วันศุกร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

บทบาทของชาวโปรตุเกสในราชสำนักสยาม

โดย พิทยะ ศรีวัฒนสาร

การจ้างชาวต่างประเทศให้ทำงานรับใช้ราชสำนักสยามมิใช่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นใหม่ กรมท่าในสมัยอยุธยา ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายได้แก่ กรมท่าซ้าย อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของขุนนางชาวจีนคือหลวงโชดึกราชเศรษฐี กรมท่าขวาอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของชาวมุสลิมคือพระจุลาราชมนตรี พ่อค้ากับชาวเรือชาวจีน และมุสลิม มักถูกจ้างให้ทำงานรับใช้ราชสำนักเสมอ ทหารรับจ้างชาวโปรตุเกส จาม มะลายู และญี่ปุ่น ก็ถูกพระเจ้าแผ่นดินสยามจ้างทำงานเช่นกัน เนื่องจากคนต่างชาติเหล่านี้มีความชำนาญพิเศษ สมเด็จพระนารายณ์ทรงจ้างชาวตะวันตกเช่นเดียวกับชาวตะวันออก เนื่องด้วยทรงคำนึงถึงผลประโยชน์ด้านการค้าและการทูต อาทิ ทรงจ้างคอนสแตนติน ฟอลคอน ชาวกรีก แซมมวล ไวท์ ชาวอังกฤษให้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ พระองค์ก็ทรงจ้างชาวต่างชาติดำรงตำแหน่งอื่นๆด้วย อาทิ เรอเน ชาร์บอนโน (René Charbonneau) เจ้าเมืองภูเก็ต โบรีการ์ด (Bauregard) เจ้าเมืองมะริด แต่หลังเหตุการณ์ยึดอำนาจสมเด็จพระนารายณ์ ในปี พ.ศ.2231 เป็นการสิ้นสุดยุคแห่งการที่ชาวตะวันตกเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองภายในช่วงสั้นๆของสยาม ช่วงพุทธทศวรรษที่2220 ได้แสดงให้เห็นว่าสยามคำนึงถึงอันตรายของการจ้างชาวตะวันตกเข้ามามีบทบาทในราชสำนัก ตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระเพทราชาเป็นต้นมา พระเจ้าแผ่นดินสยามจึงมิได้ให้ความเชื่อถือชาวตะวันตกเท่าใดนัก ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเสือ ฌาง ดูมิงกูช ดึ มัตตู (Jan Domingos de Matto) ได้รับหน้าที่ในการเดินทางไปชักชวนให้บริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษเดินทางมาค้าขายในสยามอีกครั้ง เขาได้รับพระราชทานราชทินนามเป็นออกหลวงฤทธิ์ราวี โดยก่อนหน้านี้มีหลักฐานว่าสมเด็จพระเพทราชาก็มิได้ได้ว่าจ้างชาวตะวันตกเข้ารับราชการในราชสำนัก ยกเว้นศัลยแพทย์ของบริษัทอินเดียตะวันออกชื่อแดเนียล บรู๊คบาวด์ (Daniel Brochebourde) และโมเสสบุตรชาย ศัลยแพทย์ทั้งสองได้รับพระราชทินนามเป็นออกพระแพทยโอสถ ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ จากหลักฐานของฮอลันดาและฝรั่งเศสระบุว่า หลานชายของคอนสแตนติน ฟอลคอน ชื่อ คอนสแตนติน ฟอลคอนเช่นกัน ได้รับราชการเป็นหลวงราชมนตรี มีหน้าที่เป็นผู้ว่ากล่าวชาวคริสเตียน และดูแลบรรดาท้องพระคลังหลวง ภรรยาหม้ายของฟอลคอน ก็ทำงานในตำแหน่งวิเสศกลาง ระหว่างปี พ.ศ.2260-2267[1]

ดร.ธีรวัต ชี้ว่า ความอยากรู้อยากเห็นและความต้องการรับเอาศิลปวิทยาการจากตะวันตกได้ลดน้อยลงไปหลังปี พ.ศ.2231 ดังนั้นพระเจ้าแผ่นดินสยามจึงมิได้เรียกร้องให้ชาวยุโรปส่งช่างเทคนิค ทหาร และช่างฝีมือ เข้ามาทำงานในราชสำนักสยามอีกดังเช่นในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองและสมเด็จพระนารายณ์ ยุคแห่งการรับราชการในราชสำนักสยามของชาวตะวันตกจึงสิ้นสุดลงหลังมรณกรรมของคอนสแตนติน ฟอลคอน อย่างไรก็ตามได้มีชาวต่างชาติกลุ่มหนึ่งย้อนเข้ามามีบทบาทโดดเด่นอีกครั้งในราชสำนักสยามคือ "ชาวมัวร์" ชาวมัวร์เหล่านี้มีบทบาททางการค้าระหว่างอินเดียกับสยามโดยมีหลักฐานในเอกสารของ VOC. และแกมเฟอร์ กล่าวถึง ออกพระศรียศ (อาจหมายถึงออกพระจุลาราชมนตรี) ซึ่งดูแลชุมชนชาวมุสลิมในอยุธยาส่วนออกญา "Tewijata" ซึ่งระบุในหลักฐานว่าเป็นแขกปาทาน มีชื่อจริงว่าฮุสเซ็น ข่าน (Hossen Chan หรือ Hosain Khan) หลักฐานระบุว่าเป็นพระสหายสนิทของสมเด็จพระเพทราชา ออกญาเทวิชาตาเป็นขุนนางคนหนึ่งที่นิยมชาวฮอลันดา เขามีบทบาทในการสั่งซื้อสังกะสีจาก VOC. ระหว่างปี พ.ศ.2232 -2233 ครั้นถึงกลางพุทธศตวรรษที่23 ขุนนางชาวจีนเริ่มเข้ามามีบทบาทแทนขุนนางมุสลิม หลักฐานของแกมเฟอร์ระบุว่า ในปี พ.ศ.2233 ขุนนางชาวจีนผู้หนึ่งได้รับตำแหน่งเป็นออกญายมราช นอกจากนี้สมเด็จพระเพทราชายังทรงแต่งตั้งชาวจีนเป็นออกญาพระคลัง เนื่องจากต้องการได้รับการสนับสนุนจากราชสำนักจีน จดหมายของพ่อค้าฮอลันดาในปี พ.ศ.2245 ระบุว่า ออกญาสมบัติธิบาล เป็นขุนนางชาวจีนที่สมเด็จพระเพทราชาทรงโปรดปรานมาก เป็นผู้มีบทบาทในการค้ากับต่างประเทศ "แม้แต่ออกญาพระคลังก็ไม่กล้าบุ่มบ่ามตัดสินใจโดยปราศจากความเห็นชอบของออกญาสมบัติธิบาล" แต่เมื่อสมเด็จพระเจ้าเสือเสด็จขึ้นครองราชย์ ออกญาสมบัติธิบาลก็ถูกประหารพร้อมกับเจ้าพระขวัญในปี พ.ศ.2246 ถึงกระนั้นสมเด็จพระเจ้าเสือก็ทรงโปรดปรานขุนนางชาวจีนเช่นกัน ทรงแต่งตั้งออกญาสมบัติธิบาลคนใหม่ (ออกญา Lauja) และออกหลวงพิบูล ขุนนางชาวจีนดำรงตำแหน่งสำคัญ เมื่อการค้าสำเภาระหว่างจีนมีความสำคัญมากขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ปรากฏว่าขุนนางชาวจีนได้รับการแต่งตั้งเป็นออกญาพระคลัง ทำให้มีชาวจีนอพยพเข้ามามากขึ้น และมีชาวจีนรับราชการในราชสำนักสยามจนสิ้นสุดสมัยกรุงศรีอยุธยา[2]

สำหรับชาวโปรตุเกสในเมืองพระนครศรีอยุธยานั้น พวกเขามีบทบาทในการเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินสยามขณะเมื่อเสด็จออกว่าราชการ ตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราชเพราะการเกณฑ์ทหารชาวโปรตุเกสไปรบเมืองเชียงกรานในปีพ.ศ.2081[3] ทำให้มีชาวโปรตุเกสรับราชการสืบเนื่องมาจนถึงรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา (พ.ศ.2112-2133) พระราชพงศาวดารระบุว่า กบฎญาณพิเชียร (ญาณประเชียร หรือ พระยาพิเชียร) เคลื่อนไพร่พลจากตำบลบ้านมหาดไทยมุ่งไปหมายยึดเมืองลพบุรี พระยาศรีราชเดโช (พระยาสีหราชเดโช) ซึ่งได้รับพระบรมราชโองการให้ขึ้นไปซ่อมแปลงกำแพงเมืองลพบุรีจึงสู้รบป้องกันอยู่ภายในเมือง ครั้งนั้นได้มีชาวบรเทศหรือชาวประเทศ (ชาวโปรตุเกส) ชื่ออมรวดี แฝงต้นโพธิ์ ยิงปืนนกสับไปต้องญาณพิเชียรซบลงกับคอช้าง ทำให้พวกกบฎทั้งปวงแตกพ่ายกลับไป พระยาศรีราชเดโชได้นำตัวอมรวดีเข้ามาถวาย สมเด็จพระมหาธรรมราชาในพระนคร พระองค์จึงพระราชทานบำเหน็จรางวัลแก่บรเทศผู้นี้เป็นอันมาก[4] ชาวบรเทศหรือชาวประเทศก็คือชาวโปรตุเกสที่รับราชการในราชสำนักสยาม ต่อมาเมื่อชาวโปรตุเกสในเมืองตะนาวศรีก่อความไม่สงบในปี พ.ศ.2156 จดหมายของเฮาท์แมนหัวหน้าพ่อค้าฮอลันดาลงวันที่ 24 เมษายน พ.ศ.2156 กล่าวว่านักโทษโปรตุเกสถูกนำตัวจากเมืองตะนาวศรีมายังกรุงศรีอยุธยาได้ 10-12 วันแล้วพวกเขาประกอบด้วยคนผิวขาว 400 คน คนผิวดำ 35 คน เฮาท์แมนไม่คิดว่านักโทษเหล่านี้จะถูกปล่อยเป็นอิสระในเร็ววันแต่กลับปรากฏว่าได้มีผู้กราบบังคมทูลขอให้สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมทรงปล่อยตัวพวกเขาเป็นหลายครั้งหลายครา[5]

แท้ที่จริงแล้วประเด็นที่น่าสนใจคือ"ผู้รบเร้า" กราบบังคมทูลขอพระราชทานอภัยโทษให้แก่พวกโปรตุเกสที่ก่อจลาจลในเมืองตะนาวศรี โดยไม่เกรงว่าจะระคายต่อเบื้องพระยุคลบาท อาจเป็นชาวโปรตุเกสที่รับราชการในราชสำนักอยุธยา หรือกลุ่มพ่อค้าและบาทหลวงชาวโปรตุเกสผู้ซึ่งอาจมีความดีความชอบในราชสำนักมิใช่ขุนนางชาติอื่น การที่หลักฐานของเฮาท์แมนระบุว่านักโทษชาวโปรตุเกสบางคนมีส่วนร่วมในการปราบปราม "Balicate" ย่อมแสดงให้เห็นว่าพวกเขามีความสำคัญเพียงพอต่อการที่สมาชิกของชุมชนโปรตุเกสซึ่งมีฐานะทางสังคมเป็นที่ยอมรับในเมืองพระนครศรีอยุธยา จะกราบบังคมทูลขอพระราชทานอภัยโทษให้ เหตุการณ์เช่นนี้แสดงให้เห็นว่าในตอนต้นรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมนั้นเสียงเรียกร้องที่ดังออกมาจากชุมชนชาวโปรตุเกสนั้นยังได้รับการตอบสนองด้วยดีจากทางการสยาม

นอกจากนี้ในรายงานของคณะกรรมการแต่งตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาตรวจสอบปัญหาที่ทำขึ้นระหว่างรัฐบาลฮอลันดากับกรุงสยาม ลงวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ.2160 กล่าวถึงการลงนามในสัญญาระหว่าง มร. เฮาท์แนน (Houtman) ฯลฯ กับ โอลอน ลูปาตู ออกพระเสนาบดีของพระเจ้าแผ่นดินสยาม และผู้บัญชาการชาวญี่ปุ่นที่เมืองอยุธยา กำหนดข้อบังคับบางประการเกี่ยวกับการจำหน่ายหนังกวาง และหนังสัตว์อื่นๆ[6] เป็นสิ่งบ่งชี้ให้เห็นว่าขุนนางต่างชาติอื่นๆก็มีบทบาทในราชสำนักสยามด้วย และในระยะเวลาใกล้เคียงกันนั้นชาวโปรตุเกสก็เคยมีบทบาทร่วมกับขุนนางในราชสำนักสยามเพื่อพิจารณาร่างสัญญาสันติภาพ ระหว่างทางการโปรตุเกสกับราชสำนักสยาม ดังปรากฏในสาส์นของอุปราชแห่งเมืองกัวถวายกษัตริย์โปรตุเกส เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2162 ระบุว่า กงสตันตินู ฟัลเกา (คอนสแตนติโน ฟอลคอน) สุภาพบุรุษชาวโปรตุเกสซึ่งพำนักอยู่ในโคชินไชน่า เป็นบุคคลผู้หนึ่งซึ่งได้ร่วมเจรจาทำสัญญาสันติภาพกับพระเจ้ากรุงสยาม[7] โอกาสเช่นนี้คงจะไม่เกิดขึ้นได้ง่ายๆ หากชุมชนโปรตุเกสไม่เคยมีบทบาทเช่นนี้มาก่อนในราชสำนักสยาม[8]

การรับราชการอยู่ในราชสำนักสยามอาจทำให้ชาวโปรตุเกสในเมืองพระ นครศรีอยุธยามีส่วนแพร่งพรายข่าวการปราบกบฏญี่ปุ่นซึ่งก่อความไม่สงบขึ้นในปี พ.ศ.2172 ด้วย บันทึกของฮอลันดา ระบุว่าในปี พ.ศ.2172 สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงเกรงว่าชาวญี่ปุ่นในกรุงศรีอยุธยาจะลอบปลงพระชนม์ จึงทรงวางแผนปราบปรามและขับไล่พวกเขาออกจากอยุธยา แต่ปรากฏว่ามีผู้เตือนให้ชาวญี่ปุ่นรู้ตัวล่วงหน้าทำให้หนีลงเรือทัน แต่ก็ถูกฆ่าตายจำนวนมากสมเด็จพระเจ้าปราสาททองได้รับความช่วยเหลือจากฮอลันดาเพรื่อปราบปรามชาวญี่ปุ่นอย่างจริงจัง[9] ชาวญี่ปุ่นส่วนหนึ่งได้หนีไปพำนักที่กัมพูชา หลักฐานฮอลันดาชี้ว่าในปีเดียวกันนั้นสมเด็จพระเจ้าปราสาททองได้ส่งทัพเรือไปปราบกบฏเมืองปัตตานี พระองค์ทรงได้รับความช่วยเหลือจากชาวโปรตุเกส[10] ปัญหาก็คือผู้ที่เตือนให้ชาวญี่ปุ่นรู้ตัวล่วงหน้าก่อนถูกปราบปรามนั้นเป็นใคร จะเป็นชาวโปรตุเกสได้หรือไม่ เนื่องจากชุมชนโปรตุเกสกับชุมชนญี่ปุ่นนั้นนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาธอลิกเช่นเดียวกัน มีที่ตั้งชุมชนคนละฟากแม่น้ำในย่านใกล้เคียง ทำให้มีสัมพันธ์อันดีต่อกัน พวกโปรตุเกสจึงอาจเป็นผู้ส่งข่าวของราชสำนักให้แก่ชาวญี่ปุ่นก็ได้ ส่วนการให้ความช่วยเหลือแก่ราชสำนักสยามในการปราบกบฏที่ปัตตานี เป็นการสนับสนุนทางการทหารที่กระทำต่อชาวมุสลิม ซึ่งจะทำให้ชุมชนโปรตุเกสในอยุธยาได้รับผลประโยชน์และสิทธิพิเศษตอบแทนจากราชสำนัก การที่หลักฐานระบุว่าสมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงขอความช่วยเหลือจากฮอลันดาอย่างจริงจังในเรื่องการปราบชาวญี่ปุ่น รวมทั้งมีหลักฐานว่า การรบกันระหว่างสยามและกัมพูชาในปี พ.ศ.2175 นั้น กัมพูชาได้รับความช่วยเหลือจากสเปนและทหารญี่ปุ่นซึ่งถูกขับออกจากสยาม ในปีพ.ศ.2172 ฮอลันดาได้ส่งกองเรือมาช่วยสยามรบกับกัมพูชาและสเปน เรือรบของฮอลันดานอกจากจะมีแผนช่วยสยามรบแล้ว ยังมุ่งที่จะจับกุมเรือโปรตุเกส ซึ่งแล่นในเส้นทางระหว่าง มาเก๊า กับมะนิลา และญี่ปุ่น-มาเก๊า-มะนิลาด้วย[11] จึงเป็นไปไม่ได้ที่ชาวฮอลันดาจะเป็นผู้แพร่งพรายข่าวการปราบปรามของทางการสยามให้กบฏชาวญี่ปุ่นทราบก่อนล่วงหน้า

ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ บาทหลวงชาวโปรตุเกสมีบทบาทค่อนข้างสูงในราชสำนัก ภายใต้การชักนำของคอนสแตนติน ฟอลคอน ดังปรากฏหลักฐานว่าฟอลคอน มีบาทหลวงชาวโปรตุเกสคณะดูมินิกัน ชื่อเปดรู มาร์ตีร์ เป็นเลขานุการส่วนตัว บาทหลวงอึชเตวัม ดึ โซซา แห่งคณะออกัสติน เป็นผู้ช่วยเลขานุการ หลังเกิดเหตุการณ์สมเด็จพระเพทราชาใช้กำลังทหารยึดอำนาจจากสมเด็จพระนารายณ์ ในปีพ.ศ.2231 ปรากฏว่าบาทหลวงเปดรู มาร์ตีร์ ถูกคุมขังอยู่เป็นเวลานาน ส่วนบาทหลวงอิชเตวัม ดึ โซซา รอดพ้นจาการถูกทหารทรมานเพราะกำลังป่วย นักบวชอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นชาวเฟลมมิช (ชาวเบลเยียมที่ไม่พูดภาษาฝรั่งเศส) รอดพ้นจากการถูกจับกุม เพราะอ้างตัวว่าเป็นชาวโปรตุเกส[12] สิ่งเหล่านี้เป็นหลักฐานที่สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของชาวโปรตุเกสในราชสำนักเป็นอย่างดี

การอ้างอิง
[1] Dhiravat na Pombejra , Authaya at the End of the Seventeenth Century : Was There a Shift to Isolation , (Mimeographed), pp.257-258.

[2] Ibid., pp.259-260
[3] กรมศิลปากร, พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม1 , หน้า261.
[4] สมเด็จพระพนรัตน์, พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา และจุลยุทธการวงศ์ คณะสงฆ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามฯ วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2533 , หน้า61. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพระพนรัตน์ เรียกญาณพิเชียรว่า "พระยาพิเชียร"
[5] นันทา สุตกุล (แปล), เรื่องเดิม, หน้า69-70.
[6] กรมศิลปากร,บันทึกสัมพันธไมตรีฯเล่ม2 , หน้า98.
[7] เรื่องเดียวกัน, หน้า98.
[8] เรื่องเดียวกัน, หน้า118
[9]-172 นันทา สุตกุล(แปล), เรื่องเดิม, หน้า105-106.

[11] นันทา สุตกุล (แปล), เรื่องเดิม, หน้า109-113.
[12] กรมศิลปากร, บันทึกสัมพันธไมตรีฯ เล่ม5, หน้า63-64.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น