วันจันทร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ตอบคำถามคุณศานติ สุวรรณศรี มัคคุเทศก์โบสถ์ซางตาครูซ ชุมชนกุฎีจีน


โดยพิทยะ ศรีวัฒนสาร

22 ตุลาคม 2553
เรียน พี่ศานติ สุวรรณศรี ที่นับถือ
โบสถ์ซางตาครูซ โทรสาร 02-4650930

1.อารยธรรมที่โดดเด่นของโบสถ์ซางตาครูซ คือ อะไร

ตอบ คำถามนี้น่าจะหมายถึงความโดดเด่นของชุมชนกุฎีจีน หรือ ชุมชนวัดซางตาครูซ(Santa Cruz) คือ อะไรมากกว่า ตามความคิดเห็นของผมนั้น คำตอบน่าจะเป็นเรื่องของความโดดเด่นทางประวัติศาสตร์ของชุมชนและรูปแบบสถาปัตยกรรมของโบสถ์ซางตาครูซ ชุมชนกุฎีจีนมีบรรพบุรุษเป็นคนเชื้อสายโปรตุเกสสังกัดกรมทหารฝรั่งแม่นปืนส่วนหนึ่ง อาทิ หลวงฤทธิ์สำแดง (เจ้ากรมซ้าย นา 400)ที่ได้ร่วมกับกองทหารไทยจีนภายใต้การนำของพระยาตากขับไล่กองทหารพม่าออกจากเมืองบางกอก เมื่อเสวยราชสมบัติแล้ว จึงได้รับพระราชทานที่ดินเป็นที่ตั้งบ้านเรือนและประกอบศาสนพิธี ดังหลักฐานจารึกภาษาโปรตุเกสในงานค้นคว้าของบาทหลวงไตไซรา(ค.ศ.1983)

ภาพจาก ส.กวง มุดสวนตลิ่งชัน ปั่นเที่ยว 3 ตลาดน้ำ นำชมพระปรางค์วัดอรุณ(ขอขอบคุณอย่างยิ่ง)

พี่ศานติคงจะทราบดีอยู่แล้วว่า โบสถ์ซางตาครูซเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนแบบศิลปะนีโอคลาสสิก(Neo-classic Art)ขนาดเล็ก แต่ดูเด่นและสง่างามท่ามกลางภูมิทัศน์ซึ่งแวดล้อมไปด้วยชุมชนริมน้ำ การที่รั้วเหล็กหล่อของโบสถ์ทำเป็นรูปดอกลิลลี่ถือเป็นจารีตให้รู้ว่า โบสถ์แห่งนี้นับถือพระแม่มารีเป็นสำคัญ โบสถ์ซางตาครูซมีการผสมผสานอิทธิพลของศิลปะโบราณก่อนคริสต์ศตวรรษที่17-18 หลายรูปแบบ อาทิ หลังคาสร้างเป็นรูปโดม 8 เหลี่ยม คล้ายลักษณะต้นแบบที่ปรากฏ ณ มหาวิหารแห่งเมืองฟลอเรนซ์(The Cathedral of Florence)ส่วนวงโค้งที่กรอบประตูและหน้าต่างภายนอกมีต้นเค้ามาจากศิลปะโรมัน โครงสร้างหน้าจั่วเหนือแท่นบูชาได้รับแรงบันดาลใจมาจากอิทธิพลศิลปะกรีก ขณะที่พระรัศมีเหนือรูปพระคริสต์ซึ่งถูกตรึงอยู่บนไม้กางเขนทำให้นึกถึงผลงานประติมากรรมชื่อ “ความหฤหรรษ์ของนักบุญเธเรซา-The Ecstasy of St. Theresa” ของเบอร์นินี(Bernini)ในศิลปะบาโรค(Baroque Art) ประมาณปลายคริสต์ศตวรรษที่17 ซึ่งแม้จะไม่หรูหราเทียมเท่าแต่การตกแต่งภายในด้วยลวดลายประดิษฐ์สีทองในกรอบสี่เหลี่ยมบนเพดานและบริเวณแท่นบูชาก็สามารถสร้างความศรัทธาและชื่นชมแก่ผู้เข้าไปร่วมศาสนพิธีได้เป็นอย่างยิ่งเลยทีเดียว

การทำช่องแสงด้วยศิลปะประดับกระจกสีแบบสเตนกลาส(Stained glass) เป็นเรื่องราวทางศาสนาและประวัติของพระคริสต์ ซึ่งแม้จะเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในศิลปะกอธิก(Gothic Art) ตั้งแต่ยุคกลางในยุโรป แต่ความนิยมในการสร้างงานประดับกระจกก็ยังคงถูกสืบสานต่อมาเป็นระยะๆ ไม่ลืมเลือนจางหายไปแต่อย่างใด ความลงตัวกะทัดรัดของโบสถ์ ทำให้ได้รับการยกย่องทั่วไปและถูกประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานจากกรมศิลปากร

อย่างไรก็ดี ชุมชนย่านกุฎีจีนยังมีความโดดเด่นในด้านของการตั้งถิ่นฐานที่ชี้ให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของชาวพุทธ คริสต์และอิสลาม ท่ามกลางการพึ่งพาอาศัยแบบตระหนักถึงประโยชน์ร่วมกันของชุมชนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม การเมืองของชุมชนในรูปแบบดังกล่าวเคยปรากฏมาก่อนที่เมืองพระนครศรีอยุธยาและยังคงมีอยู่ที่เมืองจันทบุรีในปัจจุบัน ซึ่งหากนำมาเป็นแม่แบบ(Model)ในการพัฒนาการเมืองระดับประเทศอีกครั้งหรือหลายๆครั้งก็น่ามาซึ่งความปรองดองของสังคมไทยกันได้อย่างแท้จริง

2.ระยะเวลาห้าร้อยปีความสัมพันธ์สยาม-โปรตุเกสมีสิ่งใดบ่งบอกถึงความเป็นโปรตุเกสในปัจจุบัน

ตอบ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาร่วม500ปี ความสัมพันธ์ระหว่างสยาม-โปรตุเกสมีลักษณะแบบลุ่มๆ ดอนๆ ตามเหตุและปัจจัยทางการเมืองระหว่างประเทศ การสำนึกรู้ความมีตัวตนของคนไทยเชื้อสายโปรตุเกสในสังคมไทยถือได้ว่า มีเพียงเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับความมีตัวตนของคนไทยเชื้อสายจีนในสังคมไทย (แม้ว่าคนไทยทั้งสองเชื้อสายบางส่วน จะมีความคล้ายคลึงกันในเรื่องของการก้าวเข้ามามีบทบาทเป็นข้าราชการตามกรมกองต่างๆ และคลุกคลีอยู่ในสังคมเมืองมากกว่าชนบทอย่างแข็งขันอย่างน้อยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่5เป็นต้นมา) กล่าวคือ นอกจากนักวิชาการ คนในชุมชนและผู้ที่สนใจในศิลปวัฒนธรรมแล้ว มีคนไทยน้อยคนนักที่จะรู้ว่าในกรุงเทพฯมีชุมชนของคนไทยเชื้อสายโปรตุเกสตั้งอยู่ที่ย่านกุฎีจีนในฝั่งธนบุรี คนไทยแทบทุกคนเคยรับประทานขนมหวานจำพวกฝอยทอง ทองหยิบ ทองหยอด บ้าบิ่น หม้อแกง ลูกชุบและ ฯลฯ แต่หากไม่เคยศึกษาหรือได้รับการบอกเล่าจากผู้ใหญ่หรือครูอาจารย์มาก่อน ก็แทบจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ผู้ที่ริเริ่มนำขนมดังกล่าวมาเผยแพร่ในที่ต่างๆเกือบทั่วโลก ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่21-22 เป็นต้นมา คือ ชาวโปรตุเกสนั่นเอง

สิ่งเดียวที่อาจบอกความเป็นโปรตุเกสได้มากที่สุด เปิดเผยมากที่สุด แต่เป็นสิ่งที่ดูคล้ายจะลึกลับมากที่สุด คือ ป้ายชื่อโบสถ์ที่หน้าจั่วของศาลาริมน้ำซึ่งใช้คำย่อในภาษาโปรตุเกสและปัจจุบันน่าจะไม่มีใครในชุมชนรู้ภาษาโปรตุเกสเหลืออยู่แล้ว คำดังกล่าวเขียนว่า “Sta. Cruz” มาจากคำเต็ม ซึ่งรู้จักกันดีว่า “Santa Cruz/ ซางตา ครูซ” จึงอาจจะนับได้ว่า ป้ายดังกล่าวเป็นภาษาโปรตุเกสคำสุดท้ายที่ปรากฏอย่างเป็นรูปธรรมในชุมชนคนไทยเชื้อสายโปรตุเกสย่านกุฎีจีน

ขนมฝอยทอง มีชื่อเรียกในภาษาโปรตุเกสว่า “Fios de Ovos อ่านว่า ฟิอุช ดึ อูวุช” การผสมผสานทางวัฒนธรรมเริ่มต้นมาตั้งแต่การเรียกชื่อขนมดังกล่าวมาเลยทีเดียว คำว่า “Fios” เป็นคำลักษณะนาม แปลว่า “สาย, ลวด, เส้น” คำว่า “de” เทียบได้กับ “of= แห่ง, ของ” ในภาษาอังกฤษ คำว่า “ovos” เป็นคำนามแปลว่า “ไข่” คำว่า Fios de ovos” จึงแปลตรงๆว่า “ขนมสายไข่, ขนมฝอยไข่” ตามขั้นตอนสำคัญของการทำขนม การที่คนไทยเรียกขนมฟิอุชดึอูวุชว่า “ขนมฝอยทอง” ก็เป็นที่เข้าใจกันดีถึงการนิยมชมชอบ คติการนำมาบริโภคงานเฉลิมฉลอง ลักษณะภายนอกที่สวยงามและรสชาติอันหอมชื่นใจของขนมชนิดนี้

ตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่2(พ.ศ.2034-2072) สืบเนื่องมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทางการสยามใช้ภาษาโปรตุเกสเป็นอีกภาษาหนึ่งในการติดต่อทางการทูตและการค้ากับต่างประเทศ นอกเหนือไปจากภาษาจีนและภาษาอารบิก บาทหลวงเดอชัวซีถึงกับบันทึกเป็นนัยสำคัญว่า ขุนนางสยามจำนวนไม่น้อยพูดภาษาโปรตุเกสได้เป็นอย่างดี แม้ผู้รู้บางท่านอาจจะแย้งในเรื่องนี้อยู่บ้าง แต่ผมยังคงเชื่อบันทึกของเดอชัวซีมากกว่า เพราะการที่บาทหลวงท่านนี้กล่าวห้ามกับพนักงานท้องพระคลังอย่างขวยเขินแกมปลื้มปิติเมื่อถูกนำไปเลือกเครื่องราชบรรณาการตามอำเภอใจ เพื่อนำกลับไปทูลเกล้าฯถวายแด่พระเจ้าหลุยส์ที่14 เป็นภาษาโปรตุเกสว่า “Basta! Basta!(พอแล้ว! พอแล้ว!)” นั้น คงจะมีความหมายเป็นอื่นไปไม่ได้หรอกครับ

อุปมาอุปมัยเมื่อกว่า 100 ปีที่แล้ว ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ชนชั้นสูงนิยมพุดภาษาอังกฤษแทรกอยู่ในบทสนทนาประจำวันกันมาก ดังนั้นจึงปรากฏร่องรอยของกลุ่มคำชุด สเตแท่น(stattion) เปิ้สกาด(first class) สีปาด(footpath) ฯลฯ ก่อนที่จะมีการกำหนดศัพท์บัญญัติของราชบัณฑิตยสถาน ดังนั้น ในสังคมสยามขณะนั้นภาษาโปรตุเกสคงไม่ใช่ภาษาประหลาดของชาวสสยาม โดยเฉพาะข้าราชการสังกัดกรมท่าขวา ดังนั้น คำในภาษาโปรตุเกส จำนวนหนึ่งจึงยังคงตกค้างอยู่ในวัฒนธรรมไทยและเพื่อนบ้านใกล้ๆเรา อาทิ คำดังต่อไปนี้

กระดาษ ภาษาเขมรออกเสียงว่า kradas ตรงกับ ภาษา โปรตุเกสว่า "carta หรือ cartaz" ภาษาสยามออกเสียงว่า Kradat ภาษามาเลย์ ออกเสียงว่า Kertasจะปึง(chapung) ตรงกับภาษาโปรตุเกสว่า chapinha(จาปินญา)มาเลย์และสยามออกเสียงคล้ายกันว่า จะปิ้ง จับปิ้งกระสา(นก)โปรตุเกสเรียกว่า garça(การ์ซา)ลายลอง(lay long) โปรตุเกสออกเสียงว่า "leilão-ไลเลา" ไทยออกเสียงว่า เลหลังเหรียญ เขมรเรียกว่า "riel" โปรตุเกสเรียกว่า "real"มาเลย์ เรียกว่า "rial" สยามเรียกว่า "rien" สบู่ เขมรเรียกว่า "sabu" สยามเรียกว่า "sabu" โปรตุเกสเรียกว่า "sabão-ซาเบา หรือ ซาเบิว" เป็นต้น (ดูเพิ่มเติมในhttp://siamportuguesestudy.blogspot.com บทความเรื่อง ฤาจับปิ้งเด็กไทย จะมาไกลจากโปรตุเกส)

ในทางวิชาการคร่าวๆตรงนี้ อาจจะกล่าวได้ว่า หลักฐานประวัติศาสตร์และโบราณคดีเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงพัฒนาการห้าศตวรรษของความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับโปรตุเกสได้อย่างลึกซึ้ง ไม่ว่าจะเป็นบันทึกของนักเดินทางโปรตุเกสใดนช่วงเวลาต่างๆ อาทิ จูอาว ดึ บารูช(João de Baros) แฟร์เนา เมนเดส ปินตู(Fernão Mendes Pinto) ดูอาร์ตึ ดึ บาร์บูซา(Duarte de Barbosa) เป็นต้น

พระไอยการตำแหน่งนาทหารพลเรือน ในกฎหมายตราสามดวงชำระในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก(พ.ศ.2325-2352) ระบุถึงบทบาทของคนเชื้อสายโปรตุเกสในกรมทหารฝรั่งแม่นปืน ซึ่งรับราชการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษทหารรักษาพระองค์ชาวโปรตุเกสสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช(พ.ศ.2077-2089)

หลักฐานโบราณคดี จากการขุดแต่งโบราณสถานโบสถ์ซานเปโตร ในเขตพื้นที่หมู่บ้านโปรตุเกส ทางด้านใต้ของเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาฝั่งตะวันตก มีการค้นพบหลักฐานโบราณวัตถุและโครงกระดูกของสมาชิกชุมชนโปรตุเกสในอดีตมากยิ่งขึ้น จึงมีการแลกเปลี่ยนทางวิชาการมากยิ่งขึ้นระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลโปรตุเกส นอกจากนี้ยังมีการศึกษาบทบาทด้านต่างๆของชาวโปรตุเกสในกรุงศรีอยุธยาอย่างกว้างขวาง

นักพัฒนาชุมชนของกรุงเทพมหานครอย่างคุณ ระพีพัฒน์ เกษโกมลและคุณจุลภัสสรณ์ พนมวัน ณ อยุธยา กลุ่มสยามทัศน์ ถือเป็นบุคลากรและองค์กรอาสาสมัครเอกชนที่มีความสำคัญ ซึ่งทำให้ชุมชนกุฎีจีนเป็นที่รู้จักแก่คนทั่วไปมากยิ่งขึ้น และความเป็นโปรตุเกสที่เด่นชัดที่สุดในปัจจุบัน คือ การดำรงอยู่ของสถานเอกอัครราชทูตโปรตุเกส ณ กรุงเทพฯ ที่มีการเผยแพร่และเชื่อมโยงวัฒนธรรมโปรตุเกสให้แพร่หลายในระดับที่เหมาะสมและถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความสัมพันธ์อันดีระหว่างทั้งสองประเทศ

หวังเป็นอย่างยิ่งว่าคำตอบสั้นๆข้างต้นคงพอที่จะผนวกเข้ากับประกายความคิดและความแหลมคมทางวาทศิลป์ของพี่ได้ไม่มากก็น้อยครับ

ขอแสดงความนับถือ
พิทยะ ศรีวัฒนสาร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น