วันอาทิตย์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2553

หมู่บ้านญี่ปุ่น : พันธมิตรสำคัญของชุมชนโปรตุเกสสมัยอยุธยา

สวนญี่ปุ่นในโบราณสถานหมู่บ้านญี่ปุ่น ดูแล้วชวนให้เกิดความรู้สึกสงบ สันติและสุภาพแบบนิกายเซ็น

โบราณสถานหมู่บ้านญี่ปุ่นแห่งนี้ ปัจจุบันมีนักธุรกิจญี่ปุ่นจากตระกูลยามาดะ เข้ามาทำร้านขายของที่ระลึกแก่นักท่องเที่ยว สงสัยหรือไม่ว่า ทำไมจึงเป็นตระกูลนี้ ลองนึกย้อนไปถึงรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม จะพบว่ามีชาวญี่ปุ่นผู้หนึ่งเดินทางเข้ามารับราชการในราชสำนักสยาม ตำแหน่งออกญาเสนาภิมุข นามเดิมคือ ยามาดะ จิซายิมองโนโจ นางามาสา ซึ่งแม้ว่าในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พ่อค้าชาวญี่ปุ่นในกรุงศรีอยุธยาจะถูกขับไล่ออกไปจากปัญหาการเมืองในราชสำนักสยาม แต่ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ก็ยังปรากฏหลักฐานว่ามีชาวญี่ปุ้นเดินทางกลับเข้ามาอีกครั้งจำนวน๖๐-๗๐ คน จากที่เคยมีมากถึง๖๐๐ คนในสมัยพรระเจ้าทรงธรรม(ปชพ.ล.๑๓น.๑๕๕)















อาคารจัดแสดงสร้างอย่างงดงามเรียบง่ายสไตล์ญี่ปุ่น






ฝั่งตรงข้ามของหมู่บ้านญี่ปุ่นเป็นหมู่บ้านโปรตุเกส ซึ่งมีด้านหน้า(คือ ทิศตะวันออก)เป็นแม่น้ำเจ้าพระยา ด้านหลัง(ทิศตะวันตก)เป็นคลองเทศหรือคลองวัดแจ้ง ซึ่งขณะนี้ก็ยังแลเห็นร่องรอยอยู่





รั้วไม้ไผ่เทียมแบบญี่ปุ่นอาจก่อให้เกิดแรงบันดาลใจให้หลายคนสร้างรั้วเรียบง่ายเช่นนี้


แผนที่ในบันทึกของลาลูแบร์ตีพิมพ์ปลายคริสต์ศตวรรษที่17 แสดงที่ตั้งหมู่บ้านชาวญี่ปุ่น ซึ่งตั้งเยื้องไปทางใต้คนละฝั่งกับชุมชนโปรตุเกส ประชุมพงศาวดารเล่ม๑๓ เรื่องทางพระราชไมตรีระหว่างไทยกับญี่ปี่น รวบรวมโดย เซอร์ เออร์เนส ซาโตว (Sir Earnest Satow)อดีตเอกอัครราชทูตอังกฤษ ณ กรุงเทพฯ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว ระบุว่า ยามาดะ จิซายิมองโนโจ นางามาสา เคยได้รับความไว้วางใจเป็นผู้แต่งเรือให้คณะทูตสยามจำทูลพระสุพรรณราชสาส์นไปเจริญพระราชไมตรีไมตรีกับราชสำนักโชกุนอิเยยัสสุ(ปชพ. เล่ม๑๓ น.๑๔๗)และยังเขียนหนังสือแนะนำราชทูตสยามแก่ขุนนางญี่ปุ่นหลายครั้ง อาทิ ในปีพ.ศ.๒๑๖๔ และพ.ศ.๒๑๗๒(ปชพ. ล.๑๓ น.๑๗๗)



เคยหลายท่านคงเคยทราบมาจากเอกสารฝ่ายไทยว่า ท่านยามาดะ นางามาสาผู้นี้ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์จากสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมเป็น ออกญาเสนาภิมุข เจ้ากรมอาสาญี่ปุ่น ตำแหน่งหลังสุดก่อนถึงแก่มรณกรรม คือ เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช แต่เซอร์ เออร์เนสท์ ซาโตว ลำดับให้เห็นว่า หลักฐานหลายชิ้นของพ่อค้าอังกฤษในญี่ปุ่น เช่น จดหมายเหตุของก๊อก เรียกตำแหน่งของยามาดะ นางามาสา ต่างกันออกไป ได้แก่ ออมพระ(Ompra) ออบพระ(Oppra) อัมปิรา(Ampira) และออมพู(Ompu) คำดังกล่าว เซอร์ซาโตว อ้างข้อเสนอของมร.เฟรนช์(E.H.French)เจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ ณ กรุงสยามว่า กลุ่มคำข้างต้น อาจหมายถึงนายอำเภอในภาษาไทย ซึ่งเป็นตำแหน่งที่หนังสือของสังฆราชปัลเลอร์กัวอธิบายว่า "เป็นตำแหน่งฝ่ายนครบาล ควบคุมราษฎรชั่วเขตหมู่บ้านหนึ่ง"(ปชพ.ล.๑๓น.๑๗๗) และเป็นตำแหน่งหัวหน้าคนต่างชาติในสยามด้วย อาทิ นายอำเภอจีน นายอำเภอญี่ปุ่น และนายอำเภออังกฤษ โดยนายอำเภอจะทำหน้าที่คล้ายกงศุลดูแลผลประโยชน์ของชนชาติตน(ปชพ.ล.๑๓น.๑๘๑


ยามาดะ จิซายิมองโนโจ นางามาสา หัวหน้าชาวญี่ปุ่นสมัยพระเจ้าทรงธรรม(ภาพจากwikipedia.comขอขอบคุณอย่างยิ่ง)

แม้หนังสือของเซอร์ซาโตว(ปชพ.ล.๑๓น.๒๔๐)จะพยายามบอกให้เราทราบว่า เมื่อสิ้นกรุงกรุงศรีอยุธยาในพ.ศ.๒๓๑๐ บ้านเรือนใน "ค่ายญี่ปุ่น" รวมถึงบรรดลูกหลานก็พากันสูญหายไปจนหมดสิ้น กระนั้นก็ตาม จารึกพระราชทานที่ดินแก่ชาวโปรตุเกสซึ่งมีบทบาทช่วยเหลือพระเจ้าตากสินในการขับไล่พม่าออกไปจากเมืองบางกอก ภาษาโปรตุเกส ศักราช ๑๗๖๘ (พ.ศ.๒๓๑๑)ซึ่งพบจากการบูรณะวัดซางตาครูส (บ้านกุฎีจีน ฝั่งธนบุรี)ระบุถึงชื่อของ "Catharina do Rozr.viuva(หม้าย)กับหลานชาย (Netto)ชื่อ Pedro Jamada " (P. Manuel Teixeira, Portugal na Tailandia, 1983 p.80-84)บ่งชี้ว่า แม้เวลาจะผ่านล่วงเลยมาถึงรัชสมัยพระเจ้าเอกทัศน์แล้ว แต่ลูกหลานของคนในสกุล "ยามาดะ" ยังคงอาศัยอยู่ในหมู่บ้านญี่ปุ่นและยังคงมีสายสัมพันธ์ทางเครือญาติกับคนในค่ายโปรตุเกส ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกันมาโดยตลอด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น