วันศุกร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

บทบาทของชุมชนโปรตุเกสในการสนับสนุนกลุ่มอำนาจทางการเมือง

โดย พิทยะ ศรีวัฒนสาร

ชุมชนชาวโปรตุเกสในเมืองพระนครศรีอยุธยาเป็นชุมชนใหญ่ ประกอบด้วยผู้ที่มีความสามารถเฉพาะตัวในการต่อสู้ด้วยอาวุธปืนเป็นจำนวนมาก มีหลักฐานว่าพ่อค้าโปรตุเกสที่ตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนอยู่ในสยามจำนวนหนึ่งเคยเป็นทหารรับใช้ทางการโปรตุเกสมาแล้วก่อนจะออกมาประกอบอาชีพอิสระ บางคนก็เป็นทหารอยู่ในกองทัพสยามด้วย ดังนั้นชุมชนของพวกเขาจึงจัดได้ว่าเป็นชุมชนที่มีศักยภาพทางทหารมากขณะนั้น และทางการสยามรวมทั้งชนชั้นสูงคงตระหนักถึงพลังดังกล่าวนี้เป็นอย่างดีด้วย ชุมชนของพวกเขาจึงถูกหมายปองจากผู้ต้องการมีอำนาจทางการเมืองในสยามชุมชนหนึ่งมาโดยตลอด เมื่อสมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จสวรรคต ได้เกิดเหตุการณ์ชิงราชสมบัติจากสมเด็จพระศรีเสาวภาคย์ โดยพระศรีศิลป์พระโอรสของพระเอกาทศรถสามารถปราบปรามบรรดาผู้ก่อความไม่สงบได้ด้วยความช่วยเหลือของชาวโปรตุเกสและได้เสวยราชสมบัติทรงพระนามว่าสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ.2153-2171 พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับตุรแปง กล่าวว่า

"…ด้วยความช่วยเหลือของพวกโปรตุเกส เจ้าชายองค์นี้ (พระศรีศิลป์) ได้เข้ายึดมณฑลซึ่งแต่เดิมถูกกษัตริย์แห่งอังวะและพะโคยึดเอาไปด้วยความซาบซึ้งในบุญคุณเนื่องจากความกล้าหาญเป็นพิเศษ พระองค์ได้พระราชทานเมืองท่าเมาะตะมะแก่กษัตริย์โปรตุเกสเพื่อใช้เป็นฐานทัพเรือของพระองค์ ราชทูตผู้นำข้อเสนอนี้ไปยังท่านข้าหลวงแห่งเมืองกัวได้กลับมาพร้อมกับเครื่องราชบรรณาการมากมาย พระโดมินิกันรูปหนึ่งได้ติดต่อมาด้วยเพื่อทำการเจรจา เขาได้รับเกียรติอย่างยิ่งในการตกลงทำสัญญาซึ่งเป็นผลประโยชน์ต่อพวกโปรตุเกสเป็นอย่างมาก ความสำเร็จครั้งนี้ก่อให้เกิดคณะทูตใหม่ขึ้นในปี พ.ศ.2164 ซึ่งช่วยในการเผยแพร่ศาสนา พระเจ้าแผ่นดินทรงขอให้บาทหลวงในนิกายฟรานซิสกัน ทำการสั่งสอนหลักธรรมของคริสต์ศาสนาในราชอาณาจักรของพระองค์ พระองค์ทรงสร้างโบสถ์หลังหนึ่งให้เขาด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และทรงมีพระประสงค์จะให้พวกเขาอยู่อย่างสุขสบายทำให้เขามีความโลภและก่อความชั่วมากขึ้น…"[1]

ในเวลาต่อมาเมื่อสมเด็จพระเจ้าปราสาททองเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ.2199 สมเด็จพระศรีสุธรรมราชาได้ครองราชย์สมบัติแทนด้วยการสำเร็จโทษเจ้าฟ้าไชย นิโคลาส แชร์แวส บันทึกว่าสมเด็จพระศรีสุธรรมราชจะบังคับอภิเษกกับพระภคินีของเจ้านารายณ์ขึ้นเป็นสนม เจ้านารายณ์ทรงคัดค้านอย่างกล้าหาญ จึงถูกสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาวางแผนปลงพระชนม์ เมื่อเจ้านารายณ์ทรงทราบแผนดังกล่าว ก็เสด็จหนีออกไปยังนอกเมือง และขอความช่วยเหลือจากชาวต่างประเทศ ปรากฏว่าชาวโปรตุเกสเป็นพวกแรกที่ตกลงให้ความช่วยเหลือ โดยมีสัญญาแลกเปลี่ยนกันว่า เจ้านารายณ์จะทรงอำนวยความสะดวกทางการค้าให้แก่พวกเขา และจะพระราชทานบำเหน็จรางวัลให้หลังจากทำการสำเร็จ เมื่อเจ้านารายณ์ทรงรวบรวมกำลังสนับสนุนได้ ประมาณ 1,000 คน ก็ทรงนำกำลังเข้าไปยังพระราชวังจนถึงพระทวารห้องบรรทมของสมเด็จพระศรีสุธรรมราชา สมเด็จพระศรีสุธรรมราชาทรงพยายามปลอมพระองค์หลบหนีปะปนออกไปกับหมู่ข้าราชบริพาร แต่ปรากฏว่ามีชาวโปรตุเกสเข้ารีตผู้หนึ่งจำพระองค์ได้ แชร์แวสระบุว่า "เจ้านารายณ์ได้จู่เข้าปลงพระชนม์สมเด็จพระศรีสุธรรมราชาตามโทษานุโทษอันควร"[2] แต่ลาลูแบร์ได้กล่าวแตกต่างออกไปเล็กน้อยว่าแท้ที่จริงแล้วชาวโปรตุเกสผู้หนึ่งเป็นคนตามไปยิงสมเด็จพระศรีสุธรรมราชา ขณะทรงช้างพระที่นั่งออกไปจากพระราชวัง[3]

แม้การสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาจะถูกต่างชาติบันทึกไว้ไม่สอดคล้องกัน แต่หลักฐานที่ปรากฏในงานเขียนของทั้งแชร์แวสและลาลูแบร์ ต่างก็ชี้ให้เห็นตรงกันว่า การชิงราชสมบัติจากสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาในปี พ.ศ.2199 นั้น สมเด็จพระนารายณ์ทรงได้รับการสนับสนุนส่วนหนึ่งจากชุมชนโปรตุเกส เห็นได้ชัดเจนว่า เมื่อกำลังพลจากชุมชนโปรตุเกสได้อาศัยไหวพริบในการ "จำแนก" สมเด็จพระศรีสุธรรมราชาออกจากเหล่าข้าราชบริพารที่กำลังแตกพ่ายหนีตายอย่างลนลานแล้ว พวกเขาอาจเป็นผู้ "ชี้เป้า" ให้สมเด็จพระนารายณ์ทรง "จู่" เข้าไปปลงพระชนม์สมเด็จพระศรีสุธรรมราชาด้วยพระองค์เองตามรายงานของแชร์แวส หรืออาจจะเป็นผู้ลั่นกระสุนสังหารสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาเสียเองตามบันทึกของลาลูแบร์ก็ได้ ปรากฏการณ์ดังกล่าวชี้ให้เห็นว่ากำลังพลโปรตุเกสส่วนนี้มีบทบาทในการสนับสนุนการยึดอำนาจจากสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาเป็นบุคคลระดับแนวหน้าของบรรดาผู้สนับสนุนสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งประกอบด้วย อาสามอญ อาสาญี่ปุ่น เจ้ากรมท่าขวาและอื่นๆ[4] โดยเฉพาะขุนทรงพานิชและขุนสนิทวาทีที่ร่วมสนับสนุนฝ่ายสมเด็จพระนารายณ์นั้น[5] อาจเป็นขุนนางชาวโปรตุเกสก็ได้ การที่ไพร่พลจากชุมชนโปรตุเกสสามารถ "จำแนก" สมเด็จพระศรีสุธรรมราชาได้ แสดงให้เห็นว่าชาวโปรตุเกสผู้นั้น อาจเป็นขุนนางรับราชการในพระราชวังหลวง และมีโอกาสได้เห็นพระพักตร์ของสมเด็จพระศรีสุธรรมราชา ขณะเข้าเฝ้าจึงสามารถ "ชี้ตัว" สมเด็จพระศรีสุธรรมราชาได้อย่างแม่นยำเพราะหากมิใช่ข้าราชการหรือขุนนางแล้วคงมีโอกาสน้อยมากที่จะได้เห็นพระพักตร์ของพระเจ้าแผ่นดิน
การอ้างอิง
[1]กรมศิลปากร, ประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา ฉบับตุรแปง , แปลโดยสมศรี เอี่ยมธรรม, หน้า27.
[2] นิโคลาส แชร์แวส, เรื่องเดิม, หน้า 225-228.
[3] ชิมอง เดอ ลาลูแบร์, เรื่องเดิม, หน้า37-38.
[4] ปิยรัตน์ อินทร์อ่อน, เรื่องเดิม, หน้า48-49.
[5] เรื่องเดียวกัน, หน้า49. อ้างข้อเสนอของ ดร.นิธิ ว่าขุนทรงพานิช ขุนสนิทวาที อาจเป็นล่าม หรือทูตในกรมท่า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น