วันเสาร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2555

การเดินทางบนเรือโปรตุเกสของบาทหลวงฝรั่งเศสสมัยพระนารายณ์: บันทึกการเดินทางกับแผนที่โบราณในฐานะเครื่องมือสำคัญทางประวัติศาสตร์

โดย พิทยะ ศรีวัฒนสาร


อักษรตัวเอียงประมาณ46 องศาที่1 จากซ้ายเกือบกึ่งกลางภาพคือปากแม่น้ำประแสร์(Passay R.) ห่างจากเมืองจันทบูรไปทางตะวันตกเฉียงเหนือเล็กน้อย


แผนที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการกำหนดที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของสถานที่ซึ่งถูกอ้างถึงในบันทึกของนักเดินทางต่างชาติ หนังสือจดหมายเหตุการเดินทางของบาทหลวงตาชารด์ ค.ศ. 1687-1688 มีการกล่าวถึงสถานที่หลายแห่งทางภาคตะวันออกของสยาม บ้างก็สามารถติดตามหาหลักฐานอ้างอิงกับชื่อในปัจจุบันได้ บ้างก็เป็นสถานที่ซึ่งเลือนหายไปจากความทรงจำของคนในปัจจุบัน บาทหลวงกีย์ ตาชารด์ (Guy Tachard) เดินทางเข้าสยาม 3 ครั้ง


ครั้งที่ 1 ค.ศ.1675 สมัยสมเด็จพระนารายณ์ มากับเชอวาริเอร์ เดอ โชมองต์ ราชทูต และได้เขียนบันทึกการเดินทางเผยแพร่ ชื่อ “ Vogage de Siam des père Jesuites envoyés, envoyés par le Roy aux Indes & à la Chine, Avec leurs observations astronomiques et leurs remarques de physique de geographic d’hydrographic & d’histoire” (สันต์ ท. โกมลบุตร แปล 2517)[1]
ครั้งที่ 2 ค.ศ. 1687-1688 สมัยสมเด็จพระนารายณ์ เดินทางกลับมาพร้อมคณะราชทูตออกพระวิสูตรสุนทร ท่านผู้นี้ได้เขียนบันทึกการเดินทางเผยแพร่ที่ปารีส ชื่อ “Second Voyage du Père Tachard et des père Jesuites envoyés par le Roy au Royaume de Siam”
ครั้งที่ 3 สมัยสมเด็จพระเพทราชา ปรากฏเรื่องราวในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 36 จดหมายเหตุบาทหลวงโลเน

การเดินทางบนเรือพ่อค้าโปรตุเกส

บาทหลวงตาชารด์ เล่าถึงการเดินทางไปมาเก๊าด้วยเรือพ่อค้าโปรตุเกส[2] ของคณะบาทหลวงเยซูอิต 5 รูป ซึ่งบาทหลวงตาชารด์ได้ให้พำนักอยู่ที่เมืองพระนครศรีอยุธยาภายใต้การนำของบาทหลวงเดอ ฟองเตอเน ก่อนเดินทางไปเผยแพร่ศาสนาที่ประเทศจีน การเดินทางด้วยเรือของพ่อค้าโปรตุเกส อาจบรรยายความในใจเศร้าๆ ของบาทหลวงฟองเตอเนได้ดังนี้ “เรือก็เก่า คนเรือก็ปวกเปียก: นิยามเรือสินค้าโปรตุเกสเส้นทางสยาม-มาเก๊า” เนื่องจากขณะที่เดินเรือออกจากสยาม เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม[3] คณะบาทหลวงเยซูอิตชุดนี้ ประสบอุบัติเหตุจากเหตุการณ์ที่ท้องเรือแตก สายระโยงใบเรือขาด แถวๆ เกาะเสม็ด[4] จนไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ในตอนเช้าวันที่ 16 กรกฎาคม ทำให้ต้องบากหน้าไปขอความช่วยเหลือจากเจ้าเมืองจันทบูรณ์ ก่อนจะเดินทางย้อนกลับเข้ามาตั้งหลักในสยามอีกครั้งเพื่อรอฤดูมรสุมใหม่ โดยใช้เวลาเดินทางย้อนกลับสู่เมืองพระนครศรีอยุธยานานเกือบหนึ่งเดือน


เรื่องราวอุบัติเหตุดังกล่าว ปรากฏอยู่ในจดหมายของบาทหลวงเดอ ฟองเตอเน ถึงบาทหลวงแวร์ซุสที่ปารีส ซึ่งบาทหลวงตาชารด์ได้ตีพิมพ์จดหมายดังกล่าวไปทั้งฉบับ
จดหมายฉบับดังกล่าว เริ่มต้นตั้งแต่หน้า 63-104 เล่าถึงสถานการณ์ บรรยากาศและเคราะห์กรรมที่ได้ประสบมาอย่างน่าสนใจ ส่วนหนึ่งของเนื้อหากล่าวถึงเมืองบางกอกในฐานะเมืองสวนผลไม้รสเยี่ยมของสยาม[5] และที่ตั้งของสันดอนสยามซึ่งมีร่องน้ำลึกเพียง12ฟุต มีเรือ 12 ใบเตรียมจะกางใบเพื่อมุ่งหน้าสู่จีน ญี่ปุ่นหรือมะนิลา[6]


เส้นทางไปมาเก๊าเมื่อออกจากสันดอนสยามจะต้องแล่นเรือไปทางตะวันตกเฉียงใต้ก่อนประมาณ 30 ลิเออ (เท่ากับ 90 ไมล์ทะเล) [7] เพื่อมุ่งหน้าไปยังเทือกเขาปังเธส(Panthes) ตามภาษาโปรตุเกส จากนั้นจึงมุ่งไปทางตะวันออกเฉียงใต้ และทิศตะวันออกเพื่อมุ่งสู่เกาะอูบี(Pol. Ubi) และเกาะกองดอร์(Pol. Condor) ของกัมพูชา แล้วแล่นเลียบตลอดแนวชายฝั่งประเทศญวน(Cochinchine) มุ่งสู่หมู่เกาะซังเซียน(Sancian) สถานที่ซึ่งนักบุญ ฟรานซิส เซเวียร์ มรณภาพ จากนั้นก็มุ่งสู่หมู่เกาะมาเก๊า โดยละเกาะไหหลำไว้ทางซ้าย[8]

บาทหลวงฟองเตอเน บันทึกว่า
“ตอนเย็นวันที่ 13 เราทำระยะทางได้เกือบ 6 ลิเออ เราเพิ่งสังเกตเห็นสภาพอันเลวร้ายของพวกลูกเรือในวันนี้เอง มีอยู่เพียง 5 คน เท่านั้นเองที่ขึ้นเพลาใบเรือได้ ส่วนใหญ่มักไม่ค่อยเป็นงาน บางคนยังฟังภาษาที่เขาพูดกับตนไม่ออกเอาเสียด้วยซ้ำ จนกระทั่งต้องใช้ภาษาใบ้พูดจากัน หรือไม่ก็ต้องจูงมือไปยังตำแหน่งแห่งที่ที่เขาต้องการให้ไปประจำอยู่...”[9]


บาทหลวงฟองเตอเน เล่าต่อว่า เช้าวันที่ 14 กรกฏาคม มีลมดีพัดมาให้เดินทางต่อไปได้ “เราใช้เวลาเกือบ 2 ชั่วโมงเพื่อถอนสมอ โดยเหตุที่เรารู้ดีว่า พวกลูกเรือของเรือรบหลวงนั้น ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาอย่างขมีขมันเพียงไร เราจึงประหลาดใจที่ได้มาเห็นความเฉื่อยชาในการปฏิบัติงานของพวกลูกเรือของเรายิ่งนัก เมี่อถูกเรียกให้ไปปฏิบัติหน้าที่ก็แทบไม่อยากโผล่หน้าออกมาให้เห็นทีเดียว นายเรือได้เรียกประชุมเทศนาสั่งสอนกันครั้งหนึ่งว่า ‘ไอ้หนูทั้งหลายเอ๋ย พวกเจ้าจะต้องไปทำงานเมื่อเขาเรียกขาน พวกเจ้าก็รู้อยู่แล้วว่าข้าได้ให้แก่พวกเจ้าทั้งทรัพย์สินและเลือดเนื้อของข้า และข้าต้องดึงอาหารจากปากลูกหลานของข้ามาให้พวกเจ้าได้กินกัน’ [10]


จดหมายยังระบุถึงความหย่อนสมรรถภาพของบรรดาลูกเรือส่งผลให้พ่อค้าโปรตุเกสหลายรายจมน้ำตาย กล่าวคือ


“...เขาว่ากันว่า จะต้องปฏิบัติเช่นนี้กับพวกกลาสีเรือชาวปอร์ตุเกส เพื่อที่จะได้ตัวเอาไปทำงาน อย่างไรก็ตาม การเจรจาหว่านล้อมให้ลงใจด้วยอาการที่ปวกเปียกดังนี้ ทำให้ข้าพเจ้าวินิจฉัยได้อีกว่า เป็นการยากที่จะเดินทางไปได้โดยปลอดภัย ในเรือชาวปอร์ตุเกส และความไม่ค่อยตั้งใจปฏิบัติงานนี้เองเป็นสาเหตุสำคัญด้วยประการฉะนี้แลนายพาณิชที่มั่งคั่งแห่งเมืองมาเก๊าหลายต่อหลายรายจึงมาเรือแตกจมน้ำตายในทะเลย่านนี้” [11]

การตรวจสอบชื่อบ้านนามเมืองบนเส้นทางผจญภัยของบาทหลวงฟองเตอเน
จดหมายของบาทหลวงฟองเตอเนกล่าวถึงชื่อของเกาะเสม็ด(Cossomet) และเมืองจันทบูร(Chantaboun) แต่เมื่อกล่าวถึงบ้านลำพารี(Lamparie)[12] บ้านสามไห้ (Samhay)[13] และบ้านเพชรทราย(Pessay)[14] ก็เริ่มทำให้รู้สึกสับสน


ชื่อบ้านสามไห้(Samhay) หากเป็นภาษาโปรตุเกสจะออกเสียงตรงตัวว่า “บ้านเสาไห้” โดยเทียบกับคำว่า Pérégrinaçam ซึ่งเป็นพหูพจน์ของคำว่า Pérégrinação อันเป็นชื่อหนังสือบันทึกการเดินทางของแฟร์เนา เมนเดช ปินตู (Fernão Mendes Pinto) แต่ในแถบจังหวัดจันทบุรีนั้นไม่ปรากฏชื่อที่ใกล้เคียงกับคำดังกล่าว นอกจากบ้านเสาไห้ ตำบลเสาไห้ อำเภอเสาไห้ในเขตจังหวัดสระบุรีเท่านั้น ซึ่งมิได้ตั้งอยู่ติดกับทะเลดังคำบรรยายในจดหมายข้างต้น ส่วนชื่อบ้านบ้านลำพารี(Lamparie) นั้น คิดไม่ออกว่าตรงกับสถานที่ใด


สำหรับบ้านเพชรทราย(Pessay) ทีแรกก็แทบจะหมดหวัง แต่เมื่อลองศึกษาดูจากแผนที่สยามและประเทศราชพ.ศ.2400(Map of Siam and Its Dependencies, 1857) โดย เซอร์ จอห์น เบาริ่ง (John Bowring)[15] ตีพิมพ์ในหนังสือประมวลแผนที่: ประวัติศาสตร์-ภูมิศาสตร์ -การเมืองกับลัทธิอาณานิคมในอาเซียน (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ บรรณาธิการ) ก็พบว่า หมู่บ้านดังกล่าว น่าจะอยู่บริเวณย่านปากแม่น้ำประแสร์ (Passay R.) ในเขตจังหวัดจันทบุรีนั่นเอง


การอ้างอิง
[1] สันต์ ท. โกมลบุตร, จดหมายเหตุการเดินทางครั้งที่2 ของ บาทหลวงลาลูแบร์ ค.ศ. 1687-1688(กรุงเทพฯ: คุรุสภาลาดพร้าว, 251) , คำนำ หน้า ก-จ
[2] สันต์ ท. โกมลบุตร, เรื่องเดิม, น.71
[3] สันต์ ท. โกมลบุตร, เรื่องเดิม, น.68
[4] สันต์ ท. โกมลบุตร, เรื่องเดิม, หน้า73
[5] สันต์ ท. โกมลบุตร, เรื่องเดิม, น.66
[6] สันต์ ท. โกมลบุตร, เรื่องเดิม, น.67-68
[7] 1 lieue หรือ 1 league เท่ากับประมาณ 3 ไมล์ทะเล หรือประมาณ 5.556 กิโลเมตร ขอขอบคุณวิกิพีเดีย
[8] สันต์ ท. โกมลบุตร, เรื่องเดิม, หน้า68-69
[9] สันต์ ท. โกมลบุตร, เรื่องเดิม, หน้า70
[10] สันต์ ท. โกมลบุตร, เรื่องเดิม, หน้า70-71
[11] สันต์ ท. โกมลบุตร, เรื่องเดิม, หน้า71
[12] สันต์ ท. โกมลบุตร, เรื่องเดิม, หน้า84
[13] สันต์ ท. โกมลบุตร, เรื่องเดิม, หน้า86
[14] สันต์ ท. โกมลบุตร, เรื่องเดิม, หน้า90
[15] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ บรรณาธิการ, ประมวลแผนที่: ประวัติศาสตร์-ภูมิศาสตร์ -การเมืองกับลัทธิอาณานิคมในอาเซียน (กรุงเทพฯ: จัดพิมพ์โดยมูลนิธิโตโยต้า, 2555) , หน้า 184

วันพฤหัสบดีที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2555

สยามกับวัฒนธรรมตะวันตก

โดย Bidya Sriwattanasarn เมื่อ 5 มีนาคม 2012 เวลา 16:55 น. ·


ท่ามกลางความทุกข์ยากของชาวอิสราเอล พระคริสต์แสดงปาฏิหาริย์ให้มีขนมปังและไวน์ในงานเลี้ยงอย่างอุดมสมบูรณ์



บันทึกการเดินทางของทูตโปรตุเกสซึ่งเข้ามาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ คือเปรู วาซ ด ึ ซิไกร่า (Pero vaz de Siqeira) กล่าวถึงชื่อและบทบาทของพนักงานจัดเลี้ยงแบบตะวันตกในราชสำนักสยามว่า เป็นข้าราชการสังกัดค่ายโปรตุเกส ชื่อ โยเซฟ คาร์ดูซู (Jozeph Cardozo) เขามีผู้ช่วยชื่อ อันต๊อนิอู ลูบาตู ( Antonio Lobato) หลังกรุงแตกปรากฏว่า ลูกหลานของเขา ชื่อ ฟรานซิสกู คาร์ดูซู (Fr.co / Francisco Cardoso) หนีภัยสงครามไปพำนักที่ “Kamkam (เขื่อนขัณฑ์? ขอนแก่น? )” ระยะหนึ่ง ก่อนจะกลับมาอยู่ที่ชุมชนโบสถ์ซางตาครูซ ในเมืองบางกอกอีกครั้ง เมื่อ ค.ศ.1768 ดังปรากฏหลักชื่อดังกล่าวในจารึกซึ่งกล่าวถึงการพระราชทานที่ดิน ณ โบสถ์ซางตาครูซ แก่ชาวโปรตุเกสที่ร่วมขับไล่พม่าออกจากเมืองบางกอกเมื่อค.ศ.1768

สื่อให้เห็นความทันสมัยและการเข้าถึงวัฒนธรรมตะวันตกของสยามภายใต้การดูแลของคนในค่ายโปรตุเกส

หนังสือฟื้นความหลังของพระยาอนุมานราชธน ซึ่งถือเป็นคนไทยเชื้อสายจีนกลุ่มแรกๆ ที่เคยประกอบอาชีพเป็นเสมียนโรงแรม ท่านได้กล่าวถึงพนักงานโรงแรมโอเรียนเต็ล เมื่อแรกตั้งว่า ระหว่างที่ท่านทำงานในโรงแรมแห่งนี้นั้น ท่านเคยเห็นคนไทยเชื้อสายโปรตุเกสทำงานเป็นพ่อครัวในโรงแรมด้วย

ทุกครั้งของการเดินทางเยี่ยมชมโบสถ์ซางตาครูซ ตามโครงการIn the Footsteps of The Portuguese 3 ครั้ง ที่ผ่านมา คุณพ่อ ดร.วิทยา คูวิรัตน์ เจ้าอาวาสโบสถ์ ซางตาครูซ จะเป็นผู้อำนวยการจัดเลี้ยงคณะเยี่ยมชมด้วยอัธยาศัยไมตรีอันงดงามอย่างสม่ำเสมอ อาหารพื้นเมืองแบบโปรตุเกสซึ่งถูกนำมาจัดเลี้ยงได้แก่ มัสมั่นไก่ เนื้อแซนโม ต้มมะฝ่า สตูว์ลิ้นวัวไวน์รสกลมกล่อม และขนมหวานสายพันธ์โปรตุเกส

จานเด็ดน่าจะอยู่ที่สตูว์ลิ้นวัว ซึ่งหากได้ลิ้มลองแล้ว เชื่อว่า ท่านจะเป็นผู้ที่สมควรได้รับพรอันวิเศษจากพระเจ้าจนสามารถก้าวขึ้นเป็น “นายภาษา” ได้อย่างล่ามโปรตุเกสในอดีตทุกคนเลยทีเดียว

ประมาณว่า ... ภาพศิลปะกระจกสีแผ่นหนึ่งในโบสถ์ซางตาครูซ หรือ ที่โบสถ์กัลหว่าร์ .... แสดงปาฏิหาริย์ของพระเจ้าให้เห็นเป็นรูปลิ้นจำนวนมากปรากฏอยู่บนท้องฟ้าเหนือบรรดาสาวกของพระคริสต์ ปริศนาธรรมนี้เสมือนหนึ่งเป็นการอำนวยพรจากพระเจ้าให้สาวกของพระคริสต์ประสบความสำเร็จในการเดินทางไปประกาศศาสนา โดยให้สามารถสื่อสารกับผู้คนชนเผ่าต่างภาษาต่างวัฒนธรรมได้ทั่วโลก

ลองไปชิมสตูว์ลิ้นวัวนุ่มๆกับเนื้อแซนนโมสูตรโบราณแกล้มไวน์ที่กุฎีจีนกันสักครั้งมั๊ยครับ