สยาม-โปรตุเกสศึกษา. มิติทางประวัติศาสตร์ สังคมและวัฒนธรรมบนพื้นฐานการวิเคราะห์ ตีความและวิพากษ์อย่างเข้มข้น โดย พิทยะ ศรีวัฒนสาร องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร Siam-Portuguese Studies. Articles and knowledge management concerning to historical, archaeological and cultural relationship between Siam and Portugal by Bidya Sriwattanasarn, non- profit organization.
วันศุกร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2553
ฤาจับปิ้งเด็กไทยจะมาไกลจากโปรตุเกส
พิทยะ
ศรีวัฒนสาร
ผู้เขียนพบว่าเนือหาตอนหนึ่งของหนังสือเรื่อง The Portuguese Missions in Malacca and Singapore(1511-1958) Volme III-Singapore(1987 p.485-486)เรียบเรียงโดย Mons. Manuel Teixeira กล่าวถึง "คำ"โปรตุเกส อย่างน้อย ๖ คำตกค้างอยู่ในภาษาเขมร(Cambodia Language)ได้แก่ คำว่า กระดาษ จะปึง(จับปิ้ง) กระสา(นก) ลายลอง(เลหลัง) เหรียญและสบู่ ซึ่งบางคำก็มีเสียงและความหมายคล้ายกับภาษาไทย ดังนี้
กระดาษ ภาษาเขมรออกเสียงว่า kradas ตรงกับ ภาษา โปรตุเกสว่า "carta หรือ cartaz" ภาษาสยามออกเสียงว่า Kradat ภาษามาเลย์ ออกเสียงว่า Kertas
จะปึง(chapung) ตรงกับภาษาโปรตุเกสว่า chapinha(จาปินญา)มาเลย์และสยามออกเสียงคล้ายกันว่า จะปิ้ง จับปิ้ง
กระสา(นก)โปรตุเกสเรียกว่า garça(การ์ซา)
ลายลอง(lay long) โปรตุเกสออกเสียงว่า "leilão-ไลเลา" ไทยออกเสียงว่า เลหลัง
เหรียญ เขมรเรียกว่า "riel" โปรตุเกสเรียกว่า "real"มาเลย์ เรียกว่า "rial" สยามเรียกว่า "rien"
สบู่ เขมรเรียกว่า "sabu" สยามเรียกว่า "sabu" โปรตุเกสเรียกว่า "sabão-ซาเบา หรือ ซาเบิว"
ผู้เขียนลองสุ่มถามเด็กวัยรุ่นคนหนึ่งว่า รู้จักจับปิ้งหรือเปล่า ก็ได้รับคำตอบว่า ไม่รู้จัก แต่คนโบราณรู้จักจับปิ้งกันดี พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕ หน้า ๒๒๔ อธิบายว่า "จับปิ้ง" เป็นคำนาม แปลว่า "เครื่องปิดที่ลับของเด็กหญิง ทำด้วยเงิน ทอง หรือ นาก เป็นต้น, กระจับปิ้ง จะปิ้ง ตะปิ้ง หรือ ตับปิ้งก็เรียก (มอญเรียกว่า จะปิ้ง)" แต่หนังสืออักขราภิธานศรับท์หมอปรัดเลย์(น.๑๕๐, Dr. D. Bradley)ให้ "อาจาริย์ทัดคัดแปล" เมื่อค.ศ.๑๘๗๓ อธิบายว่า จับปิ้ง ใช้ได้ทั้งเด็กชายและเด็กหญิง กล่าวคือ " จับปิ้ง, เปนชื่อของสำรับผูกบั้นเอวเด็ก, ปิดบังที่ลับของเด็กผู้หญิง, ทำด้วยเงินบ้าง, ทองบ้าง, เหมือนเด็กไทนั้น"
เป็นที่น่ายินดีว่า เวบบล็อกwriter.dek-d.com อธิบายความหมายของ จับปิ้ง พร้อมกับยกตัวอย่างไว้น่าสนใจเมื่อ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ จึงขออนุญาตดัดแปลงเล็กน้อยเพื่อนำมาอ้างอิงเผยแพร่เป็นวิทยาทานในที่นี้ว่า "จับปิ้ง ...แผ่นโลหะ หรือ แผ่นไม้ที่ใช้ปิดบังอวัยวะเพศของเด็กผู้หญิง เพื่อไม่ให้โจ่งแจ้ง เปิดเผยจนเกินไป (หากเป็นเด็กชาย จะห้อย พริกเทศ ซึ่งพัฒนามาเป็นปลัดขิก ) เหตุผลอีกข้อหนึ่งที่เด็กผู้หญิงต้องใส่จับปิ้ง ก็เนื่องจากว่า เป็นการสอนกิริยามารยาทของเด็กให้สุภาพ เรียบร้อย หากเด็กคนไหนซนมากๆ พ่อแม่ก็จะใช้จับปิ้งที่มีขนาดหนาและใหญ่เป็นพิเศษ เพื่อที่เวลาเด็กวิ่งเล่นซน ตัวจับปิ้งก็จะตีของลับเด็ก ทำให้ซนมากไม่ค่อยได้ ต้องเดินเรียบร้อย เวลาจะนั่งก็จะเรียบร้อย มิฉะนั้น จับปิ้งก็จะทิ่มที่ลับได้ ลักษณะของจับปิ้งจะมีหลากหลายรูปแบบ มีทั้งทำจากทองคำฝังเพชร ถมยา ลงรัก เงินและทำจากไม้ ขึ้นอยู่กับชั้นวรรณะของผู้ใช้ หากเป็นลูกเจ้าฟ้าพระมหากษัตริย์ ก็จะใช้ทองคำฝังเพชร ถมยา ลงรัก ลดลั่นลงมาก็จะเป็นเงิน หากเป็นลูก ชาวบ้านชาวไร่ชาวนาก็จะเป็น ไม้ หรือจากกะลามะพร้าว เด็กผู้หญิงในปัจจุบันไม่นิยมใส่จับปิ้ง แต่เราจะเห็นว่ามีชาวต่างชาติบางคนนำจับปิ้งมาเป็นจี้ หรือสร้อย ห้อยคอ แสดงให้เห็นถึงยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงไป"
อย่างไรก็ดี บทความได้รับความสนใจจากผู้รู้และเสนอข้อวิจารณ์ดังนี้เพื่อความสมบูรณ์ของเนื่อหาและเพื่อเป็นข้อพิจารณาต่อไปในอนาคต
อ้างจาก: NAVARAT.C ที่ 30 เม.ย. 11, 09:45 (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=4376.195)
พอเห็นต้นศัพท์ดังกล่าว ผมก็ตื่นเต้นเล็กน้อย สมัยนี้สงสัยใคร่รู้อะไรเข้าเวปแพร๊บเดียวก็รู้เรื่อง ผมจึงรีบเอาคำว่า chapinhaไปค้นหาในกูเกิลต่อ หวังจะได้รูปจับปิ้งของแท้ของโปรตุเกสเอามาฝาก แต่รูปทั้งหมดที่เจอ กลับกลายเป็นไอ้เจ้าข้างล่างนี่ ไทยแปลจากคำภาษาอังกฤษมาตรงๆว่า เครื่องดัดผม ผมก็ไม่รู้ภาษาโปรตุเกสแม้กระจิ๊ดเดียว ไม่สามารถจะค้นต่อได้ว่า เจ้าเครื่องดัดผมมือถือเนี่ย มันจะเป็นคำแผลงมาจากจับปิ้งได้อย่างไร มีผมตรงนั้นสักเส้นให้ดัดที่ไหน
พิทยะ
ผมขออนุญาตเรียนชี้แจงว่า บทความเรื่อง "ฤาจับปิ้งเด็กไทยจะมาไกลจากโปรตุเกส" นั้น เป็นการตั้งสมมติฐานโดยต่อยอดจากข้อค้นพบรากศัพท์คำว่า "จับปิ้ง" ในภาษาโปรตุเกส ซึ่งเสนอโดยบาทหลวง Manuel Teixeira นักประวัติศาสตร์ชาวโปรตุเกส และได้แจ้งที่มาของเอกสารอ้างอิงอย่างชัดเจนในหนังสือชื่อ The Portuguese Missions in Malacca and Singapore(1511-1958) Volme III-Singapore(1987 p.485-486) และรู้สึกยินดีที่มีการdeateอย่างออกรสออกชาติดังปรากฏข้างต้นไปแล้วครับ ยุคนี้ "จะปินญา"(chapinha) อาจแปลว่า "เครื่องหนีบผม, ดัดผม" แต่ก่อนหน้านี้ ผมไม่เชื่อว่า บาทหลวงไตไซราจะโมเมคิดเป็นตุเป็นตะตั้งชื่อในภาษาโปรตุเกสเอาเองแต่อย่างใดครับ
เทาชมพู ความคิดเห็นที่ 205 เมื่อ 21 พ.ค. 11, 14:23
(http://www.reurnthai.com/index.php?topic=4376.195)
คำว่า chapinha ในภาษาโปรตุเกส แปลตามตัวว่า flat iron หรือแผ่นเหล็กแบน เครื่องเหยียดผม ที่เรียกว่า chapinha เพิ่งคิดค้นขึ้นมาเมื่อค.ศ. 1882 นี้เองคำว่า chapinha ถ้ามีในภาษาโปรตุเกสก่อนหน้านี้ ก็แสดงว่าเป็นแผ่นเหล็กแบนที่ใช้ในเรื่องอื่น วัตถุประสงค์อื่น ไม่ใช่เอาไว้หนีบผมให้เหยียดตรงเด็กโปรตุเกสไม่ใช้จับปิ้งแน่นอน สภาพอากาศทำให้ไม่ควรคาดอะไรให้เกะกะร่างกาย เพราะสวมเสื้อผ้าก็รุ่มร่ามมิดชิดพออยู่แล้วแต่ถ้าอาจารย์พิทยะและบาทหลวงหมายถึงว่า ในภาษาโปรตุเกสมีคำว่า chapinha ซึ่งฟังสำเนียงคล้ายๆจับปิ้ง จึงอาจเป็นได้ว่าศัพท์"จับปิ้ง" มาจากภาษาโปรตุเกส แต่แปลว่าอะไรสักอย่างที่ไม่ใช่จับปิ้ง สมมุติว่าโปรตุเกสใช้คำว่า chapinha (จะปินญา) ในความหมายดั้งเดิมของเขาว่า แผ่นเหล็กเล็กๆ ( ซึ่งจะใช้ทำอะไรก็ได้) พอมาเห็นเด็กสยามคาดจับปิ้ง เลยเรียกว่า อ้อ เด็กหญิงชาวสยามคาดจะปินญา คนไทยเลยเรียกตามว่าจับปิ้ง แล้วถ้างั้น ก่อนบาทหลวงจะเรียก ชาวบ้านสยามเขาเรียกอะไรล่ะคะ เมื่อมันมีวัตถุขึ้นมาแล้ว มันก็น่าจะมีชื่อเรียกมาก่อนหน้านี้ด้วย ไม่ต้องรอฝรั่งตั้งให้ก่อนอีกอย่าง จับปิ้งไทยไม่ได้ทำด้วยเหล็ก เด็กชาวบ้านใช้กะลามะพร้าวเจาะรูร้อยเชือกคาดเอว ถ้าเป็นคนมีเงินอาจใช้โลหะ เช่นเงิน แต่ก็ไม่ใช่เหล็กแน่นอน เหล็กเป็นของหายากสำหรับชาวสยาม
พิทยะ
ผมน้อมรับในคำวิจารณ์ข้างต้นครับ และได้ตรวจสอบจากทูตวัฒนธรรมโปรตุเกสและแล้วปรากฏว่าในช่วงอายุของเธอก็ไม่รู้จักจับปิ้ง
ผมได้เขียนไปถามเว็บไซต์คุณแม่(www.mum.org)ซึ่งก็ได้รับคำตอบว่า ไม่รู้จักเช่นกัน ดังนั้นในเบื้องต้นนี้ผมจึงต้องยอมรับตามข้อเสนอของทั้งสองท่านโดยดุษณี ด้วยความขอบคุณครับผม อนึ่ง ในการเสวนาทางวิชาการเรื่อง Spice, trade and sacred ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ 21 มิย. 54 ผมก็ได้อ้างถึงข้อถกเถียงนี้ในhttp://www.reurnthai.comด้วยความชื่นชมเช่นเดียวกัน
ป้ายกำกับ:
จับปิ้ง ภาษาโปรตุเกส สยาม เขมร ปิดที่ลับเด็ก
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
สวัสดีค่ะอาจารย์
ตอบลบอยากรบกวนเรียนถามว่าภาษาโปรตุเกสที่เข้ามามีอิทธิพลต่อภาษาไทยของเรามีคำว่าอะไรบ้างคะ เท่าที่สืบค้นมีน้อยมากค่ะประมาณ 5-6 คำ ขอคำชี้แนะด้วยนะคะ
ขอบคุณมากค่ะ
ผมชอบ ขนมในสมัยพระนารายณ์ ของท้าวทองกีบม้า เลยค้นมาเจอ บล๊อกอาจารย์โดยบังเอิญครับ เป็นข้อมูลและประโยชน์แบบสาธารณะ จริงๆครับ ขอขอบพระคุณอย่างสูงครับ
ตอบลบความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ
ตอบลบ