วันศุกร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

บทบาทของชาวโปรตุเกสในฐานะทูตสยาม

โดย พิทยะ ศรีวัฒนสาร

ชาวโปรตุเกสเคยมีบทบาทเป็นทูตจากราชสำนักสยามไปเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศมาตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระนเรศวร จากกรณีของการอาสาเป็นทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับมะนิลาของดิเอกู เวลูซู เชลยศึกชาวโปรตุเกสจากกัมพูชาในปี พ.ศ.2138[1] ต่อมาในรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรม มีหลักฐานโปรตุเกสได้กล่าวถึงบทบาทของชาวโปรตุเกสในการเป็นทูตจากราชสำนักสยาม ไปเจริญสัมพันธไมตรีกับทางการโปรตุเกสแห่งเมืองกัว หลักฐานดังกล่าวคือพระราชสาส์นกษัตริย์โปรตุเกสลงวันที่ 17 มกราคม พ.ศ.2161 กล่าวถึงคณะทูตสยามที่เดินทางไปยังกัวเมื่อปี พ.ศ.2160[2] และสาส์นจากอุปราชแห่งเมืองกัวส่งไปถวายกษัตริย์โปรตุเกส ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2162[3] ระบุถึงการที่สยามส่งคณะทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับทางการโปรตุเกสที่กรุงลิสบอนเมื่อปี พ.ศ.2160 หลักฐานชิ้นนี้ระบุว่าคณะทูตที่ส่งไปเมืองกัวเพื่อเตรียมเดินทางไปเกิดจากการริเริ่มของคริสโตวัน รีเบลโล[4] ชาวโปรตุเกสซึ่งอยู่ในกรุงศรีอยุธยากับบาทหลวงจากชุมชนโปรตุเกสชื่อบาทหลวงฟรานซิชคู ดา อานันซิอาเซา เมื่อคณะทูตไปถึงเมืองกัว บาทหลวงอานันซิอาเซาก็ถูกส่งตัวกลับสยามทันทีส่วนคณะราชทูตสยามก็ไม่สามารถเดินทางต่อไปยังกรุงลิสบอนได้ เนื่องจากการล้มป่วยที่เมืองกัว และอีกสาเหตุหนึ่งก็คือ คริสโตวัน รีเบลโล ไม่สามารถร่วมเดินทางไปด้วย เนื่องจากเขาเดินทางไปไม่ถึงเมืองกัว คณะราชทูตจึงขอให้อุปราชแห่งเมืองกัวส่งคณะทูตกลับสยามทางการรัฐโปรตุเกสอินเดียก็ได้ส่งคณะราชทูตสยามกลับภายใต้การคุ้มครองของกัปตัน จูอาว ดา ซิลวา (João da Silva ) โดยอุปราชแห่งเมืองกัวได้ฝากสาส์นมากับกัปตันจูอาวดา ซิลวา เพื่อกราบทูลให้สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมทรงเข้าพระทัยถึงสาเหตุที่คณะราชทูตของพระองค์ไม่สามารถเดินทางต่อไปยังกรุงลิสบอนได้ อุปราชโปรตุเกสแห่งเมืองกัว คาดหมายว่าจะได้รับสัมพันธไมตรีจากสยามด้วยดี ส่วนฝ่ายโปรตุเกสเองก็พร้อมเสมอหากสยามต้องการเป็นมิตร แต่หากสยามประสงค์จะเป็นศัตรูโปรตุเกสก็พร้อมจะเป็นศัตรูกับสยามเช่นกัน จากหลักฐานข้างต้นสาส์นจากอุปราชแห่งกัวค่อนข้างไม่ค่อใส่ใจต่อการสถาปนาความสัมพันธ์กับสยามเท่าที่ควร แต่ถึงกระนั้นก็ตามเรือสินค้าของสยามจะยังคงเดินทางไปค้าขายยังมะละกาและเมืองท่าอื่นๆของโปรตุเกสได้ดังก่อนหน้านี้ ทางการโปรตุเกสตระหนักดีว่าเงื่อนไขในสัญญาทางพระราชไมตรีที่พระเจ้ากรุงสยามทรงทำขึ้นนั้นก็ไม่ค่อยจะมีสาระสำคัญต่อผลประโยชน์และชื่อเสียงของโปรตุเกสเท่าใดนัก เรื่องที่โปรตุเกสให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่งคือ การหายสาบสูญของเรือที่มี ดอง ฟรานซิชกู ดึ เมเนซึส ซึ่งอดีตอุปราช ดอง เจรอนนิมู ดา เอเยเนโด* เป็นผู้ส่งไปสยาม ส่วนการเจรจาสัญญาสันติภาพกับพระเจ้ากรุงสยามนั้น อุปราชแห่งกัวได้มอบหมายให้บาทหลวงอาวุโสแห่งนิกายเยซูอิตในสยามชื่ออังเดร ปึเรรา และคอนสแตนติโน ฟอลคอน ซึ่งเป็นผู้มีชื่อเสียงและอาศัยอยู่ในโคชินแต่กำลังอยู่ระหว่างการไปเยี่ยมบิชอปแห่งเมลิอาเปอร์ (ตำแหน่งเจ้าอธิการของโปรตุเกส) และกำลังพำนักอยู่ในกรุงสยามขณะนั้นเป็นผู้ร่วมเจรจา[5] การที่เงื่อนไขสัญญาสันติภาพกับพระเจ้ากรุงสยาม "ไม่ค่อยมีสาระที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ และชื่อเสียง" ของโปรตุเกส ทำให้อุปราชแห่งเมืองกัว พยายามขัดขวางหน่วงเหนี่ยวมิให้ราชทูตของพระเจ้ากรุงสยามเดินทางไปเป็นสักขีพยานในการให้สัตยาบันแก่สนธิสัญญาดังกล่าวที่เมืองลิสบอน จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้คณะราชทูตสยามระแวง แล้วใช้ข้ออ้างดังกล่าวว่าป่วยขอเดินทางกลับกรุงศรีอยุธยา

บาทหลวงไตไซราระบุถึงความเป็นมาของคณะทูตดังกล่าวซึ่งเดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับทางการโปรตุเกสแห่งอินเดียที่เมืองกัวโดยอ้างจากหลักฐานของอันตอนิอู บูคาร์รู (António Bocarro, Década 13, da História da Índia , Pt.1 , Lisboa 1876)ว่าอุปราชโปรตุเกสแห่งอินเดียได้มอบหมายให้บาทหลวงฟรานซิซกู อานูนซิอาเซา (Frei Francisco Anunciação) ซึ่งมีความ "คุ้นเคยกับพื้นที่ดีผู้หนึ่ง" เดินทางมายังกรุงศรีอยุธยาร่วมกับคณะทูตโปรตุเกส พวกเขาเดินทางมาถึงกรุงศรีอยุธยาเมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ.2158 โดยได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี ต่อมาสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมได้พระราชทานคณะทูตและเครื่องบรรณาการไปยังกัว เพื่อเดินทางต่อไปยังโปรตุเกสพร้อมด้วยขุนนางสยาม 2 คน ตามหลักฐานของบูคคารูในงานของไตไซรา โดยมีบาทหลวงฟรานซิซกู อานูนซิอาเซาและกัปตันคริสตูเวา รึเบลลู ซึ่งมีตำแหน่งเป็นกะปิเตา-มูร์ (หัวหน้าหมู่บ้านของชุมชนโปรตุเกส) ร่วมทางไปด้วยกับทูตสยาม ออกเดินทางเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2159[6] และคงจะเดินทางไปถึงเมืองกัวในปี พ.ศ.2160 ดังปรากฏในพระราชสาส์นกษัตริย์โปรตุเกสถึงอุปราชแห่งกัวดังได้กล่าวไปแล้วเบื้องต้น นอกจากหลักฐานของบูคารูแล้วยังมีหลักฐานฝ่ายไทยอีกชิ้นหนึ่งกล่าวถึงการส่งคณะทูตชุดนี้ไปติดต่อกับทางการโปรตุเกสแห่งกัว หลักฐานดังกล่าวคือพระราชสาส์น "พระบาทสมเด็จพระเอกาทศรถอิศวรบรมนาถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว" จากการที่หลักฐานชิ้นนี้ไม่ถูกระบุวันเวลา ภูธร ภูมะธน จึงได้เสนอว่าเป็นพระราชสาส์นของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง[7] แต่เดิมหลักฐานชิ้นนี้เคยถูกกล่าวถึงมาแล้วในบทความของศาสตราจารย์ขจร สุขพานิชซึ่งได้ระบุว่าเป็นพระราชสาส์นสมเด็จพระเอกาทศรถ (พ.ศ.2148-2153) ถูกส่งไปเมืองกัวในปี พ.ศ.2161[8] พระราชสาส์นฉบับนี้มีเนื้อหากล่าวถึงความเป็นมาของการแลกเปลี่ยนคณะทูตระหว่างกรุงศรีอยุธยากับโปรตุเกส การขอบใจทางการโปรตุเกสที่มิได้ต้อนรับราชทูตจากอังวะ การระบุถึงคุณค่าและผลประโยชน์ของความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองฝ่าย การส่งเรือแลกเปลี่ยนไปมาค้าขายและการออกพระราชกำหนดคุ้มครองพ่อค้าและทหารชาวโปรตุเกสในพระราชอาณาจักรสยาม การกล่าวถึงชื่อผู้ร่วมคณะทูตสยามไปยังเมืองกัวเป็นหลักฐานสำคัญที่ช่วยให้ทราบชัดเจนว่าแท้ที่จริงแล้วคณะทูตดังกล่าวถูกส่งออกไปในปี พ.ศ.2159 ดังกล่าวไปแล้วข้างต้น บุคคลซึ่งถูกกล่าวถึงในพระราชสาส์นสมเด็จพระเอกาทศรถ(ทรงธรรม) ประกอบด้วย

การตรวจสอบและเปรียบเทียบชื่อของชาวโปรตุเกสในพระราชสาส์นสมเด็จพระเอกาทศรถ(ทรงธรรม)
บุคคลในหลักฐาน การเปรียบเทียบหลักฐาน หมายเหตุ
1. พระวิชเรน Vice Rei คือ Dom Jerónimo Azevedo (พ.ศ.2155-2159)
2. บาตรีผเรผรันสีศกุตนุสียาสัง (บางแห่งเป็น…ตนุสียาลัง แต่จริงๆแล้วควรจะเป็น…อนุสียาสัง มากกว่า) Padre Frei Francico
Anunciação คุณพ่อคสาธุคุณ ฟรันซิชกู อานูนซิยาเซา
3. กะปิตันมล เวร รีเบน Capitão-mor Christovam Rebelo กะปิเตา-มูร์ คริสตูเวา รึเบลลู
4. ทองฝีหลีป พระยาปรตุการ Dom Filip กษัตริย์แห่งโปรตุเกส
(ที่มา : ภูธร ภูมะธน, เรื่องเดิม, หน้า70-79)

พระราชสาส์นฉบับดังกล่าวยังได้ระบุนามของราชทูต (พระยาสมุทรสงคราม) อุปทูต (หลวงสมุทรไมตรี) และตรีทูต (ขุนอนุชิตราชา)[9] ด้วย
ต่อมาในปี พ.ศ.2226 สมเด็จพระนารายณ์ทรงได้รับคำแนะนำจากคอนสแตนติน ฟอลคอนให้ส่งบาทหลวงนิกายออกัสตินชาวโปรตุเกสชาวเมืองลิสบอนชื่ออึสตึบัน ดึ โซซา (Esteban de Sousa*) เป็นทูตเดินทางไปยังมะนิลา[10] เมื่อเดินทางกลับมายังกรุงศรีอยุธยาแล้ว ทรงแต่งตั้งบาทหลวงอึสตึบัน ดึ โซซา เป็นทูตไปเฝ้าพระเจ้ากรุงโปรตุเกส โดยมีขุนนางสยามติดตามไปด้วย 2 คน เรือของคณะทูตไปถึงกัวโดยสวัสดิภาพ แต่เมื่อผ่านแหลมกู๊ดโฮปเรือได้อับปางบริเวณนั้นลูกเรือและขุนนางสยามเสียชีวิตเกือบหมด เหลือรอดเพียงไม่กี่คน บาทหลวง ดึ โซซา ได้เดินทางกลับถึงเมืองกัว และได้รับคำสั่งของคณะบาทหลวงประจำมณฑล (Provincial) ให้เดินทางกลับกรุงศรีอยุธยา และบาทหลวงผู้นี้ได้อุทิศชีวิตแก่การเผยแพร่ศาสนาและจำศีลอย่างสมถะโดดเดี่ยวในหมู่บ้านของชาวโปรตุเกส (Portuguese Bandel) เป็นตัวอย่างอันดีแก่ชาวยุโรปทั้งปวงในกรุงศรีอยุธยา หลักฐานระบุว่าบาทหลวงดึ โซซา ได้ให้เปิดหลุมศพของเขาไว้เสมอ โดยมักจะลงไปนอนในหลุมและปฏิบัติสมาธิเรื่องการสิ้นสุดแห่งความรุ่งโรจน์ของโลกนี้ จนกระทั่งถึงแก่กรรม ในปี พ.ศ.2253 ในที่พักอันโดดเดี่ยวของเขาในที่นั่งคุกเข่า ศพของเขาถูกฝังอยู่ในหลุมศพที่เขาเคยเปิดเองเสมอ[11]

จากหลักฐานดังกล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่าชาวโปรตุเกสที่ถูกส่งออกไปในคณะทูตสยามนั้น มีฐานะเป็นผู้ช่วยทูตหรือผู้ร่วมไปกับคณะทูตสยามเท่านั้น มิได้มีฐานะเป็นราชทูตสยามแต่อย่างใด เนื่องจากราชสำนักยังคงรักษาธรรมเนียมของการส่งราชทูตชาวสยามให้เดินทางอัญเชิญพระราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการไปด้วยตนเองอย่างเคร่งครัด

การอ้างอิง
[1] จันทร์ฉาย ภัคอธิคม, ประวัติศาสตร์ไทยสมัยแรกเริ่มจนถึงสมัยธนบุรี : การศึกษาเฉพาะ ประเด็น ( กรุงเทพ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง , 2520), หน้า40-41
[2] กรมศิลปากร, บันทึกสัมพันธไมตรีฯ เล่ม1 , หน้า108.
[3] เรื่องเดียวกัน, หน้า116-120.
[4] ชื่อของ คริสโตวัน รีเบลโลนี้ ปรากฏอยู่ในวิทยานิพนธ์ของ ดร.สุธาชัย ยิ้ม-ประเสริฐ ว่าคริสูตเวา รึเบลลู (Cristovão Rebelo)เป็นอดีตนักโทษหนีคดีจากเมืองโคชิน, ดู Suthachai Yimprasert , op.cit., p.188. บาทหลวงไตไซราเขียนชื่อของเขาเป็น Cristavan Rebelo และระบุว่าการที่คริสตูเวา รึเบลลูมิได้เดินทางไปให้ถึงเมืองกัวนั้น อาจมีสาเหตุมาจากเขาเกรงว่าจะถูกทางการรัฐโปรตุเกสอินเดียจับกุมตัวไปดำเนินคดี และระบุว่า รึเบลลู ได้ก่อคดีฆ่าคนตายถึงสองคดีที่เมืองตูติคูริง (Tuticorim) จึงไม่กล้ากลับไปที่กัว, ดู P.Manuel Teixeira, op.cit., p.133
* คือ ดอง เจรูนิมู อาซึเวดู (Dom Jéronimo Azevedo)
[5] กรมศิลปากร, บันทึกสัมพันธไมตรฯ เล่ม1 , หน้า 116-119.
[6] P.Manuel Teixeira, op.cit., pp.130-133.
[7] ภูธร ภูมะธน และเทิม มีเต็ม, "เอกสารโบราณอักษรไทย ภาษาไทย รัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถจากห้องสมุดโบดเลียนประเทศอังกฤษ",วารสารสมาคมประวัติศาสตร์ 12 (กุมภาพันธ์ : 2533) : 70-79, ผู้วิจัยได้รับสำเนาหลักฐานชิ้นนี้ด้วยความเอื้อเฟื้อจาก อ.นันทิยา สว่างวุฒิธรรม เมื่อ 16 เมษายน พ.ศ.2542
[8] สมพร ชมนา, "ความสัมพันธ์ระหว่างกรุงศรีอยุธยากับโปรตุเกส" (สารนิพนธ์หลักสูตรศิลปศาสตร์บัณฑิต ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยลัยศิลปากร, 2527), หน้า24 (ดูที่หอสมุดกลางมหาวิทยาลัยศิลปากร)
[9] ภูธร ภูมะธน, เรื่องเดิม, หน้า78-79.
* คนเดียวกับChistovam , Christovão
[10] จันทร์ฉาย ภัคอธิคม, เรื่องเดิม, หน้า138.
[11] จันทร์ฉาย ภัคอธิคม,เรื่องเดิม, หน้า139.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น