วันศุกร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ภาพการรับเสด็จฯ ร. 5 นิวัติพระนคร พ.ศ.2451 (ท่าน้ำหน้าวัดกัลหว่าร์และศุลกสถาน)

โดย พิทยะ ศรีวัฒนสาร
ศุลกสถาน2450(ร.ศ.125) ปัจจุบัน คือ กรมเจ้าท่า


หน้าศุลกสถาน พ.ศ.2451
หน้าวัดกัลหว่าร์ 2451

การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างตะวันออกกับตะวันตกที่คลองวัดราชาธิวาส

โดย
พิทยะ ศรีวัฒนสาร

คลองวัดราชาธิวาสเป็นจุดที่วัฒนธรรมตะวันออกและตะวันตกโคจรมาพบกัน ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางวิชาการขึ้นระหว่างสองนักปราชญ์แห่งศตวรรษที่19 คือ พระวชิรญาณภิกขุ(พระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ ต่อมา คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่4) กับ พระสังฆราชปัลเลอกัวซ์ (Bishop Jean-Baptist Pallegoix)

วันพฤหัสบดีที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

500 Years European in Siam 1

Posted for the purpose to report the academical movement of Siam and Portugal Studies in Thailand in the year 2011 (500 years of the bilateral relationship) by Bidya S.

Special Introduction a Book of “The Portuguese-Siamese Treaty of 1820: Siam's first attempt of integration into the international community”

Report by
Bidya Sriwattanasarn
Tuesday 22nd February 2011, 18:30, the Embassy of Portugal in Bangkok in cooperation with The Siam Society under Royal Patronage organized the special seminar of “The Portuguese-Siamese Treaty of 1820: Siam's first attempt of integration into the international community”

“Portugal and Thailand celebrate this year an uncommon but happy anniversary: 500 years of continuous, equal, never disrupted and still extant cultural, commercial, political and diplomatic relations. Perhaps a unique case in the long and not always peaceful history of the Western presence in Asia and surely a unique occasion to commemorate one of the highest points of the long and illustrious history of the Portuguese in Asia.”

After an introduction by H.E. the Ambassador of Portugal, Dr. Jorge Torres-Pereira, Professor António Vasconcelos de Saldanha had presented the book and the author, Miguel Castelo Branco, was ready to answer some questions from the audience regarding what he underlined in his research: “It seems the diplomatic history of Siam in early Bangkok period has been written from front to back. The so called Bowring Treaty was not, after all, so decisive as it was thought, since in 1820 Portugal and Siam have negotiated a treaty in such conditions that allowed Siam to break with the sino-centric system. The Bowring Treaty was imposed by threat and resulted in an unequall treaty. The treaty with the Portuguese was discussed on the base of absolute parity.”

Are the Longstanding Thai-Portuguese Relations Connected with the Popular Thai Dessert Foi Thong (Gold Thread)

Reported by

Bidya Sriwattanasarn

เอกสารที่สถานทูตโปรตุเกสจัดพิมพ์

โดย พิทยะ ศรีวัฒนสาร

เอกสารที่สถานทูตโปรตุเกสจัดพิมพ์เนื่องในโอกาสฉลอง500 ปีความสัมพันธ์ สยาม-โปรตุเกส จัดแสดงเป็นนิทรรศการเล็กๆ ที่โรงละครแห่งชาติ(โรงเล็ก)ระหว่างที่มีการสัมมนาทางวิชาการ(Symposium) เรื่อง "500 Years : Europeans in Siam" จัดโดย National Museum Volunteers Bangkok.

วันอังคารที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

เยือนมัสยิดกุฎีหลวง: แบบอย่างการอยู่ร่วมกันของชุมชนต่างวัฒนธรรมกลางกรุงระหว่างอิสลามกับคาธอลิก

โดย
พิทยะ ศรีวัฒนสาร

เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2554 อ.ประโลม บุญรัศมี เลขานุการเอกอัครราชทูตโปรตุเกส ณ กรุงเทพฯ ได้เอ่ยปากชวนผู้เขียนเข้าร่วมทำกิจกรรมนำคณะของ National Museum Volunteers เข้าชมโบสถ์คาธิลิก 3 แห่งในกรุงเทพฯที่เกี่ยวข้องกับประวัติความสัมพันธ์ทางด้านวัฒนธรรมระหว่างสยามกับโปรตุเกส ผู้เขียนจึงเสนอให้เชิญอาจารย์ธีรนันท์ ช่วงพิชิต ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการท่องเที่ยวเชิงชุมชนสองฝั่งริมน้ำเจ้าพระยา แห่งชมรมสยามทัศน์เข้าร่วมเป็นวิทยากร

มัสยิดกุฎีหลวงตั้งอยู่คนละฟากคลองกับโบสถ์ซางตาครูซของชุมชนลูกหลานคนไทยเชื้อสายโปรตุเกส ถัดเข้าไปจากปากคลองบางหลวงเล็กน้อย การเข้าชมมัสยิดกุฎีหลวงเป็นจุดหมายต่อเนื่องจากการเข้าชมชุมชนโบสถ์ซางตาครูซ และเป็นส่วนหนึ่งของการอบรมเพิ่มพูนความรู้ในการท่องเที่ยวเชิงชุมชนในพื้นที่กทม.เมื่อปี 2550 จัดโดย สำนักงานท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร

วันจันทร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

สถานะทางสังคมของชุมชนชาวโปรตุเกสในเมืองพระนครศรีอยุธยา

โดย
พิทยะ ศรีวัฒนสาร

ในระยะแรกของการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชุมชนโปรตุเกสในเมืองพระนครศรีอยุธยาไม่ปรากฏหลักฐานว่า มีการกระทบกระทั่งระหว่างชาวโปรตุเกสกับชาวสยามหรือชุมชนต่างชาติอื่นๆ จะมีก็แต่หลักฐานบันทึกของชาวโปรตุเกส ซึ่งกล่าวถึงความชื่นชมของชาวสยามที่มีต่อชาวโปรตุเกส ในฐานะของทหารอาสาและทหารรักษาพระองค์ผู้มีความสามารถพิเศษในการใช้อาวุธปืนคาบศิลาและปืนใหญ่[1] ในตอนต้นรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองบันทึกของฮอลันดากล่าวถึงความหวั่นไหวต่อสถานะทางการเมืองของชาวฮอลันดาในกรุงศรีอยุธยาว่าอาจเพลี่ยงพล้ำเสียทีให้ชาวโปรตุเกสเนื่องจากออกญาพระคลังซึ่งมีความใกล้ชิดกับพ่อค้าฮอลันดาได้พ้นจากตำแหน่งและได้รับแต่งตั้งเป็นออกญากำแพง (Capheyn) ในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2183 พ่อค้าฮอลันดา บันทึกว่า

" นับเป็นการสูญเสียอย่างยิ่งใหญ่สำหรับเรา ถึงเขาเป็นคนเฉื่อยชาในหน้าที่ของเขาแต่ก็มีความจริงใจ มีใจเมตตา และรักบริษัทของเรา"[2]

การเปลี่ยนแปลงตำแหน่งของออกญาพระคลังทำให้สถานะทางการค้าการเมืองในกรุงศรีอยุธยาของชาวฮอลันดาตกอยู่ในสภาวะล่อแหลมและในทางกลับกันอาจส่งผลดีต่อฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมแก่ชุมชนโปรตุเกสได้ เนื่องจากปรากฏว่าออกญาพระคลังคนใหม่มิได้มีใจเอนเอียงมาทางพ่อค้าฮอลันดา ความสะดวกในการรวบรวมสินค้า ความมีหน้ามีตา และความได้เปรียบพ่อค้าชาติอื่นก็ลดน้อยลง ขุนนางสยามที่เข้ามาดำรงตำแหน่งออกญาพระคลังแทนขุนนางคนเดิมคือออกญากลาโหม[3] ออกญากลาโหมผู้นี้เคยดำรงตำแหน่งเป็นออกญาพระคลังมาก่อนเมื่อปี พ.ศ.2180 บันทึกฮอลันดาระบุว่า แต่เดิมขุนนางผู้นี้เคยทำประโยชน์และช่วยเหลือพ่อค้าฮอลันดาเป็นอันมากโดยตลอด แต่ประเด็นสำคัญคือออกญาพระคลังคนใหม่เป็น "มหามิตร" ของพวกโปรตุเกส เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้หลักฐานฮอลันดาระบุว่าชาวโปรตุเกสได้รับอนุญาตให้ไปหามาสู่ออกญาพระคลังได้อย่างเสรี และอาจก่อให้เกิดปัญหาเรื่องการแข่งขันทางการค้าและอื่นๆกับฮอลันดาได้ เนื่องจากหลักฐานระบุว่า

" …พวกโปรตุเกสไม่ตะขิดตะขวงใจที่จะกล่าวทุกๆเรื่อง พวกโปรตุเกสจึงทำให้เราเป็นที่น่ารังเกียจมาก โดยวิธีคุยโวและพูดปดอย่างน่าละอายจนออกญาพระคลัง (ผู้ซึ่งเคยเรียกฟอนฟลีตว่า ลูก หรือเพื่อน) ได้เปลี่ยนความรักใคร่ไปจากเรา และขู่จะเอาชีวิตและทรัพย์สมบัติของเรา"[4]

การมีจิตในเอนเอียงมาทางชาวโปรตุเกสของขุนนางผู้ใหญ่ชาวสยามอาจช่วยให้ชุมชนโปรตุเกสได้รับผลประโยชน์ทางการค้าและอื่นๆมากกว่าเดิมนับตั้งแต่มีชาว ยุโรปชาติอื่นเข้ามา นอกจากออกญาพระคลังคนใหม่จะมีความรักใคร่ฉันท์มิตรต่อชุมชนโปรตุเกสเป็นอย่างยิ่งแล้ว ออกพระราชมนตรีตำแหน่งเจ้าท่าในสังกัดออกญาพระคลังก็เป็นขุนนางชาวสยามอีกผู้หนึ่งที่มีพฤติกรรมไม่เป็นมิตรกับชาวฮอลันดา เนื่องจากเจ้าท่าผู้นี้มีหน้าที่บังคับบัญชาชุมชนโปรตุเกสโดยตรง บันทึกของฮอลันดาระบุว่าขุนนางผู้นี้เป็นคนเจ้าเล่ห์ที่มุ่งหาโอกาสทำร้ายบริษัทฮอลันดา เพื่อให้เสื่อมความนิยมนับถือและหันเหความโปรดปรานของสมเด็จพระเจ้าปราสาททองไปจากพ่อค้าฮอลันดาจึงมีการ "ปั้นเรื่องเท็จ" ขึ้นมาว่า พ่อค้าฮอลันดาไม่ยอมที่จะเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินและปฏิเสธที่จะถวายของหลายสิ่งจากผู้สำเร็จราชการแห่งปัตตาเวียจนกว่าพระเจ้ากรุงสยามจะใช้หนี้บริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา และกล่าวหาว่าพ่อค้าฮอลันดาจะเขียนจดหมายไปยังเมืองปัตตาเวียเพื่อขอให้รัฐบาลฮอลันดาส่งกองเรือมายังกรุงศรีอยุธยา เพื่อทวงหนี้จากพระคลังหลวงและอื่นๆ ออกพระราชมนตรีได้ทำหนังสือแจ้งให้ออกญาพระคลังทราบ และขอให้ออกญาพระคลังอ่านถวายสมเด็จพระเจ้าปราสาททองในนามของพ่อค้าฮอลันดา
บันทึกของฮอลันดาแสดงความวิตกว่า ออกญาพระคลังรักใคร่ชอบพอพวกโปรตุเกสและพอใจที่จะเห็นความล่มจมของบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดาจึงนำจดหมายของออกพระราชมนตรีไปถวายสมเด็จพระเจ้าปราสาททองในวันที่พ่อค้าฮอลันดาเข้าเฝ้าเพื่อถวายเครื่องราชบรรณาการ จดหมายฉบับดังกล่าวทำให้สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงกริ้วโดยมิได้ไต่สวนหาความจริง ออกญาพระคลังจึงออกคำสั่งประกาศขับไล่พ่อค้าฮอลันดาให้เดินทางออกจากกรุงศรีอยุธยาหากยังมีชาวฮอลันดาหลงเหลืออยู่ในโรงสินค้าพวกเขาจะถูกประหารทั้งหมด คำสั่งของออกญาพระคลังทำให้ "ทั้งเมืองโกลาหลไปทันที" กองทหารของพระเจ้าแผ่นดินต่างก็จับอาวุธและย้ายปืนใหญ่ไปตั้งใกล้โรงสินค้าของฮอลันดาพร้อมๆกับการนำช้างม้าออกมาเตรียมทำศึกกับฮอลันดาด้วย นอกจากนี้หัวหน้าชาวญี่ปุ่นในกรุงศรีอยุธยาได้เรียกหัวหน้าพ่อค้าฮอลันดาไปพบ เมื่อสมเด็จพระเจ้าปราสาททองยังทรงได้รับคำปรึกษาที่เหมาะสมจากออกญาพิษณุโลก ออกญาจักรี(Sicri) ออกญาสวรรคโลก พระราชชนนี และพราหมณ์ผู้มีชื่อเสียงผู้หนึ่งทำให้ทรงคลายพิโรธและทรงยกเลิกคำสั่งขับไล่ชาวฮอลันดาของออกญาพระคลังเสีย ต่อมาสมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงมีพระราชโองการห้ามผู้ใดเข้าไปในโรงงานของบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดาหรือพูดจากับชาวฮอลันดาโดยเฉพาะอย่างยิ่งห้ามขายไม้ซุงและห้ามรับ
(น.160-162 )
.......รอพิมพ์เพิ่ม........
(เริ่ม 163-166 )
นอกจากนี้ในปีพ.ศ.2181 หัวหน้าพ่อค้าฮอลันดาในกรุงศรีอยุธยาจำต้องลงนามในหนังสือฉบับหนึ่ง โดยบันทึกของฮอลันดากล่าวถึงสำเนาพระราชบัญญัติซึ่งพระเจ้าแผ่นดินสยามทรงให้นายฟอนฟลีตลงนามรับรองดังนี้

"ขึ้น 5 ค่ำเดือนยี่ ปีชวด ออกญาพระคลังได้เคี่ยวเข็ญเอาหนังสือนี้จากข้าพเจ้า เยเรเมียส ฟอนฟลีต(หัวหน้าสถานีค้าขายของบริษัทในประเทสสยามโดยผ่านทางออกหลวงสุต ราชมนตรี (Tsuijt Raijmontri) ในหนังสือนี้ข้าพเจ้าสัญญาว่า ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าจะเชื่อฟังทุกๆสิ่งซึ่งออกญาพระคลังได้สั่งหรือมีบัญชาแก่ข้าพเจ้า หรือ ชาวฮอลันดาซึ่งพำนักอยู่ในประเทศสยามโดยผ่านทางเจ้าท่าหรือล่ามอย่างเคร่งครัด เท่าที่อยู่ในอำนาจของเราตามกฎหมายและขนบธรรมเนียมของอาณาจักรและขอสัญญาว่าข้าพเจ้า (ผู้เป็นหัวหน้า) จะรับผิดชอบเรื่องการกระทำผิดโดยข้าพเจ้าเอาตัวของข้าพเจ้าเป็นประกัน…"[5]

แม้ว่าการค้าของฮอลันดาในเมืองพระนครศรีอยุธยา จะชะงักงันเนื่องมาจากความเสื่อมโทรมทางไมตรีที่มีต่อกัน ตั้งแต่รัชสมัยพระเจ้าปราสาททองต่อเนื่องไปจนถึงการถูกบั่นทอนอภิสิทธิ์ต่างๆ ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ แต่ก็มิได้ทำให้สมาชิกของชุมชนโปรตุเกสมีสถานภาพทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น การมีส่วนร่วมในการสนับสนุนอำนาจทางการเมืองของทางการสยามในรัชสมเด็จพระนารายณ์ มีส่วนทำให้ชุมชนโปรตุเกสในเมืองพระนครศรีอยุธยาขยายตัวมากขึ้น เนื่องจากมีการอพยพเข้ามาของชาวโปรตุเกสจากอาณานิคมแห่งต่างๆ ที่ถูกฮอลันดายึดครอง นอกจากนี้ยังได้รับการยอมรับและเชื่อถือจากออกญาพระคลังอย่างต่อเนื่อง ดังเห็นได้จากในช่วงต้นรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ แม้ว่าคนในชุมชนโปรตุเกสจำนวนหนึ่ง จะเป็นหนี้พ่อค้าอังกฤษ แต่ก็ยังได้รับการสนับสนุนจากออกญาพระคลัง เหตุการณ์ดังกล่าวปรากฏอยู่ในจดหมายของหัวหน้าพ่อค้าอังกฤษในเมืองพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ.2209 เขียนถึงประธานและสภาที่ปรึกษาของบริษัทอินเดียตะวันออกที่เมืองสุรัต โดยระบุว่าเมื่อนายเดียริงหัวหน้าพ่อค้าอังกฤษ เสียชีวิตในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2207 ทางการสยามได้ร่วมกับหัวหน้าชุมชนโปรตุเกส "ที่มีอิทธิพลในดินแดนแถบนี้"[6] ชื่อปาเดรช มาตรวจสอบทรัพย์สินของนายเดียริง
หลักฐานที่ปรากฏคือ นายเดียริงมีลูกหนี้จำนวนมากติดค้างการชำระเงินอยู่ประมาณ 25,000 เหรียญ อย่างแปด* ลูกหนี้เหล่านี้มีทั้งชาวสยามและชาวโปรตุเกสในชุมชนโปรตุเกสที่เมืองพระนครศรีอยุธยา ต่อมาได้มีลูกหนี้ของห้างอังกฤษผู้หนึ่งเป็นชาวโปรตุเกสชื่อ จูอาว ดึ ซิลวา ดึ กามา ถูกฆ่าตายที่ห้างอังกฤษ จึงมีชาวโปรตุเกส ไปแจ้งให้ออกญาพระคลังทราบ ออกญาพระคลังได้กราบทูลว่า หัวหน้าพ่อค้าอังกฤษคนใหม่คือวิลเลียม แอคเวิร์ธ เป็นผู้สังหารลูกหนี้ชาวโปรตุเกสผู้นั้น หลักฐานชิ้นนี้ระบุว่า หัวหน้าพ่อค้าอังกฤษเชื่อว่า ออกญาพระคลังกับชาวโปรตุเกสต้องการกำจัดตน และวางแผนให้กัปตันชาวโปรตุเกสชื่อ แบร์ ดึ ปินู[7] (หรือ เบอร์ เดอ ปิโน) นำชาวโปรตุเกสจำนวน 12 คน และชาวสยามจำนวน เกือบ 300 คนเข้าทำร้ายและจับกุมหัวหน้าพ่อค้าอังกฤษ ไปคุมขังไว้อย่างทารุณ วิลเลียม แอคเวิร์ธ ถูกคุมขังอยู่นาน 12 วัน โดยไม่มีความผิด และทางการสยามก็ไม่สามารถหาคนผิดมาลงโทษได้ หลักฐานนี้สะท้อนให้เห็นว่าชุมชนโปรตุเกสพยายามผูกสัมพันธ์กับทางการสยาม เพื่อให้ได้รับการยอมรับนับถือจากชาวสยามดังที่เคยได้รับมาแล้วก่อนหน้านั้น ชาวโปรตุเกสได้รับราชการในตำแหน่งสำคัญ อาทิ บางคนมีตำแหน่งเป็นผู้บังคับบัญชาทหารที่เมืองบางกอกและมีอำนาจเหนือเจ้าเมืองบางกอกแต่ในด้านเศรษฐกิจแล้วมีหลักฐานระบุชัดเจนว่าโปรตุเกสจำนวนมากมีฐานะทางการเงินไม่ดีนัก

เมื่อราชทูตฝรั่งเศสเดินทางเข้ามาในปี พ.ศ.2228-2229 บันทึกของบาทหลวง เดอ ชัวซีย์แสดงให้เห็นถึงความตกต่ำทางสถานภาพในสังคมอยุธยาของชุมชนโปรตุเกส จากสายตาของชาวฝรั่งเศส สะท้อนจากความจากความพิเศษของที่นั่งเมื่อเข้าเฝ้าในท้องพระโรง ขณะสมเด็จพระนารายณ์เสด็จออกรับแขกเมืองว่า

" ตามปกตินั้นท่านผู้นี้*เป็นผู้ปฏิสันถารราชทูตโดยนั่งอยู่บนแท่นในช่องกุฏิที่ทำลึกเข้าไปในผนังห้อง ขุนนางผู้ใหญ่กับราชทูตนั่งบนพรม (ติดกัน) มีเบาะรองนั่งอีกชั้นหนึ่ง ราชทูตปอร์ตุเกสคนหลังที่สุดที่มาเมื่อปีกลายนี้ก็นั่งอยู่บนพรม เป็นความจริงที่ว่าอยู่ที่ท่านคนเดียวเท่านั้นที่จะให้เอาเบาะรองนั่งมาให้แขกหรือไม่"[8]

บันทึกชิ้นนี้ระบุว่าราชทูตโปรตุเกสที่เดินทางเข้ามาเมื่อประมาณปี พ.ศ.2227- 2228 ได้รับการต้อนรับโดยจัดให้นั่งเฝ้าขณะถูกเบิกตัวถวายพระราชสาส์นบนพรมเท่านั้น ขณะที่ราชทูตฝรั่งเศสมีเบาะรองนั่งเหนือพรมอีกชั้นหนึ่ง เป็นการบ่งชี้ว่าทัศนคติที่ราชสำนักสยามมีต่อราชทูตโปรตุเกส กับราชทูตฝรั่งเศสนั้นแตกต่างกันเห็นได้ชัด เหตุการณ์ลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นกับขุนนาง หรือราชทูตชาวโปรตุเกสมาแล้วในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ได้ปรากฏหลักฐานจดหมายเหตุของ อเล็กซานเดอร์ ฮามิลตัน ระบุความตอนหนึ่งว่า

" ข้าพเจ้ารู้จักชาวโปรตุเกสผู้หนึ่ง ซึ่งอาศัยอยู่ในกรุงสยาม เขาผู้นี้ได้ยิงอีกาตัวหนึ่งที่เกาะกิ่งไม้บนต้นไม้ข้างวัดเรา ทำให้พระสงฆ์ในวัดนั้นป่าวร้องฝูงชน ให้รวมตัวเข้าเป็นกลุ่มก้อน เข้ารุมกันหักขาหักแขนทั้งสองข้างของชายผู้น่าสงสารคนนั้นแล้ว ปล่อยให้ตายกลางทุ่ง แต่บังเอิญมีพวกคริสเตียนมาพบเหตุการณ์อันน่าสลดใจเข้า พวกเขาจึงได้นำร่างของชายผู้นั้นลงเรือไปหาศัลยแพทย์ชาวฝรั่งเศส จัดกระดูกให้เข้าที่และพยาบาลรักษา ในปี พ.ศ.2263 ข้าพเจ้าเห็นเขายังมีชีวิตอยู่ และหายดีแล้ว"[9]

การที่ชายชาวโปรตุเกสผู้นี้ถูกทำร้ายทั้งๆที่น่าจะเป็นคนเชื้อสายโปรตุเกสซึ่งอยู่ในเมืองพระนครศรีอยุธยาสืบต่อมาจากบรรพบุรุษไม่น้อยกว่าหนึ่งหรือสองชั่วอายุคนแล้ว อันเป็นข้อบ่งชี้ให้เห็นว่าเขาควรจะเข้าใจขนบธรรมเนียมประเพณีและข้อห้ามในวัฒนธรรมอยุธยาเป็นอย่างดี จึงน่าจะรู้ว่าเขาไม่ควรจะเข้าไปยิงนกกาในวัดของชาวพุทธ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นน่าจะมีสาเหตุมาจากการที่คนเข้ารีตในเมืองพระนครศรีอยุธยาถูกกลั่นแกล้งต่างๆนานาในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระดังหลักฐานบันทึกของบาทหลวงชาวฝรั่งเศสตามกระแสการต่อต้านศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาธอลิก ตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระต่อเนื่องมาจนถึงรัชสมัยพระเจ้าบรมโกศ และนอกจากนี้ความไม่พอใจของชาวสยามต่อชาวตะวันตกหลังรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชายังอาจส่งผลกระทบทางสังคมต่อชุมชนชาวโปรตุเกสด้วย

การอ้างอิง
[1] อาทิในงานของ แฟร์เนา มึนเดช ปินตู ชื่อ " Pérégrinação" เป็นต้น
[2]-194 นันทา สุตกุล(แปล), เรื่องเดิม, หน้า229-230.


[5] เรื่องเดียวกัน, หน้า217-218.
[6] กรมศิลปากร, บันทึกเรื่องสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศในคริสตศตวรรษที่ 17 เล่ม 2, หน้า109-112.
* เงินเหรียญอย่างแปด หรือ 1 piece of Eight, สุภรณ์ อัศวสันโสภณ (แปล), หน้า260 อาจเป็นเงินตราของยุโรปที่ใช้ทั่วไปในเอเชียระหว่างกลางพุทธศตวรรษที่21 จนถึงพุทธศตวรรษที่24 หนังสืออภิธานศรับท์ของหมอบรัดเลย์ อธิบายคำ "เงินเหรียญ" ในสมัยรัชกาลที่ 5 ว่าหมายถึง "เงินที่เขาทำเปนแผ่นๆ มาแต่เมืองนอก หนัดเจ็ดสลิงนั้น " (ดู เดนนิช บรัดเลย์ , อักขราภิธานศรับท์, หน้า129) อาจเป็นไปได้ว่าเงินเหรียญอย่างแปดหมายถึงเงินบริสุทธิ์ที่มีอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ประมาณ 1 เหรียญต่อ 2 บาท หรือ แปดสลึง ในสมัยอยุธยา ต่อมาค่าทั่วไปได้ลดน้อยลงอยู่ที่ประมาณ เจ็ดสลึง ต่อหนึ่งเหรียญในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
[7] กรมศิลปากร, บันทึกเรื่องสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศในคริสตศตวรรษที่ 17 เล่ม 2, หน้า12-14.
* หมายถึงเจ้าพระยาพระคลัง
[8] เดอ ชัวซีย์, เรื่องเดิม, หน้า403-404.
[9] ประชุมพงศาวดารเล่ม22, หน้า245-246

อาชีพของชาวโปรตุเกสในเมืองพระนครศรีอยุธยา (Thesis's version )

โดย พิทยะ ศรีวัฒนสาร

ชาวโปรตุเกสได้เข้ามามีบทบาทในการประกอบอาชีพต่างๆในเมืองพระนครศรีอยุธยาเพื่อการยังชีพของตนเองและหนีความขัดสนทางเศรษฐกิจภายใต้การปกครองของทางการโปรตุเกส มีหลักฐานของฝรั่งเศสระบุว่าชาวโปรตุเกสที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในเมืองพระนครศรีอยุธยาจำนวน 700-800 ครอบครัว ส่วนมากยากจนและยอมตายเสียดีกว่าจะทำมาหากิน[1] นอกจากนี้พ่อค้าฝรั่งเศสบางคนยังรายงานว่าชาวโปรตุเกสเกียจคร้าน หยิ่ง และชอบอ้างว่าทุนรอนไม่มีจึงเอาแต่นอนขึงอยู่บน เสื่อ[2]นั้น แท้ที่จริงแล้วคนในชุมชนโปรตุเกสมิได้มีภาพลักษณ์เช่นนั้นไปเสียทั้งหมด อาชีพที่พวกเขาได้ใช้เป็นเครื่องดำเนินชีวิตนอกจากการเป็นทหารรับจ้าง และทหารปืนใหญ่แล้ว* พวกเขายังประกอบอาชีพต่างๆ ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไปดังนี้

ช่างทองและอัญมณี
การค้าขายทองคำและอัญมณีในกรุงศรีอยุธยา อยู่ในความสนใจของชาว ยุโรปมาเป็นเวลานาน เอกสารประวัติศาสตร์กล่าวถึงการนำเข้า และส่งออกทองคำ และเครื่องประดับในรูปของสินค้าและเครื่องราชบรรณาการในโอกาสเจริญสัมพันธไมตรี กับต่างประเทศเป็นระยะๆ เอกสารชิ้นหนึ่งเป็นจดหมายของหัวหน้าพ่อค้าอังกฤษในเมืองพระนครศรีอยุธยา ชื่อ เอลิห์ยู เยล เขียนถึงนายวิลเลียม กิฟฟอร์ด ประธานและผู้ว่าราชการแห่งป้อมเซนต์ยอร์ช และสมาชิกสภาที่ปรึกษา แห่งป้อมเซนต์ยอร์ช เมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ.2229 กล่าวถึงการเจรจาต่อรองเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบ เกี่ยวกับผลประโยชน์การค้า และการผลิต เครื่องประดับจากอัญมณี ประเภท เพชร พลอย และทับทิม สิ่งที่หัวหน้าพ่อค้าอังกฤษกำลังเผชิญอยู่ก็คือ การใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม ของฟอลคอน ผ่านตัวแทนการค้าของตน โดยไม่ปฏิบัติตามสัญญาการแลกเปลี่ยนดังกล่าว[3] ทั้งๆที่มีช่างทองและช่างทำเพชรพลอยโบราณชาวสยามเป็นผู้ตีราคาเอง และพวกเขายังเป็นฝ่ายครอบครองเครื่องเพชรที่ได้สั่งทำเอาไว้แล้วด้วย ต่อมาฟอลคอนได้สั่งให้ช่างทองชาวฝรั่งเศส มาเป็นผู้ตีราคาใหม่ต่อหน้าพ่อค้าอังกฤษ ชื่อโรเบิร์ต ฮาร์บิน แต่การตีราคาครั้งนี้ หัวหน้าพ่อค้าอังกฤษ ยืนยันว่า มีความผิดพลาดถึงร้อยละ เจ็ดสิบห้าของราคาสินค้าจริง ทำให้พ่อค้าอังกฤษ ขาดทุนเป็นเงินจำนวนมาก ครั้นเวลาผ่านไประยะหนึ่ง คนเหล่านั้นได้มอบหมายให้ช่างอัญมณีชาวโปรตุเกส ซึ่งทำเครื่องประดับอยู่ที่บ้านของช่างทองชาวฝรั่งเศสร่วมกับช่างทำเครื่องเพชรพลอยผู้มีความสามารถที่สุดในเมืองพระนครศรีอยุธยา ตีราคาเครื่องเพชรใหม่อีกครั้งหนึ่ง ปรากฏว่า ช่างเหล่านี้ได้ตีราคาเครื่องเพชรดังกล่าวสูงขึ้นไปกว่าเดิมนับสิบเท่า[4]

ช่างเพชรพลอยชาวโปรตุเกสซึ่งถูกกล่าวถึงในที่นี้ หลักฐานระบุชื่อว่าซินญอร์ รูดริเกวซ (Senhor Rodrigues) และ ซินญอร์ ปอร์ตู (Senhor Porto) [5] การที่บุคคลทั้งสองรับทำและรับตีราคาเครื่องประดับเพชรพลอยที่บ้านของช่างทองชาวฝรั่งเศส และยังมีการติดต่อเชื่อมโยงกับเจ้าพนักงานในราชสำนักพระเจ้ากรุงสยาม อาทิเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ และช่างเพชรทองอื่นๆ แสดงให้เห็นว่า พวกเขาเป็นสมาชิกของชุมชนโปรตุเกส ที่มีสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมค่อนข้างสูง สามารถตีราคาเครื่องอัญมณีให้เป็นที่ยอมรับของตลาด

การที่ช่างทองชาวฝรั่งเศสระบุว่านายรูดริเกวซ และนายปอร์ตู เป็นผู้ทำเครื่องเพชรดังกล่าวร่วมกับช่างทองผู้มีชื่อเสียงอื่นๆของเมืองนี้ แสดงให้เห็นว่าช่างอัญมณีทั้งสองคนเป็นผู้มีฝีมือในการทำเครื่องเพชรระดับแนวหน้าและได้รับการยอมรับจากบุคคลทั่วไปทั้งชาวสยามและพ่อค้าชาวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาในเมืองพระนครศรีอยุธยา หากพิจารณาอีกด้านหนึ่ง การตีราคาเครื่องเพชรเหลือเพียง 7,000 เหรียญเศษ อาจเป็นข้อบ่งชี้สำคัญที่แสดงให้เห็นว่าบุคคลดังกล่าวเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในเรื่องเกี่ยวกับอัญมณีและเครื่องประดับเพชรพลอย จึงสามารถคำนวนราคาของสินค้าประเภทนี้ได้ใกล้เคียงกับต้นทุนของสินค้าและค่ากำเหน็จของชิ้นงานดังกล่าวข้างต้น ทำให้พ่อค้าอังกฤษไม่สามารถโก่งราคาได้เกินความเป็นจริง

รูดิเกวซ[6]และปอร์ตู เป็นชาวโปรตุเกสที่ประกอบอาชีพเป็นช่างอัญมณีซึ่งมีฝีมือสูงได้รับการยกย่องจากเจ้าหน้าที่ของทางการฝ่ายพระคลังหลวงแห่งเมืองพระนครศรีอยุธยา การที่ช่างอัญมณีชาวโปรตุเกสไปทำงานฝีมือที่บ้านของช่างทองชาวฝรั่งเศสซึ่งอาจอยู่ในชุมชนค่ายฝรั่งเศส แสดงให้เห็นว่าการค้าและผลิตอัญมณีและเครื่องประดับส่วนหนึ่งในเมืองพระนครศรีอยุธยาอยู่ภายใต้การจัดการร่วมกันของชาวฝรั่งเศสและชาวโปรตุเกส ในสงครามกู้อิสรภาพของสมเด็จพระเจ้าตากสินเมื่อปี พ.ศ.2311 ลูกหลานตระกูล รูดริเกวซ ก็มีส่วนร่วมในวีรกรรมครั้งนั้นด้วย[7]

คนนำร่องโปรตุเกส
ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่21 มีหลักฐานที่ชี้ให้เห็นถึงความขาดแคลนคนนำร่องชาวโปรตุเกสในการเดินเรือระหว่างมะละกาและเมาะตะมะ การนำเรือเข้าออกจากอ่าวเมาะตะมะจะต้องใช้คนนำร่องพื้นเมืองนับสิบคนภายใต้การควบคุมของหัวหน้าคนนำร่องชาวเมาะตะมะ[8] เวอร์จิเนีย เอ็ม ดิ คร็อกโก ชี้ว่าเรือสินค้าของโปรตุเกสอาจประกอบด้วยพ่อค้าชาวโปรตุเกสเพียงคนเดียว มีเจ้าหน้าที่หรือเสมียนชาวโปรตุเกสติดตามไปด้วยจำนวน 3 คน ส่วนกัปตันนั้นเป็นชาวชวา คนนำร่องเป็นชาวพะโคและลูกเรือล้วนเป็นชาวชวาและพะโคทั้งสิ้น[9]

หลักฐานรายงานการปฏิบัติงานของศาลกระทรวงทหารเรือ ที่เมืองฮูกห์ลี เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน และ 12 ธันวาคม พ.ศ.2230 พิจารณาคดีตัดสินคดีเกี่ยวกับเรือดูเรีย ดอลลัท (Doorea Dallat) ของพระเจ้ากรุงสยามซึ่งถูกยึดโดยกัปตันจอห์น คอนเซทท์ แห่งเรือเบิร์คลีย์ คาสเซิล (Berkley Castle) เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ.2230 เรือลำนี้ถูกยึดได้ขณะทอดสมออยู่ในเส้นทางไปเมืองอะชิน หลักฐานระบุชัดเจนว่า มีนายอันตอนิอู นิคูเลา (Antonio Nicolão) ชาวโปรตุเกสเป็นคนนำร่อง สินค้าในเรือได้แก่ข้าว เครื่องถ้วยจีนของพระคลังหลวงสยามและนายแซมมูแอลไวท์แห่งมะริดและสินค้าเล็กๆ น้อยๆของคนนำร่องเอง สินค้าทั้งหมดถูกนำออกไปขายแล้วยึดไว้เป็นของทางการอังกฤษ

ตามหลักฐานแล้วมีแนวโน้มว่า คนนำร่องชาวโปรตุเกสผู้นี้อาจปฏิบัติงานอยู่ที่เมืองมะริด ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของสยามขณะนั้น แต่การปรากฏตัวของเขาในที่นี้ สะท้อนให้เห็นว่าภายในชุมชนโปรตุเกสที่เมืองพระนครศรีอยุธยาเองก็อาจมีคนนำร่องชาวโปรตุเกสประจำอยู่ในเรือสินค้าหลวงอื่นๆได้ เนื่องจากชุมชนโปรตุเกสก็มีพ่อค้าที่เดินเรือค้าขาย ตามเมืองท่าชายฝั่งทะเล ในช่วงต้นพุธศตวรรษที่23 ด้วยเช่นกัน[10]

การที่พ่อค้าชาวโปรตุเกสเข้ามาค้าขายกับสยามเป็นเวลายาวนานในระยะหลัง อาจทำให้พวกเขามีความเชี่ยวชาญร่องน้ำลึกในแถบนี้เพิ่มขึ้นก็ได้ จึงพบหลักฐานของการประกอบอาชีพเป็นคนนำร่องในช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา ดังปรากฏในรายงานของบาทหลวงตาชารต์ระบุว่าสมเด็จพระนารายณ์ทรงจ้างชาวโปรตุเกสผู้หนึ่งเป็นผู้บังคับการเรือหลวงเมื่อประมาณปี พ.ศ.2226 เรือลำนี้แล่นไปยังเมืองกัว เพื่อนำพระราชสาส์นไปเจริญสัมพันธไมตรีกับกษัตริย์โปรตุเกส[11] และ ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ก็ระบุเช่นเดียวกันก่อนหน้านี้ในช่วงปี พ.ศ.2060 ได้มีชาวโปรตุเกสประจำอยู่ในเรือของสยามแล้ว[12]

นักร้องเพลงสวดและนักดนตรีชาวโปรตุเกส
อาชีพนักร้องและนักดนตรี อาจเป็นอาชีพหนึ่งที่มีพัฒนาการมาจากการเล่นดนตรีในโบสถ์ของชาวโปรตุเกส บันทึกของชาวต่างประเทศกล่าวว่า ชาวสยามชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ พ่อเพลงแม่เพลงจะแต่งเนื้อร้องโต้ตอบกันอย่างทันควัน แสดงให้เห็นถึงสติปัญญาของผู้ร้อง ชาวสยามร้องเพลงทั้งเวลาเดินไปวัด เวลาเที่ยวทางเรือ หรือในงานฉลองวันนักขัตฤกษ์อื่นๆ โดยทั้งชายและหญิงจะร้องเพลงพร้อมกัน ซึ่งหลักฐานระบุว่า "ชวนให้หัวใจแช่มชื่นได้" งานค้นคว้าของตุรแปงระบุว่าชาวยุโรปนิยมชมชอบการร้องเพลงแบบนี้มาก เชื่อว่าชาวยุโรปที่ตุรแปงกล่าวถึงน่าจะหมายถึงชาวโปรตุเกส เนื่องจากตุรแปง ชี้ว่า มิชชันนารีกลุ่มแรกที่เดินทางไปเผยแพร่ศาสนาในกรุงศรีอยุธยาซึ่งหมายถึงชาวโปรตุเกส จำเป็นต้องแต่งคำสอนทางศาสนาเป็นเพลงภาษาละติน จึงทำให้การเผยแพร่คำสอนได้ผลดียิ่งขึ้น[13]
รายงานของชาวต่างประเทศระบุว่า ชาวสยามโปรดปรานเครื่องดนตรีแบบตะวันตก อาทิ เสียงออร์แกน จึงปรากฏว่ามีชาวสยามพากันไปฟังการบรรเลงออร์แกนที่โบสถ์ของชาวคาธอลิกเสมอ นอกจากเสียงออร์แกนแล้วชาวสยามยังชอบเสียงปี่ กลอง แตร และ ขลุ่ย ของฝรั่งอีกด้วย
ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ มีชาวโปรตุเกสซึ่งอยู่ในบังคับของพระมหาอุปราช (เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์) ถูกเกณฑ์ไปเล่นดนตรีและร้องเพลงในงานฉลองวันนักขัตฤกษ์ของวังหน้า เมื่อปี พ.ศ.2292[14] สร้างความไม่พอใจให้แก่บาทหลวงชาวฝรั่งเศสผู้ปกครองสังฆมณฑลเป็นอย่างยิ่ง ดังปรากฏหลักฐานในจดหมายของ ม. เดอ โลลีแยร์ ถึงผู้อำนวยการคณะการต่างประเทศ กล่าวถึงสาเหตุเบื้องต้นก่อนที่พวกเข้ารีตในสยามจะถูกกดขี่กลั่นแกล้งจากทางการสยามเกิดจากการค้นพบบ่อทองคำที่เมืองกุยบุรี สมเด็จพระเจ้าบรมโกศจึงโปรดให้นำทองคำที่พบไปหล่อเป็นพระพุทธบาททองคำและดอกบัวทองคำขนาดใหญ่ประดับพระพุทธบาท ต่อมาออกญาพระคลังได้ส่งหลวงราชมนตรีเจ้าท่า ให้มาแจ้งแก่บาทหลวง เดอ โลลิแยร์ ให้เกณฑ์คนเข้ารีตทุกคนทั้งชายหญิงไปถือดอกบัวคนละดอกร่วมแห่กับชาวสยาม แต่บาทหลวงเดอ โลลิแยร์เห็นว่า การแห่ในขบวนของพุทธศาสนา ขัดกับหลักความเชื่อในศาสนาคริสต์ จึงมิได้ปฏิบัติตามคำขอร้อง ปรากฏว่าบาทหลวงคณะเยซูอิต ชื่อ โยเซฟ มอนตานา ก็ถูกเรียกไปรับฟังคำชี้แจงที่บ้านของออกญาพระคลัง ซึ่งยกเหตุผลประการหนึ่งมาตั้งเป็นกระทู้ดังนี้

" …ในเวลามีงานนักขัตฤกษ์ไหว้พระของไทย พวกเข้ารีตก็มาดูงานเป็นอันมาก และเวลามาดูงานของไทยนั้น พวกเข้ารีตก็ได้มาช่วยร้องรำทำเพลง ดีดสีตีเป่าเหมือนกัน.."[15]

บาทหลวงโลลีแยร์ตอบว่า พวกเข้ารีตที่ไปช่วยดีดสีตีเป่าในงานนักขัตฤกษ์ของไทยนั้นเป็น "นักเลงในค่ายปอร์ตุเกสพวกหนึ่ง"[16] ซึ่งติดหนี้สินของคนไทย จึงไปช่วยเล่นดนตรีให้ในงานดังกล่าว เพื่อจะได้พ้นหนี้ และไม่ต้องถูกฟ้องร้อง โดยยอมขายตัวเป็นทาสอยู่กับเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ กรมพระราชวังบวร[ # ] ในขณะนั้นหลักฐานจึงระบุว่า


" …เมื่อมีงานไหว้พระของไทย พระมหาอุปราชก็เรียกนักเลงพวกนี้ไปร้องรำทำเพลง และเล่นเครื่องมโหรี"[17]

นอกจากนี้พวกเข้ารีตโดยเฉพาะกลุ่มชาวโปรตุเกสคงจะมีส่วนเข้าไปร่วมสนุกสนานเฮฮาในงานฉลองวันนักขัตฤกษ์ของไทยมานานแล้ว ดังปรากฏอยู่ในบันทึกให้การ ซึ่งเจ้าพระยาพระคลังถามบาทหลวง เดอ โลลีแยร์ว่า

" คำถาม - ก็เวลามีงานนักขัตฤกษ์ของพระพุทธศาสนา พวกเข้ารีตก็มาช่วยในงานเหล่านี้ ออกแน่นไป มาร้องรำทำเพลงปนกับพวกไทย เอาเครื่องดีดสีตีเป่ามาเล่น และมาเขียนรูปพระพุทธรูปตามโบสถ์วิหารด้วยมิใช่หรือ

คำตอบ - ถ้าคนเข้ารีตคนใดได้กระทำการดังกล่าวมาแล้วนี้ คนผู้นั้นก็ได้กระทำบาปในศาสนาของเรา"[18]
หลักฐานข้างต้นแสดงให้เห็นว่า การแลกเปลี่ยนและเผยแพร่วัฒนธรรมทางสังคีตศิลป์ระหว่างชุมชนโปรตุเกสและชาวเมืองพระนครศรีอยุธยาดังกล่าว อาจเป็นที่มาของเพลงไทยสำเนียงฝรั่ง อาทิ เพลงต้นบรเทศ หรือ ต้นวรเชษฐในเวลาต่อมา นอกจากนี้ชาวค่ายจากชุมชนโปรตุเกสบางคนอาจมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์จิตรกรรมฝาผนังในวัดไทยด้วย ดังปรากฏในหลักฐานจดหมายเหตุของแกเฟอร์ที่ระบุว่าที่ประตูหลังในวิหารหลังหนึ่งของวัดเจ้าพระยาพระคลังนอกเกาะเมืองฝั่งตะวันออก มีรูปเขียนขนาดใหญ่เท่าตัวคนของชาวโปรตุเกสสองรูป เมื่อถึงเทศกาล ในวิหารนี้จะมีงานพิธีทุกปี[19]

แพทย์ชาวโปรตุเกสกับโรงพยาบาลในค่ายโปรตุเกส
ในรัชสมัยสมเด็จพระทรงธรรม แพทย์โปรตุเกสมีบทบาทในการชันสูตรสาเหตุการเสียชีวิตของพ่อค้าอังกฤษในเมืองพระนครศรีอยุธยา ดังปรากฏในหลักฐานจดหมายของพ่อค้าอังกฤษชื่อ จอห์น บราวน์ จากปัตตานี ถึง จอห์น จูร์แดงที่เมืองบันตัม เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ.2159 ระบุถึงการตายของพ่อค้าชาวอังกฤษผู้หนึ่งชื่อ เบนจามิน แฟรี จากคำบอกเล่าของชาวฮอลันดาว่า

“ เนื่องจากถูกวางยาพิษ ตามข้อสันนิษฐานของพวกโปรตุเกส” 1572

ข่าวการตายของชายผู้นี้ถูกส่งมาจากพ่อค้าฮอลันดาผู้หนึ่งในกรุงศรีอยุธยา และ “พวกโปรตุเกส” ในที่นี้อาจหมายถึงแพทย์ชาวโปรตุเกสซึ่งทำหน้าที่ตรวจรักษาคนไข้ทั่วไป และชัณสูตรศพของผู้ตาย เพื่อรายงานสาเหตุการตายให้แก่ผู้เกี่ยวข้องทราบว่า เป็นการตายโดยปัจจุบันหรือการฆาตกรรม การปฏิบัติงานของแพทย์ชาวโปรตุเกสครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงการไปมาหาสู่กันในหมู่พ่อค้าต่างชาติระหว่างชาวฮอลันดา อังกฤษ และโปรตุเกสในกรุงศรีอยุธยา

การตายของพ่อค้าอังกฤษ มีหัวหน้าพ่อค้าฮอลันดามาทำพิธีจัดการศพ และมาร่วมในขบวนแห่ศพจนถึงหลุมศพ หลังจากพิธีศพเสร็จสิ้นลงพวกฮอลันดา ก็ได้ขอจัดการมรดกของผู้ตายด้วย[21] หลังจากการตายของพ่อค้าเบนจามิน แฟรี ปรากฏว่าพ่อค้าที่ดำเนินกิจการแทนผู้ตาย คือ จอห์น จอห์นสันได้หันไปต้อนรับชาวโปรตุเกสซึ่งหลักฐานของอังกฤษในตอนต้นระบุว่า การคบหากับชาวโปรตุเกสทำประโยชน์ทางการค้ามิได้แม้แต่น้อย หลักฐานซึ่งได้จากปากคำของชาวฮอลันดา กล่าวว่าพวกโปรตุเกสเหล่านี้

“…เป็นพวกอาศัยอยู่ในกรุงสยาม ที่เลวทรามต่ำช้ากว่าใครเพื่อนทั้งนี้เป็นการเสื่อมเสียเกียรติยศ แก่พวกเราและประเทศชาติเป็นอันมาก ทุกๆวันจะมีพวกโปรตุเกสมาที่บ้าน อย่างมาก 30 คน อย่างน้อย 20 คน ดื่มสุรา สนุกสนาน ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในบ้านกลายเป็นสิ่งธรรมดาสามัญสำหรับพวกโปรตุเกสไปเสียแล้ว…”[22]
แต่ปรากฏว่าหลังจากนั้นพ่อค้าอังกฤษได้ชี้แจงกลับไป ดังหลักฐานจดหมายของจอห์น จอห์นสัน และ ริชาร์ด พิทท์ เขียนที่ปากสันดอนกรุงสยาม ถึงจอห์น บราวน์ที่ปัตตานี เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ.2160 อธิบายถึงการที่พ่อค้าฮอลันดาเข้ามาเกี่ยวข้องกับชาวอังกฤษ กรณีการตายของ เบนจามิน แฟรี และการคบค้าสมาคมกับชุมชนโปรตุเกสในกรุงศรีอยุธยาว่า

“…ที่เขากล่าวว่าพวกเราต้อนรับขับสู้พวกโปรตุเกสและคนอื่นๆนั้น ขอเรียนว่าเราเป็นเพียงพ่อค้า มีสินค้าที่จะขาย ขอแต่เพียงให้เราขายสินค้าได้มากๆ เพราะเรามาขายสินค้าไม่ใช่มาคอยเอาใจใส่กับเรื่องของคนโน้นคนนี้ ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราไม่ได้ซื้อสินค้าจากพวกโปรตุเกสและคนอื่นๆ เราก็อาจจะต้องทำเหมือนกับพวกชาวดัทช์คือต้องรับขนถ่ายสินค้าของคนอื่นๆแทน ข้าพเจ้าขอสวดมนต์อ้อนวอนพระเจ้า ได้โปรดดลบันดาลให้โกดังสินค้าของท่านทำมาค้าขึ้นเหมือนของเรา และขอให้เงินทองไหลมาเทมา เหมือนกับโกดังสินค้าของเราแห่งนี้”[23]

จดหมายของจอห์นสันและพิทท์ฉบับนี้ สะท้อนให้เห็นว่า แท้ที่จริงแล้วชาวโปรตุเกสที่เข้าไปสังสรรค์อยู่ในโรงสินค้าของอังกฤษ เป็นทั้งลูกค้าและพ่อค้าที่อังกฤษติดต่อค้าขายและแลกเปลี่ยนสินค้าด้วย โดยมีวัตถุประสงค์ทางการค้าจริงๆ นอกจากนี้หลักฐานยังสะท้อนให้เห็นว่าชาวโปรตุเกสเป็นผู้ที่มีความกว้างขวางทางการค้าเป็นอย่างมากโดยถ้าหากพ่อค้าอังกฤษมิได้ซื้อสินค้าจากพ่อค้าชาวโปรตุเกสและพ่อค้าอื่นๆแล้ว อาจทำให้พวกเขาไม่สามารถรวบรวมสินค้าได้เลย

หลังเหตุการณ์ความบาดหมางระหว่างทางการสยามกับสมาชิกชุมชน โปรตุเกสใน ปี พ.ศ.2162* อาจเป็นเหตุทำให้โรงพยาบาลในชุมชนชาวโปรตุเกสปิดตัวลง และเปิดตัวใหม่อีกครั้งหนึ่งในปีเดียวกัน ดังปรากฏในหลักฐานสาส์นถวายรายงานแด่กษัตริย์กรุงโปรตุเกส เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2162 ระบุว่าอุปราชโปรตุเกสแห่งเมืองกัว ได้มีหนังสือแจ้งให้กัปตันกาชปาร์ ปาเชกู ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากอุปราชโปรตุเกส ให้เป็นหัวหน้าชุมชนชาวโปรตุเกสแห่งกรุงศรีอยุธยา ให้ชักชวนผู้คนในกรุงศรีอยุธยา เพื่อร่วมกันสร้างเรือนรักษาพยาบาล หรือโรงพยาบาล ขึ้นที่ท่าเรือดังเช่นที่เคยมีมาแต่เดิม และขอให้กัปตันปาเชกู พยายามอย่างเต็มความสามารถเนื่องจากอุปราชแห่งกัวได้มอบอำนาจเต็มให้แก่เขา เพื่อให้ดำเนินการทุกอย่างๆได้ เช่นเดียวกับกัปตันโปรตุเกสคนก่อนๆ นอกจากนี้อุปราชแห่งกัวยังขอให้กัปตันปาเชกู ช่วยขอร้องทางการสยามให้ปล่อยตัวชาวคริสเตียนที่ถูกคุมขังเป็นเชลยในกรุงศรีอยุธยา และขอให้ชาวคริสเตียนช่วยกันทำความดี เพื่อเชิดชูพระเกียรติยศแห่งพระเจ้ากรุงโปรตุเกส ให้ขจรขจายยิ่งขึ้น[24]

การที่อุปราชแห่งกัวมีหนังสือขอให้กัปตันปาเชกูหัวหน้าชุมชนชาวโปรตุเกสแห่งกรุงศรีอยุธยา ช่วยชักชวนให้ผู้คนในย่านใกล้เคียงกับหมู่บ้านโปรตุเกส ร่วมมือกันสร้างโรงพยาบาลสาธารณะขึ้นใหม่ ให้สามารถจัดการรักษาพยาบาลผู้คนเจ็บไข้ได้ป่วยดังเคยมีมาแต่เดิม ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของชุมชนชาวโปรตุเกส ในด้านการให้บริการรักษาพยาบาลแก่คนทั่วไป ซึ่งอาศัยอยู่ในละแวกนั้น อันหมายถึงชุมชนชาวต่างประเทศที่เข้ารีตนับถือศาสนาคริสต์ โดยน่าจะมีชาวโปรตุเกสเป็นส่วนใหญ่ที่เข้ามาใช้บริการ เนื่องจากขณะนั้น พ่อค้าชาวฮอลันดา และอังกฤษ เพิ่งจะเดินทางเข้ามาตั้งโรงสินค้าในกรุงศรีอยุธยาได้ไม่นานนัก (พ.ศ.2146 และ พ.ศ.2155 ตามลำดับ) สำหรับพ่อค้าฝรั่งเศสนั้น เพิ่งจะเดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา ในปี พ.ศ.2205 ส่วนพ่อค้าสเปน ซึ่งเดินทางเข้ามาในปี พ.ศ.2140 นั้นมีบทบาททางด้านชุมชนและด้านอื่นๆในกรุงศรีอยุธยาน้อยมาก

ไม่เพียงแต่จะมีบทบาทในสังคมชาวต่างชาติเท่านั้น แพทย์ชาวโปรตุเกสยังได้มีส่วนถวายความคิดเห็นในการรักษาอาการประชวรของพระมหากษัตริย์ไทยด้วยดังปรากฏในหลักฐานของฮอลันดาระบุว่าตอนปลายรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระพระองค์ได้ประชวรด้วยพระโรคมะเร็งในช่องพระโอษฐ์ (เพดานปาก) เป็นเวลานานถึง 7 เดือน[25] บรรดาแพทย์ในราชสำนักต่างก็ลำบากใจเพราะพระองค์ไม่อนุญาตให้ชาวต่างประเทศเข้าเฝ้าถวายการรักษา ทำให้ขุนนางกรมแพทย์ตัดสินใจทำหุ่นขี้ผึ้งรูปเพดานพระโอษฐ์ของพระองค์นำไปขอความคิดเห็นจากแพทย์ชาวสยาม แพทย์ชาวโปรตุเกส แพทย์ชาวจีน และแพทย์ชาวเวียตนามที่อยู่ในอยุธยา[26] แต่ในที่สุดสมเด็จพระเจ้าท้ายสระทรงเสวยพระโอสถพื้นเมืองมิได้เสวยยาของแพทย์ VOC.ชาวตะวันตก[27]

ช่างหล่อปืนใหญ่ชาวโปรตุเกส
ในเรื่องเกี่ยวกับวิทยาการด้านการหล่อปืนใหญ่นั้น ลาลูแบร์บันทึกไว้ว่า ชาวสยามมีปืนใหญ่ไม่สู้จะมากนัก ปืนใหญ่จำนวนหนึ่งของสยาม ถูกหล่อขึ้นโดยชาวโปรตุเกส ตำแหน่งช่างหล่อปืนใหญ่ของราชสำนักสยามชาวโปรตุเกสผู้นี้เกิดที่เมืองมาเก๊า และรับราชการในเมืองพระนครศรีอยุธยาอยู่จนกระทั่งถึงแก่กรรมไปในระหว่างรับราชการนี้เอง ลาลูแบร์ตั้งข้อสังเกตว่า หากชาวสยามหล่อปืนใหญ่ขึ้นใช้เองแล้ว ฝีมือคงจะไม่ดีเท่าใด[28]

สถาปนิก วิศวกรและช่างสำรวจชาวโปรตุเกส
นอกจากนี้หลักฐานในบันทึกของ ลาลูแบร์ ยังกล่าวถึงวิทยาการทางด้านสถาปัตยกรรมในเมืองพระนครศรีอยุธยา ซึ่งชาวโปรตุเกสมีส่วนร่วมในการก่อสร้างด้วย โดยเขาระบุว่าชาวยุโรป ชาวจีน และชาวมัวร์ ต่างสร้างบ้านเรือนของตนเป็นตึกตามแบบนิยมและศิลปะของชาติตน คนเหล่านี้เท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้สร้างบ้านเรือนของตนเป็นตึกได้ ลาลูแบร์กล่าวว่าชาวยุโรปพวกแรกที่เดินทางเข้ามาในสยาม ซึ่งหมายถึงพ่อค้าชาวโปรตุเกสเป็นผู้ริเริ่มสร้างตึกขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อใช้เก็บสินค้า จึงเรียกอาคารของตนว่า “faiturie” ในภาษาฝรั่งเศส หรือ “faitoria” ในภาษาโปรตุเกส ทำให้ชาวสยามได้นำคำดังกล่าว ไปเรียกวัดของตนว่าวัดแฟติวรี (Pagode faiturie) หรือวัดที่ทำเป็นแฟติวรี[29]

หลักฐานในงานค้นคว้าของตุรแปง กล่าวถึงป้อมปราการรอบกำแพงเมืองพระนครศรีอยุธยาว่ามีอยู่ประปรายเป็นระยะๆ เขากล่าวถึงป้อมสำคัญแห่งหนึ่งว่า สร้างขึ้นโดยบาทหลวงคาธอลิก นิกายโดมินิกัน ชาวโปรตุเกส กล่าวคือ

“ บริเวณรอบนอกเมืองสวยงามด้วยบ้านช่อง และเรือกสวน ป้อมปราการเล็กๆมีอยู่รอบเป็นระยะๆ ประปราย แต่ป้อมปราการที่ทำถูกตำราที่สุดคือป้อมปราการที่สร้างขึ้นตามแบบแปลนของบาทหลวงดอมินิกัน ชาวโปรตุเกสองค์หนึ่ง ทางการยังได้สร้างป้อมหลายแห่ง ซึ่งน่าจะป้องกันเมืองนี้ให้พ้นจากการจู่โจม…”[30]
ป้อมแห่งนี้น่าจะเป็นป้อมเพชร ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณที่โดดเด่น และมีความสำคัญอย่างยิ่งทางยุทธศาสตร์การป้องกันพระนคร และยุทธศาสตร์ทางการค้า เนื่องจากเป็นที่ชุมนุมของเรือสินค้า สำเภา และ แพค้าขาย ซึ่งใหญ่ที่สุดในพระนคร

แม้ป้อมเพชรจะเป็นป้อมสำคัญ และมีขนาดใหญ่ที่สุดของเมืองพระนครศรี อยุธยา แต่ในทัศนะของลาลูแบร์แล้วเขาเห็นว่าสยามยังคงต้องอาศัยความชำนาญของชาวยุโรปในการออกแบบป้อม และต่อให้ป้อมทั้งหลายในเมืองพระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีขนาดเล็ก และสภาพเลวรวมกันทั้งหมด ก็มิอาจต้านทานการบุกของทหารฝรั่งเศสได้[31]

ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อสมเด็จพระนารายณ์ทรงมีพระราชประสงค์จะสร้างป้อมค่าย ทำด้วยไม้ขึ้นที่เมืองชายแดนต่อกับเมืองหงสาวดี แต่ไม่สามารถหาช่างได้ เสนาบดีผู้หนึ่งของสมเด็จพระนารายณ์ ได้อ้างพระบรมราชโองการมอบหมายให้มิชชันนารีฝรั่งเศสชื่อ เรอเน ชาร์บอนโน (Fr.Rene/ Charbonneau) เดินทางออกไปเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง เมื่อสร้างป้อมแล้วเสร็จ จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองภูเก็ต (เมืองโยสลัมหรือจังซีลม) นาน 3-4 ปี หลังจากนั้น จึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตกลับเข้ามาพำนักกับบิดามารดาของภรรยา ซึ่งเป็นชาวโปรตุเกสที่เมืองพระนครศรีอยุธยา[32]ดังเดิม จึงไม่เป็นที่น่าสงสัยเลยว่า บาทหลวงชาวโปรตุเกสแห่งนิกายดูมินิกัน ผู้ออกแบบแผนผังและควบคุมการก่อสร้างป้อมเพชรจะต้องได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์หรือเกียรติยศและสิทธิพิเศษนานาประการตอบแทนจากพระเจ้าแผ่นดินสยามในขณะนั้นอย่างแน่นอน

นอกจากวิศวกรชาวโปรตุเกส ที่มีความรู้ในการสร้างป้อมปืนแล้ว ยังมีช่างโยธาและช่างสำรวจชาวโปรตุเกสอีกส่วนหนึ่งที่ได้เข้ามาตัดถนน คูคลอง และทำแผนที่ภายในเมืองพระนครศรีอยุธยา[33] เจากิง ดึ กัมปุช ระบุว่า ในรัชสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช พระองค์ได้โปรดให้ชาวโปรตุเกสช่วยขุดคลองเพื่อการกสิกรรมและต่อมาช่างสำรวจชาวโปรตุเกสได้ตัดถนนเข้าไปในป่าจากตำหนักพักร้อนไปจนถึงพระพุทธบาทโดยใช้เข็มทิศส่องกล้อง[34] คนเหล่านี้มีส่วนทำให้ชุมชนชาวโปรตุเกสได้รับการยอมรับจากทางการสยามเป็นอย่างดี ในระยะแรกๆของการเดินทางเข้ามาตั้งถิ่นฐาน

พ่อค้าสำเภา
พ่อค้าสำเภาเป็นอาชีพสำคัญอีกอาชีพหนึ่งของชาวโปรตุเกสบางคน หลักฐานจดหมายติดต่อระหว่างเจ้าหน้าที่บริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษที่เมืองสุรัต กับข้าหลวงใหญ่อังกฤษและเคาน์ซิล ที่บอมเบย์ ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2162 กล่าวถึงการวิ่งเต้นขอตัว “ทาส หรือ คนในบังคับ” ของพ่อค้าครึ่งชาติโปรตุเกสแห่งเมืองพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเดินทางไปค้าขายยังบอมเบย์ คืนจากทางการอังกฤษ กล่าวคือ
“ ได้เกิดเรื่องขึ้นกับ นาย พอลลา บาฟติซา ชาวโปรตุเกส ซึ่งพำนักอยู่ที่กรุงสยาม บาฟติซา ผู้นี้มีทาสอยู่คนหนึ่ง (ชื่อว่า โดมินิโก) ทาสผู้นี้ได้เดินทางจากกรุงสยามมายังบอมเบย์ แต่พอไปถึงที่นั่น ก็ถูก มร. โธมัส นิคอลล์ จับขังไว้ที่นั่น เพื่อใช้เป็นตัวต่อรอง เราใคร่ของให้ท่านจัดการเรียกตัวทาสผู้นั้นคืน จาก มร.โธมัส นิคอลล์ ให้จงได้และขอให้ส่งมอบทาสผู้นั้นให้แก่ผู้ถือจดหมายนี้ด้วย”[35]

ต่อมาอีกหนึ่งสัปดาห์เศษ ดูมินิโก (หรือ ดูมิงโก)* ก็ได้รับการปล่อยตัว ดังจดหมายของ เฮนรี ออกซินเดน และ เคาน์ซิล ที่บอมเบย์ เขียนถึงข้าหลวงใหญ่และเคาน์ซิลที่สุรัต ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2162 ความว่า

“ ได้จัดการปลดปล่อยทาส ที่ชื่อโดมิงโก ซึ่งเป็นคนของกรุงสยาม และเป็นคนของเมสติโซ[36] ให้ไปหาเมสติโซแล้วตามที่ท่านสั่งมา และของให้ท่านได้โปรดดูแลเมตตากรุณาแก่เขาเป็นอันดียิ่งไปกว่าที่พวกเขาจะยินดีเชื้อเชิญ หรือพยายามให้เรา ทาสคนนี้ไม่ได้ถูกกัปตัน นิคอลล์เก็บตัวไว้แต่ประการใด”[37]
การที่ทางการอังกฤษยอมปล่อยตัว คนในบังคับของพ่อค้าครึ่งชาติโปรตุเกส แสดงให้เห็นถึงเกียรติยศและความสามารถ ในการวิ่งเต้นของพ่อค้าโปรตุเกสจากกรุงศรีอยุธยา ในขณะนั้นได้เป็นอย่างดี แม้จะเป็นเพียงคนครึ่งชาติโปรตุเกส ก็ตาม นอกจากนี้ การที่หลักฐานกล่าวว่า ทาสชื่อโดมิงโก เป็นคนของกรุงสยาม และเป็นคนของเมสติโซ เป็นสิ่งบ่งชี้ว่า บุคคลทั้งสองอาจเป็นพ่อค้าสำเภาหลวง ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมก็ได้

งานค้นคว้าของตุรแปง ระบุว่าชาวสยามเป็นผู้ชำนาญการเดินเรือแค่ในแม่น้ำเท่านั้น ส่วนการเดินเรือในทะเลนั้นต้องจ้างแขกมุสลิม ชาวจีน ชาวมะละบาร์ และชาวคริสตังที่สืบเชื้อสายมาจากชาวยุโรป มาเป็นผู้ดำเนินการ[38] รายงานดังกล่าวสอดคล้องกับรายงานของลาลูแบร์ซึ่งระบุว่า ชาวสยามมีความสามารถไม่มากนักในการเดินเรือทะเล ดังนั้นพระเจ้าแผ่นดินจึงทรงจ้างนายเรือและลูกเรือชาวต่างประเทศให้เดินเรือไปค้าขายทางทะเล ในระยะหลังพระองค์ทรงจ้างชาวอังกฤษ หรือ ชาวโปรตุเกสให้ปฏิบัติหน้าที่นี้ ต่อมาก็ได้ใช้นายเรือชาวฝรั่งเศสบ้างเช่นกัน[39]

ทางด้านการค้าขายกับสเปนนั้น รายงานของ ยอร์ช ไวท์ ระบุว่าการส่งเรือสินค้าหลวงของทางการสยามไปค้าขายยังมะนิลา ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ มีเพียงปีละหนึ่งลำ โดยมีชาวจีน เป็นทั้งพ่อค้าและจัดการเดินเรือ[40] ประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ว่านอกเหนือจากปริมาณการค้าที่มีต่อกันอย่างเบาบางแล้ว เหตุใด พระคลังหลวง จึงไม่จ้างชาวโปรตุเกสไปติดต่อกับมะนิลา ทั้งๆที่มีความจำเป็นในการใช้ชาวโปรตุเกส เพื่อติดต่อเป็นตัวกลางในทางธุรกิจ และนอกจากนี้ สัญญาระหว่างสยามกับ ฮอลันดาเองก็เพียงแต่ห้ามมิให้จ้างพ่อค้าจีนในเรือสยามเท่านั้น[41] ไม่ได้ห้ามมิให้ทางการสยามจ้างนายเรือโปรตุเกส หรือนายเรือฝรั่งเศสทำงานในเรือสินค้าของสยาม

เสมียนโปรตุเกสในบริษัทอีสอินเดียของอังกฤษ
อาชีพที่น่าสนใจของชาวโปรตุเกสในเมืองพระนครศรีอยุธยาอีกอาชีพหนึ่ง คือ การเป็นเสมียนในบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ จดหมายของเคาน์ซิลแห่งป้อมเซนต์ยอร์จถึง วิลเลียม เจอร์ซีย์ แห่งสะสุลีปะตันลงวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2212 กล่าวถึงจดหมายภาษาโปรตุเกสชี้แจงความสูญเสียของบริษัทอินเดียตะวันออกของบริษัทอังกฤษที่เมืองพระนครศรีอยุธยาถึง เซอร์ เอ็ดเวอร์ด วินเตอร์ เพื่อให้ทราบถึงสาเหตุที่ห้างอังกฤษในเมืองพระนครศรีอยุธยาถูกทำลาย จากการกระทำของ แอนดรู ดึ โซซา กับ ฟรานซิส บรู(?) ร่วมกับนายเรือชาวอังกฤษดังปรากฏในหลักฐานว่า

“ เราได้รับจดหมายจากกรุงสยามเขียนถึง เซอร์เอ็ดเวอร์ด วินเตอร์ หรือใครก็ตามที่เป็นผู้ปกครองที่นั่น จดหมายเหล่านี้ค่อนข้างยาว และเขียนเป็นภาษาโปรตุเกส หลังจากได้พิจารณาดูแล้ว เห็นว่าคงจะต้องเสียเวลามากอยู่ในการศึกษาจดหมายนี้ เพราะเราไม่ค่อยเชี่ยวชาญในภาษานี้ แต่ถ้าเราพบว่ามีสิ่งหนึ่งสิ่งใดสำคัญ และอาจจะช่วยแนะแนวทางให้เราสามารถติดต่อกับพระเจ้ากรุงสยามได้แล้ว เราก็จะดำเนินการตามความเหมาะสม แต่ใจความส่วนใหญ่ที่เราได้พิจารณาดูแล้วจากจดหมายเหล่านั้น เห็นว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับที่จะยกเรื่องห้างต้องถูกทำลาย ให้เป็นความผิดของ แอนดรู เดอ ซูซา กับฟรานซิส บรู(?) ซึ่งอยู่ใต้ปกครองของ ซูซา และเกรงกลัวซูซาเป็นอันมาก และว่าซูซากับนายเรือชาวอังกฤษได้พยายามที่จะทำลายล้างทุกสิ่งทุกอย่าง ที่จะเกิดประโยชน์ต่อบริษัท และดูเหมือนว่าความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่ห้างนั้น เกิดจากผลของการละทิ้งงานและหลีกเลี่ยงงานของกาเบรียล ฟลอเรส กับพี่ชายของเขา หลังจากที่เขาได้ถึงแก่กรรม”[42]
จดหมายที่เขียนเป็นภาษาโปรตุเกสฉบับดังกล่าว อาจเขียนขึ้นโดยพนักงานกรมท่าขวาที่ได้สืบสวนเหตุการณ์ความเสียหายที่เกิดขึ้น เนื่องจากในช่วงนั้นไม่มีพนักงานห้างชาวอังกฤษประจำอยู่ในเมืองพระนครศรีอยุธยา มีเพียงลูกจ้างซึ่งเป็นลูกครึ่งอังกฤษเชื้อสายโปรตุเกสจากชุมชนโปรตุเกสดูแลกิจการอยู่เท่านั้น เหตุที่ทราบว่าบริษัทอินเดียตะวันออกจ้างเสมียนเชื้อสายชาวโปรตุเกสดูแลห้างวิเคราะห์ได้จากชื่อของ ฟรานซิส บรู(?) เป็นคนอยู่ใต้การบังคับของ แอนดรู ดึ โซซา และ กาเบรียล ฟลอเรสหรือ ฟลูรึช ก็มีชื่อและนามสกุลแบบชาวโปรตุเกสอย่างชัดเจน

นายประกันชาวโปรตุเกส
ชาวโปรตุเกสซึ่งมีฐานะมั่งคั่งอาจมีอาชีพเป็นนายประกันในศาลเช่นกัน หลักฐานระบุว่าหลังการจลาจล พ.ศ.2231 บาทหลวงเปเรซชาวโปรตุเกส ถูกจับมาจากตะนาวศรีพร้อมกับบาทหลวงหลุยส์ พวกเขาถูกขังอยู่ในเรือ บาทหลวงมัลโดนาดู หัวหน้าคณะเยซูอิตซึ่งเคยให้ความเอื้อเฟื้อแก่ชาวฝรั่งเศส ได้ส่งหนังสือจากโป๊ปตั้งให้บาทหลวงเปเรซเป็นสังฆราชฝ่ายญวนตั้งแต่ปี พ.ศ.2230 แต่เพิ่งจะได้รับหนังสือนี้ในปี พ.ศ.2233 ต่อมาบาทหลวงเปเรซได้ถูกจับขังคุกกับพวกเข้ารีตฝรั่งเศส บาทหลวงเปเรซ มิใช่ชาวฝรั่งเศสหากแต่เป็นชาวโปรตุเกส เขาถูกจับเพราะถูกเจ้าเมืองตะนาวศรีกลั่นแกล้ง[43] แต่ต่อมาได้มีพระราชโองการในเดือนเมษายน พ.ศ. 2233 ห้ามมิให้ร้องเพลงเยาะเย้ยหรือหมิ่นประมาทชาวต่างชาติต่างภาษา (โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝรั่งเศส) และห้ามผู้ใดกีดขวางกิจกรรมทางศาสนาของบุคคลทั้งหลาย[44] ดังนั้นในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2234 ออกญาพระคลังซึ่งเคยเป็นราชทูตที่1 ไปฝรั่งเศสได้ไปบอก ม.โปมาว่า พระเจ้ากรุงสยามโปรดให้ปล่อยนักโทษทั้งหมด แต่พวกเขาต้องหานายประกันเสียก่อน และเมื่อพ้นโทษแล้วจะต้องอยู่ในบ้านหลังหนึ่ง ซึ่งพนักงานจะได้ปลูกขึ้นใกล้กับคุกและมีพนักงานควบคุม ออกญาพระคลังได้ให้ไปตามล่ามฝรั่งเศส ชื่อ แวงซัง แปงเฮโร [45] และได้ส่งให้ล่ามรีบไปยังค่ายโปรตุเกสไปหาชาวโปรตุเกสสองคนชื่อ “บาเรตา” และ “ชาโบ” และให้ถามสองคนนี้ว่าจะยอมเป็นประกันพวกมิชชันนารีและนักเรียนหรือไม่ เพราะเมื่อปีก่อน (พ.ศ.2233) สองคนนี้ได้ยื่นฎีกาขอเป็นนายประกันครั้งหนึ่ง ซึ่งถวายพระเจ้าแผ่นดินไปแล้ว ม. แวงซัง แปงเฮโร (ล่ามฝรั่งเศส) ได้ไปหาชาวโปรตุเกสทั้งสอง ซึ่งก็ตกลงยอมเป็นนายประกัน ม. เดอ เมเตโลโปลิศ คนเดียวเท่านั้น และ ม. เดอ เมเตโลโปลิศ จะต้องอยู่ในบ้านพวกโปรตุเกส
ผู้เขียนบันทึกระบุว่า การที่พวกโปรตุเกสยอมเป็นนายประกันให้แก่ม. เดอ เมเตโลโปลิศ เพราะหวังผลประโยชน์สำหรับพระเจ้ากรุงโปรตุเกสในภายหน้าเมื่อพวกฝรั่งเศสกลับเข้ามาอีกมิได้ช่วยด้วยความนับถือแต่อย่างใด และส่วนมิชชันนารีและพวกนักเรียนนั้น พวกโปรตุเกสไม่รู้จักและไม่คุ้นเคยพอที่จะเป็นนายประกันให้ หลักฐานชิ้นนี้อาจชี้ให้เห็นว่าสมาชิกของชุมชนโปรตุเกสและชุมชนค่ายฝรั่งเศสอาจมิได้มีการคบค้าสมาคมกันแน่นแฟ้นเนื่องจากมิได้ปฏิบัติศาสนกิจในโบสถ์เดียวกัน จึงไม่มีความคุ้นเคยเพียงพอ ออกญาพระคลังจึงเสนอให้ ม. เดอ เมเตโลโปลิศ กับบาทหลวงอีก 3 คนที่ไม่ต้องโทษมาเป็นนายประกัน แล้วสั่งให้เขียนหนังสือประกันทันที ล่ามฝรั่งเศสจึงนำไปให้พระคลังตรวจ แต่พระคลังไม่พอใจหนังสือนั้น จึงให้ล่ามไปร่างใหม่ ครั้นร่างเสร็จแล้ว ก็ยังไม่มีโอกาสยื่นหนังสือ ต้องรออีกวันหนึ่งจึงได้ยื่นให้พระคลังตรวจอีก แล้วส่งมาให้นายประกันทั้ง 3 ลงนาม บรรดามิชชันนารีและนักเรียน จึงถูกปล่อยไปอยู่บ้านในบึงหลังคุก ห่างจากคุก “ระยะปืนยิงถึง”[46]

เรื่องการเป็นนายประกันตามจารีตกฎหมายไทย โดยอ้างจากจดหมายเจ้าพระยาพระคลังถึง ม. เดอ บริซาเซีย หัวหน้าคณะการต่างประเทศ เมื่อ 27 ธันวาคม พ.ศ.2237 ระบุว่าผู้ใดที่มีประกันไม่กระทำตามข้อที่ได้สัญญาไว้ และเอาตัวผู้นั้นไม่ได้ ก็ต้องให้นายประกันเป็นผู้รับผิดชอบ ในกรณีที่ฝ่ายไทยได้จับ ม. เดอ เมเตโลโปลิศ หัวหน้าบริษัท (ม. เวเร่ต์) และบาทหลวงมิชชันนารีชาวฝรั่งเศสทั้งหมด ซึ่งรับว่าเป็นนายประกันนายพลเดฟาร์จส์และกองทหารฝรั่เศส และประกันเงินยืม 45,000 ฟรังก์ สำหรับซื้อเรือกับเสบียงอาหาร ตามปกตินายประกันจะถูกประหารชีวิตหมด แต่เจ้าพระยาพระคลังได้กราบทูลขอไว้ เพียงแต่ถูกควบคุมเท่านั้น

หลักฐานระบุว่า หลังจากข้าราชการไทยกลับมาพร้อมกับบาทหลวงตาชาร์ด จึงทรงให้ชาวฝรั่งเศสกลับไปยังโรงเรียนสามเณรดังเดิม [47] โดยสมเด็จพระเพทราชา ได้พระราชทานเงินซ่อมวัดแต่ยังไม่แล้วเสร็จ ต่อมามีการทำพิธีวันคริสต์มาสอย่างเปิดเผยไม่ถูกขัดขวาง[48] จากหลักฐานที่ปรากฏ แม้ว่าในที่สุดแล้วนายประกันในชุมชนชาวโปรตุเกสจะมิได้มีบทบาทอย่างจริงจัง ในการรับรองหรือประกันตัวบาทหลวงฝรั่งเศส ให้พ้นจากการถูกทางการสยามคุมขัง โดยอาจมีความขัดแย้งลึกๆเรื่องการแข่งขันทางศาสนาหรือการไม่อยากเอาตัวเข้าไปแลกกับชีวิตของพวกฝรั่งเศส แต่อย่างน้อยหลักฐานก็ได้แสดงให้เห็นถึงความมีหน้ามีตาในสังคมอยุธยาของสมาชิกในชุมชนโปรตุเกสบางส่วนซึ่งอาจมีศักยภาพในการค้ำประกันผู้ต้องหาในคดีพิพาททางการเมือง ได้ไม่น้อยหน้าชาวต่างชาติอื่นๆ หลังเหตุการณ์สมเด็จพระเพทราชายึดอำนาจจากสมเด็จพระนารายณ์ ในปี พ.ศ. 2231

หลักฐานระบุเพิ่มเติมว่า ม. เดอ เมเตโลโปลิศ (ม.ลาโน) รายงาน (ประมาณ 1 มกราคม พ.ศ.2232) ว่า นายทหาร พลทหาร มิชชันนารี นักเรียนของสามเณราลัย และชาวฝรั่งเศสถูกจับทั้งหมดหลังจากนายพลเดฟาร์จส์หนีออกไปจากบางกอก เพราะชาวฝรั่งเศสเหล่านี้ เป็นนายประกันการยืมเงินและเรือของ ม. เดฟาร์จส์[49] ขุนนางไทยที่ส่งไปเจรจาถูกจับเป็นตัวประกัน 2 คน บาทหลวงชาวฝรั่งเศสซึ่งเป็นผู้รับรองหรือ เป็นนายประกันจึงต้องถูกจับหมดตามประเพณีกฎหมายไทย[50] บาทหลวง เดอ ลาเบรอยญ์(Breuille) คณะเยซูอิตและข้าราชการฝรั่งเศสซึ่งไปอาศัยอยู่กับบาทหลวงโปรตุเกส ก็ถูกจับมารวมกับชาวฝรั่งเศสอื่นๆ[51] รวมทั้งพนักงานบริษัทฝรั่งเศสก็ถูกจับด้วย และถูกริบทรัพย์เข้าคลัง ม.โปมา ซึ่งชำนาญวิชาแพทย์ ได้รับอนุญาตให้ปลูกเรือนเล็กๆในเขตติดกับพระคลังหลวงและเป็นที่ใกล้คุก พร้อมด้วยนักเรียนสามเณร 6 คน กับคนใช้แขกดำบางคน ส่วนคนใช้ไทยและมอญ หนีไปหมดแล้ว ม.โปมา เป็นผู้ส่งอาหารให้นักโทษวันละครั้ง พวกที่อยู่ในบังคับฝรั่งเศสทั้งในคุกและนอกคุก มีประมาณเกือบ 100 คน นอกจากนี้สามเณราลัยยังถูกยึด แต่ผู้เขียนบันทึกกับ ม.เซอวรอย์ ซึ่งไม่ถูกจับได้นำเครื่องประดับวัดไปฝากไว้กับโบสถ์คณะเยซูอิต ซึ่งตั้งอยู่ในชุมชนโปรตุเกส บาทหลวงมันโดนาด เป็นหัวหน้าคณะเยซูอิตได้เอื้อเฟื้อเป็นอย่างดี จากนั้นจึงไปอาศัยบ้านชาวตังเกี๋ย ชื่อ โยเซฟ ใกล้ๆสามเณราลัย
สภาพของพวกเข้ารีตฝรั่งเศสที่ถูกจับนั้น ในตอนเช้าจะถูกเรียกเอาโซ่ร้อยเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 10-12 คน ปนไปกับผู้ร้ายฉกรรจ์พื้นเมือง คุมออกไปทำงานจนเย็น อาทิ ขนดิน ขนอิฐ ขนขยะมูลฝอย ของโสโครก ล้างท่อ ล้างที่อุจจาระ ลากเสา ลากซุงและอื่นๆ คนเหล่านี้ถูกระบุว่าเป็นชาวยุโรป มีอายุตั้งแต่ 13-14 ปี รวมไปถึงผู้ใหญ่ต้องขอทานตามประตูบ้านร้านค้า บันทึกของบาทหลวงฝรั่งเศสระบุว่า " บ้างได้ข้าว ปลาเค็ม เบี้ย ขณะนั้นบางคนก็ดูหมิ่น ด่าทอ ข่มเหง บางคนก็พูดสมน้ำหน้า ถ้าเป็นคนไทยสมน้ำหน้าพวกฝรั่งเศสจะไม่ประหลาดใจ เพราะเขาหาว่าทำลายศาสนาเขา แต่พวกโปรตุเกส มาพลอยพูดไปดังนั้น ไม่ทราบว่าเอาหลักอะไรมาพูด "[52] ทัศนคติเช่นนี้สะท้อนให้เห็นถึงความขัดแย้งทางเชื้อชาติที่เกิดขึ้นยาวนานระหว่างชาวฝรั่งเศสกับชาวโปรตุเกสในเมืองพระนครศรีอยุธยา

นอกจากอาชีพต่างๆดังกล่าวไปแล้วข้างต้นชาวโปรตุเกสในเมืองพระนครศรีอยุธยาอาจเคยทำงานเป็นช่างชุนในราชสำนักสยาม ถ้าหากว่าผลการวิเคราะห์ที่ชี้ว่าพราหมณ์เทษ คือ ชาวโปรตุเกสมีความเป็นไปได้อย่างไม่คลาดเคลื่อน* นอกจากนี้ยังมีหลักฐานของฮอลันดากล่าวถึงธุรกิจการต่อเรือของชาวโปรตุเกสในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าปราสาททองด้วย[53]
ยังมีอาชีพสำคัญของชาวโปรตุเกสในเมืองพระนครศรีอยุธยาอีกอาชีพหนึ่ง ซึ่งมีบทบาททางการค้าและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในสมัยอยุธยา อาชีพนี้ คือล่ามภาษาโปรตุเกส ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไปในบทความเรื่องบทบาทของภาษาโปรตุเกสในประวัติศาสตร์อยุธยา
การอ้างอิง
[1] นิโคลาส แชร์แวส, เรืองเดิม, หน้า62.
[2] ประชุมพงศาวดาร เล่ม39, หน้า64.
* เป็นคำอธิบายที่ปรากฏอยู่ใน E.W. Hutchinson," Adventurers in Siam in the 17th Century" (London: The Royal Asiatic Society,1940), p.23
[3] หัวหน้าพ่อค้าอังกฤษและหุ้นส่วนตกลงรับทำด้ามดาบแบบ Jemdar , หีบต่างๆ และ ด้ามดาบญี่ปุ่น ประดับด้วยเพชรและทับทิม แลกเปลี่ยนกับทองแดง ดีบุก และ ไม้จันทน์ ในราคา 10,500 เหรียญ. ดู สุภรณ์ อัศวสันโสภณ(แปล), เรื่องเดิม, หน้า 76-77.
[4] กรมศิลปากร, บันทึกเรื่องสัมพันธภาพระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศในคริสตศตวรรษที่17 เล่ม4 แปลโดยสุภรณ์ อัศวสันโสภณ (พระนคร : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2513), หน้า 83-86.
[5] เรื่องเดียวกัน, หน้า85.
[6] ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 21 มีนักเดินทางชาวโปรตุเกสชื่อฟรานซิสกู รูดริเกวซ และวิเซนตึ รูดิเกวซ เขียนบรรยายเส้นทางการเดินเรือในทะเลจีนและเส้นทางจากโปรตุเกสมายังอินเดีย ดู Rui D'Avila Lourido, "European trade between Macão and Siam from the beginning to 1663," IEAHA, 14th (1996) :5 -6.
[7] P.Manuel Teixiera, op.cit., p.80.
[8] Verginia M.Di Crocco, Portuguese along the Burmese Coasts in the 16th - 17th Centuries ( Bangkok : Embassy of Portugal in Thailand, 1987), np.
[9] Ibid., np.
[10] เดอ ชัวซี, เล่มเดิม, หน้า428.
[11] จดหมายเหตุการเดินทางครั้งที่2ของบาทหลวงตาชาร์ด ค.ศ.1687-1688 , แปลโดยสันต์ ท.โกมลบุตร, หน้า219.
[12] Suthachai Yimprasert, op.cit., p.176.
[13] ฟรังซัวร์ อังรี ตุรแปง, เรื่องเดิม, หน้า 73-74.
[14] ปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์, และ พิรักษ์ ชวนะเกรียงไกร “บันทึกความสัมพันธ์โปรตุเกส - อยุธยา," ชาวโปรตุเกสในยุคกรุงศรีอยุธยา (กรมศิลปากรจัดพิมพ์เนื่องในโอกาสปีการท่องเที่ยวไทย พ.ศ.2530), หน้า21.
[15] ประชุมพงศาวดารเล่ม22, หน้า203-204.
[16] เรื่องเดียวกัน, หน้า204.
[ ก ] ก่อนหน้านั้นบันทึกของฝรั่งเศสระบุว่า เจ้าวังหน้าในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ซึ่งต่อมาคือสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ทรงเคยให้ปล่อยพวกเข้ารีตออกจากคุก เมื่อคราวเกิดกรณีพิพาทกับบุตรหลานเจ้าเมืองมะริด โดยทรงให้ขุนนางวังหน้า "นำไม้กะลำพักกับรง และเครื่องหอมพร้อมทั้งส่งท้องตรากับมัดหวายเพื่อเป็นเครื่องหมายว่า พวกเข้ารีตและพวกบาทหลวงอยู่ในบังคับของพระองค์, อ้างจาก โสพิศ หนูทอง, เรื่องเดิม, หน้า 24-89
[17] ประชุมพงศาวดารเล่ม22, หน้า204.
[18] เรื่องเดียวกัน, หน้า211.
[19] แองเจลเบิร์ต แกมเฟอร์, เรื่องเดิม, หน้า52.
[20] กรม ศิลปากร, บันทึกเรื่องสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศในคริสตศตวรรษที่ 17 เล่ม 1, หน้า83
[21] เรื่องเดียวกัน, หน้า83
[22] เรื่องเดียวกัน, หน้า84
[23] เรื่องเดียวกัน, หน้า94-97
* ความบาดหมางเนื่องจากทางการสยามให้สิทธิพิเศษในการค้าหนังสัตว์แก่พ่อค้าฮอลันดา เป็นเหตุให้ชาวโปรตุเกสยึดเรือฮอลันดา แล้วถูกทางการสยามปราบปรามจับกุม. ดู กรมศิลปากร, ประชุมพงศาวดารฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม3 (พระนคร : สำนักพิมพ์ก้าวหน้า, 2507), หน้า193
[24] กรม ศิลปากร, บันทึกเรื่องสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศในคริสตศตวรรษที่ 17 เล่ม 1, หน้า119
[25] Dhiravat na Pjombejra, "The last year of King Thaisa's reign : Data concerning Polities and Society from the Dutch East India Company's Siam Factory Dagregister for 1732" ความยอกย้อนของอดีต พิพิธนิพนธ์เชิดชูเกียรติพลตรีมรว. ศุภวัฒย์ เกษมศรี, 2537:136. หลักฐานของบาทหลวงฝรั่งเศสระบุว่าทรงประชวรด้วย "โรคพระโอษฐ์เน่า" และหมอได้ถูกประหารชีวิตไปมากกว่า 20 คนแล้วเพราะไม่สามารถรักษาโรคนี้ได้ พระอนุชาของพระองค์ก็ประชวรด้วยโรคนี้เช่นกัน , อ้างจากโสพิศ หนูทอง, เรื่องเดิม, หน้า29.
[26] เรื่องเดียวกัน, หน้า136.
[27] Dhiravat na Pombejra, op.cit., p.136.
[28] ชิมอง เดอ ลาลูแบร์, เรื่องเดิม, หน้า 407.
[29] ชิมอง เดอ ลาลูแบร์, เรื่องเดิม, หน้า 135-138 : และผู้เขียนตั้งข้อสังเกตุว่า คำว่า “Pagode faiturie” หรือ “Pagode faituria” ซึ่งชาวสยามนำไปเรียกวัดเก่าๆที่ก่ออิฐถือปูนนี้ อาจเป็นต้นเค้าของชื่อ “วัดตึก” ในเมืองพระนครศรีอยุธยา เนื่องจากคำ “faitoria” หากเรียกสั้นๆ แบบที่ชาวสยามนิยม (อาทิ เรียก “อยุธยา” เป็น “ยุทธยา” ) ก็อาจกลายเป็น “fato - พัดตุ” หรือ “Watto – วัดตุ” และ “ Wattuk – วัดตึก” ได้
[30] ฟรังซัวร์ อังรี ตุรแปง, เรื่องเดิม, หน้า9.
[31] ชิมอง เดอ ลาลูแบร์, เรื่องเดิม, หน้า406.
[32] เรื่องเดียวกัน, หน้า406-407.
[33] "The excavation of of the Portuguese settlement at Ayutthaya",ชาวโปรตุเกสในยุคกรุงศรีอยุธยา (กรมศิลปากร, 2530), Np.
[34] Joaquim de Campos, Early Portuguese Accounts of Thailand ( Portugal : Camara Municipal de Lisboa , 1983), pp.22-23.
[35] กรมศิลปากร , บันทึกเรื่องสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศในคริสตศตวรรษที่ 17 เล่ม 2, หน้า290.
* อ่านสำเนียงโปรตุเกสว่า ดุมินิกู หรือ ดูมิงกู
[36] เมสติโซ หรือ เมชติซู (Mestiço) เป็นคำภาษาอินโด-โปรตุเกส สำหรับใช้เรียกคนครึ่งชาติ หรือ ยูเรเซียน ปัจจุบันคำนี้มิได้ใช้อีกต่อไปแล้ว , C.R.Boxer,Fidalgos in the Far East, p.280
[37] กรมศิลปากร, บันทึกเรื่องสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศในคริสตศตวรรษที่ 17 เล่ม 2, หน้า292.
[38] ฟรังซัวส์ อังรี ตุรแปง, เรื่องเดิม, หน้า23.
[39] ชิมอง เดอ ลาลูแบร์, เรื่องเดิม, หน้า 411-412.
[40] ประชุมพงศาวดารเล่ม12 , หน้า 213
[41] กรมศิลปากร, บันทึกเรื่องสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศในคริสตศตวรรษที่ 17 เล่ม 2, หน้า95.
[42] เรื่องเดียวกัน, หน้า127.
[43] ประชุมพงศาวดาร เล่ม21, หน้า32-38.
[44] เรื่องเดียวกัน, หน้า46.
[45] จดหมายของบาทหลวงตาชาร์ด ถึงออกญาพิพัฒน์ ลง 5 พ.ค. พ.ศ.2237 ระบุว่ามีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงวรวาที . ประชุมพงศาวดาร เล่ม 21. หน้า119 และจดหมายออกญาพระคลังถึงบาทหลวง เดอ บริซาเซีย ลง 27 ธ.ค. พ.ศ.2237 ระบุว่า พระเจ้ากรุงสยาม ให้ออกญาพระคลังส่งหลวงวรวาที ไปรับบาทหลวงตาชาร์ด และได้พระราชทานกระบี่ทองคำ เป็นเกียรติยศพิเศษ แก่หลวงวรวาที , หน้า94. ประชุมพงศาวดาร เล่ม2 น้า132-133 จดหมายพระยาพระคลัง ถึงบาทหลวงตาชาร์ด วันเสาร์ เดือน11/ 2237 หน้า151ว่า หลวงวรวาที แวงซังแปงเฮโร(พ่อ) ฟรังซัว แปงเฮโร(ลูก)
[46] ประชุมพงศาวดาร เล่ม21, หน้า56-62
[47] โรงเรียนสามเณรนี้ ชื่อเซนต์โยเซฟ ดู ประชุมพงศาวดาร เล่ม21, หน้า152.
[48] ประชุมพงศาวดาร เล่ม21, หน้า87-94.
[49] เรื่องเดียวกัน, หน้า83,84,85.
[50] หนังสือออกญาพระคลัง ถึง ม.เดอบรซาเซีย 27 ธันวาคม 2236 ดู ประชุมพงศาวดาร เล่ม21, หน้า87.
[51] ประชุมพงศาวดาร เล่ม21, หน้า7.
[52] เรื่องเดียวกัน, หน้า 8-14.
* ดู ภาคผนวก : การค้นหาร่องรอยของชาวโปรตุเกสในเอกสารฝ่ายไทย
[53] นันทา สุตกุล (แปล), เรื่องเดิม, หน้า267.

ประเพณีการฝังศพของชาวโปรตุเกสที่โบสถ์ซานเปโตร(ซานตู ดูมินิกานู)ในสมัยกรุงศรีอยุธยา

โดย พิทยะ ศรีวัฒนสาร

ในรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา ตรงกับปี พ.ศ.2239 ได้เกิดโรคระบาดขึ้นอย่างรุนแรงที่เมืองพระนครศรีอยุธยา[1] จดหมาย ม.ปินโต ถึง ม.บาเซต์ เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ.2239 ระบุว่า เกิดสภาวะแห้งแล้งมีน้ำน้อย ทำให้อาหารการกินมีราคาแพงมาก แม้พระเจ้าแผ่นดินสยามจะทรงระวังกวดขันสักเท่าใดก็ตาม แต่ก็มีเหตุร้ายเกิดซ้ำตามมาอีก คือเกิดเพลิงไหม้ขึ้นบ่อยๆทุกแห่ง น้ำในลำน้ำก็มีความขุ่นข้นแห้งแล้ง และมีสีเขียวเต็มไปหมด จนใช้บริโภคไม่ได้มาเป็นเวลานาน หลักฐานระบุว่า "เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ทำให้คนฝันต่างๆ ถึงไม่ได้ฝันจริงก็คิดประดิษฐ์เป็นฝันขึ้นทั่วไป"* ทำให้เกิดโรคระบาดขึ้น โดยผู้ป่วยจะมีอาการโลหิตออกทางปากและจมูก แล้เป็นไข้อยู่ได้ 2-3 วันก็ตายมิหนำซ้ำยังกลับมีไข้ทรพิษเข้ามาแทรกทั่วราชอาณาจักร ทำให้ทั้งเด็กผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 7-80 ปี ล้มตายกันมาก ตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ.2239 มีคนตายทั่วพระราชอาณาจักรรวมเกือบ 80,000 คนแล้ว หลักฐานฝรั่งเศสระบุว่าตามวัดต่างๆไม่มีที่จะฝังศพ และทุ่งนาก็เต็มไปด้วยศพทั้งสิ้น วัดที่อยู่ใกล้กับโรงเรียนสามเณราลัย เพียงแห่งเดียวภายในสามเดือนยังฝังศพไปแล้วถึง 4,200 ศพ ระหว่างนั้นสมเด็จพระเพทราชาไม่เพียงทำตัวเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี โดยทำพิธีสวดมนต์เลี้ยงพระในที่ชุมชน ทำน้ำมนต์และพิธีต่างๆหลายพันอย่าง ซึ่งพระสงฆ์ได้ทำทั้งในเมืองและนอกเมือง พระองค์ยังทำเหมือนบิดา มารดา ของราษฎร โดยส่งแพทย์ไปรักษาคนเจ็บป่วย พระราชทานยาและเงินโดยทั่วกัน ก่อนท่านสังฆราชจะถึงแก่กรรมได้แนะนำให้ถ่ายยา และฉีดเอาเลือดออกเพื่อป้องกันมิให้ป่วยไข้ พระเจ้ากรุงสยามทรงเห็นชอบจึงประกาศให้ราษฎรปฏิบัติตามคำแนะนำนั้น และเจ้าพนักงานต้องนำความกราบทูลทุกคืนว่า คนที่ได้ฉีดเลือดออกเช่นนี้ มีจำนวนมากน้อยเท่าใด ม. เดอ เตรซี กับมิชชันนารี อีก 3 คน ได้วิ่งไปช่วยทุกหนทุกแห่งทั้งให้ยากินและรับเด็กเข้ารีต ภายในพระนครแห่งเดียวมิชชันนารีเหล่านี้ได้รับเด็กเข้ารีตวันละหลายๆคน ในชั้นต้น ม.ปินโตก็เดินทางไปทั่วทุกแห่งเช่นกัน แต่ไม่ช้าการรักษาพยาบาลพวกคริสเตียนที่ป่วยก็เต็มมือทำให้ปลีกตัวไปได้ยาก แต่แล้วไข้ระบาดก็ลดน้อยลงไปบ้าง ในค่ายฝรั่งเศสนั้น นักเรียนตาย 3 คน ทาส 1 คน [2]

หลักฐานจดหมายของ ม.โปเกา ถึง ผู้อำนวยการมิซซังต่างประเทศ ในวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ.2239 กล่าวถึงสภาวะฝนแล้งน้ำน้อยมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2238-2239 ว่าได้เกิดไข้ทรพิษหลายชนิด อาทิ ไข้แดง ไข้ดำ ทำให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ตายกันมาก แต่ปรากฏว่าในโรงเรียนสามเณราลัยไม่มีใครเป็นไข้เลย ทำให้ชาวสยามประหลาดใจและ กราบทูลสมเด็จพระเพทราชา นักเรียน 3 คนกับทาส 1 คน ที่ตาย ก็มิได้ตายเพราะพิษไข้ ส่วนคนที่ป่วยนั้นก็หายป่วยทุกคน

ในปี พ.ศ.2239 ฝนแล้งยิ่งขึ้นจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม หลักฐานฝรั่งเศสระบุว่า "พวกราษฎรวิตกมาก เพราะเกิดมาไม่เคยเห็นสภาวะแห้งแล้งเช่นนี้ น้ำก็ยังไม่ขึ้นทั้งๆที่ควรจะขึ้นได้แล้ว ราคาข้าวแม้จะแพงเท่าใดก็ยังหาซื้อไม่ได้ พระเจ้ากรุงสยามได้พระราชทานของให้แก่ราษฎรเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้เบาบางลงบ้าง"

เมื่อเกิดโรคระบาดขึ้น ม.โปเก เล่าว่า บาทหลวงฝรั่งเศสได้ทำพิธีสวดมนต์ 7 วัน โดยเอาของที่ระลึกในศาสนา (รูปเคารพ) ออกแห่ ในช่วงนั้นก็ได้เกิดฝนตกลงมา ตลอดตั้งแต่ กันยายน - ตุลาคม - พฤศจิกายน และน้ำก็ขึ้นมากกว่าทุกปี นาน 2 เดือน ม.โปเก ไม่กล้ายืนยันว่าเป็นฝนตกเพราะพิธีกรรมของพวกคริสเตียน เพราะฝ่ายไทยก็เชิญพระพุทธรูปออกแห่เช่นกัน และพวกไทยเชื่อว่าฝนตกเพราะแห่พระพุทธรูป[3]

จดหมายของ ม. เดอ ซีเซ ถึง ผอ.คณะมิซซังต่างประเทศ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ.2255 ระบุว่าเกิดไข้ทรพิษขึ้นมาได้ 5-6 เดือนแล้ว และเวลานี้ก็กำลังเป็นกันอยู่ ผู้คนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ได้ล้มตายเป็นอันมาก คณะบาทหลวงฝรั่งเศสได้ทำการช่วยเหลือคนไข้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโรงเรียนสามเณร และต้องออกเดินทางไปตามในเมืองและหมู่บ้านต่างๆ เป็นการพิเศษ บางหมู่บ้านก็ห่างไกลจากเมือง 3-4 ไมล์ ทำให้เปลืองค่าใช้จ่ายมากขึ้น และยังต้องซื้อข้าวเลี้ยงพวกคนยากจนที่ไม่มีกำลังจะซื้อข้าวกินได้ เพราะเวลานี้ข้าวแพงอย่างที่สุด[4] เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาข้างต้นทำให้มีการขุดค้นพบโครงกระดูกจำนวน 200 โครงเศษในเขตโบสถ์ซานตู ดูมิงกู (ซานโต โดมินิกัน หรือโบสถ์ซานเปโตรในปัจจุบัน) ซึ่งอยู่ในชุมชนโปรตุเกส จากการวิเคราะห์ตัวอย่างโครงกระดูกหมายเลข 1-72 รวม 72 โครง โดยคณะของศาสตราจารย์นายแพทย์สุด แสงวิเชียร แห่งมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อจำแนกเพศ วัย เชื้อชาติ และพยาธิสภาพของโครงกระดูก ตามลักษณะความเป็นไปได้และความสมบูรณ์ของโครงกระดูกอาจสรุปผลได้ดังนี้[5]

ผลการวิเคราะห์โครงกระดูกทั้งสามลักษณะ(เพศ, วัย, เชื้อชาติ) จากตัวอย่างไม่ถึงร้อยละห้าสิบของจำนวนตัวอย่างกระดูกทั้งหมด (จำนวน 72 โครง) เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านสภาพความชำรุดของโครงกระดูกส่วนใหญ่เป็นสำคัญ สำหรับช่วงอายุของโครงกระดูกที่พบมากที่สุดอยู่ในวัย21-25 ปี โดยประมาณ โครงกระดูกที่อยู่ในกลุ่มที่ไม่สามารถกำหนดวัยได้นั้นมีโครงกระดูกของทารกจำนวน1-2โครง และโครงกระดูกที่อยู่ในวัยชรามากจำนวน 1โครงรวมอยู่ด้วย ส่วนผลจากการจำแนกเชื้อชาติดังสถิติข้างต้นนั้นเป็นการวิเคราะห์อย่างกว้างๆ และไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าเป็นโครงกระดูกของชาวโปรตุเกส ชาวไทย ชาวจีน ชาวญวน หรือคนครึ่งชาติที่เป็นลูกครึ่งโปรตุเกสผสมพื้นเมือง ที่เข้ารีตรับศีลล้างบาปเป็นคาธอลิกในหมู่บ้านโปรตุเกส ผลการวิเคราะห์พยาธิสภาพของโครงกระดูกบางโครง ได้พบโรคเกี่ยวกับโลหิตเป็นพิษซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้กะโหลกศีรษะของผู้ที่เป็นโรคนี้หนาขึ้นกว่าปกติ เนื่องจากการขยายตัวของกะโหลกศีรษะเพื่อสร้างเม็ดโลหิตแดงไปเลี้ยงเนื้อเยื่อสมอง โรคดังกล่าวพบในโครงกระดูกหลายโครงด้วยกัน แต่สาเหตุการตายของชาวคาธอลิกบางคนที่พบในชุมชน โปรตุเกสอาจจะไม่ใช่เนื่องมาจากสาเหตุของการเจ็บป่วยด้วยโรคดังกล่าวนี้ทั้งหมด จากหลักฐานเอกสารประวัติศาสตร์ เป็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่ทำให้ทั้งราษฎรไทยและผู้ที่อาศัยอยู่ในค่ายของชาวคริสตังล้มตายจำนวนมาก และมิได้หมายความว่าการตายของชาวคาธอลิกเหล่านี้มีสาเหตุมาจากไข้ทรพิษอย่างเดียวแต่ประการใด โครงกระดูกที่พบบางส่วนจะอยู่ในลักษณะของการถูกฝังซ้อนทับหรือเกยทับกัน การศึกษาท่าทางของโครงกระดูกที่อยู่ด้านล่างจึงทำได้อย่างไม่สมบูรณ์ แต่จากการที่โครงกระดูกเหล่านี้ถูกฝังอย่างเป็นระเบียบตามแนวทิศตะวันออก-ตะวันตกเหมือนกัน จึงไม่นับว่าจะเป็นตัวแปรที่อาจทำให้เกิดความสับสนหรือคลาดเคลื่อนในการตีความเกี่ยวกับประเพณีการฝังศพของชาวคาธอลิก เมื่อพิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะการฝังศพจากโครงกระดูกและโบราณวัตถุที่พบร่วมกับโครงกระดูกจากการขุดแต่งโบราณสถานซานเปโตร ประกอบกับการศึกษาคติความเชื่อเกี่ยวกับความตายและประเพณีการฝังศพของชาวคาธอลิกที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ทำให้มองเห็นถึงร่องรอยความเชื่อและพิธีกรรมทางด้านประเพณีการฝังศพของชาวคาธอลิกในชุมชนโปรตุเกส ซึ่งมีพื้นฐานมาจากการนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาธอลิก อาจกล่าวในชั้นต้นนี้ได้ว่าในสมัยอยุธยาการฝังศพของชาวคาธอลิกที่โบสถ์ซานตู ดูมินิกัน นิยมหันศรีษะของผู้ตายไปทางตะวันออก เพื่อให้ในหน้าของผู้ตายหันไปทางพระแท่นบูชาซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระผู้เป็นเจ้าภายในโบสถ์ ชาวคาธอลิกเชื่อว่าเมื่อถึงแก่ความตายแล้วร่างกายจะเน่าเปื่อยผุพังกลายเป็นดินไปตามเดิม ส่วนวิญญาณจะถูกพระเจ้าพิพากษาทันที โดยพระองค์จะทรงตัดสินให้วิญญานของผู้ที่ปฏิบัติตนเป็นคริสตังที่ดีไปอยู่ในสวรรค์ เสวยสุขร่วมกับพระเจ้าและบรรดานักบุญทั้งหลาย ให้วิญญาณที่มีโทษบาปไปอยู่ในสถานไฟชำระหรือนรก ตามความผิดที่มีต่อพระเจ้า และเมื่อถึงวันสิ้นโลกพระเจ้าจะทรงพิพากษาวิญญาณทั้งหมดพร้อมกันอีกครั้งหนึ่ง พระองค์จะทรงประทานให้วิญญาณที่บริสุทธิ์ ได้กลับฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เพื่อที่จะได้อยู่ร่วมกับพระเจ้าและบรรดานักบุญบนสวรรค์ชั่วนิรันดร์ตามความเชื่อในศาสนา

สำหรับกรณีที่มีโครงกระดูกของผู้ใหญ่บางโครงที่ฝังบริเวณใต้พื้นมุขหรือระเบียงหน้าโบสถ์ (โครงกระดูกหมายเลข 149,154) หันศีรษะไปทางทิศตะวันตกนั้น อาจจะเนื่องมาจากผู้ตายมีสถานะเป็นบาทหลวง โดยสันนิษฐานจากกฎเกณฑ์การตั้งศพที่บ่งไว้ชัดเจนว่า ให้วางศพหันหน้าไปทางทิศที่เขาเคยหันหน้าเมื่ออยู่ในที่ชุมนุมพิธีทางศาสนา ซึ่งก็หมายความว่าผู้ที่เคยหันหน้าเข้าหาพระแท่นขณะที่ยังมีชีวิตอยู่คือ สัตบุรุษ เมื่อตายแล้วจะต้องวางศพให้หันหน้าเข้าหาพระแท่น ส่วนผู้ที่เคยยืนหันหลังให้พระแท่นขณะอยู่ในที่ชุมนุมพิธีขณะที่ยังมีชีวิตอยู่คือบาทหลวง เมื่อตายแล้วจึงต้องวางศพให้หันหน้ามาทางสัตบุรุษเช่นเดียวกับเมื่อยังมีชีวิตอยู่ ครั้นถึงเวลาประกอบพิธี ศพก็คงจะถูกฝังอยู่ในลักษณะของการหันศีรษะไปทางพระแท่นซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของจุดที่ฝังศพ

โครงกระดูกบางโครงที่พบว่ามีลักษณะเข่าชิด (โครงกระดูกหมายเลข5) ตลอดไปถึงแข้ง (ซึ่งชำรุดขณะขุดค้น) คล้ายกับการถูกมัดตราสัง สันนิษฐานว่าอาจเนื่องมาจากการนำเอาธรรมเนียมพื้นเมืองมาใช้ตามความเคยชิน[6] ทำนองเดียวกับการพบตุ๊กตาเสียกบาลร่วมกับโครงกระดูกที่38 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงคติความเชื่อทางด้านไสยศาสตร์ที่แฝงอยู่ในสำนึกของชาวคาธอลิกพื้นเมือง โบราณวัตถุบางชิ้นที่พบร่วมกับโครงกระดูก อันเป็นสิ่งของและรูปเคารพทางศาสนาคริสต์และเครื่องประดับ สะท้อนให้เห็นถึงคติความเชื่อทางศาสนาและค่านิยมทางสังคมบางอย่างของชาวคริสตังในชุมชนโปรตุเกสว่ามีการนำเหรียญรูปเคารพของพระเยซู พระแม่มารีอา นักบุญยอแซฟ และรูปเคารพของพระสันตปาปา หรือนักบุญอื่นๆ คล้องคอประจำตัวไว้ เพื่อแสดงถึงความศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้าซึ่งคล้ายกับคติเรื่องการห้อยพระพิมพ์ของชาวพุทธ โครงกระดูกบางโครงซึ่งพบเครื่องทอง กำไล เศษผ้า และกระดุม สันนิษฐานว่าเป็นเครื่องประดับประจำตัวและเครื่องนุ่งห่มของผู้ตายที่ญาติพี่น้องของผู้ตายได้แต่งตัวให้ศพ เพื่อให้สภาพของศพเรียบร้อยภูมิฐาน ส่วนกางเขนที่พบนั้นอาจจะเป็นของที่อยู่ในสายประคำ หรือเป็นกางเขนที่ใช้คล้องคอหรือเคยกลัดติดปกเสื้อของผู้ตายก็ได้
หลักฐานเอกสารระบุว่าหลังเหตุการณ์จลาจลในปี พ.ศ.2231 บาทหลวง หลุยส์ (Luis de La Mère de Dieu) ถูกจับจากเมืองตะนาวศรี ส่งเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา พร้อมด้วยบาทหลวงเปเรซชาวโปรตุเกส บาทหลวงหสุยส์ได้ถึงแก่กรรมในเรือระหว่างการเดินทางมายังเมืองพระนครศรีอยุธยา ส่วนบาทหลวงเปเรซถูกคุมขังและได้รับจดหมายแต่งตั้งให้เป็นมุขนายกมิซซังจากนครวาติกัน ขณะนั้นพวกเข้ารีตฝรั่งเศสถูกห้ามมิให้ใช้โบสถ์เพื่อประกอบพิธีทางศาสนา[7] บาทหลวงฝรั่งเศสจึงขอให้หัวหน้าคณะ เยซูอิตชื่อบาทหลวงมัลโดนาดชาวโปรตุเกส เป็นผู้ทำพิธีฝังศพบาทหลวงหลุยส์ ซึ่งยังคงอยู่ในเรือ แต่ปรากฏว่าได้มีบาทหลวงเอศเตโว แห่งคณะโอกุศแตง (ออกัสติน) กับบาทหลวงซิลเวศก์ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะดูมินิกัน มาแย่งเอาศพของบาทหลวงหลุยส์ไปต่อหน้าบาทหลวงมัลโดนาด บาทหลวงมัลโดนาด และ ม.โปมา พยายามอธิบายเหตุผล ของตนให้ทราบ แต่บาทหลวงเอสเตโวและบาทหลวงซิลเวศก์กลับนำศพบาทหลวง หลุยส์ไปฝังไว้ยังโบสถ์ซานตูดูมินิกัน[8]โดยไม่ยอมฟังคำอธิบายหลักฐานข้างต้นนี้นอกจากจะบ่งชี้ให้เห็นถึงธรรมเนียมการฝังศพของบาทหลวงภายในหลุมฝังศพในโบสถ์แล้วยังสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลทางสังคมของชุมชนโปรตุเกสในขณะนั้นอีกด้วย

การตั้งศพไว้เพื่อประกอบพิธีทางศาสนาของชาวคาธอลิกในชุมชนโปรตุเกส โดยปกติอาจจะไม่ใช้เวลานานเกินไปนักทั้งนี้เนื่องจากระดับของวิทยาการด้านการรักษาสภาพของศพมิให้เน่าเหม็นยังอยู่ในขั้นต่ำ สภาพของศพที่ตั้งไว้นานเกินกว่า 1 วันขึ้นไป จึงอาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรือนำความกระอักกระอ่วนใจให้แก่ผู้ที่มาร่วมพิธี ถึงแม้ว่าอาจจะมีการรับเอาธรรมเนียมการรักษาสภาพศพจากชาวพื้นเมือง โดยการกรอกสารปรอทเข้าไปทำลายลำไส้ของผู้ตายให้ไหลออกมาทางทวารหนัก เพื่อจะได้ยืดเวลาการประกอบพิธีออกไปชั่วระยะหนึ่งจนกว่าจะมีความพร้อมในการฝังศพ จากหลักฐานของลาลูแบร์ซึ่งเข้ามากรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ.2230[9] ในกรณีที่ผู้ตายถึงแก่กรรมด้วยโรคไข้ทรพิษ ซึ่งระบาดระหว่างปี พ.ศ.2238-2239 นั้นไม่ถือเป็นอุปสรรคในการประกอบพิธีทางศาสนาให้แก่ผู้ตายเลย[10] ญาติพี่น้องอาจใช้ปูนขาวเทรองพื้นลงในหีบศพชั้นหนึ่งก่อนที่จะนำศพบรรจุ แล้วเทปูนขาวพอกทับศพอีกครั้งหนึ่งก่อนที่จะปิดฝาโลงทันที เพื่อป้องกันการระบาดของโรคดังกล่าว ปูนขาวมีคุณสมบัติที่ดีในการดับกลิ่นด้วย อุปสรรคที่ทำให้การประกอบพิธีทางศาสนาในการฝังศพของชาวคาธอลิกต้องกระทำอย่างคนนอกศาสนาเกิดจากเหตุการณ์ความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงระหว่างศาสนาพุทธกับรูปแบบในการสอนศาสนาของบาทหลวงคาธอลิกในสมัยพระเจ้าท้ายสระทำให้มีพระบรมราชโองการจารึกบนแผ่นหิน ห้ามมิให้บาทหลวงสอนศาสนาเป็นภาษาไทยและภาษาบาลีแก่ชาวไทย ลาว มอญ และห้ามมิให้ทำการใดๆ อันเป็นการดูหมิ่นศาสนาพุทธ เป็นเหตุให้การประกอบพิธีทางศาสนาให้แก่ชาวคริสตังพื้นเมืองต้องทำอย่างลับๆ แม้กระทั่งเมื่อตายแล้วก็ต้องฝังศพอย่างคนนอกศาสนาโดยไม่มีบาทหลวงไปประกอบพิธีให้ นอกจากการไปเสกหลุมฝังศพในตอนกลางคืนก่อนที่จะทำการฝังศพเท่านั้น[11] บทสวดมนต์ภาวนาและบทเพลงสวดที่ใช้ในพิธีปลงศพอาจใช้ทั้งภาษาละตินและภาษาไทยแม้จะไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน แต่หลักฐานคำแปลบทปาแตร์นอสแตร์กับบทอาแวเป็นภาษาไทยถ่ายทอดผ่านอักษรโรมัน ในบันทึกของลาลูแบร์เป็นสิ่งบ่งชี้ได้ดีว่าในสมัยอยุธยาตอนปลายมีการแปลบทสวดและบทเพลงสวดออกเป็นภาษาไทยแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียกพระแม่มาเรียว่า "ซานตา มาเรีย (Santa Maria)" นั้นเป็นคำที่ใช้ในภาษาโปรตุเกสนั่นเอง[12]
การอ้างอิง
[1] ประชุมพงศาวดาร เล่ม21, หน้า97-100.
* หมายถึงการสร้างข่าวลือไปในทางร้ายๆ
[2] ประชุมพงศาวดาร เล่ม21, หน้า 100-103.
[3] เรื่องเดียวกัน, หน้า100-103.
[4] ประชุมพงศาวดารเล่ม21, หน้า317-318.
[5] ศจ.นพ.สุด แสงวิเชียร, "รายงานเบื้องต้นของโครงกระดูกสมัยอยุธยาที่พบที่สุสานบ้านนักบุญเปโตร," ชาวโปรตุเกสในยุคกรุงศรีอยุธยา (กรมศิลปากรจัดพิมพ์ใน โครงการปรับปรุงหมู่บ้านโปรตุเกส จ.พระนครศรีอยุธยา , 2530), หน้า46-48.
[6] พิรักษ์ ชวนเกรียงไกร, "การฝังศพของชาวคาธอลิกที่หมู่บ้านโปรตุเกส," มติชนรายวัน (28 สิงหาคม 2527) :11.
[7] ประชุมพงศาวดารเล่ม21 , หน้า32-36.
[8] เรื่องเดียวกัน , หน้า34-35.
[9] ชิมอง เดอ ลาลูแบร์, เรื่องเดิม, หน้า 545-546.
[10] สัมภาษณ์บาทหลวงวิวัฒน์ แพร่ศิริ ที่สำนักมิสซังฯ , 15 กันยายน 2527 . อ้างจาก, อนุชา ศรีวัฒนสาร , เรื่องเดิม, หน้า87.
[11] สำนักสารสาส์น, ประวัติพระศาสนจักร, (พระนคร : ไทยหัตถการพิมพ์, 2510) , หน้า267
[12] ชิมอง เดอ ลาลูแบร์, เรื่องเดิม, หน้า130-132.

วันศุกร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

บทบาทในการเผยแพร่ศาสนาโรมันคาธอลิกของชุมชนชาวโปรตุเกส

โดย พิทยะ ศรีวัฒนสาร

การขยายตัวของโปรตุเกสในเอเชียได้จำกัดอยู่เพียงอำนาจทางทหารและการเมือง หากแต่ยังมีการเผยแพร่ศาสนาเพื่อการครอบงำจิตใจ (spiritual conquest - conquesta espiritual) หลักฐานของดิอูกู โกวตุ ระบุว่ากษัตริย์โปรตุเกสทรงมุ่งยึดครองดินแดนด้วยวัตถุประสงค์ทั้งทางโลกและทางธรรม (temporal and spiritual) ซึ่งมิอาจแยกจากกันได้[1] ขณะนั้นโปรตุเกสเป็นประเทศที่ได้รับประโยชน์จากการเผยแพร่ศาสนาเพื่อทำสงครามครูเสดต่อต้านศาสนาอิสลาม ตั้งแต่ปี พ.ศ.1862 โปรตุเกสมีกองทหารเกณฑ์เพื่อสงครามครูเสด (national crasading militia) เรียกว่า "The Order of Christ" เจ้าชายดอง เอนริก มกุฎราชกุมารแห่งโปรตุเกสทรงทำให้กองทหารเพื่อสงครามครูเสดกลายเป็นผู้เผยแพร่ศาสนาแทนการทำสงคราม ครั้นเจ้าชายพระองค์นี้สิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ.2003 กษัตริย์โปรตุเกสจึงทรงควบคุมคณะเผยแพร่ศาสนานี้ด้วยพระองค์เอง ช่วงที่มีการขยายอำนาจออกไปยังแอฟริกาตอนกลางพุทธศตวรรษที่20 ทางการโปรตุเกสได้นำชื่อกองทหารครูเสดนี้มาใช้ในการสอนชาวคริสต์เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของการขยายดินแดนโดยได้รับการอนุญาตและการสนับสนุนจากโรมเป็นอย่างดี การทำสงครามศาสนาและการเผยแพร่ศาสนาซึ่งเป็นนโยบายของโปรตุเกสที่ใช้ในการสำรวจดินแดนได้รับการยอมรับจากพระสันตปาปา อิวเยนนิอุสที่ 4 (Pope Eugenius IV) ประมาณปี พ.ศ.1985 เมื่อทรงยืนยันแต่งตั้งเจ้าชาย ดอง เอนริกให้เป็นผู้บัญชาการดิ ออร์เดอร์ ออฟ คริสต์ "เพื่อความสำเร็จของการยึดครองและค้นพบดินแดนต่างๆ" หลังจากนั้นความสัมพันธ์ระหว่างศาสนาจักรกับราชสำนัก จึงถูกเรียกว่า เดอะ ปาดรูอาดู (The Padroado - The Portuguese patronage) โดยการเผยแพร่ศาสนาอยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ของกษัตริย์โปรตุเกส หลักฐานพระสันตโองการ (the papal bull) ของพระสันตปาปาซิกซ์ตุสที่4 (Sixtus IV) ลงวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2024 ระบุว่า การค้นพบดินแดนจากการเดินเรือที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาก่อนหน้านี้เล็กน้อย เป็นสิทธิโดยชอบธรรมของเรือโปรตุเกส ชาวโปรตุเกสเป็นเจ้าของดินแดนที่ถูกค้นพบทางทะเลและกำลังจะถูกค้นพบโดยชอบธรรม ชาวโปรตุเกสสามารถค้าขายกับคนนอกศาสนาหรือชาวมุสลิมได้โดยมีข้อแม้ว่าห้ามค้าขายอาวุธและกระสุนดินดำแก่คนเหล่านั้น และชาวโปรตุเกสสามารถก่อตั้งโบสถ์ วัด และศาสนสถานได้ โดยนักบวชซึ่งปกครองสถานที่ดังกล่าวต้องมีอำนาจทางศาสนาอย่างเต็มที่ รวมทั้งการขับชาวคริสต์ออกจากศาสนาด้วย นอกจากนี้โปรตุเกสยังมีอำนาจทางศาสนาตั้งแต่แหลมบูชาดอร์ (Cape Bojador) จนถึงอินเดีย[2] ด้วยเหตุนี้ "เดอะ ปาดรูอาดู" จึงครอบคลุมทั้งสิทธิทางกฎหมายสิทธิพิเศษ และหน้าที่ต่างๆซึ่งกษัตริย์โปรตุเกสทรงได้รับจากพระสันตปาปาในการอุปถัมภ์ศาสนาและกิจการเกี่ยวกับนักบวช ตั้งแต่แอฟริกา เอเชีย จนถึงบราซิล ตราบใดที่พระสันตโองการฉบับนี้ได้รับการยอมรับ ตราบนั้นโปรตุเกสก็ยังคงได้รับสิทธิพิเศษและสิทธิโดยชอบธรรมในการสำรวจดินแดนและการค้าขาย กับดินแดนที่ถูกค้นพบใหม่ซึ่งนักเดินเรือชาวโปรตุเกสเดินทางไปเยือน

การเข้ามาอาศัยในกรุงศรีอยุธยาตามของชาวโปรตุเกสตามสัญญาพระราชไมตรีระหว่างสยามกับโปรตุเกสเมื่อ พ.ศ.2059 จะมีบาทหลวงชาวโปรตุเกสเป็นผู้นำในการปฏิบัติศาสนกิจหรือไม่ ยังไม่มีหลักฐานยืนยัน จนกระทั่งเวลาผ่านไปเกือบหนึ่งศตวรรษจึงปรากฏว่า พ่อค้าชาวโปรตุเกสที่มาตั้งหลักแหล่งในกรุงศรีอยุธยา ได้เรียกร้องไปเรียนยังมุขนายกมิสซังโปรตุเกสแห่งมะละกา ให้ส่งบาทหลวงไปยังกรุงศรีอยุธยา[3] ดังนั้นในปี พ.ศ.2108 บาทหลวงแฟร์นันดู ดึ ซานตา มาเรีย (P.Fernando de Santa Maria) มุขนายกมิสซังแห่งมะละกาจึงส่งบาทหลวงคณะดูมินิกันกับบาทหลวงคณะฟรานซิชกันรวม 2 คน เดินทางเข้ามาเป็นผู้นำทางศาสนาให้แก่ชาวค่ายโปรตุเกสในกรุงศรีอยุธยาใช้เวลาเดินทางจากมะละกาเข้ามากรุงศรีอยุธยา 2 เดือน บาทหลวงทั้งสองได้เขียนรายงานว่าไม่พบร่องรอยของการเผยแพร่ศาสนาคริสต์[4] ขณะนั้นตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ*

จากนั้นบาทหลวงชาวโปรตุเกสทั้งสองคนได้ออกเผยแพร่ศาสนาไปทั่วทั้งพระนครศรีอยุธยา เมื่อเข้าไปในเขตค่ายมุสลิมทางทิศใต้และตะวันตกของชุมชนโปรตุเกส บาทหลวงเจรูนิมู ถูกพวกมุสลิมฆ่าตาย[5] ส่วนบาทหลวงเซบัสติอาวได้รับบาดเจ็บ ต่อมาได้เดินทางกลับมะละกา และย้อนเข้ามาอีกครั้งในปี พ.ศ.2110 และถูกชาวมุสลิมฆ่าตายในปี พ.ศ.2112 ทำให้การเผยแพร่ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกของบาทหลวงโปรตุเกสแก่ชาวสยามและชาวพื้นเมืองในกรุงศรีอยุธยาไม่สู้จะได้ผล มิหนำซ้ำยังถูกกลั่นแกล้งและถูกต่อต้านจากชาวมุสลิมในค่ายมากัสซาร์ทางทิศใต้ของค่ายโปรตุเกสและชาวมุสลิมในค่ายมะลายูหรือค่ายมาเลย์ เนื่องจากชาวมุสลิมเหล่านั้นโกรธแค้นต่อการที่โปรตุเกสเข้าครอบครองมะละกา ในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวร (พ.ศ.2133-2148) เป็นช่วงที่ประชากรในค่ายโปรตุเกสขยายตัวมากขึ้น พวกเขามีส่วนในการรับราชการสนองพระมหากรุณาธิคุณอย่างซื่อสัตย์จึงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัย โดยเฉพาะบาทหลวงและทหารอาสาชาวโปรตุเกส ชุมชนของพวกเขาจึงได้รับการชื่นชมและมีผู้เข้ารีตกันมาก ทำให้ขุนนางไทยหลายคนไม่พอใจเมื่อเกิดเหตุการณ์หญิงไทยผู้หนึ่งถูกชาวโปรตุเกสรังแก บรรดาขุนนางจึงกราบทูลสมเด็จพระนเรศวรว่าบาทหลวงชาวโปรตุเกสเป็นผู้ยุยงให้เกิดเรื่อง ต่อมาเกิดเหตุการณ์หญิงไทยผู้หนึ่งเปลี่ยนศาสนาโดยไม่ได้รับความยินยอมจากสามี สามีของหญิงนั้นไม่พอใจถึงกับบุกเข้าไปฆ่าบาทหลวงซึ่งกำลังทำพิธีมิสซาที่โบสถ์ภายในค่ายโปรตุเกส จึงถูกพวกเข้ารีตโปรตุเกสฆ่าล้างแค้นเสียในคราวเดียวกัน ภายหลังบาทหลวงจอร์เย (P.Gorgé) ได้นำความกราบบังคมทูลฯให้สมเด็จพระนเรศวรทรงทราบก็ทรงพิโรธยิ่งนัก บาทหลวงจอร์เยและพวกคริสตังจึงตัดสินใจลงเรือ สเปนเพื่อออกไปยังมะละกา แต่ถูกติดตามโจมตีกลางทาง บาทหลวงจูอาว ดึ ซาน ปึดรู (Joaô de San Pedro) ถูกฆ่าตาย บาทหลวงจูอาว มัลโดนาดู กับบาทหลวงอาฟองโซ ซึมึนึช (P. Afonso Ximenes) ถูกจับได้ในอ่าวไทย แล้วมีพระบรมราชโองการให้ประหารชีวิต บาทหลวงจอร์เยเสียชีวิตระหว่างทาง ในปีเดียวกันนี้เองผู้ว่าราชการโปรตุเกสแห่งเมืองเมาะตะมะ ได้มีสาส์นกราบบังคมทูลว่าบาทหลวงเมลชิอูร์ ดึ ครูซ (P.Melchiur de Cruz) จะเดินทางเข้ากรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนเรศวรจึงโปรดให้นำตัวเข้าเฝ้า และโปรดให้สอนศาสนาได้ อีกทั้งยังได้พระราชทานเงินให้สร้างโบสถ์ใหม่ใน พ.ศ.2145[6]

จดหมายของ ฟรานซิสโก เตโยชาวสเปน เมื่อ 12 กรกฎาคม พ.ศ.2142 ถวายพระเจ้าฟิลิปเปที่2 ระบุถึงการส่งทูตชื่อกัปตันฆวน เตโย (Joan Tello) พร้อมคณะไปเฝ้าสมเด็จพระนเรศวร เป็นการตอบพระราชสาส์น ฟรานซิสโก เตโย ได้ทราบจากกัปตัน ฆวน เตโยว่า

"…พระเจ้ากรุงสยามทรงมีนักบวชนิกายโดมินิกันอยู่ในพระราชวัง เป็นคนที่ทางเมืองมะละกาส่งมาเพื่อประกอบพิธีกรรมตามลัทธิปฏิบัติให้แก่ชาวคริสต์ที่มากับเรือจากอินเดียด้วยธุรกิจการค้า โดยเห็นว่าเป็นโอกาสอันดียิ่ง และการเปิดการค้านั้นย่อมเป็นการเริ่มต้นการเผยแพร่พระศาสนาในราชอาณาจักรนี้ "[7]

นอกจากนี้หลักฐานของสเปน ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2145 กล่าวถึงการที่สมเด็จพระนเรศวรทรงขอให้ส่งบาทหลวงคณะดูมินิกันจำนวน 4 คนไปประจำอยู่ในสยาม[8]

ในรัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ มีชาวสยามเพียงเล็กน้อยที่เปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์บันทึกความทรงจำของคอนสแตนติน ฟอลคอน ถวายแด่พระเจ้าหลุยส์ที่14 แนบไปกับจดหมายของบาทหลวงตาชารด์ ลงวันที่30 สิงหาคม พ.ศ.2231 กราบทูลความเป็นไปของศาสนาคริสต์ในกรุงศรีอยุธยาและประเทศใกล้เคียงว่า

" ที่กรุงสยามนั้นมีวัดของชาวโปรตุเกสอยู่สองวัด ประกอบด้วยคริสตังจำนวนมากกว่าสี่พันคน วัดทั้งสองนี้อยู่ภายใต้การปกครองของสังฆราชแห่งเมืองมะละกา…"[9]

เมื่อมะละกาตกเป็นของฮอลันดาในปี พ.ศ.2140[10] การปกครองโบสถ์ทั้งสองของชาวโปรตุเกสจึงอยู่ในอำนาจของมุขนายกมิสซังแห่งเมืองกัว เช่นเดียวกับโบสถ์ทุกแห่งในอาณานิคมของโปรตุเกส ครั้นกรุงศรีอยุธยาได้เจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศฝรั่งเศสก็มีบาทหลวงคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีสเดินทางเข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกในปี พ.ศ.2205 และ พ.ศ.2207 จึงเกิดปัญหาการแข่งขันกันสอนศาสนาระหว่างฝรั่งเศสกับโปรตุเกส ดังที่ฟอลคอน รายงานว่าเมื่อมุขนายกมิซซังฝรั่งเศสคือ ม.เดอ เบริต และ ม. เดลิโอโปลิส เดินทางมาถึงอยุธยา บุคลลทั้งสองได้เริ่มต้นไปเยือนชาวคริสต์ในชุมชนโปรตุเกสเป็นครั้งแรกด้วยการแต่งกายแบบสามัญชน ปรากฏว่าได้ถูกขับไล่และถูกเหยียดหยามจากชาวโปรตุเกส ต้องรีบหนีกลับออกมา[11] ต่อมามุขนายกมิสซังแห่งเมืองกัวของโปรตุเกส มีจดหมายมายังบาทหลวงโปรตุเกสว่า ห้ามมิให้คริสตังในการปกครองของโปรตุเกสอยู่ภายใต้โอวาทหรือภายใต้การปกครองของบาทหลวงจากคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส ทำให้ทั้งสองฝ่ายมีเรื่องบาดหมางกันเนืองๆ ทางด้านราชสำนักสยามนั้น สมเด็จพระนารายณ์ทรงสนับสนุนการเผยแพร่ศาสนาของบาทหลวงฝรั่งเศส เนื่องจากทรงเล็งเห็นความสำคัญในการคานอำนาจของฝรั่งเศสที่มีฮอลันดาซึ่งกำลังมีอำนาจในภูมิภาคนี้ บทบาทในการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในกรุงศรีอยุธยาของชาวโปรตุเกสจึงลดน้อยลง บาทหลวงชาวโปรตุเกสได้แต่ปฏิบัติศาสนกิจร่วมกับคริสตังที่ขึ้นตรงต่อโบสถ์ทั้งสองของหมู่บ้านโปรตุเกสอย่างสงบภายใต้การบังคับบัญชาของมุขนายกแห่งคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส[12] ตามคำสั่งของสำนักวาติกันในปี พ.ศ.2212 มีใจความว่า บาทหลวงและนักบวชจะต้องเคารพบรรดามุขนายกมิสซัง ในปี พ.ศ.2217 อธิการบดีคณะเจซูอิตได้สั่งให้นักบวชในคณะต้องปฏิบัติเช่นเดียวกัน[13] แม้คำสั่งดังกล่าวจะก่อให้เกิดความสงบขึ้นมาบ้างแต่บาทหลวงชาวโปรตุเกสและบาทหลวงชาวฝรั่งเศส ยังคงกระทบกระทั่งกันอยู่ประปรายเนื่องจากเหตุผลทางด้านการเมือง การค้า และการทูต ที่ใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือในการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ของรัฐบาลของทั้งสองฝ่าย เมื่อสิ้นสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ บทบาทสำคัญในการเผยแพร่ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาธอลิกในกรุงศรีอยุธยาก็ตกเป็นของบาทหลวงคณะมิซซังต่างประเทศชาวฝรั่งเศสอย่างสิ้นเชิง คณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส(Mission Étrangère de Paris) ตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2103 ขึ้นตรงต่อกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อแห่งกรุงโรม การทำงานของบาทหลวงเหล่านี้เริ่มด้วยการสร้างโบสถ์ โรงพยาบาล และสามเณราลัย เพื่อฝึกหัดผู้ที่จะเป็นบาทหลวงตามนโยบายการฝึกบาทหลวงชาวพื้นเมืองเพื่อช่วยทำงานเผยแผ่ศาสนาให้กว้างขวางยิ่งขึ้น สามเณราลัยหรือโรงเรียนฝึกบาทหลวงจะรับเด็กอื่นๆ เข้ามาเรียนด้วยและตั้งอยู่ที่เดียวกับโบสถ์ ซึ่งอยู่ที่หมู่บ้านหนองปลาเห็ดด้านตะวันตกของวัด
พุทไธสวรรค์[14] ชาวฝรั่งเศสเรียกว่า "แคมป์เซนต์โยเซฟ"[15] สมเด็จพระนารายณ์ได้พระราชทานเงินส่วนพระองค์ให้สร้างโบสถ์ ต่อมาได้ย้ายสามเณราลัยไปอยู่ที่ตำบลมหาพราหมณ์ห่างจากกรุงศรีอยุธยาประมาณ 10 กิโลเมตร บุคคลที่เข้าเรียนมีตั้งแต่อายุ 10 ขวบเศษขึ้นไป ถ้าหากมีความพร้อมจะได้รับการบวชเป็นบาทหลวง ซึ่งมีอายุประมาณ 23 ปีเป็นอย่างน้อย สามเณรเหล่านั้นมาจากประเทศต่างๆในเอเชีย แม้กระทั่งจากจีนก็มี* การดำเนินการสอนศาสนาในช่วงแรกประสบปัญหาความขัดแย้งภายในกันเอง ระหว่างบาทหลวงคณะเยซูอิตชาวฝรั่งเศสกับบาทหลวงคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส และความขัดแย้งระหว่างบาทหลวงชาวโปรตุเกสกับบาทหลวงชาวฝรั่งเศสซึ่งเกี่ยวพันกับปัญหาทางด้านการเมืองเพราะมุขนายกมิสซังแห่งเมืองกัวของโปรตุเกสต้องการปกครองคริสตังในกรุงศรีอยุธยา ทำให้ฝ่ายปกครองคริสจักรแห่งกรุงโรมต้องแก้ปัญหาโดยการตั้งเทียบสังฆมณทลสยามขึ้นในปี พ.ศ.2212 และมอบหมายให้มุขนายกมิซซังฟรองซัวส์ ปัลลู (Fronçoir Pallu) และมุขนายกมิสซังปิแอร์ ลังแบร์ต เดอ ลามอตต์ (Piere Lambert de Lamotte) แต่งตั้งมุขนายกมิสซังขี้นองค์หนึ่งปกครองเทียบสังฆมลฑลสยาม มุขนายกมิสซัง ผู้นั้นได้แก่ มุขนายกมิสซังหลุยส์ ลาโน (Luis Lano) มีบาทหลวงชาวฝรั่งเศส 12 คน สามเณร 1 คน อยู่ใต้การปกครอง นอกจากนั้นมีบาทหลวงชาวโปรตุเกสจำนวนหนึ่งปกครองชาวโปรตุเกสด้วยกันเองที่กรุงศรีอยุธยา และบาทหลวงคณะฟรานซิสกัน 2 คนภายใต้การบังคับบัญชาของมุขนายกมิสซังลาโน ตามคำสั่งของพระสันตปาปาแห่งสำนักวาติกัน[16] การเผยแผ่ศาสนาให้แก่คนไทยไม่ค่อยได้ผลนัก มีคนไทยบางส่วนเท่านั้นที่เข้ารีตนับถือศาสนาคริสต์ แม้ว่าบาทหลวงจะพยายามในทุกโอกาสเพื่อทำให้คนเป็นคริสต์ให้มากที่สุดก็ตาม สาเหตุที่ทำให้ชาวไทยสมัยกรุงศรีอยุธยาเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์กันน้อยมาก เพราะยังยึดมั่นในศาสนาและประเพณีดั้งเดิม การเปลี่ยนศาสนาก็เท่ากับต้องออกจากสังคมเดิมไปอยู่ในสังคมใหม่ที่ค่ายคริสตังของโบสถ์เซนต์โยเซฟ หรือชุมชนคริสตังอื่นๆ เช่น ค่ายโปรตุเกส เป็นต้น ซึ่งนับเป็นเรื่องยุ่งยากพอสมควร ดังนั้นมุขนายกมิซซังหลุยส์ ลาโน จึงได้ศึกษาภาษาไทย ภาษาบาลี และพุทธศาสนา เพื่อทำความรู้จักกับวัฒนธรรมและประเพณีไทย เพื่อช่วยให้สามารถอธิบายหลักธรรมทางศาสนาคริสต์ให้แก่คนไทยได้ดียิ่งขึ้น บาทหลวงผู้อื่นได้เขียนหนังสือหลักคำสอนคริสตังและหนังสือสวดภาวนาเป็นภาษาไทย ได้แก่ หนังสือปุจฉาวิสัชนาเป็นต้น หนังสือดังกล่าวมีเนื้อหาเกี่ยวกับการถกเถียง หักล้างความคิดปรัชญาทางพุทธศาสนาว่าไม่ถูกต้อง และยกหลักคำสอนทางศาสนาคริสต์ว่ามีเหตุผลเหนือกว่า[17] อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ทางการสยามใช้มาตรการรุนแรงเพื่อต่อต้านการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระและสมเด็จพระเจ้าบรมโกศอย่างต่อเนื่อง สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้คนที่นับถือศาสนาคริสต์เป็นอย่างมาก ในสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่2 โบสถ์ในชุมชนโปรตุเกสถูกเผาจนวอดวายไปพร้อมกับสิ่งก่อสร้างอื่นๆในกรุงศรีอยุธยา
การอ้างอิง
[1] Suthachai Yimprasert, op.cit., p.49.
[2] Ibid., p.50.
[3] อ้างจากนันทิยา สว่างวุฒิธรรม, เอกสารประกอบการสัมมนาฯที่หอประชุมมหาวิทยาลัยศิลปากร, หน้า17
[4] สำนักสารสาส์น, ประวัติพระศาสนจักรสากลและพระศาสนจักรในประเทศไทย (พระนคร : ไทยหัตถ์การพิมพ์ , 2510), หน้า195.
* นันทิยา สว่างวุฒิธรรม, เรื่องเดิม, หน้า17 บาทหลวงทั้งสองชื่อ เจรูนิมู ดึ ครูซ (P.Jeronimo De Cruz) และเซบัสติอาว ดึ โกวตู (P.Sebastião de Couto) รายงานของบาทหลวงทั้งสองตรงกับหลักฐานของนิโคลาส แชร์แวส แต่กระนั้น ยังมีหลักฐานอีกชิ้นหนึ่งของบาทหลวงมาชกาเรนญาช (Mascarenhas) จากญี่ปุ่น เมื่อกุมภาพันธ์ พ.ศ.2107 กล่าวถึงนโยบายการเผยแพร่ศาสนาในคาบสมุทรอินโดจีนและกรุงศรีอยุธยา และระบุจำนวนคริสตังในสมัยกรุงศรีอยุธยาว่ามีประมาณ 2,000 คนขณะนั้นตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
[5] สำนักสารสาส์น, เรื่องเดิม, หน้า196.
[6] เดโช อุตรนที, "ความสัมพันธ์ของชาวโปรตุเกสกับประเทศสยาม" วารสารแถลงงานประวัติศาสตร์ เอกสารโบราณคดี 1 (กันยายน : 2510), หน้า52-58.
[7] เรื่องเดียวกัน, หน้า63.
[8] จันทร์ฉาย ภัคอธิคม, เรื่องเดิม, หน้า65.
[9] กรมศิลปากร, การเดินทางของบาทหลวงตาชารต์ เล่ม1-3 (กรุงเทพ: ศิวพร, 2521), หน้า52.
[10] ไพฑูรย์ มีกุศล, ประวัติศาสตร์ไทย (มหาสารคาม : ปรีชาการพิมพ์, 2521) , หน้า239.
[11] กรมศิลปากร, การเดินทางของบาทหลวงตาชารต์ เล่ม 1-3, หน้า27.
[12] ราชบัณฑิตยสถาน, จดหมายเหตุเรื่องส่งราชฑูตไทยไปกรุงโรมครั้งที่2 ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (กรุงเทพ : สามมิตร, 2515), หน้า35.
[13] สำนักสารสาส์น, ประวัติพระศาสนาจักรสากล และพระศาสนจักรในประเทศไทย (พระนคร : ไทยหัตถการพิมพ์, 2510)
[14] ขจร สุขพานิช, เรื่องเดิม, หน้า177.
[15] สมศรี เอี่ยมธรรม (แปล), เรื่องเดิม, หน้า38-39.
* ศาสนจักรได้เลิกใช้ภาษาละตินในการสอนวิชาดังกล่าวเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้วภายหลังสังคยานาวิติกัน
[16] สำนักสารสาส์น, เรื่องเดิม, หน้า218.
[17] เสรี พงศ์พิศ, คาทอลิกกับสังคมไทย (กรุงเทพมหานคร: เจริญวิทย์การพิมพ์, 2527), หน้า34.