วันจันทร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

สถานะทางสังคมของชุมชนชาวโปรตุเกสในเมืองพระนครศรีอยุธยา

โดย
พิทยะ ศรีวัฒนสาร

ในระยะแรกของการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชุมชนโปรตุเกสในเมืองพระนครศรีอยุธยาไม่ปรากฏหลักฐานว่า มีการกระทบกระทั่งระหว่างชาวโปรตุเกสกับชาวสยามหรือชุมชนต่างชาติอื่นๆ จะมีก็แต่หลักฐานบันทึกของชาวโปรตุเกส ซึ่งกล่าวถึงความชื่นชมของชาวสยามที่มีต่อชาวโปรตุเกส ในฐานะของทหารอาสาและทหารรักษาพระองค์ผู้มีความสามารถพิเศษในการใช้อาวุธปืนคาบศิลาและปืนใหญ่[1] ในตอนต้นรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองบันทึกของฮอลันดากล่าวถึงความหวั่นไหวต่อสถานะทางการเมืองของชาวฮอลันดาในกรุงศรีอยุธยาว่าอาจเพลี่ยงพล้ำเสียทีให้ชาวโปรตุเกสเนื่องจากออกญาพระคลังซึ่งมีความใกล้ชิดกับพ่อค้าฮอลันดาได้พ้นจากตำแหน่งและได้รับแต่งตั้งเป็นออกญากำแพง (Capheyn) ในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2183 พ่อค้าฮอลันดา บันทึกว่า

" นับเป็นการสูญเสียอย่างยิ่งใหญ่สำหรับเรา ถึงเขาเป็นคนเฉื่อยชาในหน้าที่ของเขาแต่ก็มีความจริงใจ มีใจเมตตา และรักบริษัทของเรา"[2]

การเปลี่ยนแปลงตำแหน่งของออกญาพระคลังทำให้สถานะทางการค้าการเมืองในกรุงศรีอยุธยาของชาวฮอลันดาตกอยู่ในสภาวะล่อแหลมและในทางกลับกันอาจส่งผลดีต่อฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมแก่ชุมชนโปรตุเกสได้ เนื่องจากปรากฏว่าออกญาพระคลังคนใหม่มิได้มีใจเอนเอียงมาทางพ่อค้าฮอลันดา ความสะดวกในการรวบรวมสินค้า ความมีหน้ามีตา และความได้เปรียบพ่อค้าชาติอื่นก็ลดน้อยลง ขุนนางสยามที่เข้ามาดำรงตำแหน่งออกญาพระคลังแทนขุนนางคนเดิมคือออกญากลาโหม[3] ออกญากลาโหมผู้นี้เคยดำรงตำแหน่งเป็นออกญาพระคลังมาก่อนเมื่อปี พ.ศ.2180 บันทึกฮอลันดาระบุว่า แต่เดิมขุนนางผู้นี้เคยทำประโยชน์และช่วยเหลือพ่อค้าฮอลันดาเป็นอันมากโดยตลอด แต่ประเด็นสำคัญคือออกญาพระคลังคนใหม่เป็น "มหามิตร" ของพวกโปรตุเกส เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้หลักฐานฮอลันดาระบุว่าชาวโปรตุเกสได้รับอนุญาตให้ไปหามาสู่ออกญาพระคลังได้อย่างเสรี และอาจก่อให้เกิดปัญหาเรื่องการแข่งขันทางการค้าและอื่นๆกับฮอลันดาได้ เนื่องจากหลักฐานระบุว่า

" …พวกโปรตุเกสไม่ตะขิดตะขวงใจที่จะกล่าวทุกๆเรื่อง พวกโปรตุเกสจึงทำให้เราเป็นที่น่ารังเกียจมาก โดยวิธีคุยโวและพูดปดอย่างน่าละอายจนออกญาพระคลัง (ผู้ซึ่งเคยเรียกฟอนฟลีตว่า ลูก หรือเพื่อน) ได้เปลี่ยนความรักใคร่ไปจากเรา และขู่จะเอาชีวิตและทรัพย์สมบัติของเรา"[4]

การมีจิตในเอนเอียงมาทางชาวโปรตุเกสของขุนนางผู้ใหญ่ชาวสยามอาจช่วยให้ชุมชนโปรตุเกสได้รับผลประโยชน์ทางการค้าและอื่นๆมากกว่าเดิมนับตั้งแต่มีชาว ยุโรปชาติอื่นเข้ามา นอกจากออกญาพระคลังคนใหม่จะมีความรักใคร่ฉันท์มิตรต่อชุมชนโปรตุเกสเป็นอย่างยิ่งแล้ว ออกพระราชมนตรีตำแหน่งเจ้าท่าในสังกัดออกญาพระคลังก็เป็นขุนนางชาวสยามอีกผู้หนึ่งที่มีพฤติกรรมไม่เป็นมิตรกับชาวฮอลันดา เนื่องจากเจ้าท่าผู้นี้มีหน้าที่บังคับบัญชาชุมชนโปรตุเกสโดยตรง บันทึกของฮอลันดาระบุว่าขุนนางผู้นี้เป็นคนเจ้าเล่ห์ที่มุ่งหาโอกาสทำร้ายบริษัทฮอลันดา เพื่อให้เสื่อมความนิยมนับถือและหันเหความโปรดปรานของสมเด็จพระเจ้าปราสาททองไปจากพ่อค้าฮอลันดาจึงมีการ "ปั้นเรื่องเท็จ" ขึ้นมาว่า พ่อค้าฮอลันดาไม่ยอมที่จะเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินและปฏิเสธที่จะถวายของหลายสิ่งจากผู้สำเร็จราชการแห่งปัตตาเวียจนกว่าพระเจ้ากรุงสยามจะใช้หนี้บริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา และกล่าวหาว่าพ่อค้าฮอลันดาจะเขียนจดหมายไปยังเมืองปัตตาเวียเพื่อขอให้รัฐบาลฮอลันดาส่งกองเรือมายังกรุงศรีอยุธยา เพื่อทวงหนี้จากพระคลังหลวงและอื่นๆ ออกพระราชมนตรีได้ทำหนังสือแจ้งให้ออกญาพระคลังทราบ และขอให้ออกญาพระคลังอ่านถวายสมเด็จพระเจ้าปราสาททองในนามของพ่อค้าฮอลันดา
บันทึกของฮอลันดาแสดงความวิตกว่า ออกญาพระคลังรักใคร่ชอบพอพวกโปรตุเกสและพอใจที่จะเห็นความล่มจมของบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดาจึงนำจดหมายของออกพระราชมนตรีไปถวายสมเด็จพระเจ้าปราสาททองในวันที่พ่อค้าฮอลันดาเข้าเฝ้าเพื่อถวายเครื่องราชบรรณาการ จดหมายฉบับดังกล่าวทำให้สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงกริ้วโดยมิได้ไต่สวนหาความจริง ออกญาพระคลังจึงออกคำสั่งประกาศขับไล่พ่อค้าฮอลันดาให้เดินทางออกจากกรุงศรีอยุธยาหากยังมีชาวฮอลันดาหลงเหลืออยู่ในโรงสินค้าพวกเขาจะถูกประหารทั้งหมด คำสั่งของออกญาพระคลังทำให้ "ทั้งเมืองโกลาหลไปทันที" กองทหารของพระเจ้าแผ่นดินต่างก็จับอาวุธและย้ายปืนใหญ่ไปตั้งใกล้โรงสินค้าของฮอลันดาพร้อมๆกับการนำช้างม้าออกมาเตรียมทำศึกกับฮอลันดาด้วย นอกจากนี้หัวหน้าชาวญี่ปุ่นในกรุงศรีอยุธยาได้เรียกหัวหน้าพ่อค้าฮอลันดาไปพบ เมื่อสมเด็จพระเจ้าปราสาททองยังทรงได้รับคำปรึกษาที่เหมาะสมจากออกญาพิษณุโลก ออกญาจักรี(Sicri) ออกญาสวรรคโลก พระราชชนนี และพราหมณ์ผู้มีชื่อเสียงผู้หนึ่งทำให้ทรงคลายพิโรธและทรงยกเลิกคำสั่งขับไล่ชาวฮอลันดาของออกญาพระคลังเสีย ต่อมาสมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงมีพระราชโองการห้ามผู้ใดเข้าไปในโรงงานของบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดาหรือพูดจากับชาวฮอลันดาโดยเฉพาะอย่างยิ่งห้ามขายไม้ซุงและห้ามรับ
(น.160-162 )
.......รอพิมพ์เพิ่ม........
(เริ่ม 163-166 )
นอกจากนี้ในปีพ.ศ.2181 หัวหน้าพ่อค้าฮอลันดาในกรุงศรีอยุธยาจำต้องลงนามในหนังสือฉบับหนึ่ง โดยบันทึกของฮอลันดากล่าวถึงสำเนาพระราชบัญญัติซึ่งพระเจ้าแผ่นดินสยามทรงให้นายฟอนฟลีตลงนามรับรองดังนี้

"ขึ้น 5 ค่ำเดือนยี่ ปีชวด ออกญาพระคลังได้เคี่ยวเข็ญเอาหนังสือนี้จากข้าพเจ้า เยเรเมียส ฟอนฟลีต(หัวหน้าสถานีค้าขายของบริษัทในประเทสสยามโดยผ่านทางออกหลวงสุต ราชมนตรี (Tsuijt Raijmontri) ในหนังสือนี้ข้าพเจ้าสัญญาว่า ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าจะเชื่อฟังทุกๆสิ่งซึ่งออกญาพระคลังได้สั่งหรือมีบัญชาแก่ข้าพเจ้า หรือ ชาวฮอลันดาซึ่งพำนักอยู่ในประเทศสยามโดยผ่านทางเจ้าท่าหรือล่ามอย่างเคร่งครัด เท่าที่อยู่ในอำนาจของเราตามกฎหมายและขนบธรรมเนียมของอาณาจักรและขอสัญญาว่าข้าพเจ้า (ผู้เป็นหัวหน้า) จะรับผิดชอบเรื่องการกระทำผิดโดยข้าพเจ้าเอาตัวของข้าพเจ้าเป็นประกัน…"[5]

แม้ว่าการค้าของฮอลันดาในเมืองพระนครศรีอยุธยา จะชะงักงันเนื่องมาจากความเสื่อมโทรมทางไมตรีที่มีต่อกัน ตั้งแต่รัชสมัยพระเจ้าปราสาททองต่อเนื่องไปจนถึงการถูกบั่นทอนอภิสิทธิ์ต่างๆ ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ แต่ก็มิได้ทำให้สมาชิกของชุมชนโปรตุเกสมีสถานภาพทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น การมีส่วนร่วมในการสนับสนุนอำนาจทางการเมืองของทางการสยามในรัชสมเด็จพระนารายณ์ มีส่วนทำให้ชุมชนโปรตุเกสในเมืองพระนครศรีอยุธยาขยายตัวมากขึ้น เนื่องจากมีการอพยพเข้ามาของชาวโปรตุเกสจากอาณานิคมแห่งต่างๆ ที่ถูกฮอลันดายึดครอง นอกจากนี้ยังได้รับการยอมรับและเชื่อถือจากออกญาพระคลังอย่างต่อเนื่อง ดังเห็นได้จากในช่วงต้นรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ แม้ว่าคนในชุมชนโปรตุเกสจำนวนหนึ่ง จะเป็นหนี้พ่อค้าอังกฤษ แต่ก็ยังได้รับการสนับสนุนจากออกญาพระคลัง เหตุการณ์ดังกล่าวปรากฏอยู่ในจดหมายของหัวหน้าพ่อค้าอังกฤษในเมืองพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ.2209 เขียนถึงประธานและสภาที่ปรึกษาของบริษัทอินเดียตะวันออกที่เมืองสุรัต โดยระบุว่าเมื่อนายเดียริงหัวหน้าพ่อค้าอังกฤษ เสียชีวิตในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2207 ทางการสยามได้ร่วมกับหัวหน้าชุมชนโปรตุเกส "ที่มีอิทธิพลในดินแดนแถบนี้"[6] ชื่อปาเดรช มาตรวจสอบทรัพย์สินของนายเดียริง
หลักฐานที่ปรากฏคือ นายเดียริงมีลูกหนี้จำนวนมากติดค้างการชำระเงินอยู่ประมาณ 25,000 เหรียญ อย่างแปด* ลูกหนี้เหล่านี้มีทั้งชาวสยามและชาวโปรตุเกสในชุมชนโปรตุเกสที่เมืองพระนครศรีอยุธยา ต่อมาได้มีลูกหนี้ของห้างอังกฤษผู้หนึ่งเป็นชาวโปรตุเกสชื่อ จูอาว ดึ ซิลวา ดึ กามา ถูกฆ่าตายที่ห้างอังกฤษ จึงมีชาวโปรตุเกส ไปแจ้งให้ออกญาพระคลังทราบ ออกญาพระคลังได้กราบทูลว่า หัวหน้าพ่อค้าอังกฤษคนใหม่คือวิลเลียม แอคเวิร์ธ เป็นผู้สังหารลูกหนี้ชาวโปรตุเกสผู้นั้น หลักฐานชิ้นนี้ระบุว่า หัวหน้าพ่อค้าอังกฤษเชื่อว่า ออกญาพระคลังกับชาวโปรตุเกสต้องการกำจัดตน และวางแผนให้กัปตันชาวโปรตุเกสชื่อ แบร์ ดึ ปินู[7] (หรือ เบอร์ เดอ ปิโน) นำชาวโปรตุเกสจำนวน 12 คน และชาวสยามจำนวน เกือบ 300 คนเข้าทำร้ายและจับกุมหัวหน้าพ่อค้าอังกฤษ ไปคุมขังไว้อย่างทารุณ วิลเลียม แอคเวิร์ธ ถูกคุมขังอยู่นาน 12 วัน โดยไม่มีความผิด และทางการสยามก็ไม่สามารถหาคนผิดมาลงโทษได้ หลักฐานนี้สะท้อนให้เห็นว่าชุมชนโปรตุเกสพยายามผูกสัมพันธ์กับทางการสยาม เพื่อให้ได้รับการยอมรับนับถือจากชาวสยามดังที่เคยได้รับมาแล้วก่อนหน้านั้น ชาวโปรตุเกสได้รับราชการในตำแหน่งสำคัญ อาทิ บางคนมีตำแหน่งเป็นผู้บังคับบัญชาทหารที่เมืองบางกอกและมีอำนาจเหนือเจ้าเมืองบางกอกแต่ในด้านเศรษฐกิจแล้วมีหลักฐานระบุชัดเจนว่าโปรตุเกสจำนวนมากมีฐานะทางการเงินไม่ดีนัก

เมื่อราชทูตฝรั่งเศสเดินทางเข้ามาในปี พ.ศ.2228-2229 บันทึกของบาทหลวง เดอ ชัวซีย์แสดงให้เห็นถึงความตกต่ำทางสถานภาพในสังคมอยุธยาของชุมชนโปรตุเกส จากสายตาของชาวฝรั่งเศส สะท้อนจากความจากความพิเศษของที่นั่งเมื่อเข้าเฝ้าในท้องพระโรง ขณะสมเด็จพระนารายณ์เสด็จออกรับแขกเมืองว่า

" ตามปกตินั้นท่านผู้นี้*เป็นผู้ปฏิสันถารราชทูตโดยนั่งอยู่บนแท่นในช่องกุฏิที่ทำลึกเข้าไปในผนังห้อง ขุนนางผู้ใหญ่กับราชทูตนั่งบนพรม (ติดกัน) มีเบาะรองนั่งอีกชั้นหนึ่ง ราชทูตปอร์ตุเกสคนหลังที่สุดที่มาเมื่อปีกลายนี้ก็นั่งอยู่บนพรม เป็นความจริงที่ว่าอยู่ที่ท่านคนเดียวเท่านั้นที่จะให้เอาเบาะรองนั่งมาให้แขกหรือไม่"[8]

บันทึกชิ้นนี้ระบุว่าราชทูตโปรตุเกสที่เดินทางเข้ามาเมื่อประมาณปี พ.ศ.2227- 2228 ได้รับการต้อนรับโดยจัดให้นั่งเฝ้าขณะถูกเบิกตัวถวายพระราชสาส์นบนพรมเท่านั้น ขณะที่ราชทูตฝรั่งเศสมีเบาะรองนั่งเหนือพรมอีกชั้นหนึ่ง เป็นการบ่งชี้ว่าทัศนคติที่ราชสำนักสยามมีต่อราชทูตโปรตุเกส กับราชทูตฝรั่งเศสนั้นแตกต่างกันเห็นได้ชัด เหตุการณ์ลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นกับขุนนาง หรือราชทูตชาวโปรตุเกสมาแล้วในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ได้ปรากฏหลักฐานจดหมายเหตุของ อเล็กซานเดอร์ ฮามิลตัน ระบุความตอนหนึ่งว่า

" ข้าพเจ้ารู้จักชาวโปรตุเกสผู้หนึ่ง ซึ่งอาศัยอยู่ในกรุงสยาม เขาผู้นี้ได้ยิงอีกาตัวหนึ่งที่เกาะกิ่งไม้บนต้นไม้ข้างวัดเรา ทำให้พระสงฆ์ในวัดนั้นป่าวร้องฝูงชน ให้รวมตัวเข้าเป็นกลุ่มก้อน เข้ารุมกันหักขาหักแขนทั้งสองข้างของชายผู้น่าสงสารคนนั้นแล้ว ปล่อยให้ตายกลางทุ่ง แต่บังเอิญมีพวกคริสเตียนมาพบเหตุการณ์อันน่าสลดใจเข้า พวกเขาจึงได้นำร่างของชายผู้นั้นลงเรือไปหาศัลยแพทย์ชาวฝรั่งเศส จัดกระดูกให้เข้าที่และพยาบาลรักษา ในปี พ.ศ.2263 ข้าพเจ้าเห็นเขายังมีชีวิตอยู่ และหายดีแล้ว"[9]

การที่ชายชาวโปรตุเกสผู้นี้ถูกทำร้ายทั้งๆที่น่าจะเป็นคนเชื้อสายโปรตุเกสซึ่งอยู่ในเมืองพระนครศรีอยุธยาสืบต่อมาจากบรรพบุรุษไม่น้อยกว่าหนึ่งหรือสองชั่วอายุคนแล้ว อันเป็นข้อบ่งชี้ให้เห็นว่าเขาควรจะเข้าใจขนบธรรมเนียมประเพณีและข้อห้ามในวัฒนธรรมอยุธยาเป็นอย่างดี จึงน่าจะรู้ว่าเขาไม่ควรจะเข้าไปยิงนกกาในวัดของชาวพุทธ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นน่าจะมีสาเหตุมาจากการที่คนเข้ารีตในเมืองพระนครศรีอยุธยาถูกกลั่นแกล้งต่างๆนานาในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระดังหลักฐานบันทึกของบาทหลวงชาวฝรั่งเศสตามกระแสการต่อต้านศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาธอลิก ตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระต่อเนื่องมาจนถึงรัชสมัยพระเจ้าบรมโกศ และนอกจากนี้ความไม่พอใจของชาวสยามต่อชาวตะวันตกหลังรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชายังอาจส่งผลกระทบทางสังคมต่อชุมชนชาวโปรตุเกสด้วย

การอ้างอิง
[1] อาทิในงานของ แฟร์เนา มึนเดช ปินตู ชื่อ " Pérégrinação" เป็นต้น
[2]-194 นันทา สุตกุล(แปล), เรื่องเดิม, หน้า229-230.


[5] เรื่องเดียวกัน, หน้า217-218.
[6] กรมศิลปากร, บันทึกเรื่องสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศในคริสตศตวรรษที่ 17 เล่ม 2, หน้า109-112.
* เงินเหรียญอย่างแปด หรือ 1 piece of Eight, สุภรณ์ อัศวสันโสภณ (แปล), หน้า260 อาจเป็นเงินตราของยุโรปที่ใช้ทั่วไปในเอเชียระหว่างกลางพุทธศตวรรษที่21 จนถึงพุทธศตวรรษที่24 หนังสืออภิธานศรับท์ของหมอบรัดเลย์ อธิบายคำ "เงินเหรียญ" ในสมัยรัชกาลที่ 5 ว่าหมายถึง "เงินที่เขาทำเปนแผ่นๆ มาแต่เมืองนอก หนัดเจ็ดสลิงนั้น " (ดู เดนนิช บรัดเลย์ , อักขราภิธานศรับท์, หน้า129) อาจเป็นไปได้ว่าเงินเหรียญอย่างแปดหมายถึงเงินบริสุทธิ์ที่มีอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ประมาณ 1 เหรียญต่อ 2 บาท หรือ แปดสลึง ในสมัยอยุธยา ต่อมาค่าทั่วไปได้ลดน้อยลงอยู่ที่ประมาณ เจ็ดสลึง ต่อหนึ่งเหรียญในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
[7] กรมศิลปากร, บันทึกเรื่องสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศในคริสตศตวรรษที่ 17 เล่ม 2, หน้า12-14.
* หมายถึงเจ้าพระยาพระคลัง
[8] เดอ ชัวซีย์, เรื่องเดิม, หน้า403-404.
[9] ประชุมพงศาวดารเล่ม22, หน้า245-246

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น