วันอังคารที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

สตี : พิธีบูชายัญตนเองของหญิงหม้ายในอินเดีย

SATI : The Fidelity of a Daughter of Warrior Race
โดย จิตนภา ศาตะโยธิน(ฉัตรบงกช ศรีวัฒนสาร) สาขาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสารศิลปวัฒนธรรมปีที่ 11 ฉบับที่ 15 : มีนาคม 2533 ตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งที่2 เมื่อวันจันทร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2553 ในเวบบล็อกบทความวิชาการและงานวิจัยของฉัตรบงกช ศรีวัฒนสาร
(รวมบทความทางประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม) กรุณาดูรายละเอียดและภาพประกอบเพิ่มเติมในhttp://researchbychatbongkoch.blogspot.com/
บทความนี้อ้างอิงมาจากบันทึกการเดินทางของนักเดินทางชาวโปรตุเกสชื่อ ดูอาร์ตึ บาร์บูซา(Duarte Barbosa) เรื่อง “A Description of the Coasts of East Africa and Malabar” (ค.ศ. 1516) เนื่อหาส่วนหนึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพิธีการบูชายัญหญิงหม้ายชาวอินเดียจากมุมมองของผู้เขียน ซึ่งผู้มีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องกับแฟร์ดินานด์ ดึ มากะไญ(Fernão de Magalhães/ เฟอร์ดินานด์ แมกแจลแลน-Ferdinand Magallan) นักเดินทางโปรตุเกสซึ่งออกเรือสำรวจหมู่เกาะเครื่องเทศ(Spice Islands)ภายใต้การสนับสนุนของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่1(Charles I )แห่งสเปน จึงเห็นควรขออนุญาตนำมาเผยแพร่ในที่นี้อีกช่องทางหนึ่งด้วยเพื่อประโยชน์ทางด้านวิชาการสยามโปรตุเกสศึกษา จึงขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้ด้วย (พิทยะ ศรีวัฒนสาร)

คำว่า “สตี” เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่า “ภรรยาผู้ซื่อสัตย์” ส่วนพิธีสตี หมายถึง ประเพณีการทำศพของชาวฮินดู พบในประเทศอินเดีย พิธีนี้เป็นการบูชายัญตนเองของหญิงหม้าย เนื่องในพิธีศพของสามี

ประเพณีการฆ่าภรรยาที่สามีรักที่สุดเหนือหลุมฝังศพของสามีก็จัดอยู่ในพิธีกรรมแบบสตีด้วย พบในภูมิภาคหลายแห่งของโลก เช่น พวกซีสเถียน ธเรสเซียน อียิปต์โบราณ สแกนดิเนเวีย ชาวจีนและในกลุ่มสังคมแถบโอเชียเนียและแอฟริกา

พิธีสตีของศาสนาฮินดูอาจมีต้นกำเนิดมาจากความเชื่อแต่โบราณโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อชำระบาปให้แก่ทั้งสามีและภรรยา และเพื่อความมั่นใจว่าคู่สามีภรรยาจะได้อยู่ร่วมกันต่อไปในหลุมศพเดียวกัน
พิธีสตีขาดความสืบเนื่อง เพราะสมัยที่อังกฤษปกครองอินเดียเป็นอาณานิคม รัฐบาลอังกฤษได้ออกกฎหมายให้ยกเลิกพิธีสตีในปีคริสตศักราช 1829 (พุทธศักราช 2362: สมัยรัชกาลที่ 3 ของไทย) แต่พิธีนี้ยังมีบางคนที่สมัครใจยึดถือมาจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 20
การศึกษาพิธีสตีจากบันทึกการเดินทางของ ดวตเต บาร์โบซา ทำให้ได้ข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับพิธีนี้อย่างน่าสนใจ นับเป็นหลักฐานชั้นต้นในยุคแรกๆชิ้นหนึ่งที่กล่าวถึงพิธีสตี

ประวัติของ ดวตเต บาร์โบซา (Duarte Barbosa)
บาร์โบซา เป็นชาวโปรตุเกส เขาเป็นลูกพี่ลูกน้องกับเฟอร์ดินาน แมคเจลแลน (Ferdinand Magellan) นักเดินเรือผู้ยิ่งใหญ่ชาวโปรตุเกสซึ่งทำงานให้กับราชสำนักสเปน บาร์โบซาได้ใช้ชีวิตตั้งแต่วัยหนุ่มในการสำรวจอินเดียภายใต้การสนับสนุนของกษัตริย์โปรตุเกส เขาอยู่ในฐานะของนายสถานีการค้าของโปรตุเกสที่เมืองกาลิกัต ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่สุดของอาณาจักรมะละบาร์ เขาได้บันทึกเรื่องราวของเมืองและอาณาจักรต่างๆ การค้าทรัพยากร และที่สำคัญก็ คือ ขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวพื้นเมือง จากการพบเห็นด้วยตาของตนเองและจากการสอบถามจากชาวพื้นเมือง เนื่องจากการได้มีโอกาสใช้ชีวิตอยู่ในอินเดียเป็นเวลาประมาณ 12 ปี(ระหว่างค.ศ. 1500-1511) เขาได้บันทึกเรื่องราวจากดินแดนในเขตชายฝั่งตะวันออกของแอฟริกา ตะวันออกกลาง อินเดีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งรวมถึงไทยด้วย ในหนังสือเรื่อง “A Description of the Coasts of East Africa and Malabar” โดยเขียนเสร็จเมื่อ ค.ศ. 1516 และส่วนหนึ่งของบันทึกดังกล่าวได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับพิธีสตีในอินเดียอย่างละเอียดพิสดาร ดังต่อไปนี้
การเผาตัวตายตามสามีของภรรยาผู้ซื่อสัตย์ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มหญิงที่มีฐานะต่ำต้อย และกลุ่มหญิงผู้ทรงเกียรติและมีทรัพย์สินมากมาย

หญิงที่มีฐานะต่ำต้อย
เมื่อศพของสามีนางจะถูกนำมาเผาที่กลางแจ้งนอกเมือง ซึ่งมีกองไฟกองใหญ่ก่อไว้ ขณะที่ซากศพกำลังถูกเผาอยู่นั้น ภรรยาของเขาจะกระโจนเข้าไปในกองไฟด้วยความเต็มใจและถูกเผาตายตามไปด้วย
หญิงที่มีเกียรติและมีทรัพย์สินมาก
หญิงกลุ่มนี้จะมีพิธีที่แตกต่างออกไป ไม่ว่าเธอจะมีอายุน้อยหรือแก่ชราแค่ไหน หน้าตาสวยงามเพียงใด เมื่อสามีของหญิงผู้นั้นตายไป บรรดาญาติพี่น้องของเธอจะไปยืนที่หลุมฝังศพลึกเท่าความสูงของผู้ชายและใส่เครื่องหอมลงไป จากนั้นก็นำศพวางลงไปและจุดไฟเผา ภรรยาผู้ตายที่ต้องการให้เกียรติผู้ตาย จะถามกำหนดวันเวลาแน่นอนของวันที่ตนจะถูกนำไปเผาร่วมกับผู้ตาย จากนั้นบรรดาญาติพี่น้องของหญิงหม้ายและสามีจะให้เกียรติแก่การกระทำของเธอและจัดงานเลี้ยงต้อนรับอย่างสนุกสนาน เมื่อทุกคนมาพร้อมเพรียงกันจะร่วมสนุกกันและปลอบโยนหญิงหม้าย เธอจะมอบทรัพย์สินที่มีอยู่ให้แก่บรรดาพี่น้องและเพื่อนฝูงที่มาร่วมงาน ในงานเลี้ยงนี้จะมีการร้องเพลง เต้นรำ เล่นดนตรีและแสดงวิทยากล เมื่อถึงวันเวลาที่กำหนดแล้ว หญิงผู้นั้นจะแต่งกายอย่างสวยงามและหรูหราที่สุด ประดับอัญมณีล้ำค่ามากมาย ส่วนทรัพย์สินที่เหลือเธอจะแบ่งให้แก่ลูกหลาน ญาติพี่น้องและเพื่อนๆ จากนั้นเธอก็จะขึ้นนั่งบนหลังม้า สำหรับม้าที่ใช้ในพิธีจะต้องเป็นม้าสีเทา หรือ สีขาวที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อทำให้หญิงหม้ายดูสง่างาม จากนั้นจะพาเธอผ่านไปรอบเมือง ปลอบโยนเธอไปตลอดทาง จนกระทั่งถึงบริเวณที่สามีเธอจะถูกเผา

ณ หลุมศพเดียวกับสามีของเธอ จะมีผู้นำเอาฟืนมาวางไว้เพื่อจุดไฟกองโต และรอบๆบริเวณจะตั้งห้างล้อมไว้ มีบันไดทางขึ้น 3-4 ขั้น จากนั้นหญิงหม้ายจะเดินขึ้นไปบนห้างนั้นทั้งๆที่สวมอัญมณีและเสื้อผ้า เดินวนรอบห้าง 3 รอบ และยกมือชูขึ้นไปบนท้องฟ้า ทำความเคารพไปทางทิศตะวันออก 3 ครั้ง เมื่อเสร็จแล้วเธอจะเรียกญาติพี่น้องและเพื่อนมาหา และแจกอัญมณีในตัวเธอให้พวกเขา ระหว่างนั้นจะมีการแสดงความสนุกสนาน ราวกับว่าหญิงผู้นั้นมิใช่ผู้ที่จะเดินไปสู่ความตาย

หลังจากการแจกอัญมณีที่สวมใส่ทั้งหมดแล้ว จะเหลือเพียงผ้าชิ้นเล็กๆปิดคลุมร่างกายท่อนล่างของหญิงหม้ายจากเอวลงมา เธอจะกล่าวแก่บรรดาผู้ชายว่า

“ ดูกรท่านชายทั้งหลาย พวกท่านเป็นหนี้บุญคุณภรรยาท่านมากเพียงใด ภรรยาผู้เต็มใจที่จะเผาตนเองตายตามสามีไปด้วย ”

ต่อมาเธอจะกล่าวแก่บรรดาผู้หญิงว่า
“ ดูกรแม่หญิงทั้งหลาย พวกท่านเป็นหนี้บุญคุณของสามีท่านมากเพียงใด ด้วยเหตุนี้ขอจงได้ตามเขาไป แม้กระทั่งยามตายเถิด ”

หลังจากนั้นบรรดาญาติมิตรจะมอบเหยือกสองหูที่บรรจุน้ำมันให้หญิงหม้าย และเธอจะนำเหยือกนั้นมาวางบนศีรษะของตนพร้อมกับสวดมนต์ไปด้วย จากนั้นก็เดินบนห้างวนรอบหลุมศพ 3 รอบ ทำความเคารพไปทางทิศตะวันออก เสร็จแล้วก็โยนเหยือกน้ำมันลงไปในหลุมไฟ พร้อมกับกระโจนตามเหยือกน้ำมันไปด้วยท่าทางราวกับจะกระโดดลงไปในสระน้ำ ญาติพี่น้องของหญิงหม้ายซึ่งเตรียมเหยือกและหม้อบรรจุน้ำมัน เนยเหลวและฟืนไว้พร้อมแล้ว ก็จะโยนของเหล่านั้นตามไปทันทีเพื่อให้ไฟโชติช่วงอย่างรุนแรง และหญิงหม้ายก็จะได้กลายเป็นเถ้าถ่านไปโดยเร็ว หลังจากนั้นบรรดาญาติพี่น้องจะเก็บเถ้าถ่านที่เหลือโยนไปในน้ำ

หากหญิงหม้ายคนใดมิยินยอมกระทำเช่นนี้ บรรดาญาติพี่น้องของเธอจะจับเธอโกนศีรษะและไล่ออกไปจากบ้าน ตัดขาดความสัมพันธ์ในครอบครัวอย่างอัปยศและเธอจะเป็นสตรีที่ถูกลืมไปจากความทรงจำ ถ้าญาติมิตรคนใดต้องการให้ความเมตตาแก่หญิงหม้ายพวกนี้ เขาก็จะส่งเธอไปวิหารของเทวรูปเพื่ออยู่รับใช้และอุทิศแรงงานให้แก่วัด หญิงที่เลือกทางดังกล่าวในวิหารแต่ละแห่งมีมากถึง 50 คน หรือ 100 คน

ในทำนองเดียวกัน เมื่อกษัตริย์สิ้นพระชนม์จะมีผู้หญิงเผาตัวตายไปร่วม 400-500 คน ด้วยพิธีอย่างเดียวกัน โดยที่พวกเธอจะกระโดดเข้าไปในหลุมหรือกองไฟที่เผาพระบรมศพ ดังนั้นหลุมและกองไฟจะต้องมีขนาดใหญ่เท่าที่จะเผาคนจำนวนมากได้ ฉะนั้นจึงต้องใช้ฟืนจำนวนมาก รวมทั้งไม้หอมต่างๆ เช่น ไม้สวาท ไม้จันทน์ ไม้อินทรีและไม้หอมอื่นๆตลอดจนเนยเหลวและน้ำมันงาเพื่อให้ไฟไหม้ฟืนได้ดี
นอกจากผู้หญิงแล้ว ยังมีผู้ชายที่กษัตริย์ทรงไว้วางพระทัยเผาตัวตายตามไปด้วย

สรุป
เรื่องราวเกี่ยวกับของพิธีสตีในอินเดีย เป็นการมองภาพจากสายตาของคนต่างชาติที่ต้องการจะเก็บรายละเอียดทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ บาร์โบซามิได้วิพากษ์วิจารณ์ว่าการที่หญิงหม้ายยอมเผาตัวตายตามสามีเป็นพิธีกรรมที่ป่าเถื่อนล้าหลัง หรือมิได้กล่าวติเตียนถึงความคลั่งศาสนาอย่างงมงายและโง่เขลาเลยแม้แต่น้อย ทั้งนี้อาจเป็นเพราะในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ยุโรปเองก็มีการลงโทษทางศาสนาด้วยการเผาคนตายไปเป็นจำนวนมาก จนบาร์โบซาอาจจะไม่รู้สึกว่า พิธีสตีเป็นเรื่องที่มีความป่าเถื่อน รุนแรงและงมงายก็เป็นได้

3 ความคิดเห็น:

  1. ความงมงายของอินเดีย หรือ ความเชื่อเพราะโง่เขลา ดูเอาเถอะว่า ชาวอินเดียและประเทศอินเดียยังล้าหลังและอัปจนอยู่กระทั่งปัจจุบัน ทั้งๆที่ในอีตเคยคิดว่าตนเอง ลาดล้ำ และเป็นแหล่งบ่มเพาะความเชื่อและผลิตศาสนาไว้บริโภคเองและเพื่อส่งออก พวกศาสดาห์ต่างถิ่นหลายท่านก็ดั้นด้นมา อัพเกรดความน่าเชื่อถือของตน ที่นี่ ดูเอาเถอะ ผลของความโง่เขลาเหล่านั้นยังร้อนระอุอยู่ทั่วโลกใบนี้ เลือด ความตาย ความน่ารังเกียจ นาๆ ที่เกิดขึ้นและคงอยู่ มันน่าทำพิธีสตีตัวมันเองได้แล้วนะ

    ตอบลบ
  2. ลาดล้ำ เป็น ฉลาดล้ำ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ขอบคุณค่ะ สำหรับการแสดงความคิดเห็น

      ลบ