โครงการปรับปรุงหมู่บ้านโปรตุเกส หน่วยศิลปากรที่1 (พระนครศรีอยุธยา)
ภาพการขุดแต่งเนินโบราณสถานที่โบสถ์ซานเปโตร ต.สำเภาล่ม อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ถ่ายมุมสูงระหว่างการขุดแต่งจากต้นมะขามโดย ปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์ ทำให้ได้ภาพ มุมกว้างครอบคลุมพื้นที่ปฏิบัติงาน
ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกได้เผยแพร่เข้ามายังเอเชียในศตวรรษที่ 16 ตามเมืองต่างๆ ที่บรรดาชาติตะวันตกเข้าไปติดต่อสัมพันธ์ด้วย จากข้อตกลงร่วมกันระหว่างโปรตุเกสและสเปน 2 ชาติมหาอำนาจทางทะเลในระยะนั้น ซึ่งได้เกิดการวิวาทกันอยู่เนืองๆ เนื่องมาจากการแข่งขันกันทางด้านการค้าและการเผยแพร่คริสต์ศาสนาไปตามเมืองต่างๆ
(สำเนาจากมะละกาโดยปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์)
ป้อมโปรตุเกสที่มะละกา(สำเนาจากมะละกาโดย ปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์)
การแพร่ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก โปรตุเกสซึ่งได้รับนโยบายการเผยแพร่ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกมาจากสมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 6 ที่มีคำสั่งตัดสินให้โปรตุเกสและสเปนแบ่งการขยายอาณาเขตออกไปทางด้านทิศตะวันตกและตะวันออก และในการขยายอิทธิพลของตนไปนั้น จะต้องเผยแพร่ศาสนาไปตามเมืองต่างๆ เหล่านั้นด้วย ในการเผยแพร่ศาสนานี้โปรตุเกสต้องได้รับการต่อต้านจากบรรดาชาวเมืองที่ต่างก็นับถือศาสนาอื่นอยู่ก่อนแล้ว ดังเช่น ในเมืองกัว เมืองมะละกา ซึ่งมีผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามเป็นชนส่วนใหญ่ของเมืองนั้นอยู่แล้ว เป็นต้น
การเผาวัชพืชเพื่อเปิดพื้นที่เนินดินก่อนการขุดแต่งพ.ศ.2527 (ภาพโดย ปฎิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์)
เนินโบราณสถานโบสถ์ซานเปโตร ระหว่างการถากถางเพื่อการสำรวจและขุดแต่งพ.ศ.2527 (ภาพโดยปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์)
(ปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์ เอื้อเฟื้อภาพ)
นักทัศนาจรเดินทางมาเยี่ยมชมโบราณสถานระหว่างการขุดแต่งโบสถ์ซานเปโตรระยะแรก (ภาพโดย ปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์)
ในเอกสารของชาวต่างประเทศที่เข้ามายังกรุงศรีอยุธยากล่าวว่า ภายหลังจากโปรตุเกสได้ทำความสัมพันธ์อันดีกับอยุธยาแล้ว ก็ได้มีชาวโปรตุเกสเข้ามายังอยุธยาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่เป็นพ่อค้าค้าขายอยู่ในกรุงศรีอยุธยา, นครศรีธรรมราช, มะริด, ตะนาวศรีและปัตตานี นอกจากนั้นก็มาเป็นทหารอาสาอยู่ในกรุงศรีอยุธยา ดังเช่นพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับตุรแปงกล่าวว่า มีชาวโปรตุเกสอยู่ในอยุธยา 130 คน และเป็นทหารเสีย 120 คน ในสมัยของพระไชยราชาเมื่อเกิดสงครามกับเชียงใหม่และอยุธยาได้ยกทัพไปปราบและได้ ชัยชนะกลับมา ชาวโปรตุเกสก็ร่วมไปในสงครามครั้งนี้ด้วย จึงทำให้เกิดหมู่บ้านโปรตุเกสในปี พ.ศ. 2088 นี้เอง ในระยะแรกนี้จะมีบาทหลวงชาวโปรตุเกสเข้ามาเผยแพร่ศาสนาหรือยังไม่มีเอกสารยืนยันอย่างแน่นอน แต่ก็อาจเป็นไปได้ว่านักบุญฟรังซิส ซาเวียร์ (St.Francis Xavier) ซึ่งได้เดินทางมาเผยแพร่ศาสนายังเอเชียนั้นได้เข้ามายังกรุงศรีอยุธยา(ในปัจจุบันยังปรากฏอนุสาวรีย์อยู่ที่เมืองมะละกา) แต่จากเอกสารที่ปรากฏกล่าวว่า บาทหลวงชาวโปรตุเกส 2 องค์ได้เดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 2098 เป็นบาทหลวงในคณะโดมินิกัน ชื่อ เจอโรนิโม ดาครูซ กับ เซบาสติเอา ดา คูโต (Jeronimo da Cruz & Sebastiao da Couto) ซึ่งตรงกับสมัยของพระมหาจักรพรรดิ แต่การเผยแพร่ศาสนายังคงไม่ค่อยแพร่หลายเท่าใดนัก มีโบสถ์สำหรับทำพิธีอยู่หลังหนึ่งซึ่งสร้างขึ้นพร้อมกับหมู่บ้านโปรตุเกสในสมัยของพระไชยราชา
บันไดทางขึ้นสู่อาคารมีแผ่นหินแกรนิตเสริมความมั่นคงก่อนเทปูนทับ
อุปสรรคที่สำคัญที่ทำให้การเผยแพร่ศาสนาไม่สามารถดำเนินไปได้ด้วยดีก็คือภาษา (ในระยะ เวลาต่อมาอุปสรรคนี้ได้รับการแก้ไขโดยบาทหลวงองค์ต่อๆ มาโดยการพยายามศึกษาภาษาไทยและต่อมาได้มีการเขียนคำเทศนาสั่งสอนออกมาเป็นภาษาไทย) นอกจากนี้ยังต้องประสบกับการขัดขวางจากผู้ที่นับถือศาสนาอื่นอยู่ก่อนแล้ว ทำให้บาทหลวงเจอโรนิโม ดาครูซ ถูกทำร้ายจนถึงตายในขณะที่บาทหลวงเซบาสติเอา ดา คูโต ได้รับบาดเจ็บและออกเดินทางกลับไปยังเมืองมะละกา (และได้เดินทางกลับมายังอยุธยาอีกครั้งหนึ่งในปีพ.ศ. 2110 พร้อมกับเพื่อนบาทหลวงอีก 2 องค์ และถูกฆ่าตายในระหว่างสงครามอยุธยากับพม่าในปี พ.ศ. 2112)
ภายหลังจากกรุงศรีอยุธยากลับเข้มแข็งขึ้นมาอีกครั้งในสมัยพระนเรศวรมหาราช การเผยแพร่ศาสนาคริสต์ก็กลับดำเนินต่อ ในสมัยของพระเจ้าทรงธรรมปรากฏว่ามีการสร้างโบสถ์ขึ้นอีกหลังหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ทหารโปรตุเกสได้เข้าร่วมรบในสงครามกับพม่าเพื่อชิงเมืองชายแดนบางเมืองกลับมาเป็นของอยุธยาได้สำเร็จ ในระยะนี้ปรากฏว่ามีบาทหลวงในคณะฟรานซิสกันและเยสุอิตเข้ามาอีก 2 คณะ แต่อย่างไร ก็ตามปรากฏว่าเกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างบาทหลวงชาวโปรตุเกสกับชาวไทยที่ในอยุธยาและเมืองต่างๆ หลายครั้งจนถึงกับพระเจ้าทรงธรรมให้จับบาทหลวงชาวโปรตุเกสไปทรมาน
ศาลนักบุญเปโตรระหว่างการขุดแต่ง
เหตุการณ์นี้ได้เกิดขึ้นเป็นระยะๆ จนถึงสมัยพระเจ้าปราสาททอง ซึ่งระยะนี้โปรตุเกสมีความขัดแย้งกับฮอลันดาเนื่องจากการแก่งแย่งทางการค้าที่เกิดขึ้นอยู่เสมอทำให้พระเจ้าปราสาททองซึ่งมีนโยบายที่จะติดต่อสัมพันธ์กับทุกชาติที่เข้ามาติดต่อด้วยไม่พอพระทัย จากจดหมายเหตุของชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาในสมัยพระนารายณ์กล่าวว่า เมื่อแรกราชทูตฝรั่งเศสเดินทางเข้ามานั้นมีบาทหลวงชาวโปรตุเกสไปให้การต้อนรับด้วยการสั่นระฆังในโบสถ์ของเขา นอกจากนี้ยังมีการจัดงานฉลองขึ้น 2 ครั้งในโบสถ์ของชาวโปรตุเกสด้วย
ในการเข้ามาของฝรั่งเศสนี้เองก็เกิดความขัดแย้งกับบาทหลวงโปรตุเกสที่อยู่เดิม โดยบาทหลวงชาวฝรั่งเศสได้รับมอบอำนาจจากสันตะปาปาเกรเกอรี่ที่ 15 ให้เป็นผู้ดูแลปกครองคณะสงฆ์ที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนาอยู่ในกรุงศรีอยุธยา ในระยะแรกบาทหลวงชาวโปรตุเกสไม่ยอมรับอำนาจนี้ แต่ในเวลาต่อมาก็สามารถตกลงกันได้ด้วยการประชุมปุจฉาวิสัชนา
ในระยะปลายของสมัยอยุธยา บทบาทของบาทหลวงชาวโปรตุเกสลดน้อยลงเนื่องจากฝรั่งเศสได้สร้างโบสถ์ขึ้นในหมู่บ้านของตนและมีการเผยแพร่ศาสนาด้วยวิธีการที่เอาใจใส่ต่อความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นอย่างดี เช่น การสร้างโรงพยาบาล การช่วยเหลือผู้ที่ยากจน เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามการเผยแพร่ศาสนาคริสต์นี้ก็ต้องสะดุดหยุดลงในเมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2310
หมู่บ้านโปรตุเกสตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของตัวเกาะเมืองอยุธยาฝั่งด้านตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาตรงกันข้ามกับบ้านญี่ปุ่นและบ้านฮอลันดา ตามหลักฐานที่ปรากฏกล่าวว่าหมู่บ้านโปรตุเกสสร้างขึ้นในสมัยพระไชยราชา เมื่อทหารโปรตุเกสซึ่งเข้าร่วมรบในกองทัพอยุธยาและชนะเชียงใหม่กลับมาในปี พ.ศ. 2088 ในระยะแรกคงมีชาวโปรตุเกสอาศัยอยู่ไม่มากนัก แต่ในเวลาต่อมาก็เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ปรากฏในจดหมายเหตุของชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาในสมัยพระนารายณ์กล่าวว่ามีชาวโปรตุเกสอาศัยอยู่ในหมู่บ้านแห่งนี้ประมาณ 2,000 คน ส่วนมากเป็นลูกครึ่งซึ่งเป็นไปตามนโยบายของโปรตุเกสที่อาศัยวิธีการผสมผสานกับชาวพื้นเมืองซึ่งต่างจากชาวยุโรปชาติอื่นๆ
ในการขุดแต่งโบราณสถานซานเปโตรซึ่งตั้งอยู่ในหมู่บ้านโปรตุเกสได้พบโครงกระดูกเป็นจำนวนทั้งสิ้น ขณะนี้ 130 โครงซึ่งอาจจะพบเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ (ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้กล่าวว่าในโบราณสถานอีก 2 แห่งที่ตั้งอยู่ในหมู่บ้านโปรตุเกสนี้ก็พบโครงกระดูกเช่นกัน)
ในที่นี้จะกล่าวถึงการฝังศพและลักษณะการฝังศพของชาวคาทอลิก ที่โบราณสถานซาน เปโตรแห่งนี้ โครงกระดูกที่พบในบริเวณโบราณสถานซานเปโตรนี้จะอยู่บริเวณด้านทิศตะวันออกซึ่งเป็นด้านหน้าของโบราณสถานเป็นส่วนใหญ่ และจะมีพบบ้างเล็กน้อยบริเวณด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้และทิศตะวันออกเฉียงเหนือ การฝังศพจะหันศีรษะไปทางด้านทิศตะวันออก (อาจเป็นไปได้ว่าต้องการให้ศพหันหน้าเข้าหาโบสถ์ซึ่งเป็นคติประเพณีนิยมก็เป็นได้) มีบ้างบางโครงที่หันศีรษะไปทางด้านทิศตะวันตก
โครงกระดูกนี้มีปูนขาว นอนกอดอก มีปูนขาวหุ้ม แสดงให้เห็นถึงการเตรียมการอย่างดีระหว่างทำพิธีฝังศพ และที่บริเวณต้นขาและกระดูกหน้าแข้งของโครงกระดูกมีสภาพการถูกทำลายโดยมีสาเหตุจากโรคหนองในโพรงกระดูก(ภาพโดยปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์)
จากการวิเคราะห์โครงกระดูกเหล่านี้พบว่ามีทั้งที่เป็นคนเชื้อชาติมองโกลอยด์และคอเคซอยด์ ซึ่งเป็นไปได้มากว่าโครงกระดูกเหล่านี้อาจจะเป็นผู้ที่มีเชื้อสายโปรตุเกสผสมกับคนพื้นเมืองซึ่งอาจจะมีทั้งชาวจีนและญวนรวมอยู่ด้วย
1.มือประสานกันที่บริเวณหน้าอก มือขวาทับมือซ้าย เข่าอยู่ห่างจากกัน แสดงว่าไม่ได้มีการมัด เข่าหรือเท้า เช่น โครงกระดูกที่ 4
2.มือประสานกันที่ท้องน้อย (ใกล้บริเวณเชิงกราน) มือทั้งสองชิดติดกันในลักษณะที่อาจเอานิ้วมือสอดประสานกันอันเป็นลักษณะที่แสดงความเคารพ เข่าทั้งสองอยู่ชิดติดกันแสดงว่าเท้าทั้งสองติดกัน หรือวางไขว้ทับกันด้วย แต่เท้าทั้งสองขาดหายไปในโครงกระดูกที่ 5
3.มือทั้งสองประสานกันที่ท้องน้อย (ใกล้บริเวณเชิงกราน) แต่เข่าและเท้าอยู่ห่างกัน เช่น ในโครงกระดูกที่ 37
4.มือทั้งสองวางประสานกันที่บริเวณเหนือท้องน้อยในลักษณะที่ข้อศอกเกือบตั้งฉาก เข่าและเท้าอยู่ห่างกัน เช่น โครงกระดูกที่ 38
5.มือขวาวางพาดบริเวณเหนือท้องน้อย ส่วนมือซ้ายจะวางพาดเฉียงลงมาบริเวณเหนือ เชิงกรานเล็กน้อย ลำตัวเอียงคล้ายวางตะแคงเข่าจะอยู่ในลักษณะย่อเล็กน้อย เช่น โครงกระดูก ที่ 39
6.มือวางประสานกันบริเวณท้องน้อยใกล้เชิงกราน มือขวาทับมือซ้าย เข่าห่างจากกัน แต่เท้าวางไขว้กันโดยเท้าขวาทับเท้าซ้าย เช่น โครงกระดูกที่ 40
7.มือทั้งสองวางอยู่บนหน้าอก โดยมือขวาวางอยู่เหนือมือซ้ายเล็กน้อย เข่าและเท้าทั้งสองอยู่ห่างจากกัน เช่น โครงกระดูกที่ 57
8.มือขวาวางพาดในลักษณะตั้งฉากบริเวณท้องน้อย มือซ้ายวางพาดขึ้นมาถึงบริเวณหน้าอก เช่น โครงกระดูกที่ 66
การนำสิ่งของใส่ฝังร่วมกับผู้ตาย
เหรียญรูปเคารพมีรูปพระแม่มารีและพระคริสต์ขณะทรงพระเยาว์
จากการขุดแต่งโครงกระดูกได้พบสิ่งของอยู่ร่วมกับโครงกระดูกด้วย ส่วนใหญ่ของที่พบร่วมกับโครงกระดูกจะเป็นของเคารพในศาสนา เช่น โครงกระดูกที่ 31 พบสายประคำคล้องคอผู้ตายอยู่ด้วย สายประคำนี้อาจทำด้วยกระดูกหรืองาช้าง โครงกระดูกที่ 59 พบสายประคำและเหรียญรูปเคารพในศาสนาอยู่ที่มือซ้ายซึ่งวางพาดลงมาที่บริเวณเชิงกรานในลักษณะที่สิ่งของทั้งสองนี้อยู่ในกำมือ คงเป็นลักษณะที่มีการนำเอาของนี้ยัดใส่ในมือของผู้ตายเพื่อแสดงว่าเป็นบุตรของพระเจ้า
โครงกระดูกที่ 64 พบสายประคำอยู่ที่มือซ้ายซึ่งวางพาดอยู่บริเวณเชิงกราน สายประคำนี้จะอยู่ในลักษณะที่ห้อยคล้องข้อมืออยู่
โครงกระดูกที่ 22 พบไม้กางเขนขนาดเล็กห้อยคอศพอยู่โดยอาจใช้สายเชือกก็อาจเป็นได้
โครงกระดูกที่ 85 พบเหรียญรูปเคารพในศาสนาอยู่ร่วมกับโครงกระดูกขณะโครงกระดูกที่ 38 พบตุ๊กตาเสียกบาลอยู่ร่วมกับโครงกระดูกด้วย
สรุป
การฝังศพของชาวคาทอลิกที่พบในการขุดแต่งโบราณสถานซานเปโตรนี้ จะพบว่ามีลักษณะการจัดวางท่าศพในลักษณะที่ต่างกันออกไป โดยส่วนใหญ่คำนึงถึงความสุภาพแสดงความเคารพเป็นสำคัญ อาจเป็นได้ว่าการทำพิธีบางอย่างอาจนำเอาพิธีของศาสนาอื่นที่ชาวพื้นเมืองที่นี่ได้กระทำกันอยู่แล้ว เมื่อหันมานับถือศาสนาคริสต์ ก็ยังติดพิธีกรรมบางอย่างจากศาสนาเดิมอยู่มาใช้ก็เป็นได้ เช่น การมัดตราสังศพ เป็นต้น ส่วนลักษณะท่าทางในการจัดวางศพนั้น เป็นไปได้ว่าอาจมีการเคลื่อนจากเดิมบ้าง ทั้งนี้เพราะโครงกระดูกอาจมีการเกร็งหรือคลายลงจากลักษณะเดิมที่จัดไว้ได้ แต่ทั้งนี้การวิเคราะห์อย่างละเอียดจะสามารถให้ความกระจ่างแก่เราต่อไป
ส่งบล็อกค่ะ http://tourismindustrydpu004jajang.blogspot.com/
ตอบลบนางสาวพรปวีณ์ ครุธเดช 530105030192 กลุ่ม 004