วันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

Das Parte du Sião… หลักฐานเกี่ยวกับสยาม

โดย พิทยะ ศรีวัฒนสาร

เมื่อวันจันทร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ผู้เขียนได้รับอภินันทนาการพัสดุไปรษณีย์ ชื่อ “Das Parte du Sião(หลักฐานเกี่ยวกับสยาม) ” ผู้จัดส่งให้ คือ ดร. มิเกล คัสเตลลู บรังกู (Migel Castelo Branco) นักประวัติศาสตร์และบรรณารักษ์อาวุโส หอสมุดแห่งชาติโปรตุเกส ดุษฎีบัณฑิตสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากสถาบันชั้นสูงด้านสังคมศาสตร์และรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิทยาการแห่งลิสบัว (Instituto Superior de Ciências Sociais e Políticas da Universidade Técnica de Lisboa) ด้วยผลงานวิทยานิพนธ์เรื่อง “ ความสัมพันธ์ระหว่างโปรตุเกสกับสยามในสมัยรัตนโกสินทร์ พ.ศ.2525-2482) จึงขอแสดงความขอขอบคุณเป็นอย่างยิ่งมา ณ ที่นี้

“Das Parte du Sião”เป็นหนังสือประกอบการจัดนิทรรศการที่ระลึกความสัมพันธ์ 500 ปีระหว่างชาวลูโซ (โปรตุเกส) กับชาวไทย พ.ศ.2054-2554 หนา 118 หน้า บวกกับภาพประกอบพิเศษอีก 10 หน้า (ไม่ระบุเลขหน้า) รวมเป็น 128หน้า ภายในประกอบด้วยเนื้อหาสังเขปดังนี้
- 500 ปี แห่งความสัมพันธ์ระหว่างชาวลูโซกับชาวสยาม โดย ศาสตราจารย์ อันตอนิอู วาชกงเซลูช ดึ ซาดันญา(António Vasconcelos de Sadanha) มหาวิทยาลัยวิทยาการแห่งลิสบัว เป็นบทความสั้นๆ ยาว 3 หน้า กล่าวถึงความเป็นมาของการจัดนิทรรศการ
-ยุคทองของชาวโปรตุเกสในสยาม(A Época de Ouro dos Protukét do Sião) โดย ดร. มิเกล คัสเตลลู บรังกู (Migel Castelo Branco) เป็นบทความมาตรฐานยาว 20 หน้า
-รายการเอกสารโบราณที่เกี่ยวข้องกับสยาม(Catálogo) ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่16-20 โดยระบุรายการอ้างอิง คำย่อที่ใช้ในหนังสือและแหล่งค้นคว้าเอกสารโบราณ รวมถึงหนังสือประวัติศาสตร์นิพนธ์และบทความวิชาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่16, 20 และ21

ในส่วนบทความของดร. มิเกล คาสเตลลู บรังกู เรื่อง ยุคทองของชาวโปรตุเกสในสยามนั้น ดร.บรังกู คงต้องการจะเรียกคนไทยเชื้อสายโปรตุเกสว่า “ชาวโปรตุเกต” (Protuget) ตามแบบอย่างคำไทยที่เรียกชาวโปรตุเกสโดยไม่การออกเสียงเน้น(accent)ตัวสะกด ส.เสือ อันเป็นลักษณะของการออกเสียงแบบไทย แต่เมื่อคำดังกล่าวถูกถ่ายกลับไปเป็นภาษาโปรตุเกส คือ “Protukét” เมื่ออ่านแล้วกลับต้องออกเสียงเป็น “โปรตุแคต” ไม่ใช่ “โปรตุเกต(Protuket” ตามเสียงในภาษาไทย
ผู้เขียนเคยเสนอในงานสัมมนาวิชาการ เรื่อง “ 500 ปี ความสัมพันธ์สยามประเทศกับโปรตุเกสและชาติตะวันตกในอุษาคเนย์ 2054-2554(25มกราคม 2555) ” จัดโดยโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย บริษัทโตโยต้ามอเตอร์ประเทศไทย จำกัด มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครศรีอยุธยาและหน่วยงานต่างๆ ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครศรีอยุธยาว่า คนไทยเชื้อสายโปรตุเกสมีความภาคภูมิใจในความเป็นคนเชื้อสายโปรตุเกสมาอย่างเหนียวแน่นและยาวนาน คุณศานติ สุวรรณศรี เคยเล่าให้ฟังถึงคำสอนของมารดาเมื่อครั้งยังเด็กอันชวนให้ตื้นตันใจว่า “ลูกต้องจำไว้ว่าเรามันพวกโปรตุเกสนะลูก”

การที่นักประวัติศาสตร์โปรตุเกสบันทึกคำเรียกคนไทยเชื้อสายโปรตุเกส ว่า “ชาวโปรตุเกต หรือ โปรตุแกต” อาจถือเป็นการแบ่งแยกพวกเขาออกจากความเป็น “โปรตุเกส” แบบขาดการเข้าถึงจิตใจของกลุ่มชนที่เคยร่วมวัฒนธรรมโปรตุเกสด้วยกันมาก่อน แม้ในปัจจุบันความเป็น“โปรตุเกส”ทางด้านกายภาพ ความเป็นอยู่ ภาษาและวัฒนธรรมของคนไทยเชื้อสายโปรตุเกสจะเจือจางลงไปมากแล้ว แต่สิ่งสำคัญที่เชื่อมโยงความเป็นโปรตุเกสของพวกเขาไว้อย่างเหนียวแน่นและมั่นคง คือ ความเป็นชาวคริสตัง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น