วันเสาร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ชุมชนชาวโปรตุเกส

โดย ปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์และพิรักษ์ ชวนะเกรียงไกร
โครงการปรับปรุงหมู่บ้านโปรตุเกส หน่วยศิลปากรที่1 (พระนครศรีอยุธยา)

ภาพการขุดแต่งเนินโบราณสถานที่โบสถ์ซานเปโตร ต.สำเภาล่ม อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ถ่ายมุมสูงระหว่างการขุดแต่งจากต้นมะขามโดย ปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์ ทำให้ได้ภาพ มุมกว้างครอบคลุมพื้นที่ปฏิบัติงาน


เอกอัครราชทูตโปรตุเกส ฯพณฯ เมลู โกเวีย(Melo Gouveia, 1982-1988)และคณะเดินทางมาเยี่ยมชมและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ของกรมศิลปากร (พ.ศ.2527) อธิบดีกรมศิลปากร นายทวีศักดิ์ เสนาณรงค์ (นั่งขวาสวมแว่น) นายภิรมย์ จีนะเจริญ หัวหน้าโครงการอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา(นั่งซ้าย)ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น นายปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์ นักโบราณคดี ผู้ควบคุมหลุมขุดค้น(ที่2จากขวา) นายพิรักษ์ ชวนะเกรียงไกร นักประวัติศาสตร์ประจำโครงการ (ที่1 จากขวา)


ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกได้เผยแพร่เข้ามายังเอเชียในศตวรรษที่ 16 ตามเมืองต่างๆ ที่บรรดาชาติตะวันตกเข้าไปติดต่อสัมพันธ์ด้วย จากข้อตกลงร่วมกันระหว่างโปรตุเกสและสเปน 2 ชาติมหาอำนาจทางทะเลในระยะนั้น ซึ่งได้เกิดการวิวาทกันอยู่เนืองๆ เนื่องมาจากการแข่งขันกันทางด้านการค้าและการเผยแพร่คริสต์ศาสนาไปตามเมืองต่างๆ



ในที่สุดสมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 6 จึงได้ตัดสินให้ยุติข้อวิวาทกัน โดยการให้แบ่งเขตการแสวงหาการค้าทางทะเลด้วยการให้ทำสนธิสัญญา (Treaty of Tordesillas) ขึ้นโดยให้โปรตุเกสขยายอำนาจไปทางทิศตะวันออก และสเปนขยายอำนาจไปทางทิศตะวันตก โดยมีทวีปยุโรปเป็นศูนย์กลาง ดังนั้นประเทศในแถบเอเชียเป็นส่วนใหญ่จึงตกอยู่ในเขตการขยายอิทธิพลทางทะเลของโปรตุเกสซึ่งรวมทั้งกรุงศรีอยุธยาของเราด้วย โปรตุเกสได้เริ่มมายึดเมืองกัวเป็นศูนย์กลางในการแผ่ขยายอำนาจมาทางเอเชียตะวันออกกลางและเอเชียใต้ในปี พ.ศ. 2053 และได้เมืองมะละกาเป็นศูนย์กลางในการขยายอำนาจมาทางเอเชียตะวัน ออกเฉียงใต้ในปี พ.ศ. 2054

ภาพวาดบรรยายเหตุการณ์การโจมตีมะละกาของเรือโปรตุเกส เมื่อ ค.ศ.1511
(สำเนาจากมะละกาโดยปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์)

ป้อมโปรตุเกสที่มะละกา(สำเนาจากมะละกาโดย ปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์)


หลังจากนั้นโปรตุเกสจึงเข้ามาติดต่อสัมพันธ์กับอยุธยา เมื่อทราบว่ามะละกาเคยเป็นเมืองขึ้นของอยุธยามาก่อนจึงส่งทูตเข้ามาสัมพันธไมตรี ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองเป็นไปด้วยดี จากการที่โปรตุเกสต้องการให้อยุธยายอมรับอำนาจของโปรตุเกสที่มีอยู่เหนือมะละกา ในขณะเดียวกันอยุธยาก็ต้องการความช่วยเหลือทางด้านการทหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่โปรตุเกสได้นำเอาอาวุธปืนซึ่งเป็นของสมัยใหม่เข้ามา จึงเป็นที่พอพระทัยของพระเจ้าแผ่นดินอยุธยาเป็นอย่างมาก รวมทั้งการเป็นทหารอาสาและการก่อสร้างป้อมปราการ เพราะในขณะนั้นอยุธยามีศึกติดพันอยู่กับเชียงใหม่และพม่า

เนินโบราณสถานโบสถ์ซานเปโตร ก่อนการขุดแต่งและบูรณะพ.ศ.2527

หลังการขุดแต่งแล้วศาลนักบุญเปโตรของเดิมก็มิได้ถูกย้ายออกไป

(สำเนาภาพโดย ปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์)


การแพร่ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก โปรตุเกสซึ่งได้รับนโยบายการเผยแพร่ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกมาจากสมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 6 ที่มีคำสั่งตัดสินให้โปรตุเกสและสเปนแบ่งการขยายอาณาเขตออกไปทางด้านทิศตะวันตกและตะวันออก และในการขยายอิทธิพลของตนไปนั้น จะต้องเผยแพร่ศาสนาไปตามเมืองต่างๆ เหล่านั้นด้วย ในการเผยแพร่ศาสนานี้โปรตุเกสต้องได้รับการต่อต้านจากบรรดาชาวเมืองที่ต่างก็นับถือศาสนาอื่นอยู่ก่อนแล้ว ดังเช่น ในเมืองกัว เมืองมะละกา ซึ่งมีผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามเป็นชนส่วนใหญ่ของเมืองนั้นอยู่แล้ว เป็นต้น


การเผาวัชพืชเพื่อเปิดพื้นที่เนินดินก่อนการขุดแต่งพ.ศ.2527 (ภาพโดย ปฎิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์)
เนินโบราณสถานโบสถ์ซานเปโตร ระหว่างการถากถางเพื่อการสำรวจและขุดแต่งพ.ศ.2527 (ภาพโดยปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์)


นักโบราณคดีกำลังทำแผนผังฐานรากอาคารโบสถ์ซานเปโตร พ.ศ.2527
(ปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์ เอื้อเฟื้อภาพ)


นักทัศนาจรเดินทางมาเยี่ยมชมโบราณสถานระหว่างการขุดแต่งโบสถ์ซานเปโตรระยะแรก (ภาพโดย ปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์)


ในเอกสารของชาวต่างประเทศที่เข้ามายังกรุงศรีอยุธยากล่าวว่า ภายหลังจากโปรตุเกสได้ทำความสัมพันธ์อันดีกับอยุธยาแล้ว ก็ได้มีชาวโปรตุเกสเข้ามายังอยุธยาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่เป็นพ่อค้าค้าขายอยู่ในกรุงศรีอยุธยา, นครศรีธรรมราช, มะริด, ตะนาวศรีและปัตตานี นอกจากนั้นก็มาเป็นทหารอาสาอยู่ในกรุงศรีอยุธยา ดังเช่นพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับตุรแปงกล่าวว่า มีชาวโปรตุเกสอยู่ในอยุธยา 130 คน และเป็นทหารเสีย 120 คน ในสมัยของพระไชยราชาเมื่อเกิดสงครามกับเชียงใหม่และอยุธยาได้ยกทัพไปปราบและได้ ชัยชนะกลับมา ชาวโปรตุเกสก็ร่วมไปในสงครามครั้งนี้ด้วย จึงทำให้เกิดหมู่บ้านโปรตุเกสในปี พ.ศ. 2088 นี้เอง ในระยะแรกนี้จะมีบาทหลวงชาวโปรตุเกสเข้ามาเผยแพร่ศาสนาหรือยังไม่มีเอกสารยืนยันอย่างแน่นอน แต่ก็อาจเป็นไปได้ว่านักบุญฟรังซิส ซาเวียร์ (St.Francis Xavier) ซึ่งได้เดินทางมาเผยแพร่ศาสนายังเอเชียนั้นได้เข้ามายังกรุงศรีอยุธยา(ในปัจจุบันยังปรากฏอนุสาวรีย์อยู่ที่เมืองมะละกา) แต่จากเอกสารที่ปรากฏกล่าวว่า บาทหลวงชาวโปรตุเกส 2 องค์ได้เดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 2098 เป็นบาทหลวงในคณะโดมินิกัน ชื่อ เจอโรนิโม ดาครูซ กับ เซบาสติเอา ดา คูโต (Jeronimo da Cruz & Sebastiao da Couto) ซึ่งตรงกับสมัยของพระมหาจักรพรรดิ แต่การเผยแพร่ศาสนายังคงไม่ค่อยแพร่หลายเท่าใดนัก มีโบสถ์สำหรับทำพิธีอยู่หลังหนึ่งซึ่งสร้างขึ้นพร้อมกับหมู่บ้านโปรตุเกสในสมัยของพระไชยราชา


บันไดทางขึ้นสู่อาคารมีแผ่นหินแกรนิตเสริมความมั่นคงก่อนเทปูนทับ

อุปสรรคที่สำคัญที่ทำให้การเผยแพร่ศาสนาไม่สามารถดำเนินไปได้ด้วยดีก็คือภาษา (ในระยะ เวลาต่อมาอุปสรรคนี้ได้รับการแก้ไขโดยบาทหลวงองค์ต่อๆ มาโดยการพยายามศึกษาภาษาไทยและต่อมาได้มีการเขียนคำเทศนาสั่งสอนออกมาเป็นภาษาไทย) นอกจากนี้ยังต้องประสบกับการขัดขวางจากผู้ที่นับถือศาสนาอื่นอยู่ก่อนแล้ว ทำให้บาทหลวงเจอโรนิโม ดาครูซ ถูกทำร้ายจนถึงตายในขณะที่บาทหลวงเซบาสติเอา ดา คูโต ได้รับบาดเจ็บและออกเดินทางกลับไปยังเมืองมะละกา (และได้เดินทางกลับมายังอยุธยาอีกครั้งหนึ่งในปีพ.ศ. 2110 พร้อมกับเพื่อนบาทหลวงอีก 2 องค์ และถูกฆ่าตายในระหว่างสงครามอยุธยากับพม่าในปี พ.ศ. 2112)

ภายหลังจากกรุงศรีอยุธยากลับเข้มแข็งขึ้นมาอีกครั้งในสมัยพระนเรศวรมหาราช การเผยแพร่ศาสนาคริสต์ก็กลับดำเนินต่อ ในสมัยของพระเจ้าทรงธรรมปรากฏว่ามีการสร้างโบสถ์ขึ้นอีกหลังหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ทหารโปรตุเกสได้เข้าร่วมรบในสงครามกับพม่าเพื่อชิงเมืองชายแดนบางเมืองกลับมาเป็นของอยุธยาได้สำเร็จ ในระยะนี้ปรากฏว่ามีบาทหลวงในคณะฟรานซิสกันและเยสุอิตเข้ามาอีก 2 คณะ แต่อย่างไร ก็ตามปรากฏว่าเกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างบาทหลวงชาวโปรตุเกสกับชาวไทยที่ในอยุธยาและเมืองต่างๆ หลายครั้งจนถึงกับพระเจ้าทรงธรรมให้จับบาทหลวงชาวโปรตุเกสไปทรมาน

ศาลนักบุญเปโตรระหว่างการขุดแต่ง

เหตุการณ์นี้ได้เกิดขึ้นเป็นระยะๆ จนถึงสมัยพระเจ้าปราสาททอง ซึ่งระยะนี้โปรตุเกสมีความขัดแย้งกับฮอลันดาเนื่องจากการแก่งแย่งทางการค้าที่เกิดขึ้นอยู่เสมอทำให้พระเจ้าปราสาททองซึ่งมีนโยบายที่จะติดต่อสัมพันธ์กับทุกชาติที่เข้ามาติดต่อด้วยไม่พอพระทัย จากจดหมายเหตุของชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาในสมัยพระนารายณ์กล่าวว่า เมื่อแรกราชทูตฝรั่งเศสเดินทางเข้ามานั้นมีบาทหลวงชาวโปรตุเกสไปให้การต้อนรับด้วยการสั่นระฆังในโบสถ์ของเขา นอกจากนี้ยังมีการจัดงานฉลองขึ้น 2 ครั้งในโบสถ์ของชาวโปรตุเกสด้วย



ในการเข้ามาของฝรั่งเศสนี้เองก็เกิดความขัดแย้งกับบาทหลวงโปรตุเกสที่อยู่เดิม โดยบาทหลวงชาวฝรั่งเศสได้รับมอบอำนาจจากสันตะปาปาเกรเกอรี่ที่ 15 ให้เป็นผู้ดูแลปกครองคณะสงฆ์ที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนาอยู่ในกรุงศรีอยุธยา ในระยะแรกบาทหลวงชาวโปรตุเกสไม่ยอมรับอำนาจนี้ แต่ในเวลาต่อมาก็สามารถตกลงกันได้ด้วยการประชุมปุจฉาวิสัชนา

ในระยะปลายของสมัยอยุธยา บทบาทของบาทหลวงชาวโปรตุเกสลดน้อยลงเนื่องจากฝรั่งเศสได้สร้างโบสถ์ขึ้นในหมู่บ้านของตนและมีการเผยแพร่ศาสนาด้วยวิธีการที่เอาใจใส่ต่อความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นอย่างดี เช่น การสร้างโรงพยาบาล การช่วยเหลือผู้ที่ยากจน เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามการเผยแพร่ศาสนาคริสต์นี้ก็ต้องสะดุดหยุดลงในเมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2310
หมู่บ้านโปรตุเกสตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของตัวเกาะเมืองอยุธยาฝั่งด้านตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาตรงกันข้ามกับบ้านญี่ปุ่นและบ้านฮอลันดา ตามหลักฐานที่ปรากฏกล่าวว่าหมู่บ้านโปรตุเกสสร้างขึ้นในสมัยพระไชยราชา เมื่อทหารโปรตุเกสซึ่งเข้าร่วมรบในกองทัพอยุธยาและชนะเชียงใหม่กลับมาในปี พ.ศ. 2088 ในระยะแรกคงมีชาวโปรตุเกสอาศัยอยู่ไม่มากนัก แต่ในเวลาต่อมาก็เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ปรากฏในจดหมายเหตุของชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาในสมัยพระนารายณ์กล่าวว่ามีชาวโปรตุเกสอาศัยอยู่ในหมู่บ้านแห่งนี้ประมาณ 2,000 คน ส่วนมากเป็นลูกครึ่งซึ่งเป็นไปตามนโยบายของโปรตุเกสที่อาศัยวิธีการผสมผสานกับชาวพื้นเมืองซึ่งต่างจากชาวยุโรปชาติอื่นๆ

ในการขุดแต่งโบราณสถานซานเปโตรซึ่งตั้งอยู่ในหมู่บ้านโปรตุเกสได้พบโครงกระดูกเป็นจำนวนทั้งสิ้น ขณะนี้ 130 โครงซึ่งอาจจะพบเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ (ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้กล่าวว่าในโบราณสถานอีก 2 แห่งที่ตั้งอยู่ในหมู่บ้านโปรตุเกสนี้ก็พบโครงกระดูกเช่นกัน)

กระโหลกศีรษะมีปูนขาวหุ้มป้องกันกลิ่นและเชื้อโรคของโครงกระดูกซึ่งพบหน้าแท่นบูชามีรอยถูกตีที่กลางแสกหน้าสันนิษฐานว่าอาจเป็นกระโลกศีรษะของบาทหลวงโปรตุเกส ชื่อ เจรอนิโม ดา ครูซ -Jerónimo da Cruz (ภาพโดย ปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์ พ.ศ.2527)

ในที่นี้จะกล่าวถึงการฝังศพและลักษณะการฝังศพของชาวคาทอลิก ที่โบราณสถานซาน เปโตรแห่งนี้ โครงกระดูกที่พบในบริเวณโบราณสถานซานเปโตรนี้จะอยู่บริเวณด้านทิศตะวันออกซึ่งเป็นด้านหน้าของโบราณสถานเป็นส่วนใหญ่ และจะมีพบบ้างเล็กน้อยบริเวณด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้และทิศตะวันออกเฉียงเหนือ การฝังศพจะหันศีรษะไปทางด้านทิศตะวันออก (อาจเป็นไปได้ว่าต้องการให้ศพหันหน้าเข้าหาโบสถ์ซึ่งเป็นคติประเพณีนิยมก็เป็นได้) มีบ้างบางโครงที่หันศีรษะไปทางด้านทิศตะวันตก

โครงกระดูกนี้มีปูนขาว นอนกอดอก มีปูนขาวหุ้ม แสดงให้เห็นถึงการเตรียมการอย่างดีระหว่างทำพิธีฝังศพ และที่บริเวณต้นขาและกระดูกหน้าแข้งของโครงกระดูกมีสภาพการถูกทำลายโดยมีสาเหตุจากโรคหนองในโพรงกระดูก(ภาพโดยปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์)

จากการวิเคราะห์โครงกระดูกเหล่านี้พบว่ามีทั้งที่เป็นคนเชื้อชาติมองโกลอยด์และคอเคซอยด์ ซึ่งเป็นไปได้มากว่าโครงกระดูกเหล่านี้อาจจะเป็นผู้ที่มีเชื้อสายโปรตุเกสผสมกับคนพื้นเมืองซึ่งอาจจะมีทั้งชาวจีนและญวนรวมอยู่ด้วย
การวางท่าของโครงกระดูก การฝังศพของชาวคาทอลิกที่ปรากฏที่โบราณสถานซานเปโตรแห่งนี้ จะจัดวางท่าทางของศพในลักษณะแตกต่างกัน (ทั้งนี้จากการสอบถามผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกในปัจจุบันกล่าวว่าการจัดวางท่าทางของศพนั้นจะจัดวางในลักษณะที่สุภาพเพื่อแสดงถึงความเคารพ) ลักษณะการวางท่าทางของศพที่พบจะมีลักษณะดังต่อไปนี้

1.มือประสานกันที่บริเวณหน้าอก มือขวาทับมือซ้าย เข่าอยู่ห่างจากกัน แสดงว่าไม่ได้มีการมัด เข่าหรือเท้า เช่น โครงกระดูกที่ 4
2.มือประสานกันที่ท้องน้อย (ใกล้บริเวณเชิงกราน) มือทั้งสองชิดติดกันในลักษณะที่อาจเอานิ้วมือสอดประสานกันอันเป็นลักษณะที่แสดงความเคารพ เข่าทั้งสองอยู่ชิดติดกันแสดงว่าเท้าทั้งสองติดกัน หรือวางไขว้ทับกันด้วย แต่เท้าทั้งสองขาดหายไปในโครงกระดูกที่ 5
3.มือทั้งสองประสานกันที่ท้องน้อย (ใกล้บริเวณเชิงกราน) แต่เข่าและเท้าอยู่ห่างกัน เช่น ในโครงกระดูกที่ 37
4.มือทั้งสองวางประสานกันที่บริเวณเหนือท้องน้อยในลักษณะที่ข้อศอกเกือบตั้งฉาก เข่าและเท้าอยู่ห่างกัน เช่น โครงกระดูกที่ 38
5.มือขวาวางพาดบริเวณเหนือท้องน้อย ส่วนมือซ้ายจะวางพาดเฉียงลงมาบริเวณเหนือ เชิงกรานเล็กน้อย ลำตัวเอียงคล้ายวางตะแคงเข่าจะอยู่ในลักษณะย่อเล็กน้อย เช่น โครงกระดูก ที่ 39
6.มือวางประสานกันบริเวณท้องน้อยใกล้เชิงกราน มือขวาทับมือซ้าย เข่าห่างจากกัน แต่เท้าวางไขว้กันโดยเท้าขวาทับเท้าซ้าย เช่น โครงกระดูกที่ 40
7.มือทั้งสองวางอยู่บนหน้าอก โดยมือขวาวางอยู่เหนือมือซ้ายเล็กน้อย เข่าและเท้าทั้งสองอยู่ห่างจากกัน เช่น โครงกระดูกที่ 57
8.มือขวาวางพาดในลักษณะตั้งฉากบริเวณท้องน้อย มือซ้ายวางพาดขึ้นมาถึงบริเวณหน้าอก เช่น โครงกระดูกที่ 66

การนำสิ่งของใส่ฝังร่วมกับผู้ตาย


เหรียญรูปเคารพมีรูปพระแม่มารีและพระคริสต์ขณะทรงพระเยาว์



จากการขุดแต่งโครงกระดูกได้พบสิ่งของอยู่ร่วมกับโครงกระดูกด้วย ส่วนใหญ่ของที่พบร่วมกับโครงกระดูกจะเป็นของเคารพในศาสนา เช่น โครงกระดูกที่ 31 พบสายประคำคล้องคอผู้ตายอยู่ด้วย สายประคำนี้อาจทำด้วยกระดูกหรืองาช้าง โครงกระดูกที่ 59 พบสายประคำและเหรียญรูปเคารพในศาสนาอยู่ที่มือซ้ายซึ่งวางพาดลงมาที่บริเวณเชิงกรานในลักษณะที่สิ่งของทั้งสองนี้อยู่ในกำมือ คงเป็นลักษณะที่มีการนำเอาของนี้ยัดใส่ในมือของผู้ตายเพื่อแสดงว่าเป็นบุตรของพระเจ้า

โครงกระดูกที่ 64 พบสายประคำอยู่ที่มือซ้ายซึ่งวางพาดอยู่บริเวณเชิงกราน สายประคำนี้จะอยู่ในลักษณะที่ห้อยคล้องข้อมืออยู่
โครงกระดูกที่ 22 พบไม้กางเขนขนาดเล็กห้อยคอศพอยู่โดยอาจใช้สายเชือกก็อาจเป็นได้
โครงกระดูกที่ 85 พบเหรียญรูปเคารพในศาสนาอยู่ร่วมกับโครงกระดูกขณะโครงกระดูกที่ 38 พบตุ๊กตาเสียกบาลอยู่ร่วมกับโครงกระดูกด้วย

สรุป

การฝังศพของชาวคาทอลิกที่พบในการขุดแต่งโบราณสถานซานเปโตรนี้ จะพบว่ามีลักษณะการจัดวางท่าศพในลักษณะที่ต่างกันออกไป โดยส่วนใหญ่คำนึงถึงความสุภาพแสดงความเคารพเป็นสำคัญ อาจเป็นได้ว่าการทำพิธีบางอย่างอาจนำเอาพิธีของศาสนาอื่นที่ชาวพื้นเมืองที่นี่ได้กระทำกันอยู่แล้ว เมื่อหันมานับถือศาสนาคริสต์ ก็ยังติดพิธีกรรมบางอย่างจากศาสนาเดิมอยู่มาใช้ก็เป็นได้ เช่น การมัดตราสังศพ เป็นต้น ส่วนลักษณะท่าทางในการจัดวางศพนั้น เป็นไปได้ว่าอาจมีการเคลื่อนจากเดิมบ้าง ทั้งนี้เพราะโครงกระดูกอาจมีการเกร็งหรือคลายลงจากลักษณะเดิมที่จัดไว้ได้ แต่ทั้งนี้การวิเคราะห์อย่างละเอียดจะสามารถให้ความกระจ่างแก่เราต่อไป

วันจันทร์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2553

โบราณสถานในพื้นที่ชุมชนโปรตุเกสด้านใต้ของเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา

โดย พิทยะ ศรีวัฒนสาร

ภาพการลงเบ็ดบนโป๊ะท่าน้ำหน้าบ้านโปรตุเกส

โบราณสถานในเขตชุมชนโปรตุเกสด้านใต้ของเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา จำแนกเป็น โบราณสถานเนื่องในศาสนาคริสต์และโบราณสถานเนื่องในศาสนาพุทธ
บันทึกการเดินทางของบาทหลวงกวีย์ ตาชารด์(Le Reverend Père Qui Tachard ) ครั้งที่ 2(ค.ศ.1687-1688) ตีพิมพ์ค.ศ.1689 กล่าวถึง การที่เจ้าพระยาวิไชเยนทร์(Constantine Phalcon)ได้รับพระราชทานที่ดินแปลงใหญ่ในเมืองพระนครศรีอยุธยาเพื่อสร้างโรงเรียนซึ่งเรียกในภาษาฝรั่งเศสว่า “Collège Constantinien”[1] และได้รับพระบรมราชานุญาตให้เร่งสร้าง “บ้านหลังงามกับโบสถ์ฝรั่ง” หลังหนึ่งแก่คณะบาทหลวงเยซูอิตชาวโปรตุเกส กับ “โบสถ์ฝรั่งอันงดงาม” หลังหนึ่งแก่บาทหลวงคณะ “โดมินิแกง”ชาติเดียวกัน[2]
บาทหลวงมานูเอล ไตไซรา นักประวัติศาสตร์ชาวโปรตุเกสระบุว่า บาทหลวงชาวโปรตุเกสที่เดินทางเข้ามาเผยแพร่ศาสนาในกรุงศรีอยุธยาจำแนกออกเป็น 4 คณะ เรียกตามสำเนียงโปรตุเกส ได้แก่ คณะดูมินิกานูช หรือ โดมินิกัน(Missionários Dominicanos)คณะฟรานซิสกานูช หรือ ฟรานซิสกัน (Missionários Franciscanos ) คณะอากุสติญูช หรือ ออกัสติน(Missionários Agostinhos ) และคณะเยซูอีตาช หรือ เยซูอิต(Missionários Jesuítas )[3]
จากข้อมูลการสำรวจและขึ้นทะเบียนโบราณสถานของกรมศิลปากร ทำให้กล่าวกันว่า โบราณสถานในพื้นที่ของชุมชนโปรตุเกสประกอบด้วยซากโบสถ์ 3 แห่ง ดังนี้



อาคารจัดแสดงโครงกระดูกที่โบสถ์ซานเปโตร
โบราณสถานแห่งแรก คือ โบราณสถานโบสถ์ซานเปโตร[4]ของบาทหลวงนิกายคณะโดมินิกัน ตั้งอยู่ที่บริเวณจุดกึ่งกลางหมู่บ้าน มีชื่อเรียกในแผนที่ฝรั่งเศสว่า “The Portuguese Jacobins”[5] ปัจจุบันมีชาวไทยคาทอลิกเชื้อสายเวียดนามตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้กับโบราณสถานโบสถ์ซานเปโตรมาตั้งแต่สมัย รัชกาลที่5 และบางครอบครัวก็ระบุว่าเป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษชาวโปรตุเกสแต่ก็ไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือมายืนยัน [6]
สำหรับโบราณสถานแห่งที่สองนั้น นักโบราณคดีของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาสัณนิษฐานว่า คือ โบสถ์ซานฟรานซิสกันซึ่งตั้งอยู่ทางด้านเหนือของหมู่บ้านโปรตุเกสในเขตที่ดินมีโฉนดของเอกชนรายหนึ่ง อย่างไรก็ดี ศาสตราจารย์ ดร.ผาสุข อินทราวุธตั้งข้อสังเกตว่า อาจไม่มีการสร้างโบสถ์ของนิกายฟรานซิสกันในเมืองพระนครศรีอยุธยา ซึ่งจากการศึกษาก็ได้พบว่านิกายฟรานสกันเป็นพวกที่เคร่งครัดศาสนา นิยมการดำรงชีพแบบสันโดษ เสียสละและยากไร้ตามแบบอย่างนักบุญฟรานซิส(St. Francis Xavier) ผู้ก่อตั้งนิกายในคริสต์ศตวรรษที่13[7]
หลักฐานจดหมายเหตุการเดินทางของบาทหลวงตาชารด์เล่ม1-3 ฉบับลายมือเขียนที่คัดมาจากต่างประเทศ ซึ่งกรมศิลปากรจัดพิมพ์เมื่อพ।ศ.2521 ยกสำเนาบันทึกกราบบังคมทูลพระเจ้าหลุยส์ที่14 ว่าด้วยเรื่องศาสนาของคอนสแตนติน ฟอลคอน(Constantin Phalcon) ยืนยันข้อเสนอในงานค้นคว้าของบาทหลวงไตไซราว่า ในสยามขณะนั้นมีบาทหลวงศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก เคลื่อนไหวอยู่อย่างน้อย 4 คณะ คือ

“...พระซึ่งเป็นสาวกนักบุญดอมินิก สาวกของนักบุญฟรังซัวร์ ..สาวกของ
นักบุญออกัสแต็ง....บาทหลวงเยซูอิต...”[8]

ฟอลคอนเน้นว่าพวกมิชชันนารีอาศัยอยู่ในที่พำนัก 3 แห่งในกรุงสยาม[9] และมีวัดของชาวโปรตุเกสอยู่ 2 วัดประกอบด้วยบุคคลจำนวนมากกว่าสี่พันคน วัดทั้งสองแห่งนี้อยู่ภายใต้การปกครองของสังฆราชแห่งเมืองมะละกาและทางการโปรตุเกสแห่งอินเดียที่เมืองกัวได้ประกาศให้บาทหลวงโปรตุเกสและชุมชนชาวโปรตุเกสแห่งราชอาณาจักรสยามยอมรับอำนาจการปกครองทางจิตใจจาก “พระผู้ปกครองมิซซัง(Vicaires Apostoliques)ที่ได้เดินทางผ่านมาจากอินเดียโดยมิได้ผ่านประเทศโปรตุเกส”[10] ซึ่งฟอลคอนระบุว่า

“พวกพระหรือพวกนักบวชซึ่งเป็นผู้ควบคุมชาวโปรตุเกสในอินเดียนั้นปฏิบัติตนเหมือนกันหมดทุกหนทุกแห่งซึ่งก่อความไม่พอใจให้แก่ชาวโปรตุเกส...”[11]

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้กษัตริย์โปรตุเกสจัดส่งเอกอัครราชทูตมาร้องทุกข์ยังราชสำนักสยามเพื่อ

“ร้องทุกข์เรื่องที่สาวกของพระเยซูเหล่านั้นปฏิบัติไม่ดีต่อชาวโปรตุเกสซึ่งอยู่ในความอารักขาขององค์พระมหากษัตริย์ และเพื่อขอร้องให้พระองค์ทรงเอาพระทัยใส่จัดการหาทางป้องกันเพื่อชาวโปรตุเกสได้มีความเป็นอยู่สุขสบายปราศจากความเดือดร้อนตลอดไป”[12]

สำนักพระสารสาส์นซึ่งเป็นองค์กรเผยแพร่พระคริสต์ศาสนาในประเทศไทยระบุในหนังสือ “ประวัติพระศาสนจักรสากลและศาสนจักรในประเทศไทย” ว่า ในรัชสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา(พ.ศ.2112-2133) บาทหลวงคณะฟรานซิสกัน 2 รูป คือ บาทหลวงฟรานซิส ดึ มัลทิลดา(Francis de Maltilda)กับบาทหลวงดิเอกู ดึ ชิมิเนซ(Diago de Simenez) เดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาเพื่อเผยแพร่ศาสนาคริสต์[13]

บทความชื่อ “มิชชันนารีคาทอลิกพวกแรกที่เข้ามาในประเทศไทย”ของบาทหลวงรอคโค ลีออติโล(Rocco Leotilo ชาวอิตาเลียน)[14] ระบุว่าเดิมเชื่อว่าคณะฟรานซิสกันเข้ามาในสยามครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1584-1585 (พ.ศ.2127-2128) แต่จากการศึกษาเอกสารภาษาสเปนจำนวนหนึ่ง(Archivo Ibero-Amennicano )ทำให้เชื่อว่า บาทหลวงคณะฟรานซิสกันเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาครั้งแรกเมื่อพ.ศ.2125 และปีสุดท้ายที่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับบาทหลวงคณะฟรานซิสกันในกรุงศรีอยุธยาคือพ.ศ.2298[15] อันเป็นช่วงปลายรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ(พ।ศ.2276-2301) และการที่แผนที่ในจดหมายเหตุลาลูแบร์ไม่ระบุตำแหน่งโบสถ์ของบาทหลวงคณะฟรานซิสกันนั้นอาจจะมีสาเหตุสอดคล้องกับข้อคิดเห็นข้างต้นก็ได้

โบราณสถานแห่งที่สาม คือ โบสถ์ซานเปาโลของนิกายเยซูอิต โบราณสถานแห่งนี้ปรากฏชื่อเรียกในแผนที่ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือจดหมายเหตุลาลูแบร์ฉบับสมบูรณ์ว่า “The Portuguese Jesuites”
นอกจากเนินโบราณสถานที่เกี่ยวข้องกับชาวโบรตุเกสโดยตรง 3 แห่งแล้ว ยังปรากฏร่องรอยของเนินโบราณสถานซึ่งเป็นปรากฏอยู่ในภาพถ่ายดาวเทียมระบุว่าเป็นวัดในพุทธศาสนา 4 แห่ง แห่งแรก คือ วัดพญากง ภาพจากดาวเทียมระบุตำแหน่งตรงข้ามกับโบสถ์นักบุญฟรานซิสกัน แห่งที่2 คือ วัดโพธิ์ซุ้มอยู่เยื้องจากวัดพญากงลงมาทางตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ 350 เมตร และอยู่ห่างจากโบสถ์นักบุญโดมินิกไปทางตะวันตกเฉียงเหนือระยะทางใกล้เคียงกัน ในภาพถ่ายจากดาวเทียมระบุคลาดเคลื่อนว่า โบสถ์นักบุญโดมินิก เป็นโบสถ์เยซูอิตนิกาย แห่งที่3 คือ วัดพญาพาน ตั้งอยู่ระนาบใกล้เคียงกับโบสถ์ซานโดมินิกัน โดยตั้งอยู่ห่างกันประมาณ 300 เมตร แห่งที่4 คือวัดโพธิ์ชัยร้าง แต่เดิมเข้าใจว่าเป็นโบสถ์นิกายเยซูอิต และสันนิษฐานว่าโบสถ์เยซูอิตคงจะตั้งอยู่ไม่ไกลจากบริเวณนี้เท่าใดนัก



โคกวัดโพธิ์ชัย(ร้าง)ซึ่งเคยเข้าใจกันว่าเป็นที่ตั้งของโบสถ์เยซูอิต


[1] บางทีก็แปล(เกินเลย)ว่า “วิทยาลัยคอนสแตนติน”
[2] บาทหลวงกวีย์ ตาชารด์, จดหมายเหตุการเดินทางครั้งที่2ของบาทหลวงตาชารด์ ค.ศ.1687-1688(กรุงเทพฯ: คุรุสภา, ลาดพร้าว), หน้า186
[3] Teixeira, P. Manuel, op. cit. , p.337-344
[4] ชื่อโบสถ์แห่งนี้ตั้งใหม่โดยชาวคาทอลิกเชื้อสายญวนที่อพยพเข้ามาอาศัยในบริเวณหมู่บ้านโปรตุเกสสมัยรัชกาลที่5
[5] ตีพิมพ์ในจดหมายเหตุลาลูแบร์ฉบับสมบูรณ์ เล่ม 1 แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร
[6] ฉัตราภรณ์ จินดาเดช, “ชุมชนชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกสริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา: สายสัมพันธ์จากวันวานถึงวันนี้” เอกสารประกอบการสัมมนาเรื่อง ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมระหว่างไทยกับโปรตุเกส , วันที่ 23-24 มิถุนายน 2548 ณ ห้องประชุมหอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี, เอกสารถ่ายสำเนา, หน้า 3
[7] The Columbia Encyclopedia (New York, Columbia University Press, 1963), p. 756
[8] กรมศิลปากร, จดหมายเหตุการเดินทางของบาทหลวงตาชารด์เล่ม1-3 ฉบับลายมือเขียนที่คัดมาจากต่างประเทศ ซึ่งกรมศิลปากรจัดพิมพ์เมื่อพ.ศ.2521, หน้า40-41
[9] กรมศิลปากร, เรื่องเดิม, หน้า55
[10] กรมศิลปากร, เรื่องเดิม, หน้า52
[11] กรมศิลปากร, เรื่องเดิม, หน้า52
[12] กรมศิลปากร, เรื่องเดิม, หน้า 53
[13] สำนักพระสารสาส์น, ประวัติพระศาสนจักรสากลและศาสนจักรในประเทศไทย, (พระนคร: ไทยหัตถ์การพิมพ์, 2510), หน้า196
[14] บาทหลวงสุรชัย ชุ่มศรีพันธุ์, “การเข้ามาของพวกโปรตุเกสกับศาสนาคริสต์” สรุปการสัมมนาทางวิชาการประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมระหว่างไทย-โปรตุเกส, สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม พ.ศ. 2548, หน้า191
[15] บาทหลวงสุรชัย ชุ่มศรีพันธุ์, เรื่องเดิม, 200

กำเนิดชุมชนโปรตุเกสและวิถีชีวิตท่ามกลางชุมชนนานาชาติ

โดย พิทยะ ศรีวัฒนสาร ปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์ ระบุถึงเดินทางเข้ามากรุงศรีอยุธยาของดูอาร์ตึ คูเอลญูในพ.ศ.2059(ค.ศ.1516) สอดคล้องกับนักวิชาการอื่นซึ่งอ้างตามพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่า ชุมชนโปรตุเกสก่อตัวขึ้นในปีพ.ศ.2083(ค.ศ.1540) กล่าวคือ “ในแผ่นดินสมเด็จพระไชยราชาธิราช มีฝรั่งโปรตุเกสเข้ามาหากินที่กรุงศรีอยุธยาประมาณ 130 คน เมื่อสมเด็จพระไชยราชาธิราชจะเสด็จยกกองทัพหลวงไปปรบพม่าที่เมืองเชียงกราน ทรงเกณฑ์ชาวโปรตุเกสเป็นทหารรักษาพระองค์ 120 คน พวกโปรตุเกสได้รบพุ่งพวกข้าศึกแข็งแรง ครั้นชนะศึกมีความชอบ สมเด็จพระไชยราชาธิราชจึงพระราชทานอนุญาตให้พวกโปรตุเกสเข้ามาตั้งภูมิลำเนาอยู่ในพระราชอาณาจักร และทำวัดวาตามลัทธิศาสนาของตนได้ดังปรารถนา” ขณะที่พิทยะ ศรีวัฒนสาร ในวิทยานิพนธ์เรื่อง “ชุมชนโปรตุเกสในสมัยกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.2059-2310(ค.ศ.1516-1767)” เสนอว่า ชุมชนโปรตุเกสเริ่มก่อตัวขึ้นอย่างน้อยในปีพ.ศ.2059(ค.ศ.1516) โดยยึดหลักฐานในสัญญาทางพระราชไมตรีระหว่างกรุงศรีอยุธยากับโปรตุเกสพ.ศ.2059(ค.ศ.1516) ซึ่งระบุถึงการอนุญาตให้ชาวโปรตุเกสสามารถเดินทางเข้ามาค้าขาย ตั้งบ้านเรือนและปฏิบัติศาสนกิจในกรุงศรีอยุธยา แลกเปลี่ยนกับการที่ทางการโปรตุเกสดำเนินการจัดหาปืนและกระสุนดินดำแก่กรุงศรีอยุธยา และอนุญาตให้ชาวสยามเดินทางไปค้าขายที่มะละกา ในที่นี้จึงถือว่า พ.ศ.2059(ค.ศ.1516)เป็นจุดเริ่มต้นอย่างเป็นทางการครั้งแรกของชุมชนโปรตุเกสในเมืองพระนครศรีอยุธยา

“แผนที่แสดงชุมชนหลากหลายเชื้อชาติที่กรุงศรีอยุธยาค.ศ.1688(พ.ศ.2231)”ของลาลูแบร์เอื้อเฟื้อจากhttp://www.southeastasianarchaeology.com ขอขอบคุณอย่างยิ่ง จากหลักฐานแผนที่ซึ่งเขียนโดยชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาหลายฉบับ อาทิ แผนที่อยุธยาของบาทหลวงคูร์โตแลง(Père Courtaulin)ชาวฝรั่งเศสที่เข้ามากรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ แสดงให้เห็นว่าค่ายโปรตุเกสในอดีตมีพื้นที่คล้ายรูปสามเหลี่ยม แต่การสำรวจเพื่อทำแผนผังประกอบการขุดแต่งโบราณสถานโบสถ์ซานเปโตรในปีพ.ศ.2527(ค.ศ.1983) แสดงลักษณะทางกายภาพของหมู่บ้านโปรตุเกสคล้ายรูปฝักมะขามตามสภาพการตั้งชุมชนปัจจุบันที่ขนานไปตามริมน้ำ และคิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 500 ไร่ โดยมีขนาดกว้างประมาณ 170 เมตร ยาวประมาณ 2000 เมตร และมีขอบเขตพื้นที่ดังนี้ ทิศเหนือ จรดวัดใหม่บางกระจะ ทิศตะวันออก จรดแม่น้ำเจ้าพระยา มีอนุสรณ์สถานหมู่บ้านญี่ปุ่นตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามเยื้องไปทางตะวันออกเฉียงใต้ ทิศใต้ จรดบ้านสะพานขาวอันเป็นที่ตั้งของชุมชนชาวไทยมุสลิม ทิศตะวันตก เคยมีสภาพเป็นท้องนามีคูน้ำคั่น ปัจจุบันมีสุเหร่า สนามฟุตบอลและชุม ชนมุสลิมขยายตัวหนาแน่นมากขึ้นเรื่อยๆริมถนนสายวัดไก่เตี้ย-สะพานขาว “แผนที่แสดงชุมชนหลากหลายเชื้อชาติที่กรุงศรีอยุธยา ค.ศ.1688(พ.ศ.2231)” ซึ่งตีพิมพ์ในจดหมายเหตุของมองซิเออร์ เดอ ลา ลูแบร์ทำให้แลเห็นชัดเจนว่า ในสมัยอยุธยาชุมชนโปรตุเกสตั้งอยู่ท่ามกลางชุมชนนานาชาติ ได้แก่ ชุมชนจีน(ซึ่งมีทั้งในเกาะเมืองและนอกเกาะเมือง) ชุมชนโคชินจีน(เวียดนาม) ชุมชนมาเลย์ ชุมชนมากัสซาร์และชุมชนพะโค ส่วนทางฟากตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาประกอบด้วยชุมชนอังกฤษ ชุมชนฮอลันดา ชุมชนญี่ปุ่นและชุมชนจีนไล่ลงมาตามลำดับ ซึ่งรวมถึงชุมชนชาวสยามซึ่งเป็นพลเมืองส่วนใหญ่ในเมืองพระนครศรีอยุธยา

จดหมายเหตุของมองซิเออร์ เดอ ลา ลูแบร์ (M. de La Loubère) เรียกชุมชนโปรตุเกสว่า “ค่ายโปรตุเกส-Camp of Portuguese” ซึ่งตรงกับภาษามาเลย์ว่า “Campong” และธีรวัติ ณ ป้อมเพชรใช้ว่า“Campo” แปลว่า “บ้าน” หรือ “หมู่บ้าน” ในภาษาสยาม ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่าคำดังกล่าวอาจสัมพันธ์กับคำว่า “Camp- ค่าย” และในคำประกาศเกียรติคุณของชาวโปรตุเกสที่ร่วมศึกพระยาตากข้บไล่ทหารพม่าออกจากสยามเมื่อพ.ศ.2310(ค.ศ.1767) เรียกที่ตั้งของชุมชนโปรตุเกสที่กรุงธนบุรีว่า “ Bandel หรือ Bamdel dos Portuguezes” แปลว่า “บ้านของชาวโปรตุเกส” อันอาจสะท้อนให้เห็นถึงปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมก่อนหน้านั้นได้เช่นกัน

ผู้ปกครองชาวโปรตุเกสในเมืองพระนครศรีอยุธยามีตำแหน่งเป็นกะปิเตา-มูร์(Capitao-mor) ซึ่งในเอกสารฝ่ายสยามเรียกว่า นายอำเภอโปรตุเกส อันเป็นฐานะเช่นเดียวกับนายอำเภอจีนหรือนายอำเภอญี่ปุ่นหรือนายอำเภออังกฤษ สังฆราชปัลเลอร์กัวอธิบายว่า "เป็นตำแหน่งฝ่ายนครบาล ควบคุมราษฎรชั่วเขตหมู่บ้านหนึ่ง"(ปชพ.ล.๑๓น.๑๗๗) และเป็นตำแหน่งหัวหน้าคนต่างชาติในสยามด้วย โดยนายอำเภอจะทำหน้าที่คล้ายกงศุลดูแลผลประโยชน์ของชนชาติตน(ปชพ.ล.๑๓น.๑๘๑) ศิลปะนันบัน(Nan Ban Art) หรือ ศิลปะที่ได้รับอิทธิพลจากคนเถื่อนแห่งแดนใต้, 1549-1614)ของญี่ปุ่นแสดงการเดินทางอย่างโอ่อ่าของกะปิเตา-มูร์โปรตุเกสผ่านย่านเศรษฐกิจในเมือง

แผนที่ของกูร์โตแลง(JEAN DE COURTAULIN DE MAGUELLON,1686) อ้างจาก www.ayutthaya history research.com ขอขอบคุณเป็นอย่างยิ่ง

แผนที่ของกูร์โตแลงระบุข้อความว่า "quartier des Portugais" แปลว่า "อำเภอโปรตุเกส" อย่างชัดเจน เป็นการยืนยันผ่านเอกสารแผนที่ฉบับนี้ว่า ทางการสยามยอมรับว่า ค่ายโปรตุเกสมีฐานะเป็นอำเภอ(ภาพจากสบายดอทคอม ขอขอบคุณเป็นอย่างยิ่ง)

หมู่บ้านโปรตุเกสหรือค่ายโปรตุเกส อันเป็นที่ตั้งของชุมชนชาวโปรตุเกสและคนเชื้อสายโปรตุเกสในสมัยอยุธยา มีชื่อเรียกในพระราชพงศาวดารว่า “บ้านดิน”[1] ตั้งอยู่ที่ประมาณพิกัด 47 P.P.R. 844698 หรือประมาณละติจูดที่ 14 องศา 19 ลิบดา 38 พิลิบดาเหนือ ลองติจูดที่ 100 องศา 34 ลิบดา 30 พิลิบดาตะวันออก[2] ที่ตั้งปัจจุบันมีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มทางตอนใต้นอกเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา ทิศตะวันออกฝั่งด้านตรงข้ามของแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นที่ตั้งของค่ายญี่ปุ่นหรืออนุสรณ์สถานหมู่บ้านญี่ปุ่น ทิศเหนือจรดกับวัดใหม่บางกระจะมีคูน้ำตัดจากแม่น้ำเจ้าพระยาไปเชื่อมกับคูน้ำทางทิศตะวันตก ทิศใต้เป็นที่ตั้งของชุมชนมุสลิมบ้านสะพานขาว มีคูน้ำคั่นแบ่งเขตชุมชน

หลักฐานของลาลูแบร์ และแกมเฟอร์ ระบุตรงกันว่า ชาวโปรตุเกสหรือชาวต่างชาติอื่นๆ เรียกหมู่บ้านของตนว่า “ค่าย” หรือ “Camp”[3] ในภาษาอังกฤษ และฝรั่งเศส ตรงกับภาษาโปรตุเกสว่า “Campo”[4] บาทหลวงมานูเอล ไตไซรา เรียกชุมชนโปรตุเกสว่า "Campo Português(ค่ายโปรตุเกส)" หรือซึ่งตรงกับความหมายในภาษามะลายูว่า "Bandel Português" คำว่า "bandel" มาจาก "bandar" ในภาษามะลายู แปลว่า "porto - ท่าเรือ , อ่าว" หรือ ซึ่งตรงกับคำว่า"cais - ท่าเทียบเรือ , สะพานหินเทียบเรือ" ในภาษาโปรตุเกส บาทหลวงไตไซราระบุว่า ในมะละกายังมีสถานที่ชื่อ บันดา ฮิลีร์ (Banda Hilir) ปรากฏอยู่ เป็นหลักฐานยืนยันที่มาของคำว่า "Banda" ในภาษามะลายู

"ค่าย โปรตุเกส - bandel / bandar português" มีหัวหน้าเรียกว่า "กะปิเตา มูร์ - capitã mor"[5] "กะปิเตา มูร์" หมายถึงกัปตันหมู่(บ้าน) หรือหัวหน้าหมู่ (บ้าน) ซึ่งก็ตรงกับคำอธิบายของบาทหลวงไตไซรา ที่ชี้ว่ากะปิเตาของบันดาถูกเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ชาบันดา (Xabanda) คำ "ชา(Xa) แปลว่า Capitao " บันดา(banda) แปลว่า porto"[6] ตรงกับความหมายในภาษาไทยว่า "นายท่า(เรือ)" บาทหลวงไตไซราระบุว่าชาวสยามเรียกชุมชนค่ายโปรตุเกสว่า "บ้านฝรั่ง" คำว่าฝรั่งนี้เดิมเป็นคำเรียกที่ชาวเอเชียทั่วไปชาวโปรตุเกสมาก่อน เมื่อชาวคริสต์ชนชาติอื่นเดินทางเข้ามาในภูมิภาคตะวันออก จึงถูกเรียกรวมๆกันว่า Franchi , Paranghi , Feranghi , Firingi , Fereng หรือ Ferang ในจีนก็มีคำเรียกชาวคริสต์ว่า Fulanki หรือ Fulanchi[7] เช่นกัน [1]หอสมุดวชิรญาณ, ประชุมพงศาวดารภาคที่ 27 (พระนคร:โสภณพิพรรฒนากร, 2465), หน้า7. [2] กรมแผนที่ทหาร, จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แผนที่จากภาพถ่ายทางอากาศ ระวาง 5137 – IV, ลำดับชุด L 7017 พิมพ์ครั้งที่1 RTSD. [3] ชิมอง เดอ ลาลูแบร์, จดหมายเหตุลาลูแบร์ ฉบับสมบูรณ์ เล่ม 1 , หน้า 499 และ Kaempfer, The History of Japan together with a Description of the Kingdom of Siam 1690-92 , Vol. I-III ( New York : AMS Press Inc, 1971), P.36 [4] Mike Harland, The Collins Portuguese Pocket Dictionary , p.134 [5] P. Manuel Teixeira, Portugal na Tailandia ( Macau : Imprensa nacional de Macau, 1983), p.63. [6] Ibid., p.63. [7] Ibid., p.63.

สัมพันธไมตรีระหว่างสยามกับโปรตุเกสในสมัยอยุธยา



ภาพแผนผังเมืองมะละกาแสดงที่ตั้งป้อม โบสถ์ กำแพงป้อมโดยรอบ เอื้อเฟื้อจากWikipedia สารานุกรมเสรี ขอขอบคุณอย่างยิ่ง



ภาพการโจมตีมะละกาของกองเรือโปรตุเกส พ.ศ.2054(อาจารย์ ปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์เอื้อเฟื้อภาพถ่าย ขอขอบคุณอย่างยิ่ง)


โปรตุเกสเป็นชาวตะวันตกชาติแรกที่เดินทางเข้ามาติดต่อกับกรุงศรีอยุธยาขณะปิดล้อมเมืองท่ามะละกาในพ.ศ.2054(ค.ศ.1511) เนื่องจากอัลฟองซู ดึ อัลบูแกร์กึทราบว่า มะละกาเคยเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยาและมีสถานะเป็นคู่สงครามกัน เขาทราบว่าการค้าขายชายฝั่งระหว่างกรุงศรีอยุธยากับพ่อค้าจีนและอินเดียให้ผลตอบแทนสูงมาก จึงตัดสินใจส่งทูตเดินทางเข้ามายังอาณาจักรสยาม



ภาพโบสถ์โปรตุเกสที่มะละกา(อาจารย์ ปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์เอื้อเฟื้อภาพถ่าย ขอขอบคุณอย่างยิ่ง)

ทูตโปรตุเกสคนแรก คือ ดูอาร์ตึ แฟร์นันเดช (Duarte Fernandes) ซึ่งมีเป้าหมาย คือ การเจริญทางพระราชไมตรีกับราชสำนักสยามในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่2 (พ.ศ.2034-2072 /ค.ศ.1491-1529) และการเสนอสิทธิพิเศษแก่กรุงศรีอยุธยาหากสามารถยึดครองมะละกาได้ หลังจากนั้นประมาณ 1 เดือน โปรตุเกสก็ยึดมะละกาสำเร็จ


แผนที่เกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา "Judia, De Hoofd Stad de Siam-ยูทยา/ ยูเดีย เมืองหลักของสยาม" โดย ฟรังซัวร์ วาเลนทีน(ขอขอบคุณ http:xchange.teenee.com อย่างยิ่ง)


ในพ.ศ.2055(ค.ศ.1512) อัลฟองซู ดึ อัลบูแกร์กึส่งอันตอนิอู ดึ มิรันดา ดึ อาซึเวดู (Antonio de Miranda de Azevedo) เป็นทูตโปรตุเกสคนที่สอง โดยมีมานูเอล ฟรากูซู (Manuel Fragoso)ร่วมเดินทางมาด้วย ฟรากูซูพำนักอยู่ในกรุงศรีอยุธยาประมาณ 2 ปี เขาบันทึกพิกัดที่ตั้งของกรุงศรีอยุธยาและเมืองท่าต่างๆ รวมทั้งสินค้า การแต่งกาย ขนบธรรมประเพณีของชาวสยามด้วย

วัตถุประสงค์ของคณะทูตโปรตุเกสชุดที่สอง คือ การเจรจาให้กรุงศรีอยุธยาส่งเรือไปค้าขายที่มะละกา โดยโปรตุเกสจะให้ความช่วยเหลือด้านการทหารและกองเรือแก่กรุงศรีอยุธยาหากตกอยู่ในสถานการณ์จำเป็น

ในพ.ศ.2059(ค.ศ.1516) อาไลซู ดึ เมเนซึช (Aleixo de Meneses)กัปตันแห่งมะละกา ได้แต่งตั้งดูอารตึ คูเอลญู(Duarte Coelho)เป็นทูตคนที่สามเดินทางมายังกรุงศรีอยุธยา ทำให้มีการทำสัญญาทางพระราชไมตรีระหว่างโปรตุเกสและกรุงศรีอยุธยา สัญญาดังกล่าวระบุถึงการอนุญาตให้มีการตั้งถิ่นฐานของพ่อค้าโปรตุเกสในเมืองพระนครศรีอยุธยาด้วย

ปีที่คูเอลยูเดินทางเข้ามาค่อนข้างมีปัญหา ปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์และพิรักษ์ ชวนะเกรียงไกร ระบุว่าคูเอลยูเดินทางเข้ามาพ.ศ.2059(ค.ศ.1516) บทความของพันตรี จาชินตู โจเซ ดู นัซซิเมนตู มูอาร์ระบุว่าคูแอลญูเข้ามาพ.ศ.2060 ขณะที่บทความของนายแพทย์เจากิง ดึ กัมปุส กงศุลโปรตุเกสก่อนยุคสงครามโลกครั้งที่2 ระบุว่า โคเอลญูเดินทางเข้ามาพ.ศ.2061(ค.ศ.1518)

ประเด็นข้างต้น บทความของรอง ศยามานนท์และคณะกล่าวว่า ในปีพ.ศ.2062(ค.ศ.1519) คูเอลญูสามารถทำสัญญาทางพระราชไมตรีและการค้ากับกรุงศรีอยุธยาได้สำเร็จอย่างงดงาม โดยโปรตุเกสจะจัดหาปืนและกระสุนดินดำให้แก่สยาม และยินยอมให้ชาวสยามไปตั้งหลักแหล่งที่มะละกาได้ ส่วนสยามก็จะอำนวยประโยชน์ด้านการค้าและสิทธิพิเศษต่างๆแก่ชาวโปรตุเกสในเมืองพระนครศรีอยุธยา อีกทั้งยังอนุญาตให้ชาวโปรตุเกสเข้ามาตั้งถิ่นฐานและปฏิบัติศาสนกิจในกรุงศรีอยุธยาด้วย

ในที่นี้ผู้เขียนจะกำหนดปีการตั้งถิ่นฐานของชาวโปรตุเกสอย่างเป็นทางการครั้งแรกในเมืองพระนครศรีอยุธยาตามผลการค้นคว้าของสมจัย อนุมานราชธนซึ่งระบุว่า การเข้ามาเจริญพระราชไมตรีของโคเอลญูในปีพ.ศ.2059(ค.ศ.1516) ส่งผลให้มีการตั้งถิ่นฐานของชุมชนพ่อค้าชาวโปรตุเกสขึ้นตามสัญญาทางการค้าและทางพระราชไมตรีระหว่างกรุงศรีอยุธยากับโปรตุเกสข้างต้นเช่นเดียวกับที่มีการตั้งสถานีการค้าที่เมืองปัตตานีของมานูเอล ฟัลเกา (Manuel Falcão)

หลังจากนั้นเกือบ20ปีพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาอ้างบันทึกการเดินทางของแฟร์เนา เมนดึช ปินตู แล้วระบุชัดเจนมากขึ้นถึงการพระราชทานที่ดินและสิทธิการปฏิบัติศาสนกิจแก่ทหารรักษาพระองค์ชาวโปรตุเกส จากบทบาทการเข้าร่วมรบศึกเชียงกรานในรัชสมัยสมเด็จพระไชยราชา

การขยายอิทธิพลของโปรตุเกสในเอเชียกับการปักหมุดอำนาจที่มะละกาก่อนเดินทางมาสยาม

โดย พิทยะ ศรีวัฒนสาร

ในพ.ศ.2052(ค.ศ.1509) กษัตริย์มานูเอลที่1(King Dom Manuel 1) ทรงแต่งตั้งอัลฟองซู ดึ อัลบูแกร์กึ (Alfonso de Albouquerque)เป็นผู้สำเร็จราชการโปรตุเกสแห่งอินเดีย เขาจึงริเริ่มนโยบายการยึดครองดินแดนเพื่อสร้างเมืองท่าป้อมปราการควบคุมเส้นทางการค้าในเอเชีย จุดแรกที่สามารถยึดได้ คือ หมู่เกาะโซโครตาส์(Socrotas) ใช้ควบคุมการค้าในทะเลแดง ต่อมาสามารถยึดเมืองกัว(Goa)เป็นศูนย์กลางการค้าบนชายฝั่งตะวันตกของอินเดีย พ.ศ.2053 (ค.ศ.1510) และยึดครองมะละกาได้พ.ศ.2054(ค.ศ.1511)



กษัตริย์มานูเอลที่๑ เอื้อภาพจาก Wikipedea สารานุกรมเสรี, ขอขอบคุณอย่างยิ่ง

มะละกาเป็นเมืองท่าปลอดภัย ไร้คลื่นลม บราซ ดึ อัลบูแกร์กึ(Braz de Albouqueque) บุตรชายของอัลฟองซู ดึ อัลบูแกร์กึบันทึกว่า มะละกาเป็นตลาดเครื่องเทศและเป็นศูนย์กลางการรับส่งสินค้าระหว่างจีนกับอินเดีย เป็นแหล่งรวบรวมสินค้านานาชนิดจากโลกตะวันออกและโลกตะวันตก ทุกๆปีจะมีเรือสินค้าเดินทางไปเยือน อาทิ เรือจากแหลมคาบานา กาลิกัต อาเด็ม เมกกะ เซระ โคโรมันเดล เบงกอล จีน ชวาและพะโค


อัลฟองซู ดึ อัลบูแกร์กึ, เอื้อภาพจาก Wikipedea สารานุกรมเสรี, ขอขอบคุณอย่างยิ่ง

สินค้าสำคัญที่มะละกา จำแนกออกเป็น 11 แหล่งที่มาดังนี้

1)สินค้าจากอินซูลินเดีย (Insulindia หรือหมู่เกาะอินเดียตะวันออก) ได้แก่ กานพลู(cloves)ของหมู่เกาะโมลุกกะ จันเทศ(nutmeg) ไม้จันทร์(sandalwood)การบูร(camphor)ของเกาะติมอร์ ทองคำและพริกไทของเกาะสุมาตรา อาหารและพริกไทของเกาะชวา ดีบุกและทองคำของมลายา
2)สินค้าจากมะละกาไปยังอินซูลินเดีย ได้แก่ เสื้อผ้า
3)สินค้าจากมะละกาไปเมืองแคมเบย์ (Cambayเมืองท่าบนชายฝั่งของแคว้นกุชราต) ได้แก่ เครื่องเทศ ไม้ฝาง เครื่องถ้วยชาม
4)สินค้าจากเมืองแคมเบย์ไปยังมะละกา ได้แก่ เสื้อผ้า อาวุธ น้ำหอม ชาด(vermillion)
5) สินค้าจากมะละกาไปยังโคโรมันเดล(Coromandel) ได้แก่ สิ่งของเครื่องใช้จากจีน
6) สินค้าจากโคโรมันเดลไปยังมะละกา ได้แก่ ผ้าปูลิกัต(Pulicat cloth)
7)สินค้าจากเบงกอลไปยังมะละกา ได้แก่ ผ้า ยารักษาโรค ฝิ่น
8) สินค้าจากพม่าไปมะละกา ได้แก่ ครั่ง(lacquer) ดีบุกและอาหาร
9) สินค้าจากกรุงศรีอยุธยาไปมะละกา ได้แก่ อาหาร
10)สินค้าจากมะละกาไปกรุงศรีอยุธยา ได้แก่ เสื้อผ้า สินค้าจีน ไหม(silk) ไหมยก(brocade) ผ้าต่วน(satin) เครื่องประดับ
11)สินค้าจากมะละกาไปจีน ได้แก่ ผ้าฝ้าย ชาด กำยาน

การยึดครองมะละกาของโปรตุเกสเริ่มต้นจากความบาดหมางระหว่างพ่อค้าโปรตุเกสกับพ่อค้ามุสลิมในปีพ.ศ.2052(ค.ศ.1509) ขยายตัวเป็นสงครามในพ.ศ.2054และยุติลงด้วยชัยชนะของโปรตุเกสในวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2054(ค.ศ.1511) หลังการยึดครองมะละกา อัลบูแกร์กึได้สร้างป้อมปราการขึ้นและแต่งตั้งรุย ดี บริตู(Rui de Brito) อดีตเชลยศึกโปรตุเกสของมะละกาเป็นกัปตันแห่งมะละกาคนแรก

ระบบพระคลังสินค้ากับความมั่งคั่งกรุงศรีอยุธยา: แรงดึงดูดพ่อค้าต่างชาติ

โดยพิทยะ ศรีวัฒนสาร

สภาพความคับคั่งจอแจของการสัญจรทางเรือที่ตลาดย่านหน้าวัดบางกระจะในแผนที่ ยูเดีย(Iudea)ของ Jan Janszoon Struys (c.1629 - c.1694) นักเดินทางผู้มีชื่อเสียงซึ่งเข้ามาเยือนกรุงศรีอยุธยาระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม ค.ศ.1650 หนังสือของเขาซึ่งตีพิมพ์ในปีค.ศ.1676 ที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ชื่อ "Drie aanmerkelijke en seer rampspoedige reysen" มีแผนที่สยามขนาด 19X29 ซ.ม.ปรากฏอยู่ด้วย(ภาพและเรื่องอ้างจากMAPPING IUDEA: A CARTOGRAPHIC EXERCISE by Tricky Vandenburg ใน http://www.ayutthaya-history.com/Essays_MappingIudea.html ขอขอบคุณอย่างยิ่ง)

ใบของต้นการบูร(camphor)ใช้ทำสารหอมระเหยลักษณะเป็นผลึกสีขาว(ภาพจาก google.com ขอขอบคุณอย่างยิ่ง)

พระคลังสินค้าในสมัยอยุธยาเป็นที่เก็บส่วยสาอากรและมีบทบาทผูกขาดทางการค้ามาตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ขุนวิจิตรมาตรา(สง่า กาญจนาคพันธ์)เรียกการค้าแบบผูกขาดของราชสำนักผ่านระบบพระคลังสินค้าว่า “การค้าของพระเจ้าแผ่นดิน” เพราะเป็นการค้าโดยรัฐ ผลกำไรแต่ละครั้งก็สร้างความมั่งคั่งให้แก่พระมหากษัตริย์เป็นอันมาก ด้วยเหตุนี้ประสิทธิ์ รุ่งเรืองรัตนกุลจึงชี้ว่า การผูกขาดการค้าของพระคลังสินค้าเป็นกระบวนการที่มีทั้งการควบคุมการผลิต ปริมาณและราคาตามความต้องการซื้อขายในตลาด รวมถึงการผูกขาดสินค้าส่งออกและสินค้านำเข้าโดยการใช้กฎหมายและระบบราชการเป็นเครื่องมือ

ชะมดเชียง เครื่องหอมสมุนไพรจากสัตว์ป่า(ภาพจากgoogle.com ขอขอบคุณอย่างยิ่ง)

สินค้าผูกขาดในหลักฐานพระไอยการอาญาหลวง ได้แก่ เครื่องศาสตราวุธ (ดินประสิว กำมะถัน ดินปืน) กฤษณา ไม้ฝาง ดีบุก นรมาด ( คือ นอแรด) งาช้าง และไม้จันทร์ รวมถึงสินค้าต้องห้ามที่ปรากฏในคำให้การชาวกรุงเก่าซึ่งรัฐเป็นผู้ส่งออกแต่เพียงผู้เดียว ได้แก่ งาช้าง ฝาง ตะกั่วนม ไม้ดำ ไม้แดง ชัน รัก ไม้จันทร์ ชะมดและครั่ง ดังปรากฏในพระไอยการอาญาหลวงว่า

ไม้ฝางนอกจากจะใช้ทำสีย้อมผ้าแล้วยังใช้ทำน้ำยาอุทัยได้ด้วย(ภาพจาก google.com ขอขอบคุณอย่างยิ่ง)

“...อนึ่งพระเจ้าอยู่หัวห้ามมิให้ซื้อขายสิ่งของต้องห้ามแก่ผู้มาแต่ต่างเมือง แลมันขึ้น(ขืน-ผู้วิจัย)ซื้อขายแลส่งออกไปนอกด่านต่างแดน แลขุนมุนนายอนา
พยาบาลผู้ใดได้ของมัน รู้เหนเปนใจด้วยมัน มิได้มาว่ากล่าวพิดทูลท่านให้ลงโทษขุนมุนนายอนาพยาบาลแลมันผู้ส่งสิ่งของต้องห้ามออกไปให้ซื้อขายนอก
ด่านต่างแดนนั้นมิโทษ 6 สถาน ถ้าทรงพระกรรุณาโปรดเกล้าฯบให้ฆ่าตีเสียให้ เอาสิ่งของนั้นตั้งไหมจัตุรคูณ...”


ไม้กฤษณาใช้ทำน้ำมันหอมระเหยราคาแพง (ภาพจาก google ขอขอบคุณอย่างยิ่ง)

พ่อค้าจากภายนอกซึ่งเดินทางเข้ามาติดต่อค้าขายกับกรุงศรีอยุธยามีทั้งพ่อค้าจากตะวันออกและตะวันตก พ่อค้าจากตะวันออกได้แก่ ชาวมาเลย์ ชวา ฟิลิปปินส์ พะโค กัมพูชา จามปา เวียดนาม จีน เกาหลี ริวกิว ญี่ปุ่น ส่วนพ่อค้าจากตะวันตก ได้แก่ ชาวอินเดีย ลังกา มากัสซาร์ อาหรับ เปอร์เซีย โปรตุเกส ฮอลันดา อังกฤษ สเปน และฝรั่งเศส เป็นต้น

การเป็นเมืองศูนย์กลางทางการค้า(Entrepot) ซึ่งมีการขนถ่ายสินค้าของจีน ญี่ปุ่น และสินค้าพื้นเมืองหลากหลายที่พ่อค้าต่างชาติต้องการ อาทิ ข้าว หนังสัตว์ พริกไทยและฝาง ทำให้กรุงศรีอยุธยาเป็นทั้งผู้ค้าผลิตผลและเป็นพ่อค้าคนกลางที่ขายสินค้าของพ่อค้าชาติหนึ่งให้แก่พ่อค้าอีกชาติหนึ่ง จึงทำให้กรุงศรีอยุธยามีสถานะทางโภคทรัพย์ที่โดดเด่นเป็นอย่างยิ่ง

ส่วยและภาษีรากฐานอันแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของราชสำนัก

ในฐานะผู้ผลิตสินค้า กรุงศรีอยุธยามีสินค้าพื้นเมืองต่างๆที่เรียกเก็บจากราษฎรในรูปแบบของส่วยและภาษีโดยไม่ต้องลงทุน เว้นแต่เรียกซื้อเพิ่มเติมจากราษฎร ได้แก่ ฝาง หนังสัตว์และไม้จันทร์ โดยพระคลังสินค้าสามารถกำหนดราคาสร้างผลกำไรเท่าใดก็ได้ตราบที่ตลาดยังมีความต้องการ อาทิ เกลือสินเธาว์ ปกติหาบละ 5 บาท พระคลังสินค้าขายให้แก่พ่อค้าต่างชาติหาบละ 17 บาท ฝางซื้อมาหาบละ 2 สลึง ขายหาบละ 6 สลึง เป็นต้น

ในฐานะพ่อค้าคนกลาง กรุงศรีอยุธยาซื้อสินค้าจากอินเดีย จีนและญี่ปุ่น ซื้อกำยาน(Benzoin)และไม้สักจากพม่า และซื้อชะมดเช็ดจากเชียงใหม่เพื่อขายแก่พ่อค้ายุโรป นอกจากนี้ยังซื้อสินค้าจากพ่อค้าจากพ่อค้าชาวยุโรปเพื่อขายให้แก่พ่อค้าจีนและญี่ปุน เป็นต้น ในกรณีนี้พระคลังสินค้าอาจซื้อทองแดงจากญี่ปุ่นมาในราคาหีบละ 15 เหรียญแล้วขายให้แก่พ่อค้ายุโรปหีบละ 20 เหรียญ หรือรับซื้อไหมดิบจาก“ เมืองน่ำเกี๋ย ” ในราคา 100 เหรียญ แล้วขายให้แก่พ่อค้าชาวยุโรปเป็นเงิน 300 เหรียญ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี พระอาชญาหลวงในกฎหมายตราสามดวงก็มีบทบัญญัติคุ้มครองแก่ผู้ประกอบการค้าที่สุจริตไว้ว่า
“...พระเจ้าอยู่หัวทรงบัญญัติให้ซื้อขายสิ่งของตามถนนตระหลาด(สนนราคา ตลาด-ผู้วิจัย) แลผู้ซื้อผู้ขายทำเกินพระราชบัญญัติไว้ มิได้ซื้อขายตามถนนตระหลาด มักซื้อถูกขายแพงนอกพระราชบัญญัติ ท่านว่าเลมิดพระราชอา๙ญาให้จำขื่อไว้สามวัน แล้วเอาไปประจานจนรอบตระหลาด แล้วให้ทวนด้วยหวาย 25 ทีอย่าให้ดูเยียงกัน ถ้ากำนันตระหลาดมิได้กำชับว่ากล่าว ละให้ลูกตระหลาดซื้อถูกขายแพงกว่าถนนตระหลาด...ให้...จำใส่ขื่อไว้สามวัน แล้วทวนด้วยหวาย 15 ที...”

หากกำนันตลาดละเมิดพระไอยการอาชญาหลวงโดยเก็บเบี้ยตลาดจากลูกตลาดเกินพิกัดที่กำหนดไว้ก็ให้ลงโทษทวนด้วยหวาย15ที แห่ประจานรอบตลาดและให้คืนเบี้ยที่เก็บเกินแก่ลูกตลาดเสีย จึงจะพ้นโทษ สำหรับพ่อค้าต่างชาติที่ลักลอบซื้อสินค้าต้องห้ามนั้น พระไอยการอาชญาหลวงระบุให้ลงโทษ “ดั่งโจร” ส่วนผู้รู้เห็นเป็นใจพระไอยการอาญาหลวงให้ลงโทษถึงตาย กล่าวคือ

“มาตราหนึ่ง แขกพราหมณยวนประเทศฝารงอังกฤษจีนจามวิลันดาฉวามลายู กวยขอมพม่ารามัญเข้าสู่โพธสมภารก็ดี เข้ามาค้าขายทางบกทางเรือก็ดี ให้ชาวพระทวารด่านคอยเจ้าพนักงานตรวจตราดูดีแลร้าย เกบเครืองศาสตราวุธไว้ อย่าให้เทียวเตร่ลอบลักซื้อขายกฤษณาฝางดีบุก ถ้าลูกค้าจตองการสิ่งใดให้บอกแก่ล่ามพนักงาน ถ้าต่างประเทศลูกค้าจยาตราไปทางบกก็ดี เมือสำเภายาตราก็ดีให้เจ้าพนักงานตรวจดูสิ่งของต้องห้ามผู้คนซึ่งลอบลักซุ่มซ่อนภาไปนั้น ถ้าเจ้าพนักงานละเมินเสียให้ลูกค้าพานิชภาเอาผู้คนข้าแผ่นดินสิ่งของต้องห้ามไปได้....ให้ลงโทษ 6 สถาน ส่วนประเทศลูกค้านั้นให้ลงโทษดั่งผโจร ถ้าล่ามพนักการชาวด่านรู้เหนเปนใจด้วยให้ลงโทษถึงตาย”

การควบคุมเส้นทางเดินเรือในเอเชีย: ความสำเร็จของโปรตุเกส

โดย พิทยะ ศรีวัฒนสาร เรือของวาชกู ดา กามา(Vasco da Gama) เอื้อภาพโดย
http://www.loc.govrrhispanicportam/ ขอขอบคุณเป็นอย่างยิ่ง
บ็อกเซอร์(C.R. Boxer)ระบุว่า ปัจจัยสำคัญ 4 ประการที่ผลักดันให้โปรตุเกสออกสำรวจทางทะเลมุ่งสู่เอเชีย คือ การเผยแพร่ศาสนา การแสวงหาทองคำแห่งกินี การค้นหาดินแดนของกษัตริย์เพรสเตอร์ จอห์น(King Prester John) และการแสวงหาเครื่องเทศ
ภาพปกหนังสือ ชื่อ The Portuguese Seaborne Empire, 1415-1825 โดย C. R. Boxer
(อ้างจาก http://www.worldcat.org/title/portuguese-seaborne-empire-1415-1825/ ขอขอบคุณอย่างยิ่ง)
การที่โปรตุเกสเป็นราชอาณาจักรแห่งเดียวในยุโรปที่มีความมั่นคงเป็นปึกแผ่น ส่งผลให้ประสบความสำเร็จทั้งด้านการสำรวจทางทะเล การเดินเรือและการแสวงหาอาณานิคม ขณะที่สเปน อิตาลี อังกฤษและฝรั่งเศสกำลังประสบปัญหายุ่งยากภายใน ความเคลื่อนไหวของโปรตุเกสได้รับการสนับสนุนจากพระสันตโองการ(Papal Decree)ของพระสันตปาปาโรมานุส(Pope Romanus) ลงวันที่ 8 มกราคม ค.ศ.1455 (พ.ศ.1998)รับรองสิทธิในการผูกขาดทางการค้าเหนือดินแดนที่พบใหม่จากการสำรวจทางทะเลภายใต้เงื่อนไขที่ห้ามโปรตุเกสขายอาวุธแก่ชนชาติศัตรูของศาสนาคริสต์

เมื่อคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส(Christopher Columbus)แล่นเรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปพบหมู่เกาะอินเดียตะวันออกของทวีปอเมริกา และประกาศว่าหมู่เกาะดังกล่าวเป็นดินแดนของสเปน ทำให้โปรตุเกสกับสเปนทำสงครามทางทะเลทุกครั้งที่มีความขัดแย้งกัน จึงเกิดสัญญาทอร์เดสซิลลัส(Tordesillas)ในพ.ศ.2037(ค.ศ.1494) แบ่งสิทธิการสำรวจทางทะเลโดยขีดเส้นตามแนวยาวเหนือ-ใต้ของหมู่เกาะเคป เวิร์ด(Cape Verde) ระยะทางประมาณ 1,800 กิโลเมตร แล้วกำหนดให้ซีกโลกด้านตะวันตกเป็นสิทธิของสเปน ส่วนซีกโลกด้านตะวันออกเป็นสิทธิของโปรตุเกส

ชาวโปรตุเกสคนแรกที่เดินทางมาถึงอินเดียเป็นนักแสวงโชคชื่อ จูอาว เปรึช ดึ กูวัลเญา(João Peres de Covalhão) เขาได้รับเงินสนับสนุนจากกษัตริย์ดอง จูอาวที่2(Dom João II)แห่งโปรตุเกส เพื่อค้นหาดินแดนของกษัตริย์เพรสเตอร์ จอห์นและแหล่งเครื่องเทศ กูวัลเญาลงเรือของชาวมุสลิมไปถึงเมืองคันนานอร์(Cannanore)บนฝั่งมะละบาร์ในค.ศ.1487(พ.ศ.2044) และนำตัวอย่างเครื่องเทศกลับไปพร้อมกับรายงานว่าควรขยายการค้าทางเรือมายังฝั่งตะวันออกโดยมุ่งหน้ามายังเมืองกาลิกัต
วาชกู ดา กามา(Vasco da Gama)นักเดินเรือชาวโปรตุเกส
การที่วาชกู ดา กามา (Vasco da Gama) เดินทางอ้อมแหลมกู๊ดโฮปสำเร็จและเปิดการติดต่อกับเมืองท่าต่างๆตามชายฝั่งแอฟริกาตะวันออก โดยความช่วยเหลือจากคนนำร่องชาวอาหรับชื่อ อาเหม็ด-อิบน์-มัดยิด(Ahmed-ibn-madjid) ทำให้โปรตุเกสสามารถเดินเรือสู่เมืองกาลิกัตศูนย์กลางการค้าพริกไทบนดินแดนชายฝั่งมะละบาร์ได้ในพ.ศ.2041(ค.ศ.1498)และค้าขายกับชาวเอเชียโดยตรง ถือเป็นความสำเร็จของโปรตุเกสในช่วง 43 ปีของการออกสำรวจทางทะเลหลังจากที่ได้รับสิทธิในการผูกขาดการค้าทางทะเลจากการสนับสนุนของพระสันตปาปาโรมานุส(Pope Romanus) หรือ 4 ปี หลังจากการทำสัญญาทอร์เดสซิลลัส(Tordesillas)กับสเปน ขณะเดียวกันโปรตุเกสก็พบคำตอบว่าอาณาจักรของกษัตริย์เพรสเตอร์ จอห์น เป็นเพียงอาณาจักรเล็กๆของชาวแอฟริกันเอธิโอเปีย ซึ่งไม่มีทั้งอำนาจและราชทรัพย์ตามที่เล่าลือกันในนิยายปรัมปรา

กษัตริย์ดอง จูอาวที่ 2 แห่งโปรตุเกสค.ศ.1481-1495 (ภาพจากwikipedea.com ขอขอบคุณอย่างยิ่ง)
อินเดียเป็นดินแดนที่ได้รับผลกระทบจากการแผ่ขยายอำนาจของชาวตะวันตกเข้าสู่เอเชียเป็นอย่างมากและก่อนประเทศอื่นๆในซีกโลกตะวันออกเพราะเป็นแหล่งอารยธรรมใหญ่เพียงแห่งเดียวในทวีปที่อยู่ภายใต้การปกครองโดยตรงของต่างชาติ ศรีสุรางค์ พูนทรัพย์ กล่าวว่า อิทธิพลของตะวันตกกระทบต่อชีวิตและความคิดของชาวอินเดียอย่างลึกซึ้งและยาวนาน เนื่องจากมีความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศตะวันตกมาช้านาน พ่อค้าอินเดียเคยผูกขาดการค้าทางทะเลทั่วน่านน้ำเอเชียมาจนถึงคริสต์ศตวรรษที่2

เมื่อชาวอาหรับเริ่มเข้ามาค้าขาย พวกเขาก็กลายเป็นคู่แข่งของชาวอินเดียในการค้าทางทะเล โดยเฉพาะการประกาศศาสนาอิสลามเป็นแรงบันดาลใจให้ชาวอาหรับรวมตัวก่อตั้งจักรวรรดิอาหรับในคริสต์ศตวรรษที่7 การค้าทางทะเลระหว่างอาหรับกับอินเดียยิ่งคึกคักมากขึ้นเมื่อคอลีฟะห์โอมาร์(Kalifa Omar)ตั้งสถานีการค้าที่เมืองบัสรา(Basra) ชัตต์-อัล-อาหรับ(Shatt-al-Arab)และหมู่เกาะโซโครตา(Socrotas)

ครั้นถึงราวคริสต์ศตวรรษที่8 ชาวอาหรับก็เดินเรือมาสู่อินเดียมากขึ้น โดยไม่มีความคิดในการยึดครองดินแดน พ่อค้าอินเดียเลิกค้าขายทางทะเลและยอมรับชาวอาหรับเป็นพ่อค้าคนกลาง จึงมิได้ติดต่อโดยตรงกับชาวตะวันตกอีกจนกระทั่งวาชกู ดา กามาค้นพบเส้นทางสู่อินเดีย

การติดต่อระหว่างยุโรปกับเอเชียก่อนการเข้ามาของชาวโปรตุเกส



(แผนที่ transasiaได้รับความเอื้อเฟื้อจาก Wikipedia)

พิทยะ ศรีวัฒนสาร

การเดินทางติดต่อค้าขายระหว่างมนุษยชาติในพื้นที่ต่างๆ ส่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมอย่างเด่นชัด จากหลักฐานประวัติศาสตร์ ชาวยุโรปและเอเชียเคยมีการติดต่อกันมาเป็นเวลานานแล้วผ่าน 3 เส้นทาง ดังนี้

เส้นทางที่1 เริ่มต้นเดินบกที่เมืองฉางอันหรือฉีอาน(Chang-an หรือ Si-an ในจีน) ผ่านเทือกเขาเทียนซาน(Tien-shan) ผ่านคัชการ์(Kashgar) ทัชเคนท์(Tashkent)ของอิรัก ดามัสกัส(Damascus)ของซีเรีย แล้วขนถ่ายสินค้าลงสู่ทะเลเมดิเตอเรเนียนหรืออาจเดินทางจากบัคคารา(Bukhara) ขึ้นเหนือข้ามทะเลแคสเปียนสู่กรุงคอนสแตนติโนเปิล(Constantinople) เมืองหลวงของอาณาจักรไบแซนไทน์(Byzantyne)แล้วข้ามทะเลดำและทะเลเมดิเตอเรเนียนไปลงท่าที่เมืองเยนัว(Genoa) เรียกว่า “เส้นทางสายไหม(Silk-route)”

เส้นทางที่2 เดินเรือจากกวางตุ้งหรือไซตัน(ทางเหนือของกวางตุ้ง)เลาะชายฝั่งอันนัม จัมปา กัมพูชา อ่าวไทย ผ่านช่องแคบมะละกา เลียบชายฝั่งของพม่าและอินเดียสู่อ่าวเปอร์เซีย แล้วขึ้นบกผ่านอิรักและซีเรีย(ดินแดนเมโสโปเตเมียเก่า) จากนั้นจึงขนถ่ายสินค้าข้ามทะเลเมดิเตอเรเนียนสู่เมืองเวนิส(Venice)หรือเมืองเยนัว
เส้นทางที่3 ออกจากอเลกซานเดรียเมืองท่าชายฝั่งทะเลเมดิเตอเรเนียน(ของอียิปต์) ข้ามทะเลอาระเบียนสู่เมืองกาลิกัต(Calicut)บนชายฝั่งมะละบาร์ของอินเดียใต้ หรือมุ่งสู่เมืองดิว(Diu)และแคมเบย์(Cambay)ทางเหนือของเมืองกัวและเมืองกาลิกัต เลียบชายฝั่งทะเลสู่ศรีลังกาผ่านทะเลอันดามันไปยังเกาะสุมาตรา ผ่านช่องแคบมะละกาสู่หมู่เกาะโมลุกกะ(หมู่เกาะเครื่องเทศ)

เส้นทางแรกเป็นเส้นทางที่ชาวยุโรปเคยใช้ในการเดินทางมายังเอเชีย ส่วนเส้นทางที่2-3ถูกพ่อค้าจีนและมุสลิมควบคุมหลังจากกรุงคอนสแตนติโนเปิลถูกจักรวรรดิออตโตมันเติร์กยึดครองเมื่อพ.ศ.1916(ค.ศ.1373) เส้นทางที่2-3จึงถูกอิทธิพลของชาวมุสลิมครอบงำตั้งแต่ด้านตะวันออกของทะเลเมดิเตอเรเนียน คาบสมุทรบอลข่านและแอฟริกาเหนือ ชาวยุโรปจึงไม่สามารถเดินทางบกมาติดต่อค้าขายกับเอเชียได้ดังเดิม โปรตุเกสซึ่งต้องการเครื่องเทศ พริกไท ไหม เครื่องถ้วยจีน งาช้าง ไม้หอมและสินค้าพื้นเมืองจึงริเริ่มค้นหาเส้นทางเดินเรือเพื่อการค้าขายกับเอเชียทางทะเลโดยไม่ต้องผ่านดินแดนของชาวมุสลิม

วันอาทิตย์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ร่องรอยของบาทหลวงคณะเยซูอิตในเมืองพระนครศรีอยุธยา

โดย พิทยะ ศรีวัฒนสาร

ในรัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ(พ.ศ.2148-2163) บาทหลวงคณะเยซูอิตจำนวนหนึ่งภายใต้การนำของบาทหลวงบัลธาซา ดึ เซไกรา(Balthazaหรือ Baldassar de Segueira)ชาวโปรตุเกส เดินทางเข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในกรุงศรีอยุธยาครั้งแรกเมื่อพ.ศ.2152 แต่ก็เมื่อมาถึงกรุงศรีอยุธยาได้ประมาณ 2 ปีครึ่งก็ป่วยและเสียชีวิตขณะเดินทางกลับไปรักษาตัวที่เมืองกัวหรือเมืองโคชินในอินเดีย ทำให้ไม่มีบาทหลวงคณะเยซูอิตเหลืออยู่ในกรุงศรีอยุธยา

ครั้นถึงเดือนมีนาคม พ.ศ.2169 ปลายรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม(พ.ศ.2163-2171) สังฆมณฑลแห่งมาเก๊าได้ส่งบาทหลวงคณะเยซูอิตภายใต้การนำของบาทหลวงเปโตร มาริฮอน(Petro Marijon ชาวสเปน) บาทหลวงอันตอนิอู คาร์ดิง(Antonio Cardim ชาวโปรตุเกส)และบาทโรมาโน นิไซ(Romano Nixiชาวญี่ปุ่น)เข้ามา“สร้างบ้านเยซูอิตหลังแรกในสยาม”ซึ่งอาจอยู่ในค่ายญี่ปุ่นที่มีชาวคาทอลิกรวมประมาณ 400 คน จนกระทั่งพ.ศ.2175 ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง(พ.ศ.2173-2198) ทางการสยามได้ปราบปรามและกวาดล้างชุมชนญี่ปุ่นอย่างรุนแรง ส่งผลให้ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากรวมถึงบาทหลวงนิไซหลบหนีไปยังเมืองนครศรีธรรมราชและหนีต่อไปยังอาณาจักรกัมพูชาตามลำดับ ต่อมาไม่นานนักบาทหลวงนิไซก็เสียชีวิตที่มาเก๊า ทำให้การเผยแพร่ศาสนาคริสต์ยุคแรกของบาทหลวงนิกายเยซูอิตสิ้นสุดลง

ระหว่างพ.ศ.2182-2186 มีบาทหลวงคณะเยซูอิตแวะผ่านเข้ามายังเมืองพระนครศรีอยุธยาเป็นระยะเวลาสั้นๆก่อนเดินทางต่อไปยังลาวหรือญี่ปุ่น คณะเยซูอิตเริ่มมีบทบาทอีกครั้งเมื่อบาทหลวงโทมัสโซ วัลกูอาร์เนรา(Tomasso Valguarnera ชาวซิซิเลียน) เดินทางจากมาเก๊าเข้ามาเผยแพร่ศาสนาระหว่างพ.ศ.2198-2213 ก่อนย้ายไปรับตำแหน่งผู้ตรวจการแขวงปกครองจีนญี่ปุ่นระหว่างพ.ศ.2213-2218 และกลับมาเสียชีวิตที่กรุงศรีอยุธยาเมื่อพ.ศ.2220
บาทหลวงวัลกูอาร์เนราได้รับยกย่องว่า เป็นผู้มีความสามารถด้านการออกแบบก่อสร้างและด้านวิศวกรรม สมเด็จพระนารายณ์(พ.ศ.2199-2231)จึงโปรดเกล้าฯให้เป็นผู้ออกแบบสร้างป้อมหลายแห่งทั้งในเมืองพระนครศรีอยุธยา นนทบุรีและบางกอก รวมถึงการออกแบบพระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ด้วย

บาทหลวงวัลกูอาร์เนราเป็นผู้สร้าง“บ้านเยซูอิตหลังที่2”ในชุมชนค่ายโปรตุเกสเมื่อพ.ศ.2199 และสร้างโรงเรียนขึ้นที่บ้านพักแห่งนี้เมื่อพ.ศ.2208 จดหมายเวียนของคณะเยซูอิตบันทึกว่า บาทหลวงวัลกูอาร์เนราสร้างวิทยาลัยเยซูอิตในค่ายโปรตุเกสระหว่างพ.ศ.2203-2213 จากทรัพย์สินจำนวน14,000 ซิวดี โรมานี( Seudi Romani) ของนักสอนศาสนาผู้ช่วย(Brother)คณะเยซูอิตชื่อ เซบัสติอาว อันดรึช (Sebastião Andres) อดีตกัปตันเรือชาวโปรตุเกสซึ่งมอบแก่บาทหลวงวัลกูอาร์เนราก่อนที่จะเสียชีวิต เมื่อ“วัดเยซูอิต”ถูกไฟไหม้เสียหายในปีพ.ศ.2201 สมเด็จพระนารายณ์ก็โปรดเกล้าฯให้สร้างวัดใหม่พระราชทานแก่บาทหลวงวัลกูอาร์เนรา

นับตั้งแต่พ.ศ.2198-2252 มีบาทหลวงคณะเยซูอิตประมาณ 33 คนผ่านมาพักที่ “บ้านเยซูอิตในสยาม” จำแนกเป็นชาวโปรตุเกส 19 คน เบลเยียม 1 คน โปแลนด์ 1 คน ญี่ปุ่น 1 คนและชาวฝรั่งเศส 4 คน ในจำนวนนี้มี16 คนแวะเข้ามาพักก่อนเดินทางต่อไปยังจีนหรือถูกขับไล่มาจากมิซซังอื่นๆใกล้เคียงกับประเทศสยาม โดยปกติแล้วบ้านเยซูอิตในสยามจะมีบาทหลวงพำนักประจำเพียง 2 คน บางครั้งอาจมีถึง 4 คน แต่ก็ไม่บ่อยนัก

ประมาณกลางพุทธศตวรรษที่23 บ้านเยซูอิตมีบาทหลวงกาสปาร์ ดา คอสตึ(Gaspar da Coste)พำนักอยู่เพียงผู้เดียว และหลังจากที่บาทหลวงผู้นี้เสียชีวิตในปีพ.ศ.2252 ก็ไม่มีบาทหลวงคณะเยซูอิตพำนักอยู่ที่บ้านเยซูอิตในเมืองพระนครศรีอยุธยาอีกเลย ซึ่งก็สอดคล้องกับหลักฐานของโปรตุเกสที่ระบุว่า มีการขับไล่นักบวชนิกายเยซูอิตออกจากประเทศโปรตุเกส ในปีค.ศ.1759 ต่อเนื่องมาถึงคริสตศตวรรษที่20 จึงส่งผลให้เกิดการขาดช่วงการปฏิบัติหน้าที่ในการเผยแพร่ศาสนาของบาทหลวงคณะเยซูอิตชาวโปรตุเกสก่อนเสียกรุงศรีอยุธยา

บาทหลวงนิกายเยซูอิตมักจะได้รับการยกย่องว่า มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์และอักษรศาสตร์อย่างกว้างขวาง และมีบทบาทเป็นที่ยอมรับตลอดมาจนถึงรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ บันทึกของชาวฝรั่งเศสซึ่งเดินทางเข้ามากรุงศรีอยุธยาระบุว่า ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ชุมชนโปรตุเกสมีสมาชิกเป็น “พวกเข้ารีต” ซึ่งหมายถึงผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกประมาณ 2,000-3,000 คน

หมู่บ้านฮอลันดา: คลื่นอิทธิพลดัทช์ซัดเข้าราชสำนักสยามแทนชาติโปรตุเกสผู้มาก่อน



ฮอลันดาเป็นชาติมหาอำนาจซึ่งเข้ามามีบทบาทราชสำนักอยุธยาเป็นอันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองต่อเนื่องมาถึงต้นรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช การเข้ามาของชาวฮอลันดา(ชาวดัทช์)ส่งผลให้สถานะทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองของชุมชนโปรตุเกสในเมืองพระนครศรีอยุธยาสั่นคลอน หมู่บ้านฮอลันดาตั้งอยู่เยื้องกับหมู่บ้านโปรตุเกสไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณ ๑ กิโลเมตร คนละฟากแม่น้ำกับหมู่บ้านโปรตุเกส และอยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้จากวัดพนัญเชิงประมาณ300 เมตร ต้องขับรถเข้าไปในทางแคบๆผ่านอู่ต่อเรือเอกชน สิ่งที่ตั้งเด่นในเขตโบราณสถานแห่งนี้ คือ อนุสรณ์สถานก่ออิฐถือปูนมีจารึก(ใหม่)เป็นภาษาดัทช์






กรมศิลปากรเคยอนุมัติโครงการขุดแต่งโบราณสถานหมู่บ้านฮอลันดาสมัยอยุธยา 2 ครั้ง พบหลักฐานชิ้นส่วนเครื่องเคลือบดินเผาแบบยุโรปจำนวนมาก เหรียญฮอลันดา กล้องยาสูบดินเกาลินเคลือบสีขาว กล้องสูบฝิ่น ฯลฯ





รากฐานอาคารโรงสินค้าฮอลันดา ซึ่งในบันทึกของชาวต่างประเทศระบุตรงกันว่า เป็นชุมชนชาวต่างชาติเพียงแห่งเดียวที่มีกำแพงและคูน้ำล้อมรอบอย่างมั่นคงแข็งแรง มีการสร้างทางระบายน้ำก่ออิฐถือปูนอย่างแข็งแรงมั่นคง








จารึกข้างต้นอ่านได้ความรวมๆว่า "สถานที่แห่งนี้ระหว่างค.ศ.1634-1767 เคยเป็นที่ตั้งของบริษัท อินเดียตะวันออก (VOC - Vereenigde คือ united / Oostindische คือ East India /Compagnie คือ Company)" ชาวสยามเคยเรียกชาวฮอลันดาว่า ชาววิลันดา ซึ่งเป็นคำที่ชาวโปรตุเกสใช้เรียกชาวฮอลันดามาแต่เดิมว่า "uitelander" (อ้างจากวิทยานิพนธ์เรื่องชุมชนชาวโปรตุเกสสมัยกรุงศรีอยุธยา, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2541 โดย พิทยะ ศรีวัฒนสาร)

หมู่บ้านญี่ปุ่น : พันธมิตรสำคัญของชุมชนโปรตุเกสสมัยอยุธยา

สวนญี่ปุ่นในโบราณสถานหมู่บ้านญี่ปุ่น ดูแล้วชวนให้เกิดความรู้สึกสงบ สันติและสุภาพแบบนิกายเซ็น

โบราณสถานหมู่บ้านญี่ปุ่นแห่งนี้ ปัจจุบันมีนักธุรกิจญี่ปุ่นจากตระกูลยามาดะ เข้ามาทำร้านขายของที่ระลึกแก่นักท่องเที่ยว สงสัยหรือไม่ว่า ทำไมจึงเป็นตระกูลนี้ ลองนึกย้อนไปถึงรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม จะพบว่ามีชาวญี่ปุ่นผู้หนึ่งเดินทางเข้ามารับราชการในราชสำนักสยาม ตำแหน่งออกญาเสนาภิมุข นามเดิมคือ ยามาดะ จิซายิมองโนโจ นางามาสา ซึ่งแม้ว่าในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พ่อค้าชาวญี่ปุ่นในกรุงศรีอยุธยาจะถูกขับไล่ออกไปจากปัญหาการเมืองในราชสำนักสยาม แต่ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ก็ยังปรากฏหลักฐานว่ามีชาวญี่ปุ้นเดินทางกลับเข้ามาอีกครั้งจำนวน๖๐-๗๐ คน จากที่เคยมีมากถึง๖๐๐ คนในสมัยพรระเจ้าทรงธรรม(ปชพ.ล.๑๓น.๑๕๕)















อาคารจัดแสดงสร้างอย่างงดงามเรียบง่ายสไตล์ญี่ปุ่น






ฝั่งตรงข้ามของหมู่บ้านญี่ปุ่นเป็นหมู่บ้านโปรตุเกส ซึ่งมีด้านหน้า(คือ ทิศตะวันออก)เป็นแม่น้ำเจ้าพระยา ด้านหลัง(ทิศตะวันตก)เป็นคลองเทศหรือคลองวัดแจ้ง ซึ่งขณะนี้ก็ยังแลเห็นร่องรอยอยู่





รั้วไม้ไผ่เทียมแบบญี่ปุ่นอาจก่อให้เกิดแรงบันดาลใจให้หลายคนสร้างรั้วเรียบง่ายเช่นนี้


แผนที่ในบันทึกของลาลูแบร์ตีพิมพ์ปลายคริสต์ศตวรรษที่17 แสดงที่ตั้งหมู่บ้านชาวญี่ปุ่น ซึ่งตั้งเยื้องไปทางใต้คนละฝั่งกับชุมชนโปรตุเกส ประชุมพงศาวดารเล่ม๑๓ เรื่องทางพระราชไมตรีระหว่างไทยกับญี่ปี่น รวบรวมโดย เซอร์ เออร์เนส ซาโตว (Sir Earnest Satow)อดีตเอกอัครราชทูตอังกฤษ ณ กรุงเทพฯ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว ระบุว่า ยามาดะ จิซายิมองโนโจ นางามาสา เคยได้รับความไว้วางใจเป็นผู้แต่งเรือให้คณะทูตสยามจำทูลพระสุพรรณราชสาส์นไปเจริญพระราชไมตรีไมตรีกับราชสำนักโชกุนอิเยยัสสุ(ปชพ. เล่ม๑๓ น.๑๔๗)และยังเขียนหนังสือแนะนำราชทูตสยามแก่ขุนนางญี่ปุ่นหลายครั้ง อาทิ ในปีพ.ศ.๒๑๖๔ และพ.ศ.๒๑๗๒(ปชพ. ล.๑๓ น.๑๗๗)



เคยหลายท่านคงเคยทราบมาจากเอกสารฝ่ายไทยว่า ท่านยามาดะ นางามาสาผู้นี้ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์จากสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมเป็น ออกญาเสนาภิมุข เจ้ากรมอาสาญี่ปุ่น ตำแหน่งหลังสุดก่อนถึงแก่มรณกรรม คือ เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช แต่เซอร์ เออร์เนสท์ ซาโตว ลำดับให้เห็นว่า หลักฐานหลายชิ้นของพ่อค้าอังกฤษในญี่ปุ่น เช่น จดหมายเหตุของก๊อก เรียกตำแหน่งของยามาดะ นางามาสา ต่างกันออกไป ได้แก่ ออมพระ(Ompra) ออบพระ(Oppra) อัมปิรา(Ampira) และออมพู(Ompu) คำดังกล่าว เซอร์ซาโตว อ้างข้อเสนอของมร.เฟรนช์(E.H.French)เจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ ณ กรุงสยามว่า กลุ่มคำข้างต้น อาจหมายถึงนายอำเภอในภาษาไทย ซึ่งเป็นตำแหน่งที่หนังสือของสังฆราชปัลเลอร์กัวอธิบายว่า "เป็นตำแหน่งฝ่ายนครบาล ควบคุมราษฎรชั่วเขตหมู่บ้านหนึ่ง"(ปชพ.ล.๑๓น.๑๗๗) และเป็นตำแหน่งหัวหน้าคนต่างชาติในสยามด้วย อาทิ นายอำเภอจีน นายอำเภอญี่ปุ่น และนายอำเภออังกฤษ โดยนายอำเภอจะทำหน้าที่คล้ายกงศุลดูแลผลประโยชน์ของชนชาติตน(ปชพ.ล.๑๓น.๑๘๑


ยามาดะ จิซายิมองโนโจ นางามาสา หัวหน้าชาวญี่ปุ่นสมัยพระเจ้าทรงธรรม(ภาพจากwikipedia.comขอขอบคุณอย่างยิ่ง)

แม้หนังสือของเซอร์ซาโตว(ปชพ.ล.๑๓น.๒๔๐)จะพยายามบอกให้เราทราบว่า เมื่อสิ้นกรุงกรุงศรีอยุธยาในพ.ศ.๒๓๑๐ บ้านเรือนใน "ค่ายญี่ปุ่น" รวมถึงบรรดลูกหลานก็พากันสูญหายไปจนหมดสิ้น กระนั้นก็ตาม จารึกพระราชทานที่ดินแก่ชาวโปรตุเกสซึ่งมีบทบาทช่วยเหลือพระเจ้าตากสินในการขับไล่พม่าออกไปจากเมืองบางกอก ภาษาโปรตุเกส ศักราช ๑๗๖๘ (พ.ศ.๒๓๑๑)ซึ่งพบจากการบูรณะวัดซางตาครูส (บ้านกุฎีจีน ฝั่งธนบุรี)ระบุถึงชื่อของ "Catharina do Rozr.viuva(หม้าย)กับหลานชาย (Netto)ชื่อ Pedro Jamada " (P. Manuel Teixeira, Portugal na Tailandia, 1983 p.80-84)บ่งชี้ว่า แม้เวลาจะผ่านล่วงเลยมาถึงรัชสมัยพระเจ้าเอกทัศน์แล้ว แต่ลูกหลานของคนในสกุล "ยามาดะ" ยังคงอาศัยอยู่ในหมู่บ้านญี่ปุ่นและยังคงมีสายสัมพันธ์ทางเครือญาติกับคนในค่ายโปรตุเกส ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกันมาโดยตลอด