วันจันทร์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2553

การขยายอิทธิพลของโปรตุเกสในเอเชียกับการปักหมุดอำนาจที่มะละกาก่อนเดินทางมาสยาม

โดย พิทยะ ศรีวัฒนสาร

ในพ.ศ.2052(ค.ศ.1509) กษัตริย์มานูเอลที่1(King Dom Manuel 1) ทรงแต่งตั้งอัลฟองซู ดึ อัลบูแกร์กึ (Alfonso de Albouquerque)เป็นผู้สำเร็จราชการโปรตุเกสแห่งอินเดีย เขาจึงริเริ่มนโยบายการยึดครองดินแดนเพื่อสร้างเมืองท่าป้อมปราการควบคุมเส้นทางการค้าในเอเชีย จุดแรกที่สามารถยึดได้ คือ หมู่เกาะโซโครตาส์(Socrotas) ใช้ควบคุมการค้าในทะเลแดง ต่อมาสามารถยึดเมืองกัว(Goa)เป็นศูนย์กลางการค้าบนชายฝั่งตะวันตกของอินเดีย พ.ศ.2053 (ค.ศ.1510) และยึดครองมะละกาได้พ.ศ.2054(ค.ศ.1511)



กษัตริย์มานูเอลที่๑ เอื้อภาพจาก Wikipedea สารานุกรมเสรี, ขอขอบคุณอย่างยิ่ง

มะละกาเป็นเมืองท่าปลอดภัย ไร้คลื่นลม บราซ ดึ อัลบูแกร์กึ(Braz de Albouqueque) บุตรชายของอัลฟองซู ดึ อัลบูแกร์กึบันทึกว่า มะละกาเป็นตลาดเครื่องเทศและเป็นศูนย์กลางการรับส่งสินค้าระหว่างจีนกับอินเดีย เป็นแหล่งรวบรวมสินค้านานาชนิดจากโลกตะวันออกและโลกตะวันตก ทุกๆปีจะมีเรือสินค้าเดินทางไปเยือน อาทิ เรือจากแหลมคาบานา กาลิกัต อาเด็ม เมกกะ เซระ โคโรมันเดล เบงกอล จีน ชวาและพะโค


อัลฟองซู ดึ อัลบูแกร์กึ, เอื้อภาพจาก Wikipedea สารานุกรมเสรี, ขอขอบคุณอย่างยิ่ง

สินค้าสำคัญที่มะละกา จำแนกออกเป็น 11 แหล่งที่มาดังนี้

1)สินค้าจากอินซูลินเดีย (Insulindia หรือหมู่เกาะอินเดียตะวันออก) ได้แก่ กานพลู(cloves)ของหมู่เกาะโมลุกกะ จันเทศ(nutmeg) ไม้จันทร์(sandalwood)การบูร(camphor)ของเกาะติมอร์ ทองคำและพริกไทของเกาะสุมาตรา อาหารและพริกไทของเกาะชวา ดีบุกและทองคำของมลายา
2)สินค้าจากมะละกาไปยังอินซูลินเดีย ได้แก่ เสื้อผ้า
3)สินค้าจากมะละกาไปเมืองแคมเบย์ (Cambayเมืองท่าบนชายฝั่งของแคว้นกุชราต) ได้แก่ เครื่องเทศ ไม้ฝาง เครื่องถ้วยชาม
4)สินค้าจากเมืองแคมเบย์ไปยังมะละกา ได้แก่ เสื้อผ้า อาวุธ น้ำหอม ชาด(vermillion)
5) สินค้าจากมะละกาไปยังโคโรมันเดล(Coromandel) ได้แก่ สิ่งของเครื่องใช้จากจีน
6) สินค้าจากโคโรมันเดลไปยังมะละกา ได้แก่ ผ้าปูลิกัต(Pulicat cloth)
7)สินค้าจากเบงกอลไปยังมะละกา ได้แก่ ผ้า ยารักษาโรค ฝิ่น
8) สินค้าจากพม่าไปมะละกา ได้แก่ ครั่ง(lacquer) ดีบุกและอาหาร
9) สินค้าจากกรุงศรีอยุธยาไปมะละกา ได้แก่ อาหาร
10)สินค้าจากมะละกาไปกรุงศรีอยุธยา ได้แก่ เสื้อผ้า สินค้าจีน ไหม(silk) ไหมยก(brocade) ผ้าต่วน(satin) เครื่องประดับ
11)สินค้าจากมะละกาไปจีน ได้แก่ ผ้าฝ้าย ชาด กำยาน

การยึดครองมะละกาของโปรตุเกสเริ่มต้นจากความบาดหมางระหว่างพ่อค้าโปรตุเกสกับพ่อค้ามุสลิมในปีพ.ศ.2052(ค.ศ.1509) ขยายตัวเป็นสงครามในพ.ศ.2054และยุติลงด้วยชัยชนะของโปรตุเกสในวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2054(ค.ศ.1511) หลังการยึดครองมะละกา อัลบูแกร์กึได้สร้างป้อมปราการขึ้นและแต่งตั้งรุย ดี บริตู(Rui de Brito) อดีตเชลยศึกโปรตุเกสของมะละกาเป็นกัปตันแห่งมะละกาคนแรก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น