โดย
พิทยะ ศรีวัฒนสาร
การดำเนินชีวิตของชาวโปรตุเกสในเมืองพระนครศรีอยุธยาผูกพันกับพิธีกรรมตามความเชื่อในศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาธอลิก ศาสนาคือสิ่งหล่อหลอมความเป็นชุมชน นับตั้งแต่การรับศีลมหาสนิทหรือศีลล้างบาป การร่วมพิธีมิซซาทุกวันอาทิตย์ การรับศีลแต่งงาน การเฉลิมฉลองวันคริสต์มาส [1] การเฉลิมฉลองวันนักบุญ การทำพิธีในงานศพ การฉลองวันครองราชย์ ประสูติ หรือวันสิ้นพระชนม์ของกษัตริย์และราชินีโปรตุเกส[2] แม้กระทั่งการเฉลิมฉลองแสดงความยินดีต่อการเดินทางเข้ามาของคณะทูตชาติต่างๆ[3] นอกจากนี้ในงานฉลองวันนักขัตฤกษ์ประจำปีตามประเพณีทางศาสนาของชุมชนโปรตุเกสยังมีการแสดงละครและการเต้นรำตามแบบอย่างของชาวโปรตุเกสด้วย การเฉลิมฉลองเช่นนี้คงมีความยิ่งใหญ่มาก ทำให้เจ้าชายมกุฏราชกุมาร ( o Principe Coroado) ในสมเด็จพระเจ้าท้ายสระเสด็จฯมาทอดพระเนตรและเข้าร่วมในพิธีมิซซาด้วยในปี พ.ศ.2257 ขณะที่มีการแสดงละครและเต้นรำในชุมชนโปรตุเกส หลักฐานของบาทหลวงโลเนย์ระบุว่า มีเจ้าชายสยามพระองค์นี้เสด็จมายังโบสถ์ของบาทหลวงชาวโปรตุเกส[4]
บาทหลวงคณะเยซูอิตชื่อ ฟิลิป ซิบิน (Filip Sibin) ระบุว่า เจ้าชายที่เสด็จมาเยือนชุมชนโปรตุเกสเสด็จมาพร้อมกับพระชายา โดยมีพระประสงค์เพื่อเข้าร่วมในการประกอบพิธีมิซซา และประทับอยู่ร่วมในพิธีนานถึงสี่ชั่วโมงเศษ พระองค์ทรงฟังเทศน์อย่างตั้งใจ ตั้งแต่เวลา 4 ทุ่มเศษ จนถึงตีสาม บาทหลวงฟิลิป ซิบิน ได้ทำหน้าที่บรรยายถึงความศักดิ์สิทธิ์ของขั้นตอนต่างๆในพิธีให้แก่เจ้าชาย ส่วนพระชายาของพระองค์ก็ทรงประทับใจต่อการประดับตกแต่งภายในโบสถ์ของชุมชนเป็นอันมาก
หลักฐานระบุว่าเจ้าชายมกุฏราชกุมารพระองค์นี้ทรงเป็นพระโอรสของสมเด็จพระเจ้าท้ายสระทรงพระนามว่าเจ้าฟ้านเรนทร์* ทรงเป็นพระเชษฐาของเจ้าฟ้าอภัยและเจ้าฟ้าปรเมศร์ และพระชายาของพระองค์ก็ทรงเป็นพระขนิษฐาของพระองค์ด้วย[5] หลังการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระเจ้าท้ายสระในปี พ.ศ.2275 สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ (กรมพระราชวังบวรสถานมงคลในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ) โปรดให้สำเร็จโทษเจ้าฟ้าอภัยและเจ้าฟ้าปรเมศร์เสีย แต่เจ้าฟ้านเรนทร์เสด็จออกผนวชหนีราชภัย[6] การเสด็จมาเยี่ยมชุมชนโปรตุเกสของเจ้าฟ้านเรนทร์ตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ แม้จะเป็นส่วนหนึ่งของพระกรณียกิจในฐานะที่ทรงบังคับบัญชากรมท่าขวา แต่กระนั้น เหตุการณ์ที่ชาวค่ายโปรตุเกสมีส่วนสนับสนุนการรัฐประหารในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมและสมเด็จพระนารายณ์ การเสด็จฯครั้งนี้ อาจเป็นส่วนหนึ่งในการพยายามสร้างความประทับใจให้เกิดขึ้นแก่ชาวค่ายโปรตุเกส โดยอาจทรงหวังผลบางอย่างในระยะเวลาอันเหมาะสมก็ได้
ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ การเฉลิมฉลองในชุมชนโปรตุเกสได้ถูกจัดขึ้นเช่นเดียวกับในอาณานิคมแห่งอื่นๆของโปรตุเกส หลักฐานของบาทหลวงตาชารต์ระบุว่า
" หลังจากเราเดินทางมาถึงสยาม (ตุลาคม พ.ศ.2228) ได้มีการจัดงานเฉลิมฉลองขึ้นที่ค่ายโปรตุเกส 2 วาระด้วยกัน งานแรกเนื่องในโอกาสวันประสูติของสมเด็จพระราชินีแห่งโปรตุเกส และงานที่สองเป็นการรำลึกถึงกษัตริย์ ดอง อาฟองซู[7] บาทหลวงซูอารึช (P. Soares) และบาทหลวงผู้หนึ่งแห่งคณะดูมินิกัน ได้ขึ้นเทศนาในพิธีสิ้นพระชนม์ดังกล่าว หลังจากนั้นที่โบสถ์ของคณะดูมินิกันซึ่งมีบาทหลวงหลายคน ก็ได้จัดพิธีเฉลิมฉลองการครองราชย์ของกษัตริย์ดอง ปึดรู (D. Pedro) พระเจ้าแผ่นดินแห่งโปรตุเกสองค์ปัจจุบัน โดยซิงญอร์ กงสตันตินู (Sr.Contantino) เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเพื่อเป็นการอุทิศถวายแด่กษัตริย์ผู้สิ้นพระชนม์ "[8]
บาทหลวงตาชารต์ระบุว่า งานเลี้ยงฉลองการครองราชย์ของเจ้าชายแห่งยอร์ค (Duque de York) ไม่มีการจัดพิธีมิซซา เพราะทรงนับถือนิกายโปรแตสแตนต์ แต่พิธีเฉลิมฉลองก็ดำเนินไปอย่างเรียบง่ายหมดจด ตาชารต์ระบุว่าตลอดเวลาที่จัดเฉลิมฉลองมีอาหารบริการอย่างอุดมสมบูรณ์ มีการเชิญตัวแทนของชาวยุโรปทุกชาติมาร่วมงานด้วยได้แก่ ชาวฝรั่งเศส อังกฤษ โปรตุเกส และฮอลันดา[9] แต่ปรากฏว่าราชทูต เดอ โชมองต์ ของฝรั่งเศสมิได้ไปร่วมงานเลี้ยงฉลองนี้ ทำให้ชาวโปรตุเกสโต้ตอบด้วยการไม่ไปในงานเลี้ยงต้อนรับราชทูต เดอ โชมองต์ เช่นกัน
งานฉลองการครองราชย์ของกษัตริย์ ดอง ปึดรู ถูกจัดขึ้นที่ทำเนียบของฟอลคอนด้วย เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2228 หลักฐานของบาทหลวง เดอ ชัวซีย์ ระบุว่า ในงานเลี้ยงนี้ ราชทูตฝรั่งเศสได้ดื่มถวายพระพรแด่กษัตริย์โปรตุเกสและสยาม ส่วนฟอลคอนก็ได้ดื่มถวายพระพรแก่กษัตริย์ฝรั่งเศส พระราชวงศ์ และท่านทูตด้วย จากนั้นจึงมีการยิงสลุตปืนใหญ่[10]
อาหารที่จัดเลี้ยงในวันนั้น ได้แก่ สตูว์ญี่ปุ่น และอาหารโปรตุเกส บาทหลวงเดอ ชัวซีย์ วิจารณ์ว่าอาหารญี่ปุ่นรสชาติดี ส่วนอาหารโปรตุเกสไม่อร่อย[11] แต่ทัศนะของบาทหลวง เดอ ชัวซีย์คงเกิดขึ้นจากอคติทางเชื้อชาติเช่นเดียวกับหลักฐานของฝรั่งเศสชิ้นอื่นๆ
การจัดงานฉลองในชุมชนโปรตุเกสเป็นเพียงเหตุการณ์ส่วนหนึ่งที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของพวกเขา อย่างไรก็ตาม ภายในชุมชนโปรตุเกสยังมีวัฒนธรรมประเพณีที่เกี่ยวข้องกับการเริ่มต้นใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันของหนุ่มสาวเชื้อสายโปรตุเกส เพื่อสืบสานสกุลวงศ์ของตน และประเพณีที่ถูกจัดขึ้นเนื่องในวาระสุดท้ายของชีวิต ประเพณีดังกล่าวนี้มีพิธีกรรมทางศาสนาเป็นกระบวนการอันจะขาดเสียมิได้ ที่สำคัญก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นเกี่ยวเนื่องกับพิธีกรรมเหล่านี้ เป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นเรื่องราวส่วนหนึ่งทางประวัติศาสตร์ที่แทรกซ้อนอยู่ในวิถีชีวิตของพวกเขา
การอ้างอิง
[1] นันทา สุตกุล, เรื่องเดิม, หน้า267.
[2] ประชุมพงศาวดารเล่ม 21, หน้า87-94.
[3] เดอ ชัวซีย์, เรื่องเดิม, หน้า367.
[4] P.Manuel Teixeira, ibid., p.74.
* เจ้าฟ้ากรมขุนนเรนทร์ทรงเป็นพระโอรสองค์โตในสมเด็จพระเจ้าท้ายสระและเป็นโอรสบุญธรรมของเจ้าวังหน้า (สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ) เมื่อครบเกณฑ์ได้เสด็จออกผนวชเพื่อแสดงพระประสงค์ว่าไม่ต้องการราชสมบัติ สมเด็จพระเจ้าท้ายสระจึงทรงมอบราชสมบัติแก่เจ้าฟ้าอภัยและเจ้าฟ้าปรเมศร . อ้างจาก โสพิศ หนูทอง, เรื่องเดิม, หน้า27,31.
[5] P.Manuel Teixeira, op.cit., 74-75.
[6] Ibid, p.75.
[7] บาทหลวงไตไซรา อธิบายว่าเป็นพิธีรำลึกถึงวันสิ้นพระชนม์ของกษัตริย์ ดอง อาฟองซู ที่6 (สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ.2225) และฉลองวันประสูติของสมเด็จพระราชินีแห่งโปรตุเกส ในวันเดียวกัน, P. Manuel Teixeira, ibid., p.67.
[8] P. Manuel Teixeira, op.cit., p.67 อ้างจากหลักฐานของบาทหลวงตาชาร์ด
[9] Ibid., p.67.
[10] Ibid., p.67.
[11] เดอ ชัวซีย์, เรื่องเดิม, หน้า 415-416.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น