Centre for European Studies, Chulalonkorn University and the Embassy of Portugal
พิทยะ ศรีวัฒนสาร
คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
Bidya Sriwattanasarn, Dhurakijpundit University
การบรรยายพิเศษเรื่อง อาชีพชาวโปรตุเกสในสยาม 1511-1767: มุมมองใหม่กับความหลากหลายที่แฝงเร้นนี้ จัดโดยศูนย์ยุโรปศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่หอประชุมใหญ่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ 14 มิถุนายน ค.ศ. 2546 ต่อมาถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในเอกสารประกอบการสัมมนาชื่อ "ความสัมพันธ์ ไทย ยุโรป จากอดีตสู่ปัจจุบัน เยอรมนี โปรตุเกส รัสเซีย", พรสรรค์ วัฒนางกูร (บรรณาธิการ) กรุงเทพฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
-อารัมภบท
Bon dia signors e signoras. Como esta? Good morning ladies and gentlemen. กราบเรียนฯพณฯ เอกอัครราชทูตโปรตุเกส ณ กรุงเทพฯ ผู้อำนวยการศูนย์ยุโรปศึกษา และท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย ผู้เขียนรู้สึกยินดีที่ได้มีโอกาสร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสัมมนาพิเศษ ฉลองห้าศตวรรษความสัมพันธ์ระหว่างไทย-โปรตุเกสในครั้งนี้
บทความเรื่อง อาชีพของชาวโปรตุเกสในสยาม(ค.ศ.1511-1767): มุมมองใหม่กับความหลากหลายที่แฝงเร้น เป็นความพยายามที่จะอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างกรุงศรีอยุธยากับโปรตุเกสในลักษณะของประวัติศาสตร์สังคม โดยการวิเคราะห์และเชื่อมโยงการตีความเอกสารด้วยทัศนะที่มองลึกลงไปยิ่งกว่าการชี้นำของหลักฐานที่มากด้วยอคติทางเชื้อชาติ
กล่าวคือ นับตั้งแต่อัฟฟองซู ดัลบูแกร์กึ ผู้สำเร็จราชการโปรตุเกสแห่งมะละกา ส่งดูอารตึ แฟร์นันดึช เดินทางเข้ามาติดต่อกับกรุงศรีอยุธยาเป็นครั้งแรกในปีค.ศ.1511 ทำให้มีการตั้งถิ่นฐานของชาวโปรตุเกสขึ้นในกรุงศรีอยุธยาในเวลาอีกหกปีต่อมา เมื่อดูอาร์ตึ กูเอลยูเข้ามาทำสัญญาทางพระราชไมตรีกับสมเด็จพระรามาธิบดีที่2ในปีค.ศ.1516 หลังจากนั้น ชาวโปรตุเกสก็มีบทบาททางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรมในเมืองพระนครศรีอยุธยาอย่างน่าศึกษา จนถึงปีค.ศ. 1767 อันเป็นปีสิ้นกรุงศรีอยุธยา
ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์หลักฐานของนิโคลาส แชแวสเสนอภาพลักษณ์และมุมมองที่น่าเคลือบแคลงใจไม่น้อย เมื่อระบุว่าชาวโปรตุเกสที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองพระนครศรีอยุธยาจำนวน 700-800 ครอบครัว ส่วนมากมีฐานะยากจนและยอมตายเสียดีกว่าจะประกอบอาชีพหรือทำมาหากินเลี้ยงตัวเอง[1]
มิหนำซ้ำพ่อค้าฝรั่งเศสบางคนยังรายงานว่า ชาวโปรตุเกสล้วนมีนิสัยเกียจคร้าน เย่อหยิ่ง และชอบอ้างว่าทุนรอนไม่มีจึงเอาแต่นอนขึงอยู่บนเสื่อเท่านั้น[2]
หากมองอย่างผิวเผินโดยไม่ไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนก็จะเชื่อไปตามนั้นทันที และเกิดความรู้สึกไม่ดีต่อภาพพจน์ของคนในชุมชนโปรตุเกส แต่จากการประเมินและกลั่นกรองหลักฐานอย่างรอบด้าน ผู้เขียนได้พบความจริงแตกต่างออกไปจากการเสกสรรค์ของร่วมสมัย เพราะแท้ที่จริงแล้วคนในชุมชนค่ายโปรตุเกสมิได้มีสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจตกต่ำเช่นนั้นไปเสียทั้งหมด สิ่งที่ปรากฏในหลักฐานของฝรั่งเศสและฮอลันดา อาจเป็นเพียงองค์ประกอบแห่งความเคลื่อนไหวในชุมชนโปรตุเกสที่ถูกบันทึกเอาไว้เพียงด้านเดียวโดยชาติคู่แข่ง ซึ่งแทบจะไม่กล่าวถึงคุณงามความดีของอีกฝ่ายเอาไว้เลยแม้แต่น้อย
จากการศึกษาเอกสารจำนวนหนึ่ง ผู้เขียนได้พบร่องรอยของนานาอาชีพที่ชาวค่ายโปรตุเกสในเมืองพระนครศรีอยุธยาใช้เป็นหลักในการดำเนินชีวิต กล่าวคือ นอกจากการเป็นทหารรับจ้าง และทหารปืนใหญ่แล้ว* ยังประกอบด้วยงานที่มีเกียรติ อันทำให้พวกเขาสร้างฐานะและสร้างสัมพันธภาพกับชาวสยามและคนชาติอื่นในเมืองพระนครศรีอยุธยาได้อย่างน่าชื่นชมและค่อนข้างหลากหลาย ซึ่งในที่นี้กล่าวถึงเพียงอาชีพช่างอัญมณี นักร้อง นักดนตรี พ่อค้าสำเภา เสมียน เท่านั้น เพื่อความเหมาะในด้านเวลาของการนำเสนอ ส่วนเนื้อหาเกี่ยวกับอาชีพอื่นนั้นผู้มีเกียรติสามารถพิจารณาได้จากบทความฉบับสมบูรณ์ที่แจกในการลงทะเบียน
-ช่างอัญมณีมืออาชีพแห่งชุมชนค่ายโปรตุเกส
ชาวยุโรปให้ความสนใจต่อการค้าขายทองคำและอัญมณีในกรุงศรีอยุธยามาช้านาน เอกสารประวัติศาสตร์จำนวนมากกล่าวถึงการนำเข้า-ส่งออกทองคำและเครื่องประดับในรูปของสินค้าและเครื่องราชบรรณาการของสยามในการเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศเป็นระยะๆ
หลักฐานจดหมายของหัวหน้าพ่อค้าอังกฤษเขียนถึงผู้ว่าการแห่งป้อมเซนต์ยอร์ชและสมาชิกสภาที่ปรึกษา เมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ.2229/1684 บันทึกถึงการตีราคาและการต่อรองเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบ ในการค้าและผลิตเครื่องประดับอัญมณีในสยามอย่างเข้มข้น ระหว่างหัวหน้าพ่อค้าอังกฤษในสยามกับคอนสแตนติน ฟอลคอนหรือเจ้าพระยาวิไชเยนทร์ เสนาบดีสยามชาวกรีกผ่านตัวแทนการค้าของตน โดยฝ่ายฟอลคอนไม่ปฏิบัติตามสัญญาการแลกเปลี่ยนดาบญี่ปุ่นประดับอัญมณีกับของป่าและแร่ธาตุ(ไม้จันทร์ ทองแดง ดีบุก)กับพ่อค้าอังกฤษ[3] ทั้งๆที่มีช่างทองและช่างทำเพชรพลอยโบราณชาวสยามเป็นผู้ตีราคาสินค้าเอง และยังเป็นฝ่ายครอบครองเครื่องเพชรที่ได้สั่งทำเอาไว้แล้วด้วย
ไม่เพียงเท่านั้น ฟอลคอนได้สั่งให้ช่างทองชาวฝรั่งเศส ตีราคาเครื่องประดับเพชรของอังกฤษใหม่อีกครั้ง แต่การตีราคามีความผิดพลาดถึงร้อยละเจ็ดสิบห้าของราคาสินค้าจริง ส่งผลให้พ่อค้าอังกฤษขาดทุนเป็นเงินจำนวนมาก
เมื่อฟอลคอนให้ช่างอัญมณีชาวโปรตุเกสกับช่างทำเครื่องเพชรพลอยชาวสยาม(ช่างหลวง?)ผู้มีความสามารถที่สุดในเมืองพระนครศรีอยุธยา ตีราคาเครื่องเพชรใหม่อีกครั้งหนึ่ง ปรากฏว่าช่างเหล่านี้ได้ตีราคาเครื่องเพชรดังกล่าวสูงขึ้นไปกว่าเดิมนับสิบเท่า[4]
ช่างเพชรพลอยชาวโปรตุเกสซึ่งถูกกล่าวถึงในที่นี้ หลักฐานระบุชื่อว่าซินญอร์ รูดริเกวซ (Senhor Rodrigues) และ ซินญอร์ ปอร์ตู (Senhor Porto) [5] การที่บุคคลทั้งสองรับทำและรับตีราคาเครื่องประดับเพชรพลอยที่บ้านของช่างทองชาวฝรั่งเศส และมีการติดต่อกับฟอลคอนและช่างทองหลวง(?) แสดงให้เห็นว่า พวกเขาเป็นสมาชิกของชุมชนค่ายโปรตุเกส ที่มีสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมแบบไม่ธรรมดาอย่างแน่นอน นอกจากนี้ยังเห็นได้ชัดว่า พวกเขาต่างก็มีฝีมือในการทำเครื่องเพชรระดับแนวหน้า จึงได้รับการยอมรับจากขุนนางสยามและพ่อค้าชาวต่างประเทศอย่างกว้างขวาง
การตีราคาเครื่องเพชรเหลือเพียงประมาณ3,000เหรียญเศษอย่างรอบจัดเช่นนี้(คือ ผิดพลาดประมาณร้อยละ70 จากที่ตั้งราคาไว้10,500 เหรียญ) อาจเป็นข้อบ่งชี้สำคัญที่แสดงให้เห็นว่า ช่างอัญมณีกลุ่มดังกล่าวเป็นผู้ทรงภูมิปัญญาอย่างแท้จริงในการตีราคาอัญมณีและเครื่องประดับเพชรพลอย เพราะสามารถประเมินราคาสินค้าประเภทนี้ได้ใกล้เคียงกับต้นทุนและค่ากำเหน็จของชิ้นงาน จนทำให้พ่อค้าอังกฤษไม่สามารถโก่งราคาได้เกินความเป็นจริง สร้างความกระอักกระอ่วนใจให้แก่พ่อค้าอังกฤษเป็นอันมาก
การที่รูดิเกวซ[6]และปอร์ตู ช่างอัญมณีชาวโปรตุเกสไปทำงานที่บ้านของช่างทองชาวฝรั่งเศสแสดงให้เห็นว่า อย่างน้อยขณะนั้นการค้า ผลิตอัญมณีและเครื่องประดับส่วนหนึ่งในเมืองพระนครศรีอยุธยาอาจอยู่ภายใต้การจัดการร่วมกันระหว่างพ่อค้าชาวฝรั่งเศสและโปรตุเกสก็ได้
ตระกูลรูดิเกวชไม่เพียงแต่จะประกอบอาชีพเป็นช่างอัญมณีเท่านั้น ในสงครามกู้อิสรภาพของสมเด็จพระเจ้าตากสินเมื่อปี พ.ศ.2311/1768 ลูกหลานของพวกเขาก็มีส่วนร่วมในวีรกรรมครั้งนั้นด้วย[7] ดังปรากฏในจารึกประกาศพระราชทานที่ดินในการสร้างโบสถ์ซางตาครูซแก่ชาวโปรตุเกส เมื่อปีค.ศ.1768 ซึ่งบาทหลวงไตไซราได้รวบรวมไว้แล้วในงานนิพนธ์ของท่านประมาณสิบปีเศษที่ผ่านมา
-คนนำร่องและนักเดินเรือชาวโปรตุเกส
รายงานของศาลกระทรวงทหารเรือของอังกฤษ พ.ศ.2230/1687 ตัดสินคดีเกี่ยวกับเรือดูเรีย ดอลลัท (Doorea Dallat) ของพระเจ้ากรุงสยาม ซึ่งถูกยึดโดยกัปตันจอห์น คอนเซทท์ แห่งเรือเบิร์คลีย์ คาสเซิล (Berkley Castle) เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ.2230/ 1687 ขณะทอดสมออยู่ในเส้นทางไปเมืองอาเจะห์ ระบุว่าอันตอนิอู นิคูเลา (Antonio Nicolão) ชาวโปรตุเกสเป็นคนนำร่องของพระคลังหลวงสยามและนายแซมมูแอลไวท์แห่งมะริด ศาลจึงตัดสินให้นำสินค้าทั้งหมดออกไปขายแล้วยึดเรือไว้เป็นของทางการอังกฤษ
ตามหลักฐานแล้วแม้ว่านิคูเลาจะทำงานให้กรมการเมืองมะริด แต่การปรากฏตัวของเขาในตำแหน่งคนนำร่อง สะท้อนให้เห็นว่าภายในชุมชนโปรตุเกสที่เมืองพระนครศรีอยุธยาเอง ก็อาจมีคนนำร่องชาวโปรตุเกสประจำอยู่ในเรือสินค้าหลวงอื่นๆด้วยก็ได้ เนื่องจากชุมชนโปรตุเกสมีพ่อค้าที่เดินเรือค้าขาย ตามเมืองท่าชายฝั่งทะเลในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่23 (คริสต์ศตวรรษที่18)ด้วย [8]
นอกจากนี้บาทหลวงตาชารต์ก็ระบุว่า สมเด็จพระนารายณ์ทรงจ้างชาวโปรตุเกสผู้หนึ่ง เป็นผู้บังคับการเรือหลวงไปยังเมืองกัวเมื่อปี พ.ศ.2226/1683 เพื่อนำพระราชสาส์นไปเจริญสัมพันธไมตรีกับกษัตริย์โปรตุเกส[9] และ ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ก็ชี้ว่า ก่อนหน้านี้ประมาณปี พ.ศ.2060/1617 มีชาวโปรตุเกสประจำอยู่ในเรือของสยามแล้วเช่นกัน[10]
-นักร้อง นักดนตรี คนบันเทิงแห่งค่ายโปรตุเกส: วงจรของแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกับชาวสยาม
อาชีพนักร้องและนักดนตรี อาจเป็นอาชีพหนึ่งที่มีพัฒนาการมาจากการเล่นดนตรีในโบสถ์ของชาวโปรตุเกส มีหลักฐานต่างประเทศระบุว่า ชาวสยามชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ พ่อเพลงแม่เพลงจะแต่งเนื้อร้องโต้ตอบกันอย่างทันควัน แสดงให้เห็นถึงสติปัญญาของผู้ร้อง ชาวสยามร้องเพลงทั้งเวลาเดินไปวัด เวลาเที่ยวทางเรือ หรือในงานฉลองวันนักขัตฤกษ์
ตุรแปงระบุว่าชาวยุโรปนิยมการร้องเพลงของชาวสยามมาก ชาวยุโรปที่ตุรแปงกล่าวถึง น่าจะหมายถึงชาวโปรตุเกส เนื่องจากเขาชี้ว่า มิชชันนารีกลุ่มแรกที่เดินทางไปเผยแพร่ศาสนาในกรุงศรีอยุธยาจำเป็นต้องแต่งคำสอนทางศาสนาเป็นเพลงภาษาละติน จึงทำให้การเผยแพร่คำสอนได้ผลดียิ่งขึ้น[11] ตรงกับรายงานของชาวต่างประเทศระบุว่า ชาวสยามโปรดปรานเครื่องดนตรีแบบตะวันตก อาทิ ออร์แกน ปี่ กลอง แตร และฟรุต จึงมีชาวสยามพากันไปฟังการบรรเลงออร์แกนที่โบสถ์ของชาวคาธอลิกเสมอ
ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ มีชาวโปรตุเกสซึ่งอยู่ในบังคับของพระมหาอุปราช (กรมพระราชวังบวรฯ ขณะนั้นคือ เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์) ถูกเกณฑ์ไปเล่นดนตรีและร้องเพลงในงานฉลองวันนักขัตฤกษ์ของวังหน้าเมื่อปีพ.ศ.2292/1749[12] ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้แก่บาทหลวงชาวฝรั่งเศส ผู้ปกครองสังฆมณฑลเป็นอย่างยิ่ง
จดหมายของ ม. เดอ โลลีแยร์ ถึงผู้อำนวยการคณะการต่างประเทศ สะท้อนให้เห็นถึง ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมระหว่างชาวค่ายโปรตุเกสกับชาวสยาม และถูกนำมาเป็นข้อถกเถียงสำคัญก่อนที่พวกเข้ารีตจะถูกกดขี่จากทางการสยาม โดยมีสาเหตุมาจากเมื่อมีการค้นพบบ่อทองคำที่เมืองกุยบุรีแล้ว สมเด็จพระเจ้าบรมโกศโปรดให้นำทองคำที่พบ ไปหล่อเป็นดอกบัวทองคำขนาดใหญ่ประดับพระพุทธบาทที่เมืองสระบุรี
ต่อมาออกญาพระคลังได้ให้เกณฑ์คนเข้ารีต ไปถือดอกบัวร่วมแห่กับชาวสยาม แต่บาทหลวงเดอ โลลิแยร์ เห็นว่า การแห่ในขบวนของพุทธศาสนา ขัดกับหลักความเชื่อในศาสนาคริสต์ จึงมิได้ปฏิบัติตามคำขอร้อง ทำให้บาทหลวงคณะเยซูอิตถูกเรียกไปรับฟังคำตำหนิติเตียนที่บ้านของออกญาพระคลังว่า
" …ในเวลามีงานนักขัตฤกษ์ไหว้พระของไทย พวกเข้ารีตก็มาดูงานเป็นอันมาก และเวลามาดูงานของไทยนั้น พวกเข้ารีตก็ได้มาช่วยร้องรำทำเพลง ดีดสีตีเป่าเหมือนกัน.."[13]
บาทหลวงโลลีแยร์แก้ข้อตำหนินั้นว่า พวกเข้ารีตที่ไปช่วยเล่นดนตรีในงานนักขัตฤกษ์ของไทย เป็น "นักเลงในค่ายปอร์ตุเกสพวกหนึ่ง"[14] (ผู้เขียนอยากเรียกว่าเป็นกลุ่มคนเจ้าสำราญมากว่า)ซึ่งติดหนี้สินของคนไทยไปช่วยเล่นดนตรีให้ในงานดังกล่าว เพื่อจะได้พ้นหนี้ และไม่ต้องถูกฟ้องร้อง โดยยอมขายตัวเป็นทาสอยู่กับเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์กรมพระราชวังบวรสถานมงคล* และออกญาพระคลังยังลำเลิกอีกว่า
" …เมื่อมีงานไหว้พระของไทย พระมหาอุปราชก็เรียกนักเลงพวก
นี้ไปร้องรำทำเพลง และเล่นเครื่องมโหรี"[15]
พวกเข้ารีตโดยเฉพาะกลุ่มชาวโปรตุเกสคงจะมีส่วนร่วมสนุกสนานเฮฮาในงานวันนักขัตฤกษ์ของไทยมานานแล้ว บันทึกให้การซึ่งเจ้าพระยาพระคลังถามบาทหลวง เดอ โลลีแยร์จึงมีใจความว่า
" คำถาม - ก็เวลามีงานนักขัตฤกษ์ของพระพุทธศาสนา พวกเข้ารีตก็มาช่วยในงานเหล่านี้ ออกแน่นไป มาร้องรำทำเพลงปนกับพวกไทย เอาเครื่องดีดสีตีเป่ามาเล่น และมาเขียนรูปพระพุทธรูปตามโบสถ์วิหารด้วยมิใช่หรือ
บาทหลวงเดอ โลลิแยร์ตอบว่า “ ถ้าคนเข้ารีตคนใดได้กระทำการดังกล่าวมาแล้วนี้ คนผู้นั้นก็ได้กระทำบาปในศาสนาของเรา”[16]
หลักฐานข้างต้นแสดงให้เห็นว่า การแลกเปลี่ยนและเผยแพร่วัฒนธรรมทางสังคีตศิลป์ระหว่างชุมชนโปรตุเกสและชาวเมืองพระนครศรีอยุธยาดังกล่าว อาจเป็นที่มาของเพลงไทยสำเนียงฝรั่ง อาทิ เพลงต้นบรเทศ หรือ ต้นวรเชษฐในเวลาต่อมา เนื่องด้วยผู้เขียนเคยเสนอว่า คำว่า บรเทศนั้น มีรากเหง้ามาจากคำว่า ปูรตุเกช(Português หรือ portuguêsa ในภาษาโปรตุเกสดู พิทยะ ศรีวัฒนสาร, 2541, วิทยานิพนธ์เรื่อง ชุมชนโปรตุเกสในสมัยกรุงศรีอยุธยาพ.ศ2059-2310 . จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย)
นอกจากนี้ชาวค่ายจากชุมชนโปรตุเกสบางคนอาจมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์จิตรกรรมฝาผนังในวัดไทยด้วย ดังปรากฏในหลักฐานจดหมายเหตุของแกมเฟอร์ที่ระบุว่าที่ประตูหลังในวิหารหลังหนึ่งของวัดเจ้าพระยาพระคลังนอกเกาะเมืองฝั่งตะวันออก มีรูปเขียนขนาดใหญ่เท่าตัวคนของชาวโปรตุเกสสองรูป เมื่อถึงเทศกาล ในวิหารนี้จะมีงานพิธีทุกปี[17]
-แพทย์ชาวโปรตุเกสกับบทบาทที่ท้าทายในชุมชนนานาชาติ
ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม แพทย์โปรตุเกสมีบทบาทในการชันสูตรสาเหตุการเสียชีวิตของพ่อค้าอังกฤษในเมืองพระนครศรีอยุธยา ดังปรากฏหลักฐานจดหมายของพ่อค้าอังกฤษชื่อ จอห์น บราวน์ จากปัตตานี ถึง จอห์น จูร์แดงที่เมืองบันตัม เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ.2159/1616 ระบุถึงการตายของพ่อค้าชาวอังกฤษผู้หนึ่งชื่อ เบนจามิน แฟรี ว่าเขาตายเพราะถูกวางยาพิษตามข้อสัณนิษฐานของชาวโปรตุเกส18
ข่าวการตายของชายผู้นี้ถูกส่งมาจากพ่อค้าฮอลันดาในกรุงศรีอยุธยา และ “พวกโปรตุเกส” ในที่นี้อาจหมายถึงแพทย์ชาวโปรตุเกส ซึ่งทำหน้าที่ตรวจรักษาคนไข้ทั่วไป และชัณสูตรศพของผู้ตาย เพื่อรายงานสาเหตุการตายให้แก่ผู้เกี่ยวข้องทราบว่า เป็นการตายโดยปัจจุบันหรือการฆาตกรรม การปฏิบัติงานของแพทย์ชาวโปรตุเกสแสดงให้เห็นถึงการไปมาหาสู่กันในหมู่พ่อค้าต่างชาติระหว่างชาวฮอลันดา อังกฤษ และโปรตุเกสในกรุงศรีอยุธยา
การตายของพ่อค้าอังกฤษ มีหัวหน้าพ่อค้าฮอลันดามาทำพิธีจัดการศพ และร่วมในขบวนแห่ศพจนถึงสุสาน เมื่อพิธีศพเสร็จสิ้นพวกฮอลันดา ก็ได้ขอจัดการมรดกของผู้ตายด้วย[18] หลังจากการตายของเบนจามิน แฟรี ผู้ดำเนินกิจการแทนผู้ตาย คือ จอห์น จอห์นสันซึ่งได้หันไปต้อนรับชาวโปรตุเกสอย่างออกหน้าออกตา แต่หลักฐานของอังกฤษระบุว่า การคบหากับชาวโปรตุเกสทำประโยชน์ทางการค้ามิได้แม้แต่น้อย หลักฐานจากปากคำของชาวฮอลันดา กล่าวว่าพวกโปรตุเกสเหล่านี้
“…เป็นพวกอาศัยอยู่ในกรุงสยาม ที่เลวทรามต่ำช้ากว่าใครเพื่อนทั้งนี้เป็นการเสื่อมเสียเกียรติยศ แก่พวกเราและประเทศชาติเป็นอันมาก ทุกๆวันจะมีพวกโปรตุเกสมาที่บ้าน อย่างมาก 30 คน อย่างน้อย 20 คน ดื่มสุรา สนุกสนาน ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในบ้านกลายเป็นสิ่งธรรมดาสามัญสำหรับพวกโปรตุเกสไปเสียแล้ว…”[19]
แต่จดหมายของจอห์น จอห์นสัน และ ริชาร์ด พิทท์ เขียนที่ปากสันดอนกรุงสยาม ถึงจอห์น บราวน์ที่ปัตตานี เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ.2160/1617 อธิบายถึงกรณีที่พ่อค้าฮอลันดาเข้ามาเกี่ยวข้องกับชาวอังกฤษ เรื่องการตายของ เบนจามิน แฟรี และการคบค้าสมาคมกับชุมชนโปรตุเกสในกรุงศรีอยุธยาว่า
“…ที่เขากล่าวว่าพวกเราต้อนรับขับสู้พวกโปรตุเกสและคนอื่นๆนั้น ขอเรียนว่าเราเป็นเพียงพ่อค้า มีสินค้าที่จะขาย ขอแต่เพียงให้เราขายสินค้าได้มากๆ เพราะเรามาขายสินค้าไม่ใช่มาคอยเอาใจใส่กับเรื่องของคนโน้นคนนี้ ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราไม่ได้ซื้อสินค้าจากพวกโปรตุเกสและคนอื่นๆ เราก็อาจจะต้องทำเหมือนกับพวกชาวดัทช์คือต้องรับขนถ่ายสินค้าของคนอื่นๆแทน ข้าพเจ้าขอสวดมนต์อ้อนวอนพระเจ้า ได้โปรดดลบันดาลให้โกดังสินค้าของท่านทำมาค้าขึ้นเหมือนของเรา และขอให้เงินทองไหลมาเทมา เหมือนกับโกดังสินค้าของเราแห่งนี้”[20]
จดหมายฉบับนี้ สะท้อนให้เห็นว่า แท้ที่จริงแล้วชาวโปรตุเกสที่เข้าไปสังสรรค์อยู่ในโรงสินค้าของอังกฤษ เป็นทั้งลูกค้าและเป็นพ่อค้าที่อังกฤษติดต่อโดยมีวัตถุประสงค์ทางการค้า นอกจากนี้หลักฐานยังสะท้อนให้เห็นว่าชาวโปรตุเกสเป็นผู้ที่มีความกว้างขวางทางการค้าเป็นอย่างมาก และถ้าหากพ่อค้าอังกฤษมิได้ซื้อสินค้าจากพ่อค้าชาวโปรตุเกสและพ่อค้าอื่นๆแล้ว อาจทำให้พวกเขาไม่สามารถรวบรวมสินค้าได้เลย
เหตุการณ์ความบาดหมางระหว่างทางการสยามกับสมาชิกชุมชน โปรตุเกสใน ปี พ.ศ.2162/1619* อาจเป็นเหตุทำให้โรงพยาบาลในชุมชนชาวโปรตุเกสปิดตัวลง และเปิดตัวใหม่อีกครั้งหนึ่งในปีเดียวกัน ดังปรากฏในสาส์นถวายรายงานแด่กษัตริย์กรุงโปรตุเกส เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2162/1619 ว่าอุปราชโปรตุเกสแห่งเมืองกัว ได้มีหนังสือแจ้งแก่กัปตันกาชปาร์ ปาเชกู ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าชุมชนชาวโปรตุเกสแห่งกรุงศรีอยุธยา ให้ชักชวนผู้คนร่วมกันสร้างเรือนรักษาพยาบาลหรือโรงพยาบาล ขึ้นที่ท่าเรือดังเช่นที่เคยมีมาแต่เดิม และขอให้กัปตันปาเชกู พยายามอย่างเต็มความสามารถเนื่องจากอุปราชแห่งกัวได้มอบอำนาจเต็มให้แก่เขา เพื่อให้ดำเนินการทุกๆอย่างได้ เช่นเดียวกับกัปตันโปรตุเกสคนก่อนๆ นอกจากนี้อุปราชแห่งกัวยังขอให้กัปตันปาเชกู ขอร้องทางการสยามให้ปล่อยตัวชาวคริสเตียนที่ถูกคุมขังเป็นเชลยในกรุงศรีอยุธยา และขอให้ชาวคริสเตียนช่วยกันทำความดี เพื่อเชิดชูพระเกียรติยศแห่งพระเจ้ากรุงโปรตุเกส ให้ขจรขจายยิ่งขึ้น[21]
การที่อุปราชแห่งกัวมีหนังสือขอให้กัปตันปาเชกูหัวหน้าชุมชนชาวโปรตุเกสแห่งกรุงศรีอยุธยา ช่วยชักชวนให้ผู้คนในย่านใกล้เคียงกับหมู่บ้านโปรตุเกสสร้างโรงพยาบาลสาธารณะขึ้นใหม่ ให้สามารถรักษาผู้ป่วยได้ดังเดิม ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของชุมชนชาวโปรตุเกส ในด้านการให้บริการรักษาพยาบาลแก่คนทั่วไปในละแวกนั้น อันหมายถึงชุมชนชาวต่างประเทศที่เข้ารีตนับถือศาสนาคริสต์ โดยชาวโปรตุเกสและเชื้อสายน่าจะเป็นคนไข้ส่วนใหญ่ เนื่องจากขณะนั้น พ่อค้าชาวฮอลันดา และอังกฤษ เพิ่งจะเดินทางเข้ามาตั้งโรงสินค้าในกรุงศรีอยุธยาได้ไม่นานนัก (พ.ศ.2146/1606 และ พ.ศ.2155 /1612 ตามลำดับ) ส่วนพ่อค้าสเปน ซึ่งเดินทางเข้ามาในปี พ.ศ.2140และพ่อค้าฝรั่งเศสนั้น เพิ่งจะเดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา ในปี พ.ศ.2205 นั้นมีบทบาทด้านชุมชนและวัฒนธรรมในกรุงศรีอยุธยาค่อนข้างน้อย
ไม่เพียงแต่จะมีบทบาทในสังคมชาวต่างชาติเท่านั้น แพทย์ชาวโปรตุเกสยังมีส่วนร่วมถวายความคิดเห็นในการรักษาอาการประชวรของพระมหากษัตริย์ไทยด้วย ดร.ธีรวัติ ณ ป้อมเพชรระบุจากหลักฐานของฮอลันดาว่า สมเด็จพระเจ้าท้ายสระทรงประชวรด้วยพระโรคมะเร็งในช่องพระโอษฐ์(เพดานปาก)นานถึง 7 เดือน[22] และไม่ทรงอนุญาตให้แพทย์ชาวต่างประเทศเข้าเฝ้าถวายการรักษา ขุนนางกรมแพทย์จึงทำหุ่นขี้ผึ้งรูปเพดานพระโอษฐ์ นำไปขอความคิดเห็นจากแพทย์ชาวสยาม แพทย์ชาวโปรตุเกส แพทย์ชาวจีน และแพทย์ชาวเวียตนามที่อยู่ในอยุธยา[23] แต่สมเด็จพระเจ้าท้ายสระก็ทรงเลือกเสวยพระโอสถพื้นเมืองแทน[24]
-พ่อค้าสำเภาหลวงครึ่งชาติโปรตุเกส
พ่อค้าสำเภาเป็นอาชีพสำคัญอีกอาชีพหนึ่งของชาวโปรตุเกสบางคน หลักฐานจดหมายติดต่อระหว่างเจ้าหน้าที่บริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษที่เมืองสุรัต กับข้าหลวงใหญ่อังกฤษและเคาน์ซิล ที่บอมเบย์ ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2162 /1619กล่าวถึงการวิ่งเต้นขอตัว “ทาส หรือ คนในบังคับ” ของพ่อค้าครึ่งชาติโปรตุเกสแห่งเมืองพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเดินทางไปค้าขายยังบอมเบย์ คืนจากทางการอังกฤษ กล่าวคือ
“ ได้เกิดเรื่องขึ้นกับ นาย พอลลา บาฟติซา ชาวโปรตุเกส ซึ่งพำนักอยู่ที่กรุงสยาม บาฟติซา ผู้นี้มีทาสอยู่คนหนึ่ง (ชื่อว่า โดมินิโก) ทาสผู้นี้ได้เดินทางจากกรุงสยามมายังบอมเบย์ แต่พอไปถึงที่นั่น ก็ถูก มร. โธมัส นิคอลล์ จับขังไว้ที่นั่น เพื่อใช้เป็นตัวต่อรอง เราใคร่ขอให้ท่านจัดการเรียกตัวทาสผู้นั้นคืน จาก มร.โธมัส นิคอลล์ ให้จงได้และขอให้ส่งมอบทาสผู้นั้นให้แก่ผู้ถือจดหมายนี้ด้วย”[25]
ต่อมาอีกหนึ่งสัปดาห์เศษ ดูมินิโก (หรือ ดูมิงโก)* ก็ได้รับการปล่อยตัว ดังจดหมายของ เฮนรี ออกซินเดน และ เคาน์ซิล ที่บอมเบย์ เขียนถึงข้าหลวงใหญ่และเคาน์ซิลที่สุรัต ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2162 /1617ความว่า
“ ได้จัดการปลดปล่อยทาสที่ชื่อโดมิงโก ซึ่งเป็นคนของกรุงสยาม และเป็นคนของเมสติโซ[26] ให้ไปหาเมสติโซแล้วตามที่ท่านสั่งมา และของให้ท่านได้โปรดดูแลเมตตากรุณาแก่เขาเป็นอันดียิ่งไปกว่าที่พวกเขาจะยินดีเชื้อเชิญ หรือพยายามให้เรา ทาสคนนี้ไม่ได้ถูกกัปตัน นิคอลล์เก็บตัวไว้แต่ประการใด”[27]
การที่ทางการอังกฤษยอมปล่อยตัว คนในบังคับของพ่อค้าครึ่งชาติโปรตุเกส แสดงให้เห็นถึงเกียรติยศและความสามารถในการวิ่งเต้นของพ่อค้าโปรตุเกสจากสยามในขณะนั้นได้เป็นอย่างดี แม้จะเป็นเพียงคนครึ่งชาติก็ตาม นอกจากนี้การที่หลักฐานกล่าวว่า ทาสชื่อโดมิงโกเป็นคนของกรุงสยามและเป็นคนของเมสติโซ บ่งชี้ว่า บุคคลทั้งสองอาจเป็นพ่อค้าสำเภาหลวง ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมก็ได้
งานค้นคว้าของตุรแปง ระบุว่าชาวสยามเป็นผู้ชำนาญการเดินเรือแค่ในแม่น้ำเท่านั้น ส่วนการเดินเรือในทะเลนั้นต้องจ้างแขกมุสลิม ชาวจีน ชาวมะละบาร์ และชาวคริสตังที่สืบเชื้อสายมาจากชาวยุโรป มาเป็นผู้ดำเนินการ[28] รายงานดังกล่าวสอดคล้องกับบันทึกของลาลูแบร์ซึ่งระบุว่า ชาวสยามมีความสามารถไม่มากนักในการเดินเรือทะเล ดังนั้นพระเจ้าแผ่นดินจึงทรงจ้างนายเรือและลูกเรือชาวต่างประเทศให้เดินเรือไปค้าขายทางทะเล เช่น ชาวอังกฤษ หรือ ชาวโปรตุเกส ต่อมาก็ได้ใช้นายเรือชาวฝรั่งเศสบ้างเช่นกัน[29]
ทางด้านการค้าขายกับสเปนนั้น รายงานของ ยอร์ช ไวท์ ระบุว่าการส่งเรือสินค้าหลวงของทางการสยามไปค้าขายยังมะนิลา ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ มีเพียงปีละหนึ่งลำ โดยมีชาวจีน เป็นทั้งพ่อค้าและผู้จัดการเดินเรือ[30]
ประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่า นอกเหนือจากปริมาณการค้าที่มีต่อกันอย่างเบาบางแล้ว เหตุใดพระคลังหลวง จึงไม่จ้างชาวโปรตุเกสไปติดต่อกับมะนิลา ทั้งๆที่มีความจำเป็นในการใช้ชาวโปรตุเกส เพื่อติดต่อเป็นตัวกลางในทางธุรกิจ และนอกจากนี้ สัญญาระหว่างสยามกับฮอลันดาเองก็เพียงแต่ห้ามมิให้จ้างพ่อค้าจีนในเรือสยามเท่านั้น[31] ไม่ได้ห้ามมิให้ทางการสยามจ้างนายเรือโปรตุเกส หรือนายเรือฝรั่งเศสทำงานในเรือสินค้าของสยามแต่อย่างใด
-เสมียนโปรตุเกสในบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ
จดหมายของเคาน์ซิลแห่งป้อมเซนต์ยอร์จถึง วิลเลียม เจอร์ซีย์ แห่งสะสุลีปะตันลงวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2212/ 1669 กล่าวถึงจดหมายภาษาโปรตุเกสชี้แจงความสูญเสียของบริษัทอินเดียตะวันออกของบริษัทอังกฤษที่เมืองพระนครศรีอยุธยาเมื่อห้างอังกฤษถูกทำลาย จากการกระทำของ แอนดรู ดึ โซซา กับ ฟรานซิส บรู(?) ร่วมกับนายเรือชาวอังกฤษว่า
“ เราได้รับจดหมายจากกรุงสยามเขียนถึง เซอร์เอ็ดเวอร์ด วินเตอร์ หรือใครก็ตามที่เป็นผู้ปกครองที่นั่น จดหมายเหล่านี้ค่อนข้างยาว และเขียนเป็นภาษาโปรตุเกส หลังจากได้พิจารณาดูแล้ว เห็นว่าคงจะต้องเสียเวลามากอยู่ในการศึกษาจดหมายนี้ เพราะเราไม่ค่อยเชี่ยวชาญในภาษานี้ แต่ถ้าเราพบว่ามีสิ่งหนึ่งสิ่งใดสำคัญ และอาจจะช่วยแนะแนวทางให้เราสามารถติดต่อกับพระเจ้ากรุงสยามได้แล้ว เราก็จะดำเนินการตามความเหมาะสม แต่ใจความส่วนใหญ่ที่เราได้พิจารณาดูแล้วจากจดหมายเหล่านั้น เห็นว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับที่จะยกเรื่องห้างต้องถูกทำลาย ให้เป็นความผิดของ แอนดรู เดอ ซูซา กับฟรานซิส บรู(?) ซึ่งอยู่ใต้ปกครองของ ซูซา(โซซา) และเกรงกลัวซูซาเป็นอันมาก และว่าซูซากับนายเรือชาวอังกฤษพยายามจะทำลายล้างทุกสิ่งทุกอย่าง ที่จะเกิดประโยชน์ต่อบริษัท และดูเหมือนว่าความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่ห้างนั้น เกิดจากผลของการละทิ้งงานและหลีกเลี่ยงงานของกาเบรียล ฟลอเรส กับพี่ชายของเขา หลังจากที่เขาได้ถึงแก่กรรม”[32]
จดหมายที่เขียนเป็นภาษาโปรตุเกสฉบับดังกล่าว อาจเขียนขึ้นโดยพนักงานกรมท่าขวาที่ได้สืบสวนเหตุการณ์ความเสียหายที่เกิดขึ้น เนื่องจากในช่วงนั้นไม่มีพนักงานห้างชาวอังกฤษประจำอยู่ในเมืองพระนครศรีอยุธยา มีเพียงลูกจ้างซึ่งเป็นลูกครึ่งอังกฤษเชื้อสายโปรตุเกสเท่านั้นที่อยู่ดูแลกิจการ เหตุที่ทราบว่าบริษัทอินเดียตะวันออกจ้างเสมียนเชื้อสายชาวโปรตุเกสดูแลห้าง พิจารณาจากชื่อของชายคนหนึ่งคือแอนดรู ดึ โซซา ซึ่งเป็นเจ้านายของฟรานซิส บรู(?)
ชายอีกคนหนึ่งคือ กาเบรียล ฟลอเรส หรือ ฟลูรึช ก็มีชื่อและนามสกุลแบบชาวโปรตุเกสอย่างชัดเจนดัวย
-บทสรุป
การศึกษาชุมชนโปรตุเกสในประเทศไทยด้วยมิติทางประวัติศาสตร์สังคมยังไม่มีผู้ใดริเริ่มอย่างจริงจังเท่าใด เนื่องจากต้องอาศัยกลยุทธ์ ประสบการณ์และความละเอียดรอบคอบในการอธิบาย เชื่อมโยง ปะติดปะต่อและตีความประวัติศาสตร์ระหว่างบรรทัดอย่างหลากหลาย เพราะหลักฐานที่บันทึกเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับโปรตุเกสนั้นจะแทรกอยู่ตามที่ต่างๆมากมาย และสำเนาหลักฐานต้นฉบับภาษาโปรตุเกส จากหอจดหมายเหตุแห่งกรุงลิสบัว ประเทศโปรตุเกส ซึ่งเก็บรักษาไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ณ กรุงเทพฯ ก็ยังไม่มีผู้ใดเข้าไปค้นคว้าอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ผู้เขียนเองก็มีโอกาสเรียนรู้เรื่องราวข้างต้นแต่เพียงผิวเผิน เมื่อเปรียบเทียบกับท่านอื่นที่ได้ค้นคว้าเอาไว้ก่อนหน้านี้ และการทำงานใดๆไม่ให้มีข้อผิดพลาดนั้น เป็นสิ่งที่ไม่เกิดขึ้นได้บ่อยนัก เหตุนี้จึงน้อมรับการวิพากษ์วิจารณ์ด้วยความขอบคุณเป็นอย่างยิ่ง
[1] นิโคลาส แชร์แวส, เรืองเดิม, หน้า62.
[2] ประชุมพงศาวดาร เล่ม39, หน้า64.
* เป็นคำอธิบายที่ปรากฏอยู่ใน E.W. Hutchinson," Adventurers in Siam in the 17th Century" (London: The Royal Asiatic Society,1940), p.23
[3] หัวหน้าพ่อค้าอังกฤษและหุ้นส่วนตกลงรับทำด้ามดาบแบบ Jemdar , หีบต่างๆ และ ด้ามดาบญี่ปุ่น ประดับด้วยเพชรและทับทิม แลกเปลี่ยนกับทองแดง ดีบุก และ ไม้จันทน์ ในราคา 10,500 เหรียญ. ดู สุภรณ์ อัศวสันโสภณ(แปล), เรื่องเดิม, หน้า 76-77.
[4] กรมศิลปากร, บันทึกเรื่องสัมพันธภาพระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศใน
คริสตศตวรรษที่17 เล่ม4 แปลโดยสุภรณ์ อัศวสันโสภณ (พระนคร : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2513), หน้า 83-86.
[5] เรื่องเดียวกัน, หน้า85.
[6] ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 21 นักเดินทางชาวโปรตุเกสชื่อฟรานซิสกู รูดริเกวซ และวิเซนตึ รูดิเกวซ เขียนบรรยายเส้นทางการเดินเรือในทะเลจีนและเส้นทางจากโปรตุเกสมายังอินเดีย ดู Rui D'Avila Lourido, "European trade between Macão and Siam from the beginning to 1663," IEAHA, 14th (1996) :5 -6.
[7] P.Manuel Teixiera, op.cit., p.80.
[8] เดอ ชัวซี, เล่มเดิม, หน้า428.
[9] จดหมายเหตุการเดินทางครั้งที่2ของบาทหลวงตาชาร์ด ค.ศ.1687-1688 , แปลโดยสันต์ ท.โกมลบุตร, หน้า219.
[10] Suthachai Yimprasert, op.cit., p.176.
[11] ฟรังซัวร์ อังรี ตุรแปง, เรื่องเดิม, หน้า 73-74.
[12] ปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์, และ พิรักษ์ ชวนะเกรียงไกร “บันทึกความสัมพันธ์โปรตุเกส - อยุธยา," ชาวโปรตุเกสในยุคกรุงศรีอยุธยา (กรมศิลปากรจัดพิมพ์เนื่องในโอกาสปีการท่องเที่ยวไทย พ.ศ.2530), หน้า21.
[13] ประชุมพงศาวดารเล่ม22, หน้า203-204.
[14] เรื่องเดียวกัน, หน้า204.
* ก่อนหน้านั้นบันทึกของชาวฝรั่งเศสระบุว่า เจ้าวังหน้าในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระต่อมาคือสมเด็จพระเจ้าบรมโกศทรงเคยให้ปล่อยพวกเข้ารีตออกจากคุก เมื่อคราวเกิดกรณีพิพาทกับบุตรหลานเจ้าเมืองมะริด โดยทรงให้ขุนนางวังหน้า "นำไม้กระลำพักกับรง และเครื่องหอมพร้อมทั้งส่งท้องตรากับมัดหวายเพื่อเป็นเครื่องหมายว่าพวกเข้ารีตและพวกบาทหลวงอยู่ในบังคับของพระองค์ , อ้างจาก โสพิศ หนูทอง , เรื่องเดิม, หน้า 24-89.
[15] ประชุมพงศาวดารเล่ม22, หน้า204.
[16] เรื่องเดียวกัน, หน้า211.
[17] แองเจลเบิร์ต แกมเฟอร์, เรื่องเดิม, หน้า52.
[18] เรื่องเดียวกัน, หน้า83
[19] เรื่องเดียวกัน, หน้า84
[20] เรื่องเดียวกัน, หน้า94-97
* ความบาดหมางเนื่องจากทางการสยามให้สิทธิพิเศษในการค้าหนังสัตว์แก่พ่อค้าฮอลันดา เป็นเหตุให้ชาวโปรตุเกสยึดเรือฮอลันดา แล้วถูกทางการสยามปราบปรามจับกุม. ดู กรมศิลปากร, ประชุมพงศาวดารฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม3 (พระนคร : สำนักพิมพ์ก้าวหน้า, 2507), หน้า193
[21] กรม ศิลปากร, บันทึกเรื่องสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศในคริสตศตวรรษที่ 17 เล่ม 1, หน้า119
[22] Dhiravat na Pjombejra, "The last year of King Thaisa's reign : Data concerning Polities and Society from the Dutch East India Company's Siam Factory Dagregister for 1732" ความยอกย้อนของอดีต พิพิธนิพนธ์เชิดชูเกียรติพลตรีมรว. ศุภวัฒย์ เกษมศรี, 2537:136. หลักฐานของบาทหลวงฝรั่งเศสระบุว่าทรงประชวรด้วย "โรคพระโอษฐ์เน่า" และหมอได้ถูกประหารชีวิตไปมากกว่า 20 คนแล้วเพราะไม่สามารถรักษาโรคนี้ได้ พระอนุชาของพระองค์ก็ประชวรด้วยโรคนี้เช่นกัน , อ้างจากโสพิศ หนูทอง, เรื่องเดิม, หน้า29.
[23] เรื่องเดียวกัน, หน้า136.
[24] Dhiravat na Pombejra, op.cit., p.136.
[25] กรมศิลปากร , บันทึกเรื่องสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศในคริสตศตวรรษที่ 17 เล่ม 2, หน้า290.
* อ่านสำเนียงโปรตุเกสว่า ดุมินิกู หรือ ดูมิงกู
[26] เมสติโซ หรือ เมสติซู (Mestiço) เป็นคำภาษาอินโด-โปรตุเกส สำหรับใช้เรียกคนครึ่งชาติ หรือ ยูเรเซียน ซี. อาร์ บอกเซอร์เสนอว่าปัจจุบันคำนี้มิได้ใช้อีกต่อไปแล้ว , C.R.Boxer,Fidalgos in the Far East, p.280
[27] กรมศิลปากร, บันทึกเรื่องสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศในคริสตศตวรรษที่ 17 เล่ม 2, หน้า292.
[28] ฟรังซัวส์ อังรี ตุรแปง, เรื่องเดิม, หน้า23.
[29] ชิมอง เดอ ลาลูแบร์, เรื่องเดิม, หน้า 411-412.
[30] ประชุมพงศาวดารเล่ม12 , หน้า 213
[31] กรมศิลปากร, บันทึกเรื่องสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศในคริสตศตวรรษที่ 17 เล่ม 2, หน้า95.
[32] เรื่องเดียวกัน, หน้า127.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น