วันจันทร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2553

วิทยานิพนธ์ เรื่อง ชุมชนโปรตุเกสในสมัยกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.2059-2310

พิทยะ ศรีวัฒนสาร
อ.ที่ปรึกษา : ศาสตราจารย์ ดร. ปิยนาถ บุนนาค , 332 หน้า

บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งอธิบายวิถีชีวิตและบทบาททางประวัติศาสตร์ของชุมชนโปรตุเกสในสมัยกรุงศรีอยุธยาระหว่าง พ.ศ.2059-2310 เพื่อสะท้อนภาพชีวิตทางสังคม และบริบทต่างๆที่เกิดขึ้นแวดล้อมชุมชนแห่งนี้ โปรตุเกสเป็นชาวยุโรปชาติแรกที่เข้ามาสถาปนาความสัมพันธ์กับอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ.2054 สัญญาทางพระราชไมตรีฉบับแรกใน พ.ศ.2059 นอกจากจะทำให้เกิดการติดต่อทางการค้าแล้ว ยังทำให้ชาวโปรตุเกสเข้ามาตั้งถิ่นฐานในราชธานีแห่งนี้และส่งผลให้พวกเขากลายเป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์สมัยอยุธยาจนถึง พ.ศ.2310 หลักฐานประวัติศาสตร์ไทยแทบจะไม่กล่าวถึงชุมชนโปรตุเกสในเมืองพระนครศรีอยุธยา เอกสารไทยรู้จักชุมชนชาวโปรตุเกสในนามชาวฝรั่ง ชาวบรเทศ ชาวแขกประเทศ และชาวกะปิตัน ชุมชนโปรตุเกสเป็นชุมชนอิสระขนาดเล็กที่มีศักยภาพหลายด้านนอกดินแดนยึดครองของรัฐโปรตุเกสอินเดียซึ่งนอกจากจะอยู่ภายใต้การปกครองของสยามแล้ว ยังมีความผูกพันหลายด้านกับรัฐโปรตุเกสอินเดียอย่างเหนียวแน่นด้วย โดยหัวหน้าชุมชนได้รับการแต่งตั้งจากทางการรัฐโปรตุเกสอินเดียและองค์กรทางศาสนาหลายคณะในชุมชนได้รับพระราชูปถัมภ์จากกษัตริย์โปรตุเกสโดยตลอด ผู้วิจัยได้แบ่งวิวัฒนาการของชุมชนโปรตุเกสเป็น 3 ระยะคือ ระยะที่ 1 เป็นชุมชนพ่อค้าและทหารอาสาขนาดเล็ก มีประชากรประมาณ 2,000 คน (พ.ศ.2059-2112) ระยะที่ 2 เป็นชุมชนพ่อค้า ทหารรับจ้างโปรตุเกส และคนครึ่งชาติโปรตุเกส มีประชากรประมาณ 3,000 คนเศษ (พ.ศ.2112-2199) ระยะที่ 3 เป็นชุมชนเมชติซูเชื้อสายโปรตุเกสมีประชากรประมาณ 6,000 คนเศษ (พ.ศ.2199-2310)

ผลการศึกษาชี้ชัดว่า วิถีชีวิตของชุมชนแห่งนี้มีภาษา ศาสนา และวัฒนธรรมเป็นเครื่องบ่งบอกถึงความเป็นคนเชื้อสายชาวโปรตุเกส สมาชิกของชุมชนได้ทำงานรับใช้ราชสำนักหลายหน้าที่ นอกจากนี้พวกเขายังมีบทบาททางด้านการค้าทั้งภายในและภายนอก รวมทั้งบทบาทในการเผยแพร่ศาสนา วัฒนธรรมการกินอยู่ และศิลปวิทยาการในสยาม การเข้ามาของชาวยุโรปชาติอื่นส่งผลกระทบต่อชุมชนโปรตุเกสเป็นอันมาก ความบาดหมางกับทางการสยามเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลโดยรวมให้ทางการสยามไม่ไว้วางใจชาวตะวันตก การเป็นชุมชนชาวต่างชาติที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่และมีรากฐานเป็นส่วนหนึ่งของระบบกำลังพลในสยามทำให้ต้องอดทนและดิ้นรนรวมทั้งปรับตัวเพื่อการอยู่รอดในสังคมสยาม

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2541

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น