วันเสาร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

บทบาทของภาษาโปรตุเกสในประวัติศาสตร์อยุธยา

โดย พิทยะ ศรีวัฒนสาร

การเข้ามาตั้งถิ่นฐานในกรุงศรีอยุธยาเป็นจำนวนมากของคนเชื้อสายโปรตุเกส เนื่องจากถูกผลักดันออกมาจากอินเดียในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ยิ่งน่าจะทำให้การใช้ภาษาโปรตุเกสในเมืองพระนครศรีอยุธยาในระดับต่างๆ อาทิ ระดับขุนนาง พ่อค้า และชาวบ้านมีการแพร่หลายมากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้หลักฐานมากมายจึงกล่าวถึงบทบาทของล่ามโปรตอนเกส ซึ่งมิเพียงแต่จะสื่อความเข้าใจระหว่างราชสำนักอยุธยากับคณะทูตต่างชาติจากยุโรปเท่านั้น พวกเขาคงจะได้ทำหน้าที่เป็นสื่อสัมพันธ์หรือตัวกลางแห่งการสร้างความเข้าใจระหว่างขุนนางไทยกับชาวโปรตุเกสที่เข้ามาใหม่อีกด้วย แม้แต่ในรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา ล่ามก็เคยถูกคาดโทษประหารหากไม่สามารถถ่ายทอดคำสั่งบังคับให้พวกเข้ารีตไปร่วมขบวนแห่ในวันนักขัตฤกษ์ทางพุทธศาสนา โดยพร้อมเพรียงกันได้[1]

บาทหลวงชาวฝรั่งเศสระบุว่า ก่อนที่โบสถ์เซนต์โยเซฟในค่ายฝรั่งเศส จะถูกสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2210 บาทหลวง เดอ เบริต ซึ่งเดินทางเข้ามาในกรุงศรีอยุธยาเมื่อปี พ.ศ.2205 เป็นนักบวชของศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกผู้หนึ่งซึ่งสามารถ พูด อ่าน เขียนภาษาโปรตุเกสได้เป็นอย่างดีแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของภาษาโปรตุเกสเป็นอันมาก บาทหลวงผู้นี้ได้เปิดโรงเรียนสอนภาษาละตินให้แก่เด็กนักเรียนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง ในจำนวนนี้มีเด็กไทย 2-3คน ซึ่งพระมหากษัตริย์โปรดให้ช่วยสอนหนังสือด้วย สถานที่สอนนั้นน่าจะอยู่ในบริเวณที่จะสร้างเป็นโบสถ์เซนต์โยเซฟทางเหนือของวัดพุทไธสวรรย์ บาทหลวงฝรั่งเศสบางคนที่สามารถพูด อ่าน เขียน ภาษาโปรตุเกส ได้ คือบาทหลวงลาโน บันทึกร่วมสมัยของบาทหลวง เดอ ชัวซีย์ ระบุว่าขุนนางไทยระดับเสนาบดีทุกคนสามารถพูดภาษาโปรตุเกสได้ นอกจากนี้ขายังกล่าวเน้นด้วยว่าก่อนจะเดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา เขายังต้องเรียนภาษาโปรตุเกสควบคู่ไปกับภาษาไทยด้วย[2]หลักฐานที่เกี่ยวกับความรู้หรือการเรียนภาษาโปรตุเกสของชาวต่างชาติที่เข้ามาติดต่อกับกรุงศรีอยุธยาสะท้อนให้เห็นว่าแต่ละคนมีความสามารถทางภาษาโปรตุเกสกันมาแล้วเป็นส่วนใหญ่ ภาษาโปรตุเกสในชุมชนแห่งนี้มีการใช้อยู่อย่างแพร่หลาย บันทึกการเดินทางของบาทหลวงตาชารด์ ชี้ว่า

“ หลวงพ่อแชร์บิญ็อง กับหลวงพ่อวิสเดลู แสดงธรรมเทศนาในวันอาทิตย์แรกๆ ของงานเตรียมฉลองวันคริสต์สมภพ และในวันทรงครรภ์ (Conception) ในโบสถ์ของเราที่กรุงศรีอยุธยา เป็นครั้งแรกที่เราแสดงธรรมเทศนาเป็นภาษาโปรตุเกส และหลวงพ่อทั้งสองก็ทำได้ดีเป็นที่พอใจของบุคคลทั่วไป เพราะพูดได้อย่างถูกต้องแม่นยำและตรงตามหัวข้อที่วางไว้ หลวงพ่อแชร์ปิญ็องเป็นผู้สอนคัมภีร์ หลักจริยธรรมและพระคริสต์ศาสนาทุกวันอาทิตย์แก่พวกเด็กๆ" [3]

การขุดค้นพบชิ้นส่วนจารึกบนหินชนวนจำนวน 3 ชิ้น ที่โบสถ์ซานเปโตร ของนิกายโดมินิกันในหมู่บ้านโปรตุเกส นำมาสู่การตั้งประเด็นที่น่าสนใจว่า หลักฐานดังกล่าวอาจเป็นร่องรอยของการศึกษาภาษาต่างประเทศภาษาใดภาษาหนึ่ง รวมทั้งการเรียนภาษาโปรตุเกสของเด็กเชื้อสายโปรตุเกสและขุนนางในสังกัดออกญาพระคลัง (ซึ่งจะต้องรับผิดชอบในการคัดลอกแก้ไขพิจารณาสัญญาทางพระราชไมตรี และหนังสือติดต่อทางการค้ากับชาวตะวันตกของราชสำนัก ชิ้นส่วนจารึกบนแผ่นหินชนวนทั้งสาม[4] ถูกจารแบบถาวร ลงไปบนเนื้อหินขนาดของจารึกเฉลี่ยประมาณ 4 x 7 ซม.
ชิ้นที่ 1 ด้านหน้าจารึกอักษาโรมัน 3 ตัว คือ “SUB” ด้านหลังมีเส้นขีดเป็นวงกลมคล้ายแผนที่ หรือเครื่องมือคำนวณมุมและทิศทาง
ชิ้นที่ 2 มีอักษาจารึกไว้ว่า “ESLA DECU = QUA” และตัวเลข “7 / 6 629” ชิ้นที่ 3 มีอักษร “D A R V R V” อยู่ในตารางช่องละ 1 ตัวอักษร

อักษรดังกล่าวเหล่านี้นักโบราณคดี[5] ซึ่งได้ข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ชาวโปรตุเกสผู้หนึ่งได้ให้คำชี้แนะเบื้องต้นว่า
“ESLA แปลว่า เท่ากับ”
ส่วนคำอื่นๆ ไม่ทราบความหมาย
อย่างไรก็ตาม หลังจากการตรวจสอบอย่างจริงจัง ยังไม่พบความหมายของคำดังกล่าวในพจนานุกรมภาษา “โปรตุเกส-อังกฤษ” “อังกฤษ-โปรตุเกส” และพจนานุกรมภาษาละตินแต่อย่างใด [6] แม้จะยังไม่ทราบความหมายของคำดังกล่าวเนื่องจากความไม่สมบูรณ์ของหลักฐาน แต่สิ่งหนึ่งที่สะท้อนออกมาให้เห็นบริบททางสังคมในค่ายโปรตุเกสขณะนั้นคือ ร่องรอยกระบวนการบางอย่างอันเกี่ยวกับการศึกษา หรือการเรียนรู้วิทยาการและอักขระวิธี รวมทั้งความพยายามในการสืบสานอารยธรรมด้านใดด้านหนึ่ง โดยใช้อักษรโรมันเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอด มีหลักฐานระบุว่า ในค่ายเซนต์โยเซฟมีการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ ปรัชญา และเทวศาสตร์ ด้วยภาษาละติน[7] โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่แชร์แวสระบุว่า ภาษาละตินเป็นภาษาทางศาสนาคริสต์เมื่อเปรียบเทียบว่า ภาษาบาลีเป็นภาษาทางศาสนาพุทธ[8] ย่อมเป็นสิ่งยืนยันให้เห็นถึงการสอนภาษาละตินในชุมชนโปรตุเกสโดยบาทหลวงชาวโปรตุเกส ซึ่งจะต้องใช้ภาษาโปรตุเกสเป็นเครื่องมือพื้นฐาน ในการถ่ายทอดวัฒนธรรมทางภาษาให้แก่ “บุตรของพระผู้เป็นเจ้า” ในฐานะลูกหลานของชาวโปรตุเกส

บทบาทและการดำเนินชีวิตของล่ามโปรตุเกสหรือล่ามบรเทศ ไม่ค่อยจะถูกกล่าวถึงเท่าใดนักในเอกสารประวัติศาสตร์ การนำเรื่องราวของล่ามฝรั่งเศสมาอธิบายเปรียบเทียบก็อาจจะทำให้เห็นภาพชีวิตบางเสี้ยวของล่ามโปรตุเกสในเมืองพระนครศรี อยุธยาได้บ้างพอสมควร ดังจะศึกษาได้จากกรณีการเดินทางเข้ามาของ เดอ ชัวซีย์ ในปี พ.ศ.2228 มีชาวโปรตุเกสร่วมอยู่ในกลุ่มขุนนางฝ่ายไทยที่ไปต้อนรับคณะทูตฝรั่งเศส ขณะที่เดอ ชัวซีย์ บันทึกเกี่ยวกับลักษณะของเรือนรับรอบราชทูตฝรั่งเศสที่พระประแดง ได้มีล่ามโปรตุเกสเป็นผู้แนะนำให้รู้จักสถานที่ต่างๆในบริเวณนั้น[9]

หลักฐานนี้ชี้ให้เห็นว่า การปฏิบัติงานของกลุ่มล่ามโปรตุเกส มิได้จำกัดอยู่แต่เพียงในเมืองพระนครศรีอยุธยาเท่านั้น พวกเขาจำเป็นต้องออกไปปฏิบัติหน้าที่ยังสถานที่แห่งอื่น ตามที่ได้รับมอบหมายด้วย ในวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2240 เมื่อทราบว่า บาทหลวงตาชารด์จะเดินทางมาถึง ทางการสยามก็มีท่าทีไม่เต็มใจในการต้อนรับ ออกญาพระคลังได้ถามหลวงวรวาที (แวงซัง แปงเฮโร) ว่าจะให้บาทหลวงตาชารด์พักที่ห้างฝรั่งเศสเก่าหรือไม่ ปรากฏว่าได้มีจดหมายฉบับหนึ่ง ซึ่งบาทหลวง เดอ ลาเบรย์ ส่งถึงออกญาพระคลังเป็นภาษาไทย ขอให้จัดที่พักให้บาทหลวงตาชารด์อยู่ในเมือง อย่าให้อยู่ในเขตที่มิชชันนารีฝรั่งเศสพักอยู่หรือในชุมชนค่ายโปรตุเกส และเสนอให้บาทหลวงตาชารด์พักที่บ้านเก่าของคอนสแตนติน ฟอลคอน[10] จดหมายเหตุคณะบาทหลวงระบุว่า ออกญาพิพัฒน์ได้สั่งให้ ฟรังซัว แปงเฮโร ล่ามฝรั่งเศสลูกชายของหลวงวรวาที แปลจดหมายของเจ้าพระยาพระคลังที่จะมีไปยังบาทหลวงตาชารด์ป็นภาษาโปรตุเกส ในวันนั้นมีล่ามฮอลันดาชื่อมาทิว และล่ามโปรตุเกสชื่อโอกุสแตง โรซาดา อยู่ที่บ้านออกญาพิพัฒน์ เพื่อคอยแก้ไขและตรวจสอบเนื้อหาที่ ฟรังซัว แปงเฮโร เขียนขณะแปลจดหมายด้วย[11] ขั้นตอนเช่นนี้น่าจะเกิดขึ้นกับล่ามโปรตุเกสเช่นกัน เมื่อได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่จากผู้บังคับบัญชา

ในปี พ.ศ.2243 หลังจากกรณีการเจรจาขอเมืองมะริดให้แก่บริษัทฝรั่งเศสเพื่อการปรองดองระหว่างฝรั่งเศสกับไทยของมุขนายกมิซซังฝรั่งเศสไม่ประสบผลสำเร็จ เจ้าพระยาพระคลังได้ประกาศพระบรมราชโองการห้ามมิให้มีการยื่นหนังสือ หรือเรื่องราวหรือจดหมายใดๆ แทนคนชาวต่างประเทศเป็นอันขาด เว้นแต่ล่ามของชาตินั้นๆ จะได้ทราบเป็นแน่แล้วว่า หนังสือหรือเรื่องราวนั้นจะเป็นที่พอใจของเจ้าพระยาพระคลังจึงอนุญาตให้ยื่นได้ ถ้าผู้ใดฝ่าฝืนประกาศนี้จะต้องได้รับโทษอย่างหนัก[12] ม.เคเมอเน (คือสังฆราชเดอซูร์) ระบุว่าเจ้าพระยาพระคลังคนนี้มิใช่คนที่เคยไปประเทศฝรั่งเศส พระคลังคนที่เคยไปฝรั่งเศสนั้น ถูกเฆี่ยนตายเมื่อเดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2243 แล้ว[13] จากประกาศนี้เห็นได้ชัดว่าล่ามมีหน้าที่กลั่นกรองหนังสือในกรมท่าก่อนจะเสนอแก่ออกญาพระคลัง

มีหลักฐานบันทึกของคณะบาทหลวงฝรั่งเศสว่า เมื่อบาทหลวงตาชารด์เข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์นแด่สมเด็จพระเจ้ากรุงสยามแล้ว ในเย็นวันนั้นเจ้าพนักงานได้มาตามคณะบาทหลวงและล่ามฝรั่งเศสไปยังพระราชวัง เพื่อแปลพระราชสาส์นออกเป็นภาษาไทย ม.โบร์ด ได้ไปพร้อมกับ ม. ยาโรเซีย และ ม.ฟรังซัว แปงเฮโร บุตรหลวงวรวาทีล่ามฝรั่งเศส เมื่อถึงห้องๆ หนึ่ง ภายในหอแปลราชสาส์น มีขุนนางสูงวัยหลายคน นั่งบนพรมเปอร์เซีย ตามลำดับยศ เจ้าพนักงานได้นำโต๊ะเล็ก ซึ่งคลุมด้วยแผ่นเงินมาตั้งแล้วบอกให้คณะบาทหลวงนั่งลงข้างโต๊ะนั้น จากนั้นจึงเชิญพระราชสาสน์มาบนบ่า มาวางไว้บนโต๊ะ มีกลองและมโหรีนำมาด้วย คณะบาทหลวงฝรั่งเศสจึงเปิดพระราชสาส์นออกแปล เมื่อแปลเสร็จแล้วเจ้าพนักงานได้เอาข้อความย่อที่บาทหลวงตาชารด์ให้ไว้มาตรวจทานจนเห็นว่าถ้อยความตรงกัน จึงแสดงความยินดี จากนั้นเจ้าพนักงานจึงเชิญพระราชสาส์นกลับเข้าไปพร้อมกับคำแปลโดยมีกลองและมโหรีประโคมเช่นเดียวกัน[14] จากหลักฐานข้างต้นจะเห็นความสำคัญของล่ามได้เป็นอย่างดีในฐานะของผู้เป็นนายภาษาต่างประเทศในราชสำนัก

การใช้ภาษาโปรตุเกสในการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในชุมชนโปรตุเกสมักจะเกิดขึ้นในโบสถ์ซานตู ดูมินิกันเป็นส่วนใหญ่ บาทหลวงตาชารด์เป็นบาทหลวงคณะเยซูอิต โดยทั่วไปโบสถ์เยซูอิตจะมีนักสอนศาสนาหลายเชื้อชาติผลัดเปลี่ยนกันเดินทางเข้ามาเผยแพร่ศาสนา บางครั้งเป็นชาวญี่ปุ่น ชาวฝรั่งเศส ชาวโปรตุเกส หรือ อิตาลี เป็นต้น ชาวโปรตุเกสจะเข้าไปประกอบศาสนกิจในโบสถ์ของบาทหลวงคณะดูมินิกัน[15] ซึ่งมีความผูกพันอยู่กับสังฆมณฑลโปรตุเกสมากกว่าสำนักวาติกันแห่งกรุงโรม ดังนั้นโบสถ์เยซูอิตซึ่งมีบาทหลวงหลากหลายเชื้อชาติจึงเทศน์คำสอนทางศาสนาเป็นภาษาโปรตุเกสไม่บ่อยนัก คอนสแตนติน ฟอลคอน ก็เป็นขุนนางสยามอีกผู้หนึ่งซึ่งพูด และเขียนภาษาโปรตุเกสได้ดี ดังปรากฏในบันทึกของบาทหลวงตาชารด์[16] นอกจากนี้ อเล็กซานเดอร์ ฮามิลตัน ยังได้ระบุด้วยว่า ฟอลคอนเคยเรียนภาษาไทยเช่นกัน[17] หลักฐานเรื่องทางพระราชไมตรีระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์อันดีระหว่างชาวค่ายโปรตุเกสกับชาวค่ายญี่ปุ่น[18] เอกสารบางชิ้นระบุว่า ภรรยาของฟอลคอนเป็นลูกครึ่ง ญี่ปุ่น-โปรตุเกส[19] และบาทหลวงตาชารด์ก็ระบุว่า ฟอลคอนเคยพำนักอยู่ในค่ายญี่ปุ่นด้วย[20]จึงอาจเป็นไปได้ว่าฟอลคอนมีโอกาศึกษาภาษาโปรตุเกส ภายในค่ายโปรตุเกสซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับค่ายญี่ปุ่น
หลักฐานของบาทหลวงตาชารด์ รายงานไว้ว่า

“ ในบรรดาเสนาบดีสยาม มีอยู่ท่านหนึ่งที่พูดภาษาโปรตุเกสได้ดี และมีสติปัญญาไหวพริบว่องไว คงจะเป็นเสนาบดีคนนี้เอง ที่นาย เดอ ลาลูแบร์ กล่าวถึง เขาเรียกเสนาบดีท่านนั้นเข้ามาดื่มกาแฟในห้องนอนของเขาแล้วนั่งคุยอยู่ตลอดวันทั้งวัน เป็นเวลาหลายวัน เขาต้องการให้เสนาบดีท่านนั้นตอบคำถามนับเป็นพันๆข้อของเขา เกี่ยวกับพระเจ้ากรุงสยาม เกี่ยวกับพระราชสำนัก และเรื่องราชการภายในพระราชอาณาจักรนี้…”[21]

ไม่เพียงแต่เสนาบดีผู้นี้เท่านั้นที่สามารถพูดภาษาโปรตุเกสได้ ลาลูแบร์ได้บันทึกไว้ว่า

“ ออกจะเป็นธรรมเนียมในซีกโลกตะวันออก ที่ถือกันว่าการลงโทษนั้นคือเครื่องแสดงความรักใคร่ใยดี พวกเราได้เห็นขุนนางผู้หนึ่งถูกคุมขังไว้เพื่อที่จะนำตัวไปลงโทษ โดยชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งรับจะไปช่วยขอให้ ขุนนางผู้ใหญ่ผู้บังคับบัญชาของเขายกโทษให้.. ขุนนางผู้นั้นตอบเป็นภาษาโปรตุเกส (ว่า) ผมอยากจะทราบว่า ท่านจะกรุณาผมถึงเพียงไหน..”[22]

การทำให้บุคลากรของราชสำนักสยาม มีความรู้สามารถอ่านออก เขียนได้ พูดภาษาโปรตุเกสได้อย่างคล่องแคล่ว และมีศักยภาพถึงขนาดสนทนากับราชทูตฝรั่งเศส ได้นานอย่างไม่รู้สึกเหนื่อยหน่ายรำคาญใจ ไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ ความรู้ที่เกิดขึ้นและความอดทน ทำให้ลาลูแบร์สามารถเก็บเรื่องราวออกมาถ่ายทอดให้คนชั้นหลังทราบอย่างมากมาย และไม่ใช่เรื่องที่ควรมองข้ามในกรณีที่ขุนนางสยามอีกคนหนึ่งตั้งปณิธานเป็นภาษาโปรตุเกสทั้งๆที่กำลังจะถูกลงโทษอยู่แล้ว

แม้ภาษาโปรตุเกสจะได้ชื่อว่า เป็นภาษากลางทางธุรกิจ(lingua franca แปลว่า ภาษาฝรั่ง ) ในการติดต่อระหว่างชาวเอเชียกับชาวยุโรปขณะนั้น (ตั้งแต่ประมาณต้นพุทธตวรรษที่ 21 ถึงประมาณรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) แต่การติดต่อกับชาวต่างประเทศด้วยภาษาจีนก็ยังคงสืบทอดต่อมาเช่นกัน นอกจากนี้การที่ราชสำนักสยามมีขุนนางมุสลิมจำนวนมาก อาทิ พระยาท้ายน้ำ ชาวมะละกา ออกพระ Tsijat ชาวมัวร์ และ ออกญา Tewijata ชาวฮินดูสถาน [23] ตามบันทึกของแกมเฟอร์ จึงน่าจะทำให้มีการใช้ภาษาอื่นๆในการติดต่อกับต่างประเทศด้วย[24] อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่ชาวโปรตุเกสเดินทางเข้ามาติดต่อกับกรุงศรีอยุธยา ภาษาโปรตุเกสได้มีความสำคัญอย่างยิ่งในฐานะภาษากลางทางการค้า และการทูตในเอเชีย จดหมายของ ม.เซเบเรต์ราชทูตฝรั่งเศสในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ ระบุว่าฟอลคอน ได้แปลคำกราบบังคมทูลของ ม.ลาลูแบร์ ซึ่งเขาได้เขียนไว้เป็นภาษาโปรตุเกสถืออยู่ในมือ โดยสังเกตุเห็นว่าฟอลคอนแปลสั้นกว่าที่ลาลูแบร์ได้กราบบังคมทูลมาก[25] จดหมายเหตุพ่อค้าฝรั่งเศสซึ่งเข้ามากรุงศรีอยุธยา พ.ศ.2238 ระบุว่า ฟอลคอนพูดภาษาฝรั่งเศสไม่เป็น จึงได้นำคำกราบบังคมทูลของราชทูตฝรั่งเศสไปแปลเป็นภาษาโปรตุเกส[26]

เดอ ชัวซีย์ พยายามเรียนภาษาโปรตุเกสระหว่างเดินทางในเรือเป็นเวลา 8 เดือน เพื่อที่จะได้พูดคุยกับเสนาบดีของสมเด็จพระนารายณ์โดยไม่ต้องใช้ล่าม เดอ ชัวซีย์ บันทึกไว้ชัดเจนว่าบาทหลวงตาชารด์ว่าเสนาบดีไทยพูดภาษาโปรตุเกสเป็นทุกคน[27] เดอ ชัวซีย์ มีความตั้งใจจะประสานความเข้าใจจากความขัดแย้งที่มีต่อกันระหว่างบาทหลวงเยซูอิต กับพวกมิชชันนารี[28] ซึ่งหมายถึงบาทหลวงและหมอสอนศาสนาแห่งคณะมิซซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส เขามีกำหนดการที่จะต้องอยู่ในสยามเป็นเวลา 2 ปี จึงตั้งใจจะหาความรู้เกี่ยวกับสยามให้มากเท่าๆกับความรู้เรื่องฝรั่งเศส เรื่องความรู้เกี่ยวกับสยามนี้ เดอ ชัวซีย์ระบุว่าหมายรวมไปถึงเมืองหรือประเทศใกล้เคียงด้วย[29]
จึงไม่อาจมองข้ามในเรื่องของความน่าเชื่อถือในหลักฐานของ เดอ ชัวซีย์ เมื่อเขากล่าวว่า “เสนาบดีไทยพูดภาษาโปรตุเกสเป็นทุกคน”[30]
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขณะที่บาทหลวง เดอ ชัวซีย์กำลังทำบัญชีรายการเครื่องราชบรรณาการที่ได้รับจากราชสำนักสยามเพื่อถวายตอบแทนแด่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ปรากฏว่าก็มีเครื่องราชบรรณาการถูกลำเลียงเข้ามาเรื่อยๆ ตามคำสั่งของคอนสแตนติน ฟอลคอน โดยสั่งให้พนักงานนำออกมาจากท้องพระคลังได้ "ตามอำเภอใจ"
เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้บาทหลวง เดอ ชัวซีย์ ระบุว่า ตนเกิดความละอายใจจนต้องร้องบอกเป็นภาษาโปรตุเกสมากกว่าสี่ครั้งว่า “บัสตา – Basta!”[31] ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า แม้แต่พนักงานลำเลียงเครื่องราชบรรณาการจากท้องพระคลังก็เข้าใจภาษาโปรตุเกสและคำอุทานว่า “พอแล้ว! พอแล้ว!” ของเดอ ชัวซีย์นั้น ออกจะมีนัยะปลาบปลื้มในเกียรติยศซึ่งพระเจ้าหลุยส์ที่14 ทรงได้รับจากทางการสยามแฝงอยู่ด้วยอย่างเห็นได้ชัด

การติดต่อกับอังกฤษของทางการสยามก็สื่อสารกันโดยผ่านภาษาโปรตุเกส จดหมายฉบับหนึ่งจากสภาการค้าที่ปัตตาเวียของบริษัท อินเดียตะวันออก (อังกฤษ) ส่งไปกราบบังคมทูลพระเจ้ากรุงสยาม ลงวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ.2167 ก็เขียนเป็นภาษาโปรตุเกส[32] โดยส่งไปกับชาวโปรตุเกสชื่อ ซินยอร์ ดูอาร์ตึ ลองกู (Duarte Longo) นอกจากนี้หลักฐานจากบันทึกของชาวต่างชาติทั้งลาลูแบร์ แชร์แวส และตุรแปง ใช้คำเรียกพระภิกษุสงฆ์ อุบาสกอุบาสิกา และพุทธศาสนสถานได้อย่างถูกต้องหรือใกล้เคียงกันสำเนียงในภาษาไทยมาก[33] เห็นได้จากคำว่า “วัด” ลาลูแบร์ เรียกว่า “Vat” “วิหาร ” (Pihar) “เณร” (Nens) “ตาเถร”(Taten) “เจ้าวัด” (Tchaou-Vat) “หอระฆัง” (Ho-Racang) “สังฆราช”(Sancrat) “เสมา”(Sema) “อังสะ”(Angsa) “ผ้าจีวร” (Pa Schivon) “รัตประคต” (Rappacod) “ตาลปัตร”(Talapat) “ตาประขาว”(Tapacaou) “เจ้ากู”(Tchaou-cou) “ภิกขุ”(Picou) และ “นางชี”(Nang Tchii) เป็นต้น

น่าสงสัยว่าเหตุใด ลาลูแบร์ จึงระบุว่า “Talapoi – Talapoin – Talapoins” [34] เป็นคำเรียก “ภิกษุ” หรือ “เจ้ากู” อีกคำหนึ่ง คำ “Talapoin” นี้ ตุรแปงได้อธิบายว่า “ตรงกับ Tcho cou” ในภาษาสยาม เนื่องจากเรียกตามชื่อ “ตาลปัตร” ซึ่งพระภิกษุมักถืออยู่ในมือเสมอ[35] คำอธิบายนี้น่าจะไม่ถูกต้อง งานเขียนของลาลูแบร์ (ซึ่งตุรแปงอาจใช้เป็นหลักฐานอ้างอิง) ก็ระบุว่า พระสงฆ์ (Talapoin) มักถือตาลปัตร (Talapat) ไปไหนมาไหนด้วยเสมอ เขาจึงสันนิษฐานว่า “Talapat” เป็นที่มาของคำว่า “Talapoi” หรือ “Talapoin” คำดังกล่าวเป็นคำที่ชาวต่างชาติเท่านั้นที่ใช้เรียกพระ ซึ่งพระสงฆ์เองก็ไม่รู้ว่าถูกเรียกว่า “Talapoin” มีภาพลายเส้นชิ้นหนึ่งลาลูแบร์อธิบายว่า “Talapat ou para-sol des Talapoins” แปลว่า “ตาลปัตร หรือร่มกันแดดของพระภิกษุ” ลาลูแบร์ ยังเน้นย้ำว่า “เณร”(Nens) ตรงกับคำว่า “Enfans Talapoins” (ตะละปวงน้อย) และนางชีตรงกับคำว่า “Talapouine”[36] อันเป็นสิ่งบ่งชี้ให้เห็นว่าชุดคำ “talapoi – talapoin – talapoins – talapouine” มีที่มาจากคำในภาษาตะวันตกมิใช่ภาษาตะวันออกคำ “Talapoins” ที่ใช้เรียกพระภิกษุตามาบันทึกของชาวต่างชาติ ถูกตั้งข้อสังเกตในทางประวัติศาสตร์เสมอว่า มีความเป็นมาอย่างไร ในทางนิรุกติศาสตร์ การอธิบายคำเรียกพระภิกษุของชาวตะวันตกว่า “Talapoi – Talapoin – Talapoins” หมายถึงพระภิกษุ เนื่องจากพระภิกษุมักถือ “ตาลปัตร – Talapat” อยู่ในมือเสมอนั้น มีความเป็นไปได้น้อยมาก การอธิบายคำ “Talapoin – Talapoins” ว่ามาจากคำ “พระเถระ – Prathera” แม้จะมีความเป็นไปได้ในด้านคำนิยาม แต่ก็อาจขัดแย้งกับแนวทางวิเคราะห์ในเรื่องการออกเสียงและบริบททางประวัติศาสตร์อนุสนธิจากงานเขียนของลาลูแบร์ เป็นตัวอย่างอันดีที่แสดงให้เห็นว่า ชาวยุโรปชาติอื่นซึ่งเดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาใน พุทธศตวรรษที่ 22-23 ต่างก็อาศัยภาษาโปรตุเกสเป็นสะพานเชื่อมโยงความเข้าใจทางภาษาชั้นหนึ่งก่อนทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานบันทึกของลาลูแบร์เองก็มีหลายตอนที่มักจะอ้างโดยนัยถึงที่มาของคำซึ่งตนกำลังอธิบายอยู่ว่า มีต้นเค้ามาจากคำในภาษาโปรตุเกส หรือเป็นคำเรียกที่ชาวโปรตุเกสใช้ ยกตัวอย่างเช่น

“ความหมายอันถ่องแท้ของคำว่า -มังดาแร็ง- ชาวปอร์ตุเกศใช้เรียกบรรดาขุนนางทั้งปวงทางซีกโลกภาคบุรพทิศโดยทั่วๆไปว่า –มังดาแร็ง- (Mandarin) มีเค้ามูลว่าได้ศัพท์คำนี้มาจากคำมันดาร์ (Mandar) ในภาษาของตน ซึ่งหมายความว่า ผู้บังคับบัญชา (Commander)”[37]

บางครั้งลาลูแบร์ ก็อ้างอิง “ความรู้” ที่ได้รับถ่ายทอดมาจากชาวโปรตุเกส อาทิ

“ ด้วยประการฉะนี้ เจ้าเมืองแห่งยะโฮร์จึงไม่ยอมอ่อนน้อมต่อกรุงสยามอีกและชาวปอร์ตุเกศขนานยศให้เจ้าเมืองเป็นราชา…”[38]

“…ในปัตตานี…บรรดาผู้ที่ได้รับการนับหน้าถือตาจากประชาชนก็ดำเนินการปกครองบ้านเมืองไปในนามของนางพญานั้นชาวปอร์ตุเกศก็ขนานพระยศให้เป็นราชินีด้วยเหมือนกัน…”[39]

เมื่อลาลูแบร์กล่าวถึงไพร่ ที่พระเจ้ากรุงสยามได้พระราชทานแก่เจ้าเมืองไว้คอยติดตามเวลาเดินทาง ก็จะระบุว่า ไพร่เหล่านี้ชาวสยามเรียกว่า “พวกแขนลาย (Kenlai)” ส่วนชาวโปรตุเกสเรียกว่า “Bras Peints” และ “Gardes” ทั้งสองคำหลังที่ปรากฏอยู่ในงานของลาลูแบร์นั้น เป็นภาษาฝรั่งเศส[40] มิใช่ภาษาโปรตุเกส เข้าใจว่าลาลูแบร์ได้แปลคำดังกล่าวมาจากภาษา โปรตุเกสแล้ว จึงบรรยายเป็นภาษาฝรั่งเศสในงานเขียนของตนแทนที่จะเขียนเป็นภาษาโปรตุเกสโดยตรง นอกจากนี้ลาลูแบร์มักจะกล่าวเปรียบเทียบอยู่เสมอ เมื่อพบคำพื้นเมืองที่จำเป็นต้องอธิบายว่า “ชาวโปรตุเกส พูดว่าอย่างนั้น” “ชาวโปรตุเกสพูดว่าอย่างนี้”[41] พฤติกรรมเช่นนี้ อาจสันนิษฐานได้เป็นสองนัยคือ ประการแรก ระหว่างการศึกษาข้อมูลต่างๆในกรุงศรีอยุธยา ลาลูแบร์ รู้จักวัฒนธรรมสยามส่วนหนึ่งจากล่ามโปรตุเกสและขุนนางสยาม ประการที่สอง ลาลูแบร์อาจใช้พจนานุกรมภาษาโปรตุเกส – สยาม หรือ สยาม – โปรตุเกส เป็นเครื่องมือช่วยในการศึกษา[42] เรื่องราวและวัฒนธรรมของสยาม ตัวอย่างเด่นชัดซึ่งลาลูแบร์ระบุในกรณีนี้คือ

“ ชาวสยามเรียกผู้เสวยสุขในชั้นบนๆว่า เทวดา (Thevada) และเรียกผู้เสวยทุกข์ในชั้นล่างๆว่าผี (Pii) ส่วนผู้ที่อยู่ในโลกนี้เรียกว่า มนุษย์ (Manout) ชาวโปรตุเกสแปลคำว่า เทวดา ว่า Anges และ คำว่าผี ว่า Diables ให้ชื่อโลกที่อยู่เหนือพิภพว่าสวรรค์ และให้ชื่อโลกที่อยู่ใต้พิภพว่านรก”

ด้วยเหตุนี้ จึงอาจเป็นไปได้ว่า คำ “talapoin – talapoins” นี้เป็นคำที่มีต้นกำเนิดในภาษาโปรตุเกสใช้เรียกพระภิกษุสงฆ์ก่อนที่ลาลูแบร์จะนำมาใช้ในงานเขียนของตน[43] โดยอาจคัดลอกคำดังกล่าวมาจากพจนานุกรม สยาม – โปรตุเกส และ โปรตุเกส – สยาม ซึ่งบาทหลวงชาวโปรตุเกส อาจจัดทำขึ้นก่อนหน้านั้นเพื่อใช้ในสยาม เพราะในความเป็นจริงตามหลักตรรกวิทยา (Logical Method)แล้วการเข้ามาปฏิบัติงานในกรุงศรีอยุธยาเพียง ระยะเวลาไม่นาน (3เดือน เริ่มตั้นแต่ 26 กันยายน พ.ศ.2230 – 3 มกราคม พ.ศ.2231)[44] คงจะไม่ทำให้ลาลูแบร์มีความรู้เกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยามากมายเท่าใดนัก ดังนั้น นอกจากการเก็บเกี่ยวความรู้เรื่อง “สยาม” จากล่ามโปรตุเกส ขุนนางโปรตุเกส และขุนนางสยามที่รู้ภาษาโปรตุเกสแล้วน่าเชื่อว่าลาลูแบร์ ยังได้อาศัยพจนานุกรม สยาม - โปรตุเกส,โปรตุเกส-สยาม เป็นเครื่องมือทางวิชาการอีกด้านหนึ่งด้วย การอธิบายดังกล่าวข้างต้นอาจจะยังไม่ลึกซึ้นเพียงพอ จำเป็นต้องอาศัยแนวทางการศึกษาด้านนิรุกติศาสตร์ (Etimological Methodology) มาอธิบายอ้างอิงอีกชั้นหนึ่ง เพื่อสืบหารากเหง้า และความเป็นไปได้ของชุดคำ “ talapoi – talapoin – talapoins”

ในทวีปยุโรปไม่ปรากฏชุดคำ “talapoi – talapoin – talapoin” อยู่ในพื้นฐานทางวัฒนธรรมภาษา แต่ในภาษาโปรตุเกส มีคำขยายนาม (adjetivo)คำหนึ่งคือ “tal” ซึ่งแปลว่า “such หรือ like” เมื่อนำมาผสมกับคำนาม (noms) “pai”(พ่อ) ก็อาจมีความหมายว่า “like father – เหมือนคุณพ่อ(หรือ) คุณพ่อทั้งหลาย” และคำ “talpai (เอกพจน์) – talpais” อาจถูกนำมาเรียกพระสงฆ์ในพุทธศาสนาโดยชาวโปรตุเกสที่เดินทางเข้ามาในกรุงศรีอยุธยา หรือแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนกระทั่งมีวิวัฒนาการออกไปเป็นคำ “talapoi – talapoin – talapoins – talapouine” ตามลักษณะของคำแบบ “lingua franca” แต่ก็ยังสามารถตรวจสอบร่องรอยของรูปและเสียงดั้งเดิมของคำดังกล่าวได้

เหตุใดชาวโปรตุเกสจึงเรียกพระภิกษุสงฆ์ว่า “talpai” แล้วเคลื่อนมาเป็น “talapoi – talapoin” ในชั้นหลัง อาจอธิบายได้ว่า ชาวโปรตุเกสมีพื้นฐานของวัฒนธรรมแบบศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาธอลิก ฝังรากลึกอยู่ในแก่นแท้ของความเชื่อ และความศรัทธาต่อพระเจ้า ชาวคริสต์โดยทั่วไปเรียกนักบวชในศาสนาของตนว่า “คุณพ่อ” ซึ่งหมายถึงความเป็นพ่อทางจิตใจ หรือพ่อทางศาสนา พ่อผู้ชักนำให้ได้พบกับพระเจ้า ชาวโปรตุเกสจึงเรียกนักบวชในศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาธอลิกว่า “Padre(พ่อ)” เป็นคำนำหน้านาม หรือเป็นคำเรียกยกย่อง ให้เกียรติด้วยความนับถือ ดังนั้นเมื่อเรียกพระภิกษุสงฆ์ในพุทธศาสนา นักบวชในศาสนาคริสต์ซึ่งมีฐานะเป็นผู้นำชุมชนและผู้นำจิตใจพวกเขา อาจเป็นผู้พิจารณาเลือกเอาคำ “talpai” มาใช้เรียกนักบวชในพุทธศาสนา เพื่อให้เห็นความแตกต่างแต่ก็ยังแฝงความนับถือให้เห็น “Padre” และ “Pai” มีความหมายคล้ายคลึงกัน “Padre” เป็นคำเรียก “พ่อ” ทางศาสนา “Pai” เป็นคำเรียก “พ่อ” ในสถาบันครอบครัวในภาษาโปรตุเกส การเรียกนักบวชในศาสนาพุทธว่า “talpai” ขณะที่อาศัยอยู่ในดินแดนอื่น จึงเป็นการเรียกเพื่อให้เกียรติ มิใช่เรียกด้วยศรัทธา ในทำนองเดียวกัน เมื่อนักบวชในศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาธอลิกเดินทางเข้ามา ชาวสยามก็ได้เรียกนักบวชเหล่านี้ว่า “บาทหลวง” หรือ “บาทหลวง” สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายในหนังสือสาส์นสมเด็จ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2477 ว่า

“ คำว่า –บาทหลวง- เลอเมย์[45]เป็นผู้พบมูลของคำว่า –บาด- มาจากคำ “Padre” ภาษาโปรตุเกสแปลว่าพ่อ ซึ่งเขาใช้นำหน้าชื่อนักพรตอย่างเรียกกันในชั้นหลังว่า Father… ส่วนคำว่า –หลวง- นั้น หม่อมฉันสันนิษฐานว่าหมายความว่าเป็นใหญ่ในพวก –บาด- คือ Bishop ซึ่งเขาเรียกกันในชั้นหลังว่า สังฆราช ครั้งกรุงศรีอยุธยาคงจะเรียกกันว่า บาด-หลวง หาได้เรียกนักพรตฝรั่งว่า บาทหลวง ทุกตน อย่างทุกวันนี้ไม่”[46]

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเห็นว่า คำ “บาทหลวง” เกิดในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เนื่องจากทรงโปรดปรานความรู้ความสามารถของบรรดานักบวชเหล่านั้น[47] ปัจจุบันคำ “บาทหลวง” ถูกกำหนดไว้แทนที่ คำ “บาดหลวง” เพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพทางภาษาเมื่อไม่นานนัก หลักฐานของ นิโคลาส แชร์แวส ได้เปรียบเทียบฐานานุกรมระหว่างนักบวชในพุทธศาสนากับคริสต์ศาสนา ดังนี้[48]

การเปรียบเทียบฐานานุกรมนักบวชพุทธศาสนากับคริสต์ศาสนา

ภิกษุคามวาสี นักบวชนิกายโรมันคาธอลิก

ออกเณร – Oenen Novice
ภิกขุ – Picou Diaconat (Diacre) บาทหลวง (Badlouang, P/ere)
เจ้ากู (Chaucou)
สังฆราช – Sancrat Bishop

จากหลักฐานของแชร์แวส เห็นได้ว่า “คำบาดหลวง (Badloung)” เป็นคำที่ชาวฝรั่งเศสเรียกพระภิกษุในพุทธศาสนา ในขณะที่บันทึกของลาลูแบร์ กลับสอดคล้องกับพระวินิจฉัยในสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งระบุว่าคำ “บาทหลวง” เป็นคำเรียกนักบวชในศาสนาคริสต์ อีกทั้งลาลูแบร์ยังได้กล่าวย้อนกลับไปตรวจสอบรายงานของแชร์แวสอีกครั้งในลักษณะที่ไม่เห็นด้วยกับหลักฐานของฝ่ายแรก ที่แชร์แวสกล่าวคือ
“ ม.แชร์แวส ได้แบ่งชั้นพระภิกษุออกไปเป็นบาหลวง (Baloung) เจ้ากู (Tchaou – cou) และภิกขุ (Picou) สำหรับข้าพเจ้านั้น เคยได้ยินแต่คำว่าบาหลวง ซึ่งชาวสยามเขียนเป็น บาทหลวง (Patloung) อันเป็นการเรียกเพื่อแสดงความเคารพเท่านั้น ชาวสยามใช้นามนี้เรียกบรรดาหลวงพ่อคณะเยซูอิตดังที่เราได้ให้เกียรติแก่ท่านด้วยการเรียกว่า เรเวรังซ์ (R/ev/erence) ฉะนั้นข้าพเจ้าไม่เคยได้ยินเขาเรียกกันในเมืองนี้ว่าภิกขุเลย ได้ยินแต่เรียกเจ้ากูทั้งนั้น…”[49]

คำ “บาหลวง – Baloung” นี้ ปรากฏอยู่ในหลักฐานจดหมายเหตุฟอร์บังเช่นกันโดยสะกดว่า “บาหลวง – Baloan” และมีคำอธิบายว่า พระที่พระเจ้าแผ่นดินทรงอุปถัมภ์ ฟอร์บังระบุว่า บาหลวงคือผู้สั่งสอนศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาธอลิก[50] การกล่าวถึงคำ “บาหลวง – บาทหลวง” ในที่นี้ก็เพื่อจะอธิบายให้เห็นว่า คำ “บา” นี้เป็นคำศัพท์ไทยโบราณ แปลว่าครู อาจารย์ หรือ ชายหนุ่ม[51] หนังสืออักขราภิธานศรับท์หมอบรัดเลย์ ให้ความหมายของคำ “ครูบา” ไว้ว่า “ อาจารย์ที่ท่านได้สั่งสอนในการศาสนา เป็นต้น เหมือนพระสงฆ์ที่บวชเป็นผู้เฒ่านั้น”[52] ดังนั้นการที่ชาวสยามเรียกนักบวชฝรั่งว่า “บาหลวง –บาทหลวง” ก็มีความหมายโดยนัยะอันแสดงถึงการให้เกียรติแก่นักบวชในศาสนาคริสต์ เช่นเดียวกับคำเรียกพระสงฆ์ว่า “talapai – talapais” ของชาวโปรตุเกส ซึ่งต่อมาได้พัฒนาการมาเป็น “talapoi – talapoin – talapoins – talapouine”* ตามลักษณะเพศและพจน์ ในบันทึกของชาวฝรั่งเศส และข้อพิสูจน์เด่นชัดที่ชี้ให้เห็นการมีอยู่จริงในขณะนั้น ของพจนานุกรม สยาม – โปรตุเกส คือ เมื่อลาลูแบร์กล่าวถึงกาชงชา ทำด้วยโลหะทองแดง เคลือบตะกั่วเกรียบผิวบาง เขาระบุว่า

“ …กานี้ เรียกกันว่า บูลี (Boulis)[53]…”

คำ “boulis” เป็นคำพหูพจน์ ตรงกับภาษาโปรตุเกสว่า “bole – บุลลึ – หม้อต้มชาหรือกาแฟ”[54] ขณะที่ภาษาฝรั่งเศสมีเพียงคำว่า "bouilloins - บูอิลลัวร์" ซึ่งแปลว่ากา ต้มน้ำเท่านั้น
ลาลูแบร์ ระบุว่าการดื่มชา เป็นธรรมเนียมนิยมในการรับแขกของชาวสยาม ในเมืองพระนครศรีอยุธยา[55] แต่เหตุใด ลาลูแบร์จึงระบุว่า มีการเรียกหม้อต้มชาว่า “boulis” ซึ่งใกล้เคียงกับคำในภาษาโปรตุเกส มากกว่าภาษาฝรั่งเศส อาจเป็นไปได้ว่า ชุมชนชาวโปรตุเกสก็นิยมดื่มชาด้วยเช่นกัน แม้ว่า ลาลูแบร์จะกล่าวแต่เพียงว่า

“ แขกมัวร์ในประเทศสยามดื่มกาแฟ ซึ่งมาจากเมืองอาหรับและชาวปอร์ตุเกศนั้นดื่มโกโก้ เมื่อมีส่งมาจากมนิลา เมืองหลวงของประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งนำมาจากอินเดียภาคตะวันออก ในเขตคุ้มครองของสเปญอีกทอดหนึ่ง” [56]

ชาวโปรตุเกสเรียก “ชา” ว่า “cha – ชา” เช่นเดียวกับ “ชา” ในภาษาไทย ในขณะที่ภาษาจีนกลางออกเสียงว่า “ฉ่า” และภาษาจีนแต้จิ๋วออกเสียงเป็น “เต๊” ส่วนภาษาฝรั่งเศสนั้น เรียกว่า “เต – the/” แต่ลาลูแบร์ชี้ว่า ภาษาฝรั่งเศสก็มีคำว่า “cha – ชา” ด้วย อีกหนึ่งคำ[57] และที่น่าสนใจก็คือ ชาวโปรตุเกสเรียก “กาแฟ” ว่า “ café ” โดยออกเสียงคล้ายกับคำว่า “กาแฟ” ในภาษาไทย คำ “ชา – กาแฟ” ที่ปรากฏอยู่ในภาษาทั้งสองบ่งชี้ร่องรอยความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมระหว่างชาวสยามกับชาวโปรตุเกสในเมืองพระนคร ศรีอยุธยาได้เป็นอย่างดี[58] โดยผ่านการผสมผสานกับทางภาษาในชีวิตประจำวัน
การอ้างอิง
[1] “จดหมายเหตุมองสิเออร์ เดอโลลีเยร์ ลง 29 ม.ค. 1749” ประชุมพงศาวดาร เล่ม 22, หน้า 216.
[2] เดอ ชัวซีย์,จดหมายเหตุรายวันการเดินทางไปสู่ประเทศสยามในปี ค.ศ.1685 และ 1686, แปลโดย สันต์ ท.โกมลบุตร ,2518, หน้า88
[3] เรื่องเดียวกัน. หน้า163
[4] “รายงานการขุดแต่งหมู่บ้านโปรตุเกส จ.พระนครศรีอยุธยา” จัดทำโดย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนารายณ์ราชนิเวศน์และจังหวัดลพบุรี ในโอกาสวันอนุรักษ์มรดกไทย 2 เม.ย. – 31 พ.ค. 2530, หน้า 40-41.
[5] การสนทนาขอคำแนะนำแนวทางการค้นคว้า จากนายปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์ นักโบราณคดีผู้ควบคุมการปฏิบัติงานขุดค้น และขุดแต่งโบราณสถานในหมู่บ้านโปรตุเกส ระหว่างปี พ.ศ.2527-2528 เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2539
[6] คำใกล้เคียงที่สุดในภาษาละติน มีดังนี้
คำจารึก DECU - อาจมาจาก DECUMA = หนึ่งในสิบ
QUA - อาจมาจาก QUA = by which way หรือ QUADRA = a square
SUB - อาจมาจาก คำ prefix ในภาษาละตินที่ใช้เติมหน้าคำ ส่วนในภาษาโปรตุเกสนั้น ได้พบร่องรอยดังนี้
DECU - อาจมาจาก DECUPLICAR = to multiply by ten หรือ DECURSO = course, during
QUA - อาจมาจาก QUADRANGLE คล้ายภาษาละติน
[7]สำนักสาส์น, ประวัติพระศาสนาจักรสากลและศาสนจักรในประเทศไทย , หน้า218.
[8] นิโคลาส แชร์แวส, เล่มเดิม, หน้า150.
[9] จุลทรรศน์ พยาฆรานนท์, เรื่องเดิม, หน้า277.
[10] ประชุมพงศาวดาร เล่ม21, หน้า154-155.
[11] เรื่องเดียวกัน, หน้า156-157.
[12] เรื่องเดียวกัน, หน้า 289-290.
[13] จดหมายของ ม.เคเมเน ถึง ม.เดอ ตอร์ซี ลงวันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2244 ดู ประชุมพงศาวดารเล่ม21, หน้า291.
[14] ประชุมพงศาวดาร เล่ม21, หน้า 241-242.
[15] กรมศิลปากร,บันทึกการเดินทางของบาทหลวงตาชารด์ เล่ม1-3 ฉบับลายมือเขียนที่คัดมาจากชาวต่างประเทศ ,หน้า52-53.
[16] เรื่องเดียวกัน.หน้า24และ199
[17] สุพรรณี กาญจนฐิติ,เรื่องเดิม, หน้า59.
[18] “เรื่องทางพระราชไมตรีระหว่างไทยกับญี่ปุ่น” ประชุมพงศาวดารเล่ม 13 , หน้า238.
[19] ส.พลายน้อย. “เจ้าพระยาวิชาเยนทร์” ชาวต่างชาติในประวัติศาสตร์ไทย, หน้า341-344.
[20] ประชุมพงศาวดารเล่ม13. หน้า238.
[21] กรมศิลปากร, บันทึกการเดินทางของบาทหลวงตาชารด์…, หน้า135
[22] ชิมอง เดอ ลาลูแบร์, เรื่องเดิม, หน้า470.
[23] Kaempfer, op.cit., p39
[24] ห้างอังกฤษที่ป้อมเซนต์ยอร์จ ออกจดหมายทวงหนี้และใบเสร็จรับเงินค่าชำระหนี้แก่พระเจ้ากรุงสยามเป็นภาษาเปอร์เซีย จากผลการประชุมเมื่อ 21 ส.ค. 1699, บันทึกเรื่องสัมพันธไมตรีฯ เล่ม5, หน้า171.
[25] ประชุมพงศาวดารเล่ม28 , หน้า294
[26] ประชุมพงศาวดารเล่ม24, หน้า53
[27] ประชุมพงศาวดาร เล่ม24, 17-18
[28] เรื่องเดียวกัน, หน้า17
[29] เรื่องเดียวกัน, หน้า19
[30] ในกรณีนี้ ศาสตราจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยเสนอว่า บันทึกของ เดอ ชัวซีย์ไม่ค่อยน่าเชื่อถือ โดยเห็นว่าเป็นรายงานของบุคคลที่รู้จักกรุงศรีอยุธยาไม่ดีนัก ดู นิธิ เอียวศรีวงศ์, การเมืองไทยสมัยพระนารายณ์, หน้า34
[31] “Basta!” มาจากกริยา (Verbo) bastar แปลว่า “to be enough, be sufficient” , Mike Harland, op.cit., p.26.
[32] ไพโรจน์ เกษแม่นกิจ(1), เรื่องเดิม, หน้า204
[33] ชิมอง เดอ ลาลูแบร์, เรื่องเดิม, หน้า507,510,517,519,524,527.
[34] เรื่องเดียวกัน,หน้า 194,506,528
[35] ฟรังซัวร์ อังรี ตุรแปง, เรื่องเดิม, หน้า101
[36] ชิมอง เดอ ลาลูแบร์ , เรื่องเดิม , หน้า507
[37] ชิมอง เดอ ลาลูแบร์, เรื่อเดิม, หน้า 359.
[38] เรื่องเดียวกัน, หน้า366
[39] เรื่องเดียวกัน,หน้า336-337.
[40] เรื่องเดียวกัน,หน้า 369.
[41] เรื่องเดียวกัน, หน้า48,49,51,83,110 เป็นต้น
[42] มจ.ชาตรีเฉลิม ยุคล ทรงบรรยายขณะร่วมเสวนาที่หมู่บ้านโปรตุเกส เมื่อประมาณเดือน พฤษภาคม พ.ศ.2541 ว่า กำลังติดตามร่องรอยของพจนานุกรมภาษา โปรตุเกส – สยาม , สยาม – โปรตุเกส ซึ่งรวบรวมขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา จาก ฯพณฯ เอกอัครราชทูตโปรตุเกส ณ กรุงเทพฯ เนื่องจากมีนักศึกษาปริญญาเอกชาวยุโรปผู้หนึ่งอ้างว่า ได้ค้นพบหลักฐานชิ้นนี้ที่กรุงสิสบอน
[43] ชิมอง เดอ ลาลูแบร์, เรื่องเดิม, หน้า193-194.
[44] คำนำของผู้แปล (สันต์ ท.โกมลบุตร) ใน ชิมอง เดอ ลาลูแบร์, เรื่องเดิม, หน้า9.
[45] คือ เรจินาล เลอ เมย์ (Reginal Le May) นักประวัติศาสตร์ศิลปะชาวฝรั่งเศสผู้มีความเชี่ยวชาญการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ศิลปะโบราณสถานของไทยในขณะนั้น
[46] พรพรรณ ทองตัน,”บาทหลวง,” อภิธานศัพท์คำไทยที่มี
[47] เรื่องเดียวกัน, หน้า112.
[48] นิโคลาส แชร์แวส, เรื่องเดิม, หน้า167-168.
[49] ชิมอง เดอ ลาลูแบร์, เรื่องเดิม, หน้า527.
[50] เชวาลิเยร์ เดอ ฟอร์บัง, ประชุมพงศาวดารภาคที่80 จดหมายเหรุฟอร์บัง อนุสรณ์ในงานพระราชทางเพลิงศพ พล.ต. ลม้าย อุทยานานนท์ วันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ.2509, หน้า131.
[51] ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ.2525, หน้า472
[52] แดนบีช บลัดเลย์, อักขรภิธานศรับท์, หน้า107.
* อย่างไรก็ดี บาทหลวงไตไซรา ได้อธิบายความหมายของคำ "ตะละปอย - talapoi" ไว้ว่า คำ "Talapão" หรือ ตะละปอยชั้นสูง (melho talapoi) พระภิกษุ (bonzo) เป็นคำศัพท์ที่มาจากภาษาบาลีว่า "Talapannan " ซึ่งแปลว่า grande Ventarola de tala ในพุทธศาสนา ดู P.Manuel Teixeira, op.cit., p.55.
[53] ชิมอง เดอ ลาลูแบร์, เรื่องเดิม, หน้า94 อ่านตามคำแปลของสันต์ ท.โกมลบุตร
[54]Mile Harland,op.cit., p.31
[55] นอ.พระเรี่ยม รัชชพากย์ รน., พจนานุกรมฝรั่งเศส อังกฤษ – ไทย, หน้า 150.
[56] เรื่องเดียวกัน, หน้า93

3 ความคิดเห็น:

  1. http://despommes.blogspot.com
    นางสาววิไลย์ บังเศียร 51137-0448

    ตอบลบ
  2. http://splerdides.blogspot.com
    นางสาวกาญจนา วรรณทะวงค์ 51137-0407

    ตอบลบ
  3. http://noonammagazine.blogspot.com
    นางสาวศศิปรียา สุขนาที 51137-0409

    ตอบลบ