วันจันทร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ประเพณีการฝังศพของชาวโปรตุเกสที่โบสถ์ซานเปโตร(ซานตู ดูมินิกานู)ในสมัยกรุงศรีอยุธยา

โดย พิทยะ ศรีวัฒนสาร

ในรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา ตรงกับปี พ.ศ.2239 ได้เกิดโรคระบาดขึ้นอย่างรุนแรงที่เมืองพระนครศรีอยุธยา[1] จดหมาย ม.ปินโต ถึง ม.บาเซต์ เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ.2239 ระบุว่า เกิดสภาวะแห้งแล้งมีน้ำน้อย ทำให้อาหารการกินมีราคาแพงมาก แม้พระเจ้าแผ่นดินสยามจะทรงระวังกวดขันสักเท่าใดก็ตาม แต่ก็มีเหตุร้ายเกิดซ้ำตามมาอีก คือเกิดเพลิงไหม้ขึ้นบ่อยๆทุกแห่ง น้ำในลำน้ำก็มีความขุ่นข้นแห้งแล้ง และมีสีเขียวเต็มไปหมด จนใช้บริโภคไม่ได้มาเป็นเวลานาน หลักฐานระบุว่า "เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ทำให้คนฝันต่างๆ ถึงไม่ได้ฝันจริงก็คิดประดิษฐ์เป็นฝันขึ้นทั่วไป"* ทำให้เกิดโรคระบาดขึ้น โดยผู้ป่วยจะมีอาการโลหิตออกทางปากและจมูก แล้เป็นไข้อยู่ได้ 2-3 วันก็ตายมิหนำซ้ำยังกลับมีไข้ทรพิษเข้ามาแทรกทั่วราชอาณาจักร ทำให้ทั้งเด็กผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 7-80 ปี ล้มตายกันมาก ตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ.2239 มีคนตายทั่วพระราชอาณาจักรรวมเกือบ 80,000 คนแล้ว หลักฐานฝรั่งเศสระบุว่าตามวัดต่างๆไม่มีที่จะฝังศพ และทุ่งนาก็เต็มไปด้วยศพทั้งสิ้น วัดที่อยู่ใกล้กับโรงเรียนสามเณราลัย เพียงแห่งเดียวภายในสามเดือนยังฝังศพไปแล้วถึง 4,200 ศพ ระหว่างนั้นสมเด็จพระเพทราชาไม่เพียงทำตัวเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี โดยทำพิธีสวดมนต์เลี้ยงพระในที่ชุมชน ทำน้ำมนต์และพิธีต่างๆหลายพันอย่าง ซึ่งพระสงฆ์ได้ทำทั้งในเมืองและนอกเมือง พระองค์ยังทำเหมือนบิดา มารดา ของราษฎร โดยส่งแพทย์ไปรักษาคนเจ็บป่วย พระราชทานยาและเงินโดยทั่วกัน ก่อนท่านสังฆราชจะถึงแก่กรรมได้แนะนำให้ถ่ายยา และฉีดเอาเลือดออกเพื่อป้องกันมิให้ป่วยไข้ พระเจ้ากรุงสยามทรงเห็นชอบจึงประกาศให้ราษฎรปฏิบัติตามคำแนะนำนั้น และเจ้าพนักงานต้องนำความกราบทูลทุกคืนว่า คนที่ได้ฉีดเลือดออกเช่นนี้ มีจำนวนมากน้อยเท่าใด ม. เดอ เตรซี กับมิชชันนารี อีก 3 คน ได้วิ่งไปช่วยทุกหนทุกแห่งทั้งให้ยากินและรับเด็กเข้ารีต ภายในพระนครแห่งเดียวมิชชันนารีเหล่านี้ได้รับเด็กเข้ารีตวันละหลายๆคน ในชั้นต้น ม.ปินโตก็เดินทางไปทั่วทุกแห่งเช่นกัน แต่ไม่ช้าการรักษาพยาบาลพวกคริสเตียนที่ป่วยก็เต็มมือทำให้ปลีกตัวไปได้ยาก แต่แล้วไข้ระบาดก็ลดน้อยลงไปบ้าง ในค่ายฝรั่งเศสนั้น นักเรียนตาย 3 คน ทาส 1 คน [2]

หลักฐานจดหมายของ ม.โปเกา ถึง ผู้อำนวยการมิซซังต่างประเทศ ในวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ.2239 กล่าวถึงสภาวะฝนแล้งน้ำน้อยมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2238-2239 ว่าได้เกิดไข้ทรพิษหลายชนิด อาทิ ไข้แดง ไข้ดำ ทำให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ตายกันมาก แต่ปรากฏว่าในโรงเรียนสามเณราลัยไม่มีใครเป็นไข้เลย ทำให้ชาวสยามประหลาดใจและ กราบทูลสมเด็จพระเพทราชา นักเรียน 3 คนกับทาส 1 คน ที่ตาย ก็มิได้ตายเพราะพิษไข้ ส่วนคนที่ป่วยนั้นก็หายป่วยทุกคน

ในปี พ.ศ.2239 ฝนแล้งยิ่งขึ้นจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม หลักฐานฝรั่งเศสระบุว่า "พวกราษฎรวิตกมาก เพราะเกิดมาไม่เคยเห็นสภาวะแห้งแล้งเช่นนี้ น้ำก็ยังไม่ขึ้นทั้งๆที่ควรจะขึ้นได้แล้ว ราคาข้าวแม้จะแพงเท่าใดก็ยังหาซื้อไม่ได้ พระเจ้ากรุงสยามได้พระราชทานของให้แก่ราษฎรเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้เบาบางลงบ้าง"

เมื่อเกิดโรคระบาดขึ้น ม.โปเก เล่าว่า บาทหลวงฝรั่งเศสได้ทำพิธีสวดมนต์ 7 วัน โดยเอาของที่ระลึกในศาสนา (รูปเคารพ) ออกแห่ ในช่วงนั้นก็ได้เกิดฝนตกลงมา ตลอดตั้งแต่ กันยายน - ตุลาคม - พฤศจิกายน และน้ำก็ขึ้นมากกว่าทุกปี นาน 2 เดือน ม.โปเก ไม่กล้ายืนยันว่าเป็นฝนตกเพราะพิธีกรรมของพวกคริสเตียน เพราะฝ่ายไทยก็เชิญพระพุทธรูปออกแห่เช่นกัน และพวกไทยเชื่อว่าฝนตกเพราะแห่พระพุทธรูป[3]

จดหมายของ ม. เดอ ซีเซ ถึง ผอ.คณะมิซซังต่างประเทศ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ.2255 ระบุว่าเกิดไข้ทรพิษขึ้นมาได้ 5-6 เดือนแล้ว และเวลานี้ก็กำลังเป็นกันอยู่ ผู้คนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ได้ล้มตายเป็นอันมาก คณะบาทหลวงฝรั่งเศสได้ทำการช่วยเหลือคนไข้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโรงเรียนสามเณร และต้องออกเดินทางไปตามในเมืองและหมู่บ้านต่างๆ เป็นการพิเศษ บางหมู่บ้านก็ห่างไกลจากเมือง 3-4 ไมล์ ทำให้เปลืองค่าใช้จ่ายมากขึ้น และยังต้องซื้อข้าวเลี้ยงพวกคนยากจนที่ไม่มีกำลังจะซื้อข้าวกินได้ เพราะเวลานี้ข้าวแพงอย่างที่สุด[4] เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาข้างต้นทำให้มีการขุดค้นพบโครงกระดูกจำนวน 200 โครงเศษในเขตโบสถ์ซานตู ดูมิงกู (ซานโต โดมินิกัน หรือโบสถ์ซานเปโตรในปัจจุบัน) ซึ่งอยู่ในชุมชนโปรตุเกส จากการวิเคราะห์ตัวอย่างโครงกระดูกหมายเลข 1-72 รวม 72 โครง โดยคณะของศาสตราจารย์นายแพทย์สุด แสงวิเชียร แห่งมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อจำแนกเพศ วัย เชื้อชาติ และพยาธิสภาพของโครงกระดูก ตามลักษณะความเป็นไปได้และความสมบูรณ์ของโครงกระดูกอาจสรุปผลได้ดังนี้[5]

ผลการวิเคราะห์โครงกระดูกทั้งสามลักษณะ(เพศ, วัย, เชื้อชาติ) จากตัวอย่างไม่ถึงร้อยละห้าสิบของจำนวนตัวอย่างกระดูกทั้งหมด (จำนวน 72 โครง) เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านสภาพความชำรุดของโครงกระดูกส่วนใหญ่เป็นสำคัญ สำหรับช่วงอายุของโครงกระดูกที่พบมากที่สุดอยู่ในวัย21-25 ปี โดยประมาณ โครงกระดูกที่อยู่ในกลุ่มที่ไม่สามารถกำหนดวัยได้นั้นมีโครงกระดูกของทารกจำนวน1-2โครง และโครงกระดูกที่อยู่ในวัยชรามากจำนวน 1โครงรวมอยู่ด้วย ส่วนผลจากการจำแนกเชื้อชาติดังสถิติข้างต้นนั้นเป็นการวิเคราะห์อย่างกว้างๆ และไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าเป็นโครงกระดูกของชาวโปรตุเกส ชาวไทย ชาวจีน ชาวญวน หรือคนครึ่งชาติที่เป็นลูกครึ่งโปรตุเกสผสมพื้นเมือง ที่เข้ารีตรับศีลล้างบาปเป็นคาธอลิกในหมู่บ้านโปรตุเกส ผลการวิเคราะห์พยาธิสภาพของโครงกระดูกบางโครง ได้พบโรคเกี่ยวกับโลหิตเป็นพิษซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้กะโหลกศีรษะของผู้ที่เป็นโรคนี้หนาขึ้นกว่าปกติ เนื่องจากการขยายตัวของกะโหลกศีรษะเพื่อสร้างเม็ดโลหิตแดงไปเลี้ยงเนื้อเยื่อสมอง โรคดังกล่าวพบในโครงกระดูกหลายโครงด้วยกัน แต่สาเหตุการตายของชาวคาธอลิกบางคนที่พบในชุมชน โปรตุเกสอาจจะไม่ใช่เนื่องมาจากสาเหตุของการเจ็บป่วยด้วยโรคดังกล่าวนี้ทั้งหมด จากหลักฐานเอกสารประวัติศาสตร์ เป็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่ทำให้ทั้งราษฎรไทยและผู้ที่อาศัยอยู่ในค่ายของชาวคริสตังล้มตายจำนวนมาก และมิได้หมายความว่าการตายของชาวคาธอลิกเหล่านี้มีสาเหตุมาจากไข้ทรพิษอย่างเดียวแต่ประการใด โครงกระดูกที่พบบางส่วนจะอยู่ในลักษณะของการถูกฝังซ้อนทับหรือเกยทับกัน การศึกษาท่าทางของโครงกระดูกที่อยู่ด้านล่างจึงทำได้อย่างไม่สมบูรณ์ แต่จากการที่โครงกระดูกเหล่านี้ถูกฝังอย่างเป็นระเบียบตามแนวทิศตะวันออก-ตะวันตกเหมือนกัน จึงไม่นับว่าจะเป็นตัวแปรที่อาจทำให้เกิดความสับสนหรือคลาดเคลื่อนในการตีความเกี่ยวกับประเพณีการฝังศพของชาวคาธอลิก เมื่อพิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะการฝังศพจากโครงกระดูกและโบราณวัตถุที่พบร่วมกับโครงกระดูกจากการขุดแต่งโบราณสถานซานเปโตร ประกอบกับการศึกษาคติความเชื่อเกี่ยวกับความตายและประเพณีการฝังศพของชาวคาธอลิกที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ทำให้มองเห็นถึงร่องรอยความเชื่อและพิธีกรรมทางด้านประเพณีการฝังศพของชาวคาธอลิกในชุมชนโปรตุเกส ซึ่งมีพื้นฐานมาจากการนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาธอลิก อาจกล่าวในชั้นต้นนี้ได้ว่าในสมัยอยุธยาการฝังศพของชาวคาธอลิกที่โบสถ์ซานตู ดูมินิกัน นิยมหันศรีษะของผู้ตายไปทางตะวันออก เพื่อให้ในหน้าของผู้ตายหันไปทางพระแท่นบูชาซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระผู้เป็นเจ้าภายในโบสถ์ ชาวคาธอลิกเชื่อว่าเมื่อถึงแก่ความตายแล้วร่างกายจะเน่าเปื่อยผุพังกลายเป็นดินไปตามเดิม ส่วนวิญญาณจะถูกพระเจ้าพิพากษาทันที โดยพระองค์จะทรงตัดสินให้วิญญานของผู้ที่ปฏิบัติตนเป็นคริสตังที่ดีไปอยู่ในสวรรค์ เสวยสุขร่วมกับพระเจ้าและบรรดานักบุญทั้งหลาย ให้วิญญาณที่มีโทษบาปไปอยู่ในสถานไฟชำระหรือนรก ตามความผิดที่มีต่อพระเจ้า และเมื่อถึงวันสิ้นโลกพระเจ้าจะทรงพิพากษาวิญญาณทั้งหมดพร้อมกันอีกครั้งหนึ่ง พระองค์จะทรงประทานให้วิญญาณที่บริสุทธิ์ ได้กลับฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เพื่อที่จะได้อยู่ร่วมกับพระเจ้าและบรรดานักบุญบนสวรรค์ชั่วนิรันดร์ตามความเชื่อในศาสนา

สำหรับกรณีที่มีโครงกระดูกของผู้ใหญ่บางโครงที่ฝังบริเวณใต้พื้นมุขหรือระเบียงหน้าโบสถ์ (โครงกระดูกหมายเลข 149,154) หันศีรษะไปทางทิศตะวันตกนั้น อาจจะเนื่องมาจากผู้ตายมีสถานะเป็นบาทหลวง โดยสันนิษฐานจากกฎเกณฑ์การตั้งศพที่บ่งไว้ชัดเจนว่า ให้วางศพหันหน้าไปทางทิศที่เขาเคยหันหน้าเมื่ออยู่ในที่ชุมนุมพิธีทางศาสนา ซึ่งก็หมายความว่าผู้ที่เคยหันหน้าเข้าหาพระแท่นขณะที่ยังมีชีวิตอยู่คือ สัตบุรุษ เมื่อตายแล้วจะต้องวางศพให้หันหน้าเข้าหาพระแท่น ส่วนผู้ที่เคยยืนหันหลังให้พระแท่นขณะอยู่ในที่ชุมนุมพิธีขณะที่ยังมีชีวิตอยู่คือบาทหลวง เมื่อตายแล้วจึงต้องวางศพให้หันหน้ามาทางสัตบุรุษเช่นเดียวกับเมื่อยังมีชีวิตอยู่ ครั้นถึงเวลาประกอบพิธี ศพก็คงจะถูกฝังอยู่ในลักษณะของการหันศีรษะไปทางพระแท่นซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของจุดที่ฝังศพ

โครงกระดูกบางโครงที่พบว่ามีลักษณะเข่าชิด (โครงกระดูกหมายเลข5) ตลอดไปถึงแข้ง (ซึ่งชำรุดขณะขุดค้น) คล้ายกับการถูกมัดตราสัง สันนิษฐานว่าอาจเนื่องมาจากการนำเอาธรรมเนียมพื้นเมืองมาใช้ตามความเคยชิน[6] ทำนองเดียวกับการพบตุ๊กตาเสียกบาลร่วมกับโครงกระดูกที่38 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงคติความเชื่อทางด้านไสยศาสตร์ที่แฝงอยู่ในสำนึกของชาวคาธอลิกพื้นเมือง โบราณวัตถุบางชิ้นที่พบร่วมกับโครงกระดูก อันเป็นสิ่งของและรูปเคารพทางศาสนาคริสต์และเครื่องประดับ สะท้อนให้เห็นถึงคติความเชื่อทางศาสนาและค่านิยมทางสังคมบางอย่างของชาวคริสตังในชุมชนโปรตุเกสว่ามีการนำเหรียญรูปเคารพของพระเยซู พระแม่มารีอา นักบุญยอแซฟ และรูปเคารพของพระสันตปาปา หรือนักบุญอื่นๆ คล้องคอประจำตัวไว้ เพื่อแสดงถึงความศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้าซึ่งคล้ายกับคติเรื่องการห้อยพระพิมพ์ของชาวพุทธ โครงกระดูกบางโครงซึ่งพบเครื่องทอง กำไล เศษผ้า และกระดุม สันนิษฐานว่าเป็นเครื่องประดับประจำตัวและเครื่องนุ่งห่มของผู้ตายที่ญาติพี่น้องของผู้ตายได้แต่งตัวให้ศพ เพื่อให้สภาพของศพเรียบร้อยภูมิฐาน ส่วนกางเขนที่พบนั้นอาจจะเป็นของที่อยู่ในสายประคำ หรือเป็นกางเขนที่ใช้คล้องคอหรือเคยกลัดติดปกเสื้อของผู้ตายก็ได้
หลักฐานเอกสารระบุว่าหลังเหตุการณ์จลาจลในปี พ.ศ.2231 บาทหลวง หลุยส์ (Luis de La Mère de Dieu) ถูกจับจากเมืองตะนาวศรี ส่งเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา พร้อมด้วยบาทหลวงเปเรซชาวโปรตุเกส บาทหลวงหสุยส์ได้ถึงแก่กรรมในเรือระหว่างการเดินทางมายังเมืองพระนครศรีอยุธยา ส่วนบาทหลวงเปเรซถูกคุมขังและได้รับจดหมายแต่งตั้งให้เป็นมุขนายกมิซซังจากนครวาติกัน ขณะนั้นพวกเข้ารีตฝรั่งเศสถูกห้ามมิให้ใช้โบสถ์เพื่อประกอบพิธีทางศาสนา[7] บาทหลวงฝรั่งเศสจึงขอให้หัวหน้าคณะ เยซูอิตชื่อบาทหลวงมัลโดนาดชาวโปรตุเกส เป็นผู้ทำพิธีฝังศพบาทหลวงหลุยส์ ซึ่งยังคงอยู่ในเรือ แต่ปรากฏว่าได้มีบาทหลวงเอศเตโว แห่งคณะโอกุศแตง (ออกัสติน) กับบาทหลวงซิลเวศก์ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะดูมินิกัน มาแย่งเอาศพของบาทหลวงหลุยส์ไปต่อหน้าบาทหลวงมัลโดนาด บาทหลวงมัลโดนาด และ ม.โปมา พยายามอธิบายเหตุผล ของตนให้ทราบ แต่บาทหลวงเอสเตโวและบาทหลวงซิลเวศก์กลับนำศพบาทหลวง หลุยส์ไปฝังไว้ยังโบสถ์ซานตูดูมินิกัน[8]โดยไม่ยอมฟังคำอธิบายหลักฐานข้างต้นนี้นอกจากจะบ่งชี้ให้เห็นถึงธรรมเนียมการฝังศพของบาทหลวงภายในหลุมฝังศพในโบสถ์แล้วยังสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลทางสังคมของชุมชนโปรตุเกสในขณะนั้นอีกด้วย

การตั้งศพไว้เพื่อประกอบพิธีทางศาสนาของชาวคาธอลิกในชุมชนโปรตุเกส โดยปกติอาจจะไม่ใช้เวลานานเกินไปนักทั้งนี้เนื่องจากระดับของวิทยาการด้านการรักษาสภาพของศพมิให้เน่าเหม็นยังอยู่ในขั้นต่ำ สภาพของศพที่ตั้งไว้นานเกินกว่า 1 วันขึ้นไป จึงอาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรือนำความกระอักกระอ่วนใจให้แก่ผู้ที่มาร่วมพิธี ถึงแม้ว่าอาจจะมีการรับเอาธรรมเนียมการรักษาสภาพศพจากชาวพื้นเมือง โดยการกรอกสารปรอทเข้าไปทำลายลำไส้ของผู้ตายให้ไหลออกมาทางทวารหนัก เพื่อจะได้ยืดเวลาการประกอบพิธีออกไปชั่วระยะหนึ่งจนกว่าจะมีความพร้อมในการฝังศพ จากหลักฐานของลาลูแบร์ซึ่งเข้ามากรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ.2230[9] ในกรณีที่ผู้ตายถึงแก่กรรมด้วยโรคไข้ทรพิษ ซึ่งระบาดระหว่างปี พ.ศ.2238-2239 นั้นไม่ถือเป็นอุปสรรคในการประกอบพิธีทางศาสนาให้แก่ผู้ตายเลย[10] ญาติพี่น้องอาจใช้ปูนขาวเทรองพื้นลงในหีบศพชั้นหนึ่งก่อนที่จะนำศพบรรจุ แล้วเทปูนขาวพอกทับศพอีกครั้งหนึ่งก่อนที่จะปิดฝาโลงทันที เพื่อป้องกันการระบาดของโรคดังกล่าว ปูนขาวมีคุณสมบัติที่ดีในการดับกลิ่นด้วย อุปสรรคที่ทำให้การประกอบพิธีทางศาสนาในการฝังศพของชาวคาธอลิกต้องกระทำอย่างคนนอกศาสนาเกิดจากเหตุการณ์ความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงระหว่างศาสนาพุทธกับรูปแบบในการสอนศาสนาของบาทหลวงคาธอลิกในสมัยพระเจ้าท้ายสระทำให้มีพระบรมราชโองการจารึกบนแผ่นหิน ห้ามมิให้บาทหลวงสอนศาสนาเป็นภาษาไทยและภาษาบาลีแก่ชาวไทย ลาว มอญ และห้ามมิให้ทำการใดๆ อันเป็นการดูหมิ่นศาสนาพุทธ เป็นเหตุให้การประกอบพิธีทางศาสนาให้แก่ชาวคริสตังพื้นเมืองต้องทำอย่างลับๆ แม้กระทั่งเมื่อตายแล้วก็ต้องฝังศพอย่างคนนอกศาสนาโดยไม่มีบาทหลวงไปประกอบพิธีให้ นอกจากการไปเสกหลุมฝังศพในตอนกลางคืนก่อนที่จะทำการฝังศพเท่านั้น[11] บทสวดมนต์ภาวนาและบทเพลงสวดที่ใช้ในพิธีปลงศพอาจใช้ทั้งภาษาละตินและภาษาไทยแม้จะไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน แต่หลักฐานคำแปลบทปาแตร์นอสแตร์กับบทอาแวเป็นภาษาไทยถ่ายทอดผ่านอักษรโรมัน ในบันทึกของลาลูแบร์เป็นสิ่งบ่งชี้ได้ดีว่าในสมัยอยุธยาตอนปลายมีการแปลบทสวดและบทเพลงสวดออกเป็นภาษาไทยแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียกพระแม่มาเรียว่า "ซานตา มาเรีย (Santa Maria)" นั้นเป็นคำที่ใช้ในภาษาโปรตุเกสนั่นเอง[12]
การอ้างอิง
[1] ประชุมพงศาวดาร เล่ม21, หน้า97-100.
* หมายถึงการสร้างข่าวลือไปในทางร้ายๆ
[2] ประชุมพงศาวดาร เล่ม21, หน้า 100-103.
[3] เรื่องเดียวกัน, หน้า100-103.
[4] ประชุมพงศาวดารเล่ม21, หน้า317-318.
[5] ศจ.นพ.สุด แสงวิเชียร, "รายงานเบื้องต้นของโครงกระดูกสมัยอยุธยาที่พบที่สุสานบ้านนักบุญเปโตร," ชาวโปรตุเกสในยุคกรุงศรีอยุธยา (กรมศิลปากรจัดพิมพ์ใน โครงการปรับปรุงหมู่บ้านโปรตุเกส จ.พระนครศรีอยุธยา , 2530), หน้า46-48.
[6] พิรักษ์ ชวนเกรียงไกร, "การฝังศพของชาวคาธอลิกที่หมู่บ้านโปรตุเกส," มติชนรายวัน (28 สิงหาคม 2527) :11.
[7] ประชุมพงศาวดารเล่ม21 , หน้า32-36.
[8] เรื่องเดียวกัน , หน้า34-35.
[9] ชิมอง เดอ ลาลูแบร์, เรื่องเดิม, หน้า 545-546.
[10] สัมภาษณ์บาทหลวงวิวัฒน์ แพร่ศิริ ที่สำนักมิสซังฯ , 15 กันยายน 2527 . อ้างจาก, อนุชา ศรีวัฒนสาร , เรื่องเดิม, หน้า87.
[11] สำนักสารสาส์น, ประวัติพระศาสนจักร, (พระนคร : ไทยหัตถการพิมพ์, 2510) , หน้า267
[12] ชิมอง เดอ ลาลูแบร์, เรื่องเดิม, หน้า130-132.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น