วันจันทร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2553

(ร่าง)การผนวกราชอาณาจักรโปรตุเกสเข้ากับสเปนและการเข้ามาของชาวยุโรปชาติอื่นๆ : ความตกต่ำทางการเมืองชองชุมชนโปรตุเกสในสยาม

โดย พิทยะ ศรีวัฒนสาร

โปรตุเกสเป็นดินแดนบนคาบสมุทรไอบีเรียทางทิศตะวันตกเฉียงใต้สุดของทวีปยุโรป ทางทิศตะวันตกและทิศใต้ จรดมหาสมุทรแปซิฟิก ทางทิศตะวันออกและทิศเหนือติดกับประเทศสเปน โดยมีหมู่เกาะอาซูรึช (Azores)และหมู่เกาะมาไดรา ( Madeira) ในมหาสมุทรแอตแลนติก เป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของประเทศ พื้นที่ประเทศโปรตุเกสปัจจุบัน เคยมีการตั้งถิ่นฐานกันมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และเมื่อจักรวรรดิโรมันผนวกเอาพื้นที่ดังกล่าวเป็นแคว้นลูซิตาเนีย (Lusitania) และส่วนหนึ่งของแคว้นแกลลิชี(Gallaecia) จึงมีชาวลูซิตาเนียนและชาวแกลีชีเข้ามาตั้งถิ่นฐานเมื่อ 29 ปีก่อนคริสต์ศักราช วัฒนธรรมโปรตุเกสจึงได้รับอิทธิพลมาจากผู้ตั้งถิ่นฐานชาวโรมันอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะคำในภาษาโปรตุเกสจำนวนมากพัฒนามาจากภาษาโรมัน ภายหลังจากการล่มสลายของจักรวรรดิโรมันในคริสต์ศตวรรษที่ 5 ประเทศโปรตุเกสถูกครอบครองโดยชาวเยอรมันหลายเผ่า ส่วนใหญ่เป็นเผ่าซูวี (Suevi) และเผ่าวิสิโกธ(Visigoths) ต่อมาในตอนต้นคริสต์ศตวรรษที่ 8 ชาวมุสลิมได้ยกเข้ามายึดครองอาณาจักรของพวกซูวีและวิสิโกธ ซึ่งมีพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในคาบสมุทรไอบีเรีย............(ขอขอบคุณข้อมูลจากhttp://en.wikipedia.org/wiki/Portugal) ...............
โปรตุเกสเคยอยู่ภายใต้การปกครองของสเปนมาตั้งแต่..จนกระทั่งขุนนางผู้ปกครองโปรตุเกสสามารถขับไล่ชาวมุสลิมออกไปจากคาบสมุทรไอบีเรียได้เมื่อ.....จึงได้รับพระราชทานรางวัลจากกษัตริย์โปรตุเกสให้ตั้งเป็นประเทศเอกราชได้.........หลังการสวรรคตของ........เมื่อ...โปรตุเกสไม่มีผู้สืบทอดราชบัลลังก์ที่เหมาะสม..........จึงถูกกษัตริย์.....แห่งสเปนอ้างสิทธิ์สืบทอดราชบัลลังก์โปรตุเกสเป็นเวลา.............

การถูกผนวกเข้าอยู่ภายใต้การปกครองของสเปนในปี พ.ศ.2123 และการเข้ามาของฮอลันดา อังกฤษ และฝรั่งเศส เป็นปัจจัยแห่งความเสื่อมอิทธิพลของโปรตุเกสในสยาม ความสัมพันธ์ระหว่างทางการสยามกับชุมชนโปรตุเกสจึงเริ่มมีปัญหา กล่าวคือในปี พ.ศ.2138 ชาวโปรตุเกสชื่อ ดิเอกู เวลูซู (เดียโก เบโลโซ ตามหลักฐาน สเปน) ซึ่งพำนักอยู่ในกัมพูชา ได้รับแต่งตั้งเป็นทูตกัมพูชาไปขอความช่วยเหลือจากมะนิลา เพื่อต่อต้านการรุกรานของสยาม แต่ปรากฏว่าเขาถูกจับกุมเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา พร้อมด้วยชาวโปรตุเกสจำนวนหนึ่ง คนเหล่านี้ได้รับความเดือดร้อน เมื่อมาอยู่รวมกันในกรุงศรีอยุธยา จึงวางแผนขอกำลังทหารสเปนจากมะนิลามาสนับสนุนอาณาจักรกัมพูชารบกับสยาม[1] เมื่อสมเด็จพระนเรศวรทรงมีพระราชประสงค์ม้าพันธุ์คาสตินเลียนจากมะนิลา จึงทรงให้บาทหลวงนิกายฟรานซิสกัน ซึ่งเป็นเชลยอยู่ในกรุงศรีอยุธยา “แต่ง หรือ แปล? ” พระราชสาส์นถึงผู้สำเร็จราชการสเปนแห่งมะนิลา แล้วโปรดฯให้นำช้าง 2 เชือก และงาช้าง 1 กิ่งไปพระราชทานด้วย เวลูซู พร้อมด้วยทูตสยามออกเดินทางจากกรุงศรีอยุธยาไปยังมะนิลา

กัปตันแห่งมะละกาไม่เห็นด้วยกับแผนการให้ทางการสเปนช่วยกัมพูชารบกับสยามจึงกักตัวเวลูซูไว้ และพยายามจะเอาช้างลงจากเรือเพื่อส่งไปยังเมืองกัว แต่เวลูซู สามารถเดินทางต่อไปยังมะนิลาได้หลังจากกำจัดขุนนางสยามสำเร็จ ความพยายามในการขอกำลังทหารสเปนจากมะนิลาไปช่วยพระเจ้ากรุงกัมพูชาของเวลูซู สัมฤทธิ์ผลแม้ว่าหลักฐานสเปนจะระบุว่า กองทหารสเปนเป็นเพียงหน่วยทหารรับจ้าง รายงานถวายพระเจ้าฟิลิปเปที่2 ของฟรานซิสโก เตโยแห่งมะนิลา กล่าวว่า เมื่อเรือของผู้สำเร็จราชการดัสมารีญ์สแล่นหลงทางไปเทียบท่าใกล้เมืองมาเก๊า เรือมีสภาพรั่วและจวนจะอับปางต้องขนสัมภาระลง นายดัสมารีญ์ส พยายามติดต่อซื้อเรือจากชาวจีน 1 ลำ แต่ถูกชาวโปรตุเกสแห่งมาเก๊าขัดขวาง แต่ในที่สุดก็ได้รับความช่วยเหลือจากชาวสเปน ทำให้ชาวโปรตุเกสแห่งมาเก๊ากลับล่าถอยไป[2]

จะเห็นได้ว่า ทางการโปรตุเกสทั้งมะละกาและมาเก๊าต่างก็ไม่ได้มีส่วนร่วมรู้กับดิเอกู เวลูซู ในการดึงสเปนเข้ามาสนับสนุนให้กัมพูชาต่อต้านอำนาจของสยาม จึงเชื่อว่าชุมชนโปรตุเกสในกรุงศรีอยุธยา จะไม่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบระหว่างสยามกับกัมพูชาในปี พ.ศ.2138 เพราะเมื่อชาวโปรตุเกสและบาทหลวงซึ่งพำนักอยู่ในกัมพูชาถูกกวาดต้อนจากกัมพูชาเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา มีหลักฐานว่าพระเจ้ากรุงสยามกลับโปรดให้นำบาทหลวงผู้หนึ่งไปประจำในพระราชสำนัก ส่วนชาวโปรตุเกสคนอื่นๆนั้นได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พำนักในชุมชนโปรตุเกส ดังปรากฏในหลักฐานของสเปน คือ จดหมายของเอร์นันโด เด โลส รีโอส โกโรเนล ถึง ดอกเตอร์ อันโตนิโอ เด มอร์กา เมื่อ พ.ศ.2141-2142 ระบุถึงนักบวชคณะดูมินิกันชาวโปรตุเกสซึ่งอาศัยอยู่ในราชสำนักสยามเป็นเวลา2ปี เป็นผู้ทำหน้าที่สั่งสอนทั้งพวกพ่อค้าโปรตุเกสในเมืองพระนครศรีอยุธยาและชาวโปรตุเกสที่ถูกกวาดต้อนจากกัมพูชาและกรุงหงสาวดี เมื่อครั้งที่สยามทำสงครามกับอาณาจักรทั้งสอง

ต่อมา พวกโปรตุเกสเหล่านี้กับพวกที่อยู่ในชุมชนโปรตุเกสเดิม มีเหตุวิวาทกับชาวสยามและฆ่าชาวสยามตายไป 1 คน พระเจ้ากรุงสยามทรงลงโทษพวกเขาโดยการนำไปทอดในน้ำมันทั้งเป็น 4-5 คน [3] และห้ามมิให้ชาวโปรตุเกสอื่นๆ และนักบวชชาวโปรตุเกสออกจากกรุงศรีอยุธยาหรือพระราชอาณาจักร แม้ว่าพวกเขาจะกราบทูลอ้อนวอนขอพระบรมราชานุญาตเดินทางออกนอกพระราชอาณาจักรก็ตาม

ดังนั้นเมื่อเห็นว่าพวกตนไม่ได้รับการปฏิบัติที่ดีดังเดิม ชาวโปรตุเกสกลุ่มดังกล่าวจึงวางแผนกับบาทหลวงฆวน มัลดูนาดู แห่งคณะดูมินิกัน (ซึ่งเดินทางมาจากกัมพูชา) ลอบเดินทางออกไปกับเรือของนายดอน ฆวน เมโดซา พ่อค้าชาวสเปน

เมื่อเมโดซาจัดการธุรกิจเรียบร้อยแล้ว แม้จะไม่ได้รับพระราชสาส์นตอบผู้สำเร็จราชการสเปนแห่งมะนิลาจากพระเจ้ากรุงสยาม และไม่สามารถขายสินค้าได้ผลกำไรตามที่ต้องการ แต่เขาก็ตัดสินใจล่องเรือลงไปตามลำน้ำแล้วแวะรับบาทหลวงชาวโปรตุเกสกับบาทหลวงจอร์เก เดอ ลามอตตา นิกายดูมินิกัน และผู้ติดตามจำนวนหนึ่งบริเวณนอกพระนครห่างลงไปประมาณ 2 ลีก เมื่อพระเจ้ากรุงสยามทรงทราบ จึงโปรดให้แต่งเรือมะลายูจำนวน 40 ลำ พร้อมด้วยปืนใหญ่และทหารมากมายออกติดตาม"ไม่ว่าจะจับเป็นหรือจับตาย"

ชาวโปรตุเกสเหล่านี้หนีกลับไปยังมะนิลาได้อย่างบอบช้ำโดยใช้เส้นทางโคชินไชน่า และได้รับความช่วยเหลือจากเรือโปรตุเกส ปรากฏว่าบาทหลวงมัลดูนาดู นายเมนโดซาและชาวสเปนอีก 8 คนเสียชีวิต[4]

สาเหตุบาดหมางระหว่างชุมชนโปรตุเกสกับชาวสยาม อาจนำมาสู่นโยบายเมินเฉยต่อชุมชนชาวโปรตุเกสของทางการสยามหลังปีพ.ศ.2141 กล่าวคือ เมื่อสเปนส่งทูตเข้ามา สำเนาพระราชสาส์นสมเด็จพระนเรศวร ลงวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2141 ถึงผู้สำเร็จราชการสเปนแห่งมะนิลา (นายฟรานซิสโก เตโย) ระบุว่าทรงมีพระราชประสงค์จรรโลงพระราชไมตรีกับสเปน และจะปฏิบัติต่อชาวโปรตุเกสในกรุงศรีอยุธยาตามนโยบายของสเปน โดยพระองค์ทรงยืนยันว่า

ข้าพเจ้าได้รับคณะทูตของท่านด้วยความพึงพอใจเป็นอย่างยิ่ง และข้าพเจ้ามีความปรารถนามาช้านานแล้ว ที่จะมีมิตรภาพอันมั่นคงและจริงแท้ระหว่างเรานับแต่บัดนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าใคร่ขอให้ท่านรักษาทางไมตรีนี้ และอาณาจักรของข้าพเจ้าก็จะยืนหยัดเคียงข้างทางไมตรีนี้ อาณาจักรของท่านและอาณาจักรของเราจักเป็นมิตรประเทศต่อกัน และเป็นมิตรโดยเฉพาะกับมหานครมะนิลาของท่าน นี่คือหน้าที่ของข้าพเจ้าและของท่าน เพราะข้าพเจ้าได้มองมุ่งหมายถึงท่านเสมอที่จะรักษามิตรไมตรีอันมั่นคง พระเจ้ากรุงโปรตุเกสจะทรงหยิบอาวุธขึ้นโดยลำพังพระองค์เอง เพราะขณะนี้เกิดความเดือดร้อนขึ้นบางประการจากกัปตันแห่งมะละกาคือ ดารูคา เฟียออน (Daroca Fiaon) เพื่อการนี้ ข้าพเจ้าจึงได้ให้สัตย์ปฏิญาณแก่ไมตรีอันมีขึ้นใหม่อีกครั้งนี้ดังได้เคยให้มาแล้ว สำหรับชาวโปรตุเกสนั้นไม่ว่าท่านจะขอร้องหรือออกคำสั่งประการใด ประเทศ (นี้) จะดำเนินการตามนั้น

ในปี พ.ศ.2153 ชาวฮอลันดาเดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมนั้น ชาวฮอลันดาได้ทำในสิ่งที่แตกต่างจากทัศนคติของทางการโปรตุเกศที่ค่อนข้างเมินเฉยต่อสยามหลังจากสถาปนาความสัมพันธ์กับพะโคไม่นานนัก* กล่าวคือฮอลันดาได้ตอบสนองความต้องการของราชสำนักสยามในเรื่องช่างต่อเรือ ช่างไม้ ช่างเคลือบและช่างฝีมืออื่นๆ นอกจากนี้เจ้าชายออเรนจ์แห่งฮอลันดา ยังได้ถวายอาวุธปืนแด่กษัตริย์สยาม รวมทั้งส่งทหารไปช่วยสยามรบกับหลวงพระบาง(ล้านช้าง)ในปี พ.ศ.2155 ส่งทหารไปช่วยรบกับกัมพูชาในปี พ.ศ.2163[5] และยังได้ส่งเรือรบจำนวน 6 ลำไปช่วยรบกับปัตตานีในปี พ.ศ.2177 ด้วย[6]

ส่วนทางการโปรตุเกสกลับมีท่าทีต่อสยามค่อนข้างเมินเฉย มิหนำซ้ำยังเกรงว่าฮอลันดาจะเป็นพันธมิตรกับสยาม และอาจสอนวิทยาการเกี่ยวกับปืนใหญ่และตำราพิชัยสงครามให้แก่ชาวสยามด้วย[7]

การที่ฮอลันดาได้ลงนามในสัญญาสิทธิพิเศษการค้าหนังสัตว์เมื่อปี พ.ศ.2160 สร้างความไม่พอใจแก่พ่อค้าโปรตุเกสและอังกฤษ ชาวโปรตุเกสในเมืองพระนครศรีอยุธยาได้ประท้วงด้วยการยึดเรือฮอลันดาลำหนึ่งไว้ ทางการสยามจึงบังคับให้คืนเรือให้แก่พ่อค้าฮอลันดา แต่ชาวโปรตุเกสกลับโจมตีเรือของสยามก่อน จึงก่อให้เกิดการสู้รบระหว่างสยามกับโปรตุเกสขึ้น[8]

จดหมายถวายพระเจ้าฟิลิปเปที่ 4 กล่าวถึงการส่งทหารสเปนจากมะนิลา ไปช่วยป้องกันมาเก๊า จากการปิดล้อมของฮอลันดา[9] ภายใต้การนำของนาย เฟร์นันโด เด ซิลบา ระหว่างทางได้แวะเข้าพักที่สยาม และได้จับกุมเรือของชาวฮอลันดาในแม่น้ำเจ้าพระยา พระเจ้ากรุงสยามทรงให้นาย เด ซิลบา ปล่อยเรือฮอลันดาและคืนทรัพย์สินแก่พ่อค้าฮอลันดา เมื่อได้รับการปฏิเสธจึงโปรดให้กองเรือสยามและทหารญี่ปุ่นโจมตี

ทหารสเปนส่วนใหญ่ถูกจับกุมในการรบและถูกยึดเรือไว้ ทางการสเปนแห่งมะนิลาทราบข่าวดังกล่าวผ่านทางมาเก๊า จึงส่งบาทหลวงชื่อเปดรู มูรีฌอน (Pedro Morejon) อดีตพระสังฆาธิการแห่งญี่ปุ่น เป็นทูตมาขอเจรจากับพระเจ้ากรุงสยาม พระเจ้ากรุงสยามจึงโปรดให้รับไมตรีและอนุญาตให้บาทหลวงสเปนเข้ามาเผยแพร่ศาสนาได้อีกครั้งหนึ่งใน พ.ศ.2169

การส่งทหารสเปนจากมะนิลาไปช่วยป้องกันมาเก๊า จากการปิดล้อมของฮอลันดาในปี พ.ศ.2168 แสดงให้เห็นถึงความผูกพันระหว่างสเปนกับโปรตุเกสในตอนกลางพุทธศตวรรษที่22 ต่อมาหลักฐานอีกชิ้นหนึ่งของสเปนระบุว่า พ.ศ.2168-2169 เรือสเปนได้ยึดเรือของพระเจ้ากรุงสยาม ซึ่งบรรทุกสินค้าจะไปเมืองจีน และเรือที่กำลังเดินทางกลับจากเมืองกวางตุ้ง ในปี พ.ศ.2173 เรือสเปนก็ยึดเรือสินค้าของสยามอีกหลายครั้ง โดยสเปนถือว่าเป็นการยึดเรือเพื่อแก้แค้น มิใช่เป็นการปล้น[10]

บันทึกของ แวน โซเต็น (Van Schouten)พ่อค้าฮอลันดาเมื่อปี พ.ศ.2179 เป็นหลักฐานร่วมสมัยที่กล่าวถึงความบาดหมางระหว่างทางการสยามและชุมชนโปรตุเกสค่อนข้างละเอียด ว่า

"ก่อนหน้าที่ชาวฮอลันดาจะเดินทางเข้ามาในประเทศนี้ ชาวโปรตุเกสได้รับการยกย่องอย่างสูง พระเจ้าแผ่นดินสยามทรงแสดงความนับถือยิ่งต่อคณะทูตของอุปราชอินเดียและบิชอพชาวมาเลย์* ซึ่งได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ทำหน้าที่ดูแลกิจการของโบสถ์ ชาวโปรตุเกสเริ่มเสียคะแนนนิยมทันทีที่ชาวฮอลันดาเข้ามามีบทบาท และในที่สุดสัมพันธภาพระหว่างสยามกับโปรตุเกสก็ได้สิ้นสุดลง ชาวโปรตุเกสคอยดักจับเรือสินค้าของชาวสยาม ระหว่างทางไปแซงตวน (Saintoine) และนีกาปาทาน และในปี พ.ศ.2167 โปรตุเกสยึดเรือรบของฮอลันดาในแม่น้ำเจ้าพระยา อย่างไรก็ตาม พ่อค้าชาวโปรตุเกสไม่ได้ออกไปจากสยาม แต่พวกเขายังคงพำนักอยู่ในประเทศนี้ โดยมิได้รับความเอาใจใส่และความเชื่อถือจากชาวบ้าน ดังนั้นในขณะนี้จึงมีชาวโปรตุเกสที่โดนเนรเทศจำนวนเล็กน้อยเท่านั้น ที่ยังคงอาศัยอยู่ที่นั่น ในปี พ.ศ.2174 พระเจ้าแผ่นดินสยามได้ยึดเรือสินค้าของโปรตุเกส และจับลูกเรือไว้เป็นเชลย เพื่อเป็นการตอบโต้การกระทำของโปรตุเกส สองปีต่อมาพวกเขาหลุดพ้นจากการตกเป็นเชลยโดยการอ้างสิทธิ์ทางการทูต ที่ท่าเรือเมืองนครศรีธรรมราชและตะนาวศรี เรือของสเปนและโปรตุเกสถูกยึดแต่พระเจ้าแผ่นดินทรงปล่อยให้ลูกเรือเป็นอิสระ และทรงให้ลูกเรือนำพระราชสาส์น ไปมอบให้ผู้สำเร็จราชการเมืองมะนิลา และเมืองมะละกา ในพระราชสาส์นนั้น พระองค์ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ชาวโปรตุเกสเข้ามาทำการค้าขายและตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศสยามได้ ซึ่งอาจจะทำให้พวกเขากลับเข้ามาอีกก็เป็นได้"[11]

แวน โซเตน ระบุถึงสาเหตุที่ทำให้ชุมชนโปรตุเกสถูกกดดันจากทางการสยามว่า

" พระเจ้าแผ่นดินองค์ปัจจุบันโปรดชาวต่างชาติ เช่นเดียวกับพระเจ้าแผ่นดินองค์ก่อนๆ แต่พระองค์ทรงโปรดชาวฮอลันดามากกว่าชาวโปรตุเกส ฝ่ายหลังนั้นในปี พ.ศ.2167 ได้ยึดเรือฮอลันดาในแม่น้ำเจ้าพระยา พระเจ้าแผ่นดินสยามจึงได้ยึดเรือของดอน เฟอร์นันโด เดอ ซิลวา ยึดลูกเรือไว้เป็นเชลย และคืนเรือและสินค้าในเรือให้แก่ฮอลันดา ยังผลให้ชาวสเปนและชาวเมืองมะนิลา ได้ประกาศสงครามกับพระองค์ พร้อมทั้งจับกุมคนในบังคับของพระองค์ที่เดินทางไปค้าขายกับจีนไว้เป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณราชอาณาจักรสยาม ชาวฮอลันดาได้ให้พระเจ้าแผ่นดินสยามยืมเรือของฮอลันดา 6 ลำ ในปี พ.ศ.2177 เพื่อช่วยเหลือพระองค์ในการเตือนสติพวกปัตตานี ซึ่งอยู่ในบังคับของพระองค์ มิให้ก่อความวุ่นวายขึ้น"[12]

การที่ฮอลันดาได้รับสิทธิพิเศษมากมาย ทำให้การค้าในสยามขณะนั้นดีขึ้นมาก พ่อค้าฮอลันดาจึงมีอิทธิพลในราชสำนักสยามมากยิ่งขึ้น ในปี พ.ศ.2180-2181 บาทหลวงจูลิอู ซีซาร์ (Julio César) ในบังคับของโปรตุเกสถูกฆ่าตายและสยามได้ทำสงครามกับมะละกา ต่อมาได้ส่งทูตไปยังมะนิลาเพื่อขอเจรจาสันติภาพเนื่องจากเกรงอิทธิพลทางทหารของฮอลันดา ผู้สำเร็จราชการสเปนได้ส่งทูตไปยังสยาม ในปี พ.ศ.2261 พ่อค้าสเปนได้รับอนุญาตให้ตั้งสถานีการค้าในบริเวณค่ายญี่ปุ่นเดิม แต่เมื่อสยามส่งทูตตอบกลับไปยังมะนิลากลับมิได้รับการต้อนรับ ดังนั้น สัมพันธไมตรีระหว่างมะนิลากับสยามจึงชะงักลงอีก และในปี พ.ศ.2290 ทูตสยามและพ่อค้าสยามได้เดินทางไปยังมะนิลาเพื่อเจรจาทางการค้าทำให้มะนิลาส่งทูตตอบกลับมาใน พ.ศ.2295[13]

สำหรับชุมชนโปรตุเกสนั้น แม้จะมีส่วนร่วมในการสนับสนุนสมเด็จพระนารายณ์ยึดราชสมบัติจากสมเด็จพระศรีสุธรรมราชา แต่หลักฐานที่ข้าหลวงใหญ่และเคาน์ซิลแห่งปัตตาเวียเขียนถึงบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดาในสยาม ลงวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2205 กล่าวถึงความบาดหมางระหว่างชุมชนชาวโปรตุเกสกับทางการสยามในปีนั้นว่า เกิดจากความไม่พอใจที่พ่อค้าโปรตุเกสถูกเกณฑ์ทรัพย์สินไปชดเชยความถดถอยพระราชทรัพย์ของพระคลังหลวงเนื่องจากการทำสงคราม จึงเป็นสาเหตุให้พ่อค้าโปรตุเกสส่วนหนึ่งแสดงปฏิกิริยาต่อต้านทางการสยาม และพยายามหาทางไปจากกรุงศรีอยุธยา กล่าวคือ

"...ด้วยเหตุนี้ ชาวโปรตุเกสจึงรู้สึกไม่พอใจ และยอมละทิ้งถิ่นอาศัยกลับไปบ้านเมืองของตน และคงจะไม่คิดกลับมาอีกเป็นเวลานาน เมื่อพวกโปรตุเกสล่องเรือไปตามลำน้ำออกสู่ทะเลนั้น พวกนี้ได้ขนเอากำปั่นเงินไปด้วยมากมาย ของพวกนี้เป็นของสมัครพรรคพวกของออกญาพิจิตร[14] จ่ายเป็นค่าเสียหายให้แก่พวกโปรตุเกส และถึงแม้พวกนี้จะได้คัดค้านด้วยประการทั้งปวงก็ดี แต่ก็ยังอุตส่าห์ส่งคนให้ขึ้นไปรายงานให้นายของเขาที่อยู่ทางต้นน้ำทราบถึงเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นกับพวกเขา ซึ่งทำให้พวกโปรตุเกสยิ่งโกรธแค้นมากขึ้น เหตุการณ์มิได้ยุติลงแค่นั้น พวกโปรตุเกสได้สั่งการให้พวกตนเข้าทำลายเรือสำเภาหลวงหลายลำที่เตรียมไว้สำหรับเดินทางไปยังเมืองกวางตุ้ง ทั้งนี้ก็เนื่องด้วยพวกนี้ขุ่นเคืองที่พระเจ้ากรุงสยามทรงจัดส่งคณะทูตไปยังโคชิน"[15]

การทิ้งถิ่นพำนักของพวกเขาเมื่อตอนต้นรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ อาจเกิดขึ้นกับพ่อค้าเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น มิได้รวมถึงชาวโปรตุเกสทั้งชุมชน

การอ้างอิง
[1] จันทร์ฉาย ภัคอธิคม , ประวัติศาสตร์ไทยสมัยแรกเริ่มจนถึงสมัยธนบุรี : การศึกษาเฉพาะ ประเด็น (กรุงเทพ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง , 2520), หน้า40-41.
[2] เรื่องเดียวกัน, หน้า61 , 89.
[3] เรื่องเดียวกัน, หน้า115.
[4] เรื่องเดียวกัน, หน้า92-94.
* มาเรีย ดา กงไซเซา ฟลูรึช , ความสัมพันธ์ระหว่างโปรตุเกสและสยามในคริสศตวรรษที่ 16 , แปลโดย มธุรส ศุภผล (เอกสารยังไม่ตีพิมพ์) , ใน บทที่4 บทบาททางการค้าของชาวโปรตุเกสในกรุงศรีอยุธยา.
[5] W.Blankwaardt, " Notes upon the Relations between Holland and Siam" , The Siam Society Journal Vol. III (1959):19.
[6] นันทา ตันติเวสส, เรื่องเดิม, หน้า15.
[7] W.Blankwaardt, op.,cit., p.18-19.
[8] สมจัย อนุมานราชธน, เรื่องเดิม , หน้า19-20.
[9] จันทร์ฉาย ภัคอธิคม, เรื่องเดิม, หน้า126.
[10] เรื่องเดียวกัน, หน้า126-134.
* หมายถึงบาทหลวงชาวโปรตุเกสในมะละกา
[11] นันทนา ตันติเวสส, เรื่องเดิม, หน้า13-14.
[12] จันทร์ฉาย ภัคอธิคม, เรื่องเดิม, หน้า15.
[13] เรื่องเดียวกัน, หน้า135-142.
[14] ออกญาพิจิตรผู้นี้ แปลจากต้นฉบับว่า " Oija Preekijt " , ดู กรมศิลปากร, บันทึกเรื่อง สัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศในคริสตศตวรรษที่17 เล่ม2 , หน้า55. แต่ไม่เคยปรากฏว่า ออกญาพิจิตรมีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจการค้ากับต่างประเทศ ที่ถูกเห็นจะเป็นออกญาโกษาธิบดี ซึ่งปรากฏอยู่ในหลักฐานของวัน วลิต (หน้า144) ว่า "Trachousa Tsibidi" ขุนนางบางคนชื่อ "Gpreckedeke" ใน บันทึกเรื่องสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศฯ เล่ม1, หน้า59. แปลว่าออกพระโชดึก ใกล้เสียงในภาษาไทย และสอดคล้องกับพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน เพราะหลวงโชดึกเศรษฐี ได้ว่าวิลันดา (เจ้ากรมท่าซ้าย)
[15] กรมศิลปากร, บันทึกเรื่องสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศฯ เล่ม1, หน้า57-58.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น