วันจันทร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2554

เกี้ยว กริช และสัปทน : เครื่องยศโปรตุเกสที่บางท่านยังไม่ทราบ

โดยพิทยะ ศรีวัฒนสาร เมื่อ 9 กันยายน 2011 เวลา 18:55 น.

ภาพวาดในศิลปะนันบันของญี่ปุ่น ซึ่งนักวิชาการเชื่อว่าเป็นขบวนของกะปิเตา-มูร์(Capitao -mor)นายอำเภอฝ/หัวหน้าชุมชนโปรตุเกส)ที่เมืองนางาซากิ


ในหนังสือ “The Embassy of Pero Vaz de Siqueira to Siam (1684-1686) โดย ลึอูนอร์ ดึ ซึอาบรา(Leonor de Seabra) ตีพิมพ์ที่มาเก๊า เมื่อ ค.ศ.2005 รวบรวมบันทึกของคณะราชทูตโปรตุเกส ชื่อ เปรู วาซ ดึ ซิไกรา(Pero Vaz de Siqueira) ซึ่งเดินทางเข้ามายังสยามระหว่างค.ศ.1684-1686 ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ตอนหนึ่งในบันทึกดังกล่าวบรรยายถึงประเพณีการแห่แหนไปส่งคณะทูตจากจวนเอกอัครราชทูตไปยังท่าเรือ และวัฒนธรรมการแต่งกาย การประดับเครื่องยศอันประกอบด้วยสัปทนและเกี้ยวก่อนเดินทางจากมาเก๊าเข้ามายังสยาม กล่าวคือ



ขบวนของชายสูงศักดิ์ชาวโปรตุเกสวาดบนแผงลับแล ศิลปะนันบันของญี่ปุ่น


“วันที่ 6 เดือนมีนาคม ค.ศ.1684 ฯพณฯเอกอัครราชทูต เดินทางออกจากจวนของท่านเพื่อไปขึ้นเรือในลักษณะดังต่อไปนี้


บรรดาบุคคลสำคัญทั้งหลายในเมืองนี้ ( คือ มาเก๊า: ผู้แปล ) ต่างก็พากันมาที่บ้านของฯพณฯเอกอัครราชทูตเพื่อการติดตามไปส่งที่ท่าเรือ ท่ามกล่างคนเหล่านี้มี ท่านสาธุคุณ บาทหลวง อันตอนิอู มอร์ไรช์ ดึ ซาร์เมนตู (António Morães de Sarmento)ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ปกครองสังฆมณฑลแห่งจีน(Governor of the Bishopric of China)กับคณะสงฆ์(priests)ผู้ติดตาม นอกจากนี้ก็มีเจ้าอาวาสคณะออกุสตินียน (the Augustinian Abbot) พร้อมด้วยสงฆ์ (friars) ผู้ติดตาม และกลุ่มบาทหลวงคณะดูมินิกัน (the Dominicans) ซึ่งบาทหลวงผู้ดำรงตำแหน่งพระราชาคณะ(the Prelate)มิได้เดินทางมาร่วมด้วยเนื่องจากมีอาการอาพาธ ส่วนสมุห์บัญชีของคณะนักบุญฟรานซิสกัน (the Custodian of the Church of Saint Francis) ก็มาพร้อมกับชุมชนที่สังกัดโบสถ์ดังกล่าว รวมทั้งท่านกรรมาธิการแห่งคณะแม่ชี (the Commissioner of the Nuns) และ ฯพณฯ ผู้พิพากษา (His Highness Magistrate) ฟรานซิสกู กูเมซ บูเตลญู(Francisco Gomez Botelho) ผู้มาพร้อมกับคณะเจ้าหน้าที่ศาล ทั้งนี้ยังมีชาวเมืองและคนครึ่งชาติจีนมาร่วมส่งฯพณฯเอกอัครราชทูตจนล้นหลามไปทั้งสองฟากถนน เมื่อทุกคนมาพร้อมหน้ากันแล้ว ฯพณฯเอกอัครราชทูต ได้สืบเท้าออกมาในเครื่องแต่งกายผ้าทอเงินสูงค่า(dress in a rich silver woven fabric) เดินเส้นด้วยไหมทองคำ สวมสร้อยคอราคาแพงฝีมือประณีตน้ำหนักเท่ากับทองคำ 5 ออนซ์ครึ่ง (five and a half gold loaves)[1] เสื้อคลุมของฯพณฯเอกอัครราชทูตเดินลวดลายด้วยเส้นทองคำยกปมเลอค่า (the cloak had rich gold filigree buttons) ประดับกายด้วยดาบทองคำและกริชทองคำอันสง่างามกลมกลืนด้วยฝีมือสกุลช่างเดียวกัน เครื่องประดับของฯพณฯเอกอัครราชทูตมีราคามากกว่าทองคำมูลค่า 8 ออนซ์ สายรัดดาบเส้นหนึ่ง(one talim)เป็นชิ้นงานถักยกปมด้วยเส้นด้ายทองคำราคาแพง(one talim with an expensive gold embroidery work) จากอังกฤษ และหมวกของฯพณฯเอกอัครราชทูตนั้นก็ประดับด้วยเปียทองคำซึ่งทำขึ้นอย่างประณีตงดงามเกินราคาที่แท้จริง ภายใต้สัปทนทองคำขลิบด้วยสีเหลืองอมแดงเข้มประดับด้วยยอดเงิน ( a fine gold parasol lined with yellow damask with its pinnacle in silver ) ส่วนสัปทนประดับมุกสีแดงเข้มอีก 4 หลัง(four parasols of nacre damask ) ขลิบสีเหลืองอมแดงยอดเงิน ผู้ที่ยืนทางด้านขวามือของฯพณฯเอกอัครราชทูต คือ ท่านสาธุคุณ หัวหน้านักบวช เปดรู ดา ตรินดาดึ (the Reverend Father, Master Friar Pedro da Trindade) อนุศาสนาจารย์ประจำคณะทูต ทางด้านซ้ายมือ คือ เลขานุการทูต ฟรานซิสกู ฟรากูซู(Francisco Fragoso) ผู้ซึ่งยอมหลีกทางยกที่ของตนให้แก่ท่านสาธุคุณหัวหน้านักบวช ทันใดนั้นเอง มานูเอล รูดริเกช แฟรย์ (Manuel Rodrigues Freyre) ผู้บังคับกองอาภรณ์( the Captain of the banner)[2] ก็ก้าวมายืนด้านหลังของฯพณฯเอกอัครราชทูตพร้อมกับชูเสาประดับด้วยตราสัญลักษณ์ของราชสำนักโปรตุเกส (the Royal Coat) ที่สามารถแลเห็นได้อย่างชัดเจนจากสองฟากถนน ตราสัญลักษณ์ดังกล่าวมีพื้นสีขาวกับสีแดงเข้มประดับดวงตราของราชสำนัก โดยปักอย่างประณีตด้วยเส้นไหมยกดอกทองคำเดินเส้นขอบสีทอง (exquisitely embroidered in golden thread with borders and girdle and bullion in crimson and gold) ด้านหน้าของตราราชสำนักมีขุนนางจำนวน 6 คน ยืนเรียงตามฐานันดรยศ ได้แก่ ผู้บังคับกองร้อยพร้อมด้วยผู้บังคับหมวดและผู้บังคับหมู่( the Captain with his Second Lieutenant and Sergeant) นอกจากนี้ก็มีหัวหน้าผู้ประกอบพิธีกรรมและผู้ช่วย(the Master of Ceremonies and the Assistant) เจ้าพนักงานดูแลทั่วไปประจำคณะทูต 2 นาย ( two Chamberlain) ยืนด้านหน้าคนผิวดำชาวพื้นเมือง 2 นาย( two Kaffirs) คนหนึ่งถือกลองอีกคนถือทรัมเป็ตเงินซึ่งติดธงสีแดงเข้มแบบหอยมุก(nacre damask flag)ไว้ เจ้าหน้าที่ดูแลทั่วไปทั้งสองคนถือตราประจำตระกูลทำจากผ้าปักไหมยกทองและเงินของท่านเอกอัครราชทูต คนผิวดำชาวพื้นเมืองทั้งสองนายแต่งกายอย่างดีด้วยเครื่องแต่งกายแบบชาวจีนและสวมหมวกกำมะหยี่สีแดงเข้ม(nacre velvet caps) ปักลูกไม้สีขาว(white lacework) แถวดังกล่าวขนาบด้วยกองทหาร 12 คน ทำหน้าที่เป็นหน่วยทหารรักษาความปลอดภัยซึ่งท่านผู้สำเร็จราชการ(the Count Viceroy)ออกคำสั่งให้ส่งมาจากเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์(the prison guard) ภายใต้การบังคับบัญชาของกัปตัน ฟรานซิสกู แฟร์ไรรา ดา ครูซ(Captain Francisco Ferreira da Cruz) ทหารรักษาความปลอดภัยเหล่านี้สวมเสื้อผ้าตามแฟชั่นของฤดูใบไม้ผลิผ้าอย่างหรูหราจากประเทศจีนโดยท่านเอกอัครราชทูตเป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายทั้งหมด และเหตุที่ท่านเอกอัครราชทูตเห็นว่า หน่วยทหารดังกล่าวซึ่งเป็นกองทหารปืนคาบศิลา(musketeers) มีจำนวนเพียงเล็กน้อย จึงให้รับชาวเมืองเข้าเป็นทหารเพิ่มอีก 8 นาย รวมเป็น 20 คน โดยเพิ่มค่าจ้างให้สูงขึ้นด้วยเงินส่วนตัว เพื่อให้พวกเขาเต็มใจร่วมทางไปยังสยาม ด้านหลังของท่านเอกอัครราชทูต คือ มานูเอล ดา โรชา(Manoel da Rocha) ซึ่งเกิดที่มาเก๊า ทำหน้าที่เป็นอาลักษณ์ใหญ่(Main scribe)ของเลขานุการคณะทูต เขาแต่งกายอย่างสง่าผ่าเผยด้วยชุดเสื้อคลุมยาวสำหรับสวมในงานเลี้ยงซึ่งท่านเอกอัครราชทูตสั่งตัดให้เช่นกัน ขุนนางทั้งหมด 6 คน (six pages) สวมใส่เสื้อผ้าด้วยสีสันหรูหรามีปุ่มลวดลายเป็นเส้นสีเงิน(silver filigree buttons) แบบเดียวกันสั่งตรงมาจากประเทศจีน เบื้องหลังทางด้านขวามือของพวกเขา เป็นเกี้ยว(the sedan chair)ซึ่งท่านเอกอัครราชทูตเตรียมไว้สำหรับใช้ในราชอาณาจักสยาม เกี้ยวดังกล่าวตกแต่งด้วยอุปกรณ์เงิน พรมและเบาะกำมะหยี่สีแดงเข้ม( silver fittings and crimson velvet carpet and cushion) ภายในปักด้วยเส้นไหมทอง หลังคาของเกี้ยว(the canopy of the sedan chair) มีสีแดงเข้มและสีเขียวประดับด้วยแผ่นทองคำและเงินจากจีนภายในกรุด้วยสีแดงเข้มอมเหลือง คนหามเกี้ยวมีทั้งหมด 9 นาย แต่งกายแบบด้วยไหมทออย่างประณีตจากจีนเดียวกับคนถือสัปทนซึ่งสวมหมวกกำมะหยี่สีแดงสดขลิบลูกไม้สีขาว ขณะที่คนหามเกี้ยววัยฉกรรจ์สวมหมวกตกแต่งด้วยลูกไม้สีต่างๆอย่างดีจากอังกฤษ

ท่ามกลางความเอิกเกริกเกรียวกราวของผู้คนทั้งที่มาเองและได้รับเชิญมาเป็นเกียรติ มีทั้งเสียงกลองและทรัมเป็ต ท่านเอกอัครราชทูตก็ได้เดินทางออกจากจวนที่พำนักมุ่งไปยังวิทยาลัยนักบุญเปาลู (the São Paulo College) เมื่อถึงประตูโบสถ์ก็พบว่า คณะสงฆ์ทั้งหมดกำลังยืนรออยู่พร้อมด้วยบาทหลวงฝ่ายตรวจสอบ(the Inspector) และพระราชาคณะ เนื่องจากต่างก็ทราบล่วงหน้ามาแล้วว่า ท่านเอกอัครราชทูตจะไปสักการะธาตุกระดูกของนักบุญฟรานซิส เซเวียร์(Saint Francis Xavier) ซึ่งท่านเอกอัครราชทูตมีศรัทธาอย่างเปี่ยมล้นก่อนออกเดินทางไปยังสยาม คณะสงฆ์ได้เดินนำท่านเอกอัครราชทูตไปยังแท่นบูชา จากนั้นก็ปูพรมและเบาะรองนั่งให้ เมื่อท่านเอกอัครราชทูตนั่งลงแล้วท่านก็ได้กล่าวคำสวดภาวนา หลังจากนั้น ผู้ปกครองคริสต์จักร(the Prefect of the Church) ในชุดเสื้อคลุมสงฆ์(surplice)และผ้าพาดไหล่(stole) [3] เดินขึ้นไปยังพระแท่นบูชา พร้อมกับนำธาตุกระดูกแขนของนักบุญฟรานซิส เซเวียร์ลงมามอบแก่ท่านเอกอัครราชทูต ซึ่งท่านก็เอื้อมมือไปรับไว้ด้วยอิริยาบถอันแสดงถึงความเคารพอย่างสูงสุด และค้อมกายอำลาด้วยความศรัทธาแรงกล้า จนทำให้ผู้คนรอบข้างถึงกับหลั่งน้ำตาด้วยความตื้นตันใจ จากนั้นท่านเอกอัครราชทูตก็ลุกขึ้นกล่าวลาคณะสงฆ์ ซึ่งยืนกรานว่าจะออกไปส่งท่านที่ท่าเรือ ท่ามกลางความเงียบงันบรรดาชาวเมืองต่างก็กล่าวตำหนิคณะผู้ปกครองเมืองมาเก๊า( the Town Hall) ซึ่งไม่ได้แสดงความภาคภูมิใจต่อการที่ท่านเอกอัครราชทูตได้รับเลือกจากผู้สำเร็จราชการโปรตุเกสแห่งอินเดียภายใต้พระราชบัญชาของเจ้าชายมกุฎราชกุมารแห่งโปรตุเกสให้เดินทางไปยังราชอาณาจักรสยาม ท่านเอกอัครราชทูตเดินผ่านถนนหลายสายเพื่อไปยังท่าเรือ หน้าต่างของตึกทุกหลังเนืองแน่นไปด้วยสุภาพสตรีที่รู้ข่าวการเดินทางของท่าน ยิ่งกว่านั้นพวกเขาล้วนเศร้าโศรกต่อการออกเรือไปยังสยามของท่าน เนื่องจากท่านเอกอัครราชทูตเป็นบุคคลที่ชาวเมืองภาคภูมิใจ แต่ด้วยจิตใจอันห้าวหาญท่านเอกอัครราชทูตก็ได้เดินทางไปถึงสะพานปลาซึ่งมีเรือแจว(Baloon)สะอาดสะอ้านลอยลำรออยู่ บรรดาชาวเมืองต่างก็ลงขบวนเรือแจวเล็กของตนพร้อมกับชวนพวกพ้องแห่ลงเรือออกไปส่งท่านเอกอัครราชทูตยังเรือฟรีเกตของท่านด้วย บางคนก็ยังอ้อยอิ่งอยู่บนเรือฟรีเกตของท่านเอกอัครราชทูตจนกระทั่งได้เวลาเรือออก ผู้ที่เป็นหัวหน้าชาวเมืองในการทำเช่นนี้ คือ ผู้พิพากษาฟรานซิสกู กูเมซ บูเตลญู และบรรดาหมู่สงฆ์คณะเยซูอิต ซึ่งไม่ใคร่อยากจะอำลาจากท่านเอกอัครราชทูตเท่าใดนัก เช่นเดียวกับบาทหลวงในสังกัดของโบสถ์นักบุญฟรานซิส เนื่องจากท่านเอกอัครราชทูตเป็นผู้อุปถัมภ์โบสถ์คนสำคัญกำลังจะจากไปไกล ท่านสาธุคุณ บาทหลวง อันตอนิอู มอร์ไรช์ ดึ ซาร์เมนตู (António Morães de Sarmento)ผู้ปกครองสังฆมณฑลแห่งจีน(Governor of the Bishopric of China) ก็มิได้รู้สึกต่างไปจากผู้อื่นเลย ขณะที่ท่านเอกอัครราชทูตลงเรือไปจากสะพานปลาพร้อมกับผู้ไปส่งยังเรือฟรีเกต เรือทุกลำบริเวณนั้นต่างก็ประดับประดาด้วยป้ายและธงทิว(shields and banners) และยิงปืนสลุตด้วยเสียงอันดังเพื่อแสดงการคารวะ ซึ่งถึงแม้บรรดาเสนาบดีผู้ปกครองเมืองมาเก๊า(the Town Hall Ministers) จะบังคับให้ชาวเมืองทั้งหมดออกมาปรบมือส่งท่านเอกอัครราชทูตให้ดังที่สุดเท่าที่จะดังได้เพียงใด ก็ยังมิอาจเปรียบได้กับเสียงแห่งความชื่นชมที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและความเสียสละทุ่มเทต่อกรณียกิจของเจ้าชายและมูลนาย((Prince and Lord) ของพวกเขา ” [4]

แม้เราจะทราบจากเอกสารข้างต้นถึงบรรยากาศและขนบประเพณีของการส่งคณะทูตโปรตุเกสมายังสยามว่า มีความเป็นไปตามขั้นตอนอย่างไร แต่ภาพเขียนในศิลปะนันบัน(Nan Ban Art) ที่เมืองนางาซากิ ประเทศญี่ปุ่น ดูเหมือนจะสะท้อนให้เห็นบุคลิกภาพของชาวโปรตุเกสขณะออกเดินทางไปปฎิบัติหน้าที่ต่างแดน โดยเฉพาะเรื่องของการแต่งกาย การใช้ชีวิต และความโอ่อ่าสง่าผ่าเผยของคณะราชทูต หรือ แม้กระทั่งหัวหน้าชุมชนโปรตุเกสในเมืองต่างๆของเอเชียและแอฟริกาได้ระดับหนึ่ง นอกจากนี้ข้อมูลดังกล่าวยังอาจจุดประกายความคิดแก่ผู้สนใจ หากมีการตั้งประเด็นถึงวัฒนธรรมการใช้สัปทนและเครื่องราชยานคานหามที่สืบทอดกันมายาวนานในสังคมสยามตั้งแต่สมัยก่อนอารยธรรมไทย


[1] ความหมายของทองคำน้ำหนักมูลค่า 1 เลิฟ (1loaf of gold) ในปัจจุบัน เท่ากับ 1 ออนซ์ มาตรฐานทองคำ (One standard ounce of gold) หรือ 1,140 ดอลล่าร์สหรัฐอเมริกา (ซึ่งเทียบได้กับน้ำหนักของขนมปังซึ่งตัดออกมาจากขนมปังก้อนใหญ่ 1 ชิ้น - slice of bread) (อ้างจากhttp://www.investinganswers.com/a/9-most-surprising-things-worth-more-their-weight-gold-1676) ทั้งนี้ น้ำหนักทองคำ 1 ออนซ์ เทียบได้กับน้ำหนัก 28 กรัม (อ้างจาก http://en.wikipedia.org/wiki/Ounce)
[2] banner หมายถึง ในที่นี้หมายถึง gierela m. แปลว่า garment อ้างจาก http://home.comcast.net/~modean52/oeme_dictionaries.htm
[3] ผ้าพันคอยาวปกติทำจากผ้าไหมปักหรือผ้าลินิน สวมใส่ไหล่ซ้ายโดยมัคนายกและพาดไหล่ทั้งสองข้างโดยพระสงฆ์และพระสังฆราชขณะทำพิธีทางศาสนา อ้างจาก http://www.thefreedictionary.com/stole
[4] Leonor de Seabra, The Embassy of Pero Vaz de Siqueira to Siam, 1684-1686. (Macau: University of Macau, 2005), pp.136-140

วันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2554

"อักษรยุโรปแจกตามภาษาไทยสำหรับเด็กพึ่งหัดเรียนหนังสือ" (AKSON EUROPA CHEEK TAM PHASA THAI SAMRAB DEK PHU’NG HAT RIEN NANGSU’.

โดย พิทยะ ศรีวัฒนสาร
ภาพจากอาจารย์ธวัชชัย ตั้งศิริวาณิชย์(Thavatchai Tangsirivanich ) ขอขอบคุณเป็นอย่างยิ่ง


ผู้เขียนอ่านพบข้อคิดเห็นของผู้รู้เกี่ยวกับหนังสือ ชื่อ "AKSON EUROPA CHEEK TAM PHASA THAI SAMRAB DEK PHU’NG HAT RIEN NANGSU’. NA : BANGKOK SAKKARAT P. CHRISTO CHAò M DCCC XXX VIII " ในหน้าFace book ของอาจารย์ธวัชชัย ตั้งศิริวาณิชย์(Thavatchai Tangsirivanich ) ซึ่งอาจารย์ธวัชชัยถอดคำอ่านออกมาเป็นคำอ่านภาษาไทยว่า "อักษรยุโรปฉีกตามภาษาไทยสำหรับเด็กพึ่งหัดเรียนหนังสือ" และมีการแสดงความคิดเห็นของผู้รู้หลายท่าน ด้วยความที่ผู้เขียนอยู่นอกวงการผู้รู้ ก็เลยแยกออกมาแสดงความคิดเห็นต่างหาก ในประเด็นเล็กๆ ต่อคำว่า CHEEK คำว่า NA: BANGKOK คำว่า CHRISTO และตัวเลขภาษาละติน

ผู้เขียนเห็นว่า คำว่า “ฉีก (CHEEK)” นั้นตามคำอ่านข้างต้นก่อนหน้านี้ น่าจะอ่านว่า “แจก” คือ แจกลูกตัวสะกดมากกว่า “ฉีก”


ชื่อหนังสือจึงควรอ่านว่า "อักษรยุโรปแจกตามภาษาไทยสำหรับเด็กพึ่งหัดเรียนหนังสือ"

ส่วนคำว่า NA : BANGKOK นั้น คำว่า NA เป็นภาษาโปรตุเกส แปลว่า “ใน หรือ ณ กรุงเทพฯ” ซึ่งผู้เขียนเข้าใจว่า เมื่อแรกตั้งนามสกุลในสยามสมัยรัชกาลที่6 มีวัตถุประสงค์เพื่อบอกรากเหง้าตระกูลของเจ้านายและขุนนางสายต่าง ๆ อาทิ ณ อยุธยา ณป้อมเพชร ทำนองเดียวกับเจ้านายและขุนนางฝรั่งชาติยุโรปที่สืบเชื้อสายมาจากชาวคริสต์ตระกูลเก่าแก่ ก็จะมีคำว่า de หรือ of นำหน้านามสกุล ส่วนพวกยิว หรือ คนพื้นเมืองที่เปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์นั้น เท่าที่ทราบจากเจ้าหน้าที่ศูนย์วัฒนธรรมโปรตุเกส มักจะเอาต้นไม้ แม่น้ำ ลำธาร สี ก้อนหิน ป่าไม้ ฯลฯ มาตั้งเป็นนามสกุลใหม่ๆ กัน

คำว่า CHRISTO เป็นภาษาละติน ส่วนที่เขียน ลำดับตัวเลขละตินว่า “ M DCCC XXX VIII ” นั้น ตรงกับ ตัวเลข 800 30 1000 8 เทียบได้กับ ค.ศ. 1838

การแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นที่น่าสนใจและมีคุณค่าทางวิชาการอื่นๆ เกี่ยวกับหนังสือข้างต้นนั้น อาจดูได้จากหน้า face book ของอาจารย์ธวัชชัย ตั้งศิริวาณิชย์ครับ

ส่วนเรื่องการแจกลูกสะกดคำในภาษาไทยดูจากเว็บไซต์การจัดการความรู้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาภูเก็ต โดยผู้เขียน คือ : นิภาพร วิชชุปัญญ์กุล หน่วยงาน : ร.ร.วัดเทพนิมิต เสาร์ ที่ 25 เดือน มิถุนายน พ.ศ.2554 ในhttp://www.kmphuket.net/?name=research&file=readresearch&id=8