วันพุธที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2554

Exhibition "Fernão Mendes Pinto, the fascinated gaze", by Instituto Camões

โดย

สถาบันกามอยช์ (Instituto Camões)และศูนย์วัฒนธรรมโปรตุเกส ณ กรุงเทพฯ (Cultural Center of Portugal in Bangkok)
คู่มือนิทรรศการและคัดสรรบทอ่านนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการเรื่อง ยลมองต้องมนต์(Deslubramentos do Olhar) จัดขึ้นเนื่องในวาระครบ 500 ปี ชาตกาลของ สถาบันกามอยช์ (Instituto Camoes) ในปีค.ศ.2009 โดยความร่วมมือของ สถานเอกอัคราชทูตโปรตุเกส ณ กรุงเทพฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสถาบันกามอยช์ เผยแพร่เพื่อประโยชน์ทางวิชาการและไม่แสวงหาผลกำไรโดยได้รับอนุญาตจากศูนย์วัฒนธรรมโปรตุเกส ณ กรุงเทพฯ


1. การแสวงบุญ (Peregrinacam) [1] การจาริกแสวงบุญของฟืร์นาว เมนดืช ปินตู (Fernam Mendez Pinto)[2] ซึ่งเล่าเรื่องราวอันแสนพิสดารหลายเรื่อง[3] ที่ได้พบเห็นและได้ยินมาในอาณาจักรจีน ตาร์ตาร์ [4]หลวงพระบาง พะโค[5] เมาะตะมะ อาณาจักรสยาม[6]และเมืองบริวารอื่นๆ อีกมากมาย ในดินแดนตะวันออก ขณะที่ในดินแดนตะวันตกของเราทราบข่าวกันน้อยมากหรือไม่ได้ข่าวอะไรเลย และเขาก็เล่าเหตุการณ์เฉพาะมากมายที่เกิดขึ้นกับตนเองและบุคคลอื่นๆ และในตอนจบมีเรื่องบางเรื่องเล่าอย่างย่อๆ และกล่าวถึงการมรณภาพของท่านนักบุญ ฟรานซิสกู ชาวิเยร์(Francisco Xavier)[7] แสงดวงเดียวและความสว่างแห่งดินแดนตะวันออกเหล่านั้น และอธิการคณะแห่งพระเยซูเจ้าอันเป็นสากล(คณะเยซูอิต- Jesuite)



2. ฟืร์นาว เมนดืช ปินตู ข้าจะเล่าให้พวกท่านฟังย่อๆ ว่า เกิดอะไรขึ้นกับพวกข้าในเวลาต่อมา แต่ข้าจะไม่เขียนแม้แต่ตอนที่ร้อยซึ่งพวกข้าได้พานพบมา เพราะถ้าตั้งใจจะเขียนทุกๆสิ่งแล้วไซร้จะต้องใช้ทะเลกลั่นเป็นน้ำหมึกและท้องฟ้าทอเป็นกระดาษ

(จดหมายจากฟืร์นาว เมนดืช ปินตู ถึง บาทหลวง บัลตาซาร์ เดียส (Baltasar Dias) มาเก๊า ลงวันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 1555 )

3. พระมหากรุณาธิคุณต่อ ฟืร์นาว เมนดืช ปินตู “ถึงผู้ที่ได้เห็นพระราชหัตถเลขานี้ ข้าขอให้รับทราบทั่วกันว่า เนื่องด้วยการปฏิบัติหน้าที่ในอินเดียของ ฟืร์นาว เมนดืช ปินตู ผู้พำนักในเมืองอัลเมดา[8] และเพื่อเป็นการตอบแทน ข้าเห็นควรและมีความยินดีให้เขาควรมีและได้รับบำนาญเป็นข้าวสาลี 2 มอยอูจากท้องพระคลังของข้า เริ่มตั้งแต่วันแรกของเดือนมกราคมในปี 1583 นี้ [9] ทุกๆ ปี ตราบชีวิตเขาจะหาไม่..” (พระราชหัตถเลขาโปรดฯ พระราชทานบำนาญข้าวสาลี 2 มอยอู ทุกๆ ปี กรุงลิสบัว[10] ลงวันที่ 15 มกราคม ปีที่ 1583 )
วันเปิดนิทรรศการที่สำนักหอสมุด ห้องปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อ.Luisa Dutra ผู้อำนวยการศูนย์วัฒนธรรมโปรตุเกส ณ กรุงเทพฯ ร่วมเปิดงาน
3.ฟืร์นาว เมนดืช ปินตู นักเดินทาง “ฟืร์นาว เมนตืช? มินตู”[11] (ฟืร์นาว ท่านโกหกใช่ไหม ใช่ ข้าโกหก) เป็นการเล่นคำในภาษาโปรตุเกส (เมนดืช เมนตืช ปินตู มินตู) จากนามของผู้ประพันธ์การแสวงบุญ ซึ่งสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน แม้แต่ก่อนที่จะตีพิมพ์ผลงานนี้ ก็กระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นและเกิดการถกเถียงกันเหลือคณาที่เกี่ยวกับการผจญภัยที่เขาเล่ามานั้นว่าเกิดขึ้นจริงๆ หรือไม่ จากข้อมูลที่ปรากฏในเรื่อง เรารู้ว่า ฟืร์นาว เมนดืช ปินตู ถือกำเนิด และอาศัยในเมืองมงตือมอร์ อู เวลญู่[12] จนถึงอายุ 10 หรือ 12 ปี ที่ “บ้านแคบๆ โกโรโกโส” ของบิดา แล้วคุณลุงผู้ปรารถนาชักนำเขาไปสู่อนาคตที่ดีกว่า พาเขาเดินทางไปกรุงลิสบัว ในตอนปลาย ค.ศ.1521 เขามีปัญหาในการทำงานและโชคร้ายอยู่ร่ำไป จนกระทั่งภายหลังการออกเดินทางที่อ่อนล้าเป็นครั้งแรก ก็โดยสารเรือสู่อินเดียในวันที่ 11 มีนาคม ค.ศ. 1537 มุ่งมั่นไปแสวงโชคในระหว่าง 21 ปีกว่าๆ ที่เขาพำนักในดินแดนตะวันออก ได้เดินทางระหว่างอินเดียและจีนนับครั้งไม่ถ้วน อ้างว่า ตนเป็นหนึ่งในบรรดาชาวตะวันตก คนแรกๆ ที่เดินทางถึงญี่ปุ่น เขาได้ประกอบอาชีพ พ่อค้า ทหาร นักการทูต รับใช้พระเจ้า รวมทั้งเป็นโจร หมอพื้นบ้าน และถูกจับกุมเป็นเชลยบ่อยครั้ง เขากลับกรุงลิสบัวในวันที่ 22 กันยายน ค.ศ. 1558 นำจดหมายหลายฉบับรับรองการปฏิบัติหน้าที่รับใช้มาตุภูมิกลับมาด้วย ซึ่งถือเป็นทรัพย์ที่มีค่าที่สุดของเขา ภายหลังจากการร้องฎีกาต่อราชสำนักประสบความล้มเหลวหลายครั้งระยะเวลา 4 ปี เขาก็ใช้ชีวิตวัยเกษียณที่ที่ดินส่วนตัว ณ ปาเลนซ่า (Palença) เขต ปรากัล (Pragal) เมือง อัลมาดา ซึ่งเขาเขียนรวบรวมเรื่องราวต่างๆ จากความทรงจำลงในหนังสือ การแสวงบุญ

อาจารย์ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์เป็นประธานเปิดนิทรรศการ
4. เพื่อนร่วมทางของ ฟรานซิสกู ชาวิเยร์ “ฟืร์นาว เมนดืช ปินตู รับใช้ฝ่าพระบาทเรื่อยมาในดินแดนแถบนี้ และในญี่ปุ่น เขาได้ให้ข้ายืมเงิน 300 ครูซาดูช[13] เพื่อสร้างบ้านที่ ยามากูชิ[14] เขาเป็นคนฐานะดี มีน้องชาย 2 คน อัลวารู เมนดืช (Álvaro Mendes) และ อันตอนิอู เมนดืช (António Mendes) การที่จะทำให้พวกเขาให้จ่ายเงินที่มีและจบชีวิตลงในขณะปฏิบัติหน้าที่เพื่อฝ่าพระบาท ข้าขอเสนอให้ทรงบรรจุพวกเขาเป็นมหาดเล็ก อัลวารู เมนดืช อยู่ในเมืองมะละกา ขณะที่เมืองถูกข้าศึกล้อม”

(จดหมายจากบาทหลวง ฟรานซิสกู ชาวิเยร์[15] ถึง ดง ญูอาวที่ 3[16] โคชิน [17]ลงวันที่ 31 มกราคม ค.ศ. 1552 )

ความชื่นชมที่มีต่อ ฟรานซิสกู ชาวิเยร์ ทำให้ ฟืร์นาว เมนดืช ปินตู ละทิ้งความมั่งคั่งที่ได้สั่งสมมา แล้วเข้าร่วมกับคณะแห่งพระเยซูเจ้า[18] ใน ค.ศ. 1554 หลังจากพิธีฝังศพท่านนักบุญอันน่าสะเทือนใจที่เมืองกัว[19] ในการแสวงบุญ มิได้กล่าวถึงการเข้าร่วมคณะแห่งพระเยซูเจ้า แม้ว่า ฟืร์นาว เมนดืช ปินตู จะเล่าว่า ตนพบกับ ฟรานซิสกู ชาวิเยร์ และพูดถึงภารกิจการเผยแผ่ศาสนาในญี่ปุ่น โดยมีบาทหลวงเมลชิยอร์ บาร์เรตู (Melchior Barreto) ร่วมอยู่ด้วย ยังต้องสืบหาเหตุผลกันต่อไปว่าทำไมตัวเขาเองถึงไม่เล่าชีวิตขณะที่เป็นบราเธอร์ ฟืร์นาว เมนดืช ปินตู ในดินแดนตะวันออกอย่างละเอียด แต่เอกสารหลายฉบับเป็นพยานให้ว่า ระยะเวลาบวชสั้นเพียง 1 ปี รวมทั้งจดหมาย 2 ฉบับ ซึ่ง ฟืร์นาว เมนดืช ปินตู บอกไว้ก่อนที่จะเขียนเล่าในบันทึกความทรงจำ ฉบับแรกอยู่ในความครอบครองของคณะแห่งพระเยซูเจ้า เป็นหมวดจดหมายที่ตีพิมพ์ใน ค.ศ. 1555 และพิมพ์แก้ไขซ้ำอีกหลายครั้งเป็นภาษาโปรตุเกสและอิตาเลียน ทำให้ ฟืร์นาว เมนดืช ปินตู มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วยุโรป ก่อนที่จะกลับมาโปรตุเกสเสียอีก ส่วนจดหมายฉบับที่ 2 ลงวันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 1555 เป็นเอกสารฉบับแรกที่ทราบกันว่า เขียนในมาเก๊า

5. หนังสือยอดนิยมในคริสต์ศตวรรษที่ 17

ใน ค.ศ. 1614 ได้มีการตีพิมพ์ผลงานเล่มหนาที่ ฟืร์นาว เมนดืช ปินตู เขียนด้วยลายมือ ผ่านการอนุมัติให้พิมพ์และผู้ตีพิมพ์อุทิศให้กับ พระเจ้า ฟิลิปที่ 2 แห่งโปรตุเกส รายได้จากการขายมอบให้กับสถานสงเคราะห์ผู้ยากไร้ในกรุงลิสบัวตลอดเวลาหลายศตวรรษ มีการคาดการณ์กันมากมายเกี่ยวกับรอยต่อของเวลา ระหว่างปีที่ผู้ประพันธ์เสียชีวิตใน ค.ศ. 1583 และปีที่ตีพิมพ์ เชื่อกันว่า ต้องมีการตรวจเซ็นเซอร์หรือปรับเปลี่ยนบางบทมาก่อน รวมทั้งมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับเรื่องเพ้อฝันในงานเขียนนี้ จึงทำให้มีการแก้ไขฉบับภาษาโปรตุเกสแค่ 5 ครั้งจนถึงทศวรรษแรกในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งนับว่าน้อยทีเดียว อย่างไรก็ดี หนังสือได้ประสบความสำเร็จแบบไม่ธรรมดาในยุโรป ได้รับการแปลเป็น 18 ภาษาหลักในคริสต์ศตวรรษที่ 17 เป็นที่รู้จักกันดีและชื่นชอบในหมู่ผู้อ่านที่พิสมัยนิยายผจญภัยในห้วงเวลานั้น

งานเขียนที่ก้าวผ่านมิติแห่งกาลเวลา การแสวงบุญ ได้รับการตีพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า และปรากฏมากกว่า 100 ต้นฉบับปรับปรุงใหม่จนถึงปัจจุบัน มากกว่า 200 ครั้ง ถ้าเรานับที่ตีพิมพ์ซ้ำกันหลายครั้งในโปรตุเกสเอง นับตั้งแต่ต้นฉบับปรับปรุงที่ตีพิมพ์ใน ค.ศ. 1829 ก็ยังคงได้รับการกล่าวขวัญในวรรณคดีโปรตุเกส มีการคัดเลือกพิมพ์เฉพาะบางเนื้อหาในบางเล่มแสดงให้เห็นว่า สามารถอ่านหนังสือเล่มนี้ได้หลายแนวทาง โดยจากการจัดหมวด (นับตั้งแต่ประเภทวรรณคดีจิตวิญญาณ จนถึงเรื่องเล่าจากการผจญภัยหรือการเดินทางอันน่าอัศจรรย์) ฟืร์นาว เมนดืช ปินตู และงานประพันธ์ของเขา เป็นแรงบันดาลใจเรื่อยมาให้กับศิลปินหลายแขนง เช่น วรรณคดี ทัศนศิลป์ การละคร และดนตรี

ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริและอาจารย์ ลุยซา ดูตรา
งานแปลในคริสต์ศตวรรษที่ 17 เนื้อหาสมบูรณ์ – ค.ศ. 1620 – ภาษาสเปน (พิมพ์ซ้ำ : 1620, 1628, 1645, 1664, 1666) / 1628 – ภาษาฝรั่งเศส (พิมพ์ซ้ำ : 1645, 1830) เนื้อหาบางส่วน – ค.ศ. 1625 – ภาษาอังกฤษ / 1652 – ภาษาดัตช์ (พิมพ์ซ้ำ : 1653) / 1653 – ภาษาอังกฤษ (พิมพ์ซ้ำ : 1663, 1692) / 1671 – ภาษาเยอรมัน (พิมพ์ซ้ำ : 1671, 1671)

งานแปลในคริสต์ศตวรรษที่ 20 เนื้อหาสมบูรณ์ – ค.ศ. 1979 – ภาษาญี่ปุ่น / 1982 – ภาษาสเปน / 1989 – ภาษาอังกฤษ / 1991 – ภาษาฝรั่งเศส / 1992 – ภาษาดัตช์ / 1999 – ภาษาจีน

6. หนังสือแห่งความเพ้อฝัน ญูอาว โรดริกืช (João Rodrigues) ประวัติศาสนาคริสต์ในญี่ปุ่น (História da Igreja do Japão) (ค.ศ. 1630) ระบุว่า


“ฟืร์นาว เมนดืช ปินตู ในหนังสือแห่งความเพ้อฝันของเขา อ้างว่า เขาเป็น (ชาวโปรตุเกส) 1 ใน 3 คน ที่อยู่บนเรือสำเภาลำนั้น แต่ไม่จริงหรอก เนื่องจากยังมีสิ่งอื่นๆ อีกมากมายในหนังสือของเขา ซึ่งดูเหมือนว่าเขาจะประพันธ์เพื่อให้ความสนุกสนานมากกว่าพูดเรื่องจริง เพราะว่าไม่มีอาณาจักรใดหรือเหตุการณ์ใดที่เขาไม่ได้แสร้งว่า เขาอยู่ตรงนั้นพอดี”

7. “ใครก็ตามที่ไม่เชื่อข้าหรือสงสัยในสิ่งที่ข้าพูด...” เพราะข้าเกรงว่าถ้าข้าบรรยายทุกๆ สิ่งอย่างละเอียดตามที่ข้าได้เห็นในเมืองนี้ ความวิจิตรตระการตาที่แปลกไปอาจทำให้ผู้อ่านเกิดความสงสัย และเพื่อว่าจะได้ไม่ไปเชื่อพวกไม่ประสงค์ดีและปากร้าย ที่ตัดสินสิ่งต่างๆ จากสิ่งที่ตนเห็นแค่เพียงเล็กน้อย และมีความเข้าใจอยู่ในระดับต่ำและมีอย่างจำกัดด้วย มาตัดสินเรื่องจริงที่ข้าเห็นกับตาของข้าเอง ข้าจึงละเว้นที่จะเล่าหลายๆ สิ่งที่อีกนัยหนึ่งอาจจะให้ความเพลิดเพลินกับพวกที่มีจิตใจสูงส่งและมีความฉลาดกว้างไกล คนที่ไม่ได้ตัดสินสิ่งต่างๆ จากดินแดนอื่น โดยแค่ใช้ความชั่วร้ายและความหยาบคายที่พวกเขาเห็นต่อหน้าต่อตามาวัด

การแสวงบุญ บทที่ 114 “ข้าเห็นกะตาของข้าเอง”
ผู้ร่วมงานเปิดนิทรรศการจากชุมชนกุฎีจีนสนทนากับนักวิชาการจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร
ไม่ว่าจะเป็นความจริงหรือความเพ้อฝัน การแสวงบุญ เป็น 1 ในบรรดาเรื่องที่มีเสน่ห์ ซึ่งทำให้เรารู้สึกทึ่ง เนื่องจากความสามารถในการท้าทายผู้อ่าน ฟืร์นาว เมนดืช ปินตู นักเดินทาง ผู้เห็นโลก และต้องการจะบอกเราเกี่ยวกับมันทั้งหมดพยายามหาทางชักจูงให้ผู้อ่านที่เคลือบแคลงสงสัย หันมาเชื่อเขา และมารู้สึกว่าสิ่งที่เขากำลังเล่าไม่น่าจะเป็นไปได้ แม้ว่าเขาจะย้ำสถานภาพของเขาในฐานะพยานผู้เห็นเหตุการณ์ “ข้าเห็น” พยายามใช้รูปแบบนี้ รับรองว่า เรื่องน่าอัศจรรย์ที่เล่ามานั้นเป็นเรื่องจริง แต่จำนวนตัวเลขที่ละเอียด เช่น ตกเป็นเชลย 13 ครั้ง และถูกนำไปขาย 17 ครั้ง วันเวลาที่ขัดแย้งกัน การอ้างอิงชื่อทางภูมิศาสตร์ที่ดูลึกลับไม่อาจสืบหาได้ในปัจจุบัน ความผิดพลาดในการกะระยะทาง และความไม่ใส่ใจในภาษาต่างๆที่เขาถ่ายเสียงมาด้วย มีส่วนทำให้เห็นว่าเป็น “หนังสือแห่งความเพ้อฝัน” ดังที่บาทหลวงคณะแห่งพระเยซูเจ้า ญูอาว โรดิเกช ได้ระบุไว้ อย่างไรก็ดี การค้นคว้าการเขียนประวัติศาสตร์ได้ยืนยันแล้วว่า ข้อมูลจำนวนมากมาจากการแต่งขึ้นมาเอง ซึ่งแสดงความรุ่มรวยที่ไม่ธรรมดาของงานประพันธ์ที่สามารถใช้อ่านประหนึ่งเอกสารที่มีคุณค่าในสมัยนั้นหรือเรื่องผจญภัยชวนเคลิ้มฝันและลึกลับ
เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากกรมยุโรป กระทรวงต่างประเทศ เดินทางมาร่วมงานด้วย
8. เมืองลอยน้ำทั้งหลาย ตลอดระยะทางมากกว่าครึ่งลีก[20] ริมแม่น้ำในเมืองกวางตุ้ง เห็นฝูงเรือเนืองแน่นเสียจนน่าอัศจรรย์นัก และสิ่งที่วิเศษมากไปกว่านั้น จำนวนเรือไม่เคยพร่องหรือลดลงตลอดทั้งปีเลย เพราะว่า ถ้าเรือ 30 หรือ 40 หรือ 100 ลำ ออกจากท่าใน 1 วัน เรือก็เข้ามาเทียบท่าในจำนวนเท่าๆ กันฉันนั้น ข้าขอบอกท่านว่า ฝูงเรือไม่เคยพร่องหรือลดลง ก็เพราะว่า แม้ว่าบางครั้งจะมีมากลำหรือน้อยลำ ฝูงเรืออันน่าพิศวงก็ยังคงมีมิได้ขาด (…) (กาสปาร์ ดา ครูซ -Gaspar da Cruz เรื่องราวจากจีน -Tratado das Coisas da China, ค.ศ. 1569)

ขณะเดินทางเหนือลำน้ำ พวกข้าได้เห็น(เหมือนที่ข้าได้พูดมาแล้ว) เรือวันกอยซ์[21] ลานเตอาช และเรือท้องแบน บรรทุกผลิตผลทั้งหมดที่แผ่นดินและทะเลจะสามารถมอบให้ได้ และมีล้นหลามจนข้าขอประกาศไว้เลยว่า ข้ามิอาจสรรหาถ้อยคำใดหรือวิธีการใดที่จะใช้เป็นมาตรนับได้ มิมีผู้ใดจะจินตนาการได้ว่า สรรพสิ่งทั้งมวลนี้สามารถดำรงอยู่อย่างเหลือคณานับในบรรดาประเทศแถบนี้ นอกจากนี้ กว่าจะขนหมดยังต้องใช้เรือ 200 หรือ 300 ลำ และเมื่อเรือเหล่านี้มารวมตัวกันครั้งใหญ่ดูดุจมหานครอันงามสง่าผุดขึ้นเป็นแนวยาวตามชายฝั่งมากกว่า 1 ลีก และกว้างเกือบ 1/3 ลีก
คุณลุง ณรงค์ชัย เจริญสุข จากชุมชนกุฎีจีน
การแสวงบุญ บทที่ 98 คนเล่าเรื่อง...

เรื่องเล่าที่สืบทอดจากยุคแห่งการค้นพบ[22]จนมาถึงสมัยเรา ก็มีลักษณะคล้ายกับ การแสวงบุญ โดยเขียนอ้างเหตุผลว่า เขียนเพื่อเผยโฉมหน้าดินแดนและบรรดาผู้คนหลากหลายรวมทั้งอุปสรรคและความไม่แน่นอนระหว่างการเดินทางในท้องทะเลดังนั้น จึงเสนอเรื่องเล่าออกมาในรูปบันทึกการเดินเรือ เส้นทางการเดินทาง หรือตำราภูมิศาสตร์ ซึ่งเชื่อมโยงประสบการณ์ที่พานพบกับข้อมูลที่รวบรวมมาจากนักเดินทางคนอื่นๆ แต่ก็ไม่เสมอไปที่ของตนกับของผู้อื่นจะรวมเป็นเนื้อเดียว อย่างไรก็ดี เรื่องเล่าของ ฟืร์นาว เมนดืช ปินตู มีความโดดเด่น เนื่องจากตั้งใจเขียนเป็นอัตชีวประวัติ บันทึกความจำในสิ่งที่เขาเห็น ได้ยิน และอยู่ร่วมในเหตุการณ์ เขียนหลังจากผ่านการผจญภัยมานาน

หลายปี ซึ่งปัจจัยเรื่องระยะเวลาที่ห่างไปนี้ ส่งผลให้เห็นว่า เขากลั่นกรองประดิษฐ์เรื่องจากประสบการณ์ของตน เรื่องบางเรื่องที่เขาเล่าก็มีนักเดินทางคนอื่นๆ เล่าตัดหน้าไปก่อนแล้ว เพราะพวกเขาได้เคยอ่านจากนักเขียนคนอื่นมาก่อนนั่นเอง แต่ความแตกต่างอยู่ที่เขาขมวดรวมทุกตอนประหนึ่งว่ามาจากประสบการณ์ส่วนตัว ยกตัวอย่างเช่น บทบรรยายจีน ที่ดูเหมือนว่า ได้รับแรงบันดาลใจจาก ฟืร์นาว ลอปืช ดือ กาสตานเญดา [23]หรือเรื่องเล่าจาก กาเลโอตึ ปือไรยร่า[24] หรือ ภารดา กาสปาร์ ดา ครูซ[25] ฟืร์นาว เมนดืช ปินตู เดินทางข้ามจีนขณะถูกจับเป็นเชลย และกล่าวว่า เขาได้เห็นในสิ่งที่ผู้อื่นได้บรรยายไว้ก่อนหน้านี้แล้วเขาก็มักจะขยายบทบรรยายอย่างย่อๆ เหล่านั้นให้ยาวขึ้นหลายหน้า

9. เชลย เนื่องจากพวกเข้าส่วนใหญ่มีเคราะห์กรรม กำลังเจ็บระบมจากบาดแผลลึกและเป็นอันตราย ไม่ต้องเอ่ยถึงการปฏิบัติอย่างทารุณที่พวกเข้าได้รับจากคุกอันน่าเศร้านั้น ในเช้าวันรุ่งขึ้น ทหาร 2 จาก 9 นาย ก็สิ้นลม คน 1 ชื่อ นูนู่ เดลกาดู (Nuno Delgado) อีกคน อังเดร บอร์จ (André Borges) ทั้ง 2 มาจากครอบครัวที่ดีและมีจิตเข้มแข็ง ทั้งคู่มีบาดแผลลึกที่ศีรษะ ซ้ำไม่มีแพทย์มารักษา แล้วก็ไม่ได้รับหยูกยาใดๆ ที่นั่น พวกเขาเลยจบชีวิตลง

การแสวงบุญ บทที่ 6 10. ผจญภัย ผจญภัย ในตอนต้น การแสวงบุญ ฟืร์นาว เมนดืช ปินตู ได้ระบุว่า “อุปสรรคและเคราะห์กรรมมากมาย” เกิดกับตัวเขา และเย้ยหยันโชคชะตาที่ไล่ต้อนและให้ร้ายเขา เขาก็กลับขอบคุณพระผู้เป็นเจ้า ที่ทางช่วยเหลือเขาให้รอดพ้นจากภยันตรายถึงชีวิตหลายครั้งตลอดการเดินทาง 21 ปี ในดินแดนตะวันออก จึงถือเป็นการเตรียมผู้อ่านให้ทราบว่า จะเกิดการผจญภัยและการทรมานตามมาเรื่อยๆ แล้วเขาก็สามารถหลบหลีกโดยไม่ได้รับอันตรายใดๆ อย่างปาฏิหาริย์ด้วยพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า เส้นทางการเดินทางที่ลำบาก และการผจญภัยอันน่าเวียนศีรษะ – การตกเป็นเชลย เรืออับปาง การสู้รบ ข้าศึกล้อมเมือง การถูกพิพากษาประหารชีวิต การถูกตามล่า - ทำให้ภาพลักษณ์ของวีรบุรุษในฝันผู้นี้ มีชัยเหนือความทุกข์ยาก และภายหลังสมัยนิยมงานประพันธ์ของ เป็นนิยายผจญภัยที่ไม่ธรรมดาเรื่อง 1 ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังสมัยนิยมงานประพันธ์ของ เซร์บันเตส (Cervantes) เรื่อง ดอน กิโฆเต้ (Don Quixote) ตีพิมพ์ภาคแรก ใน ค.ศ. 1605 และภาคที่ 2 ใน ค.ศ. 1615 ดังนั้น จึงเข้าใจได้ว่า ทำไมหนังสือฉบับตัดตอนและฉบับปรับปรุงหลายเล่มถึงเลือกพิมพ์ตอนที่น่าตื่นเต้นเร้าใจที่สุดในการเดินทางของนักผจญภัยผู้นี้ ซึ่งเป็นแนวหลักของหนังสือ และตัดทิ้งตอนที่เผยความหมายทางจิตวิญญาณแห่งการแสวงบุญนี้

หมายเหตุผู้แปล 1. ผศ. สว่างวัน ไตรเจริญวิวัฒน์ ภาควิชาภาษาสเปน คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้แปล ดอน กิโฆเต้ แห่งลามันช่า ขุนนางต่ำศักดิ์ นักฝัน สนพ. ผีเสื้อ พิมพ์ครั้งแรกในเดือนมีนาคม 2549 ยุทธนาวี

เมื่อพวกเติร์กหยั่งรู้หรือสงสัยในสิ่งที่พวกข้าตั้งใจจะทำ ก็ส่งเสียงอึกทึก และสวดคาถาบริกรรมตามหลักศาสนาสักประเดี๋ยว แล้วก็เปลี่ยนทิศทางใบเรือลายสีหมากรุกและธงผ้าไหมบนเสากระโดงหันมาทางพวกข้า ด้วยเหตุที่ลมเป็นใจ พวกเขาตามลมมาทางที่พวกข้าอยู่ได้โดยง่าย ทันทีที่พวกเขาอยู่ในระยะสะดวกยิง ก็เปิดฉากระดมปืนใหญ่ทั้งหมดมาหาพวกข้า คนของพวกข้าเสียชีวิตทันที 9 ส่วนที่เหลือบาดเจ็บ 26 กำลังคนจึงอ่อนแอนัก ลูกเรือส่วนใหญ่ก็กระโดดหนีลงทะเลไป พวกเติร์กขยิบมาประชิด พุ่งหอกจากดาดฟ้าเรือใส่พวกข้าจนได้รับบาดเจ็บไปตามๆ กัน


การแสวงบุญ บทที่ 5 การปล้นเมือง เมาะตะมะ เมืองเมาะตะมะ ที่น่าเศร้าตกอยู่ในกำมือของทหารเลว เมื่อสิ้นสัญญาณยิงนัดสุดท้าย พวกเขาก็เข้าประจัญบานอย่างเหี้ยมโหด ขณะเข้าประตูเมือง กล่าวกันว่าบดขยี้คนไปมากกว่า 300 ทหารจำนวนนับไม่ถ้วนเหล่านี้มาจากหลายถิ่น ซึ่งไร้กษัตริย์ปกครอง ไร้กฎหมาย และไม่เกรงกลัวสิ่งใดหรือเชื่อในพระผู้เป็นเจ้าทั้งหมดตามืดบอดเพราะความโหยหิว ไม่คิดถึงอะไร นอกจากการฆ่าฝัน 100 คน เพื่อ ครูซาดู[26] เดียว แม้กษัตริย์จะทรงปรากฏพระวรกาย 6 หรือ 7 ครั้ง เพื่อปราบฝูงชนและความวุ่นวายที่ครอบงำเมืองนี้ ความกระหาย ความละโมบ และความโหดร้ายของบรรดาทหารไพรีที่ดุร้าย ปล้นเมือง 3 วันครึ่งจนโล่งเตียน ไม่เหลือสิ่งใดไว้ให้เห็นเลย

การแสวงบุญ บทที่ 151 11. ยลมองต้องมนต์ แม้ว่าพวกข้าถูกล่ามบนพนักฝีพายเรือ ลานเตอา พวกข้าก็อดมองทัศนียภาพอันแสนวิเศษของเมืองใหญ่น้อย และหมู่บ้านที่ตั้งเรียงรายริมฝั่งแม่น้ำใหญ่สายนี้ไม่ได้ ดังนั้น ข้าจะเล่าสิ่งที่ข้าเห็นสักเล็กน้อย

การแสวงบุญ บทที่ 138 12. ภูมิศาสตร์ใน การแสวงบุญ การเดินทางที่ ฟืร์นาว เมนดืช ปินตู เล่า กินเนื้อที่ภูมิศาสตร์ที่กว้างไกลจากอินเดีย จรด ญี่ปุ่น อีกทั้งบรรดาทะเล แม่น้ำ เมืองเล็ก นครใหญ่ และอาณาจักรทั้งหลาย ซึ่งปรากฏในแผนที่ของเส้นทางหลายจุดที่ไวเคานต์ แห่งลากูอา ได้รวบรวมไว้ภายหลัง แต่ควาทชอบพรรณนาของผู้ประพันธ์ ไม่ได้จำกัดแค่เพียงเส้นทางนประเทศต่างๆ ตามลำดับ แต่ยังมองลึกไปถึงรายละเอียดของสถานที่ ไม่ว่าจะเป็นความมหัศจรรย์ของธรรมชาติหรือสิ่งก่อสร้างฝีมือมนุษย์อันวิจิตร เช่น วังกำแพง โรงเตี๊ยม วัด สวน แหล่งเพาะปลูก เหมือนเรื่องเล่าอื่นๆ ในสมัยเดียวกันการแสวงบุญ บรรจุข้อมูลละเอียดเกี่ยวกับประเทศต่างๆ และประชาชน ใช้แง่มุมมองดุจผู้พิชิตดินแดน รวมถึงที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ พืชพรรณธัญญาหารที่ปลูกความมั่งคั่งที่ชาวยุโรปปรารถนา การจัดการปกครองและการทหาร เมืองหลัก และป้อมปราการ ลักษณะนิสัยและความประพฤติของประชากร

หมายเหตุผู้แปล 1. ไวเคานต์แห่งลากูอา (Lagoa) หรือ ญูอาว อันตอนิอู มาสกาเรนญาส จูดิซ (João António Mascarenhas Júdice) (ค.ศ 1898 – 1957) เป็นนักประวัติศาสตร์ที่ค้นคว้าด้านประวัติศาสตร์ยุคแห่งการค้นพบของโปรตุเกส และรวบรวมคำศัพท์ชื่อดินแดนที่ปรากฏบนแผนที่ทางภูมิศาสตร์ในยุคแห่งการค้นพบ

13. ทรราชของพม่า เนื่องจากทรราชได้รับบาดเจ็บและเสียหน้าในเหตุการณ์ที่ผ่านมา เขาก็เลยก่อกรรมทำเข็ญให้แก่ประชาชนผู้เคราะห์ร้าย แก้แค้นที่โชคไม่ดีในช่วงปิดล้อมเมืองแต่ก็เกิดขึ้นก็เพราะเขาเองเป็นคนจิตใจอ่อนแอ สืบสายเลือดไม่ดี และวงศ์ตระกูลโหดร้ายโหยหาการล้างแค้นมากกว่าความเมตตาและความกล้าหาญ เหนืออื่นใด เขาขาดความซื่อสัตย์ นิสัยท่าทางดังอิสตรี ประกาศเป็นศัตรูกับพวกหล่อน คนในอาณาจักรของเขาเอง และคนอื่นที่เขาปกครอง กลับมีความยุติธรรมและความงามอันหาที่เปรียบมิได้

การแสวงบุญ บทที่ 155 ความอุดมสมบูรณ์ของอาณาจักรสยามและรายละเอียดอื่น ข้าว่าเหมาะที่จะเอ่ยถึงดินแดนนี้ แม้ว่าข้าจะได้เห็นเพียงคร่าวๆ ทั้งสถานที่ตั้งความยิ่งใหญ่ ความอุดมสมบูรณ์ ความมั่งคั่ง และความเจริญงอกงาม ในอาณาจักรสยามและจักรวรรดิซอร์เนา น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่านี้ หากได้พิชิตดินแดนนี้ทดแทนทุกสิ่งที่เรามีที่อินเดีย และเราก็ลงทุนน้อยกว่าที่เราเคยลงทุนกันมาถึงขณะนี้

การแสวงบุญ บทที่ 189

หมายเหตุผู้แปล 1. ซอร์เนา (Sornau) มาจาก ชาฮ์ร์-อิ-เนา (Shahr-i-nao) ซึ่งพ่อค้าชาวเปอร์เซียเรียกสยาม แปลว่า เมืองใหม่

บรรดาอาณาจักรที่ดีที่สุดในโลก ใน 226 บท ของ การแสวงบุญ มักเสนอการออกเดินทางและการมาถึงดินแดนต่างๆ ทางบกและทะเล แต่ในหลายกรณี การออกนอกเส้นทางโดยบังเอิญนำ ฟืร์นาว เมนดืช ปินตู ไปสู่เส้นทางที่ไม่ได้คาดการไว้ และทำให้เขากลายเป็นพยายให้กับประวัติศาสตร์ในท้องถิ่นนั้นไป ระหว่างที่กษัตริย์พม่าทรงกรีฑาทัพรุกอาณาจักรใกล้เคียง ดังปรากฏในเรื่องเล่าที่ไม่ธรรมดาเกี่ยวกับชั้นเชิงการยุทธ์ผู้บัญชาการเมืองมะละกาได้ส่ง ฟืร์นาว เมนดืช ปินตู ไปเมาะตะมะ ซึ่งเป็นชุมทางการค้าที่สำคัญแห่ง 1 ในคาบสมุทรมลายู และเขาก็ค้นพบเมืองที่ถูกกษัตริย์พม่าทรงปิดล้อม เขาพรรณนาถึงการปล้นหลังจากมีชัย ซึ่งแสดงให้เห็นลักษณะกษัตริย์ทรราชไร้ความปรานี ส่วนในสยาม เขาได้ร่วมพิธีพระราชทานเพลิงศพกษัตริย์ ซึ่งทรงถูกพระมเหสีวางยาพิษ และในที่สุด กษัตริย์พม่าทรงเข้ายึดครองกรุงศรีอยุธยาเขาก็กล่าวถึงการกระทำที่โหดร้ายทารุณ สงครามที่เขาประจักษ์ จุดประกายให้ทหารชาวคริสต์ที่ละโมบฝันไปว่า จะสามารถพิชิตอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ อุดมสมบูรณ์มั่งคั่งเหล่านี้ ได้โดยง่าย

14. วังกาละมินญัน เมื่อพวกข้าเดินเข้าไปข้างในประตูเหล่านั้น ก็ผ่านทะลุอุทยานใหญ่ ที่ประกอบด้วยสิ่งแปลกและแตกต่างกันหลายชนิด เพลินตายามมองนัก มิอาจสรรหาถ้อยคำใดมาสดุดีได้เลย ทางเดินแคบๆ ล้อมรั้วสีเงิน และบรรดาต้นไม้ส่งกลิ่นประหลาดซึ่งเขาบอกกับพวกข้าว่า เข้ากันกับปฏิทินจันทรคติ พวกมันผลิดอกและออกผลตลอดเวลา นอกจากนี้ ก็ยังมีดอกกุหลาบหลายชนิด และดอกไม้ชนิดอื่นๆ และดอกเดซี่สิ่งที่ดีที่สุดก็คือ แสร้งผ่านๆ ไป เนื่องจากมิมีผู้ใดบอกว่า อะไรกำลังเกิดขึ้นกันแน่

การแสวงบุญ บทที่ 163 หมายเหตุผู้แปล 1. กาละมินญัน (Calaminhan) ที่ปรากฏในงานประพันธ์ สันนิษฐานว่า เป็นอาณาจักรหลวงพระบาง หลวงพระบาง เจ้าแห่งโลกา แม้สภาพภูมิศาสตร์ที่แท้จริงของสถานที่ทั้งหลายใน การแสวงบุญ บางสถานที่ก็ชวนให้เราเคลิ้ม เช่น กรณีอาณาจักรหลวงพระบาง ซึ่งปรากฏหลายบท ฟืร์นาว เมนดืช ปินตู และเพื่อนร่วมทาง ติดตามทูตของกษัตริย์พม่า ซึ่งได้รับการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่ในนครติงปลาว[27] เมืองหลวงของอาณาจักร เมื่อพวกเขามาถึงท่าเทียบเรือก็ข้าม “ถนนยาวมากหลายสาย” และเข้าไปในอาคารแรกในวังหลวงพระบาง ผู้เล่าค่อยๆ บรรยายพื้นที่ภายในอย่างละเอียด เมื่อผ่านลาน เข้าไปในห้อง ขึ้นบันไดเดินตามระเบียง จนกระทั่งพวกเขามาถึง “อาคารใหญ่” ในขณะนั้นประตูปิด” ความกระวนกระวายและความลึกลับเพิ่มพูนขึ้นไปตามธรรมเนียมปฏิบัติที่ละเอียด ก่อนที่จะเปิดประตูแล้วก็ปิดทันที หลังจากทูตได้เข้ามาแล้ว ก็ปล่อยให้เราชมอุทยานใหญ่ซึ่งเรารับรู้เนื้อหาที่เป็นสาระสำคัญว่า กำลังแสดงภาพของสวรรค์บนดิน

ออกจากอาคารนี้แล้ว พวกข้ามาถึงประตู ซึ่งมียาม 6 คน ถือคฑาเงิน เคลื่อนไปอีกอาคารที่สร้างวิจิตรที่สุด ที่ซึ่งเจ้าหลวงประทับที่อาสน์สมสง่าราชา ล้อมด้วยรั้วกั้นทำด้วยเงิน 3 แถว หญิงงาม 12 นางในชุดวิจิตร นั่งภายในรั้ว บนขั้นบันไดลดลั่นกันไป เล่นเครื่องดนตรีที่ส่งเสียงหวานไพเราะ และ 2 นาง ผลัดกันขับขานเหนือที่ประทับ เด็กหญิง 12 คน แต่ละคนอายุราว 9 หรือ 10 ปี คุกเข่ารอบๆ พระองค์ ถือคฑาทองน้อยๆ อีกคนยืนพัดให้พระองค์

การแสวงบุญ บทที่ 163 15. สิ่งมหัศจรรย์ในจีน เพื่อจะไม่ใช้เวลามากไปกว่านี้ให้รายละเอียดทุกสิ่งที่พบเห็นในเมืองนี้ มิเช่นนั้น ก็จะยืดยื้อไม่จบเรื่องนี้ ข้าบอกได้เพียงว่า มิมีสิ่งใดบนโลกนี้ที่ขอหรือปรารถนาแล้ว จะหาไม่เจอบนเรือเหล่านี้ในเวลานี้ และมีปริมาณมากกว่าที่ข้าได้บอกเสียอีก ข้าจะไม่พูดอะไรเลยเกี่ยวกับเมืองใหญ่น้อยและหมู่บ้านอื่นๆ ที่ตั้งบนดินแดนนี้ เพราะสามารถตัดสินเมืองอื่นๆ ที่เหลือได้จากเมืองนี้บนฝั่งแม่น้ำ ทั้งหมดเหมือนกันมากๆ

การแสวงบุญ บทที่ 99 รัฐบาลที่ดีของจีน การเดินทางของ ฟืร์นาว เมนดืช ปินตู และสหาย ภายในจีน เป็นส่วนหลักของ การแสวงบุญ และเป็น 1 ในบทที่รู้จักกันมากที่สุด หลังจากเรืออับปางลงชาวโปรตุเกสเร่ร่อนขอทานตามหมู่บ้านริมชายฝั่ง และถูกกล่าวหาว่าเป็นคนจรจัดและหัวขโมย ซึ่งถือเป็นอาชญากรรมร้ายแรงในสังคมนั้น จึงถูกควบคุมตัวไปพิจารณาคดีที่เมืองนานกิง แล้วต่อมา ปักกิ่ง ซึ่งต้องเดินทางเหนือน้ำไป ขณะที่เรือเดินหน้า ผู้เล่าได้พรรณนาการใช้ที่ดินเพาะปลูก และให้ผลผลิตมากเท่าไหร่ ความเคลื่อนไหวทางการค้าที่ท่าเรือ (เรือจำนวนมากเหมือนเมืองลอยน้ำ) อาคารวิจิตรงดงามและโดยเฉพาะกำแพงล้อมเมือง และปกป้องพวกเขาจากภยันตรายจากโลกภายนอกเมื่อพวกเขาเดินทางถึงนครปักกิ่ง บรรดานักโทษรู้สึกทึ่งในการดูแลคนยากไร้และคนป่วย รวมทั้งการจัดกระบวนการยุติธรรมที่ดี เห็นได้จากการใช้ระบบมนุษยธรรมสูงขณะเดียวกัน ยังมีความสามารถในการฟื้นฟูผู้กระทำความผิด

สิ่งที่โดดเด่นบางสิ่งในนครปักกิ่ง ข้ากล้ายืนยันว่า ไม่มี (เมืองหลวงของอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ใดๆ) สามารถเทียบกับสิ่งที่เล็กที่สุดในปักกิ่ง ที่ยิ่งใหญ่ได้เลย ดูแค่ความมหึมาและความหรูหราทั้งหมดที่ครอบครองทุกๆ สิ่ง อาคารขนาดยักษ์ ความมั่งคั่งอเนกอนันต์ ความอุดมสมบูรณ์สูงสุด และความเต็มปรี่ของทุกๆ สิ่งที่จำเป็น ทั้งประชากร การค้า และจำนวนเรือที่นับจำนวนมิได้ ความยุติธรรม รัฐบาล ระบบกฎหมาย ...

การแสวงบุญ บทที่ 107 16. เฮ้ย แผ่นดิน... ขณะที่พวกข้าอยู่หน้าเกาะที่ระดับความลึก 70 ฟาธอม[28] เรือลำเล็ก 2 ลำออกมาจากแผ่นดิน บรรทุกคน 6 คน มุ่งมาหาพวกข้า เมื่อพวกข้าขึ้นมาบนเรือ หลังจากที่กล่าวทักทายและมีมารยาทตามธรรมเนียมปกติแล้ว ก็ไต่ถามพวกข้าว่าเรือสำเภาแล่นมาจากที่ใด พวกข้าตอบว่า จีน มีสินค้าที่จะค้าขายให้พวกเขา ถ้าพวกเขาอนุญาตให้ทำเช่นนั้น 1 ใน 6 คน ตอบพวกข้าว่า เนาโตกิง[29] ผู้ปกครองเกาะทาเนกาชิม่า[30] ยินดีให้ใบอนุญาต ถ้าพวกข้าจ่ายค่าธรรมเนียมตามที่ปฏิบัติกันในญี่ปุ่นซึ่งเป็นดินแดนที่วิเศษปรากฏข้างหน้าพวกข้า

การแสวงบุญ บทที่ 132 ญี่ปุ่น เมืองแห่งพระเจ้า ในการแสวงบุญ ภาพลักษณ์ของญี่ปุ่นถือเป็นสถานที่สำคัญในดินแดนตะวันออก ในฐานะ “ดินแดนใหม่” เหมาะที่จะสร้างพื้นที่สังคมตามอุดมคติซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะ เมื่อเดินทางมาถึงโลกใหม่ ฟืร์นาว เมนดืช ปินตู อ้างว่าตนเป็นชาวโปรตุเกสคนแรกๆ ที่มาถึงญี่ปุ่น และตอนปฏิสัมพันธ์กันเป็นครั้งแรกเป็น 1 ในบทที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุด เช่น การถวายปืนแด่กษัตริย์แห่งบุงโกะ ซึ่งก่อให้เกิดอุบัติเหตุจนเกือบคร่าชีวิตเจ้าชาย เกาะเลกัว[31] และบุงโกะ เริ่มปรากฏเป็นแหล่งการค้าที่น่าสนใจ เพราะร่ำรวยมากและมีช่องทางการค้า แต่เจตนารมณ์ด้านจิตวิญญาณ นำโดยนักบุญ ฟรานซิสกู ชาวิเยร์ ได้เข้ามาแทนที่จุดประสงค์แรกการที่กษัตริย์[32] แห่งบุงโกะ[33] ทรงสัญญาเข้ารีต จะทำให้เปลี่ยนญี่ปุ่นให้เป็นดินแดนคริสเตียนในอุดมคติ สถานที่ตามความฝันที่จะมีเมืองแห่งพระเจ้าในดินแดนตะวันออก เป็นจริงได้ในที่สุด

เกียรติที่นักบุญ ฟรานซิสกู ชาวิเยร์ ได้รับจากกษัตริย์แห่งบุงโกะ เมื่อคุณพ่อเดินเข้าไปข้างในพร้อมกับบรรดาชนชั้นสูง ท่านได้เข้าไปในห้องที่ตกแต่งอย่างประณีต ซึ่งกษัตริย์ประทับยืนอยู่ก่อน ทันทีที่พระองค์ทอดพระเนตรคุณพ่อ พระองค์ทรงก้าวมาข้างหน้า 5 – 6 ก้าวจากที่ประทับเพื่อปฏิสันถารกับคุณพ่อ คุณพ่อพยายามยืนโค้งคำนับพระองค์ แต่พระองค์มิได้พระราชทานพระบรมราชานุญาต กลับทรงถึงแขนคุณพ่อขึ้น แล้วพระนลาฏจรดพื้นเพื่อคำนับคุณพ่อ 3 ครั้ง ซึ่ง (ข้าเคยกล่าวไว้แล้ว) เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่บุตรพึงกระทำต่อบิดาหรือข้าทาสบริวารต่อเจ้านาย สุภาพบุรุษทั้งหมดที่นั่นรู้สึกประหลาดใจมาก และพวกข้าทั้งหมด ก็รู้สึกมากกว่าเสียอีก

การแสวงบุญ บทที่ 210 17. กากืชไซยตาว พวกข้าเห็นสิ่งมีชีวิตที่ใหม่มากและแปลกชนิด 1 ซึ่งคนพื้นเมืองที่นี่เรียกว่า กากืชไซยตาว (Caquesseitão)[34] ขนาดเท่าเป็ดใหญ่ สีดำมาก มีกระดองบนหลัง และหนามบนกระดูกสันหลังยาวเท่าปากกาก้านขนนก ปีกเหมือนค้างคาว คอแบบงูเห่าอุ้งเล็บเหมือนเดือยไก่บนหัว หางยาวมาก แต้มจุดสีเขียวและดำเหมือนกิ้งก่าในประเทศนี้ สัตว์ที่บินได้นี้ กิงลิงและสัตว์อื่นเป็นอาหาร โดยการกระโจนล่าไปตามต้นไม้

การแสวงบุญ บทที่ 14 18. สัตว์ประหลาดและสิ่งมหัศจรรย์ การแสวงบุญ ก็เหมือนกับเรื่องเล่าอื่นๆ ในสมัยเดียวกัน ที่เราพบภาพสัตว์ประหลาด ซึ่งตรงกับข้อมูลจากยุคโบราณที่ให้ไว้เกี่ยวกับดินแดนตะวันออกที่แพร่หลายกันในยุโรป ตั้งแต่จากชาวกรีกเป็นต้นมา อินเดียถูกมองภาพว่า เป็นดินแดนประหลาดและมหัศจรรย์ คนที่นั่นมีหัวสุนัขคำรามและหอน คนไร้ศีรษะมีดวงตาอยู่ที่ท้อง ขณะที่คนอื่นปกป้องตัวจากแสงแดด โดยนอนเอนหลังแล้วยกเท้าที่ใหญ่มหึมาที่มีอยู่เท่าเดียวขึ้น ภาพเพ้อฝันเหล่านี้ทั้งหมด ยังคงอยู่เสมือนจริงไม่เปลี่ยนแปลงจนกระทั่งยุคแห่งการค้นพบ และกำหนดการมองที่น่าหวาดกลัวและน่าหลงใหลไว้ล่วงหน้าแล้วในสายตานักเดินทางสมัยฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ ผู้มักสับสนภาพเพ้อฝันกับการพรรณนาเหมือนจริง แม้ว่าเรื่องเล่าของ ฟืร์นาว เมนดืช ปินตู มีตรากำกับไว้ก่อนว่า เป็นสิ่งเพ้อฝัน แต่ภาพสัตว์ประหลาดกลับมีให้เห็นไม่มากนัก ส่วนเรื่องสัตว์พื้นถิ่น เขายอมรับหลายจุดว่า ได้พบเห็นสัตว์ที่ไม่ธรรมดาหลายชนิด แต่เขารอบคอบมากในเรื่องพันธุ์สัตว์ที่อยู่ในดินแดนที่ห่างไกล และพรรณนาภาพ “สัตว์ประหลาด” ที่เขาพบในวัด แทนที่จะเป็นสัตว์ประหลาดตัวเป็นๆ เสียมากกว่า ซึ่งนำมาใช้อธิบายลักษณะเฉพาะของศาสนาในท้องถิ่น และรากเหง้าในตัวตนที่แตกต่างของโลกตะวันออก

ชายที่มีเท้ากลม (เหนือจังหวัด ปริวการานจา) (Friucaranjã)) มีประชากร (…) เท้ากลมเหมือนวัวตัวผู้ แต่นิ้วเท้า เล็บ และทุกสิ่งอื่นๆ เหมือนคนทั่วไป ยกเว้น มือพวกเขามีขนดกมาก ผู้ชายโหดเหี้ยมตามธรรมชาติ และมีเจตนาร้ายกาจ ใต้หลัง เกือบถึงพุงมีก้อนเหมือนกำปั้น 2 กำ และพวกเขาอาศัยอยู่ตามทิวเขาที่สูงมาก ลำบากนักบางส่วนมีโพรงลึก ในคืนฤดูหนาวคืน 1 ได้ยินเสียงครางและน่าขนหัวลุกดังออกมาจากที่นั่น

การแสวงบุญ บทที่ 166 เทวรูปมหึมา ตินาโกโก ท่ามกลางอาราม 24 แห่ง เหล่านี้ ภายในสวนในร่ม มีรางทองเหลือง 3 แถว (…) โรงสวดอุทิศให้เทวรูป ตินาโกโก (Tinagógó) พระเจ้าแห่งพระเจ้า 1000 องค์ ประทับในช่องกลม บุแถบเงินเรียงเป็นแถวจากบนลงล่าง เชิงเทียนจำนวนมากทำด้วยวัสดุประเภทเดียวกัน เทวรูปร่างใหญ่ (พากข้าไม่ทราบว่าทำด้วยทองหรือไม้หรือทองแดงชุบ) ประทับยืนตรง พระหัตถ์ทั้ง 2 ชูขึ้นฟ้า และมงกุฎหรูหราบนพระเศียร

การแสวงบุญ บทที่ 159 19. การเดินทางของภาษา ใน การแสวงบุญ เป็นแหล่งรวม “ศัพท์ต่างชาติ” ที่ไม่ธรรมดา ดังที่นักไวยากรณ์ในคริสต์วรรษที่ 16 ฟืร์นาว ดือ โอลิไวยร่า[35] ได้ระบุไว้ มีการนำวลีมาปรับใหม่ตลอดการเล่า ในขณะที่ผู้ประพันธ์ได้ยินวลีนั้นแล้วจึงให้ “คำอธิบาย” เป็นภาษาโปรตุเกส เพื่อให้มีลักษณะเหมือนจริง กระนั้น การเลียนแบบภาษาต่างถิ่นก็ประสบความสำเร็จเช่นกัน โดยใช้ทำนองพูดอ้อมและคำอุปมาในการแปลคำพูดตามตัวละครชาวตะวันออก คำศัพท์จากภาษาตะวันออกเหล่านี้ ปรากฏตลอดทั้งบทส่งเสริมภาพคิดฝันของความเป็นตะวันออกให้เด่นชัด ในขณะเดียวกัน ก็เปิดทางให้วิพากษ์ความประพฤติของชาวโปรตุเกสที่เป็นคริสตังได้อย่างรุนแรงที่สุด กระบวนการทั้งหมดเหล่านี้ นำ การแสวงบุญ ไปสู่ความแปลกไม่เหมือนใคร และปรากฏความพยายามริเริ่มเขียนนิยายขึ้น

ลิ้นคนนอกศาสนา ชาวเมืองกรูเข้ามาใกล้ทันที ฉวยคันธนูและหอกมากมาย พลันร้องตะโกนว่า “นาวาการานเก้! นาวาการานเก้!” (Navacarangué Navacarangué) ซึ่งหมายความว่า “จับพวกขโมย จับพวกขโมย!”

การแสวงบุญ บทที่ 133 ...คนป่วยทั้งหมดในอาคารร่วมกันร้องตะโกนว่า “ปิเตา ฮินากูร์ มากูโต เชน โด” (Pitau hinacur macuto chen dó) ซึ่งหมายความว่า “ขอให้บาทหลวง ผู้ทำงานของพระเจ้า จงมากับพระเจ้า”

การแสวงบุญ บทที่ 136 ฤาษีของเกาะกาเลมปุย[36] วิจารณ์ชาวโปรตุเกส “ข้าได้ยินสิ่งที่ท่านได้กล่าวมาอย่างดี และข้าก็เข้าใจเจตนาร้ายของท่าน ซึ่งในความมืดบอดของท่าน เหมือนผู้นำทางจากนรก ชี้นำท่านและสิ่งอื่นๆ มาสู่ถ้ำลึกแห่งทะเลสาบรัตติกาล แทนที่จะขอบคุณพระเจ้าสำหรับพระกรุณาอันใหญ่ยิ่ง ซึ่งท่านยอมรับว่า พระองค์ประทานให้ ท่านกลับมาปล้นพระองค์ ดังนั้น ข้าขอถามว่าหากท่านทำสิ่งนั้นท่านจะคาดหวังความยุติธรรมประการใดจากพระผู้เป็นเจ้าให้แก่ท่านในขณะที่ท่านกำลังจะสิ้นลมเล่า จงเปลี่ยนเจตนาร้ายของท่านเสีย และอย่าได้ให้ความคิดที่จะทำบาปหนักเข้าสู่ความคิดของท่านเลย และพระเจ้าจะมิทรงลงโทษท่านจงเชื่อข้า เพราะข้าพูดความจริง และขอให้มันยืนยงแทนข้านานตราบที่ข้ายังมีลมหายใจอยู่”


ซ้าย อ.ฉัตรบงกช ศรีวัฒนสาร (พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว)ขวา ผศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ(ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
เชิงอรรถ

[1] การสะกดชื่อ Peregrinaçam เป็นการเขียนในคริสตวรรษที่ 16 ส่วน Peregrinaçãn เป็นการเขียนในสมัยปัจจุบัน

[2] การสะกดชื่อ ฟืร์นาว เมนดืช ปินตู Fernam Mendez Pinto เป็นการเขียนในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ส่วน Fernão Mendez Pinto เป็นการเขียนในสมัยปัจจุบัน

[3] งานประพันธ์ในภาษาโปรตุเกส ฟืร์นาว เมนดืช ปินตู คือ Peregrinaçam หรือ Peregrinaçãn ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า การแสวงบุญ เนื่องจากแรงศรัทธามั่นที่มีต่อศาสนาคริสต์มีส่วนช่วยให้เขารอดพ้นจากภยันตรายต่างๆ ระหว่างการเดินทาง เสมือนการมีองค์พระผู้เป็นเจ้าเป็นผู้นำทาง อย่างไรก็ดีบันทึกความทรงจำเล่มนี้ ก็เล่าถึงการเดินทางผจญภัยไปยังถิ่นแปลกๆ เป็นส่วนใหญ่ ในฉบับแปลภาษาอังกฤษ จึงตั้งชื่อเรื่องว่า Travels

[4] ตาร์ตาร์ (Tartar, Tatar) เป็นอาณาจักรของชาวตาด ในคริสต์วรรษที่ 13 ถูกเจงกีส ข่าน ผู้นำเผ่ามองโกเลีย เข้ายึดเมือง

[5] อาณาจักรพะโค (Pegu) คือ หงสาวดี

[6] ซอร์เนา (Sornau) มาจาก ชาฮ์ร์-อิ-เนา (Shahr-i-nao) ซึ่งพ่อค้าชาวเปอร์เซียเรียกสยาม แปลว่า เมืองใหม่

[7]นักบุญ ฟรานซิสกู ชาวิเยร์ (Francisco Xavier) เป็นที่รู้จักกันในนามว่า ฟรานซิส ซาเวียร์

[8] เมืองอัลมาดา (Almada) ตั้งอยู่ริมแม่น้ำไตยชู่ (Tejo) ฝั่งตรงข้ามกับกรุงลิสบัว

[9] มอยอู (moio) เป็นมาตราชั่วตวงโบราณ (เช่น ข้าวโพด ฯลฯ) 1 มอยอู หนัก 4 บุชเช็ล (หน่วยสำหรับตวงข้าว) (bushel) = 32 แกลลอน (gallon) และ 1 แกลลอน = 3.8 ลิตร ดังนั้น 1 มอยอู = 121.6 ลิตร

[10]กรุงลิสบัว (Lisboa) เป็นชื่อเมืองหลวงในภาษาโปรตุเกส = ลิสบอน (Lisbon) ในภาษาอังกฤษ

[11] กริยา mentir แปลว่า โกหก ผันในรูปบุรุษที่ 2 เอกพจน์ (ท่าน คุณ แก) ได้ mentes (เมนตืช) ผันในรูป บุรุษที่ 1 เอกพจน์ (ข้า ฉัน ผม) ได้ minto (มินตู) ซึ่ง เมนตืช (ท่านโกหก) เสียงคล้อยจองกับนามสกุลกลางวัน เมนดืช และ มินตู (ข้าโกหก) เสียงคล้องจองกับนามสกุลหลังว่า ปินตู

[12]เมืองมงตือมอร์ อู เวลญู่ (Montemor-o-Velho) ตั้งอยู่ 25 กิโลเมตร ห่างจากเมืองคูอิมบรา (Coimbra) ซึ่งเป็นเมืองมหาวิทยาลัย และเมืองสำคัญในภาคกลางของโปรตุเกส

[13] ครูซาดู (cruzado) เป็นเหรียญทองโบราณของโปรตุเกส

[14] เมือง ยามากูชิ (Yamaguchi) ตั้งอยู่ในภาคตะวันตกของเกาะ ฮอนชู นักบุญ ฟรานซิสกู ชาวิเยร์ เข้ามาในญี่ปุ่นเพื่อเผยแผ่ศาสนาคริสต์ ใน ค.ศ. 1549 – 1551 และพำนักในเมืองนี้เกือบปี

[15] ฟรานซิสกู ชาวิเยร์ (Francisco Xavier) เรียกกันในหมู่คนไทยว่า ฟรังซิส ซาเวียร์ เป็นชาวสเปน เข้ามาเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในดินแดนตะวันออก เช่น อินเดีย ญี่ปุ่น จีน เป็นต้น

[16] ดง ญอาวที่ 3 (Dom João III) กษัตริย์แห่งโปรตุเกสองค์ที่ 15 ทรงครองราชย์ใน ค.ศ. 1521 – 1557 [17] โคชิน (Cochin) ตั้งอยู่ในอินเดีย ถูกโปรตุเกสยึดครองใน ค.ศ. 1503 และ ใช้เป็นศูนย์กลางปกครองการค้า การเผยแผ่ศาสนาในดินแดนตะวันออกโดยมีผู้สำเร็จราชการหรืออุปราช (viceroy) ส่งมาจากส่วนกลาง ก่อนที่จะย้ายศูนย์กลางการปกครองมายังเมือง กัว (Goa)

[18] คณะแห่งพระเยซูเจ้า (Society of Jesus) รู้จักกันในนาม คณะเยซูอิต นิกาย โรมันคาทอลิก ก่อตั้งโดยนักบุญ อิกนาซิโอ เดอ โลโยล่า (Iganacio de Loyola) ชาวสเปนใน ค.ศ. 1534

[19] เมืองกัว (Goa) ตั้งอยู่ในภาคตะวันตกของอินเดีย ตกเป็นอาณานิคมของโปรตุเกสใน ค.ศ. 1510 ปรากฏ สิ่งก่อสร้างแบบผสมโคโลเนียลโปรตุเกสคริสต์ศาสนา นามสกุลโปรตุเกส สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน [20] ลีก (league) เป็นหน่วยวัดระยะทาง 1 ลีก = 3 ไมล์ หรือประมาณ 4.8 กิโลเมตร

[21] วันกอยซ์ (vancões) เป็นเรือโบราณในดินแดนตะวันออก โดยเฉพาะในจีนใช้ฝีพาย มีขนาดเล็กกว่าเรือสำเภาจีน ส่วน ลานเตอาช (lanteãs) เป็นเรือที่มีน้ำหนักเบาในดินแดนตะวันออกไกล ลักษณะคล้ายกับเรือโป๊ะจ้าย (เรือฉลองทะเล) ฟืร์นาว เมนดืช ปินตู ได้ถอดเสียงจากภาษาจีนมาไว้ในภาษาโปรตุเกส

[22] ยุคแห่งการค้นพบ (Age of Discovery) ของโปรตุเกส เริ่มเปิดศักราช หลังจากความสำเร็จในการเข้ายึดเมือง เซวต้า (Ceuta) อัฟริกาเหนือใน ค.ศ. 1415 ซึ่งเกิดจากการสนับสนุนของ เจ้าชาย ดง เอริกึ (D. Henrique) หรือรู้จักกันดีว่า Henry the Navigator เทคนิคการเดินเรือได้พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ทำให้สามารถค้นพบดินแดนต่างๆ สำเร็จ เช่น วาสกู ดา กาม่า (Vasco da Gama) ใช้เส้นทางทางเรืออ้อมแหลม กู๊ด โฮป จนถึงอินเดียใน ค.ศ. 1498 การค้นพบบราซิลใน ค.ศ. 1500 เป็นต้น

[23] ฟืร์นาว ลอปืช ดือ กาสตานเญดา (Fernão Lopes de Castanheda) (ราว ค.ศ. 1500 – 1559) เป็นนักประวัติศาสตร์ และใน ค.ศ. 1528 ติดตามบิดาซึ่งไปรับราชการเป็นผู้พิพากษาที่เมืองกัว ใช้ชีวิตที่นั่น 10 ปี รวบรวมข้อมูลแล้วกลับมาเขียน ประวัติศาสตร์การค้นพบและพิชิตอินเดียโดยชาวโปรตุเกส (História do Descobrimento e Conquista da India pelos Portugueses) ตีพิมพ์ภาคแรกใน ค.ศ. 1551 และต่อมาอีก 6 ภาค

[24] กาเลโอตึ ปือไรยร่า (Galeote Pereira) เป็นทหารรับจ้างชาวโปรตุเกส เขียนเรื่องราวที่ตนประสบในดินแดนตะวันออก เช่น สงครามระหว่างสยามและหม่า ในสมัยพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ ใน ค.ศ. 1548 – 1549 การลอบขนสินค้าไปขายตามชายฝั่งทะเลจีนใต้ในสมัยราชวงศ์ หมิง จนตนถูกจับกุม การเข้าร่วมขุดศพที่ไม่เน่าเปื่อย นักบุญ ฟรานซิสกู ชาวิเยร์ ในหมู่เกาะชวนฉาน (Chuanshan) ใน ค.ศ. 1553 เพื่อเคลื่อนย้ายศพไปเมืองกัว อินเดีย โดยผ่าน มาเก๊า ตีพิมพ์ เรื่องราวเกี่ยวกับจีน (Tratado sobre a China) ใน ค.ศ. 1565 [25] ภารดา กาสปาร์ ดา ครูซ (Gaspar da Cruz) (ราว ค.ศ. 1520 – 1570) พระนิกายโดมินิกัน เดินทางเผยแผ่ศาสนาในดินแดนตะวันออก เช่น อินเดีย มะละกา เขมร (แต่ไม่สำเร็จ) จีน ได้เขียน เรื่องราวจากจีน (Tratado das Coisas da China) ใน ค.ศ. 1569 ถือเป็นการเปิดมุมมองให้กับชาวยุโรปในสมัยนั้น

[26] ครูซาดู (cruzado) เป็นเหรียญทองโบราณของโปรตุเกส

[27] ติงปลาว (Timplão) หมายถึง เชียงหลวง (Xieng Luang) คือ หลวงพระบาง ในท้องพระโรง

[28] ฟาธอม เป็นหน่วยวัดความลึกของน้ำ 1 ฟาธอม เท่ากับ 1.83 เมตร หรือ 6 ฟุต

[29] เนาโตกิง (Nautoquim) เป็นคำที่ ฟืร์นาว เมนดืช ปินตู ใช้เรียกเจ้าชาย แต่น่าจะเป็นการถ่ายเสียงตามตัวอักษรคันจิของชื่อ โตกิตากะ (Tokitaka) ซึ่งเป็นเจ้าเมืองต่อจากบิดา ขณะอายุได้ 16 ปี

[30] เกาะทาเนกาชิม่า (Tanegashima) 1 ในหมู่เกาะ โอซูมิ (Osumi) ตั้งอยู่ใต้เกาะคิวชู (Kyushu) ชาวโปรตุเกสขึ้นบกที่เกาะนี้เป็นครั้งแรกใน ค.ศ. 1543 นำอาวุธปืนไฟเข้ามาเผยแพร่ และสอนวิธีผลิตที่เกาะนี้ จนปัจจุบัน เรียกอาวุธปืนไฟในภาษาปากญี่ปุ่นว่า ทาเนกะ-ชิม่า

[31] เลกิอุส (Lé quios) คือ เกาะริวกิว (Ryukyu) ปัจจุบันคือ หมู่เกาะโอกินาวา อาณาจักรที่เป็นชุมทางการค้ากับดินแดนอื่นๆ ในเอเชีย รวมทั้งสยาม

[32] ฟืร์นาว เมนดืช ปินตู เข้าใจผิดว่า เป็นกษัตริย์แห่ง บุงโกะ แต่ที่จริง คือ ไดเมียว (daimyo) เจ้าเมืองในระบบศักดินาสวามิภักดิ์ของญี่ปุ่น ขึ้นตรงกับองค์จักรพรรดิ หรืออาจเป็น โชกุน ในกรณีที่พระองค์ทรงอ่อนแอ

[33]บุงโกะ (Bungo) ตั้งอยู่ในทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะคิวชู (Kyushu) ปัจจุบันอยู่ในเขตปกครอง โออิตะ (Oita) ซึ่งเรารู้จักกันในฐานะต้นแบบแนวคิด 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์

[34]สันนิษฐานว่า ผู้ประพันธ์จินตนาการสัตว์ประหลาดประเภทนี้

[35] ฟืร์นาว ดือ โอลิไวยร่า (Fernão de Oliveira) (ค.ศ. 1507 – 1581) เป็นพระนิกายโดมินิกัน นักปราชญ์ที่สำคัญในสมัยฟื้นฟูศิลปะวิทยาการของโปรตุเกส แต่งหนังสือการใช้ไวยากรณ์ภาษาโปรตุเกสเป็นครั้งแรก ไวยากรณ์การใช้ภาษาโปรตุเกส (Grammatica da Lingoagem Portuguesa) ใน ค.ศ. 1536)

[36] เกาะกาเลมปุย (Calemplui) ตั้งอยู่ในอ่าวนานกิง เป็นสุสานหลวงฝังพระศพองค์จักรพรรดิจีน









ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น