วันเสาร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

บทบาทในการเผยแพร่วัฒนธรรมการกินอยู่ของชุมชนชาวโปรตุเกสในประวัติศาสตร์ไทย

โดย พิทยะ ศรีวัฒนสาร

ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ บาทหลวงเดอ ชัวซีย์ ซึ่งเดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาพร้อมด้วยเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ชิมอง เดอ ลาลูแบร์ บันทึกไว้ว่า คณะทูตฝรั่งเศสได้รับการเลี้ยงต้อนรับจาก คอนสแตนติน ฟอลคอน รายการอาหารจัดเลี้ยงประกอบด้วย กับข้าวแบบญี่ปุ่นและโปรตุเกส ส่วนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถูกนำเข้ามาจากสเปน เปอร์เซีย และฝรั่งเศส[208]
การที่ฟอลคอน เลือกนำเอาอาหารแบบโปรตุเกสและญี่ปุ่น มาจัดเลี้ยงคณะทูตลาลู-แบร์แห่งฝรั่งเศส อาจมีสาเหตุมาจากความผูกพันของเขาที่มีต่อชุมชนค่ายโปรตุเกสและญี่ปุ่น นับตั้งแต่ที่เดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาหลังปี พ.ศ.2218 ฟอลคอนแต่งงานกับหญิงโปรตุเกส ซึ่งเดินทางมาจากญี่ปุ่น ชื่อ ดอนญา มาเรีย กิอูมาร์ ดึ ปินา (D. Maria Guiomar de Pina) เขาหันมานับถือศาสนานิกายโรมันคาธอลิกจากการชักชวนของบาทหลวงชาวโปรตุเกสชื่ออันตูนิอู โตมัช (Antonio Tomas) [209]แห่งคณะเยซูอิตเมื่อ พ.ศ.2225 ชื่อเดิมของฟอลคอนคือ คอนสแตนติน เยรากีส (Constantin Gerakis)* การเปลี่ยนมานับถือนิกายโรมันคาธอลิกในสังกัดสังฆมณฑลของโปรตุเกส อาจทำให้เขาได้รับชื่อแบบโปรตุเกสว่า "กองสตันตินู ฟัลเกา" (Costantino Falcão) ตามชื่อของ กองสตันตินู ฟัลเกา (หรือคอนสแตนติโน ฟอลคอน - Constantino Falcon) สุภาพบุรุษ หรือขุนนาง (Fidalgo) หรือฆราวาสเตรียมบวช ชาวโปรตอนเกสซึ่งมีครอบครัว และอาศัยอยู่ในโคชินไชน่า ผู้เคยเดินทางมาเยี่ยมบิชอบแห่งเมลิอาปอร์ในสยาม และหลักฐานจดหมายอุปราชแห่งเมืองกัวเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2162 ระบุว่าเขาเป็นชาวโปรตุเกสผู้หนึ่งที่มีส่วนช่วยในการเจรจาทำสัญญาสันติภาพกับพระเจ้ากรุงสยาม (พระเจ้าทรงธรรม) หลังจากความขัดแย้งกันในปี พ.ศ.2160[210] เนื่องจากพ่อค้าโปรตุเกสไม่พอใจที่อยุธยา ให้สิทธิพิเศษทางการค้าหนังสัตว์แก่ฮอลันดา[211] การได้รับชื่อดังกล่าว (Falcon หรือ Falcão ) อาจมีสาเหตุมาจากการแปลชื่อเดิม ของฟอลคอน ในภาษากรีก เป็นภาษาโปรตุเกส (Gerakis - Falcão -เหยี่ยว) และอาจเป็นไปได้ว่าเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ เคยมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับบุคคลชั้นสูงชาวโปรตุเกสชื่อเดียวกับเขาในฐานะของพ่ออุปถัมภ์ทางศาสนา เมื่อเขาหันมานับถือศาสนาโรมันคาธอลิก
การกินอยู่ของชาวโปรตุเกสในเมืองพระนครศรีอยุธยา น่าจะมีความสัมพันธ์กับพื้นฐานวัฒนธรรมการกินอยู่ของชาวยุโรปอย่างลึกซึ้ง ดังปรากฏหลักฐานที่สะท้อนให้เห็นจากจดหมายของหัวหน้าพ่อค้าชาวฮอลันดาผู้หนึ่งชื่อ แลมเบิร์ต จาคอบเสนเฮน (Lambert Jacobsen Heyn) เมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2153 ระบุว่า ได้ส่งหมูเบคอน จากเมืองพระนครศรีอยุธยาไปให้นายวิคเตอร์ สปรินซ์เกล หัวหน้าพ่อค้าฮอลันดาที่เมืองปัตตานี จำนวน 87 หม้อ โดยเรือสำเภาของออกพระโชดึก (Oppra Tjedick)[212] อีกทั้งพ่อค้าฮอลันดาที่ปัตตานี ยังต้องรอรับ อาหารทุกชนิดจากเรือฮอลันดาที่มาจากหมู่เกาะโมลุกกะทุกครั้ง หลักฐานนี้ชี้ให้เห็นว่า ชาวยุโรปที่อยู่ในเอเชียยังคงบริโภคอาหารยุโรป แม้ว่าจะดำเนินชีวิตอยู่ในเอเชีย ชุมชนโปรตุเกสในเมืองพระนครศรีอยุธยาก็ไม่น่าจะมีความต้องการที่แตกต่างไปจากกระบวนการนี้ จึงปรากฏร่องรอยของอาหารและขนมแบบโปรตุเกส ทั้งในเอกสารประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมไทย
ดังจะอธิบายได้จากองค์ความรู้ที่ปรากฏอยู่ใน "นิทรรศการขนมนานาชาติ" ซึ่งจัดโดยภาควิชาภาษาตะวันตก คณะอักษาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ.2541 ได้จำแนกกลุ่มขนมหวานของไทยที่ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมโปรตุเกส คือ ทองหยิบ ฝอยทอง ทองหยอด บ้าบิ่น ลูกชุบ ขนมผิง ทองม้วน หม้อแกง ขนมไข่ กะหรี่ปั๊ป (ซึ่งชุมชนย่านโบสถ์คอนเซ็บชัน สามเสนยังทำอยู่แต่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ขนมปะแตน) มีคำอธิบายถึงแหล่งกำเนิดของขนมบางอย่าง เช่น ในประเทศโปรตุเกส ขนม ตรูซูช ดาช กัลดัช (Trouxas das caldas) เป็นต้นตำหรับของขนมทองหยิบ ขนมเกวชาดาช ดึ กูอิงบรา (Queljadas de coimbra) เป็นต้นตำหรับของขนมบ้าบิ่นของไทย ซึ่งในโปรตุเกสจะมีเนยแข็งเป็นส่วนผสมแต่ในไทยใช้มะพร้าวแทน ลูกชุบ(Massapães) เป็นขนมประจำท้องถิ่นของแคว้นอัลการ์ฟ (Algarve) ในโปรตุเกส มีเม็ดอัลมอนด์เป็นส่วนผสมสำคัญแต่ในไทยใช้ถั่วเขียวแทน ผู้รู้กล่าวว่าในอดีตบาทหลวงและแม่ชีในประเทศโปรตุเกส ได้รับการยอมรับว่าเป็นเจ้าตำหรับของการประดิษฐ์คิดค้น และมีการทำขนมหวานชนิดใหม่ๆ ออกมาเผยแพร่เสมอ[213] การชี้ให้เห็นถิ่นกำเนิดของขนมโปรตุเกส ที่เข้ามาเผยแพร่ในเมืองพระนครศรีอยุธยา ทำให้ทราบว่าสมาชิกของชุมชนโปรตุเกสส่วนหนึ่งมีความสัมพันธ์กับบรรพบุรุษ ซึ่งเดินทางมาจากอัลการ์ฟ และกูอิงบราเป็นต้น
ในสมัยอยุธยาหลักฐานคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม กล่าวถึงตลาดขายขนมชนิดต่างๆอาทิ ถนนย่านป่าขนม ถนนย่านขนมจีน ย่านตำบลหัวสาระพา และถนนหน้าวัดมหาธาตุ ถนนย่านขนมนั้น " …ชาวบ้านย่านนั้นทำขนมขาย แลนั่งร้านขายขนม ชะมดกงเกวียน สามเกลอ หินฝนทอง ขนมกรุบ ขนมพิมพ์ถั่ว ขนมสำปะนี แลขนมแห้งต่างๆ ชื่อตลาดป่าขนม"[214] ส่วนถนนย่านขนมจีน มีหลักฐานกล่าวว่า
" …มีร้านโรงจีน ทำขนมเปีย ขนมโก๋ เครื่องจันอับ ขนมจีนแห้ง ขายเป็นร้านชำชื่อตลาดขนมจีน…" [215] ย่านตำบลหัวสาระพา มีโรงทำเครื่องจันอับและขนมแห้งของพ่อค้าจีน ส่วนถนนหน้าวัดมหาธาตุมีพ่อค้าจีนมาคอยเอาข้าวพอง ตังเมมาแลกของต่างๆ [216] นอกจกขนมเหล่านี้แล้ว ยังมีการทำขนมลอดช่องส่งขายให้แก่ชาวเมืองบริเวณบ้านกวนลอดช่องอันเป็นย่านที่อยู่อาศัยของแขกตานี หรือแขกมุสลิมจากเมืองปัตตานี[217] จนถึงกับทำให้ย่านนี้ได้ชื่อว่าบ้านกวนลอดช่อง หรือบ้านลอดช่องมาจนถึงปัจจุบัน
เป็นที่เข้าใจกันดีว่า ขนมเปีย ขนมโก๋ เครื่องจันอับและขนมจีนแห้ง เป็นขนมที่ชาวจีนทำขึ้น ส่วนขนมข้าวพองและตังเมนั้น แม้ผู้นำมาแลกของจะเป็นพ่อค้าจีน แต่หนังสือ อักขราภิธานศรับท์ ของหมอบรัดเลย์ ก็อธิบายว่า เป็นขนมไทยทั้งสองชนิด[218] และขนมลอดช่องนั้นเดิมทีเป็นของชาวมุสลิม เนื่องจากมีส่วนประกอบของน้ำตาล กะทิ แป้งและใบเตย อันเป็นสินค้าส่วนหนึ่งที่นำมาจากหัวเมืองทางปักษ์ใต้[219] ประเด็นสำคัญคือ ขนมซึ่งชาวบ้านในย่านป่าขนม "ทำขายและนั่งร้านขาย" นั้น หากมองอย่างผิวเผิน อาจจะเห็นว่าล้วนเป็นขนมไทยทั้งสิ้นได้แก่ขนมชะมด กงเกวียน สามเกลอ หินฝนทอง กรุบ พิมพ์ถั่ว และสำปะนี ขนมดังกล่าวมักเป็นส่วนหนึ่งของขนมในงานพิธีมงคล อาทิ งานแต่งงาน งานขึ้นปีใหม่ งานบุญวันนักขัตฤกษ์ต่างๆ และงานฉลองเลื่อนชั้นยศ เลื่อนตำแหน่ง เป็นต้น[220] แต่เมื่อกล่าวถึงขนมไทยแท้ๆ จากการศึกษาได้พบว่า ส่วนประกอบหลักของขนมไทย มักหนีไม่พ้นของสามสิ่ง คือ แป้ง น้ำตาล และมะพร้าว นำมาคลุกเคล้าผสมผสาน ดัดแปลงตามสัดส่วนที่เหมาะสม ด้วยวิธีต่างๆ อาทิ ต้ม นึ่ง ทอด จี่ ผิง ฯลฯ ก็จะได้ขนมไทยมากมายหลายชนิด และมีคำอธิบายของผู้ใหญ่สูงอายุชี้ว่า สมัยโบราณ คนไทยไม่ได้กินขนมกันทุกวัน หากแต่จะได้กินก็ต่อเมื่อมีงานนักขัตฤกษ์ หรืองานบุญสำคัญเท่านั้น[221] ขนมไทยที่กินกับน้ำกะทิ และทำเลี้ยงแขกในงานบุญเสมอก็คือ ขนมสี่ถ้วย ซึ่งหมายถึง ไข่กบ(เม็ดแมงลัก) นกปล่อย(ลอดช่อง) มะลิลอย(บัวลอย) และอ้ายตื้อ(ข้าวเหนียวน้ำวุ้น) [222] ส่วนขนมที่ใช้เลี้ยงในงานมงคลต่างๆได้แก่ ขนมชั้น ขนมจ่ามงกุฏ ขนมกง ขนมสามเกลอ ขนมชะมด ขนมบ้าบิ่น ขนมหม้อแกง ขนมปุยฝ้าย ขนมถ้วยฟู ขนมเทียนแก้ว ขนมทองหยิบ ขนมทองหยอด ขนมทองพลุ ขนมทองเอก ขนมทองโปร่ง ขนมทองม้วน ขนมฝอยทอง เป็นต้น ขนมบางชนิดไม่เพียงแต่จะประกอบด้วยแป้ง และน้ำตาลเท่านั้น ยังมีส่วนผสมสำคัญของขนมไทยนั้นๆ ผู้เชี่ยวชาญการทำขนมท่านหนึ่งเชื่อว่า นางมารี ปินา ดึ กีมาร์ (Marie Pena de Guimar หรือ Guiomar) ภรรยาชาวโปรตุเกสของเจ้าพระยาวิชาเยนทร์[223] ได้รับบรรดาศักดิ์เป็น "ท้าวทองกีบม้า" ตำแหน่งเวิเศสกลาง ถือศักดินา 400 ได้เป็นผู้กำกับการพนักงานของหวานเป็นผู้นำมาเผยแพร่ กล่าวคือ
" ท่านท้าวทองกีบม้าผู้นี้เป็นต้นสั่งสอนให้ชาวสยามทำของหวานคือ ขนมทองหยิบ ทองหยอ ฝอยทอง ขนมทองโปร่ง ทองพลุ ขนมผิง ขนมฝรั่ง ขนมขิง ขนมไข่เต่า ขมมทองม้วน ขนมสัมปันนี ขนมหม้อแกง เป็นต้นเหตุเดิมที่ท้าวทองกีบม้าทำและสอนให้ชาวสยาม… "[224]
ดังนั้นแม้ว่าหลักฐานคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรมจะมิได้บอกว่า บรรดาขนมทั้งหลายซึ่งถูก "ทำขาย" และ "นั่งร้านขาย" ในตลาดย่านป่าขนม อันได้แก่ ขนมชะมด ขนมกง ขนมเกวียน ขนมสามเกลอ ขนมหินฝนทอง ขนมกรุบ ขนมพิมพ์ถั่ว ขนมสำปะนี และขนมแห้งต่างๆ เป็นขนมชื่อไทยซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากขนมโปรตุเกส แต่ส่วนผสมหลักของขนมเหล่านี้อันได้แก่ แป้งถั่วเหลือง แป้งมัน และไข่แดง เป็นสิ่งบ่งชี้ให้เห็ยที่มาดั้งเดิมของขนมดังกล่าวได้เป็นอย่างดี โดยขนมกงเกวียน ทำจากแป้ง ถั่ว คลุกน้ำตาล ปั้นเป็นรูปดั่งรูปกงเกวียน มีฝอยทองคลุม ฝอยดังกล่าวทำจากแป้ง ถั่ว ผสมไข่แดง ทอดน้ำมันโรยเป็นฝอย[225] ขนมกงขนมเกวียน จึงจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับขนมฝอยทอง (fios de ovos) ทองหยิบ ทองหยอด และทองม้วน ของชาวโปรตุเกส ขนมชะมด ขนมสามเกลอ และขนมหินฝนทองต่างก็มีส่วนผสมของแป้งและน้ำตาลทอดน้ำมันหรือ คั่วให้สุกก่อนจะปั้นแต่งให้มีรูปลักษณะตามชื่อขนม ขนมกรุบนั้นอาจจัดอยู่ในกลุ่มขนมขนมกรอบเค็ม ซึ่งโปรตุเกสเรียกว่า "Coscorões" ส่วนขนมพิมพ์ถั่วอาจหมายถึงขนมซึ่งหมอบรัดเลย์เรียกว่า "ขนมตบตี" ทำโดยเอาแป้งถั่วเหลืองมาคั่วให้สุก คลุกเข้ากับน้ำตาลให้หวานแล้วพิมพ์เป็นรูปต่างๆ[226]
การที่หลักฐานคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรมระบุว่า พ่อค้าจีนเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายขนมแบบวัฒนธรรมจีน อาทิ ขนมโก๋ ขนมเปีย และขนมจันอับ อาจเชื่อมโยงไปถึงการตีความว่าผู้ค้าขนมแบบโปรตุเกสในเมืองพระนครศรีอยุธยาว่าน่าจะเป็นชาวบ้านจาชุมชนโปรตุเกสได้ด้วย แต่เนื่องจากหลักฐานคำให้การฉบับนี้ได้บันทึกชื่อขนมดังกล่าวเป็นคำเรียกภาษาไทยอย่างชัดเจนแล้ว แสดงให้เห็นว่าขนมดังกล่าวได้ผ่านขั้นตอนพัฒนาการ การผสมผสานและการเปลี่ยนผ่านทางวัฒนธรรมระหว่างสยามกับโปรตุเกสมาเป็นเวลานานพอสมควร จึงทำให้เชื่อว่าผู้ขายขนมไทยอิทธิพลโปรตุเกสในเมืองพระนครศรีอยุธยาเป็นกลุ่มคนที่อาจมีความสัมพันธ์กับชุมชนโปรตุเกสเป็นอย่างดี โดยอาจเป็นการโยงใยสายสัมพันธ์ฉันท์เครือญาติ หรือเป็นผู้ที่ได้รับการถ่ายทอดความรู้ในการทำขนมเหล่านั้นมาจากชุมชนโปรตุเกสผ่านทางราชสำนัก ดังได้กล่าวไปแล้วข้างต้น การที่หลักฐานคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม มิได้กล่าวถึงขนมไทยประเพณี หรือขนมไทยแท้แต่ดั้งเดิม อาทิ ข้าวเหนียวแดง ข้าวต้มผัด ข้าวเม่าคลุก ขนมต้มต่างๆ รวมไปถึงขนมสี่ถ้วย (คือไข่กบ นกปล่อย มะลิลอย อ้ายตื้อ)ฯลฯ คงจะมีสาเหตุมาจากขนมเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของวิถีการดำเนินชีวิต ของชาวสยาม ซึ่งแต่ละบ้านแต่ละเขต แขวงสามารถทำกินกันเองได้โดยไม่ต้องซื้อหา ขณะที่การทำขนมแบบจีนต้องทำโดยชาวจีน ขนมแบบโปรตุเกสก็จำเป็นต้องอาศัยประสบการณ์ความรู้และความชำนาญพิเศษซึ่งน้อยคนนักจะมีโอกาส ฝึกฝนจนสามารถทำขายได้เช่นกัน ด้วยเหตุนี้ ขนมอิทธิพลทางวัฒนธรรมโปรตุเกส จึงถูกกล่าวถึงในคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม ในฐานะสิ่งพิเศษในสังคมเมืองพระนครศรีอยุธยา ซึ่งจะต้องซื้อด้วยเงินจึงจะมีโอกาสได้ลิ้มรสขนมดังกล่าว
หลักฐานจดหมายของบาทหลวงฝรั่งเศสชิ้นหนึ่ง อาจบ่งบอกถึงความ มีระดับ ความมีหน้ามีตา และความมีรสนิยม ในการบริโภคขนมหวานของชุมชนโปรตุเกสได้เป็นอย่างดี เนื่องด้วย แม้แต่ราชสำนักสยาม ยังต้องเกณฑ์ขนมหวานจากพวกเข้ารีตโปรตุเกส เข้าไปบริโภคในพระราชวัง เนื่องในโอกาสนักขัตฤกษ์ทีละมากๆ[227] ได้ กล่าวคือ
" ในเวลานี้ได้เกิดการลำบากขั้นในการที่พวกเข้ารีตบางครัวต้องถูกเกณฑ์ให้ทำของหวานแก่พระเจ้าแผ่นดินในวันนักขัตฤกษ์ ในวันชนิดนี้พระเจ้ากรุงสยามก็มีรับสั่งให้พวกเข้ารีตเหล่านี้ทำของหวานเป็นอันมากอ้างว่าสำหรับงานนี้งานนั้น เป็นต้นว่าสำหรับงานพิธีล้างศรีษะช้าง(ผู้เขียนสันนิษฐานว่าน่าจะหมายถึงพระราชพิธีสมโไชช้างเผือก)ซึ่งถือกันว่าเป็นพระเจ้าองค์หนึ่ง หรือสำหรับงานไหว้พระพุทธบาทดังนี้ ครั้นพวกเข้ารีตได้รับคำสั่งให้ทำของหวานตามรับสั่ง พวกนี้ก็ตอบว่าเขาไม่เข้าใจว่าช้างอะไร แต่ก็คงทำตามคำสั่งหาขัดพระราชโองการไม่ ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าที่เขาตอบดังนี้จะเป็นด้วยความโง่เขลาหรืออย่างไร แต่ข้าพเจ้าเองก็ไม่เห็นด้วย"[228]
แม้ว่าครอบครัวที่ถูกเกณฑ์ไปทำขนมหวานจะไม่ใคร่พอใจต่อการถูกเกณฑ์เท่าใดนัก แต่ก็ไม่อาจขัดพระราชโองการได้ จดหมายข้างต้นเป็นหลักฐานยืนยันได้เป็นอย่างดีว่านอกจากท้าวทองกีบม้า ภรรยาของเจ้าพระยาวิชาเยนทร์จะได้รับราชการเป็นนางต้นห้องเครื่องหวาน[229] หรือวิเศสกลางแล้วยังอาจมีหญิงเชื้อสายโปรตุเกส จากชุมชนโปรตุเกส ติดตามเข้าไปรับราชการในราชสำนักสยาม สืบต่อๆกันมาด้วยก็ได้ เห็นได้จากตำแหน่งวิเศสกลาง นอกจากท้าวทองกีบม้าแล้ว ยังมีท้าวทองพยศอีกผู้หนึ่ง[230] ที่ได้ว่าของหวาน ในกรมวิเศสกลาง ตามหลักฐานในทำเนียบพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน และลูกมือทำขนมหวานก็คือคนจากชุมชนโปรตุเกสนั่นเอง การมีชื่อเสียงในเรื่องการทำอาหารเครื่องหวานอันเป็นวัฒนธรรมประจำชาติโปรตุเกส เป็นสิ่งบ่งชี้ให้เห็นว่าชุมชนโปรตุเกสในเมืองพระนครศรีอยุธยา น่าจะเป็นกลุ่มคนที่บริโภคน้ำตาลมากที่สุดกลุ่มหนึ่งในขณะนั้น [208] สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, "พงศาวดารเรื่องฝรั่งเศสกับไทย" ประชุมพงศาวดาร เล่ม16, หน้า35 : นอกจากนี้หลักฐานของลาลูแบร์ ยังกล่าวถึงการนำเข้าไวน์จากเมืองบอร์โดซ์ และเมืองกาฮอร์ส ของฝรั่งเศส มายังสยามด้วย อ้างจาก เดอ ลาลูแบร์, เล่มเดิม, หน้า96. [209] เดโช อุตตรนที, เรื่องเดิม, หน้57. * บาทหลวงไตไซรา ระบุว่าคอนสแตนติน ฟอลคอน หรือ ฟัลเกาเกิดที่เมืองเซฟาโลเนียเมื่อปี พ.ศ.2190 บิดาเป็นชาวกรีก มารดาเป็นชาวเมืองเวเนเซียนา ความยากจนและชอบผจญภัยทำให้เดินทางไปทำงานกับพ่อค้าอังกฤษในบริษัทอินเดียตัวันออก และได้เดินทางเข้ามาค้าขายกับพ่อค้าอังกฤษในอยุธยา ต่อมาสามารถเรียนรู้ภาษาไทย และได้รับความไว้วางใจจากออกญาพระคลัง (Barcalão) ให้ทำงานในกรมพระคลังสินค้าแล้วได้รับตำแหน่งขุนวิชาเยนทร์ , พระ, พระยา และเจ้าพระยาตามลำดับ ท้ายที่สุดตำแหน่งเทียบเท่ามหาเสนาบดีในราชสำนักสยาม บาทหลวงไตไซราระบุว่าฟอลคอนได้แต่งงานกับมาเรีย กิอูมาร์ ดึ ปินา บุตรสาวชาวคาธอลิกเชื้อสายญี่ปุ่นซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ในเมืองพระนครศรีอยุธยา มารดาชื่ออูร์ซูลา ยามาดะ (Úrsula Yamada) มีบิดาบุญธรรมชื่อพานิช (Phanik) ดู P.Manuel Teixeira, op.cit., p.40-41. [210] ไพโรจน์ เกษแม่นกิจ(2), เรื่องเดิม, หน้า110. [211] กรมศิลปากร,ประชุมพงศาวดารฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม3 (กรุงเทพ : ก้าวหน้า,2507), หน้า193. [212] นันทา สุตกุล, เรื่องเดิม, หน้า21. [213] จดหมายของมองซิเออร์ เดอ โลลีแยร์ ถึงผู้อำนวยการคณะการต่างประเทศ วันที่ 29 มกราคม พ.ศ.2292 ระบุว่า บาทหลวงโยเซฟ มอนตันนา คณะเยซูอิต ได้นำ "เครื่องกวนไปให้ออกญาพระคลัง และขุนนางผู้ใหญ่ เพื่อเป็นการทอดไมตรีต่อบุคคลทั้งสอง ดู ประชุมพงศาวดารเล่ม22, หน้า203. [214] ปรีดา ศรีชลาลัย, แถลงงานประวัติศาสตร์ เอกสารโบราณคดี ปีที่3 เล่ม2, หน้า21 [215] เรื่องเดียวกัน, หน้า21. [216] เรื่องเดียวกัน, หน้า22-23. [217] ปรีดา ศรีชลาลัย, "คำให้การขุนหลวงหาวัดประดู่ทรงธรรม", หน้า56. [218] แดนบีช บรัดเลย์, อักขราภิธานศรับท์, หน้า74-75 [219] ปรีดา ศรีชลาลัย, เรื่องเดิม, หน้า58-59. [220] ขวัญใจ เอมใจ, "ความหมายใต้ปรากฏการณ์ความหวานขนมไทย" สารคดี 70 (ธันวาคม :2533), หน้า99-100. [221] เรื่องเดียวกัน, หน้า95. [222] เรื่องเดียวกัน, หน้า100. [223] อเล็กซานเดอร์ ฮามิลตัน ระบุว่า "ข้าพเจ้าได้เห็นท่านผู้หญิงของฟอลคอนในปี พ.ศ.2262 เวลานี้ท่านได้รับเกียรติเป็นต้นห้องเครื่องหวานของพระเจ้าแผ่นดิน ท่านเกิดในกรุงสยามในตระกูลอันมีเกียรติและในเวลานั้นท่านเป็นที่ยกย่องนับถือแก่คนทั่วไป…" ดู สุพรรณี กาญจนัษฐิติ, เล่มเดิม, หน้า62. [224] เรื่องเดียวกัน, หน้า108 [225] แดนบีช บรัดเลย์, เรื่องเดิม, หน้า74-75. [226] เรื่องเดียวกัน, หน้า74-75. [227] "รายงานของบาทหลวง เดอโลลีเยร์" ประชุมพงศาวดาร เล่ม22, หน้า204. [228] "จดหมาย ม. ดูบัว ถึง ผู้อำนวยการคณะต่างประเทศ วันที่3 ธันวาคม พ.ศ.2292" ประชุมพงศาวดารเล่ม22, หน้า236. [229] สุพรรณี กาญจนัษฐิติ, "จดหมายเหตุอเล็กซานเดอร์ แฮมิลตันเกี่ยวกับราชอาณาจักรสยาม" อักษรศาสตร์ ปีที่11 ฉ.1 กันยายน 2531,หน้า 62. [230] "ตำแหน่งนาพลเรือน" กฏหมายตราสามดวง เล่ม1,หน้า 222.

1 ความคิดเห็น:

  1. ความคิดเห็นนี้ถูกลบโดยผู้ดูแลระบบของบล็อก

    ตอบลบ