วันจันทร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2554

แขกเทศ : ชาวโปรตุเกส หรือ แขกมุสลิม?

โดย พิทยะ ศรีวัฒนสาร

เมื่อกล่าวถึงชาวบรเทศในความหมายที่เจาะจง เชื่อมโยงถึงชาวโปรตุเกสชัดเจนแล้ว ก็ควรจะมีคำอธิบายเกี่ยวกับ “ชาวแขกเทศ” ด้วย ในที่นี้จำเป็นต้องกล่าวถึงหลักฐานคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรมซึ่งกล่าวถึงชื่อชนชาติต่างๆ ที่เข้ามายังกรุงศรีอยุธยาเอาไว้หลายชนชาติ ทำให้แลเห็นปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นภายในเมืองพระนครศรีอยุธยาอย่างมีชีวิตชีวา ชนชาติเหล่านั้นได้แก่ จีน มอญ ญี่ปุ่น เขมร ญวน แขกจาม แขกสลุป ฝรั่งกำปั่น แขกกุศราช แขกสุรัต แขกชวา แขกมลายู แขกเทศ ฝรั่งเศส ฝรั่งโลสงโปรตุเกส วิลันดา อิศปันยอน อังกฤษ ฝรั่งดำ ฝรั่งเมืองลังกุนีแขกเกาะ ลาวเก่า แขกเก่า แขกตะเกี่ย แขกตานี แขกใหญ่และแขกใหญ่เจ้าเซ็นรวมทั้งชาวอาร์เมเนียนจากยุโรปตะวันออกด้วย[1]

ชื่อชนชาติในหลักฐานข้างต้นนี้ มีคำคุณศัพท์ขยายให้เห็นถิ่นฐานภูมิลำเนา แหล่งที่มา หรืออาชีพของชนชาตินั้นๆ อาทิ แขกจาม แขกเทศ แขกสลุป แขกกุศราช แขกสุรัต แขกชวา แขกมลายู แขกเก่า แขกตะเกี่ย แขกตานี[2]แขกใหญ่ แขกใหญ่เจ้าเซ็น[3] ฝรั่งเศส ฝรั่งกำปั่น ฝรั่งโลสงโปรตุเกส ฝรั่งดำ และฝรั่งเมืองลังกุนีแขกเกาะ หากชนชาติใดมีเอกลักษณ์ของตนเด่นชัด เอกสารก็ไม่ระบุถึงหลักแหล่งถิ่นฐานของพวกเขา ได้แก่ มอญ ญี่ปุ่น จีน วิลันดา อิศปันยอน และ อังกฤษ เป็นต้น

บรรดาแขกต่างๆ ที่เดินทางเข้ามาค้าขายในเมืองพระนครศรีอยุธยามีอาชีพและความเป็นอยู่แตกต่างกันออกไป แขกจาม ทอดสมอเรือขาย น้ำตาลทราย น้ำตาลกรวด สาคูเม็ดเล็ก สาคูเม็ดใหญ่ กำมะถัน จันทน์แดง หวายตะค้า กระแชงเตย และสินค้าต่างๆจากปักษ์ใต้[4] แขกจามอีกกลุ่มหนึ่งอาศัยอยู่ย่านวัดแก้วฟ้าและวัดลอดช่อง ประกอบอาชีพทอผ้า มีผู้รับซื้อไปขายยังตลาดป่าผ้าเขียวหลังคุก[5] แขกจามอีกพวกแถวย่านบ้านท้ายคูสานเสื่อลันไต และสมุกขาย[6]

แขกสลุป แขกกุศราช แขกสุรัต แขกชวาและแขกมลายู เดินทางเข้ามาค้าขายยังกรุงศรีอยุธยา ในฤดูลมสำเภาหรือลมตะเภา พ่อค้าแขกเหล่านี้เข้ามาในเวลาใกล้เคียงกับพ่อค้าสำเภาจีน นอกจากนี้ยังมีพ่อค้าฝรั่งโลสงโปรตุเกส วิลันดา อิสปันยอน อังกฤษ และฝรั่งดำ ฝรั่งเมืองลังกุนีแขกเกาะ เข้ามาทอดสมอบริเวณท้ายคู เพื่อรอขนสินค้าขึ้นไปไว้บนห้างในกำแพงเมืองพระนครศรีอยุธยา ตามที่ได้ “ซื้อหรือเช่าห้างร้านและตึก” เอาไว้[7]

“แขกสลุป” หมายถึงพ่อค้าที่เดินทางมาด้วยเรือสลุป สลุปนั้นมีความหมายเช่นเดียวกับกำปั่นหรือสำเภา[8] “แขกกุศราช (Gujrat) และแขกสุรัต (Surat)” เดินทางมาจากอินเดีย แขกชวาและแขกมลายู เดินทางมาจากคาบสมุทรมลายูและอินโดนีเซีย แขกตานี หรือ แขกปัตตานี ประกอบอาชีพทอผ้าไหม และผ้าด้ายเป็นผ้าพื้น ผ้าม่วงเกลี้ยงม่วงดอกขาย ส่วนพวกแขกเก่าซึ่งอยู่บ้านป้อมหัวแหลมนั้นมีอาชีพแบบเดียวกับพวกลาวเก่า คือ จับนกอังชันและนกกระจาบเร่ขายเป็นอาหาร ส่วนนกสีชมพู นกปากตะกั่ว นกอิฐแดง นกกระทิ นกกระจาบ ถูกจับใส่กรงเร่ขายชาวพระนคร ในที่นี้ยังไม่สามารถอธิบายได้ชัดเจนนักว่า แขกเก่าคือคนกลุ่มใด หลักฐานคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรมกล่าวว่าย่านบ้านท่ากายีนอกกำแพงกรุงเป็นบ้านแขกเก่า[9] คนเหล่านี้มีอาชีพฟั่นเชือกเปลือกมะพร้าวตีเป็นสายสมอขนาดต่างๆ ขายแก่นายกำปั่นสลุปสำเภา และฟั่นชุดจุดบุหรี่ด้วยเปลือกมะพร้าว ขายขุนนางและราษฎรที่ต้องการใช้และทำบุญ บ้านท่ากายีอยู่ทางใต้ของเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา ย่านเดียวกับวัดขุนพรหม คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม กล่าวถึง “ถนนบ้านแขกใหญ่” และ “หน้าวัดอำแมท้ายบ้านแขกใหญ่เจ้าเซ็น”[10] “แขกใหญ่” คือ “แขกเจ้าเซ็น” หมายถึงแขกเปอร์เซีย ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์แขกเปอร์เซียบางคนมีตำแหน่งเป็นออกพระศรีมโนราช "เคยกำกับอภิสิทธิ์การค้าไม้หอมในสยามแก่ผู้เดียว" [11]

ย่านที่อยู่อาศัยของแขกใหญ่เจ้าเซ็นบริเวณปากคลองประตูเทศหรือประตูเทศสมี* อันเป็นท้ายคลองของคลองป้อมประตูข้าวเปลือก ใกล้บ้านแขกใหญ่เจ้าเซ็นมีตลาดขายของสดเช้าเย็น เป็นตลาดขนาดใหญ่ชื่อตลาดจีน ตั้งอยู่ในย่านบ้านแหมีร้านขายแหและเปลป่านเปลด้ายตะภอและลวด[12]

“พวกมอญและพม่าแขก” คือ ชาวมุสลิมอีกกลุ่มหนึ่ง ที่มีอาชีพฆ่าเป็ดไก่ขายในบริเวณตลาดน้อย ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับตลาดใหญ่ย่านในไก่ ตลาดน้อยอยู่ใกล้กับถนนย่านป่าทุ่งวัดโควัดกระบือ[13] ส่วนแขกมักกะสันเป็นชาวมุสลิม ซึ่งเดินทางมาจากเกาะมากัสซาร์ในมหาสมุทรอินเดีย มีบันทึกของชาวต่างประเทศรายงานว่าแขกมักกะสันได้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร พระเจ้าแผ่นดินสยามในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เพราะถูกกดขี่จากชาวฮอลันดา[14] ต่อมาถูกปราบปรามและขับไล่ออกไปหมดสิ้นเนื่องจากได้ร่วมกันวางแผนยึดราชบัลลังก์จากสมเด็จพระนารายณ์เมื่อ ปี พ.ศ.2230[15]

แขกมัวร์เป็นชาวมุสลิม อีกกลุ่มหนึ่งในเมืองพระนครศรีอยุธยาซึ่งถูกกล่าวถึงในบันทึกของชาวตะวันตก เนื่องจากเคยมีบทบาททางด้านการค้าและการเมืองในกรุงศรีอยุธยาค่อนข้างสูง หลักฐานของลาลูแบร์กล่าวถึงการฉลอง “วันมรณกรรมของอาลี” บางครั้ง ลาลูแบร์เรียกแขกมัวร์ว่าแขกมะหง่ล หรือ แขกโมกุล[16] ลาลูแบร์ กล่าวถึงแขกอีกพวกหนึ่งว่า แขกปายัง (Payens) หรือแขกราชบุตร (Rasboultes หรือ Ragibouttes) เป็นทหารรักษาพระองค์เดินทางมาจากอินเดีย[17]

ดร.ธีรวัต ณ ป้อมเพชร เห็นว่า “แขกมัวร์” ซึ่งถูกกล่าวถึงในหลักฐานรายงานและบันทึกของชาวต่างประเทศ ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมจากอินเดีย หรือมุสลิมเปอร์เซีย[18] ยอร์ช ไวท์ รายงานว่า แขกมัวร์ส่วนหนึ่งเดินทางมาจากเมืองเบงกอล และเมตชเลปะตัน บันทึกของเขาจำแนกแขกมัวร์กับแขกเปอร์เซีย ออกจากกันอย่างชัดเจน[19] แขกเปอร์เซียบางคนได้เป็นเจ้าเมืองตะนาวศรี เมืองมะริด และหัวเมืองรายทางเข้าสู่กรุงศรีอยุธยา อาทิ เพชรบุรี ปราณบุรี กุยบุรี และ ฯลฯ ตัวแทนการค้า และนายเรือส่วนหนึ่งของราชสำนักสยามจากตะนาวศรีไปยังมาเก๊าและเบงกอล ก็เป็นแขกเปอร์เซีย อย่างไรก็ตามมีผู้เสนอว่า “แขกมัวร์” ซึ่งชาวสยามเรียกว่า “แขกใหญ่ หรือแขกเจ้าเซ็น” หมายถึงชาวอิหร่าน[20]

คำ “แขกเทศ” ซึ่งปรากฏในหนังสือคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม[21] นั้น อักขราภิธานศรับท์ หมอบรัดเลย์ อธิบายสั้นๆว่า

“แขกเทษ แขกที่มาแต่เมืองเทษนั้น”[22]

นอกจากนี้หนังสืออักขราภิธานศรับท์หมอบรัดเลย์ ได้อธิบายชื่อเมืองต่างๆ อาทิ “เมืองตะนี” “เมืองไญกัตรา(จาร์การ์ตา)” ว่าเป็นเมืองแขก หนังสือดังกล่าวอธิบายชื่อเมืองต่างๆ โดยบอกเจาะจงว่าเป็นเมืองลาว เมืองเขมร เมืองมอญและเมืองฝรั่ง แต่มิได้อธิบายว่า “เมืองเทษ” หรือ “เมืองเทศ” ที่กล่าวถึงนั้นเป็นเมืองอะไร เป็นของชนชาติใด และอยู่ที่ใดในทางภูมิศาสตร์ ดังนั้น เพื่ออธิบายว่าเมืองเทษ คือ เมืองอะไรนั้นจำเป็นต้องวิเคราะห์บริบทของหลักฐานต่างๆ ให้ลึกซึ้ง กล่าวคือ คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม ระบุถึงสินค้าผ้าชนิดหนึ่งเรียกว่า “ผ้าขาวเทศ”

“…ย่านบ้านริมวัดขุนพรม ชาวบ้านย่านนั้นเอาผ้าขาวเทศมาเขียนพิมพ์ตีพิมพ์ เป็นดอกผ้าลายน้ำจืดขาย บ้างต่อโลงไม้อุโลกสำหรับใส่สพไว้ขายก็หลายบ้าน”[23]

คำอธิบายที่มาของ “ผ้ากำมะหยี่” ในอักขราภิธานศรับท์หมอบลัดเลย์ระบุว่า
“กำมะหยี่, ผ้าเป็นขนนุ่ม อ่อนละเอียด สีต่างๆ งามนัก มาแต่เมืองจีน แลเมืองเทศบ้าง”[24]

คำอธิบายเหล่านี้น่าจะบอกได้ว่า “เมืองเทษ” นั้นอาจหมายถึง เมืองต่างๆซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกหรือตะวันออกก็ได้ หรืออาจเป็นเมืองในความหมายครอบคลุมกว้างขวาง และไม่ต้องการอธิบายอย่างจำเพาะเจาะจงถึงแหล่งที่มาอย่างชัดเจน การอธิบายหรือการใช้คำว่า “เทศ” เรียกชื่อคน สัตว์ สิ่งของต่างๆ ในภาษาไทย มักจะใช้เพื่ออธิบายว่าสิ่งต่างๆ มีที่มาจากแหล่งอื่นมิใช่ของพื้นบ้านพื้นเมือง หรือของที่รู้จักแหล่งที่มาอย่างคุ้นเคยเป็นอันดี ยกตัวอย่างเช่น ผ้าขาวเทศ (ผ้าขาวไทย) เครื่องเทศ (เครื่องไทย) พริกเทศ (พริกไทย) หรือมันเทศ[25] เป็นต้น จริงๆ แล้ว “คำแขกเทศ” มิได้มีความหมายรวมถึง “แขกใหญ่” หรือ “แขกใหญ่เจ้าเซ็น” เท่านั้น พ่อค้าชาวต่างประเทศซึ่งนับถือศาสนาอิสลามจากตะวันออกกลางอาทิชาวอิหร่านหรือเปอร์เชียก็ถูกเรียกว่าแขกเทศด้วย การที่ชาวอาหรับเข้ามาอยู่ในกรุงศรีอยุธยาน้อยจนเกือบจะไม่มีเลยทำให้คำว่าแขกเทศตกไปอยู่ที่ชาวเปอร์เซียพวกเดียว[26] กาญจนาคพันธุ์ อธิบายว่า

“แขกเทศ จะหมายถึงอะไรไม่ชัด เฉพาะคำเทศหมายถึง ต่างประเทศ เมื่อใช้กับ “แขก” ก็หมายถึง แขกต่างประเทศที่ไม่ใช่แขกชวามลายูมุหงิด มักกะสันอะไรที่อยู่ทางด้านเรา เป็นแขกทางอินเดียโน้น คำที่ใช้จึงกินความหมายกลุ่มทั้งแขกอินเดียเปอร์เซีย อาหรับ ฯลฯ”[27]

โคลงกระบวนแห่กฐินพยุหยาตราทางสถลมารคชลมารค ที่สมเด็จกรมพระ ปรมานุชิตชิโนรสนิพนธ์ถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวกล่าวถึงแขกเทศจำนวน 3 บทดังนี้
แขกเทศกระบวนหน้า
“ไพร่หลวงกรมท่าพื้น ผจงกาย แต่งเฮย
อย่างแขกเทศทั้งหลาย เหล่าถ้วน
กระบี่โง้งง่าท้าทาย เสโลห์ หนังนา
ลายวิลาศอาตม์อ่าล้วน หมวกเสื้อ กางเกง” [28]

แขกเทศกระบวนหลัง
“กรมท่าแขกเทศล้วน แลโส ภณเฮย
กุมกระบี่เสโลห์ ง่าเงื้อ
พันธพัตรโพกเศียรโต ตามเพศ เขาเฮย
สวมใส่กางเกงเสื้อ จีบห้อม กรอมกรุย” [29]

กระบวนแห่พยุหยาตราน้อย
“ไพร่หลวงกรมท่าแสร้ง แต่งตน
แปลงเพศแขกเทศกล แขกค้า
หมวกฉากเชิดกระบานบน บังชาติ
ดูบ่รู้จักหน้า ห่อนแจ้ง แปลงปลอม”[30]

โคลงบทแรกและบทที่สอง กล่าวถึงแขกเทศว่าถือกระบี่โค้ง และโพกศีรษะโต เป็นเอกลักษณ์ของชนเชื้อชาติแขกทั้งมุสลิมและฮินดู แต่โคลงบทที่สาม “แขกเทศแขกค้า สวมหมวกฉาก” หรือหมวกปีก ชี้ให้เห็นว่าแขกเทศในที่นี้อาจหมายถึงชาวตะวันตกชาติหนึ่งซึ่งมิใช่แขกมุสลิมหรือฮินดู เห็นได้จากภาพลายเส้นรูป วาสโก ดา กามา[31]และรูปอัลฟองซู ดัลบูแกร์กึ[32] รวมทั้งนักเดินทางชาวโปรตุเกสอื่นๆ ในพุทธศตวรรษที่ 20-21[33] ล้วนแต่งกายมีหมวกปีกทั้งสิ้น หลักฐานดังกล่าวอาจเป็นข้อบ่งชี้ถึงพัฒนาการที่ไม่หยุดนิ่งของคำว่า “แขกเทศ” ในบริบททางประวัติศาสตร์ได้เป็นอย่างดี

การอ้างอิง
[1] Dhiravat na Pombejra, "European Accounts of 17th century Bangkok" , p.1 (เอกสารถ่ายสำเนา)
[2] ปรีดา ศรีชลาลัย, "คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารหอหลวง", หน้า57-59.
[3] เรื่องเดียวกัน, หน้า64.
[4] เรื่องเดียวกัน, หน้า58.
[5] เรื่องเดียวกัน, หน้า22. บริเวณหลังคุกอาจหมายถึงย่านตะแลงแกงทางตะวันตกของวัดเกษ (หรือคุ้มขุนแผน)
[6] เรื่องเดียวกัน, หน้า58. พวกจามอาจอาศัยอยู่บริเวณปากคลองคูจามด้วยจึงเป็นที่มาของภูมินามนี้ขณะเดียวกันก็มีสุเหร่าของมุสลิมเรียกว่าวัดตะเกี่ยอยู่ที่ใกล้กับปากคลองคูจาม
[7] เรื่องเดียวกัน, หน้า58.
[8] คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม กล่าวถึง “นายกำปั่น สลุปสำเภา” ในความเดียวกัน ดู ปรีดา ศรีชลาลัย., เรื่องเดิม,หน้า58.
[9] ปรีดา ศรีชลาลัย, เรื่องเดิม, หน้า58
[10] เรื่องเดียวกัน, หน้า64
[11] บันทึกของยอร์ช ไวท์ ใน ประชุมพงศาวดาร เล่ม12, หน้า303 ระบุว่า เมื่อออกพระศรีมโนราชถึงแก่กรรม การค้าไม้หอมถูกยึดกลับเป็นของกรมพระคลังดังเดิม
* คลองประตูเทศ หรือประตูเทสมีนั้น น. ณ ปากน้ำ อธิบายว่า ได้ชื่อเพราะเป็นที่ตั้งของชุมชนแขกเทศ แต่แผนที่กรุงเทพทวารวดี ร.ศ.117 ของพระยาโบราณบุรานุรักษ์ ระบุชื่อคลองดังกล่าวว่า คลองประตูเทพ หรือประตูเทพหมี ซึ่งพิรักษ์ ชวนะเกรียงไกร เสนอความเห็นในการสนทนากันว่า อาจเคยเป็นบ้านของเจ้าพระยาพลเทพ (หมี) เสนาบดีกระทรวงกระเสตราธิบดี สมัยอยุธยา
[12] ปรีดา ศรีชลาลัย, เล่มเดิม, หน้า22
[13] เรื่องเดียวกัน, หน้า23.
[14] ประชุมพงศาวดารภาคที่80 จดหมายเหตุฟอร์บังอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พล.ต.ลม้าย อุทยานานนท์ วันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ.2509,หน้า106
[15] เรื่องเดียวกัน, หน้า117-129
[16] ชิมอง เดอ ลาลูแบร์, เรื่องเดิม, หน้า435.
[17] เรื่องเดียวกัน, หน้า435.
[18] Dhiravat na Pombejr , ”Ayutthaya as a Cosmopolitan Society : a case study of Daniel Brochebourde and his descendants” ความยอกย้อนของประวัติศาสตร์ (กรุงเทพ : รุ่งแสงการพิมพ์, 2539),หน้า299-300.
[19] ประชุมพงศาวดาร เล่ม 12 (พระนคร : องค์การคุรุสภา,2507), หน้า 312-313
[20] จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์, “บทบาททางเศรษฐกิจและการเมืองของกรมท่าขวาสมัยพระเอกาทศรถ ถึงสมัยพระนารายณ์มหาราช พ.ศ.2149-2231” , การสัมมนาทางวิชาการ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาคเรียนต้นปีการศึกษา 2540.
[21] ปรีดา ศรีชลาลัย, เรื่องเดิม, หน้า58.
[22] แดนบีช บรัดเลย์, อักขราภิธานศรับท์ (กรุงเทพ : คุรุสภาลาดพร้าว, 2514), หน้า78.
[23] ปรีดา ศรีชลาลัย, เรื่องเดิม, หน้า58.
[24] แดนบีช บรัดเลย์, เรื่องเดิม, หน้า14.
[25] ชิมอง เดอ ลาลูแบร์, เรื่องเดิม, หน้า88 ระบุว่า “พลเมืองในเกาะของเราในทวีปอเมริกาเป็นผู้ทำให้รู้จักมันเทศนี้…” หนังสืออภิธานศรับท์หมอบรัดเลย์อธิบาย “มันเทษ, มันยวณ, มันมาแต่เมืองเทษ เขาปลูกไว้เป็นพืชพันธุ์ต่อกันมา เปลือกมันแดงก็มี ขาวก็มี เนื้อก็เหมือนกัน” ,อ้างแล้ว,หน้า522
[26] สง่า กาญจนาคพันธ์, ภูมิศาสตร์วัดโพธิ์ เล่ม2 , หน้า165
[27] เรื่องเดียวกัน, หน้า164
[28] สง่า กาญจนาคพันธ์, เรื่องเดิม หน้า162-163.
[29] เรื่องเดียวกัน, หน้า162-163.
[30] เรื่องเดียวกัน, หน้า162-163
[31] ธาวิต สุขพานิช, "ยุคแห่งการบุกเบิกและการค้นพบ" วารสารธรรมศาสตร์ ฉบับที่18 (2532): 40.
[32] 470 ปีความสัมพันธ์ระหว่างไทยและโปรตุเกส, แปลโดย ลินจง สุวรรณโภคิน (กรุงเทพ : โรงพิมพ์คุรุสภา,2531),หน้า21
[33] Fernando Gutierrez, S.J. "A Survey on Nanban Art," Portugal e o Japão seculos XVI e XVII O Retrato do Encontro, (1993) : 112

2 ความคิดเห็น:

  1. เรียนถามอาจารย์ครับ อะไรคือหมวกฉาก มีตัวอย่างหรือที่อธิบายหมวกฉากไว้บ้างหรือเปล่าครับ และอย่างไรคือ หมวกปีก เหมือนกันตามคำอธิบาย หรือวิเคราะห์เปรียบเทียบระหว่างคำว่า หมวกฉาก กับหมวกปีก ครับ (ธีรนันท์ ช่วงพิชิต)

    ตอบลบ
  2. บางคำ ยังต้องตีความ ในความเป็นไปได้ ผู้รู้บางท่านเข้าใจเช่นไร ก็ถ่ายทอดเช่นนั้น ความจริงและความน่าจะเป็นคือเส้นบางๆ ที่ชอบจะอธิบาย

    ตอบลบ