วันจันทร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ความขัดแย้ง ข่าวลือ และการดิ้นรนทางการเมืองของชุมชนโปรตุเกสสมัยสมเด็จพระนารายณ์

โดย พิทยะ ศรีวัฒนสาร

นอกจากชุมชนโปรตุเกสจะบาดหมางกับทางการสยามแล้ว ยังมีเรื่องขัดแย้งกับบาทหลวงฝรั่งเศสด้วย ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ หลักฐานของบาทหลวง เดอ ชัวซีย์ กล่าวว่าความขัดแย้งจากการแข่งขันเผยแพร่ศาสนาคริสต์ นำมาสู่ความระหองระแหงระหว่างชาวฝรั่งเศสกับชุมชนโปรตุเกส เมื่อราชทูต เซเบเร่ต์ และลาลูแบร์ เดินทางเข้ามาในปี พ.ศ.2228 หัวหน้าชุมชนชาวโปรตุเกสก็มิได้ออกไปต้อนรับตามธรรมเนียมสยาม กล่าวคือ มีชาวต่างชาติ 43 ชาติมาเยี่ยมคำนับราชทูตฝรั่งเศส ยกเว้นชาวโปรตุเกส

เมื่อคอนสแตนติน ฟอลคอน ขอร้องโดยอ้างพระบรมราชโองการ หัวหน้าชุมชนโปรตุเกสได้ตอบอย่าง "กวนโทสะเป็นที่สุด" ตามรายงานของบาทหลวงเดอ ชัวซีย์ว่า ม. เดอ เมเตลโลโปลิส ก็ไม่ได้ไปเยี่ยมแสดงความชื่นชมยินดีต่อราชทูตของเขาเช่นกัน และบาทหลวง เดอ ชัวซีย์ วิจารณ์ต่อไปว่า[1]

"...จะไปเอาอะไรเล่ากับบุคคลที่ยื่นฟ้องท่านเจ้าคณะเขตเผยแพร่พระคริสต์ศาสนา แล้ใช้ความพยายามทุกวิถีทางเพ็ดทูลสมเด็จพระเจ้ากรุงสยาม ให้ขับท่านออกไปให้พ้นประเทศสยามเช่นนี้" [2]

ทางการโปรตุเกสแห่งมาเก๊าและอินเดียไม่ให้เกียรติราชทูตสยามและการเยียวยาที่ไม่ใคร่จะทุเลาผล
ปัญหาการกดขี่พ่อค้าชาวสยามที่มาเก๊า และการไม่ให้เกียรติทูตสยามที่เมืองกัวนั้น สมเด็จพระนารายณ์ทรงมีพระราชโองการแก่บาทหลวงตาชารต์ว่า การที่ชาวโปรตุเกสแห่งเมืองมาเก๊ากดขี่พ่อค้าชาวสยาม ทั้งๆที่ทรงปกครองชาวโปรตุเกสในสยามด้วยดี และการดูหมิ่นทูตสยามที่เมืองกัวทำให้พิโรธ จึงรับสั่งให้บาทหลวงตาชารต์เขียนจดหมายถึงบาทหลวงผู้ล้างบาปพระเจ้ากรุงโปรตุเกส ให้ทราบถึงความประพฤติของเจ้าหน้าที่ทางการโปรตุเกสแห่งอินเดียและมาเก๊าเพื่อให้พระเจ้ากรุงโปรตุเกสทรงดำเนินการกับผู้สำเร็จราชการที่เมืองกัวและพวกโปรตุเกสที่มาเก๊า พร้อมกันนี้พระองค์ได้ส่งทูตไปยังโปรตุเกส แต่ปรากฏว่าทูตหายสาบสูญไประหว่างทาง ถึงกระนั้นก็ยังมีพระราชประสงค์จะเจริญไมตรีกับโปรตุเกส โดยทรงขอให้บาทหลวงตาชารต์แจ้งแก่บาทหลวงผู้ล้างบาปพระเจ้ากรุงโปรตุเกสว่า ทางการสยามโดยเฉพาะ คอนสแตนติน ฟอลคอน ได้แสดงความเอื้อเฟื้อต่อชาวโปรตุเกสเสมอ[3]

อย่างไรก็ดี เมื่อกรุงศรีอยุธยาแลเห็นว่าผลประโยชน์ของการติดต่อพระราชไมตรีกับประเทศฝรั่งเศสมีมากกว่าโปรตุเกส จึงปรากฏว่าแม้เรือซึ่งส่งทูตไปยังโปรตุเกสจะอับปางลงที่แหลมกู๊ดโฮป แต่สมเด็จพระนารายณ์ก็มิได้ทรงปริวิตกเท่าใดนัก จดหมายของชาวฝรั่งเศสระบุว่า

"ปีกลายนี้ ฮอลันดาได้มาข่มขู่พระเจ้ากรุงสยาม ฮอลันดาได้ส่งข่าวว่าทูตไทยเรือแตกที่แหลมกู๊ดโฮป เรือดังกล่าวเป็นของชาติโปรตุเกส 2 ลำ ได้มีคนมาบอกข้าพเจ้าว่า พระเจ้ากรุงสยาม คงมีพระทัยยินดีที่ทราบข่าวเรือที่จะไปโปรตุเกสแตกแล้ว เท่าๆกับทรงยินดีว่าทูตไทยไปถึงฝรั่งเศสโดยสวัสดิภาพ ขณะเดียวกันก็อาจจะทรงเสียพระทัยที่ได้คิดอ่านทำพระราชไมตรีกับชาติอื่น เพราะถ้าได้ทำพระราชไมตรีกับประเทศฝรั่งเศสประเทศเดียวก็พออยู่แล้ว" [4]

เบื้องลึกการที่ราชสำนักสยามไม่ไว้ใจชุมชนโปรตุเกส
เหตุที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงมุ่งเจริญพระราชไมตรีกับประเทศฝรั่งเศส หลักฐานของ ม. เดอ ซีเซ ถึงผู้อำนวยการคณะการต่างประเทศลงวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ.2246 ระบุว่า สยามระแวงอังกฤษและฮอลันดา จึงต้องการคบค้ากับฝรั่งเศส[5] นอกจากนี้อาจเป็นไปได้ว่า แท้ที่จริงแล้วชุมชนโปรตุเกสในเมืองพระนครศรีอยุธยายังมีศักยภาพแข็งแกร่งในด้านต่างๆอยู่มาก จนเป็นสาเหตุที่ทำให้ทางการสยามไม่ค่อยไว้วางใจพวกเขาเท่าใดนัก
ด้วยเหตุนี้ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์บาดหมางระหว่างชาวสยามกับชาวโปรตุเกสเรื่องความเชื่อทางศาสนาในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรและเหตุการณ์ยึดเรือฮอลันดาในปี พ.ศ.2167ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมเป็นต้นมา จนกระทั่งถึงปลายสมัยอยุธยา ทางการสยามไม่เคยยกย่องเชิดชูชาวโปรตุเกส ดังปรากฏในช่วงก่อนที่กรุงศรีอยุธยาจะเสียแก่พม่าครั้งที่1 ในปี พ.ศ.2112 อีกเลย

การที่สยามต้องเผชิญการกดดันจากประเทศใกล้เคียงเป็นระยะๆ สะท้อนให้เห็นถึงความตื่นตัวของชาวสยามและชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในเมืองพระนครศรีอยุธยา ที่จะต้องต่อสู้เอาตัวรอดจากการแย่งชิงอำนาจระหว่างรัฐใกล้เคียง และการปกป้องผลประโยชน์ของรัฐพื้นเมือง

ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์เป็นต้นมา ชุมชนโปรตุเกสมิได้เป็นผู้นำความรู้สมัยใหม่เกี่ยวกับอาวุธปืนและศิลปวิทยาการต่างๆแต่เพียงผู้เดียวอีกต่อไป จึงอาจเป็นสาเหตุอีกประการหนึ่งที่ทำให้สถานะทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมของพวกเขาตกต่ำลง

สมาชิกชุมชนโปรตุเกสได้ใช้ความพยายามทุกด้านเพื่อเรียกร้องความสำคัญและเกียรติยศของชุมชนกลับคืนมา ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนการยึดอำนาจทางการเมืองหรือการใช้จิตวิทยาโฆษณาชวนเชื่อหลายๆด้าน ดังปรากฏอยู่ในหลักฐานของบาทหลวงฝรั่งเศสเกี่ยวกับการดูหมิ่นเหยียดหยามชาวฝรั่งเศสของชาวโปรตุเกสในรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา[6] อันเป็นการใช้จิตวิทยาตาม "กระแสต่อต้านฝรั่งเศส" ของทางการสยามในขณะนั้น เป็นต้น

หลักฐานเอกสารของชาวฝรั่งเศสชี้ให้เห็นชัดเจนว่า ชุมชนโปรตุเกส นับเป็นแหล่งก่อตัวของข่าวลือในสยามหลายๆ เป็นระยะๆ ซึ่งประเด็นนี้ในอีกแง่มุมหนึ่งอาจแสดงให้เห็นว่า การสร้างข่าวลือหรือการแพร่ข่าวต่างๆออกมาจากชุมชนโปรตุเกสนั้น เป็นพฤติกรรมเรียกร้องความสำคัญแก่ตนเองก็ได้ หลังจากถูกมองข้ามไปเป็นเวลานาน
การอ้างอิง

[1] เดอ ชัวซีย์, เรื่องเดิม, หน้า367.
[2] เรื่องเดียวกัน, หน้า368.
[3] ประชุมพงศาวดาร เล่ม28 , หน้า41-42.
[4] " จดหมาย ม. ลาโน ถึง ม. เดอ เซเนเล เมื่อ 1 พ.ย. 2229 , ดู ประชุมพงศาวดารเล่ม20 , หน้า227.
[5] ประชุมพงศาวดารเล่ม22, หน้า26-27.
[6] ประชุมพงศาวดารเล่ม27, หน้า159-160.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น