วันจันทร์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ระบบพระคลังสินค้ากับความมั่งคั่งกรุงศรีอยุธยา: แรงดึงดูดพ่อค้าต่างชาติ

โดยพิทยะ ศรีวัฒนสาร

สภาพความคับคั่งจอแจของการสัญจรทางเรือที่ตลาดย่านหน้าวัดบางกระจะในแผนที่ ยูเดีย(Iudea)ของ Jan Janszoon Struys (c.1629 - c.1694) นักเดินทางผู้มีชื่อเสียงซึ่งเข้ามาเยือนกรุงศรีอยุธยาระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม ค.ศ.1650 หนังสือของเขาซึ่งตีพิมพ์ในปีค.ศ.1676 ที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ชื่อ "Drie aanmerkelijke en seer rampspoedige reysen" มีแผนที่สยามขนาด 19X29 ซ.ม.ปรากฏอยู่ด้วย(ภาพและเรื่องอ้างจากMAPPING IUDEA: A CARTOGRAPHIC EXERCISE by Tricky Vandenburg ใน http://www.ayutthaya-history.com/Essays_MappingIudea.html ขอขอบคุณอย่างยิ่ง)

ใบของต้นการบูร(camphor)ใช้ทำสารหอมระเหยลักษณะเป็นผลึกสีขาว(ภาพจาก google.com ขอขอบคุณอย่างยิ่ง)

พระคลังสินค้าในสมัยอยุธยาเป็นที่เก็บส่วยสาอากรและมีบทบาทผูกขาดทางการค้ามาตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ขุนวิจิตรมาตรา(สง่า กาญจนาคพันธ์)เรียกการค้าแบบผูกขาดของราชสำนักผ่านระบบพระคลังสินค้าว่า “การค้าของพระเจ้าแผ่นดิน” เพราะเป็นการค้าโดยรัฐ ผลกำไรแต่ละครั้งก็สร้างความมั่งคั่งให้แก่พระมหากษัตริย์เป็นอันมาก ด้วยเหตุนี้ประสิทธิ์ รุ่งเรืองรัตนกุลจึงชี้ว่า การผูกขาดการค้าของพระคลังสินค้าเป็นกระบวนการที่มีทั้งการควบคุมการผลิต ปริมาณและราคาตามความต้องการซื้อขายในตลาด รวมถึงการผูกขาดสินค้าส่งออกและสินค้านำเข้าโดยการใช้กฎหมายและระบบราชการเป็นเครื่องมือ

ชะมดเชียง เครื่องหอมสมุนไพรจากสัตว์ป่า(ภาพจากgoogle.com ขอขอบคุณอย่างยิ่ง)

สินค้าผูกขาดในหลักฐานพระไอยการอาญาหลวง ได้แก่ เครื่องศาสตราวุธ (ดินประสิว กำมะถัน ดินปืน) กฤษณา ไม้ฝาง ดีบุก นรมาด ( คือ นอแรด) งาช้าง และไม้จันทร์ รวมถึงสินค้าต้องห้ามที่ปรากฏในคำให้การชาวกรุงเก่าซึ่งรัฐเป็นผู้ส่งออกแต่เพียงผู้เดียว ได้แก่ งาช้าง ฝาง ตะกั่วนม ไม้ดำ ไม้แดง ชัน รัก ไม้จันทร์ ชะมดและครั่ง ดังปรากฏในพระไอยการอาญาหลวงว่า

ไม้ฝางนอกจากจะใช้ทำสีย้อมผ้าแล้วยังใช้ทำน้ำยาอุทัยได้ด้วย(ภาพจาก google.com ขอขอบคุณอย่างยิ่ง)

“...อนึ่งพระเจ้าอยู่หัวห้ามมิให้ซื้อขายสิ่งของต้องห้ามแก่ผู้มาแต่ต่างเมือง แลมันขึ้น(ขืน-ผู้วิจัย)ซื้อขายแลส่งออกไปนอกด่านต่างแดน แลขุนมุนนายอนา
พยาบาลผู้ใดได้ของมัน รู้เหนเปนใจด้วยมัน มิได้มาว่ากล่าวพิดทูลท่านให้ลงโทษขุนมุนนายอนาพยาบาลแลมันผู้ส่งสิ่งของต้องห้ามออกไปให้ซื้อขายนอก
ด่านต่างแดนนั้นมิโทษ 6 สถาน ถ้าทรงพระกรรุณาโปรดเกล้าฯบให้ฆ่าตีเสียให้ เอาสิ่งของนั้นตั้งไหมจัตุรคูณ...”


ไม้กฤษณาใช้ทำน้ำมันหอมระเหยราคาแพง (ภาพจาก google ขอขอบคุณอย่างยิ่ง)

พ่อค้าจากภายนอกซึ่งเดินทางเข้ามาติดต่อค้าขายกับกรุงศรีอยุธยามีทั้งพ่อค้าจากตะวันออกและตะวันตก พ่อค้าจากตะวันออกได้แก่ ชาวมาเลย์ ชวา ฟิลิปปินส์ พะโค กัมพูชา จามปา เวียดนาม จีน เกาหลี ริวกิว ญี่ปุ่น ส่วนพ่อค้าจากตะวันตก ได้แก่ ชาวอินเดีย ลังกา มากัสซาร์ อาหรับ เปอร์เซีย โปรตุเกส ฮอลันดา อังกฤษ สเปน และฝรั่งเศส เป็นต้น

การเป็นเมืองศูนย์กลางทางการค้า(Entrepot) ซึ่งมีการขนถ่ายสินค้าของจีน ญี่ปุ่น และสินค้าพื้นเมืองหลากหลายที่พ่อค้าต่างชาติต้องการ อาทิ ข้าว หนังสัตว์ พริกไทยและฝาง ทำให้กรุงศรีอยุธยาเป็นทั้งผู้ค้าผลิตผลและเป็นพ่อค้าคนกลางที่ขายสินค้าของพ่อค้าชาติหนึ่งให้แก่พ่อค้าอีกชาติหนึ่ง จึงทำให้กรุงศรีอยุธยามีสถานะทางโภคทรัพย์ที่โดดเด่นเป็นอย่างยิ่ง

ส่วยและภาษีรากฐานอันแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของราชสำนัก

ในฐานะผู้ผลิตสินค้า กรุงศรีอยุธยามีสินค้าพื้นเมืองต่างๆที่เรียกเก็บจากราษฎรในรูปแบบของส่วยและภาษีโดยไม่ต้องลงทุน เว้นแต่เรียกซื้อเพิ่มเติมจากราษฎร ได้แก่ ฝาง หนังสัตว์และไม้จันทร์ โดยพระคลังสินค้าสามารถกำหนดราคาสร้างผลกำไรเท่าใดก็ได้ตราบที่ตลาดยังมีความต้องการ อาทิ เกลือสินเธาว์ ปกติหาบละ 5 บาท พระคลังสินค้าขายให้แก่พ่อค้าต่างชาติหาบละ 17 บาท ฝางซื้อมาหาบละ 2 สลึง ขายหาบละ 6 สลึง เป็นต้น

ในฐานะพ่อค้าคนกลาง กรุงศรีอยุธยาซื้อสินค้าจากอินเดีย จีนและญี่ปุ่น ซื้อกำยาน(Benzoin)และไม้สักจากพม่า และซื้อชะมดเช็ดจากเชียงใหม่เพื่อขายแก่พ่อค้ายุโรป นอกจากนี้ยังซื้อสินค้าจากพ่อค้าจากพ่อค้าชาวยุโรปเพื่อขายให้แก่พ่อค้าจีนและญี่ปุน เป็นต้น ในกรณีนี้พระคลังสินค้าอาจซื้อทองแดงจากญี่ปุ่นมาในราคาหีบละ 15 เหรียญแล้วขายให้แก่พ่อค้ายุโรปหีบละ 20 เหรียญ หรือรับซื้อไหมดิบจาก“ เมืองน่ำเกี๋ย ” ในราคา 100 เหรียญ แล้วขายให้แก่พ่อค้าชาวยุโรปเป็นเงิน 300 เหรียญ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี พระอาชญาหลวงในกฎหมายตราสามดวงก็มีบทบัญญัติคุ้มครองแก่ผู้ประกอบการค้าที่สุจริตไว้ว่า
“...พระเจ้าอยู่หัวทรงบัญญัติให้ซื้อขายสิ่งของตามถนนตระหลาด(สนนราคา ตลาด-ผู้วิจัย) แลผู้ซื้อผู้ขายทำเกินพระราชบัญญัติไว้ มิได้ซื้อขายตามถนนตระหลาด มักซื้อถูกขายแพงนอกพระราชบัญญัติ ท่านว่าเลมิดพระราชอา๙ญาให้จำขื่อไว้สามวัน แล้วเอาไปประจานจนรอบตระหลาด แล้วให้ทวนด้วยหวาย 25 ทีอย่าให้ดูเยียงกัน ถ้ากำนันตระหลาดมิได้กำชับว่ากล่าว ละให้ลูกตระหลาดซื้อถูกขายแพงกว่าถนนตระหลาด...ให้...จำใส่ขื่อไว้สามวัน แล้วทวนด้วยหวาย 15 ที...”

หากกำนันตลาดละเมิดพระไอยการอาชญาหลวงโดยเก็บเบี้ยตลาดจากลูกตลาดเกินพิกัดที่กำหนดไว้ก็ให้ลงโทษทวนด้วยหวาย15ที แห่ประจานรอบตลาดและให้คืนเบี้ยที่เก็บเกินแก่ลูกตลาดเสีย จึงจะพ้นโทษ สำหรับพ่อค้าต่างชาติที่ลักลอบซื้อสินค้าต้องห้ามนั้น พระไอยการอาชญาหลวงระบุให้ลงโทษ “ดั่งโจร” ส่วนผู้รู้เห็นเป็นใจพระไอยการอาญาหลวงให้ลงโทษถึงตาย กล่าวคือ

“มาตราหนึ่ง แขกพราหมณยวนประเทศฝารงอังกฤษจีนจามวิลันดาฉวามลายู กวยขอมพม่ารามัญเข้าสู่โพธสมภารก็ดี เข้ามาค้าขายทางบกทางเรือก็ดี ให้ชาวพระทวารด่านคอยเจ้าพนักงานตรวจตราดูดีแลร้าย เกบเครืองศาสตราวุธไว้ อย่าให้เทียวเตร่ลอบลักซื้อขายกฤษณาฝางดีบุก ถ้าลูกค้าจตองการสิ่งใดให้บอกแก่ล่ามพนักงาน ถ้าต่างประเทศลูกค้าจยาตราไปทางบกก็ดี เมือสำเภายาตราก็ดีให้เจ้าพนักงานตรวจดูสิ่งของต้องห้ามผู้คนซึ่งลอบลักซุ่มซ่อนภาไปนั้น ถ้าเจ้าพนักงานละเมินเสียให้ลูกค้าพานิชภาเอาผู้คนข้าแผ่นดินสิ่งของต้องห้ามไปได้....ให้ลงโทษ 6 สถาน ส่วนประเทศลูกค้านั้นให้ลงโทษดั่งผโจร ถ้าล่ามพนักการชาวด่านรู้เหนเปนใจด้วยให้ลงโทษถึงตาย”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น