วันจันทร์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2553

การติดต่อระหว่างยุโรปกับเอเชียก่อนการเข้ามาของชาวโปรตุเกส



(แผนที่ transasiaได้รับความเอื้อเฟื้อจาก Wikipedia)

พิทยะ ศรีวัฒนสาร

การเดินทางติดต่อค้าขายระหว่างมนุษยชาติในพื้นที่ต่างๆ ส่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมอย่างเด่นชัด จากหลักฐานประวัติศาสตร์ ชาวยุโรปและเอเชียเคยมีการติดต่อกันมาเป็นเวลานานแล้วผ่าน 3 เส้นทาง ดังนี้

เส้นทางที่1 เริ่มต้นเดินบกที่เมืองฉางอันหรือฉีอาน(Chang-an หรือ Si-an ในจีน) ผ่านเทือกเขาเทียนซาน(Tien-shan) ผ่านคัชการ์(Kashgar) ทัชเคนท์(Tashkent)ของอิรัก ดามัสกัส(Damascus)ของซีเรีย แล้วขนถ่ายสินค้าลงสู่ทะเลเมดิเตอเรเนียนหรืออาจเดินทางจากบัคคารา(Bukhara) ขึ้นเหนือข้ามทะเลแคสเปียนสู่กรุงคอนสแตนติโนเปิล(Constantinople) เมืองหลวงของอาณาจักรไบแซนไทน์(Byzantyne)แล้วข้ามทะเลดำและทะเลเมดิเตอเรเนียนไปลงท่าที่เมืองเยนัว(Genoa) เรียกว่า “เส้นทางสายไหม(Silk-route)”

เส้นทางที่2 เดินเรือจากกวางตุ้งหรือไซตัน(ทางเหนือของกวางตุ้ง)เลาะชายฝั่งอันนัม จัมปา กัมพูชา อ่าวไทย ผ่านช่องแคบมะละกา เลียบชายฝั่งของพม่าและอินเดียสู่อ่าวเปอร์เซีย แล้วขึ้นบกผ่านอิรักและซีเรีย(ดินแดนเมโสโปเตเมียเก่า) จากนั้นจึงขนถ่ายสินค้าข้ามทะเลเมดิเตอเรเนียนสู่เมืองเวนิส(Venice)หรือเมืองเยนัว
เส้นทางที่3 ออกจากอเลกซานเดรียเมืองท่าชายฝั่งทะเลเมดิเตอเรเนียน(ของอียิปต์) ข้ามทะเลอาระเบียนสู่เมืองกาลิกัต(Calicut)บนชายฝั่งมะละบาร์ของอินเดียใต้ หรือมุ่งสู่เมืองดิว(Diu)และแคมเบย์(Cambay)ทางเหนือของเมืองกัวและเมืองกาลิกัต เลียบชายฝั่งทะเลสู่ศรีลังกาผ่านทะเลอันดามันไปยังเกาะสุมาตรา ผ่านช่องแคบมะละกาสู่หมู่เกาะโมลุกกะ(หมู่เกาะเครื่องเทศ)

เส้นทางแรกเป็นเส้นทางที่ชาวยุโรปเคยใช้ในการเดินทางมายังเอเชีย ส่วนเส้นทางที่2-3ถูกพ่อค้าจีนและมุสลิมควบคุมหลังจากกรุงคอนสแตนติโนเปิลถูกจักรวรรดิออตโตมันเติร์กยึดครองเมื่อพ.ศ.1916(ค.ศ.1373) เส้นทางที่2-3จึงถูกอิทธิพลของชาวมุสลิมครอบงำตั้งแต่ด้านตะวันออกของทะเลเมดิเตอเรเนียน คาบสมุทรบอลข่านและแอฟริกาเหนือ ชาวยุโรปจึงไม่สามารถเดินทางบกมาติดต่อค้าขายกับเอเชียได้ดังเดิม โปรตุเกสซึ่งต้องการเครื่องเทศ พริกไท ไหม เครื่องถ้วยจีน งาช้าง ไม้หอมและสินค้าพื้นเมืองจึงริเริ่มค้นหาเส้นทางเดินเรือเพื่อการค้าขายกับเอเชียทางทะเลโดยไม่ต้องผ่านดินแดนของชาวมุสลิม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น