โดย พิทยะ ศรีวัฒนสารการทำสัญญาระหว่างสยามกับโปรตุเกสในปี พ.ศ.2059 ทำให้เกิดชุมชนพ่อค้าชาวโปรตุเกสขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองพระนครศรีอยุธยา แล้วกลายเป็นชุมชนพ่อค้าและทหารอาสาเมื่อมีการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนและศาสนสถานอย่างมั่นคงในสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช (พ.ศ.2186-2189) หลังจากสมเด็จพระไชยราชาธิราชพระราชทานที่ดินแก่ชาวโปรตุเกสจำนวน 120 คน จาก 130 คนที่อาสาเข้าร่วมรบในกองทัพสยามเมื่อครั้งศึกเชียงใหม่ พ.ศ.2091
[1] อันเป็นเรื่องราวที่นักประวัติศาสตร์ทั้งชาวตะวันออกและชาวตะวันตก อ้างอิงมาจากงานเขียนของแฟร์เนา มึนเดช ปินตู
[2] ซึ่งแม้ว่าดับเบิลยู. เอ. อาร์. วูด (W.A.R. Wood) จะท้วงติงเรื่องศักราชว่า "ไม่รับกับหลักฐานบางชิ้นของเชียงใหม่และน่าน ซึ่งระบุว่าสงครามระหว่างอยุธยากับเชียงใหม่ เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2089 มิใช่ปี พ.ศ. 2091 ดังปรากฏในงานของปินตู"
[3] กระนั้นก็ตาม มิได้หมายความว่าหลักฐานของปินตูจะปราศจากความจริงทางประวัติศาสตร์ ดังปรากฏว่าอย่างน้อยที่สุดเรื่องราวของดูมิงกู ดึ ไซซัช (Domingo de Seixas) นายทัพ/นายทหารชาวโปรตุเกสซึ่งร่วมทัพสมเด็จพระไชยราชาไปรบเชียงใหม่ มิได้กล่าวถึงแต่เพียงในงานของปินตูเท่านั้น งานนิพนธ์ของจูอาว ดึ บารูช ยังช่วยยืนยันเหตุการณ์ดังกล่าวด้วย
[4] ปินตู ระบุว่า "ชาวต่างประเทศทุกๆชนชาติที่ไปร่วมรบกับกษัตริย์สยามต่างก็ได้รับสัญญาว่า จะได้รับบำเหน็จรางวัล การยกย่อง ผลประโยชน์ ความชื่นชมและเกียรติยศชื่อเสียง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การได้รับอนุญาตให้สร้างโบสถ์เพื่อปฏิบัติศาสนกิจในแผ่นดินสยาม…"
[5] ขณะที่พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาบรรยายว่า ชาวโปรตุเกสจำนวน 120 คน จาก 130 คน ซึ่งอยู่ในกรุงศรีอยุธยาถูกเกณฑ์ไปรบศึกเชียงกรานในกองทัพของสมเด็จพระไชยราชาธิราช เมื่อ พ.ศ.2081 จึงได้รับพระราชทานที่ดินให้ตั้งค่ายในกรุงศรีอยุธยานับตั้งแต่บัดนั้น
[6] กรณีของศึกเชียงกราน แม้จะถูกชี้ว่าอาจไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง เนื่องจากพงศาวดารพม่าฉบับนายอูกาลา (อูกาลามหายาสะวินจี) มิได้กล่าวถึงพระราชกรณียกิจของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตีเกี่ยวกับศึกเมืองเชียงกราน เพราะทรงติดพันการรบกับเมืองเมาะตะมะ พะโค แปร และรัฐฉานระหว่าง พ.ศ.2081-2085
[7] แต่กระนั้น ดร. สุเนตร ชุตินทรานนท์ ก็ยอมรับว่า จารีตการเขียนพงศาวดารพม่า มีข้อมูลจำนวนมากที่ผู้บันทึกพงศาวดารพม่าบันทึกขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายเพียงเพื่อจะเชิดชูแสดงความยิ่งใหญ่ เก่งกล้าสามารถและเฉียบคมทางยุทธวิธีของนายทัพและเหล่าทหารเป็นสำคัญ
[8] กล่าวคือ หากสงครามครั้งใดประสบความพ่ายแพ้ นักเขียนพงศาวดารอาจจะคัดเหตุการณ์นั้นออกไป ทำให้ศึกเมืองเชียงกรานไม่ปรากฏในพงศาวดารพม่าฉบับนายอูกาลา
บันทึกการเดินทางท่องเที่ยวของปินตู นับเป็นหลักฐานสำคัญชิ้นหนึ่งที่ได้กล่าวถึงเรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับสยาม โดยเฉพาะกรุงศรีอยุธยาอันเป็นราชธานีของสยาม เนื้อหาของเอกสารทำให้ทราบข้อมูลด้านเศรษฐกิจ ทรัพยากร ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การทหาร วัฒนธรรม ประเพณี และความเชื่อของสยาม กฎหมายและเรื่องราวในราชสำนักตอนกลางพุทธศตวรรษที่ 21 เป็นต้น เห็นได้ชัดเจนว่า โดยทั่วไปแล้วข้อมูลที่ปรากฏอยู่ในงานของปินตูจำนวนไม่น้อย สอดคล้องกับงานเขียนของนักประวัติศาสตร์ชาวโปรตุเกสหลายคน แม้ปินตูจะถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับประเด็นของการเป็นประจักษ์พยานบุคคลในเหตุการณ์แต่ความรู้ที่ปรากฏในงานเขียนของเขาสามารถพิสูจน์ได้จากหลักฐานอื่นๆ การที่ปินตูเคยมีสถานภาพเป็นนักสอนศาสนาในญี่ปุ่น อาจทำให้เขามีโอกาสได้เห็นเอกสารรายงานต่างๆ ที่รายงานเข้าไปยังสังฆมณฑลโพ้นทะเล ณ เมืองซึ่งเขาเคยเดินทางไปถึง (อาทิ ญี่ปุ่น กัว และ มะละกา) รูปแบบงานเขียนของเขาบางส่วนยังมีลักษณะเป็นจดหมายติดต่อกับบุคคลต่างๆ
[9] ดังนั้น จึงไม่ควรมองข้ามในเรื่องความแม่นยำของวัน เดือน ปี ที่ปรากฏ
นอกจากนี้ ปินตู ได้ยืนยันอย่างจริงจังเกินกว่าที่จะมองเพียงว่า งานนิพนธ์ของเขาเป็นเพียงหนังสือเริงรมณ์ เพราะเขาได้รับจดหมายแนะนำตัวจากผู้สำเร็จราชการโปรตุเกสแห่งเมืองกัวให้เข้าเฝ้ารับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระราชินีแคทธอรีน (Madam Katherina , our Queen of memory) ซึ่งปกครองโปรตุเกสในขณะนั้น
[10] แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการอ้างอิงพยานบุคคลของเขาต่อกิจกรรมต่างๆ เขาต้องต่อสู้เป็นเวลานานถึงยี่สิบห้าปี กว่าจะได้รับพระราชทานบำเหน็จรางวัลจากราชสำนักโปรตุเกส (หลังจากที่เขาถึงแก่กรรมไปแล้ว) ทั้งนี้จะเป็นด้วยสาเหตุที่เขาเป็นมาจากพื้นฐานกลาสีเรือยากจน หรือเคยกินเนื้อแขกมาเลย์ประทังชีวิตหลังจากถูกข้าศึกโจมตี อันขัดต่อจริยธรรมทางศาสนาขณะนั้นอย่างรุนแรง
[11] ซึ่งแม้แต่ปินตูเองก็คงจะไม่เข้าใจ
บันทึกของชิมอง เดอ ลาลูแบร์ (Simon de Laloubere) ราชทูตฝรั่งเศส ที่เดินทางเข้ามากรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์เองก็ได้นำหลักฐานของปินตูไปใช้อ้างอิงด้วย
[12] ประเด็นดังกล่าวทำให้การใช้เอกสาร ไม่ว่าจะเป็นของปินตู หรือ ลาลูแบร์ และอื่นๆ ต่างก็จำเป็นต้องผ่านการกลั่นกรองหลายๆชั้นไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน หลักฐานของปินตูถูกนำไปอ้างในงานของ อี.ดับเบิลยู.ฮัทชินสัน (E.W. Hutchinson) ชื่อ "Adventurers in Siam in the seventeenth century" (1940) ด้วยเช่นกัน กล่าวคือ
" ทหารโปรตุเกสจำนวน 120 คน ซึ่งสมเด็จพระไชยราชาธิราช ทรงจ้างเป็นทหารรักษาพระองค์ (Bodyguard) ได้สอนให้ชาวสยามรู้จักใช้ปืนไฟ (Firearms) ของชาวยุโรป…"
[13]ฮัทชินสัน กล่าวว่า การรับทหารโปรตุเกสเข้าไว้ในกองทัพสยามจำนวน 120 คน ในรัชสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราชเป็นการ "จ้าง" แต่หลักฐานของ ปินตู ชี้ว่าเป็นการ "ถูกเกณฑ์" โดยได้รับการเสนอเงื่อนไข และคำมั่นสัญญาตอบแทน มิฉะนั้นก็จำเป็นจะต้องให้พวกเขา "เตรียมตัวออกไปจากพระราชอาณาจักรภายใน 3 วัน"
[14] สิ่งที่ชาวโปรตุเกสได้รับคือ การได้รับความเคารพนับถือยิ่งขึ้นจากชาวสยามเหนือชนชาติอื่น การเข้าร่วมกองทัพในฐานะทหารรักษาพระองค์ (The guards of The King's Person) การได้รับบำเหน็จอย่างงามและผลประโยชน์มากมาย ได้รับความนิยมชมชอบและเกียรติยศ เหนือสิ่งอื่นใด คือ การจะได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สร้างโบสถ์คริสต์ในอาณาจักรสยาม
[15] การที่ฮัทชินสันชี้ว่า ทหารโปรตุเกสที่ถูกกล่าวถึงเป็น "ทหารรับจ้าง" ด้วยเงื่อนไขที่ดึงดูดใจ ก็ไม่ห่างไกลความจริงเท่าใดนัก ปินตูมิได้ระบุในหลักฐานของตนอย่างชัดเจนว่า ชาวโปรตุเกสเหล่านั้นเป็นทหารรับจ้าง หากแต่ชี้ให้เห็นว่า ทหารโปรตุเกสมีสถานะคล้ายทหารอาสา หรือ ทหารเกณฑ์ ฮัทชินสันยืนยันว่าชาวโปรตุเกสเดินทางมายังตะวันออกด้วยวัตถุประสงค์เพื่อการเผชิญโชคและการสร้างฐานะของตน เขาอ้างบันทึกของชาวโปรตุเกสที่ระบุถึงสถานะของชาวโปรตุเกสที่เดินทางออกจากประเทศว่ามี 2 ประเภท คือ คนที่แต่งงานแล้ว กับ ทหาร โดยชายฉกรรจ์คนใดยังไม่ได้แต่งงานจะถือว่าเป็นทหารทั้งสิ้น ฮัทชินสันอ้างงานเขียนของ เซอร์ จอร์จ สกอตต์ ( Sir George Scott ) ชื่อ "Burma" ซึ่งช่วยให้เห็นภาพอย่างชัดเจนว่า "เมื่อชาวโปรตุเกสเดินทางมาถึงอินเดีย สิ่งที่พวกเขาจะทำ คือ มุ่งหน้าไปยังสถานที่ที่พวกเขาคิดว่าดีที่สุดสำหรับตนเอง"
[16] ซึ่งหมายถึงการเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์โดยตรงด้วยวิธีการต่างๆ ฮัทชินสันจึงเสนอว่า มีชาวโปรตุเกสแยกตัวออกมาเป็นนักเผชิญโชค อาทิ ทหารรับจ้าง(Mercennaries) และทหารปืนใหญ่(Armourers)ในกองทัพสยาม โดยไม่ต้องรับผิดชอบต่อรัฐบาลโปรตุเกสอีกต่อไป และพวกเขาก็ทำงานให้แก่สยามเป็นอย่างดี แม้ว่าจะไม่ใช่ประเทศของตน
[17]เซอร์ จอห์น เบาวริ่ง (Sir John Bawring) ระบุว่า ในปี พ.ศ.2111 กษัตริย์พะโคยกมาล้อมกรุงศรีอยุธยา ชาวสยามไม่เพียงแต่จะได้รับความช่วยเหลือจากชาวโปรตุเกสที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในสยามเท่านั้น พวกเขายังได้รับความช่วยเหลือจากลูกเรือรบที่จอดทอดสมออยู่ในแม่น้ำด้วย และส่วนที่อ่อนแอของเมืองถูกยกให้ชาวโปรตุเกสป้องกัน ภายใต้การบังคับบัญชาของ ดิอูกู แปร์ไรรา(Diogo Pereira) ทำให้สยามรอดพ้นการถูกยึดครองมาได้ด้วยความกล้าหาญของชาวโปรตุเกสซึ่งกล่าวกันว่า ถูกเสนอเงินก้อนโตเพื่อซื้อตัวไปอยู่ฝ่ายพะโค
[18] เบาวริ่ง มิได้ชี้อย่างชัดเจนถึงสถานภาพของชาวโปรตุเกส ที่ได้ช่วยป้องกันอยุธยาในศึกปี พ.ศ. 2111 แต่จากภาพสะท้อนในหลักฐานของเบาวริ่ง ดูเหมือนว่าพวกเขาจะมิใช่ทหารรับจ้างโดยตรง หากแต่มีลักษณะการอาสาช่วยรบป้องกันพระนครให้ชาวสยาม โดยมิได้รับสิ่งตอบแทนใดๆ นอกจากสิทธิพิเศษทางการค้าและบำเหน็จรายปีมิใช่ค่าจ้างรายเดือน
นักประวัติศาสตร์ชาวโปรตุเกสชื่อ เจากิง ดึ กัมปุช(Joaquim de Campos) ระบุว่า ในปี พ.ศ.2058 สยามทำสัญญากับโปรตุเกส กษัตริย์สยามทรงได้รับประโยชน์อย่างมาก โดยทรงรับอาวุธปืน และครูฝึกชาวโปรตุเกสในการรบกับเชียงใหม่ จนได้รบชัยชนะทำให้สมเด็จพระรามาธิบดีที่2 ทรงปรับปรุงกองทัพใหม่และเริ่มทำตำราพิชัยสงครามภายโดยได้รับความช่วยเหลือจากที่ปรึกษาชาวโปรตุเกส
[19] หลักฐานแวดล้อมดังกล่าวพยายามเสนอภาพของปัจเจกชนกลุ่มหนึ่งที่เข้ามาสยามภายใต้การเกื้อหนุนของสัญญาทางการค้า ปัจเจกชนกลุ่มนี้เองที่ถูกเรียกว่า พวกลันซาดูช
[20] หรือ พวกโปรตุเกสกึ่งอิสระ ซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ในเมืองพระนครศรีอยุธยา
พล.ท.ดำเนิร เลขะกุล กล่าวถึง "การอาสาไปรบ" ของชาวโปรตุเกสในรัชสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช โดยเป็นผู้นำเอา "ปืนไฟ" เข้ามาเผยแพร่เป็นครั้งแรก
[21] ต่อมาในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ชาวโปรตุเกสได้ถ่ายทอดวิธีการหล่อปืนใหญ่ให้แก่สยาม ขณะเดียวกันฝ่ายพระเจ้าบุเรงนอง ก็จ้างทหารปืนใหญ่ชาวโปรตุเกสเข้าประจำในกองทัพถึง400 คนเช่นกัน
[22] นักประวัติศาสตร์พม่า ชื่อ หม่อง ทิน อ่อง
[23] ชี้ว่า ในสงครามระหว่างพม่ากับสยามเมื่อพ.ศ.2111 กองทัพสยามเต็มไปด้วยทหารผ่านศึกชาวโปรตุเกส (Portuguese veterans) กว่า 1,000 คน มีทั้งปืนคาบศิลาและปืนไฟครบครัน การต่อต้านจากปืนของทหารรับจ้างโปรตุเกสในกองทัพสยาม สร้างความสูญเสียแก่กองทัพของพระเจ้าบุเรงนองอย่างมาก ทำให้ทรงตัดสินใจปิดล้อมอยุธยาอยู่เป็นเวลานาน
งานเขียนข้างต้นทำให้ภาพลักษณ์และศักยภาพของชาวโปรตุเกสด้านการทหารแลดูยิ่งใหญ่มาก แต่อีกมุมมองหนึ่งในงานค้นคว้าของจี.อี. ฮาร์วีย์ (G.E. Harvey) กลับปรากฏภาพลบขึ้นเกี่ยวกับความรู้ความสามารถในการยิงปืนใหญ่ของทหารโปรตุเกสอยู่บ้าง กล่าวคือ ฮาร์วีย์ระบุว่า "การยิงปืนใหญ่ บางครั้งก็จำเป็นต้องให้เรือหยุด เพราะแรงถีบของปืนใหญ่นั้น กลับทำอันตรายต่อพวกเขา มากกว่าจะทำลายล้างฝ่ายตรงข้าม…"
[24] สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงระบุว่า สิ่งที่สยามได้จากโปรตุเกส คือ ศิลปะในการทำปืนใหญ่ การใช้ปืนใหญ่ในสงครามและการสร้างป้อมค่ายป้องกันการถูกยิงด้วยปืนใหญ่
[25] รอง ศยามานนท์ ใน "A History of Thailand" (1971) ก็ระบุเช่นเดียวกับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ แต่ชี้ชัดลงไปว่าชาวโปรตุเกสมีฐานะเป็น "The soldier of fortunes" และทหารชาวโปรตุเกสเหล่านี้ได้เข้าร่วมกับกองทัพพม่าด้วย
[26] หากจะกล่าวโดยรวมแล้วภาพของทหารรับจ้างชาวโปรตุเกสในประวัติศาสตร์ไทย ค่อนข้างจะถูกกล่าวถึงจากนักประวัติศาสตร์ทั่วไปอย่างชัดเจน ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่2 ถึงรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา แต่หลังจากนั้นแล้วหลักฐานที่ปรากฏมีแนวโน้มที่จะเสนอว่า พวกเขามิใช่ทหารรับจ้าง หากแต่มีสถานภาพเป็นทหารอาสา ความหมายของทหารอาสาคือถูกเรียกมาช่วยต่อสู้เพื่อป้องกันประเทศในยามสงครามหรือเมื่อเกิดเหตุวุ่นวาย ดังปรากฏเหตุการณ์เกณฑ์ทหารอาสาชาวโปรตุเกสไปรบกับเชียงใหม่ในรัชสมัยสมเด็จพระชัยราชาธิราช เป็นต้น
นอกจากหลักฐานของปินตูแล้ว เรื่องราวเกี่ยวกับทหารรับจ้างชาวโปรตุเกสในกรุงศรีอยุธยามีน้อยมาก ปัจจัยดังกล่าวทำให้เมื่อกล่าวถึงบทบาทของทหารรับจ้างโปรตุเกสในสยาม หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงต้องอาศัยภาพรวมจากนักเขียนตะวันตกซึ่งก็มักเสนอภาพแบบ "มุมมองของคนนอก" เข้ามาทำให้ภาพทหารต่างชาติในกองทัพสยามเป็นทหารรับจ้างไปหมด ขณะเดียวกันเมื่อนักประวัติศาสตร์ไทยมองกลับออกไปในกองทัพพม่า ก็มักจะเสนอภาพว่า ทหารโปรตุเกสเป็นทหารรับจ้างในกองทัพพม่าโดยรวมเช่นกัน และมิได้ชี้ให้เห็นถึงสิ่งตอบแทนในแต่ละยุคแต่ละสมัยของการร่วมทัพกับกษัตริย์พื้นเมือง ที่พวกเขาได้รับจากการรบแต่ละครั้งอย่างเด่นชัด บันทึกการเดินทางของทูตพ่อค้าและบาทหลวงต่างชาติที่เข้ามากรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ช่วยยืนยันเรื่องราวอันปรากฏอยู่น้อยนิดให้แลเห็นภาพเกี่ยวกับบทบาทของทหารโปรตุเกสในสมัยอยุธยาได้กระจ่างขึ้นอีกพอสมควร บันทึกชิ้นหนึ่ง ของเลขานุการคณะทูตชาวเปอร์เซีย ชื่อ อิบน์ มูฮัมหมัด อิบรอฮิม (Ibn Muhummad Ibr~ahim)
[27] ในปี พ.ศ. 2228 ระบุว่า อะกา มูฮัมหมัด (Ãqã Muhummãd) ขุนนางสยามเชื้อสายอิหร่านในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ได้จ้างชาวอิหร่านจำนวน 200 คน จากอัสเตอราบัด (Ãsterãbãd) และมายัมดารัน (Mãgãmdãrãn) มาเป็นทหารรักษาพระองค์ (Bodyguard) ด้วยอัตราค่าจ้างคนละ 10-20 Tumans ต่อปี พวกเขาได้รับพระราชทานบ้านให้อยู่คนละหลัง มีบ่าวไพร่ (Peasant) 2 คน ได้รับม้าประจำตำแหน่งคนละ 1 ตัว พร้อมอาน เครื่องแบบ (ซึ่งทหารชาวนาสยามไม่มี) ฟางสำหรับเลี้ยงม้า และอื่นๆ แต่ปรากฏว่าทหารรักษาพระองค์เหล่านี้ก็มักจะก่อความวุ่นวาย สมเด็จพระนารายณ์จึงทรงลงโทษ อะกา มูฮัมหมัด และลดค่าจ้างทหารรักษาพระองค์ชาวเปอร์เซียลงเหลือคนละ 12 Tumans ต่อปี เท่าๆกัน
[28] และทรงจ้างทหารชาวยุโรปเข้ามาปฏิบัติหน้าที่แทน หลักฐานของอิบบรอฮิมระบุว่า
"เมื่อเร็วๆนี้ กษัตริย์สยามทรงนำฝรั่ง (Frank) เข้ามาเพิ่มอีก 200 คน ในตำแหน่งมหาดเล็ก (Attendants) โดยจ่ายเงินเดือนประจำให้ และต้องใช้เงินถึง 3,000 Tumans ต่อปีเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการนี้โดยเฉพาะ"
[29] นอกจากทหารรักษาพระองค์ในบันทึกของอิบรอฮิมแล้ว บันทึกการเดินทางของบาทหลวงตาชารด์ ยังได้ระบุว่าสมเด็จพระนารายณ์ทรงจ้างชาวโปรตุเกสเข้ามาปฏิบัติราชการใน (กองทัพ) สยาม โดยรับค่าจ้างเป็นเงินเดือนละ 14 เอกูส์
[30] มีรายงานเพิ่มเติมของ ม. เดฟารจช์ ลง 27 ธันวาคม 2230 ระบุว่า "พระเจ้ากรุงสยามทรงพระราชทานเงินแก่ทหารโปรตุเกสซึ่งทำราชการอยู่ถึงวันละ 10 ฟรังค์"
[31] อย่างไรก็ดีนอกจากพระไอยการตำแหน่งนาทหารหัวเมืองและคำจารึกเกียรติคุณภาษาโปรตุเกสที่โบสถ์ซางตาครูซ(ดูข้างหน้า)แล้ว ไม่ปรากฏหลักฐานการจ้างทหารโปรตุเกสเข้ารับราชการ จดหมายเหตุ อเล็กซานเดอร์ ฮามิลตัน ซึ่งเข้ามากรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ.2262 (รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ) ระบุว่า "ในการวางแผนทำสงครามกับกัมพูชาและญวนนั้น สมเด็จพระนารายณ์ทรงจ้างทหารอังกฤษจำนวนมากด้วยเงินเดือนแพงๆ และพวกเขาก็ปฏิบัติหน้าที่ในสงครามอย่างกล้าหาญ สมเกียรติยศชาวอังกฤษยิ่งนัก ทำให้พระองค์ทรงโปรดปรานชาวอังกฤษมากขึ้น"
[32]อิบน์ มูฮัมหมัด อิบบรอฮิม เลขานุการคณะทูตเปอร์เซีย ชี้ว่ากองทัพสยามเป็นกองทัพชาวนา
[33] (Peasantry Army) หลักฐานฝ่ายไทย อาทิ "พระราชกำหนดเก่า" ในกฎหมายตราสามดวงก็ระบุถึงการเกณฑ์ไพร่พลสังกัดมูลนายต่างๆ ภายใต้การดำเนินงานของกรมพระสุรัสวดี เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นทหาร หลักฐานของลาลูแบร์ระบุว่า สมเด็จพระนารายณ์ทรงมีทหารรักษาพระองค์ทั้งชาวสยามและชาวต่างชาติ
[34] ได้แก่ทหารรักษาพระองค์ชาวญี่ปุ่น เคยมีประจำการอยู่ในสยามถึง 600 คน
[35] แต่ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ปรากฏว่าทหารกรมนี้ถูกยุบทิ้งไป กระนั้นก็ดี แม้ลาลูแบร์จะระบุว่าทหารรักษาพระองค์ชาวญี่ปุ่นจะถูกยุบไปในสมัยพระเจ้าปราสาททอง แต่พระไอยการตำแหน่งนาทหารหัวเมืองในกฎหมายตราสามดวงยังคงมีร่องรอยของ "กรมอาสาญี่ปุ่น" ซึ่งมี"พระเสนาภิมุกข" เป็นเจ้ากรมหลงเหลืออยู่ ตำแหน่ง "พระเสนาภิมุกข" นี้เอง ที่ชี้ว่า "กรมอาสาญี่ปุ่น" กับ "กองทหารรักษาพระองค์ญี่ปุ่น" เป็นทหารหน่วยเดียวกัน ในหลักฐานของวันวลิตระบุว่า "แม่กองอาสาญี่ปุ่น" คือ "ออกญาเสนาภิมุก"
[36] ทหารรักษาพระองค์ญี่ปุ่นน่าจะได้รับค่าตอบแทนเป็นเบี้ยหวัดรายปี ผลประโยชน์ทางการค้าและภาษีอากรขนอนเชิงเรือนต่างๆ ทำให้มีอิทธิพลในทางการเมืองในกรุงศรีอยุธยามาก หลักฐานของวัน วลิต ได้ระบุถึงความเกรงใจและการเอาอกเอาใจที่ออกญาเสนาภิมุกได้รับจากออกญากลาโหมศรีสุริยวงศ์ (สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง)
[37] เป็นอันมาก
ทหารรักษาพระองค์กลุ่มต่อมาคือ ทหารม้ารักษาพระองค์ชาวมอญและลาว ลาลูแบร์ กล่าวว่า ทหารเหล่านี้เป็นพวกที่ถูกจัดตั้งจากชาวลาวและชาวมอญ ซึ่งถูกเกณฑ์มาเข้าเดือนเช่นเดียวกับชาวสยาม
[38] ดังนั้นทหารม้ารักษาพระองค์ชาวมอญ และลาวจึงมีลักษณะเป็นทหารอาสาซึ่งไม่มีเงินเดือนประจำ เนื่องจากถูกเกณฑ์มาเข้าเวร(เข้าเดือน)
ทหารรักษาพระองค์อีกกลุ่มหนึ่งคือกองทหารม้าชาวต่างประเทศซึ่งประกอบด้วยกำลังพล 130 คน กลุ่มแรกเป็นทหารม้าแขกมัวร์ จำนวน 2 กอง กองละ 30 คน คนเหล่านี้เป็นชาวโมกุล (Mogol) กลุ่มที่สองเป็นกองทหารจีนชาวตาด หรือ ตาร์ตาร์ จำนวน 20 คน กลุ่มที่สามเป็นกองทหารแขกปายัง (Payens) หรือแขกราชบุตร (Rasbouttes) จำนวน 2 กอง กองละ 25 คน ค่าตอบแทนที่ทหารม้าชาวมัวร์ ได้รับคือ อาวุธ ม้า และเบี้ยหวัด ปีละ 3 ชั่งกับ 12 ตำลึง (ประมาณ 540 ลีฟร์ ตามหลักฐานของลาลูแบร์) เสื้อสักหลาดสีแดงหนึ่งตัว ส่วนผู้บังคับกองร้อย 2 คนนั้นได้รับเบี้ยหวัดปีละ 5 ชั่ง 12 ตำลึง (ประมาณ 840 ลีฟร์) กับเสื้อสีแดงเข้ม พวกแขกราชบุตรจะได้รับสิ่งตอบแทนเท่าเทียมกับแขกมัวร์ ส่วนจีนตาดนั้นได้รับเบี้ยหวัดคนละ 6 ตำลึง หรือ 45 ลีฟร์ ผู้บังคับกองร้อยได้เบี้ยหวัดคนละ 15 ตำลึง หรือ 112 ลีฟร์ 10 ชอล ต่อปี
[39]สำหรับกองทหารฝรั่งเศสที่เดินทางเข้ามาพร้อมคณะทูต ลาลูแบร์ และเซเบเร่ต์ เมื่อปี พ.ศ. 2230 เพื่อเข้าประจำ ณ ป้อมในเมืองบางกอกนั้น มีหลักฐานชี้ชัดว่าเป็นกองทหารซึ่งยังได้รับเงินเดือนจากรัฐบาลฝรั่งเศส บันทึกสำนักพระราชวังแวร์ซายล์ ลงวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2231 ถึง ม. แดส กลูโชส์ เรื่องการส่งเงินเดือนจากฝรั่งเศสไปจ่ายแก่ทหารในเมืองบางกอก
[40] การเข้ามาประจำอยู่ในป้อมที่เมืองบางกอกของกองทหารฝรั่งเศสมีสาเหตุทางด้านการเมืองและการค้าเป็นสำคัญ
บันทึกของชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในอยุธยามีคุณค่าอย่างยิ่งในการชี้ ร่องรอยทางประวัติศาสตร์ ในเหตุการณ์ขับไล่ทหารฝรั่งเศสออกจากกรุงศรีอยุธยาปี พ.ศ.2231ของสมเด็จพระเพทราชา มีหลักฐานจดหมายของ ม.มาติโน ถึงผู้อำนวยการคณะการต่างประเทศ (Mission Etrangère de Paris) ลงวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ.2232 ระบุว่าเมื่อข่าวการต่อสู้กันระหว่างทหารสยามกับกองทหารฝรั่งเศสในป้อมที่เมืองบางกอกทราบไปถึงเมืองละโว้ก่อให้เกิดความแตกตื่นทั่วไป แต่เพียงชั่วระยะเวลาไม่นานนักฝ่ายสยามก็สามารถเกณฑ์คนชาติต่างๆ อาทิ แขกมัวร์ แขกมะลายู จีน มอญ ไทย และพวกโปรตุเกสจำนวนมากเข้าเป็นทหารมีเรือรบอังกฤษ 2 ลำเข้ามาเสริม ฝ่ายฮอลันดาซึ่ง ม.มาติโน ระบุว่าเป็น "ศัตรูลับๆ เฝ้าคอยแว้งกัดชาวฝรั่งเศส" ก็ได้ฉวยโอกาสเป็นธุระในการจัดหาคนและอาวุธส่งให้สยามมากที่สุดเท่าที่จะจัดให้ได้
[41] เอกสารของโปรตุเกสได้รายงานเช่นกันว่า การต่อสู้ระหว่างสยามกับฝรั่งเศสยุติลงเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ.2231 โดยทหารฝรั่งเศสยอมแพ้
[42] จากนั้นสมเด็จพระเพทราชาทรงโปรดให้เกณฑ์ชาวโปรตุเกสให้ส่งกำลังมาป้องกันเมืองและพระราชวัง ชาวโปรตุเกสอีกกลุ่มหนึ่งถูกส่งออกไปจัดขึงโซ่กั้นปากแม่น้ำไว้
[43] เพื่อป้องกันมิให้เรือฝรั่งเศสแล่นเข้ามาได้ เพราะทรงทราบจากคำให้การของฟอลคอนว่า จะมีเรือฝรั่งเศสเดินทางเข้ามาเร็วกว่าที่เคยมาถึงในปี พ.ศ.2230 พฤติกรรมในการเกณฑ์ชาวโปรตุเกสมาป้องกันเมืองและพระราชวังกับการส่งชาวโปรตุเกสออกไปขึงโซ่กั้นปากแม่น้ำไว้ เป็นลักษณะของการเกณฑ์ชาวต่างชาติมารับราชการเมื่อเกิดเหตุไม่สงบในบ้านเมือง ชาวโปรตุเกสเหล่านี้น่าจะมิใช่พวกที่เพิ่งเคยถูกเรียกไปป้องกันเมืองและขึงโซ่กั้นลำน้ำเป็นครั้งแรก เนื่องจากการเจาะจงให้ชาวโปรตุเกสไป "ขึงโซ่" เช่นนี้ บ่งชี้ให้เห็นว่าพวกเขาเคยมีประสบการณ์มาแล้ว สิ่งตอบแทนของการถูกเกณฑ์ครั้งนั้นภายหลังเหตุการณ์สงบ คือการพระราชทานเสื้อแก่กัปตันเรือชาวโปรตุเกสจากมาเก๊า และหัวหน้าชาวโปรตุเกสจากชุมชนโปรตุเกสในเมืองพระนครศรีอยุธยา ได้แก่ อังเดร โกรมส์ , กาสปาร์ ฟรังกู , ฟรานซิชกู ฟึเรียรา จากพระหัตถ์ของสมเด็จพระเพทราชาตามประเพณีโบราณ พร้อมทั้งทรงสัญญาว่าจะพระราชทานบำเหน็จรางวัลให้อีก เรือโปรตุเกสและเรือสยามจึงรวบรวมกำลังป้องกันลำน้ำเอาไว้ร่วมกัน
[44] การถูกเรียกเกณฑ์เข้าร่วมต่อต้านกองทหารฝรั่งเศสของบรรดาชาวต่างชาติในครั้งนั้นสอดคล้องกับพระนิพนธ์ เรื่องตำนานการเกณฑ์ทหารของสมเด็จฯกรมพระยาดำรงฯ ว่าเป็นการเรียกใช้แรงงานของชาวต่างชาติที่ไปมาค้าขายชั่วคราว และการเกณฑ์ลูกหลานเชื้อสายของชาวต่างชาติ อันเกิดในสยามเป็นทหารเช่นเดียวกันทหารเกณฑ์ชาวไทย
[45] การเกณฑ์ชาวต่างชาติเข้าปฏิบัติหน้าที่ทหารอาสายังปรากฏขึ้นอีกสมัยเดียวกันนี้ (สมเด็จพระเพทราชา) เมื่อได้ส่งกองทัพไปปราบกบฏพระยานครราชสีมา
[46] หลักฐานของ ม.โบร์ตระบุว่า กบฏเมืองนครราชสีมาได้หนีไปยึดเมืองพิษณุโลก แต่ชาวสยามพากันปิดข่าวไม่ให้ใครรู้ และพยายามพูดกลบเกลื่อนเพราะเกลียดพระมหากษัตริย์พระองค์นี้ คนในค่ายโปรตุเกส จีน และญวนได้รับคำสั่งมาหลายเดือนแล้วให้ไปรักษาพะเนียดคล้องช้างโดยใช้ "โสหุ้ย" ของตนเอง
การเกณฑ์ทหารอาสาต่างชาติยังมีขึ้นอีกในสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ (พ.ศ.2275-2301) จดหมาย ม.เลอแฟฟ บาทหลวงฝรั่งเศสถึงผู้อำนวยการคณะต่างประเทศ ลงวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ.2284 ระบุว่าเมื่อมีเหตุการณ์กลาสีชาวฮอลันดาเมาเหล้าทุบตีพระในงานเผาศพ สมเด็จพระเจ้าบรมโกศทรงปิดแม่น้ำแล้วเอาปืนใหญ่ไปตั้งล้อมมิให้พวกฮอลันดาหนีออกจากค่าย บาทหลวงคณะมิซซังต่างประเทศ ได้รับคำสั่งจากทางการให้จัดพวกเข้ารีตไปช่วยทำหน้าที่ยิงปืนใหญ่ ม. เลอแฟฟ ระบุว่า
ในจำนวนนั้นมีคนเข้ารีตรู้จักการยิงปืนใหญ่เพียงคนเดียว นอกนั้นจะได้เคยเห็น เคยยัดดินปืน หรือเคยยิงปืนใหญ่แม้แต่สักครั้งเดียวกันหาไม่ เมื่อปิดล้อมไปได้ 8 วัน พวกในค่ายฮอลันดาก็ออกมารับผิดชอบ ทำให้เรื่องยุติลงด้วยดี โดยการที่พวกฮอลันดาต้องจ่ายค่าปรับไหมและต้องเดินทางออกจากค่ายฮอลันดาไป
[47]พวกเข้ารีตที่ถูกระบุอยู่ในจดหมายของ ม. เลอแฟฟ ก็คือชาวค่ายญวน และค่ายโปรตุเกส ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของมุขนายกมิซซังฝรั่งเศส (สังฆราชฝรั่งเศส) หลักฐานชิ้นเดียวกันระบุว่าสมเด็จพระเจ้าบรมโกศได้พระราชทานบำเหน็จแก่พวกเข้ารีต "ทหารอาสาต่างชาติ" โดยการเว้นภาษีและมีพระบรมราชานุญาตให้ตกเบ็ดในลำน้ำได้โดยไม่เสียอากรน้ำหลักฐานดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า การที่ชาวโปรตุเกสในสมัยอยุธยาตอนปลายถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารอาสา แทนการถูกจ้าง ดังที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านั้น อาจจะมีสาเหตุมาจากการมีชาวโปรตุเกสจำนวนมากตั้งถิ่นฐานอยู่ในกรุงศรีอยุธยาอย่างถาวรเป็นเวลานาน ทำให้ทางการสยามถือว่าพวกเขาเป็นพลเมืองของสยามส่วนหนึ่ง ซึ่งต้องมีหน้าที่ช่วยป้องกันพระนครจากศัตรูทั้งภายในและภายนอก การเกณฑ์ชาวโปรตุเกสเข้าเป็นทหารเกณฑ์ในกรณีเกินเหตุการณ์ไม่สงบขึ้นในบ้านเมืองอาจเป็นสิ่งบ่งชี้ให้เห็นว่าชาวโปรตุเกสถูกกลืนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบกำลังพลสยามอย่างหลวมๆ ซึ่งเห็นได้ชัดเจนในช่วงเวลานี้โดยระหว่างถูกเกณฑ์เป็นทหารนั้นพวกเขาจะต้องนำเสบียงอาหารติดตัวไปเองเช่นเดียวกับทหารเกณฑ์ชาวสยาม หลังเหตุการณ์สงบจึงได้รับบำเหน็จ และผลประโยชน์อื่นๆเป็นสิ่งตอบแทนทันทีเพื่อให้พวกเขาเกิดความพอใจ แต่แท้ที่จริงแล้วชาวโปรตุเกสยังคงมีฐานะเป็นคนในบังคับโปรตุเกสอยู่เช่นเดิม
ก่อนการเข้ามาของชาวฝรั่งเศสนั้นชาวโปรตุเกสบางส่วนยังมีบทบาททางการทหารในสยามค่อนข้างมาก บันทึกของ เดอ ชัวซี ระบุว่า ในเมืองบางกอกมีขุนนางผู้ใหญ่อยู่สองคน คนหนึ่งเป็นชาวโปรตุเกส มีหน้าที่ในการเป็นผู้บังคับบัญชาทหารที่เมืองบางกอก และมีอำนาจการบังคับบัญชาเหนือเจ้าเมืองด้วย
[48] บันทึกของ เชอวาลิเยร์ เดอ ฟอร์บัง นายทหารชาวฝรั่งเศส ซึ่งรับราชการในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ระบุว่า เมื่อเขาถูกส่งไปยังเมืองบางกอก เพื่อสร้างป้อมปราการแห่งใหม่เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งป้อม ปรากฏว่าที่เมืองบางกอก มีทหารชาวโปรตุเกสและทหารครึ่งชาติโปรตุเกสประจำอยู่ในป้อมขนาดเล็กรูปสี่เหลี่ยมแล้ว 2 กอง กองละ 40 คน และเมื่อทราบว่า ฟอร์บัง จะมาเป็นผู้บังคับบัญชาทหารในเมืองบางกอก ก็แสดงอาการต่อต้านฟอร์บัง โดยได้ก่อกบฏขึ้นในโบสถ์คาธอลิก มีนักบวชชาวโปรตุเกสผู้หนึ่ง เป็นผู้กล่าวปลุกระดมถ้อยคำที่กระตุ้นให้ทหารโปรตุเกสและทหารครึ่งชาติโปรตุเกสที่ป้อมเก่าเมืองบางกอก สำนึกถึงความยิ่งใหญ่ของชาติโปรตุเกสและความศรัทธาที่มีต่อศาสนา วาทะของบาทหลวงโปรตุเกสกระตุ้นให้บรรดาทหารเหล่านี้ มุ่งหน้าไปยังป้อมทหารแห่งใหม่รูปห้าเหลี่ยมที่ฟอร์บังกำลังควบคุมการก่อสร้างร่วมกับคอนสแตนติน ฟอลคอน ทันที
[49] บันทึกของ ฟอร์บังระบุว่าขณะที่เขากับฟอลคอนกำลังควบคุมการขุดคูรอบป้อมแห่งใหม่ที่เมืองบางกอก ปรากฏว่ามีนายทหารโปรตุเกสยศพันเอกเป็นผู้นำกองทหารโปรตุเกส เดินเข้าไปหาฟอลคอน และบอกให้เขาทราบว่า กองทหารโปรตุเกสในเมืองบางกอกได้ก่อกบฏขึ้นเนื่องจากไม่ต้องการอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของนายทหารฝรั่งเศส
[50] แต่แผนการต่อต้านนายทหารฝรั่งเศสล้มเหลว เนื่องจากหัวหน้ากบฏถูกจับกุมตัวเสียก่อน จากนั้น ฟอลคอนจึงได้เข้าไปเกลี้ยกล่อมให้ทหารโปรตุเกสและทหารครึ่งชาติโปรตุเกสยอมล่าถอยกลับไปยังป้อมของตนดังเดิม ผลจากการก่อความไม่สงบครั้งนี้ทำให้นายทหารชาวโปรตุเกสระดับหัวหน้าสองคนที่สมรู้ร่วมคิดกันถูกพิจารณาโทษประหารชีวิต นายทหารบางคนถูกขับออกไปจากเมืองบางกอกส่วนพลทหารนั้นถูกตีตรวนจำคุกและให้ทำงานขุดคูป้อมแห่งใหม่
[51] ต่อมาเมื่อเกิดกบฏมักกะสันขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน ทหารโปรตุเกสเหล่านี้ได้ถูกเรียกกลับมารวมตัวกันเป็นกองทหารดังเดิม
[52] บรรดาทหารชาวโปรตุเกส
[53]และทหารครึ่งชาติโปรตุเกสได้เข้าสมทบกับทหารเกณฑ์ชาวสยามจำนวนประมาณ 2,000 คน มีทหารฝรั่งเศสและอังกฤษร่วมด้วยฟอร์บัง ได้สั่งให้ทหารเกณฑ์เหล่านี้เข้ารับการฝึกแบบฝรั่งเศสทันที
[54] การฝึกสอนเป็นไปอย่างจริงจังภายใต้ความช่วยเหลือของทหารโปรตุเกสที่รู้ภาษาไทยและชาวฝรั่งเศสอีกผู้หนึ่งซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นสิบเอก ภายในระยะเวลาไม่ถึง 10 วัน ทหารเกณฑ์เหล่านั้นก็เรียนรู้วินัยการฝึกการเข้าแถว แยกแถว ยืนยาม และเปลี่ยนยามได้คล่องแคล่วเช่นเดียวกับทหารฝรั่งเศส
[55] ทหารโปรตุเกสกองหนึ่ง จำนวน 40 คน ภายใต้การบังคับบัญชาของนายทหารยศร้อยเอกชาวอังกฤษ ได้รับคำสั่งจากฟอร์บังให้ไปขัดขวางทางเดินเรือของกบฏมักกะสัน ซึ่งอาจหมายถึงการขึงโซ่ขวางเรือกบฏในแม่น้ำเจ้าพระยา
[56] ผลจากเหตุการณ์ปราบกบฏมักกะสัน ทำให้ทหารโปรตุเกสเสียชีวิตในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่รวม 17 คน จากจำนวนทหารโปรตุเกส 2 กอง กองละ 40 คน กรมทหารดังกล่าวนี้มีบทบาทอย่างยิ่งในการปราบปรามกบฏมักกะสันโดยการอำนวยการของฟอลคอนและฟอร์บัง
[57] สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงวินิจฉัยว่า กรมทหารดังกล่าวนี้เรียกว่า "กรมเกณฑ์หัดอย่างฝรั่ง"
[58]การเกณฑ์ทหารชาวสยามจำนวน 2,000 นาย เข้ามาฝึกในกรมเกณฑ์หัดอย่างฝรั่ง เป็นเครื่องยืนยันว่า กรมนี้เป็นกรมทหารอาสา
[59] แม้จะมีครูฝึกเป็นทหารรับจ้างชาวต่างชาติก็ตาม และหลักฐานที่ปรากฏอยู่ในตารางทำเนียบตำแหน่งนาทหารหัวเมืองกรมเกนหัดหย่างฝารั่งชี้ให้เห็นว่า กรมเกณฑ์หัดอย่างฝรั่งมีการฝึกและจัดการกองทหารทั้งแบบทหารเรือและทหารบก คือ มีทั้งปลัดเรือซ้าย ปลัดเรือขวา และปลัดกรมพนักงานบก ทั้งนี้อาจสืบเนื่องมาจากกรมดังกล่าวนี้มีครูฝึกเป็นทหารเรือชาวฝรั่งเศสนั่นเอง
ทำเนียบตำแหน่งนาทหารหัวเมืองกรมเกนหัดหย่างฝารั่ง
ราชทินนาม ตำแหน่ง ศักดินา
พระพิพิทเดชะ เจ้ากรมเกนหัดหย่างฝารั่ง 800
หลวงพิพิทณรงค์ ปหลัดเรือซ้าย 600
หลวงทรงวิไชย ปหลัดเรือขวา 600
หลวงรามรณภพ ปลัดกรมพนักงานบก 600
หมื่นในกรม 200
พันหัว 100
พันท้าย 100
หมื่นณราพลสิทธิ สมุหบาญชี 300
หมื่นฤทธพลไชย สมุหบาญชี 300
(ที่มา : "พระไอยการตำแหน่งนาทหารหัวเมือง" กฎหมายตราสามดวง เล่ม1, หน้า299.)
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายวิวัฒนาการของ "กรมทหารฝรั่งแม่นปืน" อันปรากฏอยู่ใน "พระไอยการตำแหน่งของทหารหัวเมือง" ในกฎหมายตราสามดวงว่ามีต้นเค้ามาจากหลักฐานของแฟร์เนา มึนดึช ปินตู ที่กล่าวถึงบทบาทของทหารโปรตุเกสจำนวน 120 คน ถูกเกณฑ์ไปรบศึกเชียงกราน ในกองทัพสมเด็จพระไชยราชาธิราช เมื่อปี พ.ศ.2081[60] "กรมทหารฝรั่งแม่นปืน" ในพระนิพนธ์สมเด็จฯกรมพระยาดำรงฯ กับที่ปรากฏในพระไอยการตำแหน่งนาทหารหัวเมือง มีกำเนิดมาจากกลุ่มทหารอาสาโปรตุเกสจำนวน 120 คน ในรัชสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช กรมทหารฝรั่งแม่นปืนเพียงกรมเดียวเท่านั้นที่ระบุจำนวน "เลว" เอาไว้ แน่นอนว่า 150 คน หากรวมมูลนายเข้าไปด้วยแล้วก็มีจำนวนประมาณ 170 คน ขณะที่หน่วยทหารกรมอื่นมิได้ระบุจำนวนเลวไว้คงที่เช่นเดียวกับกรมทหารฝรั่งแม่นปืน การระบุ "เลว" ในกรมทหารฝรั่งแม่นปืน หากพิจารณาอีกด้านหนึ่ง น่าจะช่วยให้เข้าใจปรากฏการณ์บางอย่างได้บ้าง หลักฐานหลายชิ้นของชาวต่างชาติที่เข้ามากรุงศรีอยุธยา ได้ระบุถึงการ "หนี" ราชการ หรือ "ลาออก" หรือไม่ยอมรับตำแหน่งที่ได้รับพระราชทาน ด้วยสาเหตุคล้ายๆกัน คือการไม่ได้รับค่าจ้างตามที่ได้ตกลงเอาไว้กับทางการ[61] เช่นในกรณีของ ม. เดอ ลามา วิศวกรนักออกแบบป้อมและทำแผนที่คนสำคัญชาวฝรั่งเศส เป็นชาวต่างชาติผู้หนึ่งซึ่งไม่ประสงค์จะรับราชการกับทางการสยาม แม้จะได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ถึง "ออกพระ" ดังรายงานของ ม.เดฟารจช์ ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ.2230 ระบุว่า
ม.เดอ ลามา ร้องว่า เมื่อ เชอวาลิเยร์ เดอ โชมอง ได้สั่งให้ ม. เดอ ลามา มาอยู่เมืองไทยนั้น เชอวาลิเยร์ เดอ โชมองได้ทำให้ ม.เดอ ลามา เข้าใจว่า พระเจ้ากรุงฝรั่งเศส จะได้พระราชทานเงินเพื่อให้ ม.เดอ ลามา ในตำแหน่งเอนยิเนียร์ ม.เดอ ลามา หวังใจเช่นนี้ จึงไม่ยอมรับตำแหน่งเจ้าเมืองมะริด ซึ่งพระเจ้ากรุงสยามจะพระราชทานให้ ทั้งจะพระราชทานยศให้เป็นออกพระด้วย ม.เดอ ลามา จึงขอให้ได้รับตำแหน่งแทน ม.ปลังเดีย…
[62]ปรากฏการณ์ข้างต้นสะท้อนให้เห็นถึงความไม่พร้อมของ "ทางการสยาม" ในการจ่ายค่าจ้างเป็นรายเดือน ให้แก่ลูกจ้างชาวต่างชาติได้ ดังนั้นการระบุ "เลว" ใน "กรมทหารฝรั่งแม่นปืน" ไว้เพียง 150 คนอาจเป็นเครื่องแสดงถึง "ความประสงค์จะที่ประหยัดค่าจ้าง เลว หรือ นาย " ในกรมนี้มิให้บานปลายออกไป กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือจำนวน "เลว" 150 คนที่ถูกระบุในกฏหมายเป็นสิ่งบ่งชี้สถานภาพของกรมทหารฝรั่งแม่นปืนว่าเป็นหน่วยทหารรับจ้างเพียงหน่วย
63เดียวที่หลงเหลืออยู่ หลักฐานประวัติศาสตร์ พิสูจน์ให้เห็นสถานภาพและช่วงเวลาที่ทหารรับจ้างโปรตุเกสเข้ามามีบทบาทและเกี่ยวข้องกับบริบททางประวัติศาสตร์ในสมัยอยุธยา ทำให้ได้พบว่าทหารโปรตุเกสในสมัยอยุธยามี 2 สถานภาพตามลำดับเวลาต่างๆ กันได้แก่ การเป็นทหารอาสา และทหารรับจ้าง โดยหลักฐานหรือเอกสารระบุถึงสถานภาพของทหารแต่ละประเภทเพียงกว้างๆเท่านั้น อาทิหลักฐานของปินตูระบุถึงการที่ชาวโปรตุเกสถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารอาสาตำแหน่งทหารรักษาพระองค์ เพื่อรบกับเชียงใหม่ ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ระบุว่าสมเด็จพระเอกาทศรถและสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมทรงจ้างชาวโปรตุเกสจำนวนหนึ่งเป็นทหารรักษาพระองค์
64 แม้ในระยะหลังก็มีหลักฐานระบุถึงการจ้างชาวโปรตุเกสไปปฏิบัติหน้าที่ในฐานะทห
64ารที่ป้อม ณ เมืองบางกอกก่อนที่ทหารฝรั่งเศสจะเดินทางเข้ามา โดยระบุถึงการจ่ายเงินเดือนแก่พวกเขาเป็นค่าจ้าง แสดงให้เห็นถึงสถานภาพของพวกเขาได้ชัดเจนกว่าหลักฐานในสมัยแรกๆ เมื่อเกิดปัญหากบฏและความวุ่นวายอันเนื่องมาจากเหตุร้ายที่ชาวต่างชาติก่อขึ้นก็ได้พบหลักฐานของการเกณฑ์ชาวโปรตุเกสเข้ามาเป็นทหารอาสาเพื่อสู้รบกับศัตรูของทางการหรือเพื่อปราบปรามชาวต่างชาติที่ก่อความวุ่นวาย และในกรณีของการปิดล้อมค่ายฮอลันดาในรัชสมัยพระเจ้าบรมโกศ ทางการได้เกณฑ์ "พวกเข้ารีต" มาเป็นทหารอาสาซึ่งมีชาวค่ายโปรตุเกสรวมอยู่ด้วย ทั้งๆที่พวกเขาเป็นส่วนมากไม่มีความรู้เกี่ยวกับการยิงปืนใหญ่ ปรากฏการณ์เช่นนี้อาจสะท้อนให้เห็นว่าทางการสยามขาดบุคลากรทางทหารก็ได้ แต่การที่ทางการเกณฑ์ "พวกเชื้อสายฝรั่ง" มาปะทะกับ "ฝรั่งด้วยกัน" ทำให้เชื่อได้ว่าอาจเป็นวัตถุประสงค์และวิเทโศบาย ที่จะหลีกเลี่ยงจากการบาดหมางกับ "ฝรั่ง" โดยตรง ผลของการเกณฑ์ทำให้พวกเขาต้องนำเสบียงอาหารไปเอง เช่นเดียวกับชาวสยามและคนชาติอื่นที่ถูกเกณฑ์ แต่ภายหลังการเสร็จภารกิจแล้วพวกเขามักจะได้รับพระราชทานบำเหน็จตอบแทนตามโบราณราชประเพณีเสมอ
หลังรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ยังไม่พบว่ามีหลักฐานชิ้นใดระบุว่ามีการจ้างชาวโปรตุเกสเข้าเป็นทหารรักษาพระองค์ ถึงกระนั้นก็ตามการปรากฏตัวของขุนฤทธิ์สำแดงเจ้ากรมซ้ายแห่ง "กรมทหารฝรั่งแม่นปืน" ในกองทัพกู้ชาติของสมเด็จพระเจ้าตากสินเมื่อปี พ.ศ.2311
[63] และในพระไอยการตำแหน่งนาทหารหัวเมืองน่าจะเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่ายังมีคนเชื้อสายโปรตุเกสรับราชการอยู่ในกรมทหารฝรั่งแม่นปืน และกรมทหารฝรั่งแม่นปืนยังเป็น "กรมทหารรับจ้างชาวต่างชาติ" เพียงกรมเดียวที่หลงเหลือตกค้างอยู่ในเอกสารประวัติศาสตร์สืบเนื่องไปจนถึงสมัยกรุงธนบุรี สิ่งสำคัญที่ชี้ชัดเช่นนั้นอยู่ที่หลักฐานของการระบุจำนวนไพร่ทหาร "เลว" เอาไว้คงที่ในกฎหมายชัดเจน คือ หลวง 2 ขุน 4 หมื่น 2 หมวด 12 เลว 150 รวม 170 คน
[64] ในขณะที่หลักฐานเกี่ยวกับกรมอาสาจาม อาสาญี่ปุ่น อาสามอญ ฯลฯ ที่ปรากฏในกฎหมายตราสามดวงมิได้ระบุจำนวนกำลังพลทั้งหมดให้ทราบแต่อย่างใด ความหมายของการระบุจำนวน "เลว" ตายตัว มิเพียงควบคุมไม่ให้ทหารรับจ้างกรมนี้มีอำนาจทางการทหารและการเมืองในพระนครเกินขอบเขตที่จำเป็นแล้วยังอาจตีความได้ว่า เป็นเครื่องแสดงขอบ เขตของทางการในการจ่ายเงินเดือนหรือค่าจ้างแก่ทหารในกรม โดยการจำกัด "จำนวน" เอาไว้มิให้มากหรือน้อยไปกว่านี้ เนื่องจากโดยทั่วไปแล้วการจ่ายค่าตอบแทนในการปฏิบัติงานหรือ "รับราชการ" เป็นรายเดือนมิใช่จารีตหรือวิสัยของทางการสยามมาแต่เดิม ในสมัยหลังบทบาทและความสำคัญของทหารรับจ้างในกรมฝรั่งแม่นปืนลดน้อยลงไป เนื่องจากค่ายโปรตุเกสมีจำนวนชาวค่ายเพิ่มมากขึ้นใกล้เคียงกับชาวจีนและชาวมุสลิมในกรุงศรีอยุธยา ชาวค่ายโปรตุเกสจึงมักจะ "ถูกเกณฑ์" ไปเป็นทหารอาสาอยู่เสมอโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินตามความเหมาะสม หากแต่ได้รับพระราชทานบำเหน็จรางวัลแทนค่าจ้างรายเดือน
ทำเนียบตำแหน่งนาทหารหัวเมืองกรมทหารฝรั่งแม่นปืน
ราชทินนาม ตำแหน่ง ศักดินา
ขุนกระละมาพิจิตร เจ้ากรมขวา 400
หมื่นแผลงผลาญ ปหลัดกรม 200
ขุนฤทธสำแดง เจ้ากรมซ้าย 400
หลวงศักดาวุธ เจ้ากรมขวา 400
ขุนชนะทุกทิศ ปหลัดกรม 200
หลวงรุทสรเดช เจ้ากรมซ้าย 400
ขุนฤทธิราวี ปลัดกรม 200
- นายหมวด 12 คน 50
- เลว 150 คน 30
(ที่มา : " พระไอยการตำแหน่งนาทหารหัวเมือง" กฎหมายตราสามดวง เล่ม1, หน้า300-301.)
ในระยะหลังสงครามเสียกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ.2310 ชาวโปรตุเกสที่อาศัยอยู่ในชุมชนโปรตุเกสมีส่วนร่วมในการอาสาต่อสู้ป้องกันราชธานีแห่งนี้อย่างเต็มความสามารถ พวกเขาได้รับอาวุธต่างๆจากทางการสยามมาใช้ปกป้องโบสถ์ของตน ได้แก่ ปืนใหญ่ 30 กระบอก อาวุธปืนสั้น และดาบจำนวนมาก ชุมชนชาวคริสต์และชาวโปรตุเกสได้ใช้เงินอีกกว่า 5,000 ฟรังก์ในการป้องกันเมืองพระนครศรีอยุธยา แม้ว่าแท้ที่จริงแล้วจะมีชาวคริสต์เพียง 80 คนเท่านั้นที่รู้วิชาการทหาร พวกเขาถูกส่งออกไปป้องกันจุดต่างๆของเมือง
[65] และได้ช่วยป้องกันวิทยาลัยของมุขนายกมิซซัง ปิแอร์ บริโกต์ (Pièrre Brigot) ให้พ้นจากการโจมตีของทหารพม่า หลักฐานของตุรแปงระบุว่าทหารพม่ารู้สึกสับสนและหวั่นเกรงเมื่อการโจมตีไร้ผลจึงล่าถอยไปด้วยความชื่นชมในความกล้าหาญของชาวคริสต์
[66] มุขนายกมิซซังบริโกต์ ซึ่งเป็นผู้อยู่ในเหตุการณ์เองบันทึกไว้ว่า วันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ.2309 ทหารพม่ายึดวัดที่ชาวจีนใช้เป็นที่มั่นต่อสู้กับพม่าได้แล้ว จากนั้นก็ระดมยิงไปยังโบสถ์นักบุญยอแซฟ (S. José) ในค่ายฝรั่งเศส ซึ่งพวกเข้ารีตได้ใช้เป็นที่มั่น ต่อมาในวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ.2310 ทหารพม่าได้ถอนกำลังกลับไปอย่างน่าประหลาดใจ ทำให้สามเณราลัยปลอดภัย ม.บริโกต์ ระบุว่า
ชาวคริสตังจากค่ายโปรตุเกสได้ผนึกกำลังกับชาวจีนในการต่อสู้กับพม่า ทหารพม่าเผชิญกับการต่อต้านที่โรงสินค้าของชาวฮอลันดา และได้โจมตีบริเวณวัดขนาดใหญ่ที่ชาวจีนจำนวน 2,000 คนซ่อนตัวอยู่ข้างใน จากนั้นได้ตัดการติดต่อกับโรงสินค้า ของฮอลันดาทำให้พวกเขาขัดสนเสบียงอาหาร ทำให้ทหารพม่าสามารถยึดวัดแห่งนั้นได้สำเร็จ แล้วเคลื่อนกำลังเข้าใกล้ที่ตั้งของค่ายโปรตุเกส ซึ่งอยู่ห่างออกไปจากโบสถ์เซนต์ยอแซฟ ระยะทางปืนยิงถึง ขณะนั้นบาทหลวงหนุ่มชาวโปรตุเกสคนหนึ่งถูกความหิวและความกลัวบังคับให้ต้องหลบออกไปยังโบสถ์นักบุญ ยอแซฟ เพื่อหายารักษาอาการเจ็บป่วย ฝ่ายทหารพม่าได้จับกุมชาวสยามที่ออกมาข้างนอกกำแพงเมืองอย่างทารุณ และเผาโรงสินค้าของฮอลันดาหลังจากปิดล้อมค่ายโปรตุเกส ซึ่งมีบาทหลวงคณะดูมินิกัน (Dominicano) และบาทหลวงคณะเยซูอิต (Jesuéta) ประจำอยู่ในนั้น บาทหลวงทั้งสองได้ยอมให้ทหารพม่าจับกุมโดยดีพร้อมกับชาวคริสต์อื่นๆ เมื่อวันที่ 21 มีนาคม (พ.ศ.2310)…
[67]นายทัพพม่าผู้ซึ่งต้องการหลีกเลี่ยงการเสียเลือดเสียเนื้อและชีวิตได้ทำหนังสือถึงมุขนายกมิซซังแห่งคณะดูมินิกันชาวโปรตุเกส เพื่อให้ชาวค่ายโปรตุเกสยอมแพ้โดยสัญญาว่าจะไม่ทำความเสียหายแก่โบสถ์หรือสามเณราลัยและสิ่งของมีค่าอื่นๆ แต่ในวันที่ 23 มีนาคม ทหารพม่าได้เผาซากปรักหักพังที่อยู่รอบๆโบสถ์นักบุญยอแซฟ รวมทั้งสิ่งต่างๆที่เหลือจนหมดสิ้น
[68] กรุงศรีอยุธยาถูกทหารพม่าเผาผลาญจนแหลกรานในตอนดึกของคืนวันที่ 7-8 เมษายน พ.ศ.2310 พลเมืองจำนวนมากถูกฆ่าตาย ชาวสยามประมาณ 30,000 คน รวมทั้งสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรและชาวคริสต์ถูกกวาดต้อนไปในฐานะเชลย
[69] ในระหว่างการทำสงครามกู้อิสรภาพจากพม่าของสมเด็จพระเจ้าตากสิน เมื่อปี พ.ศ.2310-2311 สมาชิกชุมชนชาวโปรตุเกสและทหารจากกรมฝรั่งแม่นปืนส่วนหนึ่งได้มีส่วนร่วมในการทำศึกกู้อิสรภาพครั้งนี้เช่นกัน ทำให้พวกเขาได้รับพระราชทานที่ดินให้ตั้งชุมชนแห่งใหม่เรียกว่า ค่ายหรือหมู่บ้านนักบุญรูซาริอู (Bandel
[70] de N. Senhor do Rosário) พร้อมทั้งพระราชทานโบสถ์ให้ด้วย
* ดร.เจากิง ดึ กัมปุช
[71] ระบุว่า เมื่อพระยาตากสินทรงสถาปนาพระราชธานีแห่งใหม่ขึ้นที่กรุงธนบุรี มีชาวโปรตุเกสจำนวน 79 คน ได้เข้าร่วมทำศึกในสงครามกู้อิสรภาพนี้ด้วย พระยาตากสินทรงตระหนักถึงการรับราชการสนองพระเดชพระคุณดังกล่าวของพวกเขา ดังนั้นในปี พ.ศ.2311 จึงได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตพระราชทานโบสถ์และที่ดินเพื่อสร้างบ้านเรือนแก่ชาวโปรตุเกสทั้งหลายรวมทั้งญาติพี่น้องของพวกเขาด้วย นอกจากชื่อของชาวโปรตุเกสทั้ง 79 คนที่มีส่วนร่วมในสงครามกู้อิสรภาพแล้ว ยังมีชื่อของชาวโปรตุเกสที่อพยพไปลี้ภัยยังเมืองต่างๆและได้ย้อนกลับเข้ามาตั้งถิ่นฐานยังชุมชนโปรตุเกสแห่งใหม่ที่กรุงธนบุรีร่วมกับทหารผ่านศึกดังกล่าวด้วย ดังหลักฐานต่อไปนี้
บันทึก (เกียรติคุณ)
ในปี พ.ศ.2311 รัชสมัยพระยาตากสินแห่งจันทบูรณ์ได้เสวยราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินแห่งสยามด้วยความช่วยเหลือจากชาวคริสตัง (cristãos) แห่งหมู่บ้านโปรตุเกส สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงให้หล่อปืนใหญ่ขึ้นให้ชื่อว่า ลาการ์ตู (Lagarto) เพื่อเป็นเกียรติแก่ อันตอนิอู เอนริก (António Henrique) อาจารย์ ? (Ajat) อังบรอชิอู คาร์วัลญู (Ambrósio Carvalho) จูอาว? (Luão - Juão?) ชิซุต (Sizot) มานูเอล กูมึช (Manuel Gumes) ขุนฤทธิ์สำแดง (Kunrep Samgend**) ดอง จูอาว ขุนเสาธาอัคนี (Don João Kunt Saotha Achane* ) อูร์บานู รูดริเกช[72] (Urbarno Rodrigues) ผู้ได้ช่วยเหลือด้วยความกล้าหาญจนได้รับชัยชนะเหนือเมืองบางกอก** ยึดครองเมืองไว้ได้ทั้งหมด และได้ช่วยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสร้างพระราชวัง...สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานให้พวกเขาตั้งบ้านเรือนให้อยู่ใกล้กับป้อมของฝรั่งเศส พร้อมกับสร้างโบสถ์พระราชทานแก่พวกเขาทางด้านใต้ของค่ายโปรตุเกสแห่งนี้ และมีพระราชโองการให้สืบหาครอบครัวของโปรตุเกสและชาวคริสต์อื่นๆที่สูญหายไปจากการออกทำศึกหลายแห่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์จะทำนุบำรุงบาทหลวงซึ่งนุ่งห่มชุดขาว*** เนื่องด้วยพระองค์ทรงตระหนักดีว่าชาวคริสต์จะต้องมีบาทหลวงประจำอยู่ที่โบสถ์ บรรดาชาวคริสต์ของหมู่บ้านโปรตุเกส (bandel dos Portugueses) ที่หนีศัตรูไปยังที่ต่างๆได้ย้อนกลับมาในปี พ.ศ.2311 [73] อาจกล่าวได้ว่าสมาชิกส่วนหนึ่งของชุมชนชาวโปรตุเกสในเมืองพระนครศรีอยุธยามีบทบาทเป็นทหารอยู่ในสยามมาโดยตลอด เริ่มจากการเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธปืนในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่2 เป็นทหารรักษาพระองค์ในรัชสมัยพระชัยราชา ประจำอยู่ในกองทหารที่ยกออกไปปราบกบฏญาณพิเชียรในรัชสมัยพระมหาธรรมราชา เป็นทหารรักษาพระองค์สมเด็จพระนเรศวร การมีส่วนร่วมต่อสู้ป้องกันเมืองพระนครศรีอยุธยานับตั้งแต่สงครามกับพม่าในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิจนถึงสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ การร่วมต่อสู้กับพม่าเคียงบ่าเคียงไหล่สมเด็จพระเจ้าตากสินหลังเสียกรุงครั้งที่2 รวมไปถึงการมีสถานภาพเป็นทหารเกณฑ์เช่นเดียวกับพลเมืองชาวสยามเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่สงบและเมื่อสยามถูกรุกรานจากภายนอกเป็นต้น บทบาทของพวกเขาเหล่านี้เป็นบทบาทที่เกิดขึ้นในฐานะปัจเจกชน หรือฐานะของชุมชนโปรตุเกสกึ่งอิสระที่อยู่นอกรัฐโปรตุเกสอินเดีย ซึ่งยังมีความผูกพันในฐานะคนในบังคับโปรตุเกส จากการที่หัวหน้าชุมชนได้รับการแต่งตั้งจากทางการรัฐโปรตุเกสอินเดียและยังดำเนินชีวิตด้วยวัฒนธรรมที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษชาวโปรตุเกสอย่างต่อเนื่อง
การอ้างอิง[1] Fernand Mendez Pinto, The voyages and adventures of Fernand Mendez Pinto , Translated by Henry Cogan (London : Dawson of Pall Mall, 1969), p262. อ้างตามหลักฐานของปินตู ซึ่งระบุว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2081 และดู "ไทยรบพม่า", ประชุมพงศาวดารเล่ม5 (พระนคร : องค์การคุรุสภา,2506), หน้า11.
[2] Fernand Mendez Pinto , op.cit., p.262-278.
[3] W.A.R. Wood , "Fernão Mendez Pinto's Account of Events in Siam," Journal of the Siam Society Vol.II (1959) :199.
[4] กรมวิชาการ,470 ปีความสัมพันธ์ระหว่างไทยและโปรตุเกส. แปลโดย ลินจง สุวรรณโภคิน . กรุงเทพ : โรงพิมพ์คุรุสภา,2531, หน้า95.
[5] Fernand Mendez Pinto, op.cit., p262.
[6] พระราชพงศาวดารฉบับ พระราชหัตถ เลขา เล่ม 1 ( พระนคร : โรงพิมพ์อักษรสัมพันธ์ , 2505), หน้า261.
[7] สุเนตร ชุตินทรานนท์,พม่ารบไทย :ว่าด้วยการสงครามระหว่างไทยกับพม่า(กรุงเทพ : สำนักพิมพ์มติชน, 2537), หน้า70-71.
[8] สุเนตร ชุตินทรานนท์, สงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่2 พ.ศ.2310 : ศึกษาจากพงศาวดาร พม่าฉบับราชวงศ์คองบอง ( กรุงเทพ : สำนักพิมพ์สยาม, 2534),หน้า36-37 และ พม่ารบไทย, หน้า69.
[9] Joaquim de Campos , Early Portuguese Accounts of Thailand ( Portugal : Camara Municipal de Lisboa , 1983) , p.21.
[10] Fernand Mendez Pinto, op.cit., p.317.
[11] กรมศิลปากร,การท่องเที่ยวผจญภัยของแฟร์นังค์ มังเดซ ปินโต ค.ศ.1537-1558 แปลโดย สันต์ ท.โกมลบุตร (กรุงเทพ : สหประชาพานิช, 2526),หน้า 64.
[12] ลาลูแบร์, จดหมายเหตุลาลูแบร์ฉบับสมบูรณ์, แปลโดย สันต์ ท.โกมลบุตร ( พระนคร : สำนักพิมพ์ก้าวหน้า, 2510) , หน้า502.
[13] E.W.Hutchinson, "Adventurers in Siam in the seventeenth century" , p.22.
[14] Fernand Mendez Pinto, op.cit., p262.
[15] Ibid., p.262.
[16] E.W.Hutchinson, op.cit., p.22.
[17] Ibid., p.23.
[18] John Bowring, The kingdom and the people of Siam (Kuala Lumpur : Oxford University Press,1969), p.60.
[19] Joaquim de Campos, op.cit., p.8-9.
[20] Suthachai Yimprasert, "Portuguese Lançados in Asia in the sixteenth and seventeenth centuries," ( Doctor of Philosophy 's Thesis, The University of Bristol, 1998) , p.261.
[21] ดำเนิร เลขะกุล, "การทหารไทยสมัยอยุธยา," รวมปาฐกถางานอนุสรณ์อยุธยา 200 ปี (พระนคร : องค์การค้าคุรุสภา, 2510), หน้า99.
[22] เรื่องเดียวกัน, หน้า105.
[23] Maung Htin Aung, A History of Burma (New York : Columbia University Press,1962), p.121.
[24] G.E.Harvey, History of Burma (London : Frank Cass and Company Limited, 1967), p.132.
[25] ทรงใช้คำว่า Firearms ในความหมายของปืนใหญ่มาแต่ต้น ดู H. R.H. Prince Damrong, "The Introduction of Western Culture in Siam," Journal of Siam Society Vol.VII (1959) : 1-12.
[26] Rong Syamananda, A History of Thailand (Bangkok : Chulalongkorn University, 1986), p.45. สงครามระหว่างสยามกับพม่าในปี พ.ศ.2106 มีทหารโปรตุเกสร่วมมาในกองทัพพม่าประมาณ 2,000 คน ดู ฟรังซัวร์ อังรี ตุรแปง, เรื่องเดิม, หน้า20.
[27] Ibn Muhumm~ad Ibr~ahim, The ship of Sulaiman,Translated by John o'Kance (London : Routled & Kegan Paul Perss, 1972), p.100.
[28] Ibid., p.101.
[29] Ibid., p.156.
[30] กีย์ ตาชารด์, การเดินทางของบาทหลวงตาชารด์ เล่ม1-3 ฉบับลายมือเขียนที่คัดมาจาก ต่างประเทศ (กรุงเทพมหานคร :โรงพิมพ์ศิวพร, 2521), หน้า39.
[31] ประชุมพงศาวดาร เล่ม28, หน้า9.
[32] สุพรรณี กาญจนัษฐิติ, "จดหมายเหตุอเล็กซานเดอร์ ฮามิลตัน เกี่ยวกับอาณาจักรสยาม," วารสารอักษรศาสตร์มหาวิทยาลัยศิลปากร 11 (กันยายน 2531 ) :56.
[33] Ibn Muhumm~ad Ibr~ahim, op.cit., p.56.
[34] ชิมอง เดอ ลาลูแบร์, เรื่องเดิม,หน้า 431-435.
[35] เรื่องเดียวกัน, หน้า433.
[36] "จดหมายเหตุวันวลิต ฉบับสมบูรณ์" ประชุมพงศาวดารภาคที่79, หน้า180.
[37] เรื่องเดียวกัน, หน้า180.
[38] ลาลูแบร์, เรื่องเดิม, หน้า434.
[39] ลาลูแบร์, เรื่องเดิม, หน้า43434-435.
[40] กรมศิลปากร,เอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งชาติ ของกระทรวงทหารเรือฝรั่งเศส เกี่ยวกับประเทศสยาม, แปลโดยสันท์ ท. โกมลบุตร ( กรุงเทพ : โรงพิมพ์การศาสนา, 2524) หน้า279.
[41] "รายงานของ ม.มาติโน" ประชุมพงศาวดารเล่ม20,หน้า 279.
[42] กรมศิลปากร, "เรื่องข่าวสยาม," บันทึกสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศในคริสตศตวรรษที่17 เล่ม5, แปลโดยไพโรจน์ เกษแม่นกิจ (กรุงเทพ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2520),หน้า 61.
[43] เรื่องเดียวกัน, หน้า61.
[44] เรื่องเดียวกัน , หน้า63.
[45] "ตำนานการเกณฑ์ทหาร," ประชุมพงศาวดารเล่ม14, (พระนคร : องค์การค้าของคุรุสภา, 2507) , หน้า133-134
[46] พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่าพ.ศ.2238แต่จดหมายเหตุ ม.โบรต์ ถึง ผอ.คณะต่างประเทศระบุว่าเป็นเดือน ส.ค.2243. ประชุมพงศาวดารเล่ม21, หน้า308-310.
[47] ประชุมพงศาวดาร เล่ม22, หน้า152-153.
[48] เดอ ชัวซี, จดหมายเหตุรายวันการเดินทางไปสู่ประเทศสยาม ในปี พ.ศ.2228 และ2229 ฉบับสมบูรณ์ แปลโดยสันต์ ท. โกมลบุตร. (กรุงเทพ: ก้าวหน้าการพิมพ์, 2516), หน้า348.
[49] ประชุมพงศาวดารภาคที่80 จดหมายเหตุฟอร์บัง, หน้า96.
[50] เรื่องเดียวกัน, หน้า96.
[51] เรื่องเดียวกัน, หน้า98.
[52] เรื่องเดียวกัน, หน้า106.
[53] เชอวาลิเยร์ เดอ ฟอร์บัง ระบุว่า นายทหารโปรตุเกสบางคน เป็นชาวโปรตุเกสที่เกิดในตะวันออก ซึ่งอาจหมายถึงกรุงศรีอยุธยา หรือเมืองบางกอก จึงทำให้นายทหารพวกนี้ รู้ภาษาไทย, เรื่องเดิม, หน้า111-114.
[54] ประชุมพงศาวดารภาคที่80 จดหมายเหตุฟอร์บัง,หน้า106.
[55] กรมศิลปากร, บันทึกเรื่องสัมพันธไมตรีฯ เล่ม5, หน้า111.
[56] เรื่องเดียวกัน, หน้า63.
[57] ประชุมพงศาวดารภาคที่80 จดหมายเหตุฟอร์บัง, หน้า110-129.
[58] ประชุมพงศาวดาร เล่ม14, หน้า142-143.
[59] กรมศิลปากร,ลัทธิธรรมเนียมต่างๆ เล่ม1 (นครหลวง : อักษรบริการ,2515), หน้า390.
[60] พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม2 (กรุงเทพ : ไอเดียสแควร์, 2535), หน้า259-260.
[61] ประชุมพงศาวดาร เล่ม25, หน้า219.
[62] ประชุมพงศาวดาร เล่ม26, หน้า3,7.
63 Pinto, op.cit.,p.262.
64 Suthachai Yimprasert, op. cit., p.188.
[63] P.Manuel Teixeira, Portugal na Tailandia (Macau : Imprensa Nacional de Macau, 1983), p.80.
[64] "พระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน" กฎหมายตราสามดวง เล่ม1, หน้า300-301.
[65] P. Manuel Teixeira, op.cit., p.53.
[66] Ibid., p.53-54.
68-70Ibid., p.54.
71Ibid.,p.65,76,79
* อ้างในบาทหลวงไตไซรา, คือโบสถ์ซางตาครูซ ดู P. Manuel Teixeira, ibid., p.76.
[71] P. Manuel Teixeira, ibid., p.65.
** บาทหลวงไตไซรา สันนิษฐานว่าอาจชื่อ "Correia" (หน้า65) แต่หลักฐานเดียวกันนี้ ปรากฏในหน้า 81 เขียนชัดเจนว่า "Kun rep Samdeng - ขุนฤทธิ์สำแดง " ปรากฏอยู่ในทำเนียบพระไอยการตำแหน่งนาทหารหัวเมืองเป็นเจ้ากรมซ้ายในกรมฝรั่งแม่นปืน ศักดินา 400 ดู กฎหมายตราสามดวงเล่ม1 , หน้า301.
* ชื่อนี้ไม่พบในกฎหมายตราสามดวง พบเพียงสร้อยราชทินนามว่า …อัคนี หลายแห่งเท่านั้น
[72] P. Manuel Teixeira, op.cit., p.80.
** ขณะนั้นพม่าแต่งตั้งนายทองอินเป็นผู้ปกครองเมืองธนบุรี ดู P. Manuel Teixeira, ibid., p.55.
*** บาทหลวงไตไซราอธิบายว่า หมายถึงบาทหลวงคณะดูมินิกัน
[73] P. Manuel Teixeira, ibid., p.65-80 และดูรายชื่อชาวโปรตุเกสซึ่งเคยอาศัยในเมืองพระนครศรีอยุธยาได้ในภาคผนวก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น