วันจันทร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

อาชีพของชาวโปรตุเกสในเมืองพระนครศรีอยุธยา (Thesis's version )

โดย พิทยะ ศรีวัฒนสาร

ชาวโปรตุเกสได้เข้ามามีบทบาทในการประกอบอาชีพต่างๆในเมืองพระนครศรีอยุธยาเพื่อการยังชีพของตนเองและหนีความขัดสนทางเศรษฐกิจภายใต้การปกครองของทางการโปรตุเกส มีหลักฐานของฝรั่งเศสระบุว่าชาวโปรตุเกสที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในเมืองพระนครศรีอยุธยาจำนวน 700-800 ครอบครัว ส่วนมากยากจนและยอมตายเสียดีกว่าจะทำมาหากิน[1] นอกจากนี้พ่อค้าฝรั่งเศสบางคนยังรายงานว่าชาวโปรตุเกสเกียจคร้าน หยิ่ง และชอบอ้างว่าทุนรอนไม่มีจึงเอาแต่นอนขึงอยู่บน เสื่อ[2]นั้น แท้ที่จริงแล้วคนในชุมชนโปรตุเกสมิได้มีภาพลักษณ์เช่นนั้นไปเสียทั้งหมด อาชีพที่พวกเขาได้ใช้เป็นเครื่องดำเนินชีวิตนอกจากการเป็นทหารรับจ้าง และทหารปืนใหญ่แล้ว* พวกเขายังประกอบอาชีพต่างๆ ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไปดังนี้

ช่างทองและอัญมณี
การค้าขายทองคำและอัญมณีในกรุงศรีอยุธยา อยู่ในความสนใจของชาว ยุโรปมาเป็นเวลานาน เอกสารประวัติศาสตร์กล่าวถึงการนำเข้า และส่งออกทองคำ และเครื่องประดับในรูปของสินค้าและเครื่องราชบรรณาการในโอกาสเจริญสัมพันธไมตรี กับต่างประเทศเป็นระยะๆ เอกสารชิ้นหนึ่งเป็นจดหมายของหัวหน้าพ่อค้าอังกฤษในเมืองพระนครศรีอยุธยา ชื่อ เอลิห์ยู เยล เขียนถึงนายวิลเลียม กิฟฟอร์ด ประธานและผู้ว่าราชการแห่งป้อมเซนต์ยอร์ช และสมาชิกสภาที่ปรึกษา แห่งป้อมเซนต์ยอร์ช เมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ.2229 กล่าวถึงการเจรจาต่อรองเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบ เกี่ยวกับผลประโยชน์การค้า และการผลิต เครื่องประดับจากอัญมณี ประเภท เพชร พลอย และทับทิม สิ่งที่หัวหน้าพ่อค้าอังกฤษกำลังเผชิญอยู่ก็คือ การใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม ของฟอลคอน ผ่านตัวแทนการค้าของตน โดยไม่ปฏิบัติตามสัญญาการแลกเปลี่ยนดังกล่าว[3] ทั้งๆที่มีช่างทองและช่างทำเพชรพลอยโบราณชาวสยามเป็นผู้ตีราคาเอง และพวกเขายังเป็นฝ่ายครอบครองเครื่องเพชรที่ได้สั่งทำเอาไว้แล้วด้วย ต่อมาฟอลคอนได้สั่งให้ช่างทองชาวฝรั่งเศส มาเป็นผู้ตีราคาใหม่ต่อหน้าพ่อค้าอังกฤษ ชื่อโรเบิร์ต ฮาร์บิน แต่การตีราคาครั้งนี้ หัวหน้าพ่อค้าอังกฤษ ยืนยันว่า มีความผิดพลาดถึงร้อยละ เจ็ดสิบห้าของราคาสินค้าจริง ทำให้พ่อค้าอังกฤษ ขาดทุนเป็นเงินจำนวนมาก ครั้นเวลาผ่านไประยะหนึ่ง คนเหล่านั้นได้มอบหมายให้ช่างอัญมณีชาวโปรตุเกส ซึ่งทำเครื่องประดับอยู่ที่บ้านของช่างทองชาวฝรั่งเศสร่วมกับช่างทำเครื่องเพชรพลอยผู้มีความสามารถที่สุดในเมืองพระนครศรีอยุธยา ตีราคาเครื่องเพชรใหม่อีกครั้งหนึ่ง ปรากฏว่า ช่างเหล่านี้ได้ตีราคาเครื่องเพชรดังกล่าวสูงขึ้นไปกว่าเดิมนับสิบเท่า[4]

ช่างเพชรพลอยชาวโปรตุเกสซึ่งถูกกล่าวถึงในที่นี้ หลักฐานระบุชื่อว่าซินญอร์ รูดริเกวซ (Senhor Rodrigues) และ ซินญอร์ ปอร์ตู (Senhor Porto) [5] การที่บุคคลทั้งสองรับทำและรับตีราคาเครื่องประดับเพชรพลอยที่บ้านของช่างทองชาวฝรั่งเศส และยังมีการติดต่อเชื่อมโยงกับเจ้าพนักงานในราชสำนักพระเจ้ากรุงสยาม อาทิเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ และช่างเพชรทองอื่นๆ แสดงให้เห็นว่า พวกเขาเป็นสมาชิกของชุมชนโปรตุเกส ที่มีสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมค่อนข้างสูง สามารถตีราคาเครื่องอัญมณีให้เป็นที่ยอมรับของตลาด

การที่ช่างทองชาวฝรั่งเศสระบุว่านายรูดริเกวซ และนายปอร์ตู เป็นผู้ทำเครื่องเพชรดังกล่าวร่วมกับช่างทองผู้มีชื่อเสียงอื่นๆของเมืองนี้ แสดงให้เห็นว่าช่างอัญมณีทั้งสองคนเป็นผู้มีฝีมือในการทำเครื่องเพชรระดับแนวหน้าและได้รับการยอมรับจากบุคคลทั่วไปทั้งชาวสยามและพ่อค้าชาวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาในเมืองพระนครศรีอยุธยา หากพิจารณาอีกด้านหนึ่ง การตีราคาเครื่องเพชรเหลือเพียง 7,000 เหรียญเศษ อาจเป็นข้อบ่งชี้สำคัญที่แสดงให้เห็นว่าบุคคลดังกล่าวเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในเรื่องเกี่ยวกับอัญมณีและเครื่องประดับเพชรพลอย จึงสามารถคำนวนราคาของสินค้าประเภทนี้ได้ใกล้เคียงกับต้นทุนของสินค้าและค่ากำเหน็จของชิ้นงานดังกล่าวข้างต้น ทำให้พ่อค้าอังกฤษไม่สามารถโก่งราคาได้เกินความเป็นจริง

รูดิเกวซ[6]และปอร์ตู เป็นชาวโปรตุเกสที่ประกอบอาชีพเป็นช่างอัญมณีซึ่งมีฝีมือสูงได้รับการยกย่องจากเจ้าหน้าที่ของทางการฝ่ายพระคลังหลวงแห่งเมืองพระนครศรีอยุธยา การที่ช่างอัญมณีชาวโปรตุเกสไปทำงานฝีมือที่บ้านของช่างทองชาวฝรั่งเศสซึ่งอาจอยู่ในชุมชนค่ายฝรั่งเศส แสดงให้เห็นว่าการค้าและผลิตอัญมณีและเครื่องประดับส่วนหนึ่งในเมืองพระนครศรีอยุธยาอยู่ภายใต้การจัดการร่วมกันของชาวฝรั่งเศสและชาวโปรตุเกส ในสงครามกู้อิสรภาพของสมเด็จพระเจ้าตากสินเมื่อปี พ.ศ.2311 ลูกหลานตระกูล รูดริเกวซ ก็มีส่วนร่วมในวีรกรรมครั้งนั้นด้วย[7]

คนนำร่องโปรตุเกส
ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่21 มีหลักฐานที่ชี้ให้เห็นถึงความขาดแคลนคนนำร่องชาวโปรตุเกสในการเดินเรือระหว่างมะละกาและเมาะตะมะ การนำเรือเข้าออกจากอ่าวเมาะตะมะจะต้องใช้คนนำร่องพื้นเมืองนับสิบคนภายใต้การควบคุมของหัวหน้าคนนำร่องชาวเมาะตะมะ[8] เวอร์จิเนีย เอ็ม ดิ คร็อกโก ชี้ว่าเรือสินค้าของโปรตุเกสอาจประกอบด้วยพ่อค้าชาวโปรตุเกสเพียงคนเดียว มีเจ้าหน้าที่หรือเสมียนชาวโปรตุเกสติดตามไปด้วยจำนวน 3 คน ส่วนกัปตันนั้นเป็นชาวชวา คนนำร่องเป็นชาวพะโคและลูกเรือล้วนเป็นชาวชวาและพะโคทั้งสิ้น[9]

หลักฐานรายงานการปฏิบัติงานของศาลกระทรวงทหารเรือ ที่เมืองฮูกห์ลี เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน และ 12 ธันวาคม พ.ศ.2230 พิจารณาคดีตัดสินคดีเกี่ยวกับเรือดูเรีย ดอลลัท (Doorea Dallat) ของพระเจ้ากรุงสยามซึ่งถูกยึดโดยกัปตันจอห์น คอนเซทท์ แห่งเรือเบิร์คลีย์ คาสเซิล (Berkley Castle) เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ.2230 เรือลำนี้ถูกยึดได้ขณะทอดสมออยู่ในเส้นทางไปเมืองอะชิน หลักฐานระบุชัดเจนว่า มีนายอันตอนิอู นิคูเลา (Antonio Nicolão) ชาวโปรตุเกสเป็นคนนำร่อง สินค้าในเรือได้แก่ข้าว เครื่องถ้วยจีนของพระคลังหลวงสยามและนายแซมมูแอลไวท์แห่งมะริดและสินค้าเล็กๆ น้อยๆของคนนำร่องเอง สินค้าทั้งหมดถูกนำออกไปขายแล้วยึดไว้เป็นของทางการอังกฤษ

ตามหลักฐานแล้วมีแนวโน้มว่า คนนำร่องชาวโปรตุเกสผู้นี้อาจปฏิบัติงานอยู่ที่เมืองมะริด ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของสยามขณะนั้น แต่การปรากฏตัวของเขาในที่นี้ สะท้อนให้เห็นว่าภายในชุมชนโปรตุเกสที่เมืองพระนครศรีอยุธยาเองก็อาจมีคนนำร่องชาวโปรตุเกสประจำอยู่ในเรือสินค้าหลวงอื่นๆได้ เนื่องจากชุมชนโปรตุเกสก็มีพ่อค้าที่เดินเรือค้าขาย ตามเมืองท่าชายฝั่งทะเล ในช่วงต้นพุธศตวรรษที่23 ด้วยเช่นกัน[10]

การที่พ่อค้าชาวโปรตุเกสเข้ามาค้าขายกับสยามเป็นเวลายาวนานในระยะหลัง อาจทำให้พวกเขามีความเชี่ยวชาญร่องน้ำลึกในแถบนี้เพิ่มขึ้นก็ได้ จึงพบหลักฐานของการประกอบอาชีพเป็นคนนำร่องในช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา ดังปรากฏในรายงานของบาทหลวงตาชารต์ระบุว่าสมเด็จพระนารายณ์ทรงจ้างชาวโปรตุเกสผู้หนึ่งเป็นผู้บังคับการเรือหลวงเมื่อประมาณปี พ.ศ.2226 เรือลำนี้แล่นไปยังเมืองกัว เพื่อนำพระราชสาส์นไปเจริญสัมพันธไมตรีกับกษัตริย์โปรตุเกส[11] และ ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ก็ระบุเช่นเดียวกันก่อนหน้านี้ในช่วงปี พ.ศ.2060 ได้มีชาวโปรตุเกสประจำอยู่ในเรือของสยามแล้ว[12]

นักร้องเพลงสวดและนักดนตรีชาวโปรตุเกส
อาชีพนักร้องและนักดนตรี อาจเป็นอาชีพหนึ่งที่มีพัฒนาการมาจากการเล่นดนตรีในโบสถ์ของชาวโปรตุเกส บันทึกของชาวต่างประเทศกล่าวว่า ชาวสยามชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ พ่อเพลงแม่เพลงจะแต่งเนื้อร้องโต้ตอบกันอย่างทันควัน แสดงให้เห็นถึงสติปัญญาของผู้ร้อง ชาวสยามร้องเพลงทั้งเวลาเดินไปวัด เวลาเที่ยวทางเรือ หรือในงานฉลองวันนักขัตฤกษ์อื่นๆ โดยทั้งชายและหญิงจะร้องเพลงพร้อมกัน ซึ่งหลักฐานระบุว่า "ชวนให้หัวใจแช่มชื่นได้" งานค้นคว้าของตุรแปงระบุว่าชาวยุโรปนิยมชมชอบการร้องเพลงแบบนี้มาก เชื่อว่าชาวยุโรปที่ตุรแปงกล่าวถึงน่าจะหมายถึงชาวโปรตุเกส เนื่องจากตุรแปง ชี้ว่า มิชชันนารีกลุ่มแรกที่เดินทางไปเผยแพร่ศาสนาในกรุงศรีอยุธยาซึ่งหมายถึงชาวโปรตุเกส จำเป็นต้องแต่งคำสอนทางศาสนาเป็นเพลงภาษาละติน จึงทำให้การเผยแพร่คำสอนได้ผลดียิ่งขึ้น[13]
รายงานของชาวต่างประเทศระบุว่า ชาวสยามโปรดปรานเครื่องดนตรีแบบตะวันตก อาทิ เสียงออร์แกน จึงปรากฏว่ามีชาวสยามพากันไปฟังการบรรเลงออร์แกนที่โบสถ์ของชาวคาธอลิกเสมอ นอกจากเสียงออร์แกนแล้วชาวสยามยังชอบเสียงปี่ กลอง แตร และ ขลุ่ย ของฝรั่งอีกด้วย
ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ มีชาวโปรตุเกสซึ่งอยู่ในบังคับของพระมหาอุปราช (เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์) ถูกเกณฑ์ไปเล่นดนตรีและร้องเพลงในงานฉลองวันนักขัตฤกษ์ของวังหน้า เมื่อปี พ.ศ.2292[14] สร้างความไม่พอใจให้แก่บาทหลวงชาวฝรั่งเศสผู้ปกครองสังฆมณฑลเป็นอย่างยิ่ง ดังปรากฏหลักฐานในจดหมายของ ม. เดอ โลลีแยร์ ถึงผู้อำนวยการคณะการต่างประเทศ กล่าวถึงสาเหตุเบื้องต้นก่อนที่พวกเข้ารีตในสยามจะถูกกดขี่กลั่นแกล้งจากทางการสยามเกิดจากการค้นพบบ่อทองคำที่เมืองกุยบุรี สมเด็จพระเจ้าบรมโกศจึงโปรดให้นำทองคำที่พบไปหล่อเป็นพระพุทธบาททองคำและดอกบัวทองคำขนาดใหญ่ประดับพระพุทธบาท ต่อมาออกญาพระคลังได้ส่งหลวงราชมนตรีเจ้าท่า ให้มาแจ้งแก่บาทหลวง เดอ โลลิแยร์ ให้เกณฑ์คนเข้ารีตทุกคนทั้งชายหญิงไปถือดอกบัวคนละดอกร่วมแห่กับชาวสยาม แต่บาทหลวงเดอ โลลิแยร์เห็นว่า การแห่ในขบวนของพุทธศาสนา ขัดกับหลักความเชื่อในศาสนาคริสต์ จึงมิได้ปฏิบัติตามคำขอร้อง ปรากฏว่าบาทหลวงคณะเยซูอิต ชื่อ โยเซฟ มอนตานา ก็ถูกเรียกไปรับฟังคำชี้แจงที่บ้านของออกญาพระคลัง ซึ่งยกเหตุผลประการหนึ่งมาตั้งเป็นกระทู้ดังนี้

" …ในเวลามีงานนักขัตฤกษ์ไหว้พระของไทย พวกเข้ารีตก็มาดูงานเป็นอันมาก และเวลามาดูงานของไทยนั้น พวกเข้ารีตก็ได้มาช่วยร้องรำทำเพลง ดีดสีตีเป่าเหมือนกัน.."[15]

บาทหลวงโลลีแยร์ตอบว่า พวกเข้ารีตที่ไปช่วยดีดสีตีเป่าในงานนักขัตฤกษ์ของไทยนั้นเป็น "นักเลงในค่ายปอร์ตุเกสพวกหนึ่ง"[16] ซึ่งติดหนี้สินของคนไทย จึงไปช่วยเล่นดนตรีให้ในงานดังกล่าว เพื่อจะได้พ้นหนี้ และไม่ต้องถูกฟ้องร้อง โดยยอมขายตัวเป็นทาสอยู่กับเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ กรมพระราชวังบวร[ # ] ในขณะนั้นหลักฐานจึงระบุว่า


" …เมื่อมีงานไหว้พระของไทย พระมหาอุปราชก็เรียกนักเลงพวกนี้ไปร้องรำทำเพลง และเล่นเครื่องมโหรี"[17]

นอกจากนี้พวกเข้ารีตโดยเฉพาะกลุ่มชาวโปรตุเกสคงจะมีส่วนเข้าไปร่วมสนุกสนานเฮฮาในงานฉลองวันนักขัตฤกษ์ของไทยมานานแล้ว ดังปรากฏอยู่ในบันทึกให้การ ซึ่งเจ้าพระยาพระคลังถามบาทหลวง เดอ โลลีแยร์ว่า

" คำถาม - ก็เวลามีงานนักขัตฤกษ์ของพระพุทธศาสนา พวกเข้ารีตก็มาช่วยในงานเหล่านี้ ออกแน่นไป มาร้องรำทำเพลงปนกับพวกไทย เอาเครื่องดีดสีตีเป่ามาเล่น และมาเขียนรูปพระพุทธรูปตามโบสถ์วิหารด้วยมิใช่หรือ

คำตอบ - ถ้าคนเข้ารีตคนใดได้กระทำการดังกล่าวมาแล้วนี้ คนผู้นั้นก็ได้กระทำบาปในศาสนาของเรา"[18]
หลักฐานข้างต้นแสดงให้เห็นว่า การแลกเปลี่ยนและเผยแพร่วัฒนธรรมทางสังคีตศิลป์ระหว่างชุมชนโปรตุเกสและชาวเมืองพระนครศรีอยุธยาดังกล่าว อาจเป็นที่มาของเพลงไทยสำเนียงฝรั่ง อาทิ เพลงต้นบรเทศ หรือ ต้นวรเชษฐในเวลาต่อมา นอกจากนี้ชาวค่ายจากชุมชนโปรตุเกสบางคนอาจมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์จิตรกรรมฝาผนังในวัดไทยด้วย ดังปรากฏในหลักฐานจดหมายเหตุของแกเฟอร์ที่ระบุว่าที่ประตูหลังในวิหารหลังหนึ่งของวัดเจ้าพระยาพระคลังนอกเกาะเมืองฝั่งตะวันออก มีรูปเขียนขนาดใหญ่เท่าตัวคนของชาวโปรตุเกสสองรูป เมื่อถึงเทศกาล ในวิหารนี้จะมีงานพิธีทุกปี[19]

แพทย์ชาวโปรตุเกสกับโรงพยาบาลในค่ายโปรตุเกส
ในรัชสมัยสมเด็จพระทรงธรรม แพทย์โปรตุเกสมีบทบาทในการชันสูตรสาเหตุการเสียชีวิตของพ่อค้าอังกฤษในเมืองพระนครศรีอยุธยา ดังปรากฏในหลักฐานจดหมายของพ่อค้าอังกฤษชื่อ จอห์น บราวน์ จากปัตตานี ถึง จอห์น จูร์แดงที่เมืองบันตัม เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ.2159 ระบุถึงการตายของพ่อค้าชาวอังกฤษผู้หนึ่งชื่อ เบนจามิน แฟรี จากคำบอกเล่าของชาวฮอลันดาว่า

“ เนื่องจากถูกวางยาพิษ ตามข้อสันนิษฐานของพวกโปรตุเกส” 1572

ข่าวการตายของชายผู้นี้ถูกส่งมาจากพ่อค้าฮอลันดาผู้หนึ่งในกรุงศรีอยุธยา และ “พวกโปรตุเกส” ในที่นี้อาจหมายถึงแพทย์ชาวโปรตุเกสซึ่งทำหน้าที่ตรวจรักษาคนไข้ทั่วไป และชัณสูตรศพของผู้ตาย เพื่อรายงานสาเหตุการตายให้แก่ผู้เกี่ยวข้องทราบว่า เป็นการตายโดยปัจจุบันหรือการฆาตกรรม การปฏิบัติงานของแพทย์ชาวโปรตุเกสครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงการไปมาหาสู่กันในหมู่พ่อค้าต่างชาติระหว่างชาวฮอลันดา อังกฤษ และโปรตุเกสในกรุงศรีอยุธยา

การตายของพ่อค้าอังกฤษ มีหัวหน้าพ่อค้าฮอลันดามาทำพิธีจัดการศพ และมาร่วมในขบวนแห่ศพจนถึงหลุมศพ หลังจากพิธีศพเสร็จสิ้นลงพวกฮอลันดา ก็ได้ขอจัดการมรดกของผู้ตายด้วย[21] หลังจากการตายของพ่อค้าเบนจามิน แฟรี ปรากฏว่าพ่อค้าที่ดำเนินกิจการแทนผู้ตาย คือ จอห์น จอห์นสันได้หันไปต้อนรับชาวโปรตุเกสซึ่งหลักฐานของอังกฤษในตอนต้นระบุว่า การคบหากับชาวโปรตุเกสทำประโยชน์ทางการค้ามิได้แม้แต่น้อย หลักฐานซึ่งได้จากปากคำของชาวฮอลันดา กล่าวว่าพวกโปรตุเกสเหล่านี้

“…เป็นพวกอาศัยอยู่ในกรุงสยาม ที่เลวทรามต่ำช้ากว่าใครเพื่อนทั้งนี้เป็นการเสื่อมเสียเกียรติยศ แก่พวกเราและประเทศชาติเป็นอันมาก ทุกๆวันจะมีพวกโปรตุเกสมาที่บ้าน อย่างมาก 30 คน อย่างน้อย 20 คน ดื่มสุรา สนุกสนาน ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในบ้านกลายเป็นสิ่งธรรมดาสามัญสำหรับพวกโปรตุเกสไปเสียแล้ว…”[22]
แต่ปรากฏว่าหลังจากนั้นพ่อค้าอังกฤษได้ชี้แจงกลับไป ดังหลักฐานจดหมายของจอห์น จอห์นสัน และ ริชาร์ด พิทท์ เขียนที่ปากสันดอนกรุงสยาม ถึงจอห์น บราวน์ที่ปัตตานี เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ.2160 อธิบายถึงการที่พ่อค้าฮอลันดาเข้ามาเกี่ยวข้องกับชาวอังกฤษ กรณีการตายของ เบนจามิน แฟรี และการคบค้าสมาคมกับชุมชนโปรตุเกสในกรุงศรีอยุธยาว่า

“…ที่เขากล่าวว่าพวกเราต้อนรับขับสู้พวกโปรตุเกสและคนอื่นๆนั้น ขอเรียนว่าเราเป็นเพียงพ่อค้า มีสินค้าที่จะขาย ขอแต่เพียงให้เราขายสินค้าได้มากๆ เพราะเรามาขายสินค้าไม่ใช่มาคอยเอาใจใส่กับเรื่องของคนโน้นคนนี้ ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราไม่ได้ซื้อสินค้าจากพวกโปรตุเกสและคนอื่นๆ เราก็อาจจะต้องทำเหมือนกับพวกชาวดัทช์คือต้องรับขนถ่ายสินค้าของคนอื่นๆแทน ข้าพเจ้าขอสวดมนต์อ้อนวอนพระเจ้า ได้โปรดดลบันดาลให้โกดังสินค้าของท่านทำมาค้าขึ้นเหมือนของเรา และขอให้เงินทองไหลมาเทมา เหมือนกับโกดังสินค้าของเราแห่งนี้”[23]

จดหมายของจอห์นสันและพิทท์ฉบับนี้ สะท้อนให้เห็นว่า แท้ที่จริงแล้วชาวโปรตุเกสที่เข้าไปสังสรรค์อยู่ในโรงสินค้าของอังกฤษ เป็นทั้งลูกค้าและพ่อค้าที่อังกฤษติดต่อค้าขายและแลกเปลี่ยนสินค้าด้วย โดยมีวัตถุประสงค์ทางการค้าจริงๆ นอกจากนี้หลักฐานยังสะท้อนให้เห็นว่าชาวโปรตุเกสเป็นผู้ที่มีความกว้างขวางทางการค้าเป็นอย่างมากโดยถ้าหากพ่อค้าอังกฤษมิได้ซื้อสินค้าจากพ่อค้าชาวโปรตุเกสและพ่อค้าอื่นๆแล้ว อาจทำให้พวกเขาไม่สามารถรวบรวมสินค้าได้เลย

หลังเหตุการณ์ความบาดหมางระหว่างทางการสยามกับสมาชิกชุมชน โปรตุเกสใน ปี พ.ศ.2162* อาจเป็นเหตุทำให้โรงพยาบาลในชุมชนชาวโปรตุเกสปิดตัวลง และเปิดตัวใหม่อีกครั้งหนึ่งในปีเดียวกัน ดังปรากฏในหลักฐานสาส์นถวายรายงานแด่กษัตริย์กรุงโปรตุเกส เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2162 ระบุว่าอุปราชโปรตุเกสแห่งเมืองกัว ได้มีหนังสือแจ้งให้กัปตันกาชปาร์ ปาเชกู ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากอุปราชโปรตุเกส ให้เป็นหัวหน้าชุมชนชาวโปรตุเกสแห่งกรุงศรีอยุธยา ให้ชักชวนผู้คนในกรุงศรีอยุธยา เพื่อร่วมกันสร้างเรือนรักษาพยาบาล หรือโรงพยาบาล ขึ้นที่ท่าเรือดังเช่นที่เคยมีมาแต่เดิม และขอให้กัปตันปาเชกู พยายามอย่างเต็มความสามารถเนื่องจากอุปราชแห่งกัวได้มอบอำนาจเต็มให้แก่เขา เพื่อให้ดำเนินการทุกอย่างๆได้ เช่นเดียวกับกัปตันโปรตุเกสคนก่อนๆ นอกจากนี้อุปราชแห่งกัวยังขอให้กัปตันปาเชกู ช่วยขอร้องทางการสยามให้ปล่อยตัวชาวคริสเตียนที่ถูกคุมขังเป็นเชลยในกรุงศรีอยุธยา และขอให้ชาวคริสเตียนช่วยกันทำความดี เพื่อเชิดชูพระเกียรติยศแห่งพระเจ้ากรุงโปรตุเกส ให้ขจรขจายยิ่งขึ้น[24]

การที่อุปราชแห่งกัวมีหนังสือขอให้กัปตันปาเชกูหัวหน้าชุมชนชาวโปรตุเกสแห่งกรุงศรีอยุธยา ช่วยชักชวนให้ผู้คนในย่านใกล้เคียงกับหมู่บ้านโปรตุเกส ร่วมมือกันสร้างโรงพยาบาลสาธารณะขึ้นใหม่ ให้สามารถจัดการรักษาพยาบาลผู้คนเจ็บไข้ได้ป่วยดังเคยมีมาแต่เดิม ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของชุมชนชาวโปรตุเกส ในด้านการให้บริการรักษาพยาบาลแก่คนทั่วไป ซึ่งอาศัยอยู่ในละแวกนั้น อันหมายถึงชุมชนชาวต่างประเทศที่เข้ารีตนับถือศาสนาคริสต์ โดยน่าจะมีชาวโปรตุเกสเป็นส่วนใหญ่ที่เข้ามาใช้บริการ เนื่องจากขณะนั้น พ่อค้าชาวฮอลันดา และอังกฤษ เพิ่งจะเดินทางเข้ามาตั้งโรงสินค้าในกรุงศรีอยุธยาได้ไม่นานนัก (พ.ศ.2146 และ พ.ศ.2155 ตามลำดับ) สำหรับพ่อค้าฝรั่งเศสนั้น เพิ่งจะเดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา ในปี พ.ศ.2205 ส่วนพ่อค้าสเปน ซึ่งเดินทางเข้ามาในปี พ.ศ.2140 นั้นมีบทบาททางด้านชุมชนและด้านอื่นๆในกรุงศรีอยุธยาน้อยมาก

ไม่เพียงแต่จะมีบทบาทในสังคมชาวต่างชาติเท่านั้น แพทย์ชาวโปรตุเกสยังได้มีส่วนถวายความคิดเห็นในการรักษาอาการประชวรของพระมหากษัตริย์ไทยด้วยดังปรากฏในหลักฐานของฮอลันดาระบุว่าตอนปลายรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระพระองค์ได้ประชวรด้วยพระโรคมะเร็งในช่องพระโอษฐ์ (เพดานปาก) เป็นเวลานานถึง 7 เดือน[25] บรรดาแพทย์ในราชสำนักต่างก็ลำบากใจเพราะพระองค์ไม่อนุญาตให้ชาวต่างประเทศเข้าเฝ้าถวายการรักษา ทำให้ขุนนางกรมแพทย์ตัดสินใจทำหุ่นขี้ผึ้งรูปเพดานพระโอษฐ์ของพระองค์นำไปขอความคิดเห็นจากแพทย์ชาวสยาม แพทย์ชาวโปรตุเกส แพทย์ชาวจีน และแพทย์ชาวเวียตนามที่อยู่ในอยุธยา[26] แต่ในที่สุดสมเด็จพระเจ้าท้ายสระทรงเสวยพระโอสถพื้นเมืองมิได้เสวยยาของแพทย์ VOC.ชาวตะวันตก[27]

ช่างหล่อปืนใหญ่ชาวโปรตุเกส
ในเรื่องเกี่ยวกับวิทยาการด้านการหล่อปืนใหญ่นั้น ลาลูแบร์บันทึกไว้ว่า ชาวสยามมีปืนใหญ่ไม่สู้จะมากนัก ปืนใหญ่จำนวนหนึ่งของสยาม ถูกหล่อขึ้นโดยชาวโปรตุเกส ตำแหน่งช่างหล่อปืนใหญ่ของราชสำนักสยามชาวโปรตุเกสผู้นี้เกิดที่เมืองมาเก๊า และรับราชการในเมืองพระนครศรีอยุธยาอยู่จนกระทั่งถึงแก่กรรมไปในระหว่างรับราชการนี้เอง ลาลูแบร์ตั้งข้อสังเกตว่า หากชาวสยามหล่อปืนใหญ่ขึ้นใช้เองแล้ว ฝีมือคงจะไม่ดีเท่าใด[28]

สถาปนิก วิศวกรและช่างสำรวจชาวโปรตุเกส
นอกจากนี้หลักฐานในบันทึกของ ลาลูแบร์ ยังกล่าวถึงวิทยาการทางด้านสถาปัตยกรรมในเมืองพระนครศรีอยุธยา ซึ่งชาวโปรตุเกสมีส่วนร่วมในการก่อสร้างด้วย โดยเขาระบุว่าชาวยุโรป ชาวจีน และชาวมัวร์ ต่างสร้างบ้านเรือนของตนเป็นตึกตามแบบนิยมและศิลปะของชาติตน คนเหล่านี้เท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้สร้างบ้านเรือนของตนเป็นตึกได้ ลาลูแบร์กล่าวว่าชาวยุโรปพวกแรกที่เดินทางเข้ามาในสยาม ซึ่งหมายถึงพ่อค้าชาวโปรตุเกสเป็นผู้ริเริ่มสร้างตึกขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อใช้เก็บสินค้า จึงเรียกอาคารของตนว่า “faiturie” ในภาษาฝรั่งเศส หรือ “faitoria” ในภาษาโปรตุเกส ทำให้ชาวสยามได้นำคำดังกล่าว ไปเรียกวัดของตนว่าวัดแฟติวรี (Pagode faiturie) หรือวัดที่ทำเป็นแฟติวรี[29]

หลักฐานในงานค้นคว้าของตุรแปง กล่าวถึงป้อมปราการรอบกำแพงเมืองพระนครศรีอยุธยาว่ามีอยู่ประปรายเป็นระยะๆ เขากล่าวถึงป้อมสำคัญแห่งหนึ่งว่า สร้างขึ้นโดยบาทหลวงคาธอลิก นิกายโดมินิกัน ชาวโปรตุเกส กล่าวคือ

“ บริเวณรอบนอกเมืองสวยงามด้วยบ้านช่อง และเรือกสวน ป้อมปราการเล็กๆมีอยู่รอบเป็นระยะๆ ประปราย แต่ป้อมปราการที่ทำถูกตำราที่สุดคือป้อมปราการที่สร้างขึ้นตามแบบแปลนของบาทหลวงดอมินิกัน ชาวโปรตุเกสองค์หนึ่ง ทางการยังได้สร้างป้อมหลายแห่ง ซึ่งน่าจะป้องกันเมืองนี้ให้พ้นจากการจู่โจม…”[30]
ป้อมแห่งนี้น่าจะเป็นป้อมเพชร ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณที่โดดเด่น และมีความสำคัญอย่างยิ่งทางยุทธศาสตร์การป้องกันพระนคร และยุทธศาสตร์ทางการค้า เนื่องจากเป็นที่ชุมนุมของเรือสินค้า สำเภา และ แพค้าขาย ซึ่งใหญ่ที่สุดในพระนคร

แม้ป้อมเพชรจะเป็นป้อมสำคัญ และมีขนาดใหญ่ที่สุดของเมืองพระนครศรี อยุธยา แต่ในทัศนะของลาลูแบร์แล้วเขาเห็นว่าสยามยังคงต้องอาศัยความชำนาญของชาวยุโรปในการออกแบบป้อม และต่อให้ป้อมทั้งหลายในเมืองพระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีขนาดเล็ก และสภาพเลวรวมกันทั้งหมด ก็มิอาจต้านทานการบุกของทหารฝรั่งเศสได้[31]

ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อสมเด็จพระนารายณ์ทรงมีพระราชประสงค์จะสร้างป้อมค่าย ทำด้วยไม้ขึ้นที่เมืองชายแดนต่อกับเมืองหงสาวดี แต่ไม่สามารถหาช่างได้ เสนาบดีผู้หนึ่งของสมเด็จพระนารายณ์ ได้อ้างพระบรมราชโองการมอบหมายให้มิชชันนารีฝรั่งเศสชื่อ เรอเน ชาร์บอนโน (Fr.Rene/ Charbonneau) เดินทางออกไปเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง เมื่อสร้างป้อมแล้วเสร็จ จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองภูเก็ต (เมืองโยสลัมหรือจังซีลม) นาน 3-4 ปี หลังจากนั้น จึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตกลับเข้ามาพำนักกับบิดามารดาของภรรยา ซึ่งเป็นชาวโปรตุเกสที่เมืองพระนครศรีอยุธยา[32]ดังเดิม จึงไม่เป็นที่น่าสงสัยเลยว่า บาทหลวงชาวโปรตุเกสแห่งนิกายดูมินิกัน ผู้ออกแบบแผนผังและควบคุมการก่อสร้างป้อมเพชรจะต้องได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์หรือเกียรติยศและสิทธิพิเศษนานาประการตอบแทนจากพระเจ้าแผ่นดินสยามในขณะนั้นอย่างแน่นอน

นอกจากวิศวกรชาวโปรตุเกส ที่มีความรู้ในการสร้างป้อมปืนแล้ว ยังมีช่างโยธาและช่างสำรวจชาวโปรตุเกสอีกส่วนหนึ่งที่ได้เข้ามาตัดถนน คูคลอง และทำแผนที่ภายในเมืองพระนครศรีอยุธยา[33] เจากิง ดึ กัมปุช ระบุว่า ในรัชสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช พระองค์ได้โปรดให้ชาวโปรตุเกสช่วยขุดคลองเพื่อการกสิกรรมและต่อมาช่างสำรวจชาวโปรตุเกสได้ตัดถนนเข้าไปในป่าจากตำหนักพักร้อนไปจนถึงพระพุทธบาทโดยใช้เข็มทิศส่องกล้อง[34] คนเหล่านี้มีส่วนทำให้ชุมชนชาวโปรตุเกสได้รับการยอมรับจากทางการสยามเป็นอย่างดี ในระยะแรกๆของการเดินทางเข้ามาตั้งถิ่นฐาน

พ่อค้าสำเภา
พ่อค้าสำเภาเป็นอาชีพสำคัญอีกอาชีพหนึ่งของชาวโปรตุเกสบางคน หลักฐานจดหมายติดต่อระหว่างเจ้าหน้าที่บริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษที่เมืองสุรัต กับข้าหลวงใหญ่อังกฤษและเคาน์ซิล ที่บอมเบย์ ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2162 กล่าวถึงการวิ่งเต้นขอตัว “ทาส หรือ คนในบังคับ” ของพ่อค้าครึ่งชาติโปรตุเกสแห่งเมืองพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเดินทางไปค้าขายยังบอมเบย์ คืนจากทางการอังกฤษ กล่าวคือ
“ ได้เกิดเรื่องขึ้นกับ นาย พอลลา บาฟติซา ชาวโปรตุเกส ซึ่งพำนักอยู่ที่กรุงสยาม บาฟติซา ผู้นี้มีทาสอยู่คนหนึ่ง (ชื่อว่า โดมินิโก) ทาสผู้นี้ได้เดินทางจากกรุงสยามมายังบอมเบย์ แต่พอไปถึงที่นั่น ก็ถูก มร. โธมัส นิคอลล์ จับขังไว้ที่นั่น เพื่อใช้เป็นตัวต่อรอง เราใคร่ของให้ท่านจัดการเรียกตัวทาสผู้นั้นคืน จาก มร.โธมัส นิคอลล์ ให้จงได้และขอให้ส่งมอบทาสผู้นั้นให้แก่ผู้ถือจดหมายนี้ด้วย”[35]

ต่อมาอีกหนึ่งสัปดาห์เศษ ดูมินิโก (หรือ ดูมิงโก)* ก็ได้รับการปล่อยตัว ดังจดหมายของ เฮนรี ออกซินเดน และ เคาน์ซิล ที่บอมเบย์ เขียนถึงข้าหลวงใหญ่และเคาน์ซิลที่สุรัต ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2162 ความว่า

“ ได้จัดการปลดปล่อยทาส ที่ชื่อโดมิงโก ซึ่งเป็นคนของกรุงสยาม และเป็นคนของเมสติโซ[36] ให้ไปหาเมสติโซแล้วตามที่ท่านสั่งมา และของให้ท่านได้โปรดดูแลเมตตากรุณาแก่เขาเป็นอันดียิ่งไปกว่าที่พวกเขาจะยินดีเชื้อเชิญ หรือพยายามให้เรา ทาสคนนี้ไม่ได้ถูกกัปตัน นิคอลล์เก็บตัวไว้แต่ประการใด”[37]
การที่ทางการอังกฤษยอมปล่อยตัว คนในบังคับของพ่อค้าครึ่งชาติโปรตุเกส แสดงให้เห็นถึงเกียรติยศและความสามารถ ในการวิ่งเต้นของพ่อค้าโปรตุเกสจากกรุงศรีอยุธยา ในขณะนั้นได้เป็นอย่างดี แม้จะเป็นเพียงคนครึ่งชาติโปรตุเกส ก็ตาม นอกจากนี้ การที่หลักฐานกล่าวว่า ทาสชื่อโดมิงโก เป็นคนของกรุงสยาม และเป็นคนของเมสติโซ เป็นสิ่งบ่งชี้ว่า บุคคลทั้งสองอาจเป็นพ่อค้าสำเภาหลวง ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมก็ได้

งานค้นคว้าของตุรแปง ระบุว่าชาวสยามเป็นผู้ชำนาญการเดินเรือแค่ในแม่น้ำเท่านั้น ส่วนการเดินเรือในทะเลนั้นต้องจ้างแขกมุสลิม ชาวจีน ชาวมะละบาร์ และชาวคริสตังที่สืบเชื้อสายมาจากชาวยุโรป มาเป็นผู้ดำเนินการ[38] รายงานดังกล่าวสอดคล้องกับรายงานของลาลูแบร์ซึ่งระบุว่า ชาวสยามมีความสามารถไม่มากนักในการเดินเรือทะเล ดังนั้นพระเจ้าแผ่นดินจึงทรงจ้างนายเรือและลูกเรือชาวต่างประเทศให้เดินเรือไปค้าขายทางทะเล ในระยะหลังพระองค์ทรงจ้างชาวอังกฤษ หรือ ชาวโปรตุเกสให้ปฏิบัติหน้าที่นี้ ต่อมาก็ได้ใช้นายเรือชาวฝรั่งเศสบ้างเช่นกัน[39]

ทางด้านการค้าขายกับสเปนนั้น รายงานของ ยอร์ช ไวท์ ระบุว่าการส่งเรือสินค้าหลวงของทางการสยามไปค้าขายยังมะนิลา ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ มีเพียงปีละหนึ่งลำ โดยมีชาวจีน เป็นทั้งพ่อค้าและจัดการเดินเรือ[40] ประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ว่านอกเหนือจากปริมาณการค้าที่มีต่อกันอย่างเบาบางแล้ว เหตุใด พระคลังหลวง จึงไม่จ้างชาวโปรตุเกสไปติดต่อกับมะนิลา ทั้งๆที่มีความจำเป็นในการใช้ชาวโปรตุเกส เพื่อติดต่อเป็นตัวกลางในทางธุรกิจ และนอกจากนี้ สัญญาระหว่างสยามกับ ฮอลันดาเองก็เพียงแต่ห้ามมิให้จ้างพ่อค้าจีนในเรือสยามเท่านั้น[41] ไม่ได้ห้ามมิให้ทางการสยามจ้างนายเรือโปรตุเกส หรือนายเรือฝรั่งเศสทำงานในเรือสินค้าของสยาม

เสมียนโปรตุเกสในบริษัทอีสอินเดียของอังกฤษ
อาชีพที่น่าสนใจของชาวโปรตุเกสในเมืองพระนครศรีอยุธยาอีกอาชีพหนึ่ง คือ การเป็นเสมียนในบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ จดหมายของเคาน์ซิลแห่งป้อมเซนต์ยอร์จถึง วิลเลียม เจอร์ซีย์ แห่งสะสุลีปะตันลงวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2212 กล่าวถึงจดหมายภาษาโปรตุเกสชี้แจงความสูญเสียของบริษัทอินเดียตะวันออกของบริษัทอังกฤษที่เมืองพระนครศรีอยุธยาถึง เซอร์ เอ็ดเวอร์ด วินเตอร์ เพื่อให้ทราบถึงสาเหตุที่ห้างอังกฤษในเมืองพระนครศรีอยุธยาถูกทำลาย จากการกระทำของ แอนดรู ดึ โซซา กับ ฟรานซิส บรู(?) ร่วมกับนายเรือชาวอังกฤษดังปรากฏในหลักฐานว่า

“ เราได้รับจดหมายจากกรุงสยามเขียนถึง เซอร์เอ็ดเวอร์ด วินเตอร์ หรือใครก็ตามที่เป็นผู้ปกครองที่นั่น จดหมายเหล่านี้ค่อนข้างยาว และเขียนเป็นภาษาโปรตุเกส หลังจากได้พิจารณาดูแล้ว เห็นว่าคงจะต้องเสียเวลามากอยู่ในการศึกษาจดหมายนี้ เพราะเราไม่ค่อยเชี่ยวชาญในภาษานี้ แต่ถ้าเราพบว่ามีสิ่งหนึ่งสิ่งใดสำคัญ และอาจจะช่วยแนะแนวทางให้เราสามารถติดต่อกับพระเจ้ากรุงสยามได้แล้ว เราก็จะดำเนินการตามความเหมาะสม แต่ใจความส่วนใหญ่ที่เราได้พิจารณาดูแล้วจากจดหมายเหล่านั้น เห็นว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับที่จะยกเรื่องห้างต้องถูกทำลาย ให้เป็นความผิดของ แอนดรู เดอ ซูซา กับฟรานซิส บรู(?) ซึ่งอยู่ใต้ปกครองของ ซูซา และเกรงกลัวซูซาเป็นอันมาก และว่าซูซากับนายเรือชาวอังกฤษได้พยายามที่จะทำลายล้างทุกสิ่งทุกอย่าง ที่จะเกิดประโยชน์ต่อบริษัท และดูเหมือนว่าความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่ห้างนั้น เกิดจากผลของการละทิ้งงานและหลีกเลี่ยงงานของกาเบรียล ฟลอเรส กับพี่ชายของเขา หลังจากที่เขาได้ถึงแก่กรรม”[42]
จดหมายที่เขียนเป็นภาษาโปรตุเกสฉบับดังกล่าว อาจเขียนขึ้นโดยพนักงานกรมท่าขวาที่ได้สืบสวนเหตุการณ์ความเสียหายที่เกิดขึ้น เนื่องจากในช่วงนั้นไม่มีพนักงานห้างชาวอังกฤษประจำอยู่ในเมืองพระนครศรีอยุธยา มีเพียงลูกจ้างซึ่งเป็นลูกครึ่งอังกฤษเชื้อสายโปรตุเกสจากชุมชนโปรตุเกสดูแลกิจการอยู่เท่านั้น เหตุที่ทราบว่าบริษัทอินเดียตะวันออกจ้างเสมียนเชื้อสายชาวโปรตุเกสดูแลห้างวิเคราะห์ได้จากชื่อของ ฟรานซิส บรู(?) เป็นคนอยู่ใต้การบังคับของ แอนดรู ดึ โซซา และ กาเบรียล ฟลอเรสหรือ ฟลูรึช ก็มีชื่อและนามสกุลแบบชาวโปรตุเกสอย่างชัดเจน

นายประกันชาวโปรตุเกส
ชาวโปรตุเกสซึ่งมีฐานะมั่งคั่งอาจมีอาชีพเป็นนายประกันในศาลเช่นกัน หลักฐานระบุว่าหลังการจลาจล พ.ศ.2231 บาทหลวงเปเรซชาวโปรตุเกส ถูกจับมาจากตะนาวศรีพร้อมกับบาทหลวงหลุยส์ พวกเขาถูกขังอยู่ในเรือ บาทหลวงมัลโดนาดู หัวหน้าคณะเยซูอิตซึ่งเคยให้ความเอื้อเฟื้อแก่ชาวฝรั่งเศส ได้ส่งหนังสือจากโป๊ปตั้งให้บาทหลวงเปเรซเป็นสังฆราชฝ่ายญวนตั้งแต่ปี พ.ศ.2230 แต่เพิ่งจะได้รับหนังสือนี้ในปี พ.ศ.2233 ต่อมาบาทหลวงเปเรซได้ถูกจับขังคุกกับพวกเข้ารีตฝรั่งเศส บาทหลวงเปเรซ มิใช่ชาวฝรั่งเศสหากแต่เป็นชาวโปรตุเกส เขาถูกจับเพราะถูกเจ้าเมืองตะนาวศรีกลั่นแกล้ง[43] แต่ต่อมาได้มีพระราชโองการในเดือนเมษายน พ.ศ. 2233 ห้ามมิให้ร้องเพลงเยาะเย้ยหรือหมิ่นประมาทชาวต่างชาติต่างภาษา (โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝรั่งเศส) และห้ามผู้ใดกีดขวางกิจกรรมทางศาสนาของบุคคลทั้งหลาย[44] ดังนั้นในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2234 ออกญาพระคลังซึ่งเคยเป็นราชทูตที่1 ไปฝรั่งเศสได้ไปบอก ม.โปมาว่า พระเจ้ากรุงสยามโปรดให้ปล่อยนักโทษทั้งหมด แต่พวกเขาต้องหานายประกันเสียก่อน และเมื่อพ้นโทษแล้วจะต้องอยู่ในบ้านหลังหนึ่ง ซึ่งพนักงานจะได้ปลูกขึ้นใกล้กับคุกและมีพนักงานควบคุม ออกญาพระคลังได้ให้ไปตามล่ามฝรั่งเศส ชื่อ แวงซัง แปงเฮโร [45] และได้ส่งให้ล่ามรีบไปยังค่ายโปรตุเกสไปหาชาวโปรตุเกสสองคนชื่อ “บาเรตา” และ “ชาโบ” และให้ถามสองคนนี้ว่าจะยอมเป็นประกันพวกมิชชันนารีและนักเรียนหรือไม่ เพราะเมื่อปีก่อน (พ.ศ.2233) สองคนนี้ได้ยื่นฎีกาขอเป็นนายประกันครั้งหนึ่ง ซึ่งถวายพระเจ้าแผ่นดินไปแล้ว ม. แวงซัง แปงเฮโร (ล่ามฝรั่งเศส) ได้ไปหาชาวโปรตุเกสทั้งสอง ซึ่งก็ตกลงยอมเป็นนายประกัน ม. เดอ เมเตโลโปลิศ คนเดียวเท่านั้น และ ม. เดอ เมเตโลโปลิศ จะต้องอยู่ในบ้านพวกโปรตุเกส
ผู้เขียนบันทึกระบุว่า การที่พวกโปรตุเกสยอมเป็นนายประกันให้แก่ม. เดอ เมเตโลโปลิศ เพราะหวังผลประโยชน์สำหรับพระเจ้ากรุงโปรตุเกสในภายหน้าเมื่อพวกฝรั่งเศสกลับเข้ามาอีกมิได้ช่วยด้วยความนับถือแต่อย่างใด และส่วนมิชชันนารีและพวกนักเรียนนั้น พวกโปรตุเกสไม่รู้จักและไม่คุ้นเคยพอที่จะเป็นนายประกันให้ หลักฐานชิ้นนี้อาจชี้ให้เห็นว่าสมาชิกของชุมชนโปรตุเกสและชุมชนค่ายฝรั่งเศสอาจมิได้มีการคบค้าสมาคมกันแน่นแฟ้นเนื่องจากมิได้ปฏิบัติศาสนกิจในโบสถ์เดียวกัน จึงไม่มีความคุ้นเคยเพียงพอ ออกญาพระคลังจึงเสนอให้ ม. เดอ เมเตโลโปลิศ กับบาทหลวงอีก 3 คนที่ไม่ต้องโทษมาเป็นนายประกัน แล้วสั่งให้เขียนหนังสือประกันทันที ล่ามฝรั่งเศสจึงนำไปให้พระคลังตรวจ แต่พระคลังไม่พอใจหนังสือนั้น จึงให้ล่ามไปร่างใหม่ ครั้นร่างเสร็จแล้ว ก็ยังไม่มีโอกาสยื่นหนังสือ ต้องรออีกวันหนึ่งจึงได้ยื่นให้พระคลังตรวจอีก แล้วส่งมาให้นายประกันทั้ง 3 ลงนาม บรรดามิชชันนารีและนักเรียน จึงถูกปล่อยไปอยู่บ้านในบึงหลังคุก ห่างจากคุก “ระยะปืนยิงถึง”[46]

เรื่องการเป็นนายประกันตามจารีตกฎหมายไทย โดยอ้างจากจดหมายเจ้าพระยาพระคลังถึง ม. เดอ บริซาเซีย หัวหน้าคณะการต่างประเทศ เมื่อ 27 ธันวาคม พ.ศ.2237 ระบุว่าผู้ใดที่มีประกันไม่กระทำตามข้อที่ได้สัญญาไว้ และเอาตัวผู้นั้นไม่ได้ ก็ต้องให้นายประกันเป็นผู้รับผิดชอบ ในกรณีที่ฝ่ายไทยได้จับ ม. เดอ เมเตโลโปลิศ หัวหน้าบริษัท (ม. เวเร่ต์) และบาทหลวงมิชชันนารีชาวฝรั่งเศสทั้งหมด ซึ่งรับว่าเป็นนายประกันนายพลเดฟาร์จส์และกองทหารฝรั่เศส และประกันเงินยืม 45,000 ฟรังก์ สำหรับซื้อเรือกับเสบียงอาหาร ตามปกตินายประกันจะถูกประหารชีวิตหมด แต่เจ้าพระยาพระคลังได้กราบทูลขอไว้ เพียงแต่ถูกควบคุมเท่านั้น

หลักฐานระบุว่า หลังจากข้าราชการไทยกลับมาพร้อมกับบาทหลวงตาชาร์ด จึงทรงให้ชาวฝรั่งเศสกลับไปยังโรงเรียนสามเณรดังเดิม [47] โดยสมเด็จพระเพทราชา ได้พระราชทานเงินซ่อมวัดแต่ยังไม่แล้วเสร็จ ต่อมามีการทำพิธีวันคริสต์มาสอย่างเปิดเผยไม่ถูกขัดขวาง[48] จากหลักฐานที่ปรากฏ แม้ว่าในที่สุดแล้วนายประกันในชุมชนชาวโปรตุเกสจะมิได้มีบทบาทอย่างจริงจัง ในการรับรองหรือประกันตัวบาทหลวงฝรั่งเศส ให้พ้นจากการถูกทางการสยามคุมขัง โดยอาจมีความขัดแย้งลึกๆเรื่องการแข่งขันทางศาสนาหรือการไม่อยากเอาตัวเข้าไปแลกกับชีวิตของพวกฝรั่งเศส แต่อย่างน้อยหลักฐานก็ได้แสดงให้เห็นถึงความมีหน้ามีตาในสังคมอยุธยาของสมาชิกในชุมชนโปรตุเกสบางส่วนซึ่งอาจมีศักยภาพในการค้ำประกันผู้ต้องหาในคดีพิพาททางการเมือง ได้ไม่น้อยหน้าชาวต่างชาติอื่นๆ หลังเหตุการณ์สมเด็จพระเพทราชายึดอำนาจจากสมเด็จพระนารายณ์ ในปี พ.ศ. 2231

หลักฐานระบุเพิ่มเติมว่า ม. เดอ เมเตโลโปลิศ (ม.ลาโน) รายงาน (ประมาณ 1 มกราคม พ.ศ.2232) ว่า นายทหาร พลทหาร มิชชันนารี นักเรียนของสามเณราลัย และชาวฝรั่งเศสถูกจับทั้งหมดหลังจากนายพลเดฟาร์จส์หนีออกไปจากบางกอก เพราะชาวฝรั่งเศสเหล่านี้ เป็นนายประกันการยืมเงินและเรือของ ม. เดฟาร์จส์[49] ขุนนางไทยที่ส่งไปเจรจาถูกจับเป็นตัวประกัน 2 คน บาทหลวงชาวฝรั่งเศสซึ่งเป็นผู้รับรองหรือ เป็นนายประกันจึงต้องถูกจับหมดตามประเพณีกฎหมายไทย[50] บาทหลวง เดอ ลาเบรอยญ์(Breuille) คณะเยซูอิตและข้าราชการฝรั่งเศสซึ่งไปอาศัยอยู่กับบาทหลวงโปรตุเกส ก็ถูกจับมารวมกับชาวฝรั่งเศสอื่นๆ[51] รวมทั้งพนักงานบริษัทฝรั่งเศสก็ถูกจับด้วย และถูกริบทรัพย์เข้าคลัง ม.โปมา ซึ่งชำนาญวิชาแพทย์ ได้รับอนุญาตให้ปลูกเรือนเล็กๆในเขตติดกับพระคลังหลวงและเป็นที่ใกล้คุก พร้อมด้วยนักเรียนสามเณร 6 คน กับคนใช้แขกดำบางคน ส่วนคนใช้ไทยและมอญ หนีไปหมดแล้ว ม.โปมา เป็นผู้ส่งอาหารให้นักโทษวันละครั้ง พวกที่อยู่ในบังคับฝรั่งเศสทั้งในคุกและนอกคุก มีประมาณเกือบ 100 คน นอกจากนี้สามเณราลัยยังถูกยึด แต่ผู้เขียนบันทึกกับ ม.เซอวรอย์ ซึ่งไม่ถูกจับได้นำเครื่องประดับวัดไปฝากไว้กับโบสถ์คณะเยซูอิต ซึ่งตั้งอยู่ในชุมชนโปรตุเกส บาทหลวงมันโดนาด เป็นหัวหน้าคณะเยซูอิตได้เอื้อเฟื้อเป็นอย่างดี จากนั้นจึงไปอาศัยบ้านชาวตังเกี๋ย ชื่อ โยเซฟ ใกล้ๆสามเณราลัย
สภาพของพวกเข้ารีตฝรั่งเศสที่ถูกจับนั้น ในตอนเช้าจะถูกเรียกเอาโซ่ร้อยเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 10-12 คน ปนไปกับผู้ร้ายฉกรรจ์พื้นเมือง คุมออกไปทำงานจนเย็น อาทิ ขนดิน ขนอิฐ ขนขยะมูลฝอย ของโสโครก ล้างท่อ ล้างที่อุจจาระ ลากเสา ลากซุงและอื่นๆ คนเหล่านี้ถูกระบุว่าเป็นชาวยุโรป มีอายุตั้งแต่ 13-14 ปี รวมไปถึงผู้ใหญ่ต้องขอทานตามประตูบ้านร้านค้า บันทึกของบาทหลวงฝรั่งเศสระบุว่า " บ้างได้ข้าว ปลาเค็ม เบี้ย ขณะนั้นบางคนก็ดูหมิ่น ด่าทอ ข่มเหง บางคนก็พูดสมน้ำหน้า ถ้าเป็นคนไทยสมน้ำหน้าพวกฝรั่งเศสจะไม่ประหลาดใจ เพราะเขาหาว่าทำลายศาสนาเขา แต่พวกโปรตุเกส มาพลอยพูดไปดังนั้น ไม่ทราบว่าเอาหลักอะไรมาพูด "[52] ทัศนคติเช่นนี้สะท้อนให้เห็นถึงความขัดแย้งทางเชื้อชาติที่เกิดขึ้นยาวนานระหว่างชาวฝรั่งเศสกับชาวโปรตุเกสในเมืองพระนครศรีอยุธยา

นอกจากอาชีพต่างๆดังกล่าวไปแล้วข้างต้นชาวโปรตุเกสในเมืองพระนครศรีอยุธยาอาจเคยทำงานเป็นช่างชุนในราชสำนักสยาม ถ้าหากว่าผลการวิเคราะห์ที่ชี้ว่าพราหมณ์เทษ คือ ชาวโปรตุเกสมีความเป็นไปได้อย่างไม่คลาดเคลื่อน* นอกจากนี้ยังมีหลักฐานของฮอลันดากล่าวถึงธุรกิจการต่อเรือของชาวโปรตุเกสในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าปราสาททองด้วย[53]
ยังมีอาชีพสำคัญของชาวโปรตุเกสในเมืองพระนครศรีอยุธยาอีกอาชีพหนึ่ง ซึ่งมีบทบาททางการค้าและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในสมัยอยุธยา อาชีพนี้ คือล่ามภาษาโปรตุเกส ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไปในบทความเรื่องบทบาทของภาษาโปรตุเกสในประวัติศาสตร์อยุธยา
การอ้างอิง
[1] นิโคลาส แชร์แวส, เรืองเดิม, หน้า62.
[2] ประชุมพงศาวดาร เล่ม39, หน้า64.
* เป็นคำอธิบายที่ปรากฏอยู่ใน E.W. Hutchinson," Adventurers in Siam in the 17th Century" (London: The Royal Asiatic Society,1940), p.23
[3] หัวหน้าพ่อค้าอังกฤษและหุ้นส่วนตกลงรับทำด้ามดาบแบบ Jemdar , หีบต่างๆ และ ด้ามดาบญี่ปุ่น ประดับด้วยเพชรและทับทิม แลกเปลี่ยนกับทองแดง ดีบุก และ ไม้จันทน์ ในราคา 10,500 เหรียญ. ดู สุภรณ์ อัศวสันโสภณ(แปล), เรื่องเดิม, หน้า 76-77.
[4] กรมศิลปากร, บันทึกเรื่องสัมพันธภาพระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศในคริสตศตวรรษที่17 เล่ม4 แปลโดยสุภรณ์ อัศวสันโสภณ (พระนคร : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2513), หน้า 83-86.
[5] เรื่องเดียวกัน, หน้า85.
[6] ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 21 มีนักเดินทางชาวโปรตุเกสชื่อฟรานซิสกู รูดริเกวซ และวิเซนตึ รูดิเกวซ เขียนบรรยายเส้นทางการเดินเรือในทะเลจีนและเส้นทางจากโปรตุเกสมายังอินเดีย ดู Rui D'Avila Lourido, "European trade between Macão and Siam from the beginning to 1663," IEAHA, 14th (1996) :5 -6.
[7] P.Manuel Teixiera, op.cit., p.80.
[8] Verginia M.Di Crocco, Portuguese along the Burmese Coasts in the 16th - 17th Centuries ( Bangkok : Embassy of Portugal in Thailand, 1987), np.
[9] Ibid., np.
[10] เดอ ชัวซี, เล่มเดิม, หน้า428.
[11] จดหมายเหตุการเดินทางครั้งที่2ของบาทหลวงตาชาร์ด ค.ศ.1687-1688 , แปลโดยสันต์ ท.โกมลบุตร, หน้า219.
[12] Suthachai Yimprasert, op.cit., p.176.
[13] ฟรังซัวร์ อังรี ตุรแปง, เรื่องเดิม, หน้า 73-74.
[14] ปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์, และ พิรักษ์ ชวนะเกรียงไกร “บันทึกความสัมพันธ์โปรตุเกส - อยุธยา," ชาวโปรตุเกสในยุคกรุงศรีอยุธยา (กรมศิลปากรจัดพิมพ์เนื่องในโอกาสปีการท่องเที่ยวไทย พ.ศ.2530), หน้า21.
[15] ประชุมพงศาวดารเล่ม22, หน้า203-204.
[16] เรื่องเดียวกัน, หน้า204.
[ ก ] ก่อนหน้านั้นบันทึกของฝรั่งเศสระบุว่า เจ้าวังหน้าในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ซึ่งต่อมาคือสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ทรงเคยให้ปล่อยพวกเข้ารีตออกจากคุก เมื่อคราวเกิดกรณีพิพาทกับบุตรหลานเจ้าเมืองมะริด โดยทรงให้ขุนนางวังหน้า "นำไม้กะลำพักกับรง และเครื่องหอมพร้อมทั้งส่งท้องตรากับมัดหวายเพื่อเป็นเครื่องหมายว่า พวกเข้ารีตและพวกบาทหลวงอยู่ในบังคับของพระองค์, อ้างจาก โสพิศ หนูทอง, เรื่องเดิม, หน้า 24-89
[17] ประชุมพงศาวดารเล่ม22, หน้า204.
[18] เรื่องเดียวกัน, หน้า211.
[19] แองเจลเบิร์ต แกมเฟอร์, เรื่องเดิม, หน้า52.
[20] กรม ศิลปากร, บันทึกเรื่องสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศในคริสตศตวรรษที่ 17 เล่ม 1, หน้า83
[21] เรื่องเดียวกัน, หน้า83
[22] เรื่องเดียวกัน, หน้า84
[23] เรื่องเดียวกัน, หน้า94-97
* ความบาดหมางเนื่องจากทางการสยามให้สิทธิพิเศษในการค้าหนังสัตว์แก่พ่อค้าฮอลันดา เป็นเหตุให้ชาวโปรตุเกสยึดเรือฮอลันดา แล้วถูกทางการสยามปราบปรามจับกุม. ดู กรมศิลปากร, ประชุมพงศาวดารฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม3 (พระนคร : สำนักพิมพ์ก้าวหน้า, 2507), หน้า193
[24] กรม ศิลปากร, บันทึกเรื่องสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศในคริสตศตวรรษที่ 17 เล่ม 1, หน้า119
[25] Dhiravat na Pjombejra, "The last year of King Thaisa's reign : Data concerning Polities and Society from the Dutch East India Company's Siam Factory Dagregister for 1732" ความยอกย้อนของอดีต พิพิธนิพนธ์เชิดชูเกียรติพลตรีมรว. ศุภวัฒย์ เกษมศรี, 2537:136. หลักฐานของบาทหลวงฝรั่งเศสระบุว่าทรงประชวรด้วย "โรคพระโอษฐ์เน่า" และหมอได้ถูกประหารชีวิตไปมากกว่า 20 คนแล้วเพราะไม่สามารถรักษาโรคนี้ได้ พระอนุชาของพระองค์ก็ประชวรด้วยโรคนี้เช่นกัน , อ้างจากโสพิศ หนูทอง, เรื่องเดิม, หน้า29.
[26] เรื่องเดียวกัน, หน้า136.
[27] Dhiravat na Pombejra, op.cit., p.136.
[28] ชิมอง เดอ ลาลูแบร์, เรื่องเดิม, หน้า 407.
[29] ชิมอง เดอ ลาลูแบร์, เรื่องเดิม, หน้า 135-138 : และผู้เขียนตั้งข้อสังเกตุว่า คำว่า “Pagode faiturie” หรือ “Pagode faituria” ซึ่งชาวสยามนำไปเรียกวัดเก่าๆที่ก่ออิฐถือปูนนี้ อาจเป็นต้นเค้าของชื่อ “วัดตึก” ในเมืองพระนครศรีอยุธยา เนื่องจากคำ “faitoria” หากเรียกสั้นๆ แบบที่ชาวสยามนิยม (อาทิ เรียก “อยุธยา” เป็น “ยุทธยา” ) ก็อาจกลายเป็น “fato - พัดตุ” หรือ “Watto – วัดตุ” และ “ Wattuk – วัดตึก” ได้
[30] ฟรังซัวร์ อังรี ตุรแปง, เรื่องเดิม, หน้า9.
[31] ชิมอง เดอ ลาลูแบร์, เรื่องเดิม, หน้า406.
[32] เรื่องเดียวกัน, หน้า406-407.
[33] "The excavation of of the Portuguese settlement at Ayutthaya",ชาวโปรตุเกสในยุคกรุงศรีอยุธยา (กรมศิลปากร, 2530), Np.
[34] Joaquim de Campos, Early Portuguese Accounts of Thailand ( Portugal : Camara Municipal de Lisboa , 1983), pp.22-23.
[35] กรมศิลปากร , บันทึกเรื่องสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศในคริสตศตวรรษที่ 17 เล่ม 2, หน้า290.
* อ่านสำเนียงโปรตุเกสว่า ดุมินิกู หรือ ดูมิงกู
[36] เมสติโซ หรือ เมชติซู (Mestiço) เป็นคำภาษาอินโด-โปรตุเกส สำหรับใช้เรียกคนครึ่งชาติ หรือ ยูเรเซียน ปัจจุบันคำนี้มิได้ใช้อีกต่อไปแล้ว , C.R.Boxer,Fidalgos in the Far East, p.280
[37] กรมศิลปากร, บันทึกเรื่องสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศในคริสตศตวรรษที่ 17 เล่ม 2, หน้า292.
[38] ฟรังซัวส์ อังรี ตุรแปง, เรื่องเดิม, หน้า23.
[39] ชิมอง เดอ ลาลูแบร์, เรื่องเดิม, หน้า 411-412.
[40] ประชุมพงศาวดารเล่ม12 , หน้า 213
[41] กรมศิลปากร, บันทึกเรื่องสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศในคริสตศตวรรษที่ 17 เล่ม 2, หน้า95.
[42] เรื่องเดียวกัน, หน้า127.
[43] ประชุมพงศาวดาร เล่ม21, หน้า32-38.
[44] เรื่องเดียวกัน, หน้า46.
[45] จดหมายของบาทหลวงตาชาร์ด ถึงออกญาพิพัฒน์ ลง 5 พ.ค. พ.ศ.2237 ระบุว่ามีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงวรวาที . ประชุมพงศาวดาร เล่ม 21. หน้า119 และจดหมายออกญาพระคลังถึงบาทหลวง เดอ บริซาเซีย ลง 27 ธ.ค. พ.ศ.2237 ระบุว่า พระเจ้ากรุงสยาม ให้ออกญาพระคลังส่งหลวงวรวาที ไปรับบาทหลวงตาชาร์ด และได้พระราชทานกระบี่ทองคำ เป็นเกียรติยศพิเศษ แก่หลวงวรวาที , หน้า94. ประชุมพงศาวดาร เล่ม2 น้า132-133 จดหมายพระยาพระคลัง ถึงบาทหลวงตาชาร์ด วันเสาร์ เดือน11/ 2237 หน้า151ว่า หลวงวรวาที แวงซังแปงเฮโร(พ่อ) ฟรังซัว แปงเฮโร(ลูก)
[46] ประชุมพงศาวดาร เล่ม21, หน้า56-62
[47] โรงเรียนสามเณรนี้ ชื่อเซนต์โยเซฟ ดู ประชุมพงศาวดาร เล่ม21, หน้า152.
[48] ประชุมพงศาวดาร เล่ม21, หน้า87-94.
[49] เรื่องเดียวกัน, หน้า83,84,85.
[50] หนังสือออกญาพระคลัง ถึง ม.เดอบรซาเซีย 27 ธันวาคม 2236 ดู ประชุมพงศาวดาร เล่ม21, หน้า87.
[51] ประชุมพงศาวดาร เล่ม21, หน้า7.
[52] เรื่องเดียวกัน, หน้า 8-14.
* ดู ภาคผนวก : การค้นหาร่องรอยของชาวโปรตุเกสในเอกสารฝ่ายไทย
[53] นันทา สุตกุล (แปล), เรื่องเดิม, หน้า267.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น