ทุกวันนี้คนไทยเพิ่มดีกรีการดื่มชา กาแฟมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นเมื่อผ่านไปที่ไหนก็จะเห็นร้านกาแฟกลาดเกลื่อนไปหมด ทั้งแผงกาแฟโบราณ และร้านกาแฟสัมประทาน(franchises) ซึ่งบางร้านราคาแพงมหาโหดจนผู้เขียนต้องประท้วงด้วยการเลิกดื่มกาแฟไปพักใหญ่
ผู้เขียนเคยถามนักศึกษาบางคนว่า "กาแฟ"มาจากคำว่าอะไร บางคนก็ตอบว่า "คอฟฟี่-coffee"ในภาษาอังกฤษ บางคนก็ตอบอย่างมั่นใจว่า "กาเฟ-café" ในภาษาฝรั่งเศส หนังสืออภิธานศัพท์คำไทยที่มีต้นเค้ามาจากภาษาต่างประเทศ(๒๕๔๐) เรียบเรียงโดยนักวิชาการจำนวนหนึ่งของกรมศิลปากร อธิบายประวัติศาสตร์วัฒนธรรม(Culture History)ของคำว่า "กาแฟ" โดย สมศรี เอี่ยมธรรม(น.๓๔-๔๐)และ "ชา"โดย นันทนา ตันติเวส(น.๘๔-๘๙)อย่างน่าสนใจ แม้จะมิได้กล่าวถึงคำเรียก "กาแฟ"ในภาษาจีน แต่ก็บอกให้เราทราบว่า ในภาษาจีนเรียก "ชา"ว่า "ฉา (cha-จีนกลาง)หรือ เต๊(แต้จิ๋ว) ซึ่งก็ใกล้เคียงกับภาษาฝรั่งเศสว่า "thé-เต"
หนังสือดังกล่าวระบุถึงคำในภาษาไทยซึ่งพัฒนามาจากภาษาโปรตุเกสจำนวน ๒ คำ ได้แก่ คำว่า กระดาษ และบาทหลวง
คำว่า"กระดาษ"มาจากคำว่า "กราตัส" อันเป็นชื่อของชาวโปรตุเกสซึ่งนำกระดาษเข้ามาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์(น.๑๙) ประเด็นนี้ผู้เขียนไม่ค่อยจะเห็นด้วยเท่าใดนัก เพราะในภาษาโปรตุเกสเองก็มีคำเรียกกระดาษอยู่หลายคำ อาทิ "การ์ตา-carta แปลว่า card-กระดาษ.บัตร, แผ่น, แผนที่" กับคำว่า "ปาเปล-papel" แปลว่า "กระดาษ" ตรงกับ "paper"ในภาษาอังกฤษ(The Collins Portuguese Pocket Dictionary, 1987, p.35, p.124)
อีกคำหนึ่งคือ "บาทหลวง" ค้นคว้าโดย เสาวลักษ์ กีชานนท์ (น.๑๑๑)ซึ่งอ้างพระวินิจฉัยของสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ในสาส์นสมเด็จ(๑๔ ตุลาคม ๒๔๗๗)ระบุว่า "คำว่า บาทหลวง เลอเมย์ เป็นผู้พบมูลของคำว่า บาด ว่ามาจากคำว่า "Padre" ภาษาโปรตุเกส แปลว่า พ่อ ซึ่งเขาใช้นำหน้าชื่อเรียกกันในชั้นหลังว่า Father..ส่วนคำว่า หลวง นั้นหม่อมฉันสันนิษฐานว่า หมายความว่าเป็นใหญ่ในพวกบาด คือ Bishop ซึ่งเราเรียกในชั้นหลังว่า สังฆราช ครั้งกรุงศรีอยุธยาคงจะเรียกว่า บาดหลวง หาได้เรียกนักพรตฝรั่งทุกตนอย่างทุกวันนี้ไม่"
ผู้เขียนเห็นด้วยที่ผู้รู้เสนอว่า คำว่า บาทหลวงเกี่ยวข้องกับ คำว่า "padre" แต่คำนี้ในภาษาโปรตุเกส แปลว่า "นักบวช -clergyman, reverend, priestและ pastor" (อ้างจาก พจนานุกรมโปรตุเกส-อังกฤษออนไลน์ของhttp://lookwayup.com/)มิได้แปลว่า "พ่อ" และในภาษาโปรตุเกสมีคำเรียก "พ่อ" ว่า "pai-ไป๋" ส่วน "บิดามารดา" ว่า "pais-ไป๋อิช"
หนังสือThe Portuguese Missions in Malacca and Singapore (1511-1958)ของ บาทหลวงมานูเอล ไตไซรา(Padre Manuel Teixeira, pp.474-485) ลำดับให้เห็นว่า มีภาษาโปรตุเกสตกค้างอยู่ในภาษามาเลย์อย่างอย่างน้อย ๒๗๒ คำ และมีภาษามาเลย์ปะปนอยู่ในภาษาโปรตุเกสอย่างน้อย ๒๕ คำ
เป็นที่น่าสังเกตว่า มีคำภาษาโปรตุเกสคำหนึ่ง คือ "ananás-อะน่านัส" แปลว่า "สับปะรด" ซึ่งนอกจากตกค้างอยู่ในภาษามาเลย์ว่า "nanas-น่าน้ส" ยังแพร่กระจายมาเป็นภาษาพื้นถิ่นบางส่วนในภาคใต้ของไทยว่า "ย่าหนัด" มิหนำซ้ำยังกระโดดข้ามไปถึงภาคอีสานของไทยกลายเป็นคำว่า "บักนัด" อย่างไม่เกรงใจใครอีกด้วย
อย่างไรก็ดี ในประเด็นของคำว่า "ชา กาแฟ" นั้น ผู้เขียนค้นพบว่าในภาษาโปรตุเกสมีคำเรียก "กาแฟ" ซึ่งเขียนเหมือนภาษาฝรั่งเศสว่า "café" แต่ออกเสียงว่า "กาแฟ" และมีตำว่า "chá" ออกเสียง "ชา" คล้ายกับภาษาไทยมากกว่าคำเรียกในภาษาอื่น (The Collins Portuguese Pocket Dictionary, p.32, p.38)ทำให้เชื่อว่าคำว่า "ชา กาแฟ"ทั้งในภาษาไทยและโปรตุเกส มีพื้นฐานมาจากความสัมพันธ์เชิงวัฒนธรรมที่มีส่งผ่านต่อกันมายาวนานถึงห้าศตวรรษ(ดูเพิ่มเติมใน พิทยะ ศรีวัฒนสาร, ชุมชนชาวโปรตุเกสในสมัยกรุงศรีอยุธยาพ.ศ.๒๐๕๙-๒๓๑๐, บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๑)
จีนก็เรียก ชา ครับ น่าจะตรงกับที่มามากกว่า
ตอบลบือืมห์ ...น่าสนใจนะ
ลบโปรตุเกสเรียกชาตามจีนเหนือ อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน เรียก เต ตามจีนใต้ (กวางตุ้ง ฮกเกี้ยน แต้จิ๋ว)
ตอบลบขอบคุณครับ
ลบ