ความโดดเด่นของเรือซากรืช คือการชักใบและบังคับขับเคลื่อนด้วยกำลังคนเป็นหลัก แทนการใช้เทคโนโลยีทันสมัย ซึ่งนัยหนึ่งเป็นการสืบสานประเพณีการเดินเรือแบบดั้งเดิมของประเทศที่เคยมี อดีตเป็นนักผจญภัยและเกรียงไกรด้านการเดินเรือ และเพื่อให้นักเรียนนายเรือได้เรียนรู้การเดินเรือและรู้จักท้องทะเลอย่าง ถึงแก่น นอกจากนี้ ซากรืชยังเป็นเหมือนโรงเรียนชีวิตให้เหล่านักเรียนนายเรือ ได้ฝึกพัฒนาความเชื่อมั่นในตัวเอง ความกล้าหาญ ความเด็ดเดี่ยวและศักยภาพในการตัดสินใจ ซึ่งแน่นอนว่าคุณสมบัติเหล่านี้คือสิ่งที่กองทัพเรือทุกแห่งแสวงหาในตัวของผู้นำ
สยาม-โปรตุเกสศึกษา. มิติทางประวัติศาสตร์ สังคมและวัฒนธรรมบนพื้นฐานการวิเคราะห์ ตีความและวิพากษ์อย่างเข้มข้น โดย พิทยะ ศรีวัฒนสาร องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร Siam-Portuguese Studies. Articles and knowledge management concerning to historical, archaeological and cultural relationship between Siam and Portugal by Bidya Sriwattanasarn, non- profit organization.
วันจันทร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2553
เรือซากรีส
ความโดดเด่นของเรือซากรืช คือการชักใบและบังคับขับเคลื่อนด้วยกำลังคนเป็นหลัก แทนการใช้เทคโนโลยีทันสมัย ซึ่งนัยหนึ่งเป็นการสืบสานประเพณีการเดินเรือแบบดั้งเดิมของประเทศที่เคยมี อดีตเป็นนักผจญภัยและเกรียงไกรด้านการเดินเรือ และเพื่อให้นักเรียนนายเรือได้เรียนรู้การเดินเรือและรู้จักท้องทะเลอย่าง ถึงแก่น นอกจากนี้ ซากรืชยังเป็นเหมือนโรงเรียนชีวิตให้เหล่านักเรียนนายเรือ ได้ฝึกพัฒนาความเชื่อมั่นในตัวเอง ความกล้าหาญ ความเด็ดเดี่ยวและศักยภาพในการตัดสินใจ ซึ่งแน่นอนว่าคุณสมบัติเหล่านี้คือสิ่งที่กองทัพเรือทุกแห่งแสวงหาในตัวของผู้นำ
วันจันทร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2553
(ร่าง)การผนวกราชอาณาจักรโปรตุเกสเข้ากับสเปนและการเข้ามาของชาวยุโรปชาติอื่นๆ : ความตกต่ำทางการเมืองชองชุมชนโปรตุเกสในสยาม
โปรตุเกสเป็นดินแดนบนคาบสมุทรไอบีเรียทางทิศตะวันตกเฉียงใต้สุดของทวีปยุโรป ทางทิศตะวันตกและทิศใต้ จรดมหาสมุทรแปซิฟิก ทางทิศตะวันออกและทิศเหนือติดกับประเทศสเปน โดยมีหมู่เกาะอาซูรึช (Azores)และหมู่เกาะมาไดรา ( Madeira) ในมหาสมุทรแอตแลนติก เป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของประเทศ พื้นที่ประเทศโปรตุเกสปัจจุบัน เคยมีการตั้งถิ่นฐานกันมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และเมื่อจักรวรรดิโรมันผนวกเอาพื้นที่ดังกล่าวเป็นแคว้นลูซิตาเนีย (Lusitania) และส่วนหนึ่งของแคว้นแกลลิชี(Gallaecia) จึงมีชาวลูซิตาเนียนและชาวแกลีชีเข้ามาตั้งถิ่นฐานเมื่อ 29 ปีก่อนคริสต์ศักราช วัฒนธรรมโปรตุเกสจึงได้รับอิทธิพลมาจากผู้ตั้งถิ่นฐานชาวโรมันอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะคำในภาษาโปรตุเกสจำนวนมากพัฒนามาจากภาษาโรมัน ภายหลังจากการล่มสลายของจักรวรรดิโรมันในคริสต์ศตวรรษที่ 5 ประเทศโปรตุเกสถูกครอบครองโดยชาวเยอรมันหลายเผ่า ส่วนใหญ่เป็นเผ่าซูวี (Suevi) และเผ่าวิสิโกธ(Visigoths) ต่อมาในตอนต้นคริสต์ศตวรรษที่ 8 ชาวมุสลิมได้ยกเข้ามายึดครองอาณาจักรของพวกซูวีและวิสิโกธ ซึ่งมีพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในคาบสมุทรไอบีเรีย............(ขอขอบคุณข้อมูลจากhttp://en.wikipedia.org/wiki/Portugal) ...............
การถูกผนวกเข้าอยู่ภายใต้การปกครองของสเปนในปี พ.ศ.2123 และการเข้ามาของฮอลันดา อังกฤษ และฝรั่งเศส เป็นปัจจัยแห่งความเสื่อมอิทธิพลของโปรตุเกสในสยาม ความสัมพันธ์ระหว่างทางการสยามกับชุมชนโปรตุเกสจึงเริ่มมีปัญหา กล่าวคือในปี พ.ศ.2138 ชาวโปรตุเกสชื่อ ดิเอกู เวลูซู (เดียโก เบโลโซ ตามหลักฐาน สเปน) ซึ่งพำนักอยู่ในกัมพูชา ได้รับแต่งตั้งเป็นทูตกัมพูชาไปขอความช่วยเหลือจากมะนิลา เพื่อต่อต้านการรุกรานของสยาม แต่ปรากฏว่าเขาถูกจับกุมเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา พร้อมด้วยชาวโปรตุเกสจำนวนหนึ่ง คนเหล่านี้ได้รับความเดือดร้อน เมื่อมาอยู่รวมกันในกรุงศรีอยุธยา จึงวางแผนขอกำลังทหารสเปนจากมะนิลามาสนับสนุนอาณาจักรกัมพูชารบกับสยาม[1] เมื่อสมเด็จพระนเรศวรทรงมีพระราชประสงค์ม้าพันธุ์คาสตินเลียนจากมะนิลา จึงทรงให้บาทหลวงนิกายฟรานซิสกัน ซึ่งเป็นเชลยอยู่ในกรุงศรีอยุธยา “แต่ง หรือ แปล? ” พระราชสาส์นถึงผู้สำเร็จราชการสเปนแห่งมะนิลา แล้วโปรดฯให้นำช้าง 2 เชือก และงาช้าง 1 กิ่งไปพระราชทานด้วย เวลูซู พร้อมด้วยทูตสยามออกเดินทางจากกรุงศรีอยุธยาไปยังมะนิลา
กัปตันแห่งมะละกาไม่เห็นด้วยกับแผนการให้ทางการสเปนช่วยกัมพูชารบกับสยามจึงกักตัวเวลูซูไว้ และพยายามจะเอาช้างลงจากเรือเพื่อส่งไปยังเมืองกัว แต่เวลูซู สามารถเดินทางต่อไปยังมะนิลาได้หลังจากกำจัดขุนนางสยามสำเร็จ ความพยายามในการขอกำลังทหารสเปนจากมะนิลาไปช่วยพระเจ้ากรุงกัมพูชาของเวลูซู สัมฤทธิ์ผลแม้ว่าหลักฐานสเปนจะระบุว่า กองทหารสเปนเป็นเพียงหน่วยทหารรับจ้าง รายงานถวายพระเจ้าฟิลิปเปที่2 ของฟรานซิสโก เตโยแห่งมะนิลา กล่าวว่า เมื่อเรือของผู้สำเร็จราชการดัสมารีญ์สแล่นหลงทางไปเทียบท่าใกล้เมืองมาเก๊า เรือมีสภาพรั่วและจวนจะอับปางต้องขนสัมภาระลง นายดัสมารีญ์ส พยายามติดต่อซื้อเรือจากชาวจีน 1 ลำ แต่ถูกชาวโปรตุเกสแห่งมาเก๊าขัดขวาง แต่ในที่สุดก็ได้รับความช่วยเหลือจากชาวสเปน ทำให้ชาวโปรตุเกสแห่งมาเก๊ากลับล่าถอยไป[2]
จะเห็นได้ว่า ทางการโปรตุเกสทั้งมะละกาและมาเก๊าต่างก็ไม่ได้มีส่วนร่วมรู้กับดิเอกู เวลูซู ในการดึงสเปนเข้ามาสนับสนุนให้กัมพูชาต่อต้านอำนาจของสยาม จึงเชื่อว่าชุมชนโปรตุเกสในกรุงศรีอยุธยา จะไม่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบระหว่างสยามกับกัมพูชาในปี พ.ศ.2138 เพราะเมื่อชาวโปรตุเกสและบาทหลวงซึ่งพำนักอยู่ในกัมพูชาถูกกวาดต้อนจากกัมพูชาเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา มีหลักฐานว่าพระเจ้ากรุงสยามกลับโปรดให้นำบาทหลวงผู้หนึ่งไปประจำในพระราชสำนัก ส่วนชาวโปรตุเกสคนอื่นๆนั้นได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พำนักในชุมชนโปรตุเกส ดังปรากฏในหลักฐานของสเปน คือ จดหมายของเอร์นันโด เด โลส รีโอส โกโรเนล ถึง ดอกเตอร์ อันโตนิโอ เด มอร์กา เมื่อ พ.ศ.2141-2142 ระบุถึงนักบวชคณะดูมินิกันชาวโปรตุเกสซึ่งอาศัยอยู่ในราชสำนักสยามเป็นเวลา2ปี เป็นผู้ทำหน้าที่สั่งสอนทั้งพวกพ่อค้าโปรตุเกสในเมืองพระนครศรีอยุธยาและชาวโปรตุเกสที่ถูกกวาดต้อนจากกัมพูชาและกรุงหงสาวดี เมื่อครั้งที่สยามทำสงครามกับอาณาจักรทั้งสอง
ต่อมา พวกโปรตุเกสเหล่านี้กับพวกที่อยู่ในชุมชนโปรตุเกสเดิม มีเหตุวิวาทกับชาวสยามและฆ่าชาวสยามตายไป 1 คน พระเจ้ากรุงสยามทรงลงโทษพวกเขาโดยการนำไปทอดในน้ำมันทั้งเป็น 4-5 คน [3] และห้ามมิให้ชาวโปรตุเกสอื่นๆ และนักบวชชาวโปรตุเกสออกจากกรุงศรีอยุธยาหรือพระราชอาณาจักร แม้ว่าพวกเขาจะกราบทูลอ้อนวอนขอพระบรมราชานุญาตเดินทางออกนอกพระราชอาณาจักรก็ตาม
ดังนั้นเมื่อเห็นว่าพวกตนไม่ได้รับการปฏิบัติที่ดีดังเดิม ชาวโปรตุเกสกลุ่มดังกล่าวจึงวางแผนกับบาทหลวงฆวน มัลดูนาดู แห่งคณะดูมินิกัน (ซึ่งเดินทางมาจากกัมพูชา) ลอบเดินทางออกไปกับเรือของนายดอน ฆวน เมโดซา พ่อค้าชาวสเปน
เมื่อเมโดซาจัดการธุรกิจเรียบร้อยแล้ว แม้จะไม่ได้รับพระราชสาส์นตอบผู้สำเร็จราชการสเปนแห่งมะนิลาจากพระเจ้ากรุงสยาม และไม่สามารถขายสินค้าได้ผลกำไรตามที่ต้องการ แต่เขาก็ตัดสินใจล่องเรือลงไปตามลำน้ำแล้วแวะรับบาทหลวงชาวโปรตุเกสกับบาทหลวงจอร์เก เดอ ลามอตตา นิกายดูมินิกัน และผู้ติดตามจำนวนหนึ่งบริเวณนอกพระนครห่างลงไปประมาณ 2 ลีก เมื่อพระเจ้ากรุงสยามทรงทราบ จึงโปรดให้แต่งเรือมะลายูจำนวน 40 ลำ พร้อมด้วยปืนใหญ่และทหารมากมายออกติดตาม"ไม่ว่าจะจับเป็นหรือจับตาย"
ชาวโปรตุเกสเหล่านี้หนีกลับไปยังมะนิลาได้อย่างบอบช้ำโดยใช้เส้นทางโคชินไชน่า และได้รับความช่วยเหลือจากเรือโปรตุเกส ปรากฏว่าบาทหลวงมัลดูนาดู นายเมนโดซาและชาวสเปนอีก 8 คนเสียชีวิต[4]
สาเหตุบาดหมางระหว่างชุมชนโปรตุเกสกับชาวสยาม อาจนำมาสู่นโยบายเมินเฉยต่อชุมชนชาวโปรตุเกสของทางการสยามหลังปีพ.ศ.2141 กล่าวคือ เมื่อสเปนส่งทูตเข้ามา สำเนาพระราชสาส์นสมเด็จพระนเรศวร ลงวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2141 ถึงผู้สำเร็จราชการสเปนแห่งมะนิลา (นายฟรานซิสโก เตโย) ระบุว่าทรงมีพระราชประสงค์จรรโลงพระราชไมตรีกับสเปน และจะปฏิบัติต่อชาวโปรตุเกสในกรุงศรีอยุธยาตามนโยบายของสเปน โดยพระองค์ทรงยืนยันว่า
ข้าพเจ้าได้รับคณะทูตของท่านด้วยความพึงพอใจเป็นอย่างยิ่ง และข้าพเจ้ามีความปรารถนามาช้านานแล้ว ที่จะมีมิตรภาพอันมั่นคงและจริงแท้ระหว่างเรานับแต่บัดนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าใคร่ขอให้ท่านรักษาทางไมตรีนี้ และอาณาจักรของข้าพเจ้าก็จะยืนหยัดเคียงข้างทางไมตรีนี้ อาณาจักรของท่านและอาณาจักรของเราจักเป็นมิตรประเทศต่อกัน และเป็นมิตรโดยเฉพาะกับมหานครมะนิลาของท่าน นี่คือหน้าที่ของข้าพเจ้าและของท่าน เพราะข้าพเจ้าได้มองมุ่งหมายถึงท่านเสมอที่จะรักษามิตรไมตรีอันมั่นคง พระเจ้ากรุงโปรตุเกสจะทรงหยิบอาวุธขึ้นโดยลำพังพระองค์เอง เพราะขณะนี้เกิดความเดือดร้อนขึ้นบางประการจากกัปตันแห่งมะละกาคือ ดารูคา เฟียออน (Daroca Fiaon) เพื่อการนี้ ข้าพเจ้าจึงได้ให้สัตย์ปฏิญาณแก่ไมตรีอันมีขึ้นใหม่อีกครั้งนี้ดังได้เคยให้มาแล้ว สำหรับชาวโปรตุเกสนั้นไม่ว่าท่านจะขอร้องหรือออกคำสั่งประการใด ประเทศ (นี้) จะดำเนินการตามนั้น
ในปี พ.ศ.2153 ชาวฮอลันดาเดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมนั้น ชาวฮอลันดาได้ทำในสิ่งที่แตกต่างจากทัศนคติของทางการโปรตุเกศที่ค่อนข้างเมินเฉยต่อสยามหลังจากสถาปนาความสัมพันธ์กับพะโคไม่นานนัก* กล่าวคือฮอลันดาได้ตอบสนองความต้องการของราชสำนักสยามในเรื่องช่างต่อเรือ ช่างไม้ ช่างเคลือบและช่างฝีมืออื่นๆ นอกจากนี้เจ้าชายออเรนจ์แห่งฮอลันดา ยังได้ถวายอาวุธปืนแด่กษัตริย์สยาม รวมทั้งส่งทหารไปช่วยสยามรบกับหลวงพระบาง(ล้านช้าง)ในปี พ.ศ.2155 ส่งทหารไปช่วยรบกับกัมพูชาในปี พ.ศ.2163[5] และยังได้ส่งเรือรบจำนวน 6 ลำไปช่วยรบกับปัตตานีในปี พ.ศ.2177 ด้วย[6]
ส่วนทางการโปรตุเกสกลับมีท่าทีต่อสยามค่อนข้างเมินเฉย มิหนำซ้ำยังเกรงว่าฮอลันดาจะเป็นพันธมิตรกับสยาม และอาจสอนวิทยาการเกี่ยวกับปืนใหญ่และตำราพิชัยสงครามให้แก่ชาวสยามด้วย[7]
การที่ฮอลันดาได้ลงนามในสัญญาสิทธิพิเศษการค้าหนังสัตว์เมื่อปี พ.ศ.2160 สร้างความไม่พอใจแก่พ่อค้าโปรตุเกสและอังกฤษ ชาวโปรตุเกสในเมืองพระนครศรีอยุธยาได้ประท้วงด้วยการยึดเรือฮอลันดาลำหนึ่งไว้ ทางการสยามจึงบังคับให้คืนเรือให้แก่พ่อค้าฮอลันดา แต่ชาวโปรตุเกสกลับโจมตีเรือของสยามก่อน จึงก่อให้เกิดการสู้รบระหว่างสยามกับโปรตุเกสขึ้น[8]
จดหมายถวายพระเจ้าฟิลิปเปที่ 4 กล่าวถึงการส่งทหารสเปนจากมะนิลา ไปช่วยป้องกันมาเก๊า จากการปิดล้อมของฮอลันดา[9] ภายใต้การนำของนาย เฟร์นันโด เด ซิลบา ระหว่างทางได้แวะเข้าพักที่สยาม และได้จับกุมเรือของชาวฮอลันดาในแม่น้ำเจ้าพระยา พระเจ้ากรุงสยามทรงให้นาย เด ซิลบา ปล่อยเรือฮอลันดาและคืนทรัพย์สินแก่พ่อค้าฮอลันดา เมื่อได้รับการปฏิเสธจึงโปรดให้กองเรือสยามและทหารญี่ปุ่นโจมตี
ทหารสเปนส่วนใหญ่ถูกจับกุมในการรบและถูกยึดเรือไว้ ทางการสเปนแห่งมะนิลาทราบข่าวดังกล่าวผ่านทางมาเก๊า จึงส่งบาทหลวงชื่อเปดรู มูรีฌอน (Pedro Morejon) อดีตพระสังฆาธิการแห่งญี่ปุ่น เป็นทูตมาขอเจรจากับพระเจ้ากรุงสยาม พระเจ้ากรุงสยามจึงโปรดให้รับไมตรีและอนุญาตให้บาทหลวงสเปนเข้ามาเผยแพร่ศาสนาได้อีกครั้งหนึ่งใน พ.ศ.2169
การส่งทหารสเปนจากมะนิลาไปช่วยป้องกันมาเก๊า จากการปิดล้อมของฮอลันดาในปี พ.ศ.2168 แสดงให้เห็นถึงความผูกพันระหว่างสเปนกับโปรตุเกสในตอนกลางพุทธศตวรรษที่22 ต่อมาหลักฐานอีกชิ้นหนึ่งของสเปนระบุว่า พ.ศ.2168-2169 เรือสเปนได้ยึดเรือของพระเจ้ากรุงสยาม ซึ่งบรรทุกสินค้าจะไปเมืองจีน และเรือที่กำลังเดินทางกลับจากเมืองกวางตุ้ง ในปี พ.ศ.2173 เรือสเปนก็ยึดเรือสินค้าของสยามอีกหลายครั้ง โดยสเปนถือว่าเป็นการยึดเรือเพื่อแก้แค้น มิใช่เป็นการปล้น[10]
บันทึกของ แวน โซเต็น (Van Schouten)พ่อค้าฮอลันดาเมื่อปี พ.ศ.2179 เป็นหลักฐานร่วมสมัยที่กล่าวถึงความบาดหมางระหว่างทางการสยามและชุมชนโปรตุเกสค่อนข้างละเอียด ว่า
"ก่อนหน้าที่ชาวฮอลันดาจะเดินทางเข้ามาในประเทศนี้ ชาวโปรตุเกสได้รับการยกย่องอย่างสูง พระเจ้าแผ่นดินสยามทรงแสดงความนับถือยิ่งต่อคณะทูตของอุปราชอินเดียและบิชอพชาวมาเลย์* ซึ่งได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ทำหน้าที่ดูแลกิจการของโบสถ์ ชาวโปรตุเกสเริ่มเสียคะแนนนิยมทันทีที่ชาวฮอลันดาเข้ามามีบทบาท และในที่สุดสัมพันธภาพระหว่างสยามกับโปรตุเกสก็ได้สิ้นสุดลง ชาวโปรตุเกสคอยดักจับเรือสินค้าของชาวสยาม ระหว่างทางไปแซงตวน (Saintoine) และนีกาปาทาน และในปี พ.ศ.2167 โปรตุเกสยึดเรือรบของฮอลันดาในแม่น้ำเจ้าพระยา อย่างไรก็ตาม พ่อค้าชาวโปรตุเกสไม่ได้ออกไปจากสยาม แต่พวกเขายังคงพำนักอยู่ในประเทศนี้ โดยมิได้รับความเอาใจใส่และความเชื่อถือจากชาวบ้าน ดังนั้นในขณะนี้จึงมีชาวโปรตุเกสที่โดนเนรเทศจำนวนเล็กน้อยเท่านั้น ที่ยังคงอาศัยอยู่ที่นั่น ในปี พ.ศ.2174 พระเจ้าแผ่นดินสยามได้ยึดเรือสินค้าของโปรตุเกส และจับลูกเรือไว้เป็นเชลย เพื่อเป็นการตอบโต้การกระทำของโปรตุเกส สองปีต่อมาพวกเขาหลุดพ้นจากการตกเป็นเชลยโดยการอ้างสิทธิ์ทางการทูต ที่ท่าเรือเมืองนครศรีธรรมราชและตะนาวศรี เรือของสเปนและโปรตุเกสถูกยึดแต่พระเจ้าแผ่นดินทรงปล่อยให้ลูกเรือเป็นอิสระ และทรงให้ลูกเรือนำพระราชสาส์น ไปมอบให้ผู้สำเร็จราชการเมืองมะนิลา และเมืองมะละกา ในพระราชสาส์นนั้น พระองค์ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ชาวโปรตุเกสเข้ามาทำการค้าขายและตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศสยามได้ ซึ่งอาจจะทำให้พวกเขากลับเข้ามาอีกก็เป็นได้"[11]
แวน โซเตน ระบุถึงสาเหตุที่ทำให้ชุมชนโปรตุเกสถูกกดดันจากทางการสยามว่า
" พระเจ้าแผ่นดินองค์ปัจจุบันโปรดชาวต่างชาติ เช่นเดียวกับพระเจ้าแผ่นดินองค์ก่อนๆ แต่พระองค์ทรงโปรดชาวฮอลันดามากกว่าชาวโปรตุเกส ฝ่ายหลังนั้นในปี พ.ศ.2167 ได้ยึดเรือฮอลันดาในแม่น้ำเจ้าพระยา พระเจ้าแผ่นดินสยามจึงได้ยึดเรือของดอน เฟอร์นันโด เดอ ซิลวา ยึดลูกเรือไว้เป็นเชลย และคืนเรือและสินค้าในเรือให้แก่ฮอลันดา ยังผลให้ชาวสเปนและชาวเมืองมะนิลา ได้ประกาศสงครามกับพระองค์ พร้อมทั้งจับกุมคนในบังคับของพระองค์ที่เดินทางไปค้าขายกับจีนไว้เป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณราชอาณาจักรสยาม ชาวฮอลันดาได้ให้พระเจ้าแผ่นดินสยามยืมเรือของฮอลันดา 6 ลำ ในปี พ.ศ.2177 เพื่อช่วยเหลือพระองค์ในการเตือนสติพวกปัตตานี ซึ่งอยู่ในบังคับของพระองค์ มิให้ก่อความวุ่นวายขึ้น"[12]
การที่ฮอลันดาได้รับสิทธิพิเศษมากมาย ทำให้การค้าในสยามขณะนั้นดีขึ้นมาก พ่อค้าฮอลันดาจึงมีอิทธิพลในราชสำนักสยามมากยิ่งขึ้น ในปี พ.ศ.2180-2181 บาทหลวงจูลิอู ซีซาร์ (Julio César) ในบังคับของโปรตุเกสถูกฆ่าตายและสยามได้ทำสงครามกับมะละกา ต่อมาได้ส่งทูตไปยังมะนิลาเพื่อขอเจรจาสันติภาพเนื่องจากเกรงอิทธิพลทางทหารของฮอลันดา ผู้สำเร็จราชการสเปนได้ส่งทูตไปยังสยาม ในปี พ.ศ.2261 พ่อค้าสเปนได้รับอนุญาตให้ตั้งสถานีการค้าในบริเวณค่ายญี่ปุ่นเดิม แต่เมื่อสยามส่งทูตตอบกลับไปยังมะนิลากลับมิได้รับการต้อนรับ ดังนั้น สัมพันธไมตรีระหว่างมะนิลากับสยามจึงชะงักลงอีก และในปี พ.ศ.2290 ทูตสยามและพ่อค้าสยามได้เดินทางไปยังมะนิลาเพื่อเจรจาทางการค้าทำให้มะนิลาส่งทูตตอบกลับมาใน พ.ศ.2295[13]
สำหรับชุมชนโปรตุเกสนั้น แม้จะมีส่วนร่วมในการสนับสนุนสมเด็จพระนารายณ์ยึดราชสมบัติจากสมเด็จพระศรีสุธรรมราชา แต่หลักฐานที่ข้าหลวงใหญ่และเคาน์ซิลแห่งปัตตาเวียเขียนถึงบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดาในสยาม ลงวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2205 กล่าวถึงความบาดหมางระหว่างชุมชนชาวโปรตุเกสกับทางการสยามในปีนั้นว่า เกิดจากความไม่พอใจที่พ่อค้าโปรตุเกสถูกเกณฑ์ทรัพย์สินไปชดเชยความถดถอยพระราชทรัพย์ของพระคลังหลวงเนื่องจากการทำสงคราม จึงเป็นสาเหตุให้พ่อค้าโปรตุเกสส่วนหนึ่งแสดงปฏิกิริยาต่อต้านทางการสยาม และพยายามหาทางไปจากกรุงศรีอยุธยา กล่าวคือ
"...ด้วยเหตุนี้ ชาวโปรตุเกสจึงรู้สึกไม่พอใจ และยอมละทิ้งถิ่นอาศัยกลับไปบ้านเมืองของตน และคงจะไม่คิดกลับมาอีกเป็นเวลานาน เมื่อพวกโปรตุเกสล่องเรือไปตามลำน้ำออกสู่ทะเลนั้น พวกนี้ได้ขนเอากำปั่นเงินไปด้วยมากมาย ของพวกนี้เป็นของสมัครพรรคพวกของออกญาพิจิตร[14] จ่ายเป็นค่าเสียหายให้แก่พวกโปรตุเกส และถึงแม้พวกนี้จะได้คัดค้านด้วยประการทั้งปวงก็ดี แต่ก็ยังอุตส่าห์ส่งคนให้ขึ้นไปรายงานให้นายของเขาที่อยู่ทางต้นน้ำทราบถึงเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นกับพวกเขา ซึ่งทำให้พวกโปรตุเกสยิ่งโกรธแค้นมากขึ้น เหตุการณ์มิได้ยุติลงแค่นั้น พวกโปรตุเกสได้สั่งการให้พวกตนเข้าทำลายเรือสำเภาหลวงหลายลำที่เตรียมไว้สำหรับเดินทางไปยังเมืองกวางตุ้ง ทั้งนี้ก็เนื่องด้วยพวกนี้ขุ่นเคืองที่พระเจ้ากรุงสยามทรงจัดส่งคณะทูตไปยังโคชิน"[15]
การทิ้งถิ่นพำนักของพวกเขาเมื่อตอนต้นรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ อาจเกิดขึ้นกับพ่อค้าเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น มิได้รวมถึงชาวโปรตุเกสทั้งชุมชน
การอ้างอิง
[1] จันทร์ฉาย ภัคอธิคม , ประวัติศาสตร์ไทยสมัยแรกเริ่มจนถึงสมัยธนบุรี : การศึกษาเฉพาะ ประเด็น (กรุงเทพ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง , 2520), หน้า40-41.
[2] เรื่องเดียวกัน, หน้า61 , 89.
[3] เรื่องเดียวกัน, หน้า115.
[4] เรื่องเดียวกัน, หน้า92-94.
* มาเรีย ดา กงไซเซา ฟลูรึช , ความสัมพันธ์ระหว่างโปรตุเกสและสยามในคริสศตวรรษที่ 16 , แปลโดย มธุรส ศุภผล (เอกสารยังไม่ตีพิมพ์) , ใน บทที่4 บทบาททางการค้าของชาวโปรตุเกสในกรุงศรีอยุธยา.
[5] W.Blankwaardt, " Notes upon the Relations between Holland and Siam" , The Siam Society Journal Vol. III (1959):19.
[6] นันทา ตันติเวสส, เรื่องเดิม, หน้า15.
[7] W.Blankwaardt, op.,cit., p.18-19.
[8] สมจัย อนุมานราชธน, เรื่องเดิม , หน้า19-20.
[9] จันทร์ฉาย ภัคอธิคม, เรื่องเดิม, หน้า126.
[10] เรื่องเดียวกัน, หน้า126-134.
* หมายถึงบาทหลวงชาวโปรตุเกสในมะละกา
[11] นันทนา ตันติเวสส, เรื่องเดิม, หน้า13-14.
[12] จันทร์ฉาย ภัคอธิคม, เรื่องเดิม, หน้า15.
[13] เรื่องเดียวกัน, หน้า135-142.
[14] ออกญาพิจิตรผู้นี้ แปลจากต้นฉบับว่า " Oija Preekijt " , ดู กรมศิลปากร, บันทึกเรื่อง สัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศในคริสตศตวรรษที่17 เล่ม2 , หน้า55. แต่ไม่เคยปรากฏว่า ออกญาพิจิตรมีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจการค้ากับต่างประเทศ ที่ถูกเห็นจะเป็นออกญาโกษาธิบดี ซึ่งปรากฏอยู่ในหลักฐานของวัน วลิต (หน้า144) ว่า "Trachousa Tsibidi" ขุนนางบางคนชื่อ "Gpreckedeke" ใน บันทึกเรื่องสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศฯ เล่ม1, หน้า59. แปลว่าออกพระโชดึก ใกล้เสียงในภาษาไทย และสอดคล้องกับพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน เพราะหลวงโชดึกเศรษฐี ได้ว่าวิลันดา (เจ้ากรมท่าซ้าย)
[15] กรมศิลปากร, บันทึกเรื่องสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศฯ เล่ม1, หน้า57-58.
ความขัดแย้ง ข่าวลือ และการดิ้นรนทางการเมืองของชุมชนโปรตุเกสสมัยสมเด็จพระนารายณ์
นอกจากชุมชนโปรตุเกสจะบาดหมางกับทางการสยามแล้ว ยังมีเรื่องขัดแย้งกับบาทหลวงฝรั่งเศสด้วย ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ หลักฐานของบาทหลวง เดอ ชัวซีย์ กล่าวว่าความขัดแย้งจากการแข่งขันเผยแพร่ศาสนาคริสต์ นำมาสู่ความระหองระแหงระหว่างชาวฝรั่งเศสกับชุมชนโปรตุเกส เมื่อราชทูต เซเบเร่ต์ และลาลูแบร์ เดินทางเข้ามาในปี พ.ศ.2228 หัวหน้าชุมชนชาวโปรตุเกสก็มิได้ออกไปต้อนรับตามธรรมเนียมสยาม กล่าวคือ มีชาวต่างชาติ 43 ชาติมาเยี่ยมคำนับราชทูตฝรั่งเศส ยกเว้นชาวโปรตุเกส
เมื่อคอนสแตนติน ฟอลคอน ขอร้องโดยอ้างพระบรมราชโองการ หัวหน้าชุมชนโปรตุเกสได้ตอบอย่าง "กวนโทสะเป็นที่สุด" ตามรายงานของบาทหลวงเดอ ชัวซีย์ว่า ม. เดอ เมเตลโลโปลิส ก็ไม่ได้ไปเยี่ยมแสดงความชื่นชมยินดีต่อราชทูตของเขาเช่นกัน และบาทหลวง เดอ ชัวซีย์ วิจารณ์ต่อไปว่า[1]
"...จะไปเอาอะไรเล่ากับบุคคลที่ยื่นฟ้องท่านเจ้าคณะเขตเผยแพร่พระคริสต์ศาสนา แล้ใช้ความพยายามทุกวิถีทางเพ็ดทูลสมเด็จพระเจ้ากรุงสยาม ให้ขับท่านออกไปให้พ้นประเทศสยามเช่นนี้" [2]
ทางการโปรตุเกสแห่งมาเก๊าและอินเดียไม่ให้เกียรติราชทูตสยามและการเยียวยาที่ไม่ใคร่จะทุเลาผล
อย่างไรก็ดี เมื่อกรุงศรีอยุธยาแลเห็นว่าผลประโยชน์ของการติดต่อพระราชไมตรีกับประเทศฝรั่งเศสมีมากกว่าโปรตุเกส จึงปรากฏว่าแม้เรือซึ่งส่งทูตไปยังโปรตุเกสจะอับปางลงที่แหลมกู๊ดโฮป แต่สมเด็จพระนารายณ์ก็มิได้ทรงปริวิตกเท่าใดนัก จดหมายของชาวฝรั่งเศสระบุว่า
"ปีกลายนี้ ฮอลันดาได้มาข่มขู่พระเจ้ากรุงสยาม ฮอลันดาได้ส่งข่าวว่าทูตไทยเรือแตกที่แหลมกู๊ดโฮป เรือดังกล่าวเป็นของชาติโปรตุเกส 2 ลำ ได้มีคนมาบอกข้าพเจ้าว่า พระเจ้ากรุงสยาม คงมีพระทัยยินดีที่ทราบข่าวเรือที่จะไปโปรตุเกสแตกแล้ว เท่าๆกับทรงยินดีว่าทูตไทยไปถึงฝรั่งเศสโดยสวัสดิภาพ ขณะเดียวกันก็อาจจะทรงเสียพระทัยที่ได้คิดอ่านทำพระราชไมตรีกับชาติอื่น เพราะถ้าได้ทำพระราชไมตรีกับประเทศฝรั่งเศสประเทศเดียวก็พออยู่แล้ว" [4]
เบื้องลึกการที่ราชสำนักสยามไม่ไว้ใจชุมชนโปรตุเกส
การที่สยามต้องเผชิญการกดดันจากประเทศใกล้เคียงเป็นระยะๆ สะท้อนให้เห็นถึงความตื่นตัวของชาวสยามและชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในเมืองพระนครศรีอยุธยา ที่จะต้องต่อสู้เอาตัวรอดจากการแย่งชิงอำนาจระหว่างรัฐใกล้เคียง และการปกป้องผลประโยชน์ของรัฐพื้นเมือง
ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์เป็นต้นมา ชุมชนโปรตุเกสมิได้เป็นผู้นำความรู้สมัยใหม่เกี่ยวกับอาวุธปืนและศิลปวิทยาการต่างๆแต่เพียงผู้เดียวอีกต่อไป จึงอาจเป็นสาเหตุอีกประการหนึ่งที่ทำให้สถานะทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมของพวกเขาตกต่ำลง
สมาชิกชุมชนโปรตุเกสได้ใช้ความพยายามทุกด้านเพื่อเรียกร้องความสำคัญและเกียรติยศของชุมชนกลับคืนมา ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนการยึดอำนาจทางการเมืองหรือการใช้จิตวิทยาโฆษณาชวนเชื่อหลายๆด้าน ดังปรากฏอยู่ในหลักฐานของบาทหลวงฝรั่งเศสเกี่ยวกับการดูหมิ่นเหยียดหยามชาวฝรั่งเศสของชาวโปรตุเกสในรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา[6] อันเป็นการใช้จิตวิทยาตาม "กระแสต่อต้านฝรั่งเศส" ของทางการสยามในขณะนั้น เป็นต้น
หลักฐานเอกสารของชาวฝรั่งเศสชี้ให้เห็นชัดเจนว่า ชุมชนโปรตุเกส นับเป็นแหล่งก่อตัวของข่าวลือในสยามหลายๆ เป็นระยะๆ ซึ่งประเด็นนี้ในอีกแง่มุมหนึ่งอาจแสดงให้เห็นว่า การสร้างข่าวลือหรือการแพร่ข่าวต่างๆออกมาจากชุมชนโปรตุเกสนั้น เป็นพฤติกรรมเรียกร้องความสำคัญแก่ตนเองก็ได้ หลังจากถูกมองข้ามไปเป็นเวลานาน
วิถีชีวิต อาหาร งานเฉลิมฉลอง และการเสด็จฯเยือนชุมชนโปรตุเกสของวังหน้าสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ
การดำเนินชีวิตของชาวโปรตุเกสในเมืองพระนครศรีอยุธยาผูกพันกับพิธีกรรมตามความเชื่อในศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาธอลิก ศาสนาคือสิ่งหล่อหลอมความเป็นชุมชน นับตั้งแต่การรับศีลมหาสนิทหรือศีลล้างบาป การร่วมพิธีมิซซาทุกวันอาทิตย์ การรับศีลแต่งงาน การเฉลิมฉลองวันคริสต์มาส [1] การเฉลิมฉลองวันนักบุญ การทำพิธีในงานศพ การฉลองวันครองราชย์ ประสูติ หรือวันสิ้นพระชนม์ของกษัตริย์และราชินีโปรตุเกส[2] แม้กระทั่งการเฉลิมฉลองแสดงความยินดีต่อการเดินทางเข้ามาของคณะทูตชาติต่างๆ[3] นอกจากนี้ในงานฉลองวันนักขัตฤกษ์ประจำปีตามประเพณีทางศาสนาของชุมชนโปรตุเกสยังมีการแสดงละครและการเต้นรำตามแบบอย่างของชาวโปรตุเกสด้วย การเฉลิมฉลองเช่นนี้คงมีความยิ่งใหญ่มาก ทำให้เจ้าชายมกุฏราชกุมาร ( o Principe Coroado) ในสมเด็จพระเจ้าท้ายสระเสด็จฯมาทอดพระเนตรและเข้าร่วมในพิธีมิซซาด้วยในปี พ.ศ.2257 ขณะที่มีการแสดงละครและเต้นรำในชุมชนโปรตุเกส หลักฐานของบาทหลวงโลเนย์ระบุว่า มีเจ้าชายสยามพระองค์นี้เสด็จมายังโบสถ์ของบาทหลวงชาวโปรตุเกส[4]
บาทหลวงคณะเยซูอิตชื่อ ฟิลิป ซิบิน (Filip Sibin) ระบุว่า เจ้าชายที่เสด็จมาเยือนชุมชนโปรตุเกสเสด็จมาพร้อมกับพระชายา โดยมีพระประสงค์เพื่อเข้าร่วมในการประกอบพิธีมิซซา และประทับอยู่ร่วมในพิธีนานถึงสี่ชั่วโมงเศษ พระองค์ทรงฟังเทศน์อย่างตั้งใจ ตั้งแต่เวลา 4 ทุ่มเศษ จนถึงตีสาม บาทหลวงฟิลิป ซิบิน ได้ทำหน้าที่บรรยายถึงความศักดิ์สิทธิ์ของขั้นตอนต่างๆในพิธีให้แก่เจ้าชาย ส่วนพระชายาของพระองค์ก็ทรงประทับใจต่อการประดับตกแต่งภายในโบสถ์ของชุมชนเป็นอันมาก
หลักฐานระบุว่าเจ้าชายมกุฏราชกุมารพระองค์นี้ทรงเป็นพระโอรสของสมเด็จพระเจ้าท้ายสระทรงพระนามว่าเจ้าฟ้านเรนทร์* ทรงเป็นพระเชษฐาของเจ้าฟ้าอภัยและเจ้าฟ้าปรเมศร์ และพระชายาของพระองค์ก็ทรงเป็นพระขนิษฐาของพระองค์ด้วย[5] หลังการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระเจ้าท้ายสระในปี พ.ศ.2275 สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ (กรมพระราชวังบวรสถานมงคลในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ) โปรดให้สำเร็จโทษเจ้าฟ้าอภัยและเจ้าฟ้าปรเมศร์เสีย แต่เจ้าฟ้านเรนทร์เสด็จออกผนวชหนีราชภัย[6] การเสด็จมาเยี่ยมชุมชนโปรตุเกสของเจ้าฟ้านเรนทร์ตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ แม้จะเป็นส่วนหนึ่งของพระกรณียกิจในฐานะที่ทรงบังคับบัญชากรมท่าขวา แต่กระนั้น เหตุการณ์ที่ชาวค่ายโปรตุเกสมีส่วนสนับสนุนการรัฐประหารในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมและสมเด็จพระนารายณ์ การเสด็จฯครั้งนี้ อาจเป็นส่วนหนึ่งในการพยายามสร้างความประทับใจให้เกิดขึ้นแก่ชาวค่ายโปรตุเกส โดยอาจทรงหวังผลบางอย่างในระยะเวลาอันเหมาะสมก็ได้
ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ การเฉลิมฉลองในชุมชนโปรตุเกสได้ถูกจัดขึ้นเช่นเดียวกับในอาณานิคมแห่งอื่นๆของโปรตุเกส หลักฐานของบาทหลวงตาชารต์ระบุว่า
" หลังจากเราเดินทางมาถึงสยาม (ตุลาคม พ.ศ.2228) ได้มีการจัดงานเฉลิมฉลองขึ้นที่ค่ายโปรตุเกส 2 วาระด้วยกัน งานแรกเนื่องในโอกาสวันประสูติของสมเด็จพระราชินีแห่งโปรตุเกส และงานที่สองเป็นการรำลึกถึงกษัตริย์ ดอง อาฟองซู[7] บาทหลวงซูอารึช (P. Soares) และบาทหลวงผู้หนึ่งแห่งคณะดูมินิกัน ได้ขึ้นเทศนาในพิธีสิ้นพระชนม์ดังกล่าว หลังจากนั้นที่โบสถ์ของคณะดูมินิกันซึ่งมีบาทหลวงหลายคน ก็ได้จัดพิธีเฉลิมฉลองการครองราชย์ของกษัตริย์ดอง ปึดรู (D. Pedro) พระเจ้าแผ่นดินแห่งโปรตุเกสองค์ปัจจุบัน โดยซิงญอร์ กงสตันตินู (Sr.Contantino) เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเพื่อเป็นการอุทิศถวายแด่กษัตริย์ผู้สิ้นพระชนม์ "[8]
บาทหลวงตาชารต์ระบุว่า งานเลี้ยงฉลองการครองราชย์ของเจ้าชายแห่งยอร์ค (Duque de York) ไม่มีการจัดพิธีมิซซา เพราะทรงนับถือนิกายโปรแตสแตนต์ แต่พิธีเฉลิมฉลองก็ดำเนินไปอย่างเรียบง่ายหมดจด ตาชารต์ระบุว่าตลอดเวลาที่จัดเฉลิมฉลองมีอาหารบริการอย่างอุดมสมบูรณ์ มีการเชิญตัวแทนของชาวยุโรปทุกชาติมาร่วมงานด้วยได้แก่ ชาวฝรั่งเศส อังกฤษ โปรตุเกส และฮอลันดา[9] แต่ปรากฏว่าราชทูต เดอ โชมองต์ ของฝรั่งเศสมิได้ไปร่วมงานเลี้ยงฉลองนี้ ทำให้ชาวโปรตุเกสโต้ตอบด้วยการไม่ไปในงานเลี้ยงต้อนรับราชทูต เดอ โชมองต์ เช่นกัน
งานฉลองการครองราชย์ของกษัตริย์ ดอง ปึดรู ถูกจัดขึ้นที่ทำเนียบของฟอลคอนด้วย เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2228 หลักฐานของบาทหลวง เดอ ชัวซีย์ ระบุว่า ในงานเลี้ยงนี้ ราชทูตฝรั่งเศสได้ดื่มถวายพระพรแด่กษัตริย์โปรตุเกสและสยาม ส่วนฟอลคอนก็ได้ดื่มถวายพระพรแก่กษัตริย์ฝรั่งเศส พระราชวงศ์ และท่านทูตด้วย จากนั้นจึงมีการยิงสลุตปืนใหญ่[10]
อาหารที่จัดเลี้ยงในวันนั้น ได้แก่ สตูว์ญี่ปุ่น และอาหารโปรตุเกส บาทหลวงเดอ ชัวซีย์ วิจารณ์ว่าอาหารญี่ปุ่นรสชาติดี ส่วนอาหารโปรตุเกสไม่อร่อย[11] แต่ทัศนะของบาทหลวง เดอ ชัวซีย์คงเกิดขึ้นจากอคติทางเชื้อชาติเช่นเดียวกับหลักฐานของฝรั่งเศสชิ้นอื่นๆ
การจัดงานฉลองในชุมชนโปรตุเกสเป็นเพียงเหตุการณ์ส่วนหนึ่งที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของพวกเขา อย่างไรก็ตาม ภายในชุมชนโปรตุเกสยังมีวัฒนธรรมประเพณีที่เกี่ยวข้องกับการเริ่มต้นใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันของหนุ่มสาวเชื้อสายโปรตุเกส เพื่อสืบสานสกุลวงศ์ของตน และประเพณีที่ถูกจัดขึ้นเนื่องในวาระสุดท้ายของชีวิต ประเพณีดังกล่าวนี้มีพิธีกรรมทางศาสนาเป็นกระบวนการอันจะขาดเสียมิได้ ที่สำคัญก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นเกี่ยวเนื่องกับพิธีกรรมเหล่านี้ เป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นเรื่องราวส่วนหนึ่งทางประวัติศาสตร์ที่แทรกซ้อนอยู่ในวิถีชีวิตของพวกเขา
การอ้างอิง
[1] นันทา สุตกุล, เรื่องเดิม, หน้า267.
[2] ประชุมพงศาวดารเล่ม 21, หน้า87-94.
[3] เดอ ชัวซีย์, เรื่องเดิม, หน้า367.
[4] P.Manuel Teixeira, ibid., p.74.
* เจ้าฟ้ากรมขุนนเรนทร์ทรงเป็นพระโอรสองค์โตในสมเด็จพระเจ้าท้ายสระและเป็นโอรสบุญธรรมของเจ้าวังหน้า (สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ) เมื่อครบเกณฑ์ได้เสด็จออกผนวชเพื่อแสดงพระประสงค์ว่าไม่ต้องการราชสมบัติ สมเด็จพระเจ้าท้ายสระจึงทรงมอบราชสมบัติแก่เจ้าฟ้าอภัยและเจ้าฟ้าปรเมศร . อ้างจาก โสพิศ หนูทอง, เรื่องเดิม, หน้า27,31.
[5] P.Manuel Teixeira, op.cit., 74-75.
[6] Ibid, p.75.
[7] บาทหลวงไตไซรา อธิบายว่าเป็นพิธีรำลึกถึงวันสิ้นพระชนม์ของกษัตริย์ ดอง อาฟองซู ที่6 (สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ.2225) และฉลองวันประสูติของสมเด็จพระราชินีแห่งโปรตุเกส ในวันเดียวกัน, P. Manuel Teixeira, ibid., p.67.
[8] P. Manuel Teixeira, op.cit., p.67 อ้างจากหลักฐานของบาทหลวงตาชาร์ด
[9] Ibid., p.67.
[10] Ibid., p.67.
[11] เดอ ชัวซีย์, เรื่องเดิม, หน้า 415-416.
(ร่าง)อาณานิคมฮอลันดาในเอเชียและความขัดแย้งกับชุมชนโปรตุเกสในสยาม
ภาพแสดงที่ตั้งถิ่นฐานของอาณานิคมฮอลันดาที่ปัตตาเวีย ค.ศ. 1665 (Dutch settlement in the East Indies. Batavia, Java ปัจจุบัน คือ กรุง จาร์กาตา- Jakarta),
แผนที่แสดงที่ตั้งของเมืองมะละกา อดีตอาณานิคมของโปรตุเกส ขณะอยู่ภายใต้การยึดครองของฮอลันดา(A Dutch map of Malacca 1750. )
การแต่งงานหญิงโปรตุเกสกับหนุ่มฝรั่งเศสที่เมืองพระนครศรีอยุธยา : ความรักกับความขัดแย้งทางศาสนา
บ็อกเซอร์(C.R. Boxer) กล่าวว่า เด็กๆที่เกิดจากชาวโปรตุเกสกับทาสหญิง มักจะไม่ค่อยได้รับการเอาใจใส่ยอมรับหรือได้รับการศึกษา และมักจะได้รับการดูถูกจากชาวโปรตุเกสผู้มาใหม่ไม่ว่าจะเป็นนักบวชนิกายเยซูอิต หรือแม้แต่ทหารหนุ่มวัยรุ่นหรือผู้ที่เพิ่งจะเดินทางมาจากสลัมต่างๆในลิสบอน (Lisboa) และอูปอร์ตู (Oporto)[2]
ประมาณปี พ.ศ.2123 บาทหลวงชาวอิตาเลียนแห่งคณะเยซูอิตซึ่งเดินทางเข้ามายังเอเชียได้จำแนกพลเมืองโปรตุเกสออกเป็น 5 กลุ่ม ดังนี้ พวกแรก เรียกว่า ไรนอล (Reinol) หมายถึง ชาวโปรตุเกสที่เกิดในยุโรป พวกที่สอง คือพวกที่เกิดในอินเดียโดยมีมารดาเป็นชาวยุโรป พวกที่สาม มีบิดาเป็นชาวยุโรป มารดาเป็นคนครึ่งชาติ (Eurasian) พวกที่สี่เป็นคนครึ่งชาติแท้ๆ พวกที่ห้า เป็นชาวพื้นเมืองเลือดอินเดียและพวกที่แทบจะไม่มีสายเลือดยุโรปเลย ซึ่งเขาระบุว่าไม่เหมาะที่จะให้บวชเป็นบาทหลวงในคณะเยซูอิต[3]
บ็อกเซอร์กล่าวว่า โดยพื้นฐานแล้วชาวโปรตุเกสที่เกิดในยุโรป (Reinol) ส่วนมากจะไม่รู้หนังสือ หรือ เมื่อเป็นทหารแล้วจึงได้รับการสอนให้อ่านออกเขียนได้ระหว่างการฝึกทหาร ขณะที่ชาวโปรตุเกสที่เกิดในอินเดียก็มักจะถูกมองว่าเป็นคนชั่วร้ายอ่อนแอโง่เง่า เพราะถูกเลี้ยงดูจากทาสหญิงท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่เลวร้าย และชาวอินเดียพื้นเมืองจะไม่ได้รับโอกาสให้เข้าบวชเลย สำหรับพวกคนครึ่งชาติ (เมสติซูส -Mestiços) อาจได้รับอนุญาตให้ถือบวชได้ตามความเหมาะสม แต่มีข้อพิจารณาว่ายิ่งพวกเมสติซูสมีลักษณะผิวพรรณและรูปร่างหน้าตาออกไปทางอินเดียมากเท่าใด พวกเขาก็ยิ่งนับถือชาวโปรตุเกสน้อยลงมากเท่านั้น หลังจากนั้นไม่นาน ก็มีรายงานของบาทหลวงคณะฟรานซิสกันระบุถึงภาพพจน์ของชาวโปรตุเกสผิวสีต่างๆในทางที่ดีขึ้น[4] บาทหลวงผู้นี้กล่าวว่า อันที่จริงแล้วนโยบายสนับสนุนให้ชาวโปรตุเกสแต่งงานกับชาวพื้นเมืองของ อัลบูแกรร์กึ มุ่งเน้นให้ชาวโปรตุเกสเลือกแต่งงานกับหญิงผิวขาว หรือแม่หม้ายมุสลิมผิวขาวเชื้อสายอารยันซึ่งสามีเสียชีวิตจากการปราบปรามของทหารโปรตุเกส และอัลบูแกรร์กึ ยังห้ามมิให้ผู้ใต้บังคับบัญชาแต่งงานกับหญิงสาวผิวดำเผ่า ดราวิเดียนจากเมืองท่าชายฝั่งมะละบาร์ ซึ่งชาวโปรตุเกสมักจะเรียกว่า ผู้หญิงนิโกร แต่ดูเหมือนว่าลูกน้องของ อัลบูแกร์กึ จะไม่ใส่ใจเท่าใดนัก นโยบายของ อัลบูแกร์กึถูกวิจารณ์อย่างรุนแรงเป็นเวลานาน กระนั้นก็มิได้ส่งผลให้สตรีผิวขาวชาวโปรตุเกสในอินเดียเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างเพียงพอต่อความต้องการตามสัดส่วนที่เหมาะสมได้เลย ทำให้ชาวโปรตุเกสจำเป็นต้องแต่งงานกับผู้หญิงยูเรเซียน หรือ เอเชียและแอฟริกัน ผู้ชายโปรตุเกสบางคน แม้จะมีนางบำเรอซึ่งมิได้สมรสอยู่แล้ว ก็ยังนิยมจะมีทาสสาวไว้ครอบครอง มากกว่าจะแต่งงานอย่างถูกต้องกับผู้หญิงผิวสี ยกเว้น หญิงคนนั้นจะมีฐานะร่ำรวย[5]
ดังได้กล่าวไปแล้วว่าในแต่ละปีจะมีชาวโปรตุเกสจำนวน 2-3 พันคนเดินทางออกไปยังอินเดีย แต่พวกเขาก็พากันล้มตายเป็นจำนวนมากด้วยโรคเมืองร้อน ปัญหาการลาออกจากงานก็มีอัตราสูง ทางการโปรตุเกสจึงต้องจ้างพวกเมสติซูสเข้าทำงาน ทำให้พวกยูเรเซียนมีจำนวนมากกว่าชาวยุโรปจากโปรตุเกสการแต่งงานกับชาวอินเดียจึงมีมากขึ้น บิดามารดาของพวกเมสติซูสส่วนใหญ่อยากให้ลูกสาวแต่งงานกับชาวโปรตุเกสที่เกิดในยุโรป พวกเขาจะผิดหวังถ้าลูกสาวแต่งงานกับพวกเมสติซูสด้วยกัน[6]
ในเมืองพระนครศรี อยุธยานั้น เป็นที่น่าสังเกตว่าแม้ทางการและศาสนจักรของโปรตุเกสกับฝรั่งเศส จะมีการขัดแย้งและบาดหมางกันเนืองๆ แต่ก็ปรากฏหลักฐานว่าลึกๆแล้วความขัดแย้งนั้นมิได้เป็นอุปสรรคต่อความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกชุมชน โปรตุเกสกับชาวฝรั่งเศส ซึ่งพำนักในสยามแต่อย่างใด
ในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2228 บาทหลวง เดอ ชัวซีย์ บันทึกไว้ว่า
“ วันนี้มีการสมรสระหว่างชายชาวฝรั่งเศสคนหนึ่ง ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยของบริษัท กับบุตรีของนายเรือสินค้าชาวปอร์ตุเกสคนหนึ่ง ชายชาวฝรั่งเศสชื่อ ม.คล็อช (M.Cloche) และชายชาวปอร์ตุเกสผู้นั้นชื่อ ฌัง ด’อาเบรโอ (M.d’Abreo) เป็นเพื่อนสนิทกับบาทหลวงมิซซังซึ่งเขาเคยพาไปที่เมืองตังเกี๋ย กับประเทศญวนใต้ หลายครั้งหลายหนแล้ว คู่บ่าวสาวได้หมั้นกันมานานตั้งสิบแปดเดือนแล้วและยังไม่เคยได้เห็นหน้าค่าตากันเลย การเสกสมรสในชมพูทวีปนั้น มิได้เป็นไปด้วยความรัก หรือผลประโยชน์แต่อย่างใดด้วยสินสอดน้อยนัก คู่สมรสก็ไม่เคยได้พบปะกันมาแต่ก่อน และด้วยความจำเป็นเท่านั้นที่เขาทั้งสองยอมตนเข้าอยู่ใต้แอกของชีวิตของผู้ครองเรือน”[7]
บันทึกของ เดอ ชัวซีย์ ชี้ให้เห็นว่า การแต่งงานระหว่างหญิงสาวจากชุมชนค่ายโปรตุเกส กับชายหนุ่มชาวฝรั่งเศสอาชีพเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยในบริษัทอินเดียตะวันออกของฝรั่งเศส อาจเกิดขึ้นเนื่องจากบิดาของฝ่ายหญิงคงได้ใคร่ครวญให้บุตรสาวของตนแต่งงานกับชายหนุ่มชาวยุโรปอาชีพเสมียนของบริษัทฝรั่งเศสซึ่งตั้งอยู่ในเมืองพระนครศรีอยุธยา การหมั้นหมายแต่งงานเกิดขึ้นเพราะ ด’อาเบรโอ* มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับบาทหลวงชาวฝรั่งเศสแห่งคณะมิซซังต่างประเทศ เพราะบาทหลวงผู้นี้เคยโดยสารไปโคชินจีนในเรือสินค้าของเขาบาทหลวงฝรั่งเศสจึงอาจชักนำให้ม.ด’อาเบรโอ ตัดสินใจหมั้นหมายบุตรสาวของตนกับเจ้าหน้าที่ของบริษัทฝรั่งเศสเพื่อความมั่นคงในชีวิตสมรสของบุตรสาว ทั้งๆที่ทั้งสองฝ่ายต่างก็ไม่เคยมีความรัก หรือ เคยพบหน้ากันมาก่อน บันทึกของเดอ ชัวซีย์ ชี้ให้เห็นว่า สินสอดในการตกแต่งหมั้นหมายกับหนุ่มสาวในชุมชนโปรตุเกส หรือชายหนุ่มที่เดินทางมาจากยุโรปมีมูลค่าเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ภายหลังการแต่งงาน จดหมายของ ม.เวเร่ต์ ระบุว่า ม.คล็อชได้ไปพำนักกับพ่อของภรรยาตนในชุมชนค่ายโปรตุเกสแทนที่จะพักในค่ายฝรั่งเศส หลักฐานของ ลาลูแบร์ ระบุว่า ม.ชาบอนโน อดีตเจ้าเมืองภูเก็ตก็แต่งงานกับสตรีชาวโปรตุเกส[8] ในเมืองพระนครศรีอยุธยาเช่นกัน
อย่างไรก็ดี อุปสรรคของความบาดหมางทางศาสนา ทำให้การแต่งงานของ ม.คล็อช กับบุตรสาวของ จูอาว ด’อาบรึอู เกือบจะไม่ราบรื่นไปตลอดทั้งชีวิต เมื่อ ม.คล็อช ซึ่งอาจจะได้รับการชี้แนะมาจากบาทหลวงคณะมิซซังต่างประเทศผู้เป็นเพื่อนสนิทของซินญอร์ ด’อาบรึอู ได้ตั้งข้อสงสัยว่าพิธีเสกสมรสที่คู่บ่าวสาวได้รับจากการประกอบพิธีของเจ้าคณะเขต (มุขนายกมิซซัง) โปรตุเกสชื่อบาทหลวง ดึ วาร์รึ(de Varre) มีความถูกต้องหรือไม่ ม.คล็อช จึงไปขอให้ ม.อะป็อสทอลิก มุขนายกมิซซัง คณะมิซซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีสของฝรั่งเศสประกอบพิธีรับศีลสมรสให้อีกครั้งหนึ่งที่โบสถ์ในค่ายเซนต์โยเซฟผลที่ตามมา คือ บาทหลวง ดึ วาร์รึ ได้แสดงปฏิกิริยาตอบโต้ด้วยการประกาศตัดครอบครัวของซินญอร์ ด’บรึอู ออกจากคริสต์ศาสนา(excommunication) [9]
“ ท่านจึงประกาศตัดเจ้าสาว ญัง ด’อาบริโอ บิดาของเธอ มารดา ป้า และครอบครัวของเธอทั้งหมดขาดจากพระศาสนา โดยมิได้มีการว่ากล่าวตักเตือน มิได้ทำการสอบถาม มิได้ฟังคำพยาน ตามแบบปฏิบัติใดๆทั้งสิ้น” [10]
ตามหลักฐานของ เดอ ชัวซีย์ [11]บาทหลวง ดึ วาร์รึ ขึ้นชื่อว่าเป็นคนเคร่งครัดเถรตรง แต่การประกาศตัดคนออกจากพระศาสนา ถือเป็นการคว่ำบาตรทางสังคมอย่างรุนแรง ซึ่งนอกจากจะไม่ได้รับโอกาสในการมีส่วนร่วมทางศาสนาแล้ว คนในชุมชนโปรตุเกสเองก็จะไม่คบค้าสมาคมอีกต่อไปด้วย เมื่อ ม.ฟอลคอน ทราบเหตุการณ์ก็ขยายผลของความบาดหมางระหว่างชุมชนชาวโปรตุเกสกับชาวฝรั่งเศสให้มากยิ่งขึ้น โดยการส่งคนไปจับกุมบาทหลวง ดึ วาร์รึ ในข้อหาบังอาจคว่ำบาตรคนในบังคับฝรั่งเศสออกจากพระศาสนา และข้อหาจะลงเรือเดินทางออกนอกพระราชอาณาจักรโดยมิได้กราบบังคมทูลหรือแจ้งให้เสนาบดีคนหนึ่งคนใดทราบล่วงหน้า แต่เรื่องก็ยุติลงด้วยดีเมื่อนักบวชคณะเยซูอิตชาวฝรั่งเศสซึ่งมีโบสถ์อยู่ในชุมชนโปรตุเกสเข้ามาไกล่เกลี่ยให้ปรองดองกันได้โดยบาทหลวง ดึ วาร์รึ ยินยอมออกประกาศเป็นลายลักษณ์อักษรว่า การประกาศตัดขาด ม.คล็อช และครอบครัวเกี่ยวดองเครือญาติในชุมชนโปรตุเกสออกจากพระศาสนาที่ได้กระทำไปนั้นไม่มีผลในทางปฏิบัติ เพราะเขาได้ฟังความมาผิดพลาด บาทหลวง เดอ ชัวซีย์ ได้แสดงทัศนะของตนว่า
“ แต่ความประพฤติอันโอหัง บังอาจแสดงความโง่เง่าเต่าตุ่นออกมาอย่างหยาบคายดังนี้ เป็นการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของบรรดาเจ้าคณะ อะป็อสทอลิกทั้งหลาย ซึ่งพวกปอร์ตุเกสพยายามใส่ร้ายมาเป็นเวลาตั้งยี่สิบปีมาแล้วนั้น ซึ่งพวกท่านได้รับความทุกข์ทรมาน มาด้วยความทรหดอดทนอย่างน่าสรรเสริญ”[12]
นอกจากการแต่งงานระหว่างชาวโปรตุเกสกับชาวฝรั่งเศสแล้วยังปรากฏหลักฐานสะท้อนให้เห็นถึงการแต่งงานระหว่างชาวสยามและชาวมอญกับชาวโปรตุเกสก่อนที่จะมีกฎหมายลักษณะอาญาหลวง ห้ามมิให้ชาวสยามและมอญยกลูกสาวให้แต่งงานกับชาวยุโรปและคนต่างชาติอื่นๆเพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาการมีใจฝักใฝ่ต่างชาติของลูกหลานที่เกิดมาภายหลัง[13] และโยส เซาเทนยังระบุถึงคนครึ่งชาติโปรตุเกสที่มีแม่เป็นชาวเอเชียด้วย* รวมทั้งยังมีหลักฐานจารึกประกาศเกียรติคุณของทหารชาวโปรตุเกสในสมัยกรุงธนบุรีระบุชื่อของชาวโปรตุเกสคนหนึ่งคือ ปึดรู ยามาดะ (Pedro Jamada) เป็นญาติกับแม่หม้ายชื่อคาธรีนา ดู รูซาริอู (Catharina do Rozario Viúva)** หญิงม่ายผู้นี้มีศักดิ์เป็นหลานของเขา หลักฐานนี้อาจเป็นข้อบ่งชี้ให้เห็นถึงการแต่งงานระหว่างชาวโปรตุเกสกับชาวญี่ปุ่นในสมัยอยุธยาได้ด้วย
[1]-[4] C.R. Boxer, Race Relation in the Portuguese Colonial Empire, 1415-1825, pp.60-63.
[5]-119 Ibid., pp.64-78.
[6] Ibid., p.78.
[7] เดอ ชัวซีย์, เรื่องเดิม, หน้า428.
* M. d’Abreo ออกเสียงแบบโปรตุเกสว่า (เมอร์ซิเยอร์ หรือ ซินญอร์) ดาบรึอู, เดอ ชัวซีย์ ระบุชื่อเต็มของ ดาบรึอู ว่า”ฌัง ดาเบรโอ” ซึ่งจะตรงกับชื่อโปรตุเกสว่า “João d’Breo ” เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาลูกหลานสกุล ดา บริอู ได้หนีไปหลบภัยสงครามที่เมืองโคราชชั่วคราวก่อนจะย้ายไปพำนักอยู่ในชุมชนโปรตุเกสที่กรุงธนบุรีในปี พ.ศ.2311 , อ้างจาก หลักฐานประกาศเกียรติคุณทหารชาวโปรตุเกสใน P.Manuel Teixeira, op.cit., p.81.
[8] ชิมอง เดอ ลาลูแบร์, เรื่องเดิม, หน้า406-407.
[9] ดู interdict และ excommunication ใน http://en.wikipedia.org/wiki/Interdict
[10] เดอ ชัวซีย์, เรื่องเดิม, หน้า442.
[11] เรื่องเดียวกัน.หน้า441.
[12] เดอ ชัวซีย์, เรื่องเดิม , หน้า442-443
[13] ประชุมพงศาวดาร เล่ม27, หน้า177-178
* มีคำอธิบายเพิ่มเติมอยู่ใน ประชุมพงศาวดารภาคที่ 76, หน้า34-37.
** อธิบายจากเนื้อหาในคำประกาศเกียรติยศชาวโปรตุเกส ใน P.Manuel Teixeira, op.cit., p.82.
*** ดูคำอธิบายจาก P.Manuel Teixeira , ibid., p.40-41.
วันศุกร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2553
เรือซาเกรสของโปรตุเกส( NRP Sagres ) เยือนประเทศไทย
ก่อนหน้าที่จะเดินทางมาถึงประเทศไทย เรือซาเกรส ได้แล่นเข้าไปจอดเทียบท่าที่เมืองกัว อดีตศูนย์บัญชาการของผู้สำเร็จราชการโปรตุเกสแห่งอินเดียมาแล้ว เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2553 ท่ามกลางการต้อนรับด้วยมิตรภาพของชาวอินเดียจำนวนหนึ่ง
การต้อนรับเรือซาเกรสที่เมืองกัว ประเทศอินเดีย(Thank you for the information from http://nizgoenkar.blogspot.com/2010/11/magnificient-diplomatice-send-of-to.html)
เรือซาเกรสกางใบกลางแม่น้ำเจ้าพระยา (ภาพโดย สุขสม หิรัญพันธ์)
เรือซาเกรสเป็นเรือใบ 3 เสา แบบ Tall ship (เรือเสาสูง ดู tall ship ในwikipedia เพิ่มเติม) เรือลำนี้เข้าประจำในกองทัพโปรตุเกสเมื่อค.ศ.1961 เดิมเป็นเรือของรัฐบาลนาซีเยอรมัน ต่อขึ้นเมื่อค.ศ.1937 หลังสงครามโลกครั้งที่2 ก็ถูกกองทัพเรือสหรัฐอเมริกายึดเป็นของรัฐบาลอเมริกัน และขายต่อให้รัฐบาลบราซิลในปีค.ศ.1948
เทพีประจำเรือ (ภาพจาก "ดาดา" ใน http://www.oknation.net/blog/dada/2010/10/13/entry-1 ขอขอบคุณเป็นอย่างยิ่ง)
ภาพจากดาดาใน http://www.oknation.net/blog/dada/2010/10/13/entry-1
คันบังคับหางเสือ(พวงมาลัย) ภาพจากhttp://www.oknation.net/blog/dada/2010/10/13/entry-1
เรือซาเกรสมีความยาว 89 เมตร กว้าง 12 เมตร กินนำลึก 5.2เมตร และมีระวางขับน้ำ 1,755 ตัน เสากระโดงของเรือซาเกรสสูง 42 เมตร ประกอบขับเคลื่อน 2 ระบบ ได้แก่ เครื่องยนต์ดีเซลและพลัง 22 ใบเรือ ที่คิดเป็นพื้นที่ 2,000 ตารางเมตร เมื่อกางใบรับลมเต็มที่เรือซาเกรสสามารถแล่นได้เร็วถึง 17 น็อต หรือ 31 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ข้อมูลจาก (Wikipedia)
วันพุธที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2553
การเปรียบเทียบภาพลายเส้นโบสถ์ซานโดมินิกัน(โบสถ์ซานเปโตร) ที่หมู่บ้านโปรตุเกสกับโบสถ์นักบุญยอแซฟและโบสถ์ซางตาครูซ
โบถ์นักบุญยอแซฟ อยุธยา
วันจันทร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2553
การเดินทาง 500 ปีของชื่อชนชาติโปรตุเกสในบริบทของสังคมไทย
ชาวโปรตุเกสเดินทางเข้ามาติดต่อกับกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2054 หลังการยึดครองมะละกา ความสัมพันธ์ระหว่างกรุงศรีอยุธยากับโปรตุเกสดำเนินสืบมา กว่า 480 ปี (พ.ศ.2054-2541) โปรตุเกสเคยเป็นประเทศจักรวรรดิยิ่งใหญ่มีอิทธิพลทางทะเลในแถบเอเชียกับแอฟริกาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่20 ถึงพุทธศตวรรษที่ 22 ส่งผลให้การค้าระหว่างรัฐของเอเชียและแอฟริกาในช่วงนั้นเคลื่อนไหวไปภายใต้การใช้ภาษาโปรตุเกสเป็นสื่อกลางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่สำคัญไม่น้อยกว่าภาษาจีน และอารบิก แม้ว่าโปรตุเกสจะหมดอิทธิพลทางทะเลไปในระยะหลัง แต่ภูมิภาคเอเชียส่วนใหญ่ยังใช้ภาษาโปรตุเกสเป็นภาษาสากลอีกภาษาหนึ่งในการติดต่อกับชาวยุโรปโดยเฉพาะในประเทศไทยนั้นเพิ่งจะเลิกใช้ภาษาโปรตุเกสเป็น “ภาษาทางการทูตใ” สำหรับการติดต่อกับชาติตะวันตกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้เอง
หลักฐานประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับโปรตุเกสตั้งแต่ รัชกาลที่1 ถึงรัชกาลที่5 เรียกนามของประเทศโปรตุเกสและชื่อของชนชาติโปรตุเกสแตกต่างกันออกไปคือ “แขกเมืองฝรั่งปัศตุกัน” (รัชกาลที่1) “กงศุลพุทเกต” (รัชกาลที่4) “กรุงโปรตุคอล ชาวโปรตุเคส กรุงโปรตุกัล ประเทศปอตุกัล” (รัชกาลที่5) และ “ริปับลิกโปรตุเกศ ประเทศโปรตุเกศ” (รัชกาลที่6) แต่ในสมัยอยุธยากลับไม่ปรากฏร่องรอยชื่อของชนชาติและประเทศโปรตุเกสในพระราชพงศาวดาร กฎหมาย และวรรณกรรมอื่นๆอย่างเด่นชัด นอกจากนี้ชื่อของชนชาติโปรตุเกสยังไม่สามารถรักษาความเป็นเอกลักษณ์ให้เห็นในหลักฐานฝ่ายไทยเช่นเดียวกับชื่อของชนชาติชาวยุโรปชาติอื่นๆ อาทิ ฝรั่งเศส อังกฤษและวิลันดา (ฮอลันดา) ทั้งๆที่โปรตุเกสเป็นฝรั่งชาติแรกที่เดินทางเข้ามาติดต่อค้าขายกับกรุงศรีอยุธยาและได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ทางใต้ของเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาจนกระทั่งกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าไปในปี พ.ศ.2310 ชุมชนเชื้อสายโปรตุเกสจึงอพยพออกไปตั้งบ้านเรือนอยู่ในย่านกุฏิจีนฝั่งธนบุรี (โบสถ์ซานตาครูซ)[1] และย่านบ้านญวนสามเสน (โบสถ์คอนเซ็ปชัน) สืบมาจนถึงปัจจุบัน
ในยุโรปก็มีคำเรียกตนเองของชาวโปรตุเกสว่า ลูโซ[2] หรือลูซู[3] (Luso-เพศชาย)ลูซา[4](Lusa–เพศหญิง) และลูซิตานู[5] (Lusitano–เพศชาย) ลูซิตานา[6] (Lusitana– เพศหญิง) ตรงกับภาษาอังกฤษว่า “Lusitanian” หมายถึงชาวโปรตุเกส คำกล่าวถึงชาว
คำกล่าวถึงชาวลูซิตาเนียน ปรากฏอยู่ในโคลงบทหนึ่งซึ่ง เซอร์จอห์น เบาว์ริ่ง รวบรวมไว้ เป็นโคลงสดุดีความกล้าหาญของชาวโปรตุเกสใน ตอนกลางพุทธศตวรรษที่ 21 ว่า
“ จากดินแดนลูซิตาเนียนทางตะวันตก
ข้ามมหาสมุทรไกลโพ้น ซึ่งยังไม่เคยมีใครไปถึง
ทิ้งไว้เบื้องหลังพวกเขา คือ ชายฝั่งทาโพรบานา
และในดินแดนอันไกลลิบ อาณาจักรต่างๆถูกสถาปนาขึ้น
ยังชื่อเสียงอันรุ่งโรจน์ของพวกเขาให้ขจรขจาย” [7]
สำหรับในประเทศไทยนั้น ช่วงเวลาเพียง 139 ปี (พ.ศ.2329-2468) นับตั้งแต่รัชกาล ที่ 1- 6 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เอกสารฝ่ายไทยระบุนามประเทศและชื่อชนชาติโปรตุเกสแตกต่างกันออกไป กล่าวคือ ใน พ.ศ.2329 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เอกสารฝ่ายไทยระบุชื่อชนชาติโปรตุเกสว่า “แขกเมืองฝรั่งปัศตุกัน” ดังนี้
“วันอังคาร เดือน 12 แรม 2 ค่ำ ปีมะเมีย อัฐศก (พ.ศ.2329) มีหมายนายฤทธิ (รงค์อาวุธ นายเวรกลาโหม) ว่าด้วยเจ้าพระยาธรรมา รับสั่งใส่เกล้าฯ สั่งว่าแขกเมืองฝรั่งปัศตุกัน จะได้เข้า (เฝ้า) กราบถวายบังคมทูลเกล้าฯ ถวายพระราชสาสน์ ณ ท้องพระโรงพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ณ วันเสาร์เดือน 12 แรม 6 ค่ำ เพลาย่ำรุ่ง…” [8]
ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หมายรับสั่งเรื่อง “ต้อนรับ แฮรี ทูตอเมริกันฯ” เมื่อ พ.ศ.2399 เรียกนามกงศุลโปรตุเกสว่า “กงศุลพุทเกต”
“ เพลาเช้า 1 โมง เสด็จออกครั้งนี้เหมือนอย่างวิสโม กงศุลพุทเกต เข้าเฝ้าครั้งก่อน” [9]
หลังจากนั้นอีกเพียงสองปี สำเนาตอบรับพระราชสาส์นกรุงโปรตุคอล และหนังสือสนธิสัญญาไมตรีพาณิชย์และการเดินเรือระหว่างสยามกับโปรตุเกส พ.ศ.2401 ก็ได้ระบุนามประเทศโปรตุเกสว่า “กรุงโปรตุคอล” , “คนในบังคับโปรตุเกส” และ “คนชาติโปรตุเคส”[10] และในปีนี้เองทางการสยามยอมรับว่าไม่มีขุนนางที่รู้ภาษาโปรตุเกส จำต้องอาศัยการสื่อความหมายด้วยภาษาอังกฤษ กล่าวคือ
“พระราชสาส์น ซึ่งได้รับนั้นเขียนเป็นภาษาโปรตุเคส กรุงสยามอ่านเข้าใจเองไม่ได้ ได้ขอให้ราชทูตและกงศุลโปรตุเคสแปลโดยภาษา เองคลิศห์ และจึงได้อ่านทราบความถ้วนถี่ทุกทุกประการแล้ว…” [11]
ใน พ.ศ.2440 พระราชโทรเลขพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถึงพระราชชนนี ควีน มาเรีย เปีย (Queen Maria Pia) แห่งโปรตุเกส เรียกนามประเทศ โปรตุเกสว่า “ปอตุกัล”[12] ในรัชสมัยเดียวกัน สำเนาพระราชสาส์นเจริญพระราชไมตรียังกษัตริย์ดอง คาร์โลซ์ ที่ 1 (ดอง คาร์ลูช – Dom Carlos I) แห่งโปรตุเกส เมื่อ พ.ศ.2449 และพระราชสาส์นเจริญพระราชไมตรีไปยังกษัตริย์มานูเอลที่2 (Mamuel II) เมื่อ พ.ศ.2450 เรียกนามประเทศโปรตุเกสว่า กรุงโปรตุกัล[13]
หลักฐานคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารหอหลวง (ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2512 ในแถลงงานประวัติศาสตร์โบราณคดี เป็นหลักฐานซึ่งถูกแปลจากภาษาพม่าในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ได้เรียกชุมชนโปรตุเกสในสมัยอยุธยาว่า “ บ้านโปรตุเกต ” กล่าวคือ
“…ตลาดท่าเรือจ้างวัดนางชี น่าบ้านโปรตุเกต…” [14]
เมื่อกล่าวถึงคนชาติโปรตุเกส คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เรียกว่า “ฝรั่ง โลสงโปรตุเกศ” และ “โปรตุเกศ” ดังนี้
“…ครั้นถึงฤดูลมสำเภาพัดเข้ามาในกรุงเป็นมรสุมเทศกาล พวกลูกค้าพานิชสำเภาจีน แลลูกค้าแขกสลุป ลูกค้าฝรั่งกำปั่น ลูกค้าแขกกุศราช แลพวกลูกค้าแขกสุรัต แขกชวา มาลายูแขกเทศฝรั่งเศส ฝรั่งโลสงโปรตุเกศ วิลันดาอิศปันยอนอังกฤษ แลฝรั่งดำฝรั่งเมืองลังกุนี แขกเกาะ เปนพ่อค้าพานิชคุมสำเภาสลุปกำปั่น แล่นเข้ามาทอดสมอท้ายคู…”[15]
ขุนวิจิตรมาตราชี้ว่า หลังจากสเปนยึดครองเกาะลูซอนได้ประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ 21 จีนเรียกชาวสเปนว่า “ลิส่อง” ทำให้ไทยพลอยเรียกสเปนตามคำจีนแต่เพี้ยนเป็น “สี่ส้อง” หรือ “ฝรั่งสี่ส้อง”[16] คำอธิบายข้างต้นนี้อาจคลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริงที่ว่า ชาวสเปนมักเรียกตนเองว่า “อิสปันญอล (Espanol)” ในขณะที่ชาว โปรตุเกสเรียกตนเองว่า “ชาวลูโซ (Luso)” มาแต่โบราณ[17] ดังนั้น คำ “ฝรั่งโลสงโปรตุเกส” ที่ปรากฏในเอกสารไทย จึงเกือบจะตรงกับคำเรียกตัวเองของชาวโปรตุเกสที่มีมานานแล้ว ส่วนชาวสเปนนั้น หลักฐานคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรมเรียกว่า “อิศปันยอน (Espanhol)” ตามอย่างคำเรียกในภาษาโปรตุเกส
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สำเนาพระราชสาส์นแต่งตั้งอัครราชทูตสยามประจำโปรตุเกสเมื่อ พ.ศ.2454 ระบุนามประเทศโปรตุเกสว่า “ริปับลิกโปรตุเกส” และ “ประเทศโปรตุเกส”[18] อยู่ภายในหลักฐานชิ้นเดียวกัน คำ “โปรตุเกส” นี้ถูกใช้เรียกชื่อชนชาติโปรตุเกสและประเทศโปรตุเกสมาจนถึงปัจจุบันโดยบางแห่งเขียน “โปรตุเกส”[19] บางแห่งเขียน “ปอรตุเกส”[20] บางแห่งไม่เห็นด้วยที่เขียน “โปรตุเกส” และเสนอให้เขียนว่า “ปอร์ตุเกส”[21]
ตัวสะกดของคำ “โปรตุเกศ” ถูกเขียนเป็น “โปรตุเกส” อย่างมีเอกภาพเมื่อสำนักนายกรัฐมนตรีได้ประกาศหลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาอังกฤษ ลงวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ.2532[22] ตามความเห็นของราชบัณฑิตสถาน เพื่อให้เกิดบรรทัดฐานในการใช้ภาษาไทย
จาก “ แขกเมืองฝรั่งปัศตุกัน” ในสมัยรัชกาลที่1 “ พุทเกต โปรตุคอล” ในสมัยรัชกาลที่4 “โปรตุเคส โปรตุกัล ปอตุกัล ฝรั่งโลสงโปรตุเกศ” ในหลักฐานที่เขียนและแปลขึ้นสมัยรัชกาลที่5 “ริปับลิกโปรตุเกศ” และ “ประเทศ โปรตุเกศ” ในสมัยรัชกาลที่ 6 และ “โปรตุเกส ปอรตุเกส ปอร์ตุเกส” ในยุคร่วมสมัยนี้รวมระยะเวลาประมาณ 226 ปี หลังเสียกรุงศรีอยุธยา ชื่อชนชาติและประเทศโปรตุเกส ปรากฏอยู่ในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ แตกต่างกันออกไปมากมาย ในสมัยกรุงศรีอยุธยาชาวสยามจะเรียกคนชาติโปรตุเกสและประเทศโปรตุเกสว่าอย่างไร
2. คำเรียกชาวโปรตุเกสในเอกสารไทยสมัยอยุธยา
หลักฐานสมัยอยุธยา อาทิ พระราชพงศาวดาร กฎหมายและวรรณกรรมต่าง ๆ ไม่เคยระบุนามชนชาติและประเทศโปรตุเกสให้เห็นโดดเด่นทั้ง ๆ ที่เอกสารฝ่ายไทยบ่งชี้ว่า สามารถจำแนกชนชาติ ฝรั่ง ฝรั่งเศส อังกฤษ วิลันดา แขกชวา แขกมลายู แขกมักกะสัน ญวน จีน จาม เขมร ลาว มอญ พม่า ได้ แต่เหตุใดหลักฐานสมัยอยุธยา (ยกเว้นคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารหอหลวง) จึงไม่แสดงให้เห็นเป็นรูปธรรมว่า “รู้จัก”ชาวโปรตุเกส และประเทศโปรตุเกส เช่นเดียวกับชาวยุโรปชาติอื่น และไม่น่าเชื่อว่าฝ่ายไทยไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างชาวโปรตุเกสกับชาวฝรั่งเศสได้ชัดเจน จึงเรียกรวม ๆ ว่า “ฝารัง - ฝรั่ง” อันเป็นคำเรียกชาวตะวันตกทั่วไป บันทึกข่าวสารของชาวโปรตุเกสว่าด้วยอาณาจักรสยาม กล่าวถึงเหตุการณ์สมเด็จพระเพทราชาก่อการยึดอำนาจจากสมเด็จพระนารายณ์เมื่อ พ.ศ.2231 ระบุตอนหนึ่งว่า ชาวสยามมักจะแยกความแตกต่างระหว่างชาวโปรตุเกสกับชาวฝรั่งเศสไม่ออก[23]
การจำแนกความแตกต่างระหว่างชาวโปรตุเกสกับฝรั่งเศสไม่ออก น่าจะจำกัดอยู่ในกรอบข้อมูลทางด้านกายภาพ คือ ส่วนสัด รูปร่าง หน้าตา และสีผมของฝรั่งทั้งสองชาติซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกัน สำหรับในระดับราชสำนักหรือขุนนาง ความเป็นฝรั่งเศสและโปรตุเกสมีภาษาเป็นเครื่องบ่งชี้ชัดเจน เอกสารฝ่ายไทยชิ้นหนึ่งคือพระราชสาส์นสมเด็จพระเอกาทศรถ (พระเจ้าทรงธรรม) พ.ศ.2159* ระบุนามประเทศโปรตุเกสว่า "เมืองปรตุการ" และเรียกชาวโปรตุเกสที่จะเดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาตามสถานะอาชีพของตนว่า "ฝารัง" " ฝารังลูกค้า" และ "ฝารังทหาร" นอกจากนี้สำเนาหนังสือสัญญาทางการค้าระหว่างสยามกับฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ.2230 ระบุว่าสัญญาดังกล่าวทำขึ้นจำนวนสามชุด คือภาษาไทยสามฉบับ ภาษาฝรั่งเศสสามฉบับ และภาษาปตุกรร[24] หรือโปตุกรร[25]สามฉบับ สัญญาทางการค้าฉบับนี้นับเป็นเอกสารทางการอีกชิ้นหนึ่งในสมัยอยุธยาที่ระบุนามประเทศโปรตุเกสว่า “ปตุกรร” หรือ “โปตุกรร” การเรียกนามประเทศโปรตุเกสข้างต้น ออกเสียงใกล้เคียงกับคำเรียก “ปอตุกัล-โปรตุกัล” ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และถ้าคำเรียก “ฝรั่งโลสงโปรตุเกศ”[26] ที่ปรากฏอยู่ในหลักฐานคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เป็นศัพท์ที่ใช้เรียกชาวโปรตุเกสในสมัยกรุงศรีอยุธยาจริงๆ ก็แสดงว่าอย่างน้อยที่สุดในสมัยอยุธยาตอนปลาย มีคำเรียกชาวโปรตุเกส และภาษาโปรตุเกสอยู่ 5 คำ คือ "เมืองปรตุการ" "ภาษาปตุกรร" "ฝารัง" "ฝารังลูกค้า - ฝารังทหาร" และ "ฝรั่งโลสงโปรตุเกศ" ปรากฏอยู่ในพระราชสาส์นสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม พ.ศ.2159 หนังสือสัญญาทางการค้าระหว่างสยามกับฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ.2230 และคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม ซึ่งบันทึกเป็นภาษาพม่าหลังเหตุการณ์เสียกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ.2310 แล้วแปลเป็นภาษาไทยในสมัยรัชกาลที่ 5
ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ[27] ตั้งข้อสังเกตว่า “ชาวบรเทศ” “ชาวประเทศชื่อ อมรวดี” ผู้มีปืนนกสับเป็นอาวุธประจำกายในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา[28] น่าจะหมายถึงชาวโปรตุเกส กล่าวคือพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐ ซึ่งเชื่อว่าชำระในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ระบุถึงการปราบกบฏญาณประเชียร เมื่อ พ.ศ.2124 ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา (พ.ศ.2112-2133) ดังนี้
“ศักราช 943 มะเส็งศก ญาณประเชียร เรียนศาสตราคมและคิดเป็นขบถ คนทั้งปวงสมัครเข้าด้วยกันมากและยกมาจากเมืองลพบุรี และยืนช้างอยู่ตำบลหัวตรี และบรเทศคนหนึ่ง อยู่ในเมืองนั้นยิงปืนออกไป ต้องญาณประเชียรตายกับคอช้าง…”[29]
พระราชพงศาวดารกรุงสยามฉบับบริติชมิวเซียม และพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาบันทึกใกล้เคียงกันว่า
“…จึ่งชาวประเทศชื่ออมรวดี แฝงต้นโพยิงปืนนกสับไปต้องญาณพิเชียน ซบลงกับคอช้าง…”[30]
สืบเนื่องมาจาก “บรเทศคนหนึ่ง” และ “ชาวประเทศชื่ออมรวดี” ในพระราชพงศาวดารปรากฏว่ากฎหมายหลายฉบับเช่น บทพระธรรมนูน และบทพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือนจำแนกชนชาติต่างๆที่เข้ามามีปฏิสัมพันธ์ในประวัติศาสตร์ไทย อย่างค่อนข้างละเอียด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกล่าวถึงชนชาติแขกกลุ่มต่างๆ ซึ่งในพระธรรมนูนระบุ ดังนี้
“อนึ่งก็พระธรรมนูนไว้ว่า ถ้าชาวกรุงก็ดี ต่างประเทศก็ดี หากพิพาทคดีถ้อยความแก่ฝรั่ง อังกฤต วิลันดา แขกประเทศ แขกฉวา มลายู มักกะสัน ญวน จีน ซึ่งเข้ามาสู่พระบรมโพธิสมภารไซร้ เป็นตระทรวงขุนพินิจใจราชปลัดได้พิจารณาว่ากล่าว …”[31]
พระธรรมนูนข้างต้นจำแนก "แขกประเทศ" กับ "แขกฉวา" ไว้คนละกลุ่มโดยสังเกตได้ว่า คำ "แขกประเทศ" เกือบจะตรงกับคำ "ชาวประเทศ" ในพระราชพงศาวดาร เป็นสิ่งยืนยันว่า "แขกประเทศ" กับ "ชาวประเทศ" เป็นคนชาติเดียวกัน นอกจากนี้ปัญหาการคัดลอกกฎหมายอาจเป็นสาเหตุสำคัญ ทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อนว่า "แขกประเทศ" ในหลักฐานพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน มีความหมายเป็นเพียง "แขกเมือง" เนื่องจากหลักฐานมิได้เน้นให้เห็นความแตกต่างของแขกแต่ละกลุ่มว่าเป็นแขกประเทศ แขกฉวา แขกมลายู หากแต่กล่าวรวมว่า
"ขุนราชเศรษฐีปลัดได้ว่า แขกประเทศฉวา มลายู อังกฤต นา 800 หลวงราชมนตรีเจ้าท่าได้ว่า แขกประเทศ อังกฤต ญวน ฝรั่ง นา 800"[32]
กล่าวคือ หากไม่มีร่องรอยของคำ “ชาวประเทศชื่ออมรวดี” ในพระราชพงศาวดารแล้ว อาจทำให้เข้าใจว่า “แขกประเทศ” ฉวา มลายู อังกฤต และ “แขกประเทศ” อังกฤต ญวน ฝรั่ง ในพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือนมีความหมายเป็นเพียง “แขกเมือง” มิใช่ชาว “แขกบรเทศ” หรือชาว “แขกประเทศ” ซึ่งหมายถึงชาวโปรตุเกสอันจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คำเรียกชาวโปรตุเกสในสมัยอยุธยาว่า “แขกประเทศ” สาบสูญไปและจากหลักฐานข้างต้นจะเห็นว่า “บรเทศ” “ชาวประเทศ” และ “แขกประเทศ” เป็นคำที่มีความหมายชุดเดียวกันตามข้อสังเกตของ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เมื่อ “บรเทศ” “ชาวประเทศ” และ “แขกประเทศ” หมายถึงชาวโปรตุเกสจริง การเรียกชาวโปรตุเกสว่า “แขกประเทศ” หรือ “แขกบรเทศ” ในชั้นหลัง คงมีสาเหตุมาจากการที่คนเหล่านี้เดินทางเข้ามาจากทางด้านตะวันตกแล้วถูกจัดให้ตั้งชุมชนอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับหมู่บ้านของพวกแขกจาม แขกชวา แขกมลายู แขกปัตตานีและแขกมักกะสัน ทางด้านใต้ของเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาและพวกเขายังอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของขุนราชเศรษฐีและหลวงราชมนตรีในสังกัด “พระจุลาราชมนตรี”[33] เช่นเดียวกับชนชาติแขกต่างๆ ด้วย นอกจากนี้สมาชิกของชุมชนโปรตุเกสในเมืองพระนครศรีอยุธยาในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่22 (รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์) ยังอพยพมาจากอดีตดินแดนยึดครองโปรตุเกสในเอเชียใต้และมะละกาเพิ่มขึ้นหลังจากถูกฮอลันดารบกวนจึงอาจทำให้ “บรเทศ” หรือ “ชาวประเทศ” ได้ชื่อว่าเป็นแขกอีกกลุ่มหนึ่งไปด้วย
ก่อนหน้านี้ยังไม่มีกระบวนการอธิบายว่า “โปรตุเกส” เป็น “บรเทศ” “ชาวประเทศ” “แขกประเทศ” ได้อย่างไร การศึกษาความเป็นมาของคำดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก การทดลองตรวจสอบที่มาของคำ “บรเทศ” หรือ “ประเทศ” ด้วยการวิเคราะห์คำ “Portuguese” ในภาษาอังกฤษ ไม่ช่วยให้แลเห็นความชัดเจนของระบบการถอดเสียงและถ่ายเสียงจากรากศัพท์เดิม เมื่อนำคำทั้งสองไปเทียบกับคำ “Português - Portuguesa” [34] ในภาษาโปรตุเกส ( แปลว่า“ชาวโปรตุเกส หรือ ภาษาโปรตุเกส") จึงจะทำให้แลเห็นรากฐานของคำดังกล่าวได้ ในที่นี้จะกำหนดคำ “Portuguesa” มาวิเคราะห์กับคำ “บรเทศ” และ “ประเทศ” ดังนี้
Portuguesa ลดรูปเหลือ Portesa
Portesa อ่าน ปอระเตฉะ แผลงเป็น Paratesa อ่านว่า ปะระเตฉะ หรือ ปะระเทศะ เขียนว่า ประเทศ
Portesa อ่าน ปอระเตฉะ แผลงเป็น Baratesa อ่านว่า บะระเตฉะ หรือ บอระเทศะ เขียนว่า บรเทศ
การอ่านคำ “Portesa” ต้องออกเสียง “r” แบบ “ร” ชัดเจนหนักแน่น แต่ “s” ต้องออกเสียงเป็น “sh” ตามพื้นฐานดั้งเดิมของภาษาโปรตุเกส* จะทำให้คำ “Portesa – Bortesa” อ่านว่า “บะระเตช - บอระเตช – บรเทศ” และกลายเป็น “ประเทศ – บรเทศ” อย่างลงตัวดังรูปแบบการถอดคำที่เสนอไว้ข้างต้น
เมื่อพิสูจน์ได้ว่ากลุ่มคำ “Portugu^es - Portuguesa - Portesa – Bortesa” เป็นรากศัพท์ดั้งเดิมและเป็นรากฐานพัฒนาการของคำ “บรเทศ – ชาวประเทศชื่ออมรวดี - แขกประเทศ” ในพระราชพงศาวดาร และบทพระธรรมนูนกับบทพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือนในกฎหมายตราสามดวง ดังนั้นล่ามบรเทศหรือล่ามชาวประเทศ ก็เป็นล่ามชาว โปรตุเกสหรือล่ามภาษาโปรตุเกสด้วย แต่ทำเนียบขุนนางท่าขวาในพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือนไม่ปรากฎตำแหน่งดังกล่าวให้เห็น การค้นหามิได้หยุดอยู่เพียงเท่านี้ เนื่องจากยังมีร่องรอยบางอย่างให้ศึกษา กล่าวคือ
ลำดับ ราชทินนาม ตำแหน่ง หน้าที่ ศักดิ
1 พระจุลาราชมนตรี เจ้ากรม(ท่าขวา) - นา 1400
2 ขุนราชเศรษฐี ปลัดกรม(ท่าขวา) ได้ว่าแขกประเทศ ฉวา มลายู อังกฤษ นา 800
3 หลวงราชมนตรี เจ้าท่า ได้ว่าแขกประเทษ อังกฤษ ญวนฝรั่ง นา 800
4 หมื่นพินิจวาที หมื่นศรีทรงภาษา หมื่นสัจวาที หมื่นสำเรจ์วาที, ล่าม 4 คน สังกัดหลวงราชมนตรี นา 300
5 หมื่นทิพวาจา หมื่นเทพวาจา ล่ามอังกฤษ2 คน, นา 300
6 หลวงนนทเกษ เจ้าท่า ได้ว่าพราหมณ์เทษ นา 800
7 หมื่นสัจะวาจาหมื่นสัจวาที ล่าม 2 คน (สังกัดหลวงนนทเกษ) นา 300
8 หลวงโชดึกเศรษฐี เจ้ากรม (ท่าซ้าย) นา 1400
9 หลวงเทพภักดี เจ้าท่า ได้ว่าวิลันดา นา 600
10 ขุนท่องสื่อ ขุนท่องสมุทร จีนล่ามนายอำเภอ นา 600
11 ขุนวรวาที[1] ล่ามฝรั่งเศส นา 300
12 ขุนราชาวะดี* ขุนรักษาสมุทร ล่ามกะปิตัน นา 300
13 ขุนวิสุทสาคร ล่ามแปลนายสำเภาปากน้ำ นา 400
14 - ล่ามนายเรือปาก 4 วาขึ้นไป นา 400
จากการวิเคราะห์ตารางทำเนียบขุนนางกรมท่าขวาซ้ายจะเห็นว่า ลำดับ2 ขุนราชเศรษฐีปลัดกรม “ได้ว่าแขกประเทศฉวามลายู อังกฤษ” หมายความว่า “แขกประเทศ” (คือ แขกประเทศ ในที่นี้เป็นชาวโปรตุเกส) แขกชวา แขกมลายู และชาวอังกฤษ อยู่ภายใต้การบังคับของขุนราชเศรษฐีปลัดกรม ถัดลงมาลำดับ3 หลวงราชมนตรีเจ้าท่า “ได้ว่าแขกประเทษอังกฤษญวนฝรั่ง” หมายความว่า “แขกประเทษ” (คือแขกบรเทศ - หรือชาวโปรตุเกส) ชาวอังกฤษ ญวณ และชาวฝรั่งอยู่ภายใต้การบังคับของหลวงราชมนตรี ปรากฏว่าขุนราชเศรษฐีปลัดกรม กับหลวงราชมนตรีเจ้าท่า ได้ว่าแขกบรเทศกับชาวอังกฤษร่วมกัน (นอกเหนือไปจากการว่าแขกฉวา มลายู ของขุนราชเศรษฐี และการได้ว่าญวน ฝรั่ง ของหลวงราชมนตรี) เมื่อหลวงราชมนตรีมีตำแหน่งเป็นเจ้าท่า ขุนนางผู้นี้จึงเป็นเจ้าท่าแขกประเทศ (แขกบรเทศ - ชาวโปรตุเกส) เจ้าท่าอังกฤษ เจ้าท่าญวน เจ้าท่าฝรั่งไปโดยพฤตินัย
ลำดับที่ 4 และ 5 ล่ามจำนวน 4 คน ในสังกัดหลวงราชมนตรีเจ้าท่า คือ หมื่นพินิจวาที หมื่นศรีทรงภาษา หมื่นสัจวาที และหมื่นสำเรจ์วาที หลักฐานมิได้ระบุว่าเป็นล่ามภาษาใดอย่างชัดเจน ดังเช่น ลำดับ 7 คือ หมื่นสัจะวาจา หมื่นสัจวาที ล่ามสังกัดหลวงนนทเกษ เจ้าท่าพราหมณ์เทษ ขณะที่หมายเลข 5 หลักฐานระบุว่าหมื่นทิพวาจา หมื่นเทพวาจา เป็นล่ามอังกฤษ หมายเลข 9 ขุนท่องสื่อ ขุนท่องสมุทร หลักฐานระบุว่าเป็นทั้งจีนล่ามและนายอำเภอ (จีนล่ามนายอำเภอ) ทำให้มีศักดินา 600 สูงกว่า ล่ามธรรมดา (นา 300 - 400) หมายเลข 11 ขุนวรวาที ล่ามฝรั่งเศส หมายเลข 12 ขุนราชาวะดี ขุนรักษาสมุทร ล่ามกะปิตัน จึงอาจกล่าวได้ว่า ล่าม 4 คนในจำนวน 6 คน สังกัดหลวงราชมนตรีเจ้าท่า (คือ หมื่นพินิจวาที หมื่นศรีทรงภาษา หมื่นสัจวาที และหมื่นสำเรจ์วาที) ซึ่งได้ว่าแขกประเทษ อังกฤษ ญวน ฝรั่ง จะต้องมีล่ามคนใดคนหนึ่งเป็นล่ามบรเทศ (ล่าม โปรตุเกส) ปะปนอยู่ด้วยแน่นอน และล่ามทั้งสี่คนนี้ จะต้องไม่ใช่ล่ามอังกฤษ เนื่องจากมีราชทินนามของล่ามอังกฤษระบุอยู่ในหลักฐานแล้ว (หมายเลข5 หมื่นทิพวาจา หมื่นวาจา) ดังนั้นล่ามเหล่านี้จึงควรเป็นล่ามแขกประเทศ , แขกบรเทศ ล่ามแขกชวา มลายู (ภาษาเดียวกัน) ล่ามญวน และล่ามฝรั่งนั่นเอง
3. ความสัมพันธ์ระหว่าง “ฝารั่ง – ฝรั่ง - กระปิตัน – กะปิตัน – กาปีดตัน – การปิตตัน” กับชุมชนโปรตุเกสในเมืองพระนครศรีอยุธยา
เอกสารโบราณของไทย อาทิ กฎหมายตราสามดวง พระราชพงศาวดาร และหนังสือทางการสมัยอยุธยา (หนังสือออกพระจอมเมืองศรีราชโกษา และออกญาไชยาธิบดีกรมการเมืองตะนาวศรี พ.ศ.2164 ) กล่าวถึง "ฝารั่ง - ฝรั่ง " และ "กระปิตัน - กะปิตัน" โดยมิได้ระบุชัดเจนว่าเป็นชนชาติใด ในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพระพนรัตน์ กล่าวถึงการยกทัพไปตีเมืองละแวก เมืองหลวงของกัมพูชาเมื่อศักราช 945 ปีมะแม เบญจศก (พ.ศ.2125) ครั้งนั้น กองทัพสยามตีได้เมืองป่าสัก "จับสำเภาพระยาจีนจันตุ สำเภาลูกค้าสิบห้าลำ สลุปฝรั่งสองลำ เรือรบเรือไล่ ปืนใหญ่น้อย เครื่องศาสตราวุธเป็นอันมาก"[35] นับเป็นครั้งแรกที่เอกสารไทยกล่าวถึง "ฝรั่ง" ที่เข้าไปช่วยเหลือกัมพูชาต่อต้านการรุกรานของสยาม
เอกสารสเปนระบุชัดเจนว่า ฝรั่งกลุ่มดังกล่าวมีหัวหน้าสองคน คนหนึ่งเป็นชาวโปรตุเกสชื่อ ดิอากู เวลูซู (Diago Veloso) หรือ เดียโก เบโลโซ ตามสำเนียงสเปน อีกคนหนึ่งเป็นชาวสเปนชื่อบลัส รุยส์ (Blas Ruys) หลักฐานของสเปนกล่าวว่า เวลูซู พำนักอยู่ในกัมพูชา เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นทูตไปขอความช่วยเหลือจากมะนิลา เพื่อต้านการรุกรานของสยาม แต่ปรากฏว่าเขาถูกจับได้ จึงถูกส่งตัวเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา พร้อมด้วยชาวโปรตุเกสจำนวนหนึ่ง ต่อมาเขาได้วางแผนอาสาเป็นทูตสยามไปเจริญไมตรีกับมะนิลา แล้วจึงหลบหนีไปขอความช่วยเหลือจากสเปนได้สำเร็จ แม้ว่ากองทหารที่ถูกส่งไปช่วยกัมพูชาจะเป็นเพียงหน่วยทหารรับจ้างกลุ่มเล็กๆก็ตาม[36] การกระทำของเวลูซู อาจนำมาสู่ความหวาดระแวง "ฝรั่ง" หรือ "ชาวโปรตุเกส" และชาวยุโรปชาติอื่นที่พำนักอยู่ในกรุงศรีอยุธยา ด้วยเหตุนี้จึงปรากฏพระราชกฤษฎีกาลักษณะพิเศษฉบับหนึ่ง ซึ่งถูกตราขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ (ทรงธรรม) เพื่อควบคุมและจำกัดสิทธิในการสมรสของสตรี เป็นกฎหมายลักษณะอาญาหลวงมีใจความว่า
“แลไพร่ฟ้าขอบขัณฑเสมาทุกวันนี้ ประกอบด้วยราคโทษโมหโลภ มิได้กลัวต่อบาปและละอายแก่บาป เห็นนานาประเทศฝารังอังกริด กระปิตันวิลันดาคุลาชวามลายูแขกกวยแกวประกอบด้วยทรัพย์สมบัติเป็นอันมาก แลไทยมอญทุกวันนี้ยกลูกสาวหลานสาวให้เป็นเมียมิจฉา ทิฐิถือผิดเปนชอบ และละฝ่ายสัมมาทิฐิเสีย แลบุตรอันเกิดมานั้นก็ถือเพศไปตามพ่อ ก็จะพากันไปอบายภูมิเสีย แลมันจะเอากิจการบ้านเมืองไปแจ้งแก่นานาประเทศฟัง พระองค์พร้อมด้วยมุขมนตรี จึงพระราชโองการมารพระบัณฑูรย์ดำรัสสั่งแก่ขุนศรีนพรัตนราชโกษาธิบดีอภัยพิริยกรมพาหุ ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกาไว้ว่า แต่นี้สืบไปเมื่อหน้ามาตราหนึ่ง ราษฎรข้าแผ่นดินชายหญิงไทยมอญ บมิยาบบมิกลัว พระราชอาญาพระราชกำหนดกฎหมายเห็นพัสดุเงินทองของมิจฉาทิฐิอันมาค้าขายแต่นานาประเทศ นอกด่านต่างแดนแลยกลูกสาวหลานสาวให้เป็นเมียฝรั่ง อังกฤษ วิลันดา ชวา มลายู อันต่างศาสนาแลให้เข้ารีตถืออย่างมิจฉาทิฐิ ข้าศึกศัตรูหมู่ร้าย ท่านให้ลงโทษ 6 สถาน สถานหนึ่ง คือ ให้ฟันคอริบเรือน สถานหนึ่งคือ ให้จำใส่ตรุไว้จนกว่าจะตาย สถานหนึ่งคือให้ริบราชบาทว์ แล้วเอาตัวลงหญ้าช้าง สถานหนึ่งคือให้ไหมจัตรคูณสถานหนึ่งคือให้ไหมทวีคูณ อย่าให้เยี่ยงอย่างกัน เหตุใดจึงกล่าวดังนี้ เหตุว่าพ่อมันดั่งพืชผลหว่านลงเหนือแผ่นดินจะเป็นพืชผลสืบไป ฝ่ายพ่อมันจะเอากิจการบ้านเมืองไปแจ้งแก่นานาประเทศ นานาประเทศมันรู้แล้วมันจะคิดมาเบียดเบียนพระนครธานีขอบขัณฑเสมาพระพุทธศาสนาก็จะพลอยเศร้าหมองไป”[37]
การที่ระบุว่าพระราชกฤษฎีกานี้ถูกตราขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ(ทรงธรรม) เนื่องด้วยในรัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ (พระอนุชาสมเด็จพระนเรศวร) นั้นชาวอังกฤษยังมิได้เดินทางเข้ามาค้าขายกับกรุงศรีอยุธยา จนกระทั่งถึงปี พ.ศ.2155[38] เรืออังกฤษลำแรกจึงเดินทางมาถึงกรุงศรีอยุธยาตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ส่วนฮอลันดานั้นเดินทางเข้ามาในปี พ.ศ.2147[39] พระราชกฤษฎีกานี้เกิดขึ้นเนื่องจากขณะนั้นมีชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาค้าขายยังกรุงศรีอยุธยาจำนวนมาก หลักฐานระบุว่าฐานะทางเศรษฐกิจเป็นแรงผลักดันให้ชาวไทยและมอญยกลูกหลานให้แต่งงานกับชาวต่างชาติทั้ง ฝารัง อังกริด กระปิตัน วิลันดา รวมไปถึง “คุลาชวา มาลายู แขกยวญแกว ผู้มีฐานะ” พฤติการณ์ดังกล่าวอาจนำไปสู่อันตรายต่อกรุงศรีอยุธยาภายหน้าได้ เหตุนี้จึงทรงวางกรอบบทกำหนดลงโทษเพื่อป้องกันมิให้เกิดผลเสียหายต่อพระนครและพระศาสนา กฎหมายดังกล่าวอ้างถึงชาวตะวันตกได้แก่ ฝรั่ง อังกฤษ กระปิตัน วิลันดา สำหรับอังกฤษกับวิลันดานั้นไม่เป็นที่สงสัยถึงความเป็นมาทางเชื้อชาติ ประเด็นสำคัญอยู่ที่การอธิบายชนชาติของฝรั่งกับกระปิตันว่ามีความหมายเป็นมาอย่างไร
หลักฐานฝ่ายไทยได้ปรากฎคำเรียกชาวยุโรปว่า “ฝารั่ง” หรือ “ฝรั่ง” หลายชิ้น อาทิ พระธรรมนูญในกฎหมายตราสามดวง กล่าวถึงการใช้ตราโกษาธิบดีบังคับว่ากล่าวแก่ “ฝารั่งอังกฤษ วิลันดา จีน ญวน ยี่ปุ่น แขกประเทษมลายู แลต่างประเทษทั้งปวง”[40] พระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน กล่าวถึงหน้าที่ของหลวงราชมนตรีเจ้าท่า (แขกประเทษ) “ได้ว่า ญวนฝรั่ง” และตำแหน่งนายเรือ จีนแขกฝรั่งอังกฤษ[41] เป็นต้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายว่า ก่อนที่ชาวยุโรปชาติอื่นจะเดินทางเข้ามาในเอเชีย คำว่า "ฝรั่ง - ฝารัง" เป็นคำเรียกชาวโปรตุเกส ซึ่งไทยเรียกตามชาวมุสลิม ดี. จี. อี. ฮอลล์ (D.G.E. Hall) อธิบายว่า โจรสลัดชาวโปรตุเกสในอ่าวเบงกอลถูกเรียกว่า เฟริงกี การแพร่กระจายของชาวโปรตุเกสและลูกครึ่งโปรตุเกสกับชาวเอเชีย (Eurasian) ก็ได้ทำให้ชาวโปรตุเกสถูกเรียกว่า “ฝารัง” หรือ “ฝรั่ง” อย่างกว้างขวางไปด้วย[42] ดังนั้น คำว่า “ฝรั่ง” ในตารางทำเนียบขุนนางกรมท่าขวาซ้าย จึงเป็นร่องรอยอีกอย่างหนึ่งซึ่งหมายถึงชาวโปรตุเกสในกฏหมายไทย[43] ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมมีหลักฐานชัดเจนว่า ได้นำคำ “ฝารัง – ฝรั่ง” ไปเรียกชาวยุโรปชาติอื่นในหนังสือออกพระจอมเมืองศรีราชโกษาและออกญาไชยา กรมการเมืองตะนาวศรี อนุญาตให้กัปตันครัปเป (กปิตตัน กรเบศ) ชาวเดนมาร์ค เดินทางเข้ามาค้าขายในเมืองตะนาวศรีได้ เมื่อปี พ.ศ.2164[44]
กลุ่มคำ “กระปิตัน–กะปิตัน” ปรากฎอยู่ในหลักฐานหลายชิ้น อาทิกฎหมายลักษณะอาญาหลวงในรัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ (ทรงธรรม)* (ฝารังอังกริดกระปิตันวิลันดา)และพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน(ล่ามกะปิตัน)เป็นต้นการเปรียบเทียบระหว่างคำ “กระปิตัน - กะปิตัน” กับคำ “captain – แคปเท่น” ในภาษาอังกฤษอาจให้คำอธิบายได้เพียงตำแหน่งนายเรือหรือผู้บังคับกองทหารกองหนึ่งคำ “capitaine-กะปิแตนเนอะ” ในภาษาฝรั่งเศสก็มีความหมายเช่นเดียวกับคำ “Captain”ในภาษาอังกฤษ[45] ซึ่งไม่สามารถเชื่อมโยงไปไกลถึงคำว่า “กะปิตัน–กระปิตัน” ในเอกสารไทยได้เพียงพอ นันทิยา สว่างวุฒิธรรม อธิบายว่าผู้สำเร็จราชการแห่งเมืองกัว(หรือมาเก๊าหลังจากโปรตุเกสถูกขับออกจากกัว) ของรัฐโปรตุเกสอินเดียได้แต่งตั้งหัวหน้าชาวโปรตุเกสปกครองเมืองมะละกาเรียกตำแหน่งนี้ว่า "capit~ao - geral"* อยู่ในตำแหน่งคราวละ 3 ปี ส่วนตำแหน่งหัวหน้าค่ายโปรตุเกสในเมืองพระนครศรีอยุธยาถูกเรียกว่า " กะปิเตา - มูร์ ( Capit~ao - mor)" ซึ่งแปลว่า “นายท่าเรือหรือหัวหน้าสถานีการค้า”[46] หรือ "Shah Bandar (นายท่า)” ในมะลายู “capit~ao-mor” อยู่ในตำแหน่งคราวละ 3 ปีเช่นเดียวกัน ผู้วิจัยจึงเห็นว่าคำว่า “capit~ao-mor” น่าจะเป็นต้นเค้าของคำ “กะปิตัน–กระปิตัน” ในเอกสารไทย คำอธิบายนี้ใกล้เคียงกับบาทหลวงไตไซรา ซึ่งชี้ให้เห็นค่อนข้างชัดเจนว่า "กะปิเตา-มูร์" เป็นตำแหน่งที่มีความหมายเดียวกับคำว่า Capitaõ-bandar หรือ Xabandar หมายถึงหัวหน้าหมู่, หัวหมู่, นายหมู่, นายบ้าน อันมีความหมายเชื่อมโยงมาถึงตำแหน่งในระบบควบคุมกำลังพลในสังคมไทยมากกว่าคำว่านายท่า หรือหัวหน้าสถานีการค้า
นอกจากนี้เนื่องด้วยคำว่า "กะปิเตา" เป็นคำเรียกผู้บังคับการเรือชาวโปรตุเกส มาแต่เดิม เมื่อชาวโปรตุเกสเริ่มเข้ามาติดต่อกับกรุงศรีอยุธยาจึงนำคำนี้มาเผยแพร่ด้วย นอกจากคำ "กะปิเตา" แล้ว ยังมีการนำคำว่า "กะปิเตา-มูร์" มาใช้เรียกตำแหน่งหัวหน้าชุมชนโปรตุเกสอีกคำหนึ่ง
คำว่า "กะปิเตา-มูร์" อาจถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกหลังสมัยสมเด็จพระชัยราชาธิราช อันเป็นช่วงที่มีการแต่งตั้งกะปิเตา-มูร์คนแรกขึ้นในชุมชนโปรตุเกสที่เมืองพระนครศรีอยุธยา* ตำแหน่ง “กะปิเตา-มูร์” หรือนายหมู่, นายบ้านโปรตุเกสเป็นตำแหน่งที่ต้องดูแลว่ากล่าวสมาชิกในชุมชนโปรตุเกส เมื่อเกิดปัญหากระทบกระทั่งกันเองหรือบาดหมางกับคนพื้นเมืองอื่นๆ หรือแม้แต่วิวาทกับ “ชาวกรุง” ดังปรากฎในพระธรรมนูนว่า
“อนึ่งมีพระธรรมนูนไว้ว่า ถ้าชาวกรุงก็ดี ต่างประเทษก็ดี หากพิพาทคดีถ้อยความแก่ฝรั่งอังกฤตวิลันดา แขกประเทษ แขกฉวา มลายู มักะสัน ญวณ จีน ซึ่งเข้ามาสู่พระบรมโพธิสมภารไซ้ เป็นตระทรวงขุนพินิจใจราชปลัด[47] ได้พิจารณาว่ากล่าว ถ้าหัวเมืองยุกระบัดได้พิจารณา อนึ่งต่างประเทษสพไสมยเข้ามาอยู่ในประเทษเมืองใดมีคดีถ้อยความให้พิจารณาว่ากล่าวตามราชประเพณีจารีตเมืองนั้น”[48]
“นายหมู่, นายบ้านโปรตุเกส” หรือ “กะปิเตา-มูร์” (Capitaõ-mor) จึงต้องมีล่ามคอยเป็นผู้อำนวยความสะดวกทางด้านการสื่อภาษาให้แก่ผู้เป็นหัวหน้าชุมชน โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ได้รับตำแหน่งนายบ้านโปรตุเกส เป็นชาวยุโรปที่ไม่สามารถสื่อสารกับชาวพื้นเมืองด้วยภาษาท้องถิ่น เพราะเหตุการณ์เช่นนี้อาจเกิดขึ้นได้ เมื่อตำแหน่งหัวหน้าหมู่บ้าน (กะปิเตา-มูร์ - กัปตันหมู่) ว่างลงในบางโอกาสผู้สำเร็จราชการโปรตุเกสแห่งมาเก๊าเคยตั้งบาทหลวงคณะเยซูอิตให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวด้วย จึงอาจเป็นไปได้ว่าล่ามของ "กะปิเตา-มูร์ - กัปตันหมู่" ก็คือ “ล่ามกะปิตัน” ในพระอัยการตำแหน่งนาพลเรือนนั่นเอง
จาก “Capitão-mor” ในภาษาโปรตุเกสกลายเป็น “กระปิตัน – กะปิตัน” ได้อย่างไร มีข้อพิจารณาเปรียบเทียบอยู่ว่า พื้นฐานของการออกเสียงคำนามเอกพจน์เพศชายกลุ่มหนึ่ง ในภาษาโปรตุเกสซึ่งลงท้ายด้วย "ão" อาทิ introdução educação elaboração จะตรงกับคำนามภาษาอังกฤษว่า introduction education elaboration การแผลงคำ “capitão” มาเป็น “กะปิตัน กระปิตัน” อาจมีพื้นฐานมาจากพัฒนาการของการเปล่งเสียงแบบลิงกัว-ฟรังสา (lingua-franca) จึงทำให้ "Capitão" กลายเป็น “กะปิตัน – กระปิตัน” ในหลักฐานฝ่ายไทยอันมีความหมายชี้ชัดเฉพาะชาวโปรตุเกส เมื่อชาวยุโรปเดินทางเข้ามามากขึ้น การใช้ภาษาโปรตุเกสเป็นภาษากลางทางการค้าและการเดินเรือในเอเชียได้ทำให้คำ "กะปิตัน กระปิตัน" มีความหมายครอบคลุมไปถึงชาวยุโรปชาติอื่นด้วย เช่นเดียวกับคำว่า "ฝารัง - ฝรั่ง" เห็นได้ชัดเจนในหนังสือออกพระจอมเมืองศรีราชโกษา เมื่อปี พ.ศ.2164 เรียกนายเรือชาวเดนมาร์คที่เข้ามาค้าขายในเมืองตะนาวศรีว่า “กาปีดตัน หรือ การปิตตัน กรเบศอธิลมาศ” [50]
จากคำเรียกกะปิเตา-มูร์ (Capitão-mor) ที่ใช้เรียกตำแหน่งนายหมู่, นายบ้าน, หัวหน้าหมู่บ้านโปรตุเกสที่เหลือค้างอยู่ในพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือนว่า ล่ามกะปิตัน จนถึงตำแหน่งเจ้าท่าซึ่งได้ว่าชาวประเทศ ชาวบรเทศ (หลวงราชมนตรี) และอาจรวมไปถึงตำแหน่งเจ้าท่าซึ่งได้ว่าพราหมณ์เทศ (หลวงนนทเกษ) ล้วนมีความหมายเชื่อมโยงกับคำ "Português - Portuguesa" ซึ่งเข้ามาในกรุงศรีอยุธยาเมื่อกลางพุทธศตวรรษที่ 21 คำดังกล่าวนี้ได้มีวิวัฒนาการในสังคมอยุธยาโดยเริ่มจากลดรูปเป็น “Bortesa - Portesa - Baratesa - Paratesa” แล้วกลายมาเป็น “ชาวบรเทศ–ชาวประเทศ–แขกประเทศ” ในภาษาสยาม คำบรเทศถูกแผลงไปเป็น “วรเทศ” ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ดังปรากฏหลักฐานโคลงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี กล่าวถึงการค้าระหว่างประเทศว่า
“แขกชวาวรเทศทั้ง มลายู
จีนฝรั่งลันดาดู ดาษเฝ้า
ลาวมอญย่อมถนอมชู วรบาท พระนา
พระกรุณาเหนือเกล้า กล่อมเกลี้ยง ควรฐาน”[51]
คำว่า “วรเทศ” ในโคลงข้างต้น สามารถใช้แทน “บรเทศ” ได้ในทางวรรณกรรม เนื่องจากมีรากศัพท์เดียวกัน ชื่อวัด “วรโพธิ์” ในเมืองพระนครศรีอยุธยา บางแห่งก็เขียนเป็น “บระโภค” [52]ส่วนชื่อวัด "วรเชษฐ์" ในเอกสารฮอลันดา เขียนว่า "Boeurettiet"[53]
ชาว “วรเทศ” ที่ปรากฎในโคลงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีถูกจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับแขกชวา และแขกมลายู มีกลุ่มจีน ฝรั่ง วิลันดา และกลุ่มลาว มอญ ถูกจำแนกอยู่ในวรรคถัดมาของโคลง ในชั้นนี้การวินิจฉัยชนชาติของ “วรเทศ” มีความหมายละเอียดอ่อน ยิ่งกว่าระยะแรกของการพัฒนาการของกลุ่มคำดังกล่าวในสมัยอยุธยา เช่นเดียวกับคำว่า “ฝรั่ง” ในชั้นหลัง ซึ่งมีความหมายค่อนข้างกว้างขวางไม่บ่งชี้เฉพาะเจาะจงที่ชาวโปรตุเกสแต่เพียงชาติเดียว การศึกษาคำดังกล่าวจึงต้องอาศัยบริบททางประวัติศาสตร์ที่ชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางสังคีตศิลป์ คำ “บรเทศ” ถูกนำไปใช้เพื่อเป็นชื่อเพลงเถาสองชั้นและสามชั้น เป็นเพลง “สำเนียงแขก”[54] ที่มีจังหวะเร็วได้แก่เพลงแขกบรเทศและเพลงแขกประเทศ นิยมใช้บรรเลงประกอบการแสดงโขน ละครหรือระบำบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์[55] นอกจากนี้ยังมีบางเพลงแตกลูกออกไปเป็นเพลงต้นวรเชษฐ์ แล้วพัฒนาไปเป็นเพลงลูกทุ่งยอดนิยมเมื่อประมาณ 20 ปีเศษ ชื่อเพลง “กินอะไรจึงสวย” โดยยังใช้ทำนองเดิมของเพลงต้นวรเชษฐ
การเดินทางยาวนานของคำ “Português–Portuguesa”จากคาบสมุทรไอบีเรียนมาสู่กรุงศรีอยุธยาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน คำ “บรเทศ” ถูกกำหนดนิยามในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ.2525 แต่เพียงว่า “น. ฝ่ายอื่น เช่น บรเทศ”[56] เท่านั้น จากกลุ่มคำ “บรเทศ-ประเทศ-วรเทศ-วรเชษฐ์” อันมีความหมายเชื่อมโยงไปถึงชาวโปรตุเกสในสมัยกรุงศรีอยุธยาได้แล้วยังมีชุดคำ “กระปิตัน-กะปิตัน-กาปีดตัน-การปิดตัน-ฝารัง-ฝรั่ง” น่าจะมีความหมายเป็นชาวโปรตุเกสที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในกรุงศรีอยุธยาระยะแรกอย่างแน่นหนา แม้ว่าในชั้นหลังคำดังกล่าวจะมีความหมายกว้างมากขึ้นกว่าเดิมก็ตาม นอกจากนี้หลักฐานฝ่ายไทยยังปรากฏร่องรอยของชื่อชนชาติ “พราหมณ์เทษ” อันอาจใช้เครื่องมือทางนิรุกติศาสตร์ และประวัติศาสตร์อธิบายเชื่อมโยงไปถึงการอธิบายชื่อชนชาติโปรตุเกสอีกโสตหนึ่งด้วย
สรุป
อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่าชาวสยามเรียกชาวโปรตุเกสว่า "ฝารั่ง - ฝรั่ง" มาตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่2 จนกระทั่งถึงรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวร เนื่องจากเป็นคำที่ชาวเอเชียทั่วไปใช้เรียกชาวโปรตุเกส โดยเฉพาะก่อนที่จะมีชาวยุโรปชาติอื่นเดินทางเข้ามา เมื่อชาวฮอลันดาเดินทางเข้ามาติดต่อค้าขายกับกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 2147 คำว่า "ฝารัง - ฝรั่ง" จึงถูกนำไปเรียกชาวฮอลันดาด้วย ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เมื่อชาวอังกฤษเดินทางเข้ามาติดต่อกับกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ.2155 และชาวเดนมาร์คเดินทางเข้ามายังตะนาวศรีในปี พ.ศ.2164 คำว่า "ฝารัง - ฝรั่ง" ก็ถูกนำไปเรียกชาวอังกฤษและชาวเดนมาร์คด้วย ดังปรากฏหลักฐานหนังสือออกพระจอมเมืองศรีราชโกษา และหนังสือออกญาไชยาธิบดี ได้เรียกทหารและพ่อค้าชาวเดนมาร์คว่า "ฝารังทหาร - ฝารังผู้มาทั้งปวง" ในรัชสมัยเดียวกันก็ได้ปรากฏหลักฐานพระราชสาส์น "พระบาทสมเด็จพระเอกาทศรถ (ทรงธรรม)" ปี พ.ศ.2159 ถึงอุปราชโปรตุเกสแห่งเมืองกัว* ได้เรียกทหารและพ่อค้าชาวโปรตุเกสว่า "ฝารังทหาร - ฝารังลูกค้า - ฝารังผู้มาทั้งปวง" อยู่ก่อนแล้ว คำ "ฝารัง - ฝรั่ง" จึงเป็นคำ "กลาง" ที่ใช้เรียกชาวยุโรปทั่วไปที่เข้ามาติดต่อกับกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรเป็นต้นมาส่วนชื่อประเทศโปรตุเกสในเอกสารไทยนั้นปรากฏเป็นครั้งแรกในพระราชสาส์นสมเด็จพระเอกาทศรถ (ทรงธรรม) ปี พ.ศ.2159 ระบุว่า "เมืองปรตุการ" ส่วนกษัตริย์โปรตุเกสนั้นถูกเรียกว่า "พระญา ปรตุการ" ส่วนผู้สำเร็จราชการหรืออุปราชรัฐโปรตุเกสแห่งอินเดีย ถูกเรียกว่า "พระญาวิชเรห (ะ)" ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ได้ปรากฏหลักฐานหนังสือสัญญาทางการค้าระหว่างสยามกับฝรั่งเศสเรียกภาษาโปรตุเกสว่า "ภาษาปตุกรร - โป(ร) ตุกรร" และหนังสือคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรมซึ่งเป็นเรื่องเล่าเหตุการณ์สมัยกรุงศรีอยุธยาโดยชาวกรุงศรีอยุธยาโดยชาวกรุงศรีอยุธยาที่ถูกกวาดต้อนไปพม่าหลังสงครามเสียกรุงศรีอยุธยาปี พ.ศ.2310 มีคำเรียกชุมชนชาวโปรตุเกสในเมืองพระนครศรีอยุธยาว่า "บ้านโปรตุเกต" เรียกชาวโปรตุเกสว่า "ฝรั่งโลสงโปรตุเกส" อันมาจากคำว่า "ลูโซ - ลูซู - ลูซิตานู / นา " ซึ่งหมายถึงชาวโปรตุเกส หลักฐานข้างต้นเป็นสิ่งบ่งชี้ให้เห็นว่า ชาวสยามอาจเรียกประเทศโปรตุเกส ภาษาโปรตุเกส และชาวโปรตุเกสว่า "เมืองปรตุการ - ภาษาปตุกรร / โป(ร) ตุกรร - ฝรั่งโลสงโปรตุเกศ " มาตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมแล้วเป็นอย่างน้อย และอาจเรียกเช่นนี้มาตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่2 จนกระทั่งสิ้นกรุงศรีอยุธยา
ผู้วิจัยเสนอว่า คำ "กะปิตัน" เป็นคำเรียกชาวโปรตุเกสอีกคำหนึ่ง เนื่องจากเป็นคำที่มีพัฒนาการมาจากคำว่า "กะปิเตา" ในภาษาโปรตุเกส โดยเป็นคำเรียกผู้บังคับการเรือชาวโปรตุเกสที่นามาใช้ในสยาม ตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่2 ต่อมาเมื่อชุมชนโปรตุเกสมีประชากรเพิ่มมากขึ้นถึง 320 คน (หรือมากกว่านี้ขึ้นไป) ในรัชสมัยสมเด็จพระชัยราชาธิราช (หรือรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเป็นอย่างน้อย) ตามหลักเกณฑ์ซึ่งทางการรัฐโปรตุเกสอินเดียกำหนดไว้ ทางการรัฐโปรตุเกสอินเดียจึงแต่งตั้งหัวหน้าชุมชนโปรตุเกสให้มีตำแหน่งเป็น "กะปิเตา-มูร์"
* โดยที่ทางการสยามก็รับทราบถึงบทบาทกะปิเตา-มูร์ของชุมชนโปรตุเกสด้วย ดังปรากฏในพระราชสาส์นพระบาทสมเด็จพระเอกาทศรถ(ทรงธรรม) พ.ศ.2159 ได้มอบหมายให้ "กะปิตันมลเรวรีเบน" หรือ กะปิเตา-มูร์ คริสตูเวา รึเบลลู (Capitäo-mor Christovan Rebelo) ร่วมเดินทางไปกับคณะทูตสยามเพื่อการเจริญสัมพันธไมตรีกับทางการรัฐโปรตุเกสอินเดียและกษัตริย์โปรตุเกส** คำ "กะปิตัน กระปิตัน กระปิตตัน การปิตตัน" ใช้เรียกชาวยุโรปชาติอื่นครั้งแรกในรัชสมัยสมเด็นพระเจ้าทรงธรรมเป็นอย่างน้อยดังปรากฏอยู่ในหนังสือออกพระจอมเมืองศรีราชโกษาและหนังสือออกญาไชยาธิบดีปี พ.ศ.2164 นอกจากนี้มีแนวโน้มว่าหลักฐานฝ่ายไทยยังคงใช้กลุ่มคำ "กะปิตัน" ในบริบทที่อาจทำให้เข้าใจว่าหมายถึงชาวยุโรปชาติหนึ่งในกฎหมายหลายฉบับคือ ธรรมนูนว่าด้วยความบาดหมางระหว่างชาวสยามกับชาวต่างประเทศ พระกฤษฎีกาว่าด้วยการห้ามมิให้หญิงไทย-มอญ แต่งงานกับชาวต่างชาติ พระไอยการตำแหน่งนาพลเรือนว่าด้วยการแบ่งหน้าที่ของขุนนางในกรมท่าขวา เป็นต้นนอกจากคำ "ฝารัง - ฝรั่ง" และกลุ่มคำ "กะปิตัน" ที่ได้นำมาใช้ในการอธิบายเชื่อมโยงไปถึงชุมชนชาวโปรตุเกสในเมืองพระนครศรีอยุธยาแล้ว ยังมีชุดคำ "บรเทศ - ประเทศ -แขกบรเทศ - แขกประเทศ ( Bortesa - Baratesa - Paratesa)" ที่ผู้วิจัยได้นำเสนอเพื่อชี้ให้เห็นถึงวิวัฒนาการที่เกี่ยวข้องกับชนชาติโปรตุเกสโดยได้วิเคราะห์ให้เห็นถึงรากฐานความเป็นมาของคำดังกล่าวว่า อาจเกิดจากคำ "Português - Portugresa" ใน รัชสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาเป็นอย่างน้อย (กรณีกบฏญาณประเชียรในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐ และพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับบริติชมิวเซียม) คำอธิบายเชิงนิรุกติศาสตร์ข้างต้นเป็นอีกกระบวนการหนึ่งที่ช่วยทำให้แลเห็นปฏิสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นระหว่างกรุงศรีอยุธยากับโปรตุเกสได้อย่างลึกซึ้ง นอกจากนี้การเสนอการวิเคราะห์ความเป็นมาทางเชื้อชาติของแขกเทศและพราหมณ์เทษ* ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่อาจช่วยทำให้เกิดคำอธิบายเกี่ยวกับปฏิสัมพันธ์ข้างต้นให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้นด้วย
การอ้างอิง
[1] บันทึกของพ่อค้าฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ.2240 ระบุว่าขุนวรวาทีมีชื่อจริงว่า “ แวงซัง แปงเฮโร” ต่อมาบุตรชายของเขาได้สืบตำแหน่งล่ามแทน ดู ประชุมพงศาวดารเล่ม 21 (ภาค36), (พระนคร : องค์การค้าคุรุสภา, 2511), หน้า 154 -155.
* ราชทินนามที่ลงท้ายตัว “วะดี–วดี” ในพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือนมีเพียงสอง หรือสามคนเท่านั้น ขุนหลวงราชาวะดี ล่ามกะปิตัน กับชาวประเทศชื่ออมรวดี ในพระราชพงศาวดาร อาจมีความเชื่อมโยงกันอย่างหนึ่งอย่างใด จากพื้นฐานของข้อเสนอที่เชื่อว่า ล่ามกะปิตันในชั้นแรกคือล่ามภาษาโปรตุเกส ดู บทที่1 การวิเคราะห์เรื่องความสัมพันธ์ระหว่าง “ ฝารั่ง – กระปิตัน – กะปิตัน – กาปิดดัน – การปิตตัน กับชุมชนโปรตุเกสในเมืองพระนครศรีอยุธยา"
* เมื่อ “S” อยู่กลางคำหรือท้ายคำในภาษาโปรตุเกสให้ออกเสียงคล้ายคำว่า “ Sugar - น้ำตาล” ในภาษาอังกฤษ, Mike Harland , ibid., P.IV อิทธิพลการออกเสียง “s” เป็น “sh” อาจมีส่วนทำให้การถอดเสียง “sh” จากภาษาอังกฤษมาเป็น “ศ,ษ,ส” ในภาษาไทยบางคำ เช่น “English” ถูกเขียนแบบ “Linqua – franca” ในภาษาไทยว่า “อังกฤษ” “อังกฤต” “อังกริด” และ “เองคลิศห์” แต่ไม่เคยมีเอกสารชิ้นใดเขียนว่า “อังกฤช” ส่วนชาวโปรตุเกสนั้นเรียกชาวอังกฤษในภาษาของตนว่า “ ingl^es - อิงเกลช ”
[1] P. Manuel Teixeira, Portugal na Tailandia (Macau : Imprensa Nacional de Macau, 1983), pp.79-80.
[2] กรมวิชาการ, "ภาคผนวก 2-3", 470 ปีความสัมพันธ์ระหว่างไทยและโปรตุเกส, แปลโดยลินจง สุวรรณโภคิน (กรุงเทพ : โรงพิมพ์คุรุสภา,2531 ), หน้า136-163.
[3] - 6 Mike Harland, The Collins Portuguese Pocket Dictionary (London : Collins Clear-Type Press, 1987), p.107.
[7] ทาโพรบานา เป็นชื่อเรียกเกาะลังกาในขณะนั้น ดู กรมศิลปากร, ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสยามกับต่างประเทศในสมัยอยุธยา , แปลโดย นันทนา ตันติเวสส ( กรุงเทพ : โรงพิมพ์สหประชาพานิชย์ , 2527),หน้า4 .
[8] กรมศิลปากร, "ตำรากระบวนเสด็จครั้งกรุงเก่า" ใน ลัทธิธรรมเนียมต่างๆ เล่ม 1 ( นครหลวง : โรงพิมพ์อักษรบริการ,2515), หน้า 563.
[9] “หมายรับสั่งที่ 10 เรื่องทูตอเมริกันเข้าเฝ้าทูลลากลับ” ใน ประชุมพงศาวดาร เล่ม 36 (ภาคที่ 62 ต่อ 63) (พระนคร : องค์การค้าคุรุสภา, 2512), หน้า31-32. ก่อนหน้านี้ ชิมอง เดอ ลาลูแบร์ กล่าวถึงคำพุทธเขต (Poutgheda) ว่าเป็นคำที่มาจากภาษาเปอร์เซีย ซึ่งชาวโปรตุเกสใช้เรียกทั้งวิหารและพระพุทธรูป อันที่จริงคำ “พุทธเขต” เป็นภาษาบาลีมิใช่ภาษาเปอร์เซีย ดู ชิมอง เดอ ลาลูแบร์, จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ฉบับสมบูรณ์ แปลโดย สันต์ ท.โกมลบุตร (พระนคร : สำนักพิมพ์ก้าวหน้า, 2510), หน้า505. คำพุทธเขตนี้ออกเสียงใกล้เคียงกับคำพุทเกต แต่มีความหมายคนละอย่าง
[10] กรมวิชาการ, "ภาคผนวก 2-3" , 470 ปีความสัมพันธ์ระหว่างไทยและโปรตุเกส, หน้า 136-163.
[11] เรื่องเดียวกัน, หน้า137.
[12] เรื่องเดียวกัน, หน้า173,183 และ185.
[13] เรื่องเดียวกัน, หน้า185.
[14]ปรีดา ศรีชลาลัย (บรรณาธิการ). “คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรมเอกสาร หอหลวง” แถลงงานประวัติศาสตร์ เอกสารโบราณคดี 3 ( มกราคม : 2512), หน้า 55.
[15] เรื่องเดียวกัน, หน้า 58-59.
[16] สง่า กาญจนาคพันธุ์ , ภูมิศาสตร์วัดโพธิ์ เล่ม 2 (พระนคร:บุรินทร์การพิมพ์ , 2517), หน้า140.
[17] อันโตนิโอ ดา ซิลวา เรกู , “บทสังเขปการศึกษาเรื่อง สัมพันธไมตรีระหว่างลูโซ และสยามตั้งแต่ พ.ศ.2054 ถึงสมัยปัจจุบัน , ” 470 ปีความสัมพันธ์ระหว่างไทยและโปรตุเกส, แปลโดย ลินจง สุวรรณโภคิน (กรุงเทพ : โรงพิมพ์คุรุสภา,2531), หน้า 17.
[18] กรมวิชาการ, "ภาคผนวก 2-3" , หน้า 195.
[19] สมจัย อนุมานราชธน, การทูตของไทยสมัยอยุธยา (พระนคร : โรงพิมพ์พระจันทร์ , 2509), หน้า สารบัญ.
[20] ชิมอง เดอ ลาลูแบร์, จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ฉบับสมบูรณ์ , แปลโดยสันต์ ท.โกมลบุตร (พระนคร : ก้าวหน้า, 2510), หน้า 110.
[21] ธาวิต สุขพานิช,"ยุคแห่งการบุกเบิกและการค้นพบ" วารสารธรรมศาสตร์ 18 (2532) ,หน้า 34. และอธิบายว่า "ปอร์ตุเกส" มาจากการเป็นเมืองท่า (Port) มีเมืองหน้าด่านชื่อ Cale รวมกันเรียกว่า Portucalense แล้วกลายเป็น Portugal ภายหลัง
[22] ราชบัณฑิตสถาน, หลักเกณฑ์การทับศัพท์ฯฉบับราชบัณฑิตยสถาน (ม.ป.ท. : 2535), หน้า9.
[23] กรมศิลปากร, “รายละเอียดเกี่ยวกับประเทศอินเดีย (ข่าวว่าด้วยอาณาจักรสยาม),” ใน บันทึกเรื่องสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศกับนานาประเทศในคริสตศตวรรษที่ 17 เล่ม 5 , แปลโดยไพโรจน์ เกษแม่นกิจ (กรุงเทพ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว,2520), หน้า65.
* คำอธิบายเนื้อหาและการวิเคราะห์หลักฐาน ดู บทที่4 บทบาทของชาวโปรตุเกสในฐานะทูตสยาม
[24]“ว่าด้วยหนังสือสัญญาค้าขายระหว่างประเทศสยามกับประเทศฝรั่งเศสใน แผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช, ” ใน ประชุมพงศาวดารเล่ม20 (ภาคที่33-34) (พระนคร : องค์การค้าคุรุสภา,2510), หน้า159-171.
[25] คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมและโบราณคดี , ประชุมจดหมายเหตุสมัยอยุธยาภาค 1, (พระนคร : สำนักนายกรัฐมนตรี,2510), หน้า16.
[26] ปรีดา ศรีชลาลัย, เรื่องเดิม,หน้า58.
[27] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ , “กบฏไพร่สมัยอยุธยากับแนวความคิดผู้มีบุญ – พระศรีอาริย์ - พระมาลัย,” วารสารธรรมศาสตร์ ฉบับที่ 1 (2522) : 59. และ ปิยรัตน์ อินทร์อ่อน, "รูปแบบการแย่งชิงอำนาจทางการเมืองในสมัยอยุธยา พ.ศ.1893-2310" (วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิตภาควิชาประวัติศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2539),หน้า26.
[28] ดู พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ, 2541 หน้า463 ; พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพระจักรพรรดิพงศ์, 2515 หน้า157-159 ;พระราชงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 1, หน้า131-132 และ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ เล่ม 1, หน้า 165-167 อ้างจาก ปิยรัตน์ อินทร์อ่อน,เรื่องเดิม, หน้า26.
[29]“พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ,” ใน ประชุมพงศาวดาร เล่ม 1 (ภาคที่1) (พระนคร:องค์การค้าคุรุสภา , 2506),หน้า 151.
[30] “พระราชพงศาวดารกรุงสยามฉบับบริติชมิวเซียม,” ใน ประชุมพงศาวดารภาคที่ 82 (กรุงเทพมหานคร : กรมศิลปากร, 2537), หน้า 76-77. และ พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 1 (พระนคร : อักษรสัมพันธ์,2505), หน้า109.
[31] กรมศิลปากร, “พระธรรมนูน,” ใน กฎหมายตราสามดวง เล่ม 1 (กรุงเทพ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2515), หน้า167.
[32] กรมศิลปากร, “พระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน,” ใน กฎหมายตราสามดวง เล่ม 1 (กรุงเทพ : คุรุสภาลาดพร้าว, 2515), หน้า233-234.
[33] เรื่องเดียวกัน, หน้า233.
[34] Mike Harland, op.cit., p.134
[35] พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาและจุลยุทธการวงศ์ , (กรุงเทพ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย, 2535), หน้า109.
[36] จันทร์ฉาย ภัคอธิคม, กรุงศรีอยุธยาในเอกสารหลักฐานสเปน (กรุงเทพ : โรงพิมพ์ประชาชน, 2532), หน้า40-41.
[37] กรมศิลปากร, “กฎหมายลักษณะอาญาหลวง,” ใน กฎหมายตราสามดวง (กรุงเทพมหานคร : ห้างหุ้นส่วนจำกัดอุดมศึกษา, 2521),หน้า177-178.
[38] ม.ร.ว.แสงโสม เกษมศรี, " สัมพันธภาพกับชาวต่างประเทศยังผลประการใดแก่สถานการณ์ประเทศไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา" (วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2486), หน้า68.
[39] เรื่องเดียวกัน, หน้า79.
[40] “พระธรรมนูน ,” ใน กฎหมายตราสามดวง เล่ม 1, หน้า177-178.
[41] “พระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน ,” ใน กฎหมายตราสามดวง เล่ม 1, หน้า 234-235.
[42] ดี.จี.อี. ฮอลล์, ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เล่ม1 (พระนคร : ไทยวัฒนาพานิช, 2526), หน้า 478-481 อ้างจาก วีระศักดิ์ กีรติวรนันท์, อำนาจและความแตกต่างทางวัฒนธรรมกับการเปลี่ยนแปลงการรับรู้เกี่ยวกับความเป็นตะวันตกของไทย (อยุธยาถึงต้นรัตนโกสินทร์) เอกสารการสัมนาทางวิชาการ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาคการศึกษาต้น ปีการศึกษา2539.(เอกสารไม่ตีพิมพ์),หน้า10-11 และดู P. Manuel Teixeira, op.cit.,p.63 อธิบายความเป็นมาของคำว่า "ฝรั่ง - Farang".
[43] ดูตารางทำเนียบขุนนางกรมท่าขวาซ้าย ใน กฎหมายตราสามดวง เล่ม1, หน้า234.
[44] คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและโบราณคดี สำนักนายกรัฐมนตรี,ประชุมจดหมายเหตุสมัยอยุธยา ภาค 1,หน้า3-8.
* อังกฤษเข้ามาในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม
[45] บันทึกของ ลาลูแบร์ ตอนหนึ่งกล่าวถึงคำเรียก ควาญช้างว่านายช้าง ตรงกับ "Capitaine d’elephante” ดู ชิมอง เดอ ลาลูแบร์, เรื่องเดิม, หน้า184
* จดหมายของจอร์ช ดึ อัลบูแกร์กึ กัปตันแห่งมะละกาเมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ.2058 เรียกกะปิเตาแห่งมะละกาว่า กะปิเตา เยรอล (Capytam geral) ดู Carta de Jorge de Albuquerque , Capitaõ de Malaca a el rei, เอกสารสำเนาของหอสมุดแห่งชาติกรุงลิสบอน เก็บรักษาไว้ที่กองจดหมายเหตุแห่งชาติกรมศิลปากร, (ไม่ตีพิมพ์เผยแพร่)
[46] นันทิยา สว่างวุฒิธรรม “เอกสารภาษาโปรตุเกสที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์อยุธยา,” ใน การสัมมนาประวัติศาสตร์ไทยสมัยอยุธยา เรื่อง หลักฐานด้านประวัติศาสตร์ และโบราณคดีสมัยอยุธยา , 14-16 มิถุนายน 2526, หน้า3.
* ดูเงื่อนไขการแต่งตั้งกะปิเตา-มูร์ ในบทที่3 หัวข้อการปกครองภายในชุมชนค่ายโปรตุเกส
[47] “พระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน” กฎหมายตราสามดวง เล่ม 1,หน้า167, ขุนพินิจใจราช ตำแหน่งปลัดถือพระธรรมนูน สังกัด เจ้าพระยาจักรี สมุหนายก.
[48] “พระธรรมนูน” กฎหมายตราสามดวง เล่ม 1, หน้า167.
[50] คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารฯ สำนักนายกรัฐมนตรี,เรื่องเดิม,หน้า1 และหนังสือสัญญาไทย-ฝรั่งเศสครั้งสมเด็จพระนารายณ์ เมื่อปี ค.ศ.1688 เรียกหัวหน้าพ่อค้าฝรั่งเศสว่า “มุงสูอุรเดลัน กับปิตันฝรั่งเษด” , ดู ประชุมจดหมายเหตุสมัยอยุธยา ภาค1, หน้า15
[51] กรมศิลปากร, "โคลงเฉลิมพระเกียรติพระเจ้ากรุงธนบุรี,"วรรณกรรมสมัยธนบุรี เล่ม 1,หน้า283. อ้างจาก วีรศักดิ์ กีรติวรนันท์. เรื่องเดิม,หน้า11.
[52] “ตำนานกรุงเก่า” ประชุมพงศาวดาร เล่ม 37 (กรุงเทพ:องค์การค้าคุรุสภา,2512), หน้า207.
[53] กรมศิลปากร, เอกสารของฮอลันดา สมัยกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.2151-2163 และ พ.ศ.2167-2185 (ค.ศ.1608-1620 และ ค.ศ.1624-1642),2531, แปลโดยนันทา สุตกุล, (พระนคร: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว), หน้า212.
[54] ณรงค์ชัย ปิฎกรัชต์,สารานุกรมเพลงไทย (กรุงเทพ:เรือนแก้วการพิมพ์),หน้า36-37. และ สุรางค์ ดุริยพันธุ์ (ข้อมูลจากรายการดนตรีไทยเพลงล้ำค่าสถานีวิทยุช่อง 9 อ.ส.ม.ท. 100.5 MHz เดือนพฤศจิกายน 2541 เวลา06.00 – 07.00 น.)นอกจากชุดเพลงแขกบรเทศ-แขกประเทศแล้ว ยังมีเพลงวิลันดาโอด ที่บรรยายเกี่ยวกับความรัก หรือความเอื้ออาทรต่อผู้เป็นที่รัก เพลงวิลันดาโอดนี้ อาจบ่งชี้ถึงการผสมผสานทางวัฒนธรรมระหว่างฮอลันดากับสยามในช่วงเวลาหนึ่งก็ได้.
[55] ณรงค์ชัย ปิฎกรัชต์, เรื่องเดิม, หน้า37.
[56] ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 (กรุงเทพ : อักษรเจริญทัศน์), หน้า460.
* ดูบทที่4 หัวข้อบทบาทของชาวโปรตุเกสในฐานะทูตสยาม
* ดู บทที่3 หัวข้อการปกครองภายในชุมชนค่ายโปรตุเกส
** ดู บทที่4 หัวข้อบทบาทของชาวโปรตุเกสในฐานะทูตสยาม
* ดูรายละเอียดในภาคผนวก ก-ข