วันจันทร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2553

การแต่งงานหญิงโปรตุเกสกับหนุ่มฝรั่งเศสที่เมืองพระนครศรีอยุธยา : ความรักกับความขัดแย้งทางศาสนา

โดย พิทยะ ศรีวัฒนสาร

ทางการโปรตุเกสมีนโยบายสนับสนุนให้พลเมืองของตนแต่งงานกับชาวพื้นเมืองได้ตั้งแต่กลางพุทธศตวรรษที่21 แต่จดหมายของบาทหลวง นิกูลาช ลันซิลอตตุ (Nicolas Lancilotto, SJ.) ถึง เซนต์ อิกนาติอุส โลโยลา (St. Ignatius Loyola) ลงวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2193 ระบุถึงความไม่พอใจที่ทางการโปรตุเกสอนุญาตให้ผู้ชายชาวโปรตุเกสมีนางบำเรอได้หลายคนด้วยวิธีการการซื้อทาสผู้หญิง ทั้งๆที่พวกเขาแต่งงานแล้ว โดยเฉพาะในมะละกานั้นผู้ชายชาวโปรตุเกสคนหนึ่งมีนางบำเรอเชื้อชาติต่างๆ ถึง 24 คน การแต่งงานระหว่างชาวพื้นเมืองกับชาวโปรตุเกสแม้จะมีมาก แต่ความทารุณที่กระทำต่อทาสทั้งชายและหญิงพื้นเมืองของชาวโปรตุเกสก็เกิดขึ้นได้เสมอเช่นกัน[1]

บ็อกเซอร์(C.R. Boxer) กล่าวว่า เด็กๆที่เกิดจากชาวโปรตุเกสกับทาสหญิง มักจะไม่ค่อยได้รับการเอาใจใส่ยอมรับหรือได้รับการศึกษา และมักจะได้รับการดูถูกจากชาวโปรตุเกสผู้มาใหม่ไม่ว่าจะเป็นนักบวชนิกายเยซูอิต หรือแม้แต่ทหารหนุ่มวัยรุ่นหรือผู้ที่เพิ่งจะเดินทางมาจากสลัมต่างๆในลิสบอน (Lisboa) และอูปอร์ตู (Oporto)[2]

ประมาณปี พ.ศ.2123 บาทหลวงชาวอิตาเลียนแห่งคณะเยซูอิตซึ่งเดินทางเข้ามายังเอเชียได้จำแนกพลเมืองโปรตุเกสออกเป็น 5 กลุ่ม ดังนี้ พวกแรก เรียกว่า ไรนอล (Reinol) หมายถึง ชาวโปรตุเกสที่เกิดในยุโรป พวกที่สอง คือพวกที่เกิดในอินเดียโดยมีมารดาเป็นชาวยุโรป พวกที่สาม มีบิดาเป็นชาวยุโรป มารดาเป็นคนครึ่งชาติ (Eurasian) พวกที่สี่เป็นคนครึ่งชาติแท้ๆ พวกที่ห้า เป็นชาวพื้นเมืองเลือดอินเดียและพวกที่แทบจะไม่มีสายเลือดยุโรปเลย ซึ่งเขาระบุว่าไม่เหมาะที่จะให้บวชเป็นบาทหลวงในคณะเยซูอิต[3]

บ็อกเซอร์กล่าวว่า โดยพื้นฐานแล้วชาวโปรตุเกสที่เกิดในยุโรป (Reinol) ส่วนมากจะไม่รู้หนังสือ หรือ เมื่อเป็นทหารแล้วจึงได้รับการสอนให้อ่านออกเขียนได้ระหว่างการฝึกทหาร ขณะที่ชาวโปรตุเกสที่เกิดในอินเดียก็มักจะถูกมองว่าเป็นคนชั่วร้ายอ่อนแอโง่เง่า เพราะถูกเลี้ยงดูจากทาสหญิงท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่เลวร้าย และชาวอินเดียพื้นเมืองจะไม่ได้รับโอกาสให้เข้าบวชเลย สำหรับพวกคนครึ่งชาติ (เมสติซูส -Mestiços) อาจได้รับอนุญาตให้ถือบวชได้ตามความเหมาะสม แต่มีข้อพิจารณาว่ายิ่งพวกเมสติซูสมีลักษณะผิวพรรณและรูปร่างหน้าตาออกไปทางอินเดียมากเท่าใด พวกเขาก็ยิ่งนับถือชาวโปรตุเกสน้อยลงมากเท่านั้น หลังจากนั้นไม่นาน ก็มีรายงานของบาทหลวงคณะฟรานซิสกันระบุถึงภาพพจน์ของชาวโปรตุเกสผิวสีต่างๆในทางที่ดีขึ้น[4] บาทหลวงผู้นี้กล่าวว่า อันที่จริงแล้วนโยบายสนับสนุนให้ชาวโปรตุเกสแต่งงานกับชาวพื้นเมืองของ อัลบูแกรร์กึ มุ่งเน้นให้ชาวโปรตุเกสเลือกแต่งงานกับหญิงผิวขาว หรือแม่หม้ายมุสลิมผิวขาวเชื้อสายอารยันซึ่งสามีเสียชีวิตจากการปราบปรามของทหารโปรตุเกส และอัลบูแกรร์กึ ยังห้ามมิให้ผู้ใต้บังคับบัญชาแต่งงานกับหญิงสาวผิวดำเผ่า ดราวิเดียนจากเมืองท่าชายฝั่งมะละบาร์ ซึ่งชาวโปรตุเกสมักจะเรียกว่า ผู้หญิงนิโกร แต่ดูเหมือนว่าลูกน้องของ อัลบูแกร์กึ จะไม่ใส่ใจเท่าใดนัก นโยบายของ อัลบูแกร์กึถูกวิจารณ์อย่างรุนแรงเป็นเวลานาน กระนั้นก็มิได้ส่งผลให้สตรีผิวขาวชาวโปรตุเกสในอินเดียเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างเพียงพอต่อความต้องการตามสัดส่วนที่เหมาะสมได้เลย ทำให้ชาวโปรตุเกสจำเป็นต้องแต่งงานกับผู้หญิงยูเรเซียน หรือ เอเชียและแอฟริกัน ผู้ชายโปรตุเกสบางคน แม้จะมีนางบำเรอซึ่งมิได้สมรสอยู่แล้ว ก็ยังนิยมจะมีทาสสาวไว้ครอบครอง มากกว่าจะแต่งงานอย่างถูกต้องกับผู้หญิงผิวสี ยกเว้น หญิงคนนั้นจะมีฐานะร่ำรวย[5]

ดังได้กล่าวไปแล้วว่าในแต่ละปีจะมีชาวโปรตุเกสจำนวน 2-3 พันคนเดินทางออกไปยังอินเดีย แต่พวกเขาก็พากันล้มตายเป็นจำนวนมากด้วยโรคเมืองร้อน ปัญหาการลาออกจากงานก็มีอัตราสูง ทางการโปรตุเกสจึงต้องจ้างพวกเมสติซูสเข้าทำงาน ทำให้พวกยูเรเซียนมีจำนวนมากกว่าชาวยุโรปจากโปรตุเกสการแต่งงานกับชาวอินเดียจึงมีมากขึ้น บิดามารดาของพวกเมสติซูสส่วนใหญ่อยากให้ลูกสาวแต่งงานกับชาวโปรตุเกสที่เกิดในยุโรป พวกเขาจะผิดหวังถ้าลูกสาวแต่งงานกับพวกเมสติซูสด้วยกัน[6]

ในเมืองพระนครศรี อยุธยานั้น เป็นที่น่าสังเกตว่าแม้ทางการและศาสนจักรของโปรตุเกสกับฝรั่งเศส จะมีการขัดแย้งและบาดหมางกันเนืองๆ แต่ก็ปรากฏหลักฐานว่าลึกๆแล้วความขัดแย้งนั้นมิได้เป็นอุปสรรคต่อความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกชุมชน โปรตุเกสกับชาวฝรั่งเศส ซึ่งพำนักในสยามแต่อย่างใด
ในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2228 บาทหลวง เดอ ชัวซีย์ บันทึกไว้ว่า

“ วันนี้มีการสมรสระหว่างชายชาวฝรั่งเศสคนหนึ่ง ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยของบริษัท กับบุตรีของนายเรือสินค้าชาวปอร์ตุเกสคนหนึ่ง ชายชาวฝรั่งเศสชื่อ ม.คล็อช (M.Cloche) และชายชาวปอร์ตุเกสผู้นั้นชื่อ ฌัง ด’อาเบรโอ (M.d’Abreo) เป็นเพื่อนสนิทกับบาทหลวงมิซซังซึ่งเขาเคยพาไปที่เมืองตังเกี๋ย กับประเทศญวนใต้ หลายครั้งหลายหนแล้ว คู่บ่าวสาวได้หมั้นกันมานานตั้งสิบแปดเดือนแล้วและยังไม่เคยได้เห็นหน้าค่าตากันเลย การเสกสมรสในชมพูทวีปนั้น มิได้เป็นไปด้วยความรัก หรือผลประโยชน์แต่อย่างใดด้วยสินสอดน้อยนัก คู่สมรสก็ไม่เคยได้พบปะกันมาแต่ก่อน และด้วยความจำเป็นเท่านั้นที่เขาทั้งสองยอมตนเข้าอยู่ใต้แอกของชีวิตของผู้ครองเรือน”[7]

บันทึกของ เดอ ชัวซีย์ ชี้ให้เห็นว่า การแต่งงานระหว่างหญิงสาวจากชุมชนค่ายโปรตุเกส กับชายหนุ่มชาวฝรั่งเศสอาชีพเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยในบริษัทอินเดียตะวันออกของฝรั่งเศส อาจเกิดขึ้นเนื่องจากบิดาของฝ่ายหญิงคงได้ใคร่ครวญให้บุตรสาวของตนแต่งงานกับชายหนุ่มชาวยุโรปอาชีพเสมียนของบริษัทฝรั่งเศสซึ่งตั้งอยู่ในเมืองพระนครศรีอยุธยา การหมั้นหมายแต่งงานเกิดขึ้นเพราะ ด’อาเบรโอ* มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับบาทหลวงชาวฝรั่งเศสแห่งคณะมิซซังต่างประเทศ เพราะบาทหลวงผู้นี้เคยโดยสารไปโคชินจีนในเรือสินค้าของเขาบาทหลวงฝรั่งเศสจึงอาจชักนำให้ม.ด’อาเบรโอ ตัดสินใจหมั้นหมายบุตรสาวของตนกับเจ้าหน้าที่ของบริษัทฝรั่งเศสเพื่อความมั่นคงในชีวิตสมรสของบุตรสาว ทั้งๆที่ทั้งสองฝ่ายต่างก็ไม่เคยมีความรัก หรือ เคยพบหน้ากันมาก่อน บันทึกของเดอ ชัวซีย์ ชี้ให้เห็นว่า สินสอดในการตกแต่งหมั้นหมายกับหนุ่มสาวในชุมชนโปรตุเกส หรือชายหนุ่มที่เดินทางมาจากยุโรปมีมูลค่าเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ภายหลังการแต่งงาน จดหมายของ ม.เวเร่ต์ ระบุว่า ม.คล็อชได้ไปพำนักกับพ่อของภรรยาตนในชุมชนค่ายโปรตุเกสแทนที่จะพักในค่ายฝรั่งเศส หลักฐานของ ลาลูแบร์ ระบุว่า ม.ชาบอนโน อดีตเจ้าเมืองภูเก็ตก็แต่งงานกับสตรีชาวโปรตุเกส[8] ในเมืองพระนครศรีอยุธยาเช่นกัน

อย่างไรก็ดี อุปสรรคของความบาดหมางทางศาสนา ทำให้การแต่งงานของ ม.คล็อช กับบุตรสาวของ จูอาว ด’อาบรึอู เกือบจะไม่ราบรื่นไปตลอดทั้งชีวิต เมื่อ ม.คล็อช ซึ่งอาจจะได้รับการชี้แนะมาจากบาทหลวงคณะมิซซังต่างประเทศผู้เป็นเพื่อนสนิทของซินญอร์ ด’อาบรึอู ได้ตั้งข้อสงสัยว่าพิธีเสกสมรสที่คู่บ่าวสาวได้รับจากการประกอบพิธีของเจ้าคณะเขต (มุขนายกมิซซัง) โปรตุเกสชื่อบาทหลวง ดึ วาร์รึ(de Varre) มีความถูกต้องหรือไม่ ม.คล็อช จึงไปขอให้ ม.อะป็อสทอลิก มุขนายกมิซซัง คณะมิซซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีสของฝรั่งเศสประกอบพิธีรับศีลสมรสให้อีกครั้งหนึ่งที่โบสถ์ในค่ายเซนต์โยเซฟผลที่ตามมา คือ บาทหลวง ดึ วาร์รึ ได้แสดงปฏิกิริยาตอบโต้ด้วยการประกาศตัดครอบครัวของซินญอร์ ด’บรึอู ออกจากคริสต์ศาสนา(excommunication) [9]

“ ท่านจึงประกาศตัดเจ้าสาว ญัง ด’อาบริโอ บิดาของเธอ มารดา ป้า และครอบครัวของเธอทั้งหมดขาดจากพระศาสนา โดยมิได้มีการว่ากล่าวตักเตือน มิได้ทำการสอบถาม มิได้ฟังคำพยาน ตามแบบปฏิบัติใดๆทั้งสิ้น” [10]

ตามหลักฐานของ เดอ ชัวซีย์ [11]บาทหลวง ดึ วาร์รึ ขึ้นชื่อว่าเป็นคนเคร่งครัดเถรตรง แต่การประกาศตัดคนออกจากพระศาสนา ถือเป็นการคว่ำบาตรทางสังคมอย่างรุนแรง ซึ่งนอกจากจะไม่ได้รับโอกาสในการมีส่วนร่วมทางศาสนาแล้ว คนในชุมชนโปรตุเกสเองก็จะไม่คบค้าสมาคมอีกต่อไปด้วย เมื่อ ม.ฟอลคอน ทราบเหตุการณ์ก็ขยายผลของความบาดหมางระหว่างชุมชนชาวโปรตุเกสกับชาวฝรั่งเศสให้มากยิ่งขึ้น โดยการส่งคนไปจับกุมบาทหลวง ดึ วาร์รึ ในข้อหาบังอาจคว่ำบาตรคนในบังคับฝรั่งเศสออกจากพระศาสนา และข้อหาจะลงเรือเดินทางออกนอกพระราชอาณาจักรโดยมิได้กราบบังคมทูลหรือแจ้งให้เสนาบดีคนหนึ่งคนใดทราบล่วงหน้า แต่เรื่องก็ยุติลงด้วยดีเมื่อนักบวชคณะเยซูอิตชาวฝรั่งเศสซึ่งมีโบสถ์อยู่ในชุมชนโปรตุเกสเข้ามาไกล่เกลี่ยให้ปรองดองกันได้โดยบาทหลวง ดึ วาร์รึ ยินยอมออกประกาศเป็นลายลักษณ์อักษรว่า การประกาศตัดขาด ม.คล็อช และครอบครัวเกี่ยวดองเครือญาติในชุมชนโปรตุเกสออกจากพระศาสนาที่ได้กระทำไปนั้นไม่มีผลในทางปฏิบัติ เพราะเขาได้ฟังความมาผิดพลาด บาทหลวง เดอ ชัวซีย์ ได้แสดงทัศนะของตนว่า

“ แต่ความประพฤติอันโอหัง บังอาจแสดงความโง่เง่าเต่าตุ่นออกมาอย่างหยาบคายดังนี้ เป็นการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของบรรดาเจ้าคณะ อะป็อสทอลิกทั้งหลาย ซึ่งพวกปอร์ตุเกสพยายามใส่ร้ายมาเป็นเวลาตั้งยี่สิบปีมาแล้วนั้น ซึ่งพวกท่านได้รับความทุกข์ทรมาน มาด้วยความทรหดอดทนอย่างน่าสรรเสริญ”[12]
นอกจากการแต่งงานระหว่างชาวโปรตุเกสกับชาวฝรั่งเศสแล้วยังปรากฏหลักฐานสะท้อนให้เห็นถึงการแต่งงานระหว่างชาวสยามและชาวมอญกับชาวโปรตุเกสก่อนที่จะมีกฎหมายลักษณะอาญาหลวง ห้ามมิให้ชาวสยามและมอญยกลูกสาวให้แต่งงานกับชาวยุโรปและคนต่างชาติอื่นๆเพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาการมีใจฝักใฝ่ต่างชาติของลูกหลานที่เกิดมาภายหลัง[13] และโยส เซาเทนยังระบุถึงคนครึ่งชาติโปรตุเกสที่มีแม่เป็นชาวเอเชียด้วย* รวมทั้งยังมีหลักฐานจารึกประกาศเกียรติคุณของทหารชาวโปรตุเกสในสมัยกรุงธนบุรีระบุชื่อของชาวโปรตุเกสคนหนึ่งคือ ปึดรู ยามาดะ (Pedro Jamada) เป็นญาติกับแม่หม้ายชื่อคาธรีนา ดู รูซาริอู (Catharina do Rozario Viúva)** หญิงม่ายผู้นี้มีศักดิ์เป็นหลานของเขา หลักฐานนี้อาจเป็นข้อบ่งชี้ให้เห็นถึงการแต่งงานระหว่างชาวโปรตุเกสกับชาวญี่ปุ่นในสมัยอยุธยาได้ด้วย
นอกจากนี้สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ปึดรู ยามาดะ เป็นญาติทางฝ่ายมารดาของท้าวทองกีบม้าภรรยาของ คอนสแตนติน ฟอลคอน ตามหลักฐานของบาทหลวงมานูเอล ไตไซรา***
การอ้างอิง
[1]-[4] C.R. Boxer, Race Relation in the Portuguese Colonial Empire, 1415-1825, pp.60-63.
[5]-119 Ibid., pp.64-78.
[6] Ibid., p.78.
[7] เดอ ชัวซีย์, เรื่องเดิม, หน้า428.
* M. d’Abreo ออกเสียงแบบโปรตุเกสว่า (เมอร์ซิเยอร์ หรือ ซินญอร์) ดาบรึอู, เดอ ชัวซีย์ ระบุชื่อเต็มของ ดาบรึอู ว่า”ฌัง ดาเบรโอ” ซึ่งจะตรงกับชื่อโปรตุเกสว่า “João d’Breo ” เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาลูกหลานสกุล ดา บริอู ได้หนีไปหลบภัยสงครามที่เมืองโคราชชั่วคราวก่อนจะย้ายไปพำนักอยู่ในชุมชนโปรตุเกสที่กรุงธนบุรีในปี พ.ศ.2311 , อ้างจาก หลักฐานประกาศเกียรติคุณทหารชาวโปรตุเกสใน P.Manuel Teixeira, op.cit., p.81.
[8] ชิมอง เดอ ลาลูแบร์, เรื่องเดิม, หน้า406-407.
[9] ดู interdict และ excommunication ใน http://en.wikipedia.org/wiki/Interdict
[10] เดอ ชัวซีย์, เรื่องเดิม, หน้า442.
[11] เรื่องเดียวกัน.หน้า441.
[12] เดอ ชัวซีย์, เรื่องเดิม , หน้า442-443
[13] ประชุมพงศาวดาร เล่ม27, หน้า177-178
* มีคำอธิบายเพิ่มเติมอยู่ใน ประชุมพงศาวดารภาคที่ 76, หน้า34-37.
** อธิบายจากเนื้อหาในคำประกาศเกียรติยศชาวโปรตุเกส ใน P.Manuel Teixeira, op.cit., p.82.
*** ดูคำอธิบายจาก P.Manuel Teixeira , ibid., p.40-41.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น