วันอาทิตย์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ร่องรอยของบาทหลวงคณะเยซูอิตในเมืองพระนครศรีอยุธยา

โดย พิทยะ ศรีวัฒนสาร

ในรัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ(พ.ศ.2148-2163) บาทหลวงคณะเยซูอิตจำนวนหนึ่งภายใต้การนำของบาทหลวงบัลธาซา ดึ เซไกรา(Balthazaหรือ Baldassar de Segueira)ชาวโปรตุเกส เดินทางเข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในกรุงศรีอยุธยาครั้งแรกเมื่อพ.ศ.2152 แต่ก็เมื่อมาถึงกรุงศรีอยุธยาได้ประมาณ 2 ปีครึ่งก็ป่วยและเสียชีวิตขณะเดินทางกลับไปรักษาตัวที่เมืองกัวหรือเมืองโคชินในอินเดีย ทำให้ไม่มีบาทหลวงคณะเยซูอิตเหลืออยู่ในกรุงศรีอยุธยา

ครั้นถึงเดือนมีนาคม พ.ศ.2169 ปลายรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม(พ.ศ.2163-2171) สังฆมณฑลแห่งมาเก๊าได้ส่งบาทหลวงคณะเยซูอิตภายใต้การนำของบาทหลวงเปโตร มาริฮอน(Petro Marijon ชาวสเปน) บาทหลวงอันตอนิอู คาร์ดิง(Antonio Cardim ชาวโปรตุเกส)และบาทโรมาโน นิไซ(Romano Nixiชาวญี่ปุ่น)เข้ามา“สร้างบ้านเยซูอิตหลังแรกในสยาม”ซึ่งอาจอยู่ในค่ายญี่ปุ่นที่มีชาวคาทอลิกรวมประมาณ 400 คน จนกระทั่งพ.ศ.2175 ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง(พ.ศ.2173-2198) ทางการสยามได้ปราบปรามและกวาดล้างชุมชนญี่ปุ่นอย่างรุนแรง ส่งผลให้ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากรวมถึงบาทหลวงนิไซหลบหนีไปยังเมืองนครศรีธรรมราชและหนีต่อไปยังอาณาจักรกัมพูชาตามลำดับ ต่อมาไม่นานนักบาทหลวงนิไซก็เสียชีวิตที่มาเก๊า ทำให้การเผยแพร่ศาสนาคริสต์ยุคแรกของบาทหลวงนิกายเยซูอิตสิ้นสุดลง

ระหว่างพ.ศ.2182-2186 มีบาทหลวงคณะเยซูอิตแวะผ่านเข้ามายังเมืองพระนครศรีอยุธยาเป็นระยะเวลาสั้นๆก่อนเดินทางต่อไปยังลาวหรือญี่ปุ่น คณะเยซูอิตเริ่มมีบทบาทอีกครั้งเมื่อบาทหลวงโทมัสโซ วัลกูอาร์เนรา(Tomasso Valguarnera ชาวซิซิเลียน) เดินทางจากมาเก๊าเข้ามาเผยแพร่ศาสนาระหว่างพ.ศ.2198-2213 ก่อนย้ายไปรับตำแหน่งผู้ตรวจการแขวงปกครองจีนญี่ปุ่นระหว่างพ.ศ.2213-2218 และกลับมาเสียชีวิตที่กรุงศรีอยุธยาเมื่อพ.ศ.2220
บาทหลวงวัลกูอาร์เนราได้รับยกย่องว่า เป็นผู้มีความสามารถด้านการออกแบบก่อสร้างและด้านวิศวกรรม สมเด็จพระนารายณ์(พ.ศ.2199-2231)จึงโปรดเกล้าฯให้เป็นผู้ออกแบบสร้างป้อมหลายแห่งทั้งในเมืองพระนครศรีอยุธยา นนทบุรีและบางกอก รวมถึงการออกแบบพระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ด้วย

บาทหลวงวัลกูอาร์เนราเป็นผู้สร้าง“บ้านเยซูอิตหลังที่2”ในชุมชนค่ายโปรตุเกสเมื่อพ.ศ.2199 และสร้างโรงเรียนขึ้นที่บ้านพักแห่งนี้เมื่อพ.ศ.2208 จดหมายเวียนของคณะเยซูอิตบันทึกว่า บาทหลวงวัลกูอาร์เนราสร้างวิทยาลัยเยซูอิตในค่ายโปรตุเกสระหว่างพ.ศ.2203-2213 จากทรัพย์สินจำนวน14,000 ซิวดี โรมานี( Seudi Romani) ของนักสอนศาสนาผู้ช่วย(Brother)คณะเยซูอิตชื่อ เซบัสติอาว อันดรึช (Sebastião Andres) อดีตกัปตันเรือชาวโปรตุเกสซึ่งมอบแก่บาทหลวงวัลกูอาร์เนราก่อนที่จะเสียชีวิต เมื่อ“วัดเยซูอิต”ถูกไฟไหม้เสียหายในปีพ.ศ.2201 สมเด็จพระนารายณ์ก็โปรดเกล้าฯให้สร้างวัดใหม่พระราชทานแก่บาทหลวงวัลกูอาร์เนรา

นับตั้งแต่พ.ศ.2198-2252 มีบาทหลวงคณะเยซูอิตประมาณ 33 คนผ่านมาพักที่ “บ้านเยซูอิตในสยาม” จำแนกเป็นชาวโปรตุเกส 19 คน เบลเยียม 1 คน โปแลนด์ 1 คน ญี่ปุ่น 1 คนและชาวฝรั่งเศส 4 คน ในจำนวนนี้มี16 คนแวะเข้ามาพักก่อนเดินทางต่อไปยังจีนหรือถูกขับไล่มาจากมิซซังอื่นๆใกล้เคียงกับประเทศสยาม โดยปกติแล้วบ้านเยซูอิตในสยามจะมีบาทหลวงพำนักประจำเพียง 2 คน บางครั้งอาจมีถึง 4 คน แต่ก็ไม่บ่อยนัก

ประมาณกลางพุทธศตวรรษที่23 บ้านเยซูอิตมีบาทหลวงกาสปาร์ ดา คอสตึ(Gaspar da Coste)พำนักอยู่เพียงผู้เดียว และหลังจากที่บาทหลวงผู้นี้เสียชีวิตในปีพ.ศ.2252 ก็ไม่มีบาทหลวงคณะเยซูอิตพำนักอยู่ที่บ้านเยซูอิตในเมืองพระนครศรีอยุธยาอีกเลย ซึ่งก็สอดคล้องกับหลักฐานของโปรตุเกสที่ระบุว่า มีการขับไล่นักบวชนิกายเยซูอิตออกจากประเทศโปรตุเกส ในปีค.ศ.1759 ต่อเนื่องมาถึงคริสตศตวรรษที่20 จึงส่งผลให้เกิดการขาดช่วงการปฏิบัติหน้าที่ในการเผยแพร่ศาสนาของบาทหลวงคณะเยซูอิตชาวโปรตุเกสก่อนเสียกรุงศรีอยุธยา

บาทหลวงนิกายเยซูอิตมักจะได้รับการยกย่องว่า มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์และอักษรศาสตร์อย่างกว้างขวาง และมีบทบาทเป็นที่ยอมรับตลอดมาจนถึงรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ บันทึกของชาวฝรั่งเศสซึ่งเดินทางเข้ามากรุงศรีอยุธยาระบุว่า ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ชุมชนโปรตุเกสมีสมาชิกเป็น “พวกเข้ารีต” ซึ่งหมายถึงผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกประมาณ 2,000-3,000 คน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น