วันศุกร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

บทบาททางการค้าของชุมชนชาวโปรตุเกสในกรุงศรีอยุธยา

โดย
พิทยะ ศรีวัฒนสาร

ก่อนการเดินทางเข้ามาติดต่อกับกรุงศรีอยุธยาของชาวโปรตุเกสในต้นพุทธศตวรรษที่21 นั้น ลักษณะการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าของกรุงศรีอยุธยาแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ[1] คือ การค้าภายในซึ่งอาศัยวงจรการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากันที่ตลาด ทั้งนอกตัวเมืองและในตัวเมือง กับการขายระหว่างรัฐในกลุ่มชาวเอเชียด้วยกัน ได้แก่ พ่อค้าจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พ่อค้าจีน และพ่อค้าจากมหาสมุทรอินเดีย[2] การมีสถานภาพเป็นศูนย์กลางเครือข่ายเมืองท่าจำนวนมากทั้งในแถบทะเลจีนใต้และอ่าวเบงกอลทำให้สินค้าจากจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กระจายสู่ตลาดภายนอกโดยผ่านเมืองพระนครศรีอยุธยา ขณะเดียวกันสินค้าจากภายนอกก็กระจายเข้าสู่จีนและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้โดยผ่านราชธานีแห่งนี้เช่นกัน[3] โลริดู ชี้ว่า กรุงศรีอยุธยาเป็นทั้งรากเหง้าแห่งการเป็นรัฐแบบเอเชีย (Asian State System) และเป็นศูนย์กลางการค้าสำเภาระหว่างประเทศ (International junk trade) คุณค่าดังกล่าวถูกครอบงำโดยอิทธิพลของจีนก่อนหน้าที่ชาวยุโรปจะเดินทางเข้ามา ด้วยเหตุนี้จึงมีพ่อค้าแล่นเรือมายังกรุงศรีอยุธยา เพื่อซื้อขายและแลกเปลี่ยนสินค้าจากจีนและสินค้าพื้นเมืองกลับไป[4] ตูเม ปิรึช นักเดินทางชาวโปรตุเกสเคยรายงานไว้ว่า พ่อค้าต่างชาติในกรุงสยามส่วนใหญ่เป็นชาวจีน สินค้าที่นำมาจากจีนมักจะขายได้ราคาดีในสยาม[5] ในเรื่องพิกัดอัตราภาษีศุลกากรของการเดินเรือเข้าสู่กรุงศรีอยุธยานั้น ตูเม ปิรึช นักเดินทางชาวโปรตุเกสเคยบันทึกไว้ค่อนข้างชัดเจนเมื่อกลางพุทธศตวรรษที่ 21 ว่าการค้าขายในสยาม พ่อค้าต่างชาติต้องจ่ายภาษี 2 ส่วนใน 9 ส่วน ขณะที่พ่อค้าจีนจ่ายเพียง 2 ส่วนใน 12 ส่วน การส่งสินค้าออกต้องเสียภาษี 2 ส่วนใน 15 ส่วน และการค้าทั่วไปในสยามต้องเสียภาษี 2 ส่วนใน 10 ส่วนเสมอ[6] หากจะกล่าวอีกแง่หนึ่งก็คือพ่อค้าโปรตุเกสและพ่อค้าชาติอื่นๆ ต้องเสียภาษีสินค้านำเข้าและส่งออกในสยาม สูงกว่าพ่อค้าจีนโดยต้องเสียภาษี22.2 เปอร์เซ็นต์ ส่วนพ่อค้าจีนเสียภาษีเพียง 16.7 เปอร์เซ็นต์ สำหรับภาษีสินค้าทั่วๆไปต้องจ่ายภาษี20 เปอร์เซ็นต์ การเก็บภาษีถือเป็นรายได้เข้าสู่ท้องพระคลังอีกอย่างหนึ่งนอกเหนือไปจากการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้า การเก็บภาษีปากเรือสำหรับชาวต่างชาตินั้นมีอัตราไม่แน่นอน เรือจากเมืองที่มีพระราชไมตรีและเข้ามาค้าขายสม่ำเสมอจะถูกเก็บภาษีนำเข้าอัตราวาละ 10บาท ต่อเรือที่มีความกว้างปากเรือ 4 วาขึ้นไป สำหรับสินค้าที่พระมหากษัตริย์ต้องพระราชประสงค์ จะถูกเก็บแค่ภาษีปากเรือเท่านั้น[7]
ความสัมพันธ์ทางด้านการค้าระหว่างกรุงศรีอยุธยากับโปรตุเกสเริ่มขึ้นภายหลังจากอัลฟอลซู ดึ อัลบูแกร์กึ ส่งทูตเข้ามาติดต่อเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2054 ผลประโยชน์ที่โปรตุเกสจะได้รับคือการหารายได้เข้าสู่มะละกาและดึงดูดพ่อค้าจากสยาม มีเอกสารระบุว่าการติดต่อในปี พ.ศ.2055 นำไปสู่การที่โปรตุเกสได้เสนอความช่วยเหลือทางทหารและกิจการเดินเรือแก่สยาม การติดต่อกับโปรตุเกสในปี พ.ศ.2056 ทูตสยามได้เดินทางไปยังมะละกา ผลที่ตามมาก็คือทำให้มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการค้าที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยมะละกามีความมั่นใจในการจัดหาเสบียงอาหารได้อย่างเพียงพอจากสยาม[8]แต่ความสัมพันธ์เช่นนี้เกิดขึ้นในช่วงสั้นๆเท่านั้นเพราะหลังจากทางการโปรตุเกสแห่งมะละกาได้สถาปนาความสัมพันธ์กับอาณาจักรพม่าขึ้นในปีพ.ศ.2050 ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสยามกับโปรตุเกสอย่างเป็นทางการก็ลดน้อยลงเนื่องจากวิเทโศบายของทางการโปรตุเกสเปลี่ยนแปลงไป ทำให้การติดต่อทางการค้าระหว่างสยามกับทางการโปรตุเกสไม่ค่อยคึกคักเท่าที่ควร การค้าของโปรตุเกสในสยามจำแนกเป็นการค้าของทางการโปรตุเกสและการค้าของเอกชนชาวโปรตุเกส

การค้าของทางการโปรตุเกส
ทางการโปรตุเกสทราบว่า อาณาจักรสยามเป็นดินแดนที่อุดมไปด้วยกำยาน ไม้กฤษณา นอกจากนี้รายงานของดิอูกู ดึ ซึไกรา ในปี พ.ศ.2052 ก็ระบุว่าสยามมีเสบียงอาหารอุดมสมบูรณ์เช่นกัน ด้วยเหตุนี้คณะทูตของทางการโปรตุเกสซึ่งเดินทางเข้าสู่สยามในปี พ.ศ.2055-2056 จึงได้รับมอบหมายภารกิจให้ดำเนินการสำรวจสภาวะทางการค้าของสยามอย่างกว้างขวางด้วย ผลจากการสำรวจซึ่งนำโดยอันตอนิอู ดึ มิรันดา ดึ อาซึเวดู ได้ระบุว่า สยามได้นำเข้าสินค้าประเภท ชาด ผ้าขาว และผ้าดำ ผ้ากำมะหยี่ ผ้าไหมยกดอกเงิน ทอง และผ้าลินินจากกัมเบย์[9] หลังจากนั้นทางการโปรตุเกสจึงเริ่มทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการค้าของสยามมากยิ่งขึ้น มาเรีย ดา กงไซเซา ระบุว่า การค้าอย่างเป็นทางการระหว่างโปรตุเกสกับราชอาณาจักรสยาม เกิดจากการริเริ่มของอันตอนิอู ดึ มิรันดา ดึ อาซึเวดู เมื่อปี พ.ศ.2056 สมเด็จพระรามาธิบดีที่2 ทรงมีพระราชประสงค์จะสานพระราชไมตรีกับทางการโปรตุเกสให้มั่นคงยิ่งขึ้น พระองค์ได้พระราชทานเรือบรรทุกข้าวเปลือกส่งไปยังมะละกากับคณะทูตอาซึเวดูแต่ทางการโปรตุเกสที่มะละกาไม่สามารถจัดหาเรือสินค้าของตนส่งเข้ามายังสยามเป็นการตอบแทน กลับจัดเรือของผู้ปกครองพื้นเมืองส่งเข้ามาทำให้พลาดโอกาสในการพัฒนาความสัมพันธ์ทางการค้ากับสยามในโอกาสต่อมา และขณะที่ทางการโปรตุเกสได้ดำเนินการค้ากับสยามอย่างเป็นทางการนั้นในปี พ.ศ.2056 โปรตุเกสได้ติดต่อทางการค้ากับอาณาจักรพะโคพร้อมกันไปด้วย การค้าระหว่างทางการโปรตุเกสแห่งมะละกากับพะโคดำเนินไปด้วยดี เนื่องจากพะโคเป็นแหล่งผลิตข้าวรายใหญ่ นับตั้งแต่ตอนกลางถึงปลายพุทธศตวรรษที่21 มีหลักฐานกล่าวถึงการค้าอย่างเป็นทางการระหว่างสยามกับโปรตุเกสครั้งสำคัญๆเกิดขึ้นไม่กี่ครั้ง กล่าวคือในปีพ.ศ.2061-2062 แม้ว่าผู้ว่าการจอร์จึ ดึ บริตูจะส่งกำลังทหารเข้าโจมตีเคดะห์หรือไทรบุรีและปัตตานีซึ่งเป็นเมืองขึ้นของสยาม ทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายหยุดชะงักลงชั่วขณะ แต่การค้ายังคงดำเนินต่อไปภายใต้การสนับสนุนของกษัตริย์โปรตุเกสโดยผู้ว่าการมะละกาคนใหม่ชื่อ อลองซู ลอปึช ดา กอชตา ส่งเรือสินค้าเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา ในปี พ.ศ.2066 มะละกาประสบปัญหาขาดแคลนอาหาร ผู้ว่าการมะละกาคนใหม่ชื่อจอร์จึ ดึ อัลบูแกร์กึ จึงส่งเรือสำเภาสองลำเข้ามาซื้อเสบียงอาหาร การติดต่อค้าขายระหว่างทางการสยามกับโปรตุเกสทำให้สยามได้เปรียบเนื่องจากสามารถระบายสินค้าออกไปยังมะละกาได้อย่างต่อเนื่อง สยามจึงพยายามรักษาความสัมพันธ์กับโปรตุเกสเอาไว้ ขณะที่ทางการโปรตุเกสกลับมุ่งแสวงหาผลกำไรทางการค้าเครื่องเทศในหมู่เกาะบันดาและหมู่เกาะโมลุกกะ ดังนั้นหลังปี พ.ศ.2067 จึงไม่ปรากฏหลักฐานซึ่งกล่าวถึงการค้าอย่างเป็นทางการระหว่างราชสำนักสยามกับโปรตุเกสอีกเลย[10] ครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่21 ทางการโปรตุเกสแห่งมะละกาได้หันมาปรองดองกับปัตตานีและไทรบุรีเพราะหลังจากโปรตุเกสยึดครองมะละกา ปัตตานีและไทรบุรีได้กลายเป็นชุมทางการค้าระหว่างจีนกับอินเดีย เนื่องจากพ่อค้าชาติต่างๆได้หันไปค้าขายกับเมืองทั้งสองแทน ทางการโปรตุเกสจึงต้องเข้าไปรวบรวมสินค้าของจีน อาทิ ผ้าไหม เครื่องถ้วยจีน และพริกไทที่ปัตตานีและไทรบุรี ซึ่งทำให้ทุ่นค่าใช้จ่ายมากกว่าการค้ากับสยามโดยตรงในช่วงนี้ทางการโปรตุเกสก็ได้เพิ่มระดับความสัมพันธ์ทางการค้ากับราชสำนักพะโคมากยิ่งขึ้น เนื่องจากพะโคสามารถจัดหาข้าวให้แก่มะละกาได้อย่างเพียงพอ มาเรีย ดา กงไซเซา ฟลูรึช จึงระบุว่า พะโคเป็นพันธมิตรสำคัญของทางการโปรตุเกส โดยในปี พ.ศ.2070 ทางการโปรตุเกสและราชสำนักพะโคได้แลกเปลี่ยนทูตและทำสัญญาทางการค้ากัน ผลที่ตามมาก็คือทางการโปรตุเกสแห่งมะละกาได้บ่อนทำลายผลประโยชน์ทางการค้าตามเมืองท่าชายฝั่งทะเลของสยาม อาทิ มะริด และตะนาวศรี เนื่องจากแทนที่เรือจากกัมเบย์จะเข้าไปเทียบท่าที่มะละกา กลับไปจอดที่ตะนาวศรีแทน ทำให้ทางการโปรตุเกสไม่พอใจสยาม หลังจากพะโคถูกพม่ายึดครองไปในระหว่างปีพ.ศ.2073-2082 และสยามถูกพม่ายึดครองไปในปี พ.ศ.2112 ทางการโปรตุเกสก็มิได้แสดงนโยบายทางการค้าต่อสยามให้เห็นเด่นชัด กลับหันไปพัฒนาความสัมพันธ์กับพม่าให้ดียิ่งขึ้น ครั้นสยามกู้เอกราชได้ในปีพ.ศ.2127และพม่าปราชัยต่อสยามในสงครามยุทธหัตถีปี พ.ศ.2135 แต่ทางการโปรตุเกสก็มิได้เปลี่ยนแปลงวิเทโศบายดังกล่าว ในปี พ.ศ.2139-2141 สมเด็จพระนเรศวรทรงเริ่มสถาปนาความสัมพันธ์กับทางการโปรตุเกสแห่งมะละกาใหม่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งมิได้ทำให้การค้าอย่างเป็นทางการพัฒนาเลย หลังจากชาวยุโรปชาติอื่นเดินทางเข้ามาในเอเชียจึงทำให้ทางการโปรตุเกสต้องหันมาสถาปนาความสัมพันธ์กับสยามขึ้นใหม่ แต่การค้าอย่างเป็นทางการก็มิได้ดีขึ้นเท่าที่ควร[11]
การค้าของเอกชนชาวโปรตุเกส
มาเรีย ดา กงไซเซา ฟลูรึช ชี้ว่าบรรดาเอกชนที่ค้าขายกับสยาม เป็นกลุ่มคนที่สนใจประกอบการค้าเพื่อยกฐานะทางการเงินของตน การที่โปรตุเกสมิได้ส่งเสริมการค้าอย่างเป็นทางการกับสยามเท่าที่ควรทำให้พ่อค้าเอกชนชาวโปรตุเกสได้รับสิทธิพิเศษจากทางการสยาม ในระยะแรกสิทธิของชาวโปรตุเกสในการออกไปค้าขายยังรัฐต่างๆของเอเชียมิได้เกิดขึ้นง่ายนัก เนื่องจากการค้าทั้งหมดในเอเชีย เป็นความชอบธรรมของราชสำนักโปรตุเกส แต่เมื่อ ลูบู ซูอารึช ดึ อัลบรึกาเรีย (Lobo Soares de Albregaria) ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการรัฐโปรตุเกสแห่งอินเดียแทนอัลฟองซู ดึ อัลบูแกร์กึแล้ว ทางการโปรตุเกสแห่งอินเดียก็เริ่มผ่อนผันให้เอกชนโปรตุเกสเข้ามามีบทบาททางการค้ามากยิ่งขึ้น โดยให้สิทธิพิเศษและสัมประทานการค้าแก่เอกชน พ่อค้าเอกชนคนแรกที่เข้ามาค้าขายในเมืองพระนครศรีอยุธยาคือ ดูอาร์ตึ คูเอลยู (Duarte Coelho) คูเอลยู เป็นพ่อค้าชาวโปรตุเกสที่เดินทางเข้ามาร่วมกับคณะของ อันตอนิอู ดึ มิรันดา ดึ อาซึเวดู เมื่อปี พ.ศ.2055 เขาได้ศึกษาสภาวะการค้าในสยามอยู่นานถึงสามเดือน ต่อมาในปี พ.ศ.2059 คูเอลยูได้เดินทางเข้ามารวบรวมสินค้าพื้นเมืองเพื่อบรรทุกไปขายยังเมืองกวางตุ้ง และในปี พ.ศ.2061 เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นทูตจากมะละกาข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับสยาม เพื่อปรับความเข้าใจอันดีต่อกันหลังจากทางการโปรตุเกสแห่งมะละกาได้โจมตีไทรบุรีเมื่อปีพ.ศ.2060 คูเอลยูได้ใช้เวลารวบรวมสินค้าที่เมืองพระนครศรีอยุธยาอยู่นานถึงหนึ่งปี ก่อนจะเดินทางออกจากสยามในปี พ.ศ.2062[4] หลักฐานของบราซ ดึ อัลบูแกร์กึ (Braz de Albuquerque) ระบุว่าการเดินทางในปี พ.ศ.2059 ของคูเอลยู นอกจากจะเข้ามาในนามพ่อค้าแล้วเขายังได้รับแต่งตั้งให้เป็นทูตผู้มีอำนาจเต็มจากมะละกาเพื่อทำสัญญาทางพระราชไมตรีระหว่างสยามกับโปรตุเกส ข้อความในสัญญาได้ระบุถึงการแลกเปลี่ยนสิทธิพิเศษและข้อตกลงทางการค้าการยินยอมให้ชาวโปรตุเกสสามารถตั้งหลักแหล่งและโรงสินค้าได้ใน อยุธยา มะริด ตะนาวศรี ปัตตานี และนครศรีธรรมราช ส่วนโปรตุเกสจะจัดหาอาวุธขายให้แก่ทางการสยาม สัญญาดังกล่าวอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้มีพ่อค้าเอกชนชาวโปรตุเกสเดินทางเข้ามาค้าขายในเมืองพระนครศรีอยุธยาดังปรากฏหลักฐานถึงความพยายามของพ่อค้าเอาชนชาวโปรตุเกสผู้หนึ่งคือ อังเดร ดึ บริตู (Hendré de Brito) ซึ่งได้รับอนุญาตให้ค้าขายกับสยาม เขาเดินทางมารวบรวมสินค้าในเมืองพระนครศรีอยุธยาเมื่อปี พ.ศ. 2066 พร้อมด้วยพ่อค้าเอกชนอื่นๆนับสิบคน แต่เนื่องด้วยไม่เคยมีเส้นสายโยงใยทางไมตรีกับเจ้าหน้าที่พระคลังหลวงของสยามดังเช่นคูเอลยู ทำให้เขาต้องจ่ายเงินซื้อสินค้าราคาแพงกว่าปกติ และไม่สามารถนำสินค้าออกจากเมืองพระนครศรีอยุธยาได้ พ่อค้าผู้นี้ได้รับความช่วยเหลือจากคูเอลยูในการเจรจากับเจ้าหน้าที่ฝ่ายสยามแต่การดำเนินธุรกิจของเขาก็ไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากเรือสินค้าอับปางที่ชายฝั่งของเมืองปะหังเสียก่อน[5]

การที่กษัตริย์โปรตุเกสไม่สนใจที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์ด้านการค้ากับสยามตั้งแต่ครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่21 ทำให้ผู้ว่าการโปรตุเกสแห่งมะละกาจำเป็นต้องขายสิทธิการเดินเรือค้าขายเส้นทาง สยาม - มะละกา ให้แก่พ่อค้าเอกชน พ่อค้าเอกชนที่ได้รับสิทธิเดินทางไปค้าขายยังภูเก็ต ตะนาวศรี และเมืองพระนครศรีอยุธยาจะต้องจ่ายเงินรายละสองร้อยครูซาดูช เพื่อซื้อสิทธิในการประกอบการค้าดังกล่าว[6] นับตั้งแต่ต้นพุทธศตวรรษที่22 กษัตริย์โปรตุเกสทรงพระราชทานสิทธิการเดินเรือค้าขายในภูเก็ต ตะนาวศรี และพระนครศรีอยุธยาให้แก่เจ้าหน้าที่ของทางการแทนเงินเดือนของพวกเขาตามปกติ ผู้ได้สัมปทานสามารถขายสิทธิทางการค้าให้แก่ผู้อื่นได้[7]

รายชื่อผู้ได้รับสัมปทานสิทธิทางการค้าในตะนาวศรี ภูเก็ต พระนครศรีอยุธยา และ ญี่ปุ่น
เจ้าของสัมประทาน ปีที่ได้รับสิทธิ(พ.ศ.) ท่าเรือ จำนวนครั้ง

แฟร์นันดู กงซาลวึช กาวิเยา พ.ศ.2107 เมืองท่า ตะนาวศรี 2 ครั้ง
กาสปาร์ เก. ดึ วาชกงเซลลูช พ.ศ. 2112 เมืองท่า ตะนาวศรี 2 ครั้ง
ดูอาร์ตึ มาชาดู พ.ศ. 2122 เมืองท่า ตะนาวศรี 2 ครั้ง
เจรูนิมู ดึ ลิมา พ.ศ. 2124 เมืองท่า ตะนาวศรี 2 ครั้ง
กาชปาร์ เอ็ม. ดึ อเรายู พ.ศ. 2126 เมืองท่า ตะนาวศรี 2 ครั้ง
มานูเอล เอ็ม. วิไดรา พ.ศ. 2126 เมืองท่า ภูเก็ต 2 ครั้ง
ดิโอกู เป. ติเบา พ.ศ. 2128 เมือง พระนครศรีอยุธยา 2 ครั้ง
อันตอนิอู เอส. ดึ อเรายู พ.ศ. 2128 เมืองท่า ตะนาวศรี 1 ครั้ง
ลูอิช บอร์ชึช พ.ศ. 2128 เมือง พระนครศรีอยุธยา 3 ครั้ง
ฟรานซิชกู ฟรังกู 2129 เมืองท่าตะนาวศรี 2 ครั้ง
อันตอนิอู ริไบรู พ.ศ.2130 เมือง พระนครศรีอยุธยา 3 ครั้ง
เปดรู อัลวึช พ.ศ.2132 เมือง พระนครศรีอยุธยาและญี่ปุ่น 3 ครั้ง
โลเรนซู เอฟ. กรามาซู พศ.2133 เมืองท่าตะนาวศรี 2 ครั้ง
อันตอนิอู ดา โกวอา พ.ศ. 2135 ภูเก็ต 4 ครั้ง
อันตอนิอู เบ. ดึ มาชาดู พ.ศ. 2136 ตะนาวศรี 2 ครั้ง
(ที่มา : มาเรีย ดา กงไซเซา ฟลูรึช , "ชาวโปรตุเกสในสยามเมื่อคริสตศตวรรษที่16" แปลโดย มธุรส ศุภผล )

สัมปทานของการเดินทางไปภูเก็ตและตะนาวศรีครอบคลุมไปถึงบริเวณชายฝั่งโคโรมันเดลอันเป็นแหล่งผลิตผ้าซึ่งเป็นสินค้าเข้าสำคัญของสยาม ดังนั้นพ่อค้าที่เดินทางจากเมืองท่าชายฝั่งโคโรมันเดลจึงสนใจสัมปทานการเดินเรือมาค้าขายยังภูเก็ต ตะนาวศรีและสยาม การเดินทางมาสยามทำให้มะละกาสามารถค้าขายกับญี่ปุ่นได้ด้วย เส้นทาง กัว มาเก๊าและญี่ปุ่นจึงสัมพันธ์กับเส้นทางสยาม กลางพุทธศตวรรษที่22 มีการระงับการออกสัมปทานสิทธิการค้าในสยามแก่พ่อค้าเอกชนชั่วคราว พ่อค้าของทางการเท่านั้นจึงจะมีสิทธิเข้ามาค้าขายในสยามได้ การค้าช่วงนี้ต้องแข่งขันกับพ่อค้าชาวฮอลันดาซึ่งเดินทางเข้ามาแทรกแซงกิจการค้าของโปรตุเกสในเอเชีย[8] การค้าของโปรตุเกสเริ่มตกต่ำลงหลังจากถูกขับออกจากญี่ปุ่นในปี พ.ศ.2182 ทำให้ต้องหันมาค้ากับสยามมากขึ้น

นอกจากการค้าที่ได้รับอนุญาตจากทางการของพ่อค้าเอกชนแล้ว ยังมีชาวโปรตุเกสลอบค้าขายแข่งขันกับพ่อค้าที่ได้รับสัมประทานจากทางการด้วย พ่อค้าเถื่อนเหล่านี้เคยเป็นเจ้าหน้าที่ของทางการโปรตุเกสซึ่งได้รับค่าจ้างไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ การลักลอบค้าขายดังกล่าวทำให้ทางการโปรตุเกสขาดรายได้จากภาษีและค่าสัมปทาน และขาดแคลนกำลังคนในการรักษาความมั่นคงของอาณานิคม นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2059 พ่อค้าเอกชนจำนวนมากได้เข้าไปตั้งถิ่นฐานและค้าขายในสยาม โดยอาศัยยุทธศาสตร์เส้นทางการค้าระหว่างสยามกับเบงกอล เป็นแหล่งนำเข้าและส่งออกสินค้า ตลอดเส้นทาง สยาม-เบงกอล มีเมืองท่าเครือข่ายที่สร้างความคึกคักให้แก่การค้าของเอกชนโปรตุเกสคือ เนียปาต์ซ (Nyapatz) เซา โตเม ดึ เมเลียปอร์ จิตตะกอง สัตตคาม (Satigão) ตะนาวศรี มะริด ทวาย เมาะตะมะ และภูเก็ต การค้าของเอกชนทำให้เครือข่ายการค้าระหว่างพะโคและมะละกากับสยามสามารถเชื่อมโยงกันและสามารถสนองตอบความต้องการสินค้าในสยามได้เป็นอย่างดีเพราะโคโรมันเดลและเบงกอล เป็นแหล่งผลิตผ้าฝ้ายขนาดใหญ่ซึ่งเป็นที่ต้องการของสยาม ขณะเดียวกันเมืองท่าชายฝั่งตะวันตกของสยามก็ต้องการชาด ทองแดง เครื่องเทศ น้ำดอกกุหลาบ และผ้ากำมะหยี่ เป็นต้น พ่อค้าเอกชนโปรตุเกสสามารถรวบรวมสินค้าประเภทกำยาน ไม้จันทร์ ดีบุก ไหม เสบียงอาหาร ขี้ผึ้ง อัญมณี และสินค้าจีน ได้อย่างเพียงพอ การตกเป็นประเทศราชของพม่าในปี พ.ศ.2112 ทำให้พ่อค้าเอกชนโปรตุเกสจำนวนหนึ่งเดินทางออกไป เนื่องจากไม่สามารถรวบรวมสินค้าได้ แต่เมื่อสยามฟื้นฟูอาณาจักรของตนได้ในปี พ.ศ.2127 กษัตริย์สยามได้เปิดโอกาสให้พ่อค้าเอกชนเดินทางเข้ามาอีกครั้ง เพื่อผลประโยชน์ทางด้านการค้าและการได้รับความร่วมมือทางการทหารจากพ่อค้าเอกชนเหล่านี้ อันเป็นสิ่งที่สยามไม่เคยได้รับจากทางการโปรตุเกสเลย[9] ทั้งนี้มีสาเหตุมาจากทางการโปรตุเกสแห่งอินเดียไม่ให้ความสนใจต่อการติดต่อกับสยามและมักจะดำเนินนโยบายเอนเอียงไปทางฝ่ายพม่า โดยทางการโปรตุเกสมักแสดงความปรารถนาที่จะช่วยพม่ารบกับสยามเสมอ มีเพียงปี พ.ศ.2141 เท่านั้น เมื่อฝ่ายพม่า (พะโค) ถูกกษัตริย์อาระกันและเจ้าชายแห่งตองอูรุกราน ทางการโปรตุเกสแห่งกัวมิได้มีพันธะทางทหารกับพะโค จนกระทั่งถึงรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม สยามจึงตระหนักถึงการขาดความจริงใจของโปรตุเกส พระองค์จึงทรงตัดสินพระทัยพัฒนาความสัมพันธ์กับฮอลันดาขึ้นมาแทน[10]

รูปแบบและความเคลื่อนไหวทางการค้าของชุมชนชาวโปรตุเกส
ลาลูแบร์ทูตฝรั่งเศสซึ่งเดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ.2228 อธิบายว่าการค้าขายทั้งภายในและภายนอกกรุงศรีอยุธยาอยู่ภายใต้การดำเนินการควบคุมดูแลของพระคลัง (Praclang) หรือที่เรียกตามสำเนียงโปรตุเกสว่า "บาระคะลัง - Barcalon"[11] อันเป็นลักษณะเด่นของการผูกขาดทางการค้าโดยราชสำนักอยุธยา สภาวะดังกล่าว ทำให้เกิดการแข่งขันช่วงชิงความได้เปรียบทางการค้าในหมู่พ่อค้าชาติต่างๆ พฤติกรรมในการเจรจาทางการค้าที่ต้องปกปิดไว้เป็นความลับระหว่างขุนนางสยามกับพ่อค้าฮอลันดา[12] การฉวยโอกาสทำสัญญาผูกขาดการค้าสินค้าบางประเภทและสัญญาทางการค้าที่ครอบคลุมเอกสิทธิ์บางอย่างที่มีลักษณะคล้ายกับการเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตระหว่างฮอลันดากับสยาม[13] การก่อกวนฝ่ายตรงข้ามเพื่อมิให้ได้รับความสะดวกในการรวบรวมสินค้า[14] รวมทั้งความพยายามในการมอบของกำนัลแก่ขุนนางสยามทุกครั้งที่มีการติดต่อทางการค้า[15] เป็นต้น กระบวนการและกลยุทธทั้งหลายนี้ ทำให้ครั้งหนึ่งพ่อค้าอังกฤษเคยพลาดโอกาสในการซื้อรังนกนางแอ่นราคาหาบละ 45 เหรียญ จากขุนนางสยาม เมื่อพ่อค้าชาวโปรตุเกสเข้าไปเสนอราคาตัดหน้าสูงถึงหาบละ 60-65 เหรียญ[16] นอกจากเรื่องการผูกขาดทางการค้าของราชสำนักสยามแล้ว การดำเนินธุรกิจการค้าทางเรือในสยามยังมีลักษณะการร่วมทุนระหว่างขุนนางสยามกับพ่อค้าเอกชนด้วย ตูเม ปิรึช ชี้ว่า การค้าสำเภาโดยพ่อค้าต่างชาติร่วมหุ้นกับขุนนางสยามจากมะละกาไปยังกรุงศรีอยุธยาได้ให้ผลกำไรถึงร้อยละห้าสิบ ขณะที่การบรรทุกสินค้ากลับจากสยามไปยังมะละกา สามารถทำกำไรให้แก่หุ้นส่วนได้ถึงร้อยเปอร์เซ็นต์[17]

ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่21 ถึงกลางพุทธศตวรรษที่22 ไม่พบหลักฐานเกี่ยวกับการกู้หนี้ยืมสินจากราชสำนักสยามของพ่อค้าโปรตุเกสมาก่อน ถึงกระนั้นการได้รับความช่วยเหลือในรูปของเงินกู้และสินค้าประเภทต่างๆจากสมเด็จพระนารายณ์ใน

ปีพ.ศ.2203* อาจถูกมองว่าเป็นสิ่งที่บ่งชี้ให้เห็นถึง"ความเสื่อมทางการค้าของโปรตุเกส" แต่แท้ที่จริงแล้วการกู้ยืมเงินจากกษัตริย์สยามหรือการตกเป็นลูกหนี้ของราชสำนักสยาม น่าจะเป็นธรรมเนียมพิเศษทางการค้าที่ได้รับการปฏิบัติสืบทอดกันมา เมื่อพ่อค้าต่างชาติประสบสภาวะขาดสภาพคล่องทางการเงิน ดังได้พบว่าในปี พ.ศ.2205 โธมัส โคทส์ ตัวแทนพ่อค้าอังกฤษประจำกรุงศรีอยุธยา ได้เขียนถึงประธานและสภาที่ปรึกษาแห่งสุรัต ลงวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2205 ว่าเขาจำเป็นต้องกราบทูลขอยืมเงินจากสมเด็จพระนารายณ์เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่ได้รับมากำลังจะหมดลง[18] ปัญหาการขาดเงินของโธมัส โคทส์ เกิดขึ้นเพราะไม่มีเรืออังกฤษเดินทางเข้ามาค้าขายกับกรุงศรีอยุธยาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เรือ โฮป เวลล์ (Hope Well) ของอังกฤษเดินทางเข้ามาเมื่อต้นปี พ.ศ. 2205 ดังปรากฏในรายงานของข้าหลวงใหญ่ฮอลันดาที่ปัตตาเวีย เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2205[19] ระยะหลังประมาณปี พ.ศ.2209 พ่อค้าอังกฤษยังต้องเผชิญหน้ากับปัญหาการซื้อสินค้าเงินเชื่อจากลูกค้าบางส่วนที่เป็นทั้งชาวโปรตุเกสในกรุงศรีอยุธยาและลูกค้าชาวสยาม ตามหลักฐานบันทึกของ เคาน์ซิล แห่งป้อมเซนต์ ยอร์จ ลงวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2212 ต่อมาในปี พ.ศ.2218 หลักฐานฝ่ายอังกฤษยังระบุว่า พระเจ้ากรุงสยามได้พระราชทานเงินกู้ยืมจำนวนหนึ่งแก่พ่อค้าอังกฤษเพื่อใช้ในกิจการรวบรวมซื้อสินค้าส่งออก[20]

ทางด้านฮอลันดาปัญหาการขาดเงินสดในปี พ.ศ.2160 ก็ทำให้พวกเขาต้องปล่อยให้สินค้าสำคัญจำนวนหนึ่งตกไปถึงมือของพ่อค้าโปรตุเกส พ่อค้ามัวร์ และพ่อค้ามะลายู เพราะว่าแม้พวกเขาจะมีเงินญี่ปุ่นอยู่ในมือ แต่พ่อค้าจีนก็ไม่ยอมรับ ทำให้ต้องแก้ปัญหาด้วยการนำเงินที่ขอยืมมาจากนางพญาปัตตานีไปซื้อไหมดิบ น้ำตาล ของดอง และเครื่องถ้วยจีน รวมเป็นเงิน 700 เหรียญ[21] เหตุการณ์ดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาหนี้สินและการกู้ยืมเงิน เป็นองค์ประกอบสำคัญของกระบวนการค้าสำเภานานาชาติในเมืองพระนครศรีอยุธยามิได้เกิดขึ้นเพราะความล้มเหลวทางการค้า หรือความเสื่อมถอยของอิทธิพลทางทะเลเป็นกรณีพิเศษ หากแต่เป็นธรรมเนียมในการแก้ปัญหาทางการค้าบนพื้นฐานแห่งความสัมพันธ์อันดีรวมทั้งความเชื่อถือและความไว้วางใจต่อเกียรติยศและศักดิ์ศรีของคู่ค้า การกู้เงินจากราชสำนักสยามของทางการโปรตุเกสแห่งเมืองมาเก๊าก็อยู่ในบริบทดังกล่าว มีข้อน่าสังเกตอีกประการหนึ่งว่า เมื่อใดที่พ่อค้าอังกฤษและพ่อค้าฮอลันดาขาดเงินสดในมือ พวกเขาจะถูกพ่อค้าโปรตุเกสและพ่อค้าชาวมุสลิมช่วงชิงผลประโยชน์ทางการค้าไปทันที ทั้งๆที่พ่อค้าโปรตุเกสเองก็เป็นลูกค้าเงินเชื่อของพ่อค้าอังกฤษอยู่ แสดงให้เห็นว่าตลาดการค้าทางเรือสำเภาในสยามนั้น พ่อค้าโปรตุเกสเป็นคนอีกกลุ่มที่ยังคงมีบทบาทในเมืองพระนครศรีอยุธยาไม่น้อยไปกว่าพ่อค้าจีนและพ่อค้าชาวมุสลิม

หลักฐานจดบันทึกการเดินทางของตูเม ปิรึช (The Suma Oriental of Tome Pires) ซึ่งเขียนระหว่างปี พ.ศ. 2055-2058 ระบุว่าโปรตุเกสได้เข้าไปติดต่อกับเมืองท่าต่างๆ เมืองท่าทางฝั่งตะวันตกได้แก่ ตะนาวศรี ภูเก็ต (Juncalom) ตรัง และเคดะห์ (Kedah) เป็นต้น ส่วนเมืองท่าทางฝั่งตะวันออกที่โปรตุเกสเข้ามาติดต่อได้แก่ปะหัง ตรังกานู กลันตัน ปัตตานี นครศรีธรรมราช Martara Calnansey Bamcha Cotinuo เพชรบุรีและPamgoray[22] หลักฐานของตูเม ปิรึชให้ความสำคัญแก่เมืองในทะเลอันดามันมากสอดคล้องกับงานเขียนของมาเรีย ดา กงไซเซา ฟลูรึช เพราะะเขากล่าวถึงตะนาวศรีว่าเป็นเมืองท่าที่อยู่ใกล้กับพะโคและเมาะตะมะ ปิรึชกล่าวว่ากรุงศรีอยุธยาได้ค้าขายกับปาเซ เปดีร์ เคดะห์ พะโค เบงกอลและพ่อค้าจากกุชราต[23] สินค้าออกสำคัญของตะนาวศรีและมะริดคือสินค้าพื้นเมือง กรุงศรีอยุธยาส่งเรือออกจากมะริดและตะนาวศรีพร้อมด้วยสินค้าสำคัญคือไม้สวาด ทองคำ งาช้าง ทับทิม แหวนเพชร ผ้าทอราคาถูกจากสยาม ตะกั่ว ดีบุก เงิน ทองแดงหลอมเป็นก้อน หลักฐานของบาร์โบซาระบุว่าสินค้าสำคัญของตะนาวศรีคือกำยานพันธุ์ดี[24] เมืองท่าทางฝั่งตะวันตกในพระราชอาณาเขตของกรุงศรีอยุธยาที่ปิรึชกล่าวถึงอีกเมืองหนึ่งคือ เคดะห์ (ไทรบุรี) ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ใน ปกครองของประเทศสยาม สินค้าสำคัญคือพริกไทยจำนวนมากที่ส่งผ่านสยามไปยังจีน เรือต่างๆที่แล่นในทะเลอันดามัน มักจะเข้าไปค้าขายกับเคดะห์ด้วย ชาวเคดะห์เดินทางไปยังอาณาเขตของสยามโดยทางบกด้วยการเดินทางเพียง 3-4 วัน ส่วนการค้าขายกับกรุงศรีอยุธยานั้นใช้วิธีการส่งเรือบรรทุกสินค้าเข้าไป

ดึ กัมปุช มีความเห็นแตกต่างไปจากมาเรีย ดา กงไซเซา ฟลูรึช เขาเห็นว่าในช่วงปี พ.ศ.2083-2103 การค้าระหว่างกรุงศรีอยุธยาและโปรตุเกสขยายตัวมากยิ่งขึ้น เรือสำเภาของชาวโปรตุเกสได้บรรทุกสินค้าจำพวกข้าว ดีบุก งาช้าง กำยาน คราม (indigo) ครั่ง ไม้สัก ไม้ฝาง ออกจากกรุงศรีอยุธยาเพื่อส่งไปยังนครศรีธรรมราช (Ligor) ปัตตานี และมะละกา สินค้าดังกล่าวอาจจะถูกขนโดยทางบกไปตะนาวศรีและมะริด แล้วนำข้ามไปยังชายฝั่งมัทราส และเบงกอล ซึ่งเป็นอาณานิคมของโปรตุเกสทางด้านตะวันออกของอินเดีย[25] การขนสินค้าข้ามคอคอดกระนั้น สินค้าจะถูกนำไปโดยกองคาราวานทางบกจากปรานบุรีหรือกุยบุรี ทางตะวันตกของอ่าวสยามไปยังตะนาวศรี จากนั้นจึงถูกถ่ายลงเรือเล็กไปยังมะริด จากมะริดสินค้าจะถูกถ่ายลงเรือสินค้าของพ่อค้าชาวอินเดีย อาหรับ และเรือของพ่อค้ายุโรปในที่สุดเพื่อส่งไปยังตลาดในอินเดียและยุโรป[26] ลาร์รี สแตร์นเซน เชื่อว่าการที่โปรตุเกสรีบตั้งมั่นที่มะละกาเนื่องจากต้องการจะแย่งชิงผลประโยชน์ทางการค้าของการส่งสินค้าทางบกผ่านเส้นทางคอคอดกระ-ตะนาวศรี ซึ่งเป็นเส้นทางการขนส่งสินค้าที่ค่อนข้างพลุกพล่านในต้นพุทธศตวรรษที่21[27]

ในพระราชอาณาเขตกรุงศรีอยุธยานั้น ชุมชนพ่อค้าขนาดเล็กจำนวนหนึ่งได้ถูกก่อตั้งขึ้นตามเมืองชายฝั่งทะเลของสยามทั้งสองด้าน ได้แก่ ปัตตานี นครศรีธรรมราช ตะนาวศรี โลริดู อธิบายแตกต่างออกไป เขากล่าวว่าระบบการเดินเรือค้าขายของพ่อค้าโปรตุเกสมีทั้งดำเนินการด้วยทุนของตนเองโดยได้รับทุนอุดหนุนจากรัฐบาลประมาณสามพันเหรียญ บางรายก็ดำเนินการด้วยการกู้ยืมทุนประกอบการจากแหล่งเงินต่างๆ และบางรายก็ดำเนินการโดยใช้วิธีผสมผสานกันระหว่างแบบแรกกับแบบที่สอง[28] ในปี พ.ศ.2144 หลักฐานของสเปนกล่าวถึงการค้าระหว่างสยาม มาเก๊า-จีน ว่า เส้นทางดังกล่าวมีการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากันในปริมาณสูง เรือสินค้าของพ่อค้าจีนและโปรตุเกสจากมาเก๊าและมะละกา รวมทั้งพ่อค้ามุสลิมจากปัตตานีและบรูไน ได้นำสินค้าต่างๆเข้าไปยังกรุงศรีอยุธยา[29] และในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่21 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่22 ก่อนการเข้ามาของฮอลันดา โปรตุเกสมีมะละกาและมาเก๊าเป็นเครือข่ายเมืองท่าที่ทำให้สามารถดำรงอิทธิพลทางการค้าในกรุงศรีอยุธยาได้เป็นอันมาก หลักฐานของฮอลันดาระบุถึงความโปรดปรานที่โปรตุเกสได้รับจากกษัตริย์สยาม[30] อิทธิพลของโปรตุเกสในกรุงศรีอยุธยาลดลงไปเมื่อฮอลันดาและอังกฤษเดินทางเข้ามา แต่กระนั้นการค้าระหว่างสยามกับอาณานิคมของโปรตุเกสแห่งมาเก๊าก็ยังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่ขาดระยะ โดยทางการโปรตุเกส (แห่งมาเก๊า) ก็ยังคงดำเนินการค้ากับโคชินไชน่า ควบคู่กันไปด้วย เนื่องจากถือว่าโคชินไชนาเป็นยุทธศาสตร์ทางการค้าสำคัญของมาเก๊าในการมุ่งสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดีย[31] อย่างไรก็ตามการถูกกดดันจากเรือรบของชาวฮอลันดา ทำให้อาณานิคมของโปรตุเกสแห่งมาเก๊าพลาดโอกาสทางการค้าในย่านนี้ไปอย่างน่าเสียดาย ทำให้สภาซึนาตึแห่งมาเก๊าเสนอลดปริมาณการค้าในแถบนี้ให้เล็กลง แต่ก็มิได้ทำให้สภาวะทางเศรษฐกิจของมาเก๊าในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่22 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่23 ดีขึ้นแต่อย่างใด ในช่วงเวลาประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ 21-22 พ่อค้าโปรตุเกสและสเปน จำเป็นต้องพึ่งพาสยาม เนื่องจากในการเดินทางไปค้าขายกับจีนนั้น พ่อค้าทั้งสองชาติจำเป็นต้องอาศัยหนังสือเดินทางของมาเลย์หรือสยาม เพื่อให้ทางการจีนอนุญาตให้ค้า ขายได้อย่างเป็นทางการที่เมืองกวางตุ้งมิฉะนั้นก็อาจต้องลักลอบค้าขายกับขุนนางจีน (ก่อนปี พ.ศ.2110) เนื่องจากจีนจะค้าขายกับประเทศที่ส่งเครื่องราชบรรณาการไปถวายจักรพรรดิเท่านั้น จึงเป็นการยากที่โปรตุเกสจะเข้าไปค้าขายกับจีนได้โดยตรง ดังนั้นพ่อค้าโปรตุเกสจึงมิได้ค้าขายกับจีนในฐานะของชาวโปรตุเกสหรือพ่อค้าฝรั่ง หากแต่ค้าขายกับจีนในนามของพ่อค้าชาวสยามหรือมาเลย์ ต่อมาในปี พ.ศ.2097 ลึอูเนล ดึ โชซา (Leonel de Sousa) จึงเป็นพ่อค้าชาวโปรตุเกสคนแรก ที่ได้รับอนุญาตให้ค้าขายกับทางการจีนได้อย่างถูกต้อง และต้องจ่ายภาษี 20% เท่ากับพ่อค้าชาวสยาม ทำให้พ่อค้าสเปนเรียกร้องต่อทางการจีนเพื่อขอสิทธิในการค้าเช่นเดียวกับพ่อค้าโปรตุเกส

สภาพการค้าขายระหว่างกรุงศรีอยุธยากับพ่อค้าชาติต่างๆเริ่มมีปัญหาในตอนปลายพุทธศตวรรษที่ 22 โดยฮอลันดามิได้รับความสะดวกในการขนถ่ายสินค้าอันเกิดจากความลำเอียงในการปฏิบัติต่อชาวฮอลันดาของขุนนางชั้นสูงชาวสยามซึ่งมีความโปรดปรานต่อชาวโปรตุเกสมากกว่า บันทึกของฮอลันดา เมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ.2185ระบุถึงอุปสรรคความล่าช้าในการขนถ่ายสินค้า ซึ่งได้รับจากออกญาพระคลัง ผู้มีจิตใจเอนเอียงไปทางชาวโปรตุเกส แต่การได้รับความช่วยเหลือจากขุนนางตำแหน่งเจ้าท่า วิลันดา (หลวงเทพภักดี แห่งกรมท่าซ้าย) และบรรดาล่ามทำให้การขนถ่ายสินค้ากินเวลาน้อยลงกว่าที่ควรจะเป็น[32] ปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้พ่อค้าฮอลันดาเกรงว่าจะถูกหน่วงเหนี่ยวอย่างไร้ประโยชน์ด้วยวิธีการต่างๆ อย่างไม่สิ้นสุด[33] การที่ออกญาพระคลังโปรดปรานชาวโปรตุเกสในกรุงศรีอยุธยามากถึงกับแสดงออกด้วยการหน่วงเหนี่ยวการดำเนินการ รวบรวมขนถ่ายสินค้าลงเรือของพ่อค้าฮอลันดาเป็นเรื่องแปลก ทั้งๆที่หลักฐานของฮอลันดาชิ้นหนึ่งได้ระบุถึงถึงความรังเกียจประชาคมต่างชาติโดยเฉพาะชาวโปรตุเกสในกรุงศรีอยุธยาจากทางการสยาม กล่าวคือบันทึกของฮอลันดาระบุว่า ต้นปี พ.ศ.2177 สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงวางแผนให้ชาวญี่ปุ่นที่พำนักในกรุงศรีอยุธยาเดินทางไปสมทบกับกองทัพสยามที่นครศรีธรรมราชเพื่อรบกับปัตตานี เบื้องหลังของเหตุการณ์ครั้งนี้นายโยส เซาเตนได้ทราบมาจากบรรดาพ่อค้าคนสำคัญๆหลายคนว่าสมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงตั้งพระทัยที่จะให้บ้านเมืองปราศจากชาวญี่ปุ่น ชาวโปรตุเกส เมชติซูและชาวต่างชาติอื่นๆ[34]

ก่อนหน้านั้นในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม สงครามระหว่างสยามกับอังวะในปี พ.ศ.2158[35] ทำให้พ่อค้าอังกฤษขายสินค้าได้ไม่ถึงครึ่งของสินค้าที่นำมา แต่กลับมีสินค้าส่งออกค้างอยู่เต็มโกดัง การประชุมของพ่อค้าอังกฤษที่กรุงศรีอยุธยาชี้ว่า สินค้าที่ชาวบ้านนำมาขายให้พ่อค้าอังกฤษในราคาถูกมากคือไม้เนื้อหอม Lummra คนโทน้ำ กะลัมพัก ว่านยา บอระเพ็ด สมุนไพรอื่น และสินค้าที่ไม่รู้จัก[36] ถึงกระนั้นเมื่อเกิดสภาวะสงครามขึ้น แม้สินค้าต่างๆจะถูกกว้านซื้อมาได้ในราคาถูก แต่พ่อค้าก็ไม่สามารถระบายสินค้าของตนออกไปได้มากเยี่ยงสภาวะปกติ สิ่งที่เกิดขึ้นกับพ่อค้าอังกฤษจึงสะท้อนให้เห็นสภาพที่อาจเกิดข้นกับสถานะทางการค้าของชุมชนค่ายโปรตุเกสในกรุงศรีอยุธยาด้วยเช่นกัน ต้นรัชสมัยของพระเจ้าทรงธรรมสถานการณ์ในสยามค่อนข้างวุ่นวาย หลักฐานของพ่อค้าอังกฤษชิ้นหนึ่งระบุว่า เมื่อสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมเสด็จขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ.2153 พระองค์ต้องทำสงครามกับประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้กรุงศรีอยุธยาไม่อยู่ในสภาพที่ปลอดภัย พ่อค้าผู้นี้รายงานว่า

" เราต้องเสี่ยงภัยอยู่ไม่น้อยที่จะพักอาศัยอยู่ ณ ที่นั้นอีกต่อไป เกี่ยวกับการค้าของเราขณะนี้ก็ไม่มีอะไรมาก ความสงบนั้นมีขึ้นเพียงชั่วครั้งคราว เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกำชัยชนะเหนืออีกฝ่ายหนึ่ง เข้าใจว่าอีกไม่ช้าการค้าก็คงจะดีขึ้นอย่างเดิมอีกแน่นอน"[37]

บันทึกของฮอลันดา พ.ศ. 2206 ระบุว่าการค้าของ VOC.ในกรุงศรีอยุธยาเริ่มมีอุปสรรค เนื่องจากการผูกขาดทางการค้าของระบบพระคลังสินค้าสยามและตัวแทนทางการค้าของพระเจ้ากรุงสยามและพนักงานพระคลังสินค้าต้องการทำการค้าขายกับประเทศญี่ปุ่นด้วยตนเอง[38] ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังจากการยกทัพไปตีเมืองเหนือ 2 ครั้งที่แล้ว ทำให้พระเจ้ากรุงสยามเกือบจะไม่มีพระราชทรัพย์เหลืออยู่ จึงทรงดำเนินยุทธวิธีทางการค้าเพื่อกอบกู้ฐานะพระราชทรัพย์ พนักงานพระคลังสินค้าได้บังคับซื้อสินค้าทุกชนิดจากประชาชนเพื่อจะได้ขายสินค้าให้แก่พ่อค้าต่างชาติเสียเอง ทำให้พ่อค้าเอกชน พ่อค้าโปรตุเกส พ่อค้าจีนและมอญในสยาม ไม่สามารถทำธุรกิจค้าส่งหนังกวาง หรือ หนังวัว ให้กับพ่อค้าฮอลันดาได้ พ่อค้าฮอลันดา แทบจะถูกบังคับให้รับซื้อหนังสัตว์จาก "มือของตัวแทน" พระคลังสินค้า โดยตรงเลยทีเดียว[39] มีการตั้งด่านภาษีขึ้นสี่แห่งในลำน้ำและตัวแทนพระคลังสินค้าพยายามขายหนังสัตว์ทั้งหมดที่รวบรวมได้แก่พ่อค้าฮอลันดาแต่ได้รับการปฏิเสธจากพ่อค้าฮอลันดา ในช่วงนี้ตัวแทนของพระคลังสินค้าสยามยังผูกขาดหรือมีเอกสิทธิ์การค้าข้าว ไม้สัก น้ำมันมะพร้าว ยางรัก กำยาน และผลิตผลอื่นๆ ซึ่ง VOC. เกี่ยวข้องด้วย[40] พ่อค้าฮอลันดาในกรุงศรีอยุธยาได้ร้องเรียนทางการว่าออกญาพิชิต (Oyapiehyt) ชาวแขกมัวร์เป็นต้นเหตุที่ทำให้ VOC. เสียหาย จากการผูกขาดทางการค้า เมื่อพระเจ้ากรุงสยามทรงทราบจึงสั่งจำคุกออกญาพิชิต เนื่องจากผลการกระทำของเขาทำให้พ่อค้าจีน พ่อค้าโปรตุเกสจากมาเก๊า และพ่อค้าจากมะนิลาไม่เข้ามาค้าขายในกรุงศรีอยุธยา เมื่อหัวหน้าพ่อค้าฮอลันดาถวายรายงานถึงปัญหาการผูกขาดสินค้าให้ทรงทราบและขออนุญาตค้าขายโดยเสรีก็ทรงโปรดให้รื้อด่านภาษีหลายด่านริมฝั่งแม่น้ำและทรงเปิดให้พ่อค้าทั้งหลายค้าขายกับพ่อค้าฮอลันดาได้[41]รายงานของยอร์ช ไวท์ (พ.ศ.2221) ระบุว่า สมเด็จพระนารายณ์ทรงผูกขาดการค้าไม้ฝางจากราษฎร โดยทรงรับซื้อหาบละ 2 สลึงเฟื้อง แล้วขายต่อหาบละ 6 สลึง ในปี พ.ศ.2220 เกิดการขาดแคลนไม้ฝาง จึงทรงขายหาบละ 2 บาท[42] บรรดาสินค้าประเภทเขาสัตว์ อาทิ เขากระบือ เขาโค เขาเนื้อ และเขากวางถูกส่งมาจากเมืองเหนือเป็นจำนวนมาก พวกฮอลันดา ได้กว้านซื้อหมดเนื่องจากได้รับสิทธิผูกขาดแต่เพียงผู้เดียว[43] การส่งเรือไปค้าขายญี่ปุ่น กึงตั๋ง เอ้หมึง และมะนิลานั้น ทางการสยามได้ให้ชาวจีนจัดการทั้งในเมืองนี้และเมืองอื่นๆ ออกญาศรีพิพัฒน์เป็นพนักงานใหญ่ เรือสำเภาในอยุธยาเป็นของจีนทั้งสิ้น เว้นแต่ 2 หรือ 3 ลำเท่านั้นที่เป็นของพ่อค้าชาติอื่น เรือสำเภาที่ไปค้าขายที่ญี่ปุ่น จะเดินทางออกไปในเดือนมิถุนายน กลับเดือนมกราคม สินค้าที่ส่งออกไปมีฝาง น้ำตาล เซรูน ส่วนงาช้าง และเขาสัตว์ พวกจีนก็สามารถส่งออก แข่งกับฮอลันดาได้บ้าง สินค้าพวกผ้าก็ถูกส่งไปยังสุรัตและคอโรมันเดล เช่นกัน ขากลับจากสุรัตและคอโรมันเดลก็จะขนสินค้ายุโรปนานาชนิดกลับมา แล้วส่งไปขายต่อในญี่ปุ่นอีกครั้งหนึ่ง ส่วนสินค้าที่นำเข้ามาจากญี่ปุ่นนั้นคือ โกแปง ทองคำ ทองแดง และถ้วยชาม[44]

การส่งเรือไปติดต่อกับมะนิลาของสเปน อาจจำเป็นต้องใช้เจ้าหน้าที่ชาว โปรตุเกสเดินทางไปด้วย หลักฐานชิ้นหนึ่งของพ่อค้าอังกฤษชื่อ เอ็ดมัน เซเยอร์ ระบุว่าระหว่างการเดินทางจากฟิรันโด (ในประเทศญี่ปุ่น) มายังกรุงศรีอยุธยาโดยเรือซีแอดเวนเจอร์ของอังกฤษ ในปี พ.ศ.2158 เขาเล่าว่าเขาได้ขึ้นไปหาหัวหน้าพ่อค้าชาวโปรตุเกส หัวหน้าพ่อค้าชาวโปรตุเกสได้สัญญาว่าจะขายหนังสัตว์ให้แก่พ่อค้าอังกฤษ จำนวน 2,000 แผ่น กับไม้อีก 1,000 หาบ* ตามราคาท้องตลาดขณะนั้น[45] หลักฐานชิ้นนี้อาจบ่งชี้ว่า ก่อนการเข้ามาของพ่อค้าฮอลันดาและอังกฤษนั้น กลุ่มพ่อค้าชาวโปรตุเกสในเมืองพระนครศรีอยุธยาอาจมีบทบาทส่วนหนึ่ง ในการรับซื้อหนังสัตว์ และไม้แดงจากชาวพื้นเมืองเป็นเวลานาน สินค้าทั้งสองอย่างเป็นสินค้าออกที่สำคัญของสยาม มูลค่าของหนังสัตว์และไม้แดงอาจทำให้ชุมชนโปรตุเกส มีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่าชาวต่างชาติอื่นๆในสยาม

รายงานการค้าของ ยอร์ช ไวท์ เมื่อประมาณปี พ.ศ.2221[46] กล่าวถึงสินค้าต่างๆที่กรมพระคลังสินค้าทางการสยามดำเนินการผูกขาดโดยห้ามมิให้พ่อค้าต่างชาติอื่นๆ ซื้อขายโดยตรงจากราษฎรคือ เนื้อไม้หอม หมาก ดีบุก ฝาง ช้าง เกลือสินเธาว์ ตะกั่ว และงาช้าง หากพ่อค้าต่างชาติต้องการซื้อนำลงเรือออกไปจากเมืองพระนครศรีอยุธยาก็จะต้องซื้อจากกรมพระคลังสินค้าสยามห้ามมิให้ซื้อสินค้าเหล่านี้จากผู้อื่นอย่างเด็ดขาด[47] แต่สินค้าที่อยู่นอกเหนือรายการผูกขาดของพระคลังสินค้า คือเหล็ก น้ำตาล ไม้ซุง เกลือ น้ำมันมะพร้าว เซรูน และเขาสัตว์[48] ด้วยเหตุนี้ หากพ่อค้าโปรตุเกสต้องการสินค้าประเภทเนื้อไม้หอม หมาก ดีบุก ฝาง ช้าง เกลือสินเธาว์ ตะกั่ว และงาช้าง พวกเขาจะต้องติดต่อค้าขายกับกรมพระคลังสินค้าสยามโดยตรง การค้าสำคัญในเมืองพระนครศรี อยุธยาซึ่งพ่อค้าโปรตุเกสให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่งคือการค้าหมาก หมากพลูเป็นของขบเคี้ยวที่ชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ชอบเคี้ยว เพื่อทำให้ฟันและริมฝีปากแดง นอกจากหมากและพลูจะมีคุณสมบัติป้องกันโรคเหงือกและทำให้ปากมีอนามัยแล้ว ยังมีสรรพคุณเป็นเครื่องกระตุ้นทางกามารมณ์ด้วย รายงานของตุรแปง กล่าวว่าหญิงชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งหญิงสาวชาวโปรตุเกสซึ่งฝักใฝ่ทางด้านดังกล่าวจะใช้เล่ห์เหลี่ยมเกลี้ยกล่อมให้ชาวต่างประเทศกินหมากเพื่อวัตถุประสงค์เร้นลับ ในราชสำนักสยามพระเจ้าแผ่นดินจะพระราชทานหีบหมากทอง หรือหีบเงินแก่ข้าราชการตามลำดับชั้น เมื่อข้าราชการถึงแก่กรรมลง หีบหมากจะถูกส่งกลับคืนไปยังท้องพระคลัง[49] จากความสัมพันธ์ดังกล่าวนี้เองจึงสะท้อนให้เห็นในรายงานของ ยอร์ช ไวท์ ว่า เมืองนนทบุรี และปากน้ำใกล้เมืองบางกอก เป็นแหล่งปลูกหมากที่สำคัญที่สุดของสยาม สวนเหล่านี้ให้ผลผลิตถึงปีละประมาณ 25,000 หาบ เจ้าของสวนหมากถูกบังคับอย่างเข้มงวดให้ขายหมากแก่กรมพระคลังสินค้าในราคาหาบละ 6 สลึง พ่อค้าโปรตุเกสแห่งเมืองมาเก๊าและพ่อค้าจีนแห่งเมืองกึงตั๋งรับซื้อหมากต่อจากกรมพระคลังสินค้าในราคาหาบละ 1 ตำลึง (4 บาท) พ่อค้าโปรตุเกสและพ่อค้าจีนจะเดินเรือเข้ามารับซื้อหมากเป็นสินค้าสำคัญลงเรือปีละ 5-6 ลำ[50] ยอร์ช ไวท์ รายงานว่ามีชาวสยามทำการค้าหมากบ้างเช่นกัน แต่คงจะไม่ใช่พ่อค้าใหญ่อย่างชาวโปรตุเกสและชาวจีน ฝางซึ่งเป็นสินค้าต้องห้ามผูกขาดของกรมพระคลังสินค้า ยอร์ช ไวท์ ระบุว่า พ่อค้าต่างชาติรับซื้อฝางจากพระคลังสินค้าในราคาเฉลี่ยหาบละ 6 สลึง ยกเว้นในปี พ.ศ.2220 ราคาฝางมีราคาสูงถึงหาบละ 2 บาท พ่อค้าจะส่งฝางไปขายยังญี่ปุ่นและจีน[51] สินค้าฝางนี้อาจเกี่ยวข้องกับพ่อค้าโปรตุเกสอยู่บ้าง มีหลักฐานว่าแต่ละปีจะมีเรือของโปรตุเกสแห่งอาณานิคมที่มาเก๊า เดินทางไปค้าขายที่ญี่ปุ่นเสมอ[52] เหล็กเป็นสินค้าอีกประเภทหนึ่งซึ่งมีพ่อค้ารับซื้อลงเรือไปขายยังเมืองมะนิลา ราคาเหล็กในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ซื้อขายในอัตราหาบละ 6-7 บาทต่อหาบ เมืองมะนิลาเป็นศูนย์กลางอาณานิคมของสเปนตั้งแต่ปี พ.ศ.2107[53] และในระหว่างที่โปรตุเกสถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสเปน เรือโปรตุเกสสามารถเดินทางเข้าออกค้าขายกับมะนิลาได้โดยเสรี ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เส้นทางการเดินเรือสำคัญเส้นหนึ่งของโปรตุเกส คือมะนิลา มาเก๊า และอยุธยา[54] ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่า เหล็กเป็นสินค้าอีกประเภทหนึ่งที่พ่อค้าโปรตุเกสอาจให้ความสนใจ หลักฐานคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรมได้กล่าวถึงเส้นทางการค้าและแหล่งสินค้าประเภทน้ำตาลบางส่วนที่ขายกันในกรุงศรีอยุธยา ถูกนำมาจากทางเมืองเหนือเช่นกัน[55]นอกจากพ่อค้าจากพิษณุโลกจะส่งน้ำตาลเข้ามาแล้ว ปรากฏว่ามีพ่อค้าจีนและแขกจามก็มีน้ำตาลเข้ามาขายด้วย [56] รายงานทางการค้าของพ่อค้าบริษัทฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ.2228 ระบุว่าน้ำตาลเป็นสินค้าส่วนหนึ่งซึ่งน่าจะกว้านซื้อมาจากมะนิลา[57] และจีน[58] น้ำตาลเหล่านี้บางส่วนอาจถูกส่งย้อนกลับมายังกรุงศรีอยุธยา เพื่อตอบสนองความต้องการของชาวเมืองอยุธยาและชาวต่างชาติในเมืองนี้ รายงานของ ยอร์ช ไวท์ ยืนยันว่ามีการส่งออกน้ำตาลซึ่งผลิตจากพิษณุโลก กำแพงเพชร และสุโขทัย ไปขายยังญี่ปุ่น และมะละกาทุกๆปี ปีละมากๆ ราคาน้ำตาลนั้นขายกันหาบละ 2 บาท 3 สลึง[59] การที่น้ำตาลส่วนหนึ่งมีเส้นทางจากเมืองเหนือ (พิษณุโลก กำแพงเพชร สุโขทัย) ปักษ์ใต้ และมะนิลา มายังกรุงศรีอยุธยา แล้วส่งออกไปยังญี่ปุ่น และมะละกา ปีละมากๆ อาจสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์เชิงการบริโภคน้ำตาลของชุมชนชาวโปรตุเกสในเมืองพระนครศรีอยุธยาและมะละกา เนื่องด้วยชุมชนดังกล่าวนี้มีการถ่ายทอดเอกลักษณ์โดดเด่นในการบริโภคขนมหวานอย่างต่อเนื่อง

สินค้าจากเมืองกึงตั๋งและมาเก๊าที่เข้ามายังสยาม ประกอบด้วยไหมดิบและแพรไหม ปรอท ทองขาว* ถ้วยชาม ทองแดงแท่งและเครื่องใช้ที่ทำจากเหล็กประเภทต่างๆ เช่น กะทะเหล็ก หลักฐานของ ยอร์ช ไวท์ ชี้ให้เห็นว่า พ่อค้าโปรตุเกสน่าจะมีส่วนแบ่งทางการตลาดกับพ่อค้าจีนอยู่บ้าง เมื่อไหมดิบถูกนำเข้ามายังเมืองพระนครศรีอยุธยาก็จะมีพ่อค้าจีนและพระคลังสินค้ารับซื้อต่อไป โดยปกติไหมดิบจะมีราคาหาบละ 500 บาท แต่เมื่อถูกนำเข้ามามากเกินความต้องการราคาตกลงไปเป็นหาบละ 450 บาท[60] ก่อนจะถูกส่งไปขายยังญี่ปุ่นพร้อมๆกับแพรหนังไก่ แพรต่วน แพรดอก และแพรหลิน ส่วนทองแดงแท่งนั้นได้ปรากฏหลักฐานอย่างชัดเจนถึงการเป็นพ่อค้าขายทองแดงรายใหญ่ของพ่อค้าโปรตุเกสในเมืองพระนครศรีอยุธยา ยอร์ช ไวท์ รายงานว่า สินค้าที่พ่อค้าจีนเมืองกึงตั๋งและพ่อค้าจากเมืองมาเก๊า รวบรวมลงเรือได้แก่ กฤษณาจากติมอร์ พริกไท การบูร และผ้าต่างๆ[61]

แม้พ่อค้าโปรตุเกสอาจจะไม่มีบทบาทเด่นทางการค้าในสยามเท่าที่ควร เมื่อเปรียบเทียบกับพ่อค้าชาติอื่น แต่หมู่บ้านโปรตุเกสอาจคึกคึกมาจนถึงสมัยอยุธยาตอนปลาย เนื่องจากคนในชุมชนมีมากจึงเป็นตลาดสำคัญ หลักฐานคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรมกล่าวว่าบริเวณหน้าบ้านโปรตุเกสนั้นมีตลาดและท่าเรือ ซึ่งเรียกรวมกันว่า "ตลาดท่าเรือจ้างวัดนางชี น่าบ้านโปรตุเกต" [62] เมื่อตรวจสอบจากแผนที่เมืองพระนครศรีอยุธยาประมาณสมัยรัชกาลที่3 แล้วพบว่าวัดนางชีอยู่นอกกำแพงพระนคร ศรีอยุธยาริมฝั่งแม่น้ำตรงข้ามกับปากคลองประตูหอรัตนไชย (ทางใต้ของวังจันทรเกษม) นอกจากนี้ยังได้พบว่ามีการระบุท่าวิลันดาอยู่ตรงข้ามกับท่าน้ำวังหน้าด้วย การที่หลักฐานฝ่ายไทยระบุตำแหน่งบ้านโปรตุเกสว่าอยู่ฝั่งตรงข้ามกับวังจันทร์เกษมเช่นนี้น่าจะเป็นที่ตั้งของห้างโปรตุเกสสำหรับค้าขายสินค้าที่นำเข้ามาจำหน่ายและเป็นสถานที่จัดรวบรวมซื้อสินค้าของป่าจากเมืองเหนือและอีสาน เพื่อรอส่งออกไปขายยังที่ต่างๆ ห้างแห่งนี้อาจจะเป็นห้างที่พ่อค้าโปรตุเกสได้ซื้อหรือเช่าเอาไว้ ดังปรากฏหลักฐานในเอกสารคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรมกล่าวถึงจุดทอดสมอของบรรดาพ่อค้าชาติต่างที่เดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาดังนี้

" ครั้นถึงระดูลมสำเภาพัดเข้ามาในกรุง เป็นมรสุมเทศกาล พวกลูกค้าพานิชแขกสุรัต แขกชวามาลายู แขกเทศฝรั่งเศส ฝรั่งโลสงโปรตุเกศ วิลันดา อิศปันยอน อังคฤษ และฝรั่งดำ ฝรั่งเมืองลังกุนี แขกเกาะ เป็นพ่อค้าพานิช คุมสำเภาสลุป กำปั่น แล่นเข้ามาทอดสมออยู่ท้ายคู (ท้ายคลองตะเคียน) ขนสินค้าขึ้นมาไว้บนตึกห้างในกำแพงพระนครกรุงศรีอยุทธยา ตามที่ของตน ซื้อแลเช่าต่างๆกัน เปิดร้านห้างตึกขายของตามเพศตามภาษา"[63]

สินค้าอีกประเภทหนึ่งที่พ่อค้าโปรตุเกสรับซื้อไว้ตามหลักฐานคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม คือ ไหแบบพะเนียงมีหู หรือไหมีหูสำหรับบรรจุครามและปูนขาว[64] นอกจากนี้หลักฐานจดหมายติดต่อกันระหว่างกลอรี่ (Glory) ถึงก๊าด (Gad) พ่อค้าฮอลันดาในกรุงศรีอยุธยาเมื่อ 26 กันยายน พ.ศ.2151 ระบุว่าพวกเขาได้ขายผ้าขนแกะลายสองจำนวน 2 ผืนให้แก่ชาวโปรตุเกสคนหนึ่งในราคาขาดทุนด้วยความจำเป็น เนื่องจากได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการห้าง[65] ทำให้แลเห็นภาพการเป็นพ่อค้าภายในที่คอยรับซื้อสินค้าจากพ่อค้ายุโรป ก่อนที่จะนำไปขายอีกต่อหนึ่งของพ่อค้าโปรตุเกสในเมืองพระนครศรีอยุธยา การที่พ่อค้าฮอลันดาขายผ้าขนแกะให้แก่ชาวโปรตุเกสไปในราคาที่ขาดทุนตามคำสั่งของผู้อำนวยการห้าง อาจจะมีสาเหตุมาจากผ้าขนแกะทั้งสองผืนเป็นผ้าเนื้อหยาบและพ่อค้าฮอลันดาได้ตรวจจนแน่ใจว่ามิใช่ผ้าที่ชาวฮอลันดาทำขึ้น ดังปรากฏหลักฐานจากบันทึกของพ่อค้าฮอลันดาเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ.2151 ระบุว่าเหตุที่เขาต้องขายผ้าขนแกะออกไป เพราะมิใช่สินค้าของฮอลันดาแท้ๆ[66] แต่เหตุผลที่ชัดเจนที่สุดตามบันทึกของพ่อค้าฮอลันดา ลงวันที่13 ธันวาคม พ.ศ.2151 ก็คือความขัดแย้งของพ่อค้าฮอลันดาด้วยกันที่เป็นสาเหตุที่ทำให้ต้องขายสินค้าตัดราคาต่ำกว่าทุน[67]

ในเมืองพระนครศรีอยุธยาพ่อค้าโปรตุเกสจากนครศรีธรรมราชและตะนาวศรีรวมทั้งชาวเอเชียหลายชาติ ได้ค้าขายสินค้าผ้าลินินและผ้าม่านให้แก่ทางการและชาวเมือง สินค้าดังกล่าวพ่อค้าฮอลันดาก็มีเช่นกัน พ่อค้าอังกฤษได้ขายผ้าแก่สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมเป็นจำนวนถึงครึ่งหนึ่งของสินค้าที่เก็บเอาไว้ หลักฐานฮอลันดาระบุว่า แทนที่พ่อค้าชาวเอเชียและโปรตุเกสจะได้รับอนุญาตให้นำผ้าของตนไปให้คนกลางหรือพนักงานพระคลังสินค้าดู สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมกลับส่งบรรดาเจ้าหน้าที่บางคนออกไปซื้อผ้าในพระนามของพระองค์ และ ออกญาพิศมะกา (Oÿjefismakau) การค้าขายกันเองระหว่างพ่อค้าชาติต่างๆในกรุงศรีอยุธยาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติของกระบวนการค้า หลักฐานของฮอลันดาระบุว่า หัวหน้าพ่อค้าฮอลันดาเคยออกไปติดต่อซื้อผ้าของพ่อค้าอังกฤษบ้างเช่นกัน การที่พ่อค้าอังกฤษตีราคาผ้าสูงกว่าท้องตลาดถึง 2 เท่า ทำให้สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมไม่ทรงรับซื้อ พ่อค้าอังกฤษจึงขายสินค้าแทบไม่ได้เลย นอกจากจะขายสินค้าบางอย่างให้พระเจ้าแผ่นดินและออกญาพระคลัง[68] หลักฐานฮอลันดาลงวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2156 ระบุว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ในเวลาต่อมาพ่อค้าอังกฤษได้ขายผ้าลินินในราคาที่ถูกลงมา[69]

จดหมายของแมร์เทน เฮาท์แมน หัวหน้าพ่อค้าฮอลันดา ลงวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2156 ระบุว่าสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมทรงรับรองว่าจะไม่อนุญาตให้พ่อค้าอังกฤษ ฝรั่งเศส หรือโปรตุเกสค้าขายที่สงขลาได้นานเหมือนพ่อค้าฮอลันดา[70] ปัจจัยดังกล่าวอาจทำให้การค้าที่สงขลาไม่คึกคักเท่าที่ควร เมื่อเปรียบเทียบกับเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งจะมีเรือสำเภาจีนจอดทอดสมอค้าขายอยู่หลายลำ รวมถึงเรือของพ่อค้าโปรตุเกส มัวร์ และมลายู

บันทึกของฮอลันดาในปี พ.ศ. 2183-2184 รายงานสภาพการค้าของโปรตุเกสในกรุงศรีอยุธยาว่ามีสภาพตกต่ำ มิหนำซ้ำในเดือนกุมภาพันธ์ของปี พ.ศ.2182 กลุ่มพ่อค้าโปรตุเกสจากนาคาปัตตนัม (Negapatam) ก็ถูกดักชิงเงินและปล้นฆ่าใกล้บางกอก คนร้ายซึ่งนำโดยออกหมื่นถูกจับขึ้นศาล พ่อค้าโปรตุเกสที่เหลือได้รับเงินคืนจำนวนหนึ่ง และได้เดินทางต่อไปยังตะนาวศรี เพื่อหาค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมก่อนกลับไปยังนาคาปัตตนัม[71] ชาวโปรตุเกสกลุ่มนี้เป็นพ่อค้าส่วนหนึ่งที่เข้ามาค้าขายในกรุงศรีอยุธยา สินค้าที่พวกเขานำออกไปคือ ของมีค่าจำพวกเพชร ทองคำ พลอย และผ้าไหมปัก[72]นอกจากนี้พ่อค้าโปรตุเกสยังขายของได้เพียง 2-3 ชนิด ขณะที่สินค้าที่เรียกว่า "Spiautor" และ "Radixchina" ของพวกเขาขายได้ในราคาที่ต่ำมากจนไม่ได้กำไรเลย บันทึกของฮอลันดาระบุว่าพ่อค้าโปรตุเกสไม่สามารถนำผ้าปักไหมออกขายที่กรุงศรีอยุธยาได้ เหตุผลดังกล่าวทำให้พ่อค้าโปรตุเกสตั้งใจจะออกเดินทางไปยังมะนิลา หลักฐานฮอลันดาระบุว่า ทั้งๆที่ได้รับพระราชทานพระราชสาส์นและของบรรณาการหลายอย่างจากสมเด็จพระเจ้าปราสาททองเพื่อตอบแทนแก่บรรดากัปตันโปรตุเกสแห่งมาเก๊าแล้ว พวกพ่อค้าโปรตุเกสได้คุยโอ้อวดว่า พวกเขาได้รับพระราชทานพระราชสาส์นจากพระเจ้ากรุงสยามเพื่อนำไปมอบแก่ผู้สำเร็จราชการและผู้ปกครองแห่งมะนิลา โดยผ่านออกญาพระคลังซึ่งจิตใจฝักใฝ่ต่อการคบหาชาวโปรตุเกส พระราชสาส์นดังกล่าวนี้ สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงขอให้พวกโปรตุเกสเดินทางเข้ามาค้าขายในประเทศสยามอีก ผู้เป็นทูตนำพระราชสาส์นไปยังมะนิลาอย่างเป็นทางการคือทูตมาเก๊าชื่อ ฟรานซิชกู ดาจินาร์ อีวันเจลิอู(Francisco Daginaer Evangelio)และบาทหลวงเปดรู ด'อาจินาซึ(Pedro d'Aginase) ซึ่งพำนักอยู่ในกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่ปี พ.ศ.2182[73]
ในปี พ.ศ.2228 ม.เวเร่ต์ พ่อค้าผรั่งเศสเสนอว่าให้บริษัทอินเดียตะวันออก ส่งสินค้าแบบเดียวกับที่จะส่งไปขายที่เมืองจีนไปยังมาเก๊า สินค้าเหล่านี้ได้แก่หมากทุกชนิด ผ้าแพรสีดำสำหรับตัดกางเกง ซึ่งผู้ชายชาวโปรตุเกสชอบมาก นอกจากนี้ก็มีผ้าลูกไม้โปร่งถักด้วยไหมทอง ไหมเงินและไหมธรรมดา ถุงเท้าแพร รองเท้าชายหญิง สินค้าอื่นๆได้แก่ ดาบ กระบี่ ปืนเล็ก ปืนนกสับ ศิลาสำหรับปืน สุราต่างๆ บรั่นดีบรรจุขวด[74] สินค้าข้างต้นบ่งชี้ให้เห็นรสนิยมของชาวโปรตุเกสที่อยู่ในมาเก๊าว่ามีรสนิยมเป็นอย่างไร และอาจแสดงให้เห็นรสนิยมของชาวโปรตุเกสในสยามได้ด้วย

นอกจากภาพสะท้อนจากการบริโภคของชาวโปรตุเกสในมาเก๊าแล้ว หลักฐานจดหมายของ คอร์เนลิส ฟอนนิวรูท หัวหน้าพ่อค้าฮอลันดา ในกรุงศรีอยุธยา ลงวันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2160 ถึงสำนักงานบริษัท VOC.แห่งอัมสาเตอร์ดัม กล่าวถึงสินค้าที่ชาวโปรตุเกสต้องการว่าเขาต้องการผ้าแพรพรรณสำหรับมาขายในสยาม และขอให้บริษัทส่งกระจกส่องหน้าจำนวนหนึ่งไปยังสำนักงานที่กรุงศรีอยุธยา ซึ่งจะทำให้สามารถทำกำไรได้เป็นอย่างดีเพราะทั้งสยาม ล้านช้าง และเชียงใหม่ ต้องการกระจกมาก นอกจากนี้ยังจะสามารถขายกระจกให้แก่แขกมัวร์ โปรตุเกส และชาติอื่นๆ ได้ด้วย[75]

ปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ สภาพเศรษฐกิจในกรุงศรีอยุธยาค่อนข้างร่วงโรย เห็นได้ชัดว่าการวางแผนทางการค้าในสยามตามที่มีแนวทางเป็นขั้นตอนมอบหมายให้ ม.เวเร่ต์ปฏิบัตินั้น พ่อค้าฝรั่งเศสเห็นว่าเกือบจะไม่มีผลประโยชน์เพราะความตกต่ำทางเศรษฐกิจของสยามทำให้คนในสยามแทบจะไม่มีเงินอยู่ในมือเลย

" จะหาคนที่มีเงินถึง 50 เหรียญเกือบจะไม่ได้แล้ว จริงอยู่ก่อนหน้านี้เคยมีจีนและแขกมัวร์ ซึ่งเป็นคนมั่งมี และมีอำนาจจำนวนมาก แต่ในสองปีมานี้ไทยได้กดขี่ข่มเหงต่างๆ และได้ทำการขัดขวางต่อการค้าขายของพวกนี้ จนพวกจีนและแขกมัวร์เหล่านี้ต้องกลับไปหมด ยังเหลือแต่พวกไม่มีทุนจะค้าขายได้เท่านั้น ที่สุดพวกฝรั่งเศสที่เหลืออยู่ในเมืองไทย 3-4 คนนั้นก็จวนจะต้องกลับไปอย่างพวกจีน และแขกมัวร์อยู่แล้วเหมือนกัน การค้าขายในเมืองไทยเป็นอันทำไม่ได้เป็นอันขาด ถึงแม้พระเจ้ากรุงสยามเป็นเจ้าที่ดี ก็จริงอยู่แต่ข้าราชการของพระองค์ซึ่งเป็นผู้ปกครองบ้านเมืองเป็นคนที่เอาประโยชน์ของตัวเป็นใหญ่ ทั้งทำการข่มเหงอย่างร้ายกาจจนการค้าทั้งปวงเป็นอันทำกันไม่ได้ เพราะสินค้าที่มาจากต่างประเทศมากน้อยเท่าใด พวกข้าราชการก็รับเอาเสียหมด และตั้งราคาเองตามใจชอบ เวลาจะชำระเงินค่าสินค้านั้น ก็มิได้เอาเงินมาชำระ แต่เอาสินค้าอย่างอื่นมาแลกเปลี่ยน และสินค้าที่เอามาแลกเปลี่ยนนั้น ก็ตั้งราคาเองแพงอย่างที่สุด มิต้องนึกเลยว่าราคาที่ตั้งมานั้นจะสมควรหรือไม่ พวกพ่อค้าก็จำเป็นจำใจ ต้องรับสินค้านั้นไว้ มิฉะนั้นต้องกลับไปโดยขาดทุนเปล่า"[76]

สิทธิพิเศษของพ่อค้าต่างชาติอื่นๆ น่าจะส่งผลต่อฐานะของชุมชนโปรตุเกส ดังจะเห็นได้จากสัญญาการค้าขายระหว่างสยามกับประเทศฝรั่งเศส ลงนามเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ.2227 เป็นสัญญาว่าด้วยเรื่องพริกไทระหว่างออกขุนพิพัฒน์โกษาราชาพิทักษ์ กับ ม.เดลานด์ หัวหน้าบริษัทฝรั่งเศสอนุญาตให้บริษัทฝรั่งเศสมีอำนาจเด็ดขาดที่จะซื้อทองแดงและสินค้าอย่างอื่นจากต่างประเทศ และให้บริษัทฝรั่งเศสซื้อพริกไททั้งหมดที่เพาะปลูกในสยาม อาทิ ตามหัวเมืองและดินแดนเมืองขึ้นของสยามตั้งแต่เหนือถึงนครศรีธรรมราชโดยจะซื้อในราคาบาหาละ 16 ปาตาก (เงินสเปนเท่ากับ 6 ตำลึง 2 บาท) และห้ามชาวต่างประเทศไม่ว่าชาติใดค้าขายพริกไทยกเว้นคนของบริษัท สมเด็จพระนารายณ์ทรงโปรดให้ผู้ช่วยของออกญาพระคลังทำสัญญากับ ม.เดลานด์ และใช้เป็นกฎหมายบังคับต่อไป[77] สิทธิพิเศษทางการค้าของพ่อค้าฝรั่งเศส ย่อมส่งผลกระทบต่อชุมชนโปรตุเกสด้วยเพราะพวกเขาต้องหมดโอกาสในการค้าขายพริกไทและทองแดงไป

ระหว่าง พ.ศ.2183-2184 มีเรือของพ่อค้าโปรตุเกสแห่งเมืองมาเก๊า และเนคะปะตัม เดินทางมายังกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.2182 ตามลำดับ และปรากฏว่า กลางปี พ.ศ.2183 (3 สิงหาคม) เรือโปรตุเกสลำหนึ่งเดินทางจากมากัสซาร์ (Macassar) มาถึงบางกอก มีกัปตันชื่อฮวน ดึ สตราดอส (Juan de Strados) ชาวสก๊อตซึ่งพำนักอยู่ใน สเปนและอินเดียมากกว่า 45 ปี เรือของเขาบรรทุกสินค้าหลายชนิดมาด้วย อาทิ ไม้จันทน์ 160 หาบ กำมะถัน 90หาบ กานพลู 30 หาบ ขนสัตว์สำหรับทำเชือกสำเร็จรูป* และหวายจำนวน 800 มัด นอกจากนี้ยังมีสาส์นแนะนำและของบรรณาการเล็กๆน้อยๆ แด่ออกญาพระคลัง จากผู้สำเร็จราชการแห่งมาคัสซาร์ กัปตันเรือโปรตุเกสได้รับการต้อนรับอย่างดี แต่เขาก็ขายอะไรไม่ได้เลย[78] อย่างไรก็ตาม แม้จะมีหลักฐานว่าการค้าของโปรตุเกสในกรุงศรีอยุธยากำลังตกต่ำ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ถึงกัปตันเรือผู้นี้จะมิได้เป็นชาวโปรตุเกสแต่เขาก็ยังได้รับการต้อนรับอย่างดีจากออกญาพระคลัง ทั้งนี้อาจแสดงให้เห็นถึงความมั่นคงของสัมพันธภาพระหว่างขุนนางผู้ใหญ่ชาวสยามกับชุมชนโปรตุเกส ในขณะนั้นก็ได้

ระหว่างปี พ.ศ.2183-2184 ชาวโปรตุเกสได้พยายามดิ้นรนเพื่อฟื้นฟูสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของตนอย่างเต็มที่ นาย ฟอน ฟลีต หัวหน้าพ่อค้าฮอลันดาว่าเจ้าหน้าที่ทางการจีนแห่งเมืองกวางตุ้งได้ขับไล่ชาวโปรตุเกสออกไปจากเมืองมาเก๊าสำเร็จ ทำให้พวกเขาพยายามจะย้ายมายังประเทศสยามซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเป็นไปได้ แต่พวกโปรตุเกสเหล่านี้เกรงว่าชาวฮอลันดาซึ่งพำนักอยู่ที่ประเทศสยามเป็นเวลานานแล้ว จะทำให้พวกเขาไม่ได้รับความโปรดปรานอย่างเต็มที่จากพระเจ้าแผ่นดินสยามและบรรดาขุนนาง พวกเขาจึงทำทุกวิถีทางเพื่อให้พ่อค้าฮอลันดาเป็นที่น่ารังเกียจ เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้พ่อค้าฮอลันดาได้ร้องทุกข์เรื่องการถูกพูดใส่ร้ายจากพวกโปรตุเกสต่อออกญาพระคลังหลายครั้ง แต่ออกญาพระคลังได้กราบทูลให้พระเจ้าแผ่นดินทรงเชื่อว่าการทำดีต่อพวกโปรตุเกส จะชักนำให้ชาวต่างชาติอื่นๆ เดินทางเข้ามาค้าขายในสยาม และพระองค์ก็ทรงให้ความสนพระทัยในเรื่องนี้มาก[79] สถานะถดถอยทางสังคมของโปรตุเกสในกรุงศรีอยุธยา เกิดจากอิทธิพลการเสื่อมของ "เมืองแม่" ฮาร์วีย์ระบุว่า นอกจากความอ่อนเปลี้ยด้านทรัพยากรมนุษย์แล้ว สิ่งที่ทำให้ชาวโปรตุเกสไม่สามารถรักษาจักรวรรดิของตนเอาไว้ได้ เพราะพวกเขามีอัจฉริยภาพในเรื่องความไม่ซื่อสัตย์ และไม่มีความรู้ในการปกครองจักรวรรดิ ผู้ว่าการอาณานิคมโปรตุเกสที่ประสบปัญหาเดือดร้อน แทบจะไม่ได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมชาติเลย ส่วนบรรดาลูกเรือก็มักจะพากันละทิ้งหน้าที่ หรือไปเป็นโจรสลัดต่อต้านการปฏิบัติงานของทหารโปรตุเกสเสียเอง[80]
อาจกล่าวได้ว่าการค้าในเมืองพระนครศรีอยุธยา ภายใต้การผูกขาดของระบบพระคลังสินค้าทำให้เกิดการแข่งขันช่วงชิงความได้เปรียบทางการค้าระหว่างพ่อค้าชาติต่างๆในสยาม ด้วยกโลบายต่างๆ อาทิ การให้ของกำนัลและสินน้ำใจแก่ขุนนางสยาม เพื่อให้ได้รับความสะดวกและความรวดเร็วในการรวบรวมสินค้า การส่งออกและนำเข้าสินค้า ด้วยเหตุนี้จึงปรากฏหลักฐานว่าหลังจากโปรตุเกสเริ่มหมดอิทธิพลทางทะเลจากการถูกฮอลันดาเข้ามาแทนที่แล้ว พ่อค้าชาวโปรตุเกสจากชุมชนโปรตุเกสในเมืองพระนครศรีอยุธยาเคยใช้วิธี "เข้าหา" ออกญาพระคลังเพื่อให้ได้รับความเมตตาเกื้อหนุนจากขุนนางผู้ใหญ่ชาวสยามผู้นี้ จนกระทั่งพ่อค้าโปรตุเกสบางคนมีความใก้ล้ชิดสนิทสนมถึงระดับ "ไปกิน-ไปเล่น" อยู่ในจวนของออกญาพระคลังท่านนี้ได้ตลอดเวลา

จากหลักฐานที่ระบุถึงการกู้ยืมเงินจากราชสำนักสยามของพ่อค้ามาเก๊าในปี พ.ศ.2203 สะท้อนให้เห็นว่าบทบาทในการสนับสนุนสมเด็จพระนารายณ์ชิงราชสมบัติจากสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาของชาวโปรตุเกสในเมืองพระนครศรีอยุธยาเมื่อปี พ.ศ.2199 นอกจากจะมีส่วนส่งเสริมให้พ่อค้าโปรตุเกสแห่งเมืองมาเก๊าได้รับพระมหากรุณาธิคุณแล้ว อาจบ่งชี้ให้เห็นได้เป็นอย่างดีว่าชุมชนโปรตุเกสในเมืองพระนครศรีอยุธยก็น่าจะได้รับพระมหากรุณาธิคุรเช่นนี้ด้วยไม่แพ้กัน

สภาวะสงครามกับอังวะในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมและการสงครามกับเชียงใหม่ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ นอกจากจะทำให้พ่อค้าชาติต่างๆได้รับความเดือดร้อนแล้ว จากการไม่สามารถขายสินค้าได้และผลกระทบต่อชุมชนโปรตุเกสอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่ในสภาวะปกติแล้วหลักฐานประวัติศาสตร์อาทิ บันทึกของยอร์ช ไวท์ ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ได้กล่าวถึงสินค้าสำคัญที่พ่อค้าโปรตุเกสในขณะนั้นมีบทบาทเกี่ยวข้องด้วยอย่างกว้างขวางในกระบวนการซื้อขาย ได้แก่สินค้าเข้า อาทิ ไหมดิบ แพรไหม ปรอท ทองขาว ถ้วยชาม ทองแดงแท่ง และเครื่องใช้ที่ทำจากเหล็ก สินค้าออกได้แก่หมากพลู ไม้ฝาง ไหพะเนียงมีหูสำหรับบรรจุครามและปูนขาว กฤษณา (จากติมอร์) พริกไท การบูร และผ้าต่างๆ เป็นต้น พ่อค้าโปรตุเกสจากเนคะปาทานบางคนเป็นนักค้าเครื่องประดับจำพวกเพชร ทองคำ พลอยและผ้าไหมปัก ถึงกับทำให้ครั้งหนึ่งพวกเขาเคยถูกดักปล้นชิงทรัพย์ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง แต่โดยทั่วไปแล้วหลักฐานในตอนปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ระบุถึงสินค้าที่ชาวโปรตุเกสนิยมส่งออกไปยัง มาเก๊าเป็นสินค้าประเภทอุปโภค ได้แก่ ผ้าแพรสีดำ สำหรับตัดกางเกง ผ้าลูกไม้โปร่ง ไหมถักด้วยทองคำเงิน และไหมธรรมดา ถูงเท้าแพร รองเท้าชายหญิง ดาบ กระบี่ ปืนเล็กนกสับ ศิลาสำหรับปืนและสุราต่างๆ เป็นต้น ส่วนสินค้าที่ชาวโปรตุเกสในเมืองพระนครศรีอยุธยาต้องการเป็นพิเศษคือกระจกส่องหน้า

ความตกต่ำของการค้าในช่วงปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ส่งผลกระทบต่อพ่อค้าชาติต่างๆทั้งหมด การเข้ามาของชาวฝรั่งเศสทำให้เกิดสัญญาทางการค้าระหว่างสยามกับฝรั่งเศสส่งผลกระทบต่อพ่อค้าโปรตุเกสครั้งสำคัญอีกระลอกหนึ่ง เนื่องจากมีการยกสิทธิการค้าทองแดงและพริกไทให้แก่พ่อค้าฝรั่งเศส ทั้งๆที่ก่อนหน้านั้นพ่อค้าโปรตุเกสในเมืองพระนครศรีอยุธยาเคยเสียสิทธิพิเศษการค้าหนังสัตว์แก่พ่อค้าฮอลันดาและสิทธิการค้าไม้ฝางแก่ออกพระศรียศพ่อค้าชาวมุสลิมไปแล้วในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง การสูญเสียโอกาสทางธุรกิจเช่นนี้มีส่วนทำให้สถานะทางเศรษฐกิจของพ่อค้าจากชุมชนโปรตุเกสตกต่ำมากยิ่งขั้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย
การอ้างอิง
[1] ประสิทธ์ รุ่งเรืองรัตน์, เรื่องเดิม, หน้า79 และ 105-112.
[2] อาคม พัฒิยะ และ นิธิ เอียวศรีวงศ์, ศรีรามเทพนคร (กรุงเทพ : ศิลปวัฒนธรรม), หน้า 81-84.
[3] เรื่องเดียวกัน, หน้า87-88.
[4] Rui D'Ávila Lourido, "European trade between Macão and Siam from the beginning to 1663" IEAHA , 14 (1996) : 14.
[5] Ibid., p.14.
[6] Ibid., p.21-22
[7] พระยาอนุมานราชธน , ตำนานศุลกากร (พระนคร : พระจันทร์ ,2482) ,หน้า 49-50.
[8] มาเรีย ดา กงไซเซา ฟลูรึช, "ชาวโปรตุเกสในสยามเมื่อคริสตศตวรรษที่16, " แปลจาก " Os Portugueses e o sião no seculo XVI Comissão Nacional para as Comemoraçôes dos Descobrimentos Portugueses, Imprensa Nacional Casa da Moeda, 1991" แปลโดยมธุรส ศุภผล, เอกสารยังไม่ตีพิมพ์, หน้า9-16.
[9] เรื่องเดียวกัน, หน้า14-15.
[10] เรื่องเดียวกัน, หน้า18-33.
[11] เรื่องเดียวกัน, หน้า35-57.
[1] เรื่องเดียวกัน, หน้า14-15.
[2] เรื่องเดียวกัน, หน้า18-33.
[3] เรื่องเดียวกัน, หน้า35-57.
[4]-88เรื่องเดียวกัน, หน้า64-68.
[7] เรื่องเดียวกัน, หน้า68.
[8] เรื่องเดียวกัน, หน้า69-71.
[9] เรื่องเดียวกัน, หน้า72-80.
[10] Suthachai Yimprasert, op.cit., p.189-190.
[11] Dhiravat na Pombejra, "Crown trade and court politics in Ayutthaya during the reign of king Narai ; 1656-88" (Mimeographed) คำ "Barcalon" นี้เปล่งเสียงตาม "ลิ้น" ฝรั่งเศสว่า "บาคะลอง" หรือ "บาคะลัง" ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วคำที่ลงท้ายด้วย "on" ในภาษาโปรตุเกสนั้นยังหาไม่พบ มีแต่คำนามเพศชายที่ลงท้ายด้วย "o" (อู) คำ "Barcalon" จึงเป็นภาษาทางการค้าแบบ Lingua franca ที่มี prefix เป็นภาษาโปรตุเกส มี Suffix เป็นภาษาฝรั่งเศส (Barca+lon) อาจเปล่งเสียงผสมผสาน ให้ใกล้เคียงได้ว่า "บาระคะลัง" หรือ "บะระคะลัง" หรือ "พะระคะลัง" ซึ่งก็คือ "พระคลัง" และหลักฐานของโปรตุเกสชิ้นหนึ่งเรียกพระคลังอีกอย่างหนึ่งว่า Barcalão , ดู P.Manuel Teixeira, op.cit., p.40.
[12] กรมศิลปากร, บันทักเรื่องสัมพันธไมตรีฯ เล่ม2 , หน้า59.
[13] เรื่องเดียวกัน, หน้า87-94.
[14] เรื่องเดียวกัน, หน้า154.
[15] นันทา สุตกุล (แปล) , เอกสารของฮอลันดาสมัยกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.2151-2163 และ พ.ศ.2167-2185 , หน้า43.
[16] กรมศิลปากร, บันทึกเรื่องสัมพันธไมตรีฯ เล่ม2 , หน้า316.
[17] อาคม พัฒิยะ และ นิธิ เอียวศรีวงศ์, เรื่องเดิม, หน้า88.
* สมเด็จพระนารายณ์ได้พระราชทานเงินแท่งและสินค้าต่างๆให้แก่มาเก๊าในปี พ.ศ.2203 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 605 ชั่ง มาเก๊าสามารถผ่อนชำระได้หมดสิ้นเป็นเงินงวดสุดท้าย 72 ชั่งในปี พ.ศ.2264 , อ้างจาก อันโตนิโอ ดา ซิลวา เรกู ใน 470 ปีสัมพันธไมตรีระหว่างไทยกับโปรตุเกส, หน้า25, 29-30.
[18] กรมศิลปากร, บันทึกเรื่องสัมพันธไมตรีฯ เล่ม2, หน้า52-53.
[19] เรื่องเดียวกัน, หน้า59.
[20] เรื่องเดียวกัน , หน้า176.
[21] เรื่องเดียวกัน, หน้า82-83.
[22] พัฒนพงศ์ ประคัลภ์พงศ์ (แปล) , "จดหมายเหตุการเดินทางของโตเม ปิรึช : ตอนที่เกี่ยวกับประเทศสยาม," ข้อมูลประวัติศาสตร์ไทยสมัยอยุธยา , เอกสารลำดับที่3 หน้า3, คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2528 (สำเนา), ชื่อเมืองที่ปรากฏเป็นอักษรโรมันยังไม่สามารถถ่ายทอดเป็นภาษาไทย
[23] เรื่องเดียวกัน, หน้า3-5.
[24] หลุยส์ เดอ มาโตส, "เอกสารสมัยแรกของโปรตุเกสที่กับประเทศสยาม," 470 ปีความสัมพันธ์ระหว่างไทยและโปรตุเกส, แปลโดยนันทนา ตันติเวสส (กรุงเทพ : กรมศิลปากร, 2528), หน้า51.
[25] Joaquim de Campos, op.cit.,p.31.
[26] Charles Nelson Spinks, "Siam and the pottery Trad of Asia ," Journal of the Siam Socity Vol.L Part II (December 1962) : 82-83.
[27] Larry Sternstein, " Krung Kao : The old capital of Ayuthaya ," Journal of the Siam Socity 8 (January 1965) : 109-110.
[28] Rui D'Ávila Lourido, op.cit., p.14-15.
[29] มาเรีย ดา กงไซเซา ฟลูรึช , ความสัมพันธ์ระหว่างโปรตุเกสและสยามในคริสศตวรรษที่ 16 ,หน้า7.
[30] เรื่องเดียวกัน, หน้า 8.
[31] เรื่องเดียวกัน, หน้า12.
[32] นันทา สุตกุล (แปล). เอกสารของฮอลันดาสมัยกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.2151-2163 และ พ.ศ.2167-2185, หน้า283.
[33] เรื่องเดียวกัน, หน้า283.
[34] เรื่องเดียวกัน, หน้า126.
[35] กรมศิลปากร, บันทึกสัมพันธไมตรีฯ เล่ม2, หน้า72.
[36] เรื่องเดียวกัน, หน้า74.
[37] ประชุมพงศาวดารเล่ม12, หน้า309.
[38] นันทา สุตกุล(แปล), เรื่องเดิม, หน้า155.
[39] เรื่องเดียวกัน, หน้า155-156.
[40] เรื่องเดียวกัน, หน้า157.
[41] เรื่องเดียวกัน, หน้า165-167.
[42] ประชุมพงศาวดารเล่ม12, หน้า305.
[43] เรื่องเดียวกัน, หน้า309.
[44] เรื่องเดียวกัน, หน้า314-315.
* ต้นฉบับแปลระบุว่าเป็นไม้แดงแต่ ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐให้ข้อคิดเห็นว่าไม้แดงมิใช่สินค้าสำคัญในขณะนั้น
[45] กรมศิลปากร,บันทึกสัมพันธไมตรีฯ เล่ม2, หน้า57.
[46] ประชุมพงศาวดารเล่ม12, หน้า299.
[47] เรื่องเดียวกัน, หน้า302.
[48] เรื่องเดียวกัน, หน้า307.
[49] ฟรังซัว อังรี ตุรแปง, ประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยาฉบับตุรแปง, แปลโดยสมศรี เอี่ยมธรรม (กรุงเทพมหานคร : กรมศิลปากร, 2523),หน้า137.
[50] "รายงานการค้าขายในกรุงสยามครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์" ประชุมพงศาวดารเล่ม12 , หน้า304.
[51] เรื่องเดียวกัน, หน้า305.
[52] เรื่องเดียวกัน, หน้า305.
[53] สมจัย อนุมานราชธน, การทูตไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา ,หน้า30.
[54] Rui D'Ávila Lourido, op.cit., p.2.
[55] ปรีดา ศรีชลาลัย(บรรณาธิการ),"คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารหอหลวง," แถลงงาน ประวัติศาสตร์ เอกสารโบราณคดี 3 ( มกราคม 2512) :57.
[56] เรื่องเดียวกัน, หน้า58.
[57] ประชุมพงศาวดารเล่ม24, หน้า201-202.
[58] เรื่องเดียวกัน, หน้า286.
[59] ประชุมพงศาวดารเล่ม12 , หน้า308-309.
* หลักฐานกล่าวถึงทองคำขาวว่าเป็นสินค้าเข้าจากกึงตั๋งและมาเก๊า เป็นที่ทราบว่าทองคำขาวรู้จักกันมานานหลายร้อยปีก่อนคริสตศตวรรษ
[60] ประชุมพงศาวดารเล่ม12, หน้า310.
[61] เรื่องเดียวกัน, หน้า311.
[62] ปรีดา ศรีชลาลัย(บรรณาธิการ),เรื่องเดิม, หน้า55.
[63] เรื่องเดียวกัน,หน้า58
[64] เรื่องเดียวกัน, หน้า59.
[65] เรื่องเดียวกัน, หน้า10.
[66] เรื่องเดียวกัน, หน้า9.
[67] เรื่องเดียวกัน, หน้า12.
[68] เรื่องเดียวกัน, หน้า59-60.
[69] เรื่องเดียวกัน, หน้า63.
[70] เรื่องเดียวกัน, หน้า 62-63.
[71] นันทา สุตกุล (แปล), เรื่องเดิม, หน้า252.
[72] เรื่องเดียวกัน, หน้า252.
[73] นันทา สุตกุล (แปล), เรื่องเดิม, หน้า253-254. ชื่อชาวโปรตุเกสที่ปรากฏเป็นชื่อที่อยู่ในหลักฐานของฮอลันดาแต่ในบทความของ อันโตนิโอ ดา.ซิลวา เรกู, "บทสังเขปการศึกษาเรื่อง สัมพันธไมตรีระหว่างลูโซ และสยามตั้งแต่ พ.ศ.2054 ถึงสมัยปัจจุบัน," 470 ปีความสัมพันธ์ระหว่างไทยและโปรตุเกส, แปลโดย ลินจง สุวรรณโภคิน (กรุงเทพ : โรงพิมพ์คุรุสภา,2531), หน้า25 ระบุว่าชื่อ "Francisco de Aquiar Evangelho"
[74] ประชุมพงศาวดาร เล่ม24, หน้า191.
[75] นันทา สุตกุล (แปล), เรื่องเดิม, หน้า89-90.
[76] ประชุมพงศาวดาร เล่ม24, หน้า183-184.
[77] เรื่องเดียวกัน, หน้า1-3.
* ต้นฉบับระบุว่าเป็นเส้นผม สัณนิษฐานว่าอาจหมายถึงขนสัตว์หรือป่าน
[78] นันทา สุตกุล (แปล) , เรื่องเดิม, หน้า255.
[79] นันทา สุตกุล(แปล), เรื่องเดิม, หน้า 254.
[80] Godfrey Eric Harvey, History of Burma , (London : Frank Cass and Company Limited, 1967), p.131.

1 ความคิดเห็น: