วันจันทร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2554

คำภาษาโปรตุเกสในหนังสือสัญญาทางไมตรีและพาณิชย์ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา พ.ศ.2375

โดย พิทยะ ศรีวัฒนสาร

"เอดมัน รอเบด" (Edmund Roberts)

อ้างจากเอกสาร หจช. ร.3/ 1-3 (เอกสารรัชกาลที่3) ลำดับที่3 หนังสือสัญญาทางไมตรีและพาณิชย์ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา พ.ศ.2375(ถ่ายสำเนาจากเอกสารชุด Siamese Notification of The Treaty with the United States of America , 1833- April 1838 ของหอจดหมายเหตุแห่งชาติสหรัฐอเมริกา พ.ศ.2375-2381)


ในหนังสือสัญญาทางไมตรีและพาณิชย์ระหว่างประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกา พ.ศ.2375 ซึ่งเขียนเป็นภาษาไทย อังกฤษ โปรตุเกสและจีน เรียกชื่อประเทศสยามขณะนั้นว่า “กรุงพระมหานครศรีอยุทธยา” เรียกชื่อประเทศสหรัฐอเมริกาว่า “อิศตาโด อุนิโด อะเมริกะ” และเรียกชื่อประเทศโปรตุเกสเป็นภาษาไทยว่า “พุทธเกษ” ใจความสำคัญของหนังสือดังกล่าวมีดังนี้

๏ สมเด็จพระพุทธิเจ้าอยู่หัว ณะ กรุงพระมหานครศรีอยุทธยา ทำหนังสือสัญาทางไม้ตรี ค้าขายต่อ อิศตาโด อุนิโด ดา อะเมริกะ แล้ว สมเด็จพระพุทธิเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าโปรด กระหม่อมให้ท่านเจ้าพระยาพระคลังเสนาบดีผู้ใหญ่ทำหนังสือสัญากับ เอดแมน รอเบด[1] ขุนนางซึ่ง อิศตาโด อุนีโด ดา อะเมริกะเมืองมะริกันให้เข้ามาแทนตัว...ไทกับชาตมะริ กันจะได้ไปมาค้าขายถึงกันโดยสุจริตสืบไปชั่วฟ้าแลดิน ไทกับชาติมะริกันทำหนังสือ สัญา ณ วันพุท เดือนสี่ แรมสิบห้าค่ำ ศักราชพันร้อยเก้าสิบสี่ ปีมะโรงจัตวาศก ศักราช ฝรั่งพันแปดร้อยสามสิบสามปี(วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2375)
....ถ้าลูกค้าชาตมะริกันจะบรรทุกศาตราวุธเข้ามาจำหน่าย ณ กรุง ไม่ขายให้กับผู้ใดผู้
หนึ่งจะจำหน่ายให้ในหลวงให้สิ้น...
.....ข้อสาม ลูกค้าชาตมะริกันจะเข้ามาค้าขาย ณ กรุงฯแลหัวเมืองซึ่งขึ้นกับกรุงฯให้ได้
ซื้อขายกันโดยสะดวก...
...ข้อแปด สลุปกำปั่นชาตมะริกัน จะเข้ามาที่ประเทษใดใดภบปะโจรผู้ร้ายสลัดสัตรูที่
แห่งใด คนร้ายจะทำร้ายแก่ชาตมะริกันคนแลของจะตกเข้ามา ณ กรุงฯ แลหัวเมืองที่
ขึ้นกับกรุงฯ กรุงฯจะช่วยชำระให้คืนกลับไป
...ข้อสิบ นานไปเบื้องหน้า ฝรั่งชาตใดภาษาใดนอกจากพุทธเกษจะขอเข้ามาตั้งกงสุ่น
ณ กรุงฯ ถ้ากรุงฯให้โปรดให้ตั้ง ชาตมะริกันจะตั้งกงสุ่น ตามฝรั่งชาตซึ่งโปรดนั้น ๛

ภาษาโปรตุเกสที่ปรากฏอยู่หนังสือสัญญาทางไมตรีและพาณิชย์ระหว่างไทยกับประเทศสหรัฐอเมริกา พ.ศ.2375 ได้แก่ คำว่า “อิศตาโด อุนิโด อะเมริกะ” ซึ่งตรงกับตัวเขียนเป็นภาษาโปรตุเกสว่า “Estado Unidos da América” และคำว่า “กงสุ่น” นั้น ผู้เขียนยังไม่มีโอกาสตรวจสอบจากเอกสารต้นฉบับเอกสารถ่ายสำเนา แต่ก็อาจพอจะอนุมานในชั้นต้นนี้เทียบได้กับคำว่า “Consul” แปลว่า “นักการทูตซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลของตนให้มีหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ทางการค้าของพลเมืองตนและช่วยเหลือพลเมืองของชาติตนในต่างประเทศ (a diplomat appointed by a government to protect its commercial interests and help its citizens in a foreign country)
[1] Edmund Roberts

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น