วันพุธที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2554

การสำรวจเบื้องต้น จารึกภาษาโปรตุเกสที่สุสานโบสถ์คอนเซ็ปชัน สามเสน 27 ก.พ.2554

โดย พิทยะ ศรีวัฒนสาร

สุสานโบสถ์คอนเซ็ปชันและที่พักสงฆ์ข้างโบสถ์

เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2554 คณะสำรวจของศูนย์วัฒนธรรมโปรตุเกสแห่งสถานเอกอัครราชทูตโปรตุเกส ณ กรุงเทพฯ นำโดย อาจารย์ลุยซา ดูตรา(Luisa Dutra) ผู้อำนวยการศูนย์วัฒนธรรมโปรตุเกส ณ กรุงเทพฯ อาจารย์ ประโลม บุญรัศมี เลขานุการเอกอัครราชทูตโปรตุเกส ณ กรุงเทพฯ คุณสุบียา สุทธิประพันธ์ เจ้าหน้าที่ศูนย์วัฒนธรรมโปรตุเกส อาจารย์ธีรนันท์ ช่วงพิชิต นักวิชาการอิสระด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและนายพิทยะ ศรีวัฒนสาร ได้ร่วมออกเดินทางสำรวจข้อมูลทางเรือจากท่าน้ำสี่พระยาขึ้นและล่องตามเส้นทางวัฒนธรรมชุมชนโปรตุเกส 3 โบสถ์ ได้แก่ โบสถ์อิมมาคิวเลต คอนเซ็ปชัน สามเสน โบสถ์ซางตาครูซ กุฎีจีน และโบสถ์กัลหว่าร์ซึ่งอยู่ใกล้กับสี่พระยา

การเดินทางไปยังโบสถ์คอนเซ็ปชัน คณะสำรวจได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากตัวแทนของคณะกรรมการโบสถ์ นำโดย นาวาเอก ศราวุธ วงศ์เงินยวง และบุตรสาว-บุตรชาย ซึ่งต่อไปก็คงได้รับช่วงสืบทอดบทบาทจากบิดาในการต้อนรับอาคันตุกะที่จะเดินเข้ามาเยือนชุมขนแห่งนี้ต่อไป

นอกจากนอ.ศราวุธ วงศ์เงินยวงจะเล่าให้ฟังถึงประวัติความเป็นมาและวัฒนธรรมชุมชนที่น่าสนใจแล้ว ยังนำคณะสำรวจไปชมสุสานโบราณของบรรพบุรุษในชุมชนและได้ชี้ให้ดูหลุมศพของพระยาวิเศษสงครามรามภักดี(แก้ว วิเศษรัตน์) โดยชี้ให้ดูแผ่นจารึกหลุมศพของบรรพบุรุษท่านหนึ่ง ซึ่งในเบื้องต้นอาจารย์ประโลม อ่านได้ความว่า "หลวง....สรเดช" และด้วยความที่ผู้เขียนค่อนข้างจะคุ้นเคยกับทำเนียบฐานันดรศักดิ์ในกรมทหารฝรั่งแม่นปืนในกฎหมายตราสามดวง จึงแจ้งแก่นอ.ศราวุธว่า ชื่อดังกล่าวน่าจะเป็น "หลวงรุทธสรเดช" แห่งกรมทหารฝรั่งแม่นปืน

ต่อมาผู้เขียนได้ส่งอีเมล์แจ้งไปยังนอ.ศราวุธ ดังนี้

"เรียน ผู้การศราวุธ

ผมได้รับเมล์แล้วครับ ขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่ง ........ เรื่อง จารึกที่หลุมศพของหลวงรุทธสรเดช (เจ้ากรมซ้าย กรมทหารฝรั่งแม่นปืน)เป็นหลักฐานสำคัญมากที่สุดรองลงมาจากจารึกที่ซางตาครูซเรื่องการเข้าร่วมทัพพระยาตากขับไล่พม่าออกจากสยามในปี1768ของทหารโปรตุเกส79คนภายใต้การนำของขุนฤทธิ์สำแดง(เจ้ากรมซ้าย{เช่นกัน} กรมทหารฝรั่งแม่นปืน) ซึ่งขณะนี้สูญหายไปแล้ว

ผมสันนิษฐานว่า จากสภาพแผ่นอิฐและโครงสร้างกุฏ รวมถึงตำแหน่งทางการทหารของบุคคลท่านนี้ จารึกนี้น่าจะทำขึ้นสมัยอยุธยา (ไม่น่าจะเป็นปีค.ศ.1861 อย่างที่น้องเน็ต อ่านให้ฟัง )อาจจะเป็นปี1661 หรือ1761 นอกจากนี้ในสมัยรัตนโกสินทร์บทบาทสำคัญจะอยู่ที่พระยาวิเศษสงครามรามภักดี(แก้ว วิเศษรัตน์) ซึ่งดูเหมือนท่านจะเป็นเจ้ากรมทหารฝรั่งแม่นปืนใหญ่ มิใช่กรมทหารฝรั่งแม่นปืนที่สืบทอดเชื้อสายมาจากสมัยอยุธยา

ข้อปฏิบัติต่อไปเกี่ยวกับป้ายหลุมศพและหลุมศพก่ออิฐถือปูนแห่งนี้(รวมพื้นที่ทั้งหมด คือ แจ้งเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรให้มาทำสำเนาจารึกเพื่ออ่านและตีความจารึกอีกครั้งหนึ่ง โดยจะมีกระบวนการที่เรียกว่า rubbing technic เพื่อให้สามารถอ่านตัวอักขระบนแผนหินนั้นได้ชัดเจนมากที่สุด โดยให้แจ้งจนท.ของกรมศิลปากรทำสำเนาแผ่จารึกร่วมสมัยทุกๆแผ่นในคราวเดียวกันนี้ได้เลย มิฉะนั้นก็อาจจะสึกมากกว่านี้ จนไม่สามารถจะอ่านได้อีกต่อไป และหางบประมาณทำแผ่นจำลองติดแทนแผ่นจริง ส่วนแผ่นจริงควรเก็บรักษาไว้ในหอจัดแสดงของชุมชนครับ ............................

โดยในเบื้องต้นขอแนะนำให้ผู้การถ่ายรูปและทำทะเบียนบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับการค้นพบแผ่นจารึกว่าพบที่จุดใดของหลุมศพ ลักษณะของแผ่นจารึกเป็นหินประเภทใด ขนาด กว้าง ยาว หนา หนัก เท่าใด จากนั้นก็เก็บใส่ถุงพลาสติก แต่อย่างเพิ่งขัดล้างหรือเช็ดนะครับ เพราะอาจจะทำให้รอยอักขระที่จารึกนั้นสึกกร่อนมากยิ่งขึ้น เรื่องเกี่ยวกับกรมทหารฝรั่งแม่นปืนศึกษาได้จากกฎหมายตราสามดวง (พระไอยการนาทหารหัวเมือง เล่ม 1, โรงพิมพ์คุรุสภา )และอาจศึกษาเพิ่มเติมจากเว็บ http://siamportuguesestudy.blogspot.com/ ในบทความเรื่องบทบาททางการทหารของชาวโปรตุเกสสมัยกรุงศรีอยุธยาครับ

ขอแสดงความนับถือ

พิทยะ ศรีวัฒนสาร"

อย่างไรก็ดี เมื่อผู้เขียนมีเวลาอ่านเอกสารบทความของอ.ไพโรจน์ โพธิ์ไทร ที่นอ.ศราวุธ ส่งมาให้ ก็พบว่าเคยมีการอ่านและศึกษาจารึกดังกล่าวมาแล้วครั้งหนึ่งอย่างน้อยก็ประมาณ 10 ปีเศษมาแล้ว จึงเห็นว่าข้อเสนอของผู้เขียนในประเด็นการกำหนดอายุของจารึกอาจคลาดเคลื่อน จึงได้ส่งเมล์ไปยังนอ.ศราวุธอีกครั้งดังนี้

"เรียนผู้การ ศราวุธ ผมได้อ่านเอกสารที่ส่งไปแล้วครับ เอกสารทั้งหมดมีประโยชน์มาก ขอขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่ง

ผมไม่แน่ใจว่า เนื้อหาในบทความของอ.ไพโรจน์ โพธิ์ไทร (ภูมิหลังของวัฒนธรรมโปรตุเกสในเขตวัดอิมาคูเลต คอนเซ็ปชัน สามเสน) ซึ่งกล่าวถึงป้ายหลุมศพของ Damino Ribeiro ค.ศ.1860 "เป็นที่หลวงวุฒิสรเดช" นั้นจะเป็นจารึกแผ่นเดียวกับของ Pualus ? ...Luang Rutsaradet หรือไม่ หากเป็นแผ่นเดียวกันก็ต้องยอมรับว่า ข้อสันนิษฐานของผมที่ว่าแผ่นจารึกดังกล่าวทำขึ้นในสมัยอยุธยานั้นผิดพลาดครับ แต่หากเป็นคนละชิ้นกันก็อาจชี้ให้เห็นถึงความสืบเนื่องในการสืบทอดของตำแหน่งในกรมทหารฝรั่งแม่นปืนของบรรพบุรุษในชุมชนแห่งนี้..."

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น