดัทช์คือต้องรับขนถ่ายสินค้าของคนอื่นๆแทน ข้าพเจ้าขอสวดมนต์อ้อนวอนพระเจ้า ได้โปรดดลบันดาลให้โกดังสินค้าของท่านทำมาค้าขึ้นเหมือนของเรา และขอให้เงินทองไหลมาเทมา เหมือนกับโกดังสินค้าของเราแห่งนี้”[20]

จดหมายฉบับนี้ สะท้อนให้เห็นว่า แท้ที่จริงแล้วชาวโปรตุเกสที่เข้าไปสังสรรค์อยู่ในโรงสินค้าของอังกฤษ เป็นทั้งลูกค้าและเป็นพ่อค้าที่อังกฤษติดต่อโดยมีวัตถุประสงค์ทางการค้า นอกจากนี้หลักฐานยังสะท้อนให้เห็นว่าชาวโปรตุเกสเป็นผู้ที่มีความกว้างขวางทางการค้าเป็นอย่างมาก และถ้าหากพ่อค้าอังกฤษมิได้ซื้อสินค้าจากพ่อค้าชาวโปรตุเกสและพ่อค้าอื่นๆแล้ว อาจทำให้พวกเขาไม่สามารถรวบรวมสินค้าได้เลย

เหตุการณ์ความบาดหมางระหว่างทางการสยามกับสมาชิกชุมชน โปรตุเกสใน ปี พ.ศ.2162/1619* อาจเป็นเหตุทำให้โรงพยาบาลในชุมชนชาวโปรตุเกสปิดตัวลง และเปิดตัวใหม่อีกครั้งหนึ่งในปีเดียวกัน ดังปรากฏในสาส์นถวายรายงานแด่กษัตริย์กรุงโปรตุเกส เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2162/1619 ว่าอุปราชโปรตุเกสแห่งเมืองกัว ได้มีหนังสือแจ้งแก่กัปตันกาชปาร์ ปาเชกู ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าชุมชนชาวโปรตุเกสแห่งกรุงศรีอยุธยา ให้ชักชวนผู้คนร่วมกันสร้างเรือนรักษาพยาบาลหรือโรงพยาบาล ขึ้นที่ท่าเรือดังเช่นที่เคยมีมาแต่เดิม และขอให้กัปตันปาเชกู พยายามอย่างเต็มความสามารถเนื่องจากอุปราชแห่งกัวได้มอบอำนาจเต็มให้แก่เขา เพื่อให้ดำเนินการทุกๆอย่างได้ เช่นเดียวกับกัปตันโปรตุเกสคนก่อนๆ นอกจากนี้อุปราชแห่งกัวยังขอให้กัปตันปาเชกู ขอร้องทางการสยามให้ปล่อยตัวชาวคริสเตียนที่ถูกคุมขังเป็นเชลยในกรุงศรีอยุธยา และขอให้ชาวคริสเตียนช่วยกันทำความดี เพื่อเชิดชูพระเกียรติยศแห่งพระเจ้ากรุงโปรตุเกส ให้ขจรขจายยิ่งขึ้น[21]

การที่อุปราชแห่งกัวมีหนังสือขอให้กัปตันปาเชกูหัวหน้าชุมชนชาวโปรตุเกสแห่งกรุงศรีอยุธยา ช่วยชักชวนให้ผู้คนในย่านใกล้เคียงกับหมู่บ้านโปรตุเกสสร้างโรงพยาบาลสาธารณะขึ้นใหม่ ให้สามารถรักษาผู้ป่วยได้ดังเดิม ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของชุมชนชาวโปรตุเกส ในด้านการให้บริการรักษาพยาบาลแก่คนทั่วไปในละแวกนั้น อันหมายถึงชุมชนชาวต่างประเทศที่เข้ารีตนับถือศาสนาคริสต์ โดยชาวโปรตุเกสและเชื้อสายน่าจะเป็นคนไข้ส่วนใหญ่ เนื่องจากขณะนั้น พ่อค้าชาวฮอลันดา และอังกฤษ เพิ่งจะเดินทางเข้ามาตั้งโรงสินค้าในกรุงศรีอยุธยาได้ไม่นานนัก (พ.ศ.2146/1606 และ พ.ศ.2155 /1612 ตามลำดับ) ส่วนพ่อค้าสเปน ซึ่งเดินทางเข้ามาในปี พ.ศ.2140และพ่อค้าฝรั่งเศสนั้น เพิ่งจะเดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา ในปี พ.ศ.2205 นั้นมีบทบาทด้านชุมชนและวัฒนธรรมในกรุงศรีอยุธยาค่อนข้างน้อย

ไม่เพียงแต่จะมีบทบาทในสังคมชาวต่างชาติเท่านั้น แพทย์ชาวโปรตุเกสยังมีส่วนร่วมถวายความคิดเห็นในการรักษาอาการประชวรของพระมหากษัตริย์ไทยด้วย ดร.ธีรวัติ ณ ป้อมเพชรระบุจากหลักฐานของฮอลันดาว่า สมเด็จพระเจ้าท้ายสระทรงประชวรด้วยพระโรคมะเร็งในช่องพระโอษฐ์(เพดานปาก)นานถึง 7 เดือน[22] และไม่ทรงอนุญาตให้แพทย์ชาวต่างประเทศเข้าเฝ้าถวายการรักษา ขุนนางกรมแพทย์จึงทำหุ่นขี้ผึ้งรูปเพดานพระโอษฐ์ นำไปขอความคิดเห็นจากแพทย์ชาวสยาม แพทย์ชาวโปรตุเกส แพทย์ชาวจีน และแพทย์ชาวเวียตนามที่อยู่ในอยุธยา[23] แต่สมเด็จพระเจ้าท้ายสระก็ทรงเลือกเสวยพระโอสถพื้นเมืองแทน[24]

-พ่อค้าสำเภาหลวงครึ่งชาติโปรตุเกส
พ่อค้าสำเภาเป็นอาชีพสำคัญอีกอาชีพหนึ่งของชาวโปรตุเกสบางคน หลักฐานจดหมายติดต่อระหว่างเจ้าหน้าที่บริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษที่เมืองสุรัต กับข้าหลวงใหญ่อังกฤษและเคาน์ซิล ที่บอมเบย์ ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2162 /1619กล่าวถึงการวิ่งเต้นขอตัว “ทาส หรือ คนในบังคับ” ของพ่อค้าครึ่งชาติโปรตุเกสแห่งเมืองพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเดินทางไปค้าขายยังบอมเบย์ คืนจากทางการอังกฤษ กล่าวคือ

“ ได้เกิดเรื่องขึ้นกับ นาย พอลลา บาฟติซา ชาวโปรตุเกส ซึ่งพำนักอยู่ที่กรุงสยาม บาฟติซา ผู้นี้มีทาสอยู่คนหนึ่ง (ชื่อว่า โดมินิโก) ทาสผู้นี้ได้เดินทางจากกรุงสยามมายังบอมเบย์ แต่พอไปถึงที่นั่น ก็ถูก มร. โธมัส นิคอลล์ จับขังไว้ที่นั่น เพื่อใช้เป็นตัวต่อรอง เราใคร่ขอให้ท่านจัดการเรียกตัวทาสผู้นั้นคืน จาก มร.โธมัส นิคอลล์ ให้จงได้และขอให้ส่งมอบทาสผู้นั้นให้แก่ผู้ถือจดหมายนี้ด้วย”[25]

ต่อมาอีกหนึ่งสัปดาห์เศษ ดูมินิโก (หรือ ดูมิงโก)* ก็ได้รับการปล่อยตัว ดังจดหมายของ เฮนรี ออกซินเดน และ เคาน์ซิล ที่บอมเบย์ เขียนถึงข้าหลวงใหญ่และเคาน์ซิลที่สุรัต ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2162 /1617ความว่า

“ ได้จัดการปลดปล่อยทาสที่ชื่อโดมิงโก ซึ่งเป็นคนของกรุงสยาม และเป็นคนของเมสติโซ[26] ให้ไปหาเมสติโซแล้วตามที่ท่านสั่งมา และของให้ท่านได้โปรดดูแลเมตตากรุณาแก่เขาเป็นอันดียิ่งไปกว่าที่พวกเขาจะยินดีเชื้อเชิญ หรือพยายามให้เรา ทาสคนนี้ไม่ได้ถูกกัปตัน นิคอลล์เก็บตัวไว้แต่ประการใด”[27]
การที่ทางการอังกฤษยอมปล่อยตัว คนในบังคับของพ่อค้าครึ่งชาติโปรตุเกส แสดงให้เห็นถึงเกียรติยศและความสามารถในการวิ่งเต้นของพ่อค้าโปรตุเกสจากสยามในขณะนั้นได้เป็นอย่างดี แม้จะเป็นเพียงคนครึ่งชาติก็ตาม นอกจากนี้การที่หลักฐานกล่าวว่า ทาสชื่อโดมิงโกเป็นคนของกรุงสยามและเป็นคนของเมสติโซ บ่งชี้ว่า บุคคลทั้งสองอาจเป็นพ่อค้าสำเภาหลวง ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมก็ได้

งานค้นคว้าของตุรแปง ระบุว่าชาวสยามเป็นผู้ชำนาญการเดินเรือแค่ในแม่น้ำเท่านั้น ส่วนการเดินเรือในทะเลนั้นต้องจ้างแขกมุสลิม ชาวจีน ชาวมะละบาร์ และชาวคริสตังที่สืบเชื้อสายมาจากชาวยุโรป มาเป็นผู้ดำเนินการ[28] รายงานดังกล่าวสอดคล้องกับบันทึกของลาลูแบร์ซึ่งระบุว่า ชาวสยามมีความสามารถไม่มากนักในการเดินเรือทะเล ดังนั้นพระเจ้าแผ่นดินจึงทรงจ้างนายเรือและลูกเรือชาวต่างประเทศให้เดินเรือไปค้าขายทางทะเล เช่น ชาวอังกฤษ หรือ ชาวโปรตุเกส ต่อมาก็ได้ใช้นายเรือชาวฝรั่งเศสบ้างเช่นกัน[29]
ทางด้านการค้าขายกับสเปนนั้น รายงานของ ยอร์ช ไวท์ ระบุว่าการส่งเรือสินค้าหลวงของทางการสยามไปค้าขายยังมะนิลา ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ มีเพียงปีละหนึ่งลำ โดยมีชาวจีน เป็นทั้งพ่อค้าและผู้จัดการเดินเรือ[30]

ประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่า นอกเหนือจากปริมาณการค้าที่มีต่อกันอย่างเบาบางแล้ว เหตุใดพระคลังหลวง จึงไม่จ้างชาวโปรตุเกสไปติดต่อกับมะนิลา ทั้งๆที่มีความจำเป็นในการใช้ชาวโปรตุเกส เพื่อติดต่อเป็นตัวกลางในทางธุรกิจ และนอกจากนี้ สัญญาระหว่างสยามกับฮอลันดาเองก็เพียงแต่ห้ามมิให้จ้างพ่อค้าจีนในเรือสยามเท่านั้น[31] ไม่ได้ห้ามมิให้ทางการสยามจ้างนายเรือโปรตุเกส หรือนายเรือฝรั่งเศสทำงานในเรือสินค้าของสยามแต่อย่างใด

-เสมียนโปรตุเกสในบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ
จดหมายของเคาน์ซิลแห่งป้อมเซนต์ยอร์จถึง วิลเลียม เจอร์ซีย์ แห่งสะสุลีปะตันลงวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2212/ 1669 กล่าวถึงจดหมายภาษาโปรตุเกสชี้แจงความสูญเสียของบริษัทอินเดียตะวันออกของบริษัทอังกฤษที่เมืองพระนครศรีอยุธยาเมื่อห้างอังกฤษถูกทำลาย จากการกระทำของ แอนดรู ดึ โซซา กับ ฟรานซิส บรู(?) ร่วมกับนายเรือชาวอังกฤษว่า

“ เราได้รับจดหมายจากกรุงสยามเขียนถึง เซอร์เอ็ดเวอร์ด วินเตอร์ หรือใครก็ตามที่เป็นผู้ปกครองที่นั่น จดหมายเหล่านี้ค่อนข้างยาว และเขียนเป็นภาษาโปรตุเกส หลังจากได้พิจารณาดูแล้ว เห็นว่าคงจะต้องเสียเวลามากอยู่ในการศึกษาจดหมายนี้ เพราะเราไม่ค่อยเชี่ยวชาญในภาษานี้ แต่ถ้าเราพบว่ามีสิ่งหนึ่งสิ่งใดสำคัญ และอาจจะช่วยแนะแนวทางให้เราสามารถติดต่อกับพระเจ้ากรุงสยามได้แล้ว เราก็จะดำเนินการตามความเหมาะสม แต่ใจความส่วนใหญ่ที่เราได้พิจารณาดูแล้วจากจดหมายเหล่านั้น เห็นว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับที่จะยกเรื่องห้างต้องถูกทำลาย ให้เป็นความผิดของ แอนดรู เดอ ซูซา กับฟรานซิส บรู(?) ซึ่งอยู่ใต้ปกครองของ ซูซา(โซซา) และเกรงกลัวซูซาเป็นอันมาก และว่าซูซากับนายเรือชาวอังกฤษพยายามจะทำลายล้างทุกสิ่งทุกอย่าง ที่จะเกิดประโยชน์ต่อบริษัท และดูเหมือนว่าความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่ห้างนั้น เกิดจากผลของการละทิ้งงานและหลีกเลี่ยงงานของกาเบรียล ฟลอเรส กับพี่ชายของเขา หลังจากที่เขาได้ถึงแก่กรรม”[32]

จดหมายที่เขียนเป็นภาษาโปรตุเกสฉบับดังกล่าว อาจเขียนขึ้นโดยพนักงานกรมท่าขวาที่ได้สืบสวนเหตุการณ์ความเสียหายที่เกิดขึ้น เนื่องจากในช่วงนั้นไม่มีพนักงานห้างชาวอังกฤษประจำอยู่ในเมืองพระนครศรีอยุธยา มีเพียงลูกจ้างซึ่งเป็นลูกครึ่งอังกฤษเชื้อสายโปรตุเกสเท่านั้นที่อยู่ดูแลกิจการ เหตุที่ทราบว่าบริษัทอินเดียตะวันออกจ้างเสมียนเชื้อสายชาวโปรตุเกสดูแลห้าง พิจารณาจากชื่อของชายคนหนึ่งคือแอนดรู ดึ โซซา ซึ่งเป็นเจ้านายของฟรานซิส บรู(?)
ชายอีกคนหนึ่งคือ กาเบรียล ฟลอเรส หรือ ฟลูรึช ก็มีชื่อและนามสกุลแบบชาวโปรตุเกสอย่างชัดเจนดัวย

-บทสรุป
การศึกษาชุมชนโปรตุเกสในประเทศไทยด้วยมิติทางประวัติศาสตร์สังคมยังไม่มีผู้ใดริเริ่มอย่างจริงจังเท่าใด เนื่องจากต้องอาศัยกลยุทธ์ ประสบการณ์และความละเอียดรอบคอบในการอธิบาย เชื่อมโยง ปะติดปะต่อและตีความประวัติศาสตร์ระหว่างบรรทัดอย่างหลากหลาย เพราะหลักฐานที่บันทึกเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับโปรตุเกสนั้นจะแทรกอยู่ตามที่ต่างๆมากมาย และสำเนาหลักฐานต้นฉบับภาษาโปรตุเกส จากหอจดหมายเหตุแห่งกรุงลิสบัว ประเทศโปรตุเกส ซึ่งเก็บรักษาไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ณ กรุงเทพฯ ก็ยังไม่มีผู้ใดเข้าไปค้นคว้าอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ผู้เขียนเองก็มีโอกาสเรียนรู้เรื่องราวข้างต้นแต่เพียงผิวเผิน เมื่อเปรียบเทียบกับท่านอื่นที่ได้ค้นคว้าเอาไว้ก่อนหน้านี้ และการทำงานใดๆไม่ให้มีข้อผิดพลาดนั้น เป็นสิ่งที่ไม่เกิดขึ้นได้บ่อยนัก เหตุนี้จึงน้อมรับการวิพากษ์วิจารณ์ด้วยความขอบคุณเป็นอย่างยิ่ง
[1] นิโคลาส แชร์แวส, เรืองเดิม, หน้า62.
[2] ประชุมพงศาวดาร เล่ม39, หน้า64.
* เป็นคำอธิบายที่ปรากฏอยู่ใน E.W. Hutchinson," Adventurers in Siam in the 17th Century" (London: The Royal Asiatic Society,1940), p.23
[3] หัวหน้าพ่อค้าอังกฤษและหุ้นส่วนตกลงรับทำด้ามดาบแบบ Jemdar , หีบต่างๆ และ ด้ามดาบญี่ปุ่น ประดับด้วยเพชรและทับทิม แลกเปลี่ยนกับทองแดง ดีบุก และ ไม้จันทน์ ในราคา 10,500 เหรียญ. ดู สุภรณ์ อัศวสันโสภณ(แปล), เรื่องเดิม, หน้า 76-77.
[4] กรมศิลปากร, บันทึกเรื่องสัมพันธภาพระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศใน
คริสตศตวรรษที่17 เล่ม4 แปลโดยสุภรณ์ อัศวสันโสภณ (พระนคร : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2513), หน้า 83-86.
[5] เรื่องเดียวกัน, หน้า85.
[6] ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 21 นักเดินทางชาวโปรตุเกสชื่อฟรานซิสกู รูดริเกวซ และวิเซนตึ รูดิเกวซ เขียนบรรยายเส้นทางการเดินเรือในทะเลจีนและเส้นทางจากโปรตุเกสมายังอินเดีย ดู Rui D'Avila Lourido, "European trade between Macão and Siam from the beginning to 1663," IEAHA, 14th (1996) :5 -6.
[7] P.Manuel Teixiera, op.cit., p.80.
[8] เดอ ชัวซี, เล่มเดิม, หน้า428.
[9] จดหมายเหตุการเดินทางครั้งที่2ของบาทหลวงตาชาร์ด ค.ศ.1687-1688 , แปลโดยสันต์ ท.โกมลบุตร, หน้า219.
[10] Suthachai Yimprasert, op.cit., p.176.
[11] ฟรังซัวร์ อังรี ตุรแปง, เรื่องเดิม, หน้า 73-74.
[12] ปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์, และ พิรักษ์ ชวนะเกรียงไกร “บันทึกความสัมพันธ์โปรตุเกส - อยุธยา," ชาวโปรตุเกสในยุคกรุงศรีอยุธยา (กรมศิลปากรจัดพิมพ์เนื่องในโอกาสปีการท่องเที่ยวไทย พ.ศ.2530), หน้า21.
[13] ประชุมพงศาวดารเล่ม22, หน้า203-204.
[14] เรื่องเดียวกัน, หน้า204.
* ก่อนหน้านั้นบันทึกของชาวฝรั่งเศสระบุว่า เจ้าวังหน้าในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระต่อมาคือสมเด็จพระเจ้าบรมโกศทรงเคยให้ปล่อยพวกเข้ารีตออกจากคุก เมื่อคราวเกิดกรณีพิพาทกับบุตรหลานเจ้าเมืองมะริด โดยทรงให้ขุนนางวังหน้า "นำไม้กระลำพักกับรง และเครื่องหอมพร้อมทั้งส่งท้องตรากับมัดหวายเพื่อเป็นเครื่องหมายว่าพวกเข้ารีตและพวกบาทหลวงอยู่ในบังคับของพระองค์ , อ้างจาก โสพิศ หนูทอง , เรื่องเดิม, หน้า 24-89.
[15] ประชุมพงศาวดารเล่ม22, หน้า204.
[16] เรื่องเดียวกัน, หน้า211.
[17] แองเจลเบิร์ต แกมเฟอร์, เรื่องเดิม, หน้า52.
[18] เรื่องเดียวกัน, หน้า83
[19] เรื่องเดียวกัน, หน้า84
[20] เรื่องเดียวกัน, หน้า94-97
* ความบาดหมางเนื่องจากทางการสยามให้สิทธิพิเศษในการค้าหนังสัตว์แก่พ่อค้าฮอลันดา เป็นเหตุให้ชาวโปรตุเกสยึดเรือฮอลันดา แล้วถูกทางการสยามปราบปรามจับกุม. ดู กรมศิลปากร, ประชุมพงศาวดารฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม3 (พระนคร : สำนักพิมพ์ก้าวหน้า, 2507), หน้า193
[21] กรม ศิลปากร, บันทึกเรื่องสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศในคริสตศตวรรษที่ 17 เล่ม 1, หน้า119
[22] Dhiravat na Pjombejra, "The last year of King Thaisa's reign : Data concerning Polities and Society from the Dutch East India Company's Siam Factory Dagregister for 1732" ความยอกย้อนของอดีต พิพิธนิพนธ์เชิดชูเกียรติพลตรีมรว. ศุภวัฒย์ เกษมศรี, 2537:136. หลักฐานของบาทหลวงฝรั่งเศสระบุว่าทรงประชวรด้วย "โรคพระโอษฐ์เน่า" และหมอได้ถูกประหารชีวิตไปมากกว่า 20 คนแล้วเพราะไม่สามารถรักษาโรคนี้ได้ พระอนุชาของพระองค์ก็ประชวรด้วยโรคนี้เช่นกัน , อ้างจากโสพิศ หนูทอง, เรื่องเดิม, หน้า29.
[23] เรื่องเดียวกัน, หน้า136.
[24] Dhiravat na Pombejra, op.cit., p.136.
[25] กรมศิลปากร , บันทึกเรื่องสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศในคริสตศตวรรษที่ 17 เล่ม 2, หน้า290.
* อ่านสำเนียงโปรตุเกสว่า ดุมินิกู หรือ ดูมิงกู
[26] เมสติโซ หรือ เมสติซู (Mestiço) เป็นคำภาษาอินโด-โปรตุเกส สำหรับใช้เรียกคนครึ่งชาติ หรือ ยูเรเซียน ซี. อาร์ บอกเซอร์เสนอว่าปัจจุบันคำนี้มิได้ใช้อีกต่อไปแล้ว , C.R.Boxer,Fidalgos in the Far East, p.280
[27] กรมศิลปากร, บันทึกเรื่องสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศในคริสตศตวรรษที่ 17 เล่ม 2, หน้า292.
[28] ฟรังซัวส์ อังรี ตุรแปง, เรื่องเดิม, หน้า23.
[29] ชิมอง เดอ ลาลูแบร์, เรื่องเดิม, หน้า 411-412.
[30] ประชุมพงศาวดารเล่ม12 , หน้า 213
[31] กรมศิลปากร, บันทึกเรื่องสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศในคริสตศตวรรษที่ 17 เล่ม 2, หน้า95.
[32] เรื่องเดียวกัน, หน้า127.