วันศุกร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

บทบาทในการเผยแพร่ศาสนาโรมันคาธอลิกของชุมชนชาวโปรตุเกส

โดย พิทยะ ศรีวัฒนสาร

การขยายตัวของโปรตุเกสในเอเชียได้จำกัดอยู่เพียงอำนาจทางทหารและการเมือง หากแต่ยังมีการเผยแพร่ศาสนาเพื่อการครอบงำจิตใจ (spiritual conquest - conquesta espiritual) หลักฐานของดิอูกู โกวตุ ระบุว่ากษัตริย์โปรตุเกสทรงมุ่งยึดครองดินแดนด้วยวัตถุประสงค์ทั้งทางโลกและทางธรรม (temporal and spiritual) ซึ่งมิอาจแยกจากกันได้[1] ขณะนั้นโปรตุเกสเป็นประเทศที่ได้รับประโยชน์จากการเผยแพร่ศาสนาเพื่อทำสงครามครูเสดต่อต้านศาสนาอิสลาม ตั้งแต่ปี พ.ศ.1862 โปรตุเกสมีกองทหารเกณฑ์เพื่อสงครามครูเสด (national crasading militia) เรียกว่า "The Order of Christ" เจ้าชายดอง เอนริก มกุฎราชกุมารแห่งโปรตุเกสทรงทำให้กองทหารเพื่อสงครามครูเสดกลายเป็นผู้เผยแพร่ศาสนาแทนการทำสงคราม ครั้นเจ้าชายพระองค์นี้สิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ.2003 กษัตริย์โปรตุเกสจึงทรงควบคุมคณะเผยแพร่ศาสนานี้ด้วยพระองค์เอง ช่วงที่มีการขยายอำนาจออกไปยังแอฟริกาตอนกลางพุทธศตวรรษที่20 ทางการโปรตุเกสได้นำชื่อกองทหารครูเสดนี้มาใช้ในการสอนชาวคริสต์เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของการขยายดินแดนโดยได้รับการอนุญาตและการสนับสนุนจากโรมเป็นอย่างดี การทำสงครามศาสนาและการเผยแพร่ศาสนาซึ่งเป็นนโยบายของโปรตุเกสที่ใช้ในการสำรวจดินแดนได้รับการยอมรับจากพระสันตปาปา อิวเยนนิอุสที่ 4 (Pope Eugenius IV) ประมาณปี พ.ศ.1985 เมื่อทรงยืนยันแต่งตั้งเจ้าชาย ดอง เอนริกให้เป็นผู้บัญชาการดิ ออร์เดอร์ ออฟ คริสต์ "เพื่อความสำเร็จของการยึดครองและค้นพบดินแดนต่างๆ" หลังจากนั้นความสัมพันธ์ระหว่างศาสนาจักรกับราชสำนัก จึงถูกเรียกว่า เดอะ ปาดรูอาดู (The Padroado - The Portuguese patronage) โดยการเผยแพร่ศาสนาอยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ของกษัตริย์โปรตุเกส หลักฐานพระสันตโองการ (the papal bull) ของพระสันตปาปาซิกซ์ตุสที่4 (Sixtus IV) ลงวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2024 ระบุว่า การค้นพบดินแดนจากการเดินเรือที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาก่อนหน้านี้เล็กน้อย เป็นสิทธิโดยชอบธรรมของเรือโปรตุเกส ชาวโปรตุเกสเป็นเจ้าของดินแดนที่ถูกค้นพบทางทะเลและกำลังจะถูกค้นพบโดยชอบธรรม ชาวโปรตุเกสสามารถค้าขายกับคนนอกศาสนาหรือชาวมุสลิมได้โดยมีข้อแม้ว่าห้ามค้าขายอาวุธและกระสุนดินดำแก่คนเหล่านั้น และชาวโปรตุเกสสามารถก่อตั้งโบสถ์ วัด และศาสนสถานได้ โดยนักบวชซึ่งปกครองสถานที่ดังกล่าวต้องมีอำนาจทางศาสนาอย่างเต็มที่ รวมทั้งการขับชาวคริสต์ออกจากศาสนาด้วย นอกจากนี้โปรตุเกสยังมีอำนาจทางศาสนาตั้งแต่แหลมบูชาดอร์ (Cape Bojador) จนถึงอินเดีย[2] ด้วยเหตุนี้ "เดอะ ปาดรูอาดู" จึงครอบคลุมทั้งสิทธิทางกฎหมายสิทธิพิเศษ และหน้าที่ต่างๆซึ่งกษัตริย์โปรตุเกสทรงได้รับจากพระสันตปาปาในการอุปถัมภ์ศาสนาและกิจการเกี่ยวกับนักบวช ตั้งแต่แอฟริกา เอเชีย จนถึงบราซิล ตราบใดที่พระสันตโองการฉบับนี้ได้รับการยอมรับ ตราบนั้นโปรตุเกสก็ยังคงได้รับสิทธิพิเศษและสิทธิโดยชอบธรรมในการสำรวจดินแดนและการค้าขาย กับดินแดนที่ถูกค้นพบใหม่ซึ่งนักเดินเรือชาวโปรตุเกสเดินทางไปเยือน

การเข้ามาอาศัยในกรุงศรีอยุธยาตามของชาวโปรตุเกสตามสัญญาพระราชไมตรีระหว่างสยามกับโปรตุเกสเมื่อ พ.ศ.2059 จะมีบาทหลวงชาวโปรตุเกสเป็นผู้นำในการปฏิบัติศาสนกิจหรือไม่ ยังไม่มีหลักฐานยืนยัน จนกระทั่งเวลาผ่านไปเกือบหนึ่งศตวรรษจึงปรากฏว่า พ่อค้าชาวโปรตุเกสที่มาตั้งหลักแหล่งในกรุงศรีอยุธยา ได้เรียกร้องไปเรียนยังมุขนายกมิสซังโปรตุเกสแห่งมะละกา ให้ส่งบาทหลวงไปยังกรุงศรีอยุธยา[3] ดังนั้นในปี พ.ศ.2108 บาทหลวงแฟร์นันดู ดึ ซานตา มาเรีย (P.Fernando de Santa Maria) มุขนายกมิสซังแห่งมะละกาจึงส่งบาทหลวงคณะดูมินิกันกับบาทหลวงคณะฟรานซิชกันรวม 2 คน เดินทางเข้ามาเป็นผู้นำทางศาสนาให้แก่ชาวค่ายโปรตุเกสในกรุงศรีอยุธยาใช้เวลาเดินทางจากมะละกาเข้ามากรุงศรีอยุธยา 2 เดือน บาทหลวงทั้งสองได้เขียนรายงานว่าไม่พบร่องรอยของการเผยแพร่ศาสนาคริสต์[4] ขณะนั้นตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ*

จากนั้นบาทหลวงชาวโปรตุเกสทั้งสองคนได้ออกเผยแพร่ศาสนาไปทั่วทั้งพระนครศรีอยุธยา เมื่อเข้าไปในเขตค่ายมุสลิมทางทิศใต้และตะวันตกของชุมชนโปรตุเกส บาทหลวงเจรูนิมู ถูกพวกมุสลิมฆ่าตาย[5] ส่วนบาทหลวงเซบัสติอาวได้รับบาดเจ็บ ต่อมาได้เดินทางกลับมะละกา และย้อนเข้ามาอีกครั้งในปี พ.ศ.2110 และถูกชาวมุสลิมฆ่าตายในปี พ.ศ.2112 ทำให้การเผยแพร่ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกของบาทหลวงโปรตุเกสแก่ชาวสยามและชาวพื้นเมืองในกรุงศรีอยุธยาไม่สู้จะได้ผล มิหนำซ้ำยังถูกกลั่นแกล้งและถูกต่อต้านจากชาวมุสลิมในค่ายมากัสซาร์ทางทิศใต้ของค่ายโปรตุเกสและชาวมุสลิมในค่ายมะลายูหรือค่ายมาเลย์ เนื่องจากชาวมุสลิมเหล่านั้นโกรธแค้นต่อการที่โปรตุเกสเข้าครอบครองมะละกา ในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวร (พ.ศ.2133-2148) เป็นช่วงที่ประชากรในค่ายโปรตุเกสขยายตัวมากขึ้น พวกเขามีส่วนในการรับราชการสนองพระมหากรุณาธิคุณอย่างซื่อสัตย์จึงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัย โดยเฉพาะบาทหลวงและทหารอาสาชาวโปรตุเกส ชุมชนของพวกเขาจึงได้รับการชื่นชมและมีผู้เข้ารีตกันมาก ทำให้ขุนนางไทยหลายคนไม่พอใจเมื่อเกิดเหตุการณ์หญิงไทยผู้หนึ่งถูกชาวโปรตุเกสรังแก บรรดาขุนนางจึงกราบทูลสมเด็จพระนเรศวรว่าบาทหลวงชาวโปรตุเกสเป็นผู้ยุยงให้เกิดเรื่อง ต่อมาเกิดเหตุการณ์หญิงไทยผู้หนึ่งเปลี่ยนศาสนาโดยไม่ได้รับความยินยอมจากสามี สามีของหญิงนั้นไม่พอใจถึงกับบุกเข้าไปฆ่าบาทหลวงซึ่งกำลังทำพิธีมิสซาที่โบสถ์ภายในค่ายโปรตุเกส จึงถูกพวกเข้ารีตโปรตุเกสฆ่าล้างแค้นเสียในคราวเดียวกัน ภายหลังบาทหลวงจอร์เย (P.Gorgé) ได้นำความกราบบังคมทูลฯให้สมเด็จพระนเรศวรทรงทราบก็ทรงพิโรธยิ่งนัก บาทหลวงจอร์เยและพวกคริสตังจึงตัดสินใจลงเรือ สเปนเพื่อออกไปยังมะละกา แต่ถูกติดตามโจมตีกลางทาง บาทหลวงจูอาว ดึ ซาน ปึดรู (Joaô de San Pedro) ถูกฆ่าตาย บาทหลวงจูอาว มัลโดนาดู กับบาทหลวงอาฟองโซ ซึมึนึช (P. Afonso Ximenes) ถูกจับได้ในอ่าวไทย แล้วมีพระบรมราชโองการให้ประหารชีวิต บาทหลวงจอร์เยเสียชีวิตระหว่างทาง ในปีเดียวกันนี้เองผู้ว่าราชการโปรตุเกสแห่งเมืองเมาะตะมะ ได้มีสาส์นกราบบังคมทูลว่าบาทหลวงเมลชิอูร์ ดึ ครูซ (P.Melchiur de Cruz) จะเดินทางเข้ากรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนเรศวรจึงโปรดให้นำตัวเข้าเฝ้า และโปรดให้สอนศาสนาได้ อีกทั้งยังได้พระราชทานเงินให้สร้างโบสถ์ใหม่ใน พ.ศ.2145[6]

จดหมายของ ฟรานซิสโก เตโยชาวสเปน เมื่อ 12 กรกฎาคม พ.ศ.2142 ถวายพระเจ้าฟิลิปเปที่2 ระบุถึงการส่งทูตชื่อกัปตันฆวน เตโย (Joan Tello) พร้อมคณะไปเฝ้าสมเด็จพระนเรศวร เป็นการตอบพระราชสาส์น ฟรานซิสโก เตโย ได้ทราบจากกัปตัน ฆวน เตโยว่า

"…พระเจ้ากรุงสยามทรงมีนักบวชนิกายโดมินิกันอยู่ในพระราชวัง เป็นคนที่ทางเมืองมะละกาส่งมาเพื่อประกอบพิธีกรรมตามลัทธิปฏิบัติให้แก่ชาวคริสต์ที่มากับเรือจากอินเดียด้วยธุรกิจการค้า โดยเห็นว่าเป็นโอกาสอันดียิ่ง และการเปิดการค้านั้นย่อมเป็นการเริ่มต้นการเผยแพร่พระศาสนาในราชอาณาจักรนี้ "[7]

นอกจากนี้หลักฐานของสเปน ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2145 กล่าวถึงการที่สมเด็จพระนเรศวรทรงขอให้ส่งบาทหลวงคณะดูมินิกันจำนวน 4 คนไปประจำอยู่ในสยาม[8]

ในรัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ มีชาวสยามเพียงเล็กน้อยที่เปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์บันทึกความทรงจำของคอนสแตนติน ฟอลคอน ถวายแด่พระเจ้าหลุยส์ที่14 แนบไปกับจดหมายของบาทหลวงตาชารด์ ลงวันที่30 สิงหาคม พ.ศ.2231 กราบทูลความเป็นไปของศาสนาคริสต์ในกรุงศรีอยุธยาและประเทศใกล้เคียงว่า

" ที่กรุงสยามนั้นมีวัดของชาวโปรตุเกสอยู่สองวัด ประกอบด้วยคริสตังจำนวนมากกว่าสี่พันคน วัดทั้งสองนี้อยู่ภายใต้การปกครองของสังฆราชแห่งเมืองมะละกา…"[9]

เมื่อมะละกาตกเป็นของฮอลันดาในปี พ.ศ.2140[10] การปกครองโบสถ์ทั้งสองของชาวโปรตุเกสจึงอยู่ในอำนาจของมุขนายกมิสซังแห่งเมืองกัว เช่นเดียวกับโบสถ์ทุกแห่งในอาณานิคมของโปรตุเกส ครั้นกรุงศรีอยุธยาได้เจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศฝรั่งเศสก็มีบาทหลวงคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีสเดินทางเข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกในปี พ.ศ.2205 และ พ.ศ.2207 จึงเกิดปัญหาการแข่งขันกันสอนศาสนาระหว่างฝรั่งเศสกับโปรตุเกส ดังที่ฟอลคอน รายงานว่าเมื่อมุขนายกมิซซังฝรั่งเศสคือ ม.เดอ เบริต และ ม. เดลิโอโปลิส เดินทางมาถึงอยุธยา บุคลลทั้งสองได้เริ่มต้นไปเยือนชาวคริสต์ในชุมชนโปรตุเกสเป็นครั้งแรกด้วยการแต่งกายแบบสามัญชน ปรากฏว่าได้ถูกขับไล่และถูกเหยียดหยามจากชาวโปรตุเกส ต้องรีบหนีกลับออกมา[11] ต่อมามุขนายกมิสซังแห่งเมืองกัวของโปรตุเกส มีจดหมายมายังบาทหลวงโปรตุเกสว่า ห้ามมิให้คริสตังในการปกครองของโปรตุเกสอยู่ภายใต้โอวาทหรือภายใต้การปกครองของบาทหลวงจากคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส ทำให้ทั้งสองฝ่ายมีเรื่องบาดหมางกันเนืองๆ ทางด้านราชสำนักสยามนั้น สมเด็จพระนารายณ์ทรงสนับสนุนการเผยแพร่ศาสนาของบาทหลวงฝรั่งเศส เนื่องจากทรงเล็งเห็นความสำคัญในการคานอำนาจของฝรั่งเศสที่มีฮอลันดาซึ่งกำลังมีอำนาจในภูมิภาคนี้ บทบาทในการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในกรุงศรีอยุธยาของชาวโปรตุเกสจึงลดน้อยลง บาทหลวงชาวโปรตุเกสได้แต่ปฏิบัติศาสนกิจร่วมกับคริสตังที่ขึ้นตรงต่อโบสถ์ทั้งสองของหมู่บ้านโปรตุเกสอย่างสงบภายใต้การบังคับบัญชาของมุขนายกแห่งคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส[12] ตามคำสั่งของสำนักวาติกันในปี พ.ศ.2212 มีใจความว่า บาทหลวงและนักบวชจะต้องเคารพบรรดามุขนายกมิสซัง ในปี พ.ศ.2217 อธิการบดีคณะเจซูอิตได้สั่งให้นักบวชในคณะต้องปฏิบัติเช่นเดียวกัน[13] แม้คำสั่งดังกล่าวจะก่อให้เกิดความสงบขึ้นมาบ้างแต่บาทหลวงชาวโปรตุเกสและบาทหลวงชาวฝรั่งเศส ยังคงกระทบกระทั่งกันอยู่ประปรายเนื่องจากเหตุผลทางด้านการเมือง การค้า และการทูต ที่ใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือในการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ของรัฐบาลของทั้งสองฝ่าย เมื่อสิ้นสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ บทบาทสำคัญในการเผยแพร่ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาธอลิกในกรุงศรีอยุธยาก็ตกเป็นของบาทหลวงคณะมิซซังต่างประเทศชาวฝรั่งเศสอย่างสิ้นเชิง คณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส(Mission Étrangère de Paris) ตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2103 ขึ้นตรงต่อกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อแห่งกรุงโรม การทำงานของบาทหลวงเหล่านี้เริ่มด้วยการสร้างโบสถ์ โรงพยาบาล และสามเณราลัย เพื่อฝึกหัดผู้ที่จะเป็นบาทหลวงตามนโยบายการฝึกบาทหลวงชาวพื้นเมืองเพื่อช่วยทำงานเผยแผ่ศาสนาให้กว้างขวางยิ่งขึ้น สามเณราลัยหรือโรงเรียนฝึกบาทหลวงจะรับเด็กอื่นๆ เข้ามาเรียนด้วยและตั้งอยู่ที่เดียวกับโบสถ์ ซึ่งอยู่ที่หมู่บ้านหนองปลาเห็ดด้านตะวันตกของวัด
พุทไธสวรรค์[14] ชาวฝรั่งเศสเรียกว่า "แคมป์เซนต์โยเซฟ"[15] สมเด็จพระนารายณ์ได้พระราชทานเงินส่วนพระองค์ให้สร้างโบสถ์ ต่อมาได้ย้ายสามเณราลัยไปอยู่ที่ตำบลมหาพราหมณ์ห่างจากกรุงศรีอยุธยาประมาณ 10 กิโลเมตร บุคคลที่เข้าเรียนมีตั้งแต่อายุ 10 ขวบเศษขึ้นไป ถ้าหากมีความพร้อมจะได้รับการบวชเป็นบาทหลวง ซึ่งมีอายุประมาณ 23 ปีเป็นอย่างน้อย สามเณรเหล่านั้นมาจากประเทศต่างๆในเอเชีย แม้กระทั่งจากจีนก็มี* การดำเนินการสอนศาสนาในช่วงแรกประสบปัญหาความขัดแย้งภายในกันเอง ระหว่างบาทหลวงคณะเยซูอิตชาวฝรั่งเศสกับบาทหลวงคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส และความขัดแย้งระหว่างบาทหลวงชาวโปรตุเกสกับบาทหลวงชาวฝรั่งเศสซึ่งเกี่ยวพันกับปัญหาทางด้านการเมืองเพราะมุขนายกมิสซังแห่งเมืองกัวของโปรตุเกสต้องการปกครองคริสตังในกรุงศรีอยุธยา ทำให้ฝ่ายปกครองคริสจักรแห่งกรุงโรมต้องแก้ปัญหาโดยการตั้งเทียบสังฆมณทลสยามขึ้นในปี พ.ศ.2212 และมอบหมายให้มุขนายกมิซซังฟรองซัวส์ ปัลลู (Fronçoir Pallu) และมุขนายกมิสซังปิแอร์ ลังแบร์ต เดอ ลามอตต์ (Piere Lambert de Lamotte) แต่งตั้งมุขนายกมิสซังขี้นองค์หนึ่งปกครองเทียบสังฆมลฑลสยาม มุขนายกมิสซัง ผู้นั้นได้แก่ มุขนายกมิสซังหลุยส์ ลาโน (Luis Lano) มีบาทหลวงชาวฝรั่งเศส 12 คน สามเณร 1 คน อยู่ใต้การปกครอง นอกจากนั้นมีบาทหลวงชาวโปรตุเกสจำนวนหนึ่งปกครองชาวโปรตุเกสด้วยกันเองที่กรุงศรีอยุธยา และบาทหลวงคณะฟรานซิสกัน 2 คนภายใต้การบังคับบัญชาของมุขนายกมิสซังลาโน ตามคำสั่งของพระสันตปาปาแห่งสำนักวาติกัน[16] การเผยแผ่ศาสนาให้แก่คนไทยไม่ค่อยได้ผลนัก มีคนไทยบางส่วนเท่านั้นที่เข้ารีตนับถือศาสนาคริสต์ แม้ว่าบาทหลวงจะพยายามในทุกโอกาสเพื่อทำให้คนเป็นคริสต์ให้มากที่สุดก็ตาม สาเหตุที่ทำให้ชาวไทยสมัยกรุงศรีอยุธยาเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์กันน้อยมาก เพราะยังยึดมั่นในศาสนาและประเพณีดั้งเดิม การเปลี่ยนศาสนาก็เท่ากับต้องออกจากสังคมเดิมไปอยู่ในสังคมใหม่ที่ค่ายคริสตังของโบสถ์เซนต์โยเซฟ หรือชุมชนคริสตังอื่นๆ เช่น ค่ายโปรตุเกส เป็นต้น ซึ่งนับเป็นเรื่องยุ่งยากพอสมควร ดังนั้นมุขนายกมิซซังหลุยส์ ลาโน จึงได้ศึกษาภาษาไทย ภาษาบาลี และพุทธศาสนา เพื่อทำความรู้จักกับวัฒนธรรมและประเพณีไทย เพื่อช่วยให้สามารถอธิบายหลักธรรมทางศาสนาคริสต์ให้แก่คนไทยได้ดียิ่งขึ้น บาทหลวงผู้อื่นได้เขียนหนังสือหลักคำสอนคริสตังและหนังสือสวดภาวนาเป็นภาษาไทย ได้แก่ หนังสือปุจฉาวิสัชนาเป็นต้น หนังสือดังกล่าวมีเนื้อหาเกี่ยวกับการถกเถียง หักล้างความคิดปรัชญาทางพุทธศาสนาว่าไม่ถูกต้อง และยกหลักคำสอนทางศาสนาคริสต์ว่ามีเหตุผลเหนือกว่า[17] อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ทางการสยามใช้มาตรการรุนแรงเพื่อต่อต้านการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระและสมเด็จพระเจ้าบรมโกศอย่างต่อเนื่อง สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้คนที่นับถือศาสนาคริสต์เป็นอย่างมาก ในสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่2 โบสถ์ในชุมชนโปรตุเกสถูกเผาจนวอดวายไปพร้อมกับสิ่งก่อสร้างอื่นๆในกรุงศรีอยุธยา
การอ้างอิง
[1] Suthachai Yimprasert, op.cit., p.49.
[2] Ibid., p.50.
[3] อ้างจากนันทิยา สว่างวุฒิธรรม, เอกสารประกอบการสัมมนาฯที่หอประชุมมหาวิทยาลัยศิลปากร, หน้า17
[4] สำนักสารสาส์น, ประวัติพระศาสนจักรสากลและพระศาสนจักรในประเทศไทย (พระนคร : ไทยหัตถ์การพิมพ์ , 2510), หน้า195.
* นันทิยา สว่างวุฒิธรรม, เรื่องเดิม, หน้า17 บาทหลวงทั้งสองชื่อ เจรูนิมู ดึ ครูซ (P.Jeronimo De Cruz) และเซบัสติอาว ดึ โกวตู (P.Sebastião de Couto) รายงานของบาทหลวงทั้งสองตรงกับหลักฐานของนิโคลาส แชร์แวส แต่กระนั้น ยังมีหลักฐานอีกชิ้นหนึ่งของบาทหลวงมาชกาเรนญาช (Mascarenhas) จากญี่ปุ่น เมื่อกุมภาพันธ์ พ.ศ.2107 กล่าวถึงนโยบายการเผยแพร่ศาสนาในคาบสมุทรอินโดจีนและกรุงศรีอยุธยา และระบุจำนวนคริสตังในสมัยกรุงศรีอยุธยาว่ามีประมาณ 2,000 คนขณะนั้นตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
[5] สำนักสารสาส์น, เรื่องเดิม, หน้า196.
[6] เดโช อุตรนที, "ความสัมพันธ์ของชาวโปรตุเกสกับประเทศสยาม" วารสารแถลงงานประวัติศาสตร์ เอกสารโบราณคดี 1 (กันยายน : 2510), หน้า52-58.
[7] เรื่องเดียวกัน, หน้า63.
[8] จันทร์ฉาย ภัคอธิคม, เรื่องเดิม, หน้า65.
[9] กรมศิลปากร, การเดินทางของบาทหลวงตาชารต์ เล่ม1-3 (กรุงเทพ: ศิวพร, 2521), หน้า52.
[10] ไพฑูรย์ มีกุศล, ประวัติศาสตร์ไทย (มหาสารคาม : ปรีชาการพิมพ์, 2521) , หน้า239.
[11] กรมศิลปากร, การเดินทางของบาทหลวงตาชารต์ เล่ม 1-3, หน้า27.
[12] ราชบัณฑิตยสถาน, จดหมายเหตุเรื่องส่งราชฑูตไทยไปกรุงโรมครั้งที่2 ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (กรุงเทพ : สามมิตร, 2515), หน้า35.
[13] สำนักสารสาส์น, ประวัติพระศาสนาจักรสากล และพระศาสนจักรในประเทศไทย (พระนคร : ไทยหัตถการพิมพ์, 2510)
[14] ขจร สุขพานิช, เรื่องเดิม, หน้า177.
[15] สมศรี เอี่ยมธรรม (แปล), เรื่องเดิม, หน้า38-39.
* ศาสนจักรได้เลิกใช้ภาษาละตินในการสอนวิชาดังกล่าวเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้วภายหลังสังคยานาวิติกัน
[16] สำนักสารสาส์น, เรื่องเดิม, หน้า218.
[17] เสรี พงศ์พิศ, คาทอลิกกับสังคมไทย (กรุงเทพมหานคร: เจริญวิทย์การพิมพ์, 2527), หน้า34.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น